หลายครั้ง…
เราให้ความสำคัญกับความต้องการของคนอื่นมากเกินเสียจนลืม…
ลืมความต้องการของ ‘ตัวเอง’
ANNA ภาพยนตร์อเมริกัน ภายใต้การกำกับโดยผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ลุค เบส์ซง (Luc Besson) ที่หากมองผิวเผิน จะเห็นว่าเป็นภาพยนตร์แนวแอคชั่นระทึกขวัญที่แสดงให้เห็นถึงการห้ำหั่นอย่างฉกาจของสายลับจากหน่วยสืบราชการลับของสหภาพโซเวียต (Committee for State Security: KGB) กับกลุ่มนายทุนสีเทาที่รัฐโซเวียตต้องการตัวมากที่สุด
แต่แท้จริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับแฝงไปด้วยแง่มุมแนวคิดเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าของตนเอง หรือ self esteem ผ่านการนำเสนอตัวละครหลักอย่าง อันนา โปเลียโตวา (Anna Poliatova) สายลับ KGB ที่แฝงตัวเข้าไปเป็นนางแบบดาวรุ่งหน้าใหม่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อตามสืบกลุ่มทุนเบื้องหลังที่มีอิทธิพลในแวดวงแฟชั่น
ฉากเริ่มต้นแสดงให้เห็นถึง อันนา แม่ค้าขายตุ๊กตาแม่ลูกดก (babushka doll) ในตลาดแห่งหนึ่งกลางกรุงมอสโคว์ ที่ถูกแมวมองจากฝรั่งเศสจับพลัดจับผลูเข้าสู่วงการแฟชั่น ด้วยความสะสวย ทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นนางแบบดาวรุ่งหน้าใหม่ได้ในระยะเวลาไม่นาน และทำให้เธอได้พบกับนักธุรกิจสัญชาติเดียวกันคนหนึ่ง จนเป็นจุดเริ่มต้นของการลอบสังหารนอกอาณาเขตประเทศครั้งแรกของเธอในฐานะสายลับ KGB
เรื่องราวได้พาย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปี ก่อนที่อันนาจะได้พบเจอกับแมวมอง จนกระทั่งกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งวงการแฟชั่นนั้น เธอเป็นเพียงหญิงสาวกำพร้าพ่อและแม่จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ชีวิตที่สิ้นหวังจากการสูญเสียบุคคลที่รักได้พาให้เธอไปพบกับชายหนุ่มที่ชื่อว่า เพตยา (Petyr) และได้ช่วยเหลือพร้อมทั้งให้ที่พำนักกับเธอ
วังวนแห่งการจองจำของอันนาจึงเริ่มต้นขึ้น ภายหลังการย้ายมาอยู่ร่วมกับเพตยา ทำให้เธอได้รู้ว่าเขาเสพติดกัญชาและเป็นพวกแก๊งอันธพาลขูดรีดทรัพย์ชาวบ้าน รวมทั้งการถูกปฏิบัติราวกับเครื่องสนองตัณหาทางเพศ ยิ่งทำให้เธอรู้สึกเหมือนตกนรกทั้งเป็น อันนาจึงพยายามสมัครเข้ากองทัพเรือเพื่อหวังจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ และนั่นทำให้เธอได้พบกับ อเล็กซ์ เชนคอฟ (Alexander ‘Alex’ Tchenkov) สมาชิก KGB ผู้นำพาเธอเข้าสู่หนทางการเป็นสายลับสังหารโหดแห่งโซเวียต
จุดเด่นของการเล่าเรื่องในภาพยนตร์อยู่ที่การเล่าแบบค่อยๆ เผยให้เห็นถึงเหตุผลที่มาว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้อันนาเลือกทำเช่นนั้น ผ่านการเล่าฉากย้อนเรื่องราวเพื่อ flashback ถึงเหตุการณ์ซึ่งถือเป็นชนวนไปสู่เหตุการณ์ถัดมาของเรื่องได้ การอธิบายเรื่องราวอย่างเป็นฉากเป็นตอนแบบนี้ทำให้คนดูสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น และถือเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเข้าถึงผู้ชมได้โดยง่าย
หากพูดถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ อันนา หญิงสาวที่เคยสิ้นหวังกับชีวิตตัวเองจนเกือบจะหันหลังให้กับทุกสิ่ง ให้หันกลับมาฟังเสียงเรียกจากก้นบึ้งหัวใจของตัวเอง ก็คงเป็นฉากที่เธอจำต้องเลือกระหว่างความตายกับการเป็นสายลับฝึกหัดของ KGB ที่ อเล็กซ์ เชนคอฟ กล่าวประโยคหนึ่งกับเธอว่า…
อย่าเอาศรัทธาไปฝากไว้กับมนุษย์ คุณต้องศรัทธาในตัวเอง
ประโยคนี้ถือเป็นใจความหลักสำคัญของเรื่อง เพราะหลังจากนั้นอันนาก็ได้เลือกใช้ชีวิตอยู่ต่อและเข้าสู่กระบวนการฝึกเพื่อเป็นสายลับให้กับ KGB และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างเธอกับอเล็กซ์ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
แต่ถึงอย่างนั้น การเข้าสู่วงการแฟชั่นของอันนา ก็ทำให้เธอได้พบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา แน่นอนว่ารูปลักษณ์หน้าตาที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของเธอนั้นเป็นเครื่องมือชั้นดีที่จะดึงดูดเหยื่อให้มาติดกับได้โดยง่าย แต่ด้วยสุภาษิตที่ว่า ‘เหนือฟ้ายังมีฟ้า’ ก็ทำให้เธอได้พบเจอกับ ลีโอนาร์ด มิลเลอร์ (Leonard Miller) หน่วยสืบสวนจากสำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency: CIA) ของสหรัฐอเมริกา และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอหันมาคิดสมคบกับ CIA เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของ KGB และวางแผนกำจัด วาซิลเลียฟ (Vassiliev) ผู้บัญชาการสูงสุดของ KGB แลกกับความปลอดภัยของเธอขณะปฏิบัติหน้าที่นี้อย่างลับๆ
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คนเราตัดสินใจแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม หลายคนอาจต้องการข้อเสนอที่อีกฝ่ายให้ เช่น เงินทอง บ้านหรู ชีวิตครอบครัว หรือแม้แต่ความใส่ใจและห่วงใย ซึ่งลีโอนาร์ดพยายามยื่นข้อเสนอมากมายให้กับเธอหลังเสร็จสิ้นภารกิจ แต่สำหรับอันนา สิ่งเหล่านั้นอาจไม่ได้อยู่ในความต้องการของเธอเลยแม้แต่น้อย
ณ ฉากหนึ่งของเรื่อง ขณะที่อันนาเดินทางไปพบเจอ ออลกา (Olga) หัวหน้าสายลับจาก KGB ออลกาได้เผยให้อันนารู้ว่า เธอทราบว่าอันนากำลังติดต่อกับ CIA โดยเธอได้ถามคำถามหนึ่งกับอันนาว่า
“อะไรคือสิ่งที่เธอต้องการมากที่สุดในชีวิต?”
อันนาตอบอย่างไม่รีรอที่จะคิดว่า “อิสรภาพ”
เท่านั้นก็อาจเป็นเหตุผลที่เพียงพอ สำหรับชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งที่ชีวิตวนเวียนอยู่กับการถูกจองจำ บังคับให้ทำตามเป้าหมายของใครต่อใครมาทั้งชีวิต จนช่วงเวลาหนึ่งเธอได้หลงลืมความปรารถนาที่เธอเคยมีว่า…
เธอแค่ต้องการอิสรภาพ
เธอแค่ต้องการความไม่ผูกมัด
ภารกิจที่เดิมพันด้วยยศ ตำแหน่ง ชีวิต และอิสรภาพ สามสิ่งที่ประกอบเป็นข้อตกลงแลกเปลี่ยนระหว่างออลกากับอันนา ผ่านภารกิจหน้าที่ในครั้งนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ผลที่เกิดขึ้นต่างสร้างรอยร้าวและความบาดหมางให้กับ KGB และ CIA มากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ท้ายที่สุด อันนาก็ได้ตัดสินใจยุติเรื่องราวปมขัดแย้งระหว่าง KGB และ CIA โดยเธอตัดสินใจนัดพบอเล็กซ์กับลีโอนาร์ด ชายทั้งสองผู้เป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจของเรื่องทั้งหมดของเธอ เพื่อที่จะส่งคืนข้อมูลลับของทั้งฝ่าย และยุติบทบาทการเป็นสายลับของเธอ
การตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวของอันนาท่ามกลางความคาดหวังของเธอที่อยากให้ อเล็กซ์ ชายผู้เป็นที่รักเพียงหนึ่งเดียวตัดสินใจเดินร่วมทางกับเธอ
แต่อเล็กซ์กลับไม่คิดเช่นนั้น และพยายามติฉินเธอว่าเป็นคนทรยศต่อองค์กร แต่เท่านั้นก็มากเพียงพอที่จะย้ำเตือนให้เธอได้เข้าใจถึงประโยคที่อเล็กซ์เคยกล่าวกับเธอก่อนหน้านั้นเป็นอย่างดี
ใช่… เธอไม่ควรศรัทธาในความไม่แน่นอนของมนุษย์
และใช่ เธอต้องครัทธาในความต้องการของตัวเองมากกว่าสิ่งใด
การจากไปแต่เพียงลำพัง โดยไม่ตัดสินใจเลือกชายคนใดชายหนึ่งเพื่อร่วมเดินบนเส้นทางเดียวของเธอนั้น อาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดให้กับชีวิตที่ไร้ข้อพันธนาการใดๆ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ชีวิตหลังจากนี้คือชีวิตของเธอ
สู่อิสรภาพ ที่อันนาต้องการ…