อโนชา ดาวคะนอง: ผู้หญิง เห็ดนางฟ้า 6 ตุลา และความทรงจำมือสอง

2016-12-06-anocha-lead

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

อโนชา สุวิชากรพงศ์ เกิดในปีเดียวกับเหตุการณ์สังหารนักศึกษาอย่างโหดเหี้ยมในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ในปีเดียวกันนั้น แซนดี เดนนี (Sandy Denny) นักร้อง/นักแต่งเพลงชาวอังกฤษบันทึกเสียงเพลง ‘By the Time it Gets Dark’ สี่สิบปีต่อมา อโนชาหยิบชื่อ ‘By the Time it Gets Dark’ มาใช้เรียกชื่อหนังยาวลำดับที่ 2 ของเธอ

By the Time it Gets Dark หรือ ดาวคะนอง หนังอาร์ตไทยที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519/ชีวิตธรรมดาสามัญของมนุษย์/การเกิด แก่ เจ็บ ตาย/กระบวนการทำภาพยนตร์

ราวกับว่าเรื่องทั้งหมดนั้นเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกัน

สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ WAY มีความจำเป็นต้องฉายภาพโครงสร้างของ ‘ดาวคะนอง’ เพื่อให้การอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นไปอย่างไม่ลำบากนัก

ดาวคะนอง แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกหนังจับตามองไปยังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านตัวละครที่เป็นผู้กำกับหญิง (รับบทโดย วิศรา วิจิตรวาทการ) เธอกำลังรีเสิร์ชข้อมูลเพื่อทำหนังเกี่ยวกับชีวิตของนักเขียนหญิงผู้เป็นอดีตผู้นำนักศึกษา (รับบทโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง) เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในรีสอร์ทแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน

ส่วนหลัง หนังบันทึกภาพของกรุงเทพฯผ่านตัวละครที่มีอาชีพนักแสดง (รับบทโดย เป้-อารักษ์, อภิญญา สกุลเจริญสุข, ทราย เจริญปุระ และ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) โดยหนังทั้งสองส่วนมีตัวละครที่เปลี่ยนอาชีพเปลี่ยนสถานะตั้งแต่พนักงานประจำรีสอร์ท, พนักงานทำความสะอาดในศูนย์การค้า, พนักงานในส่วนห้องอาหารบนเรือ, หญิงวัยรุ่นในผับ และแม่ชี (ทั้งหมดรับบทโดย อัจฉรา สุวรรณ์) ปรากฏตัวทั้งสองส่วนของหนัง

ราวกับเธอคือศูนย์กลางของ ดาวคะนอง แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดกับตัวละครที่เหลือ

อโนชาให้สัมภาษณ์นักข่าวในงานวันเปิดตัว ดาวคะนอง ว่า เธอสนใจกระบวนการสร้างภาพยนตร์และวิธีการบันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และชีวิตกับความตาย

WAY พูดคุยกับ อโนชา ในบ่ายวันอาทิตย์ที่ Yo La Tengo วงดนตรีอินดี้ร็อคสัญชาติอเมริกันเดินทางมาแสดงที่เมืองไทย

เสร็จจากการพูดคุย – อโนชา เดินทางไปชมคอนเสิร์ตวงดังกล่าว ซึ่งคัฟเวอร์เพลง ‘By the Time it Gets Dark’ ของแซนดี เดนนี ไว้ในอัลบั้มหนึ่งของพวกเขา

อโนชาหวังว่า เธอจะได้ฟัง ‘By the Time it Gets Dark’ ในคืนวันอาทิตย์

แต่ ‘By the Time it Gets Dark’ ไม่ได้ถูกนำมาเล่นในคอนเสิร์ตคืนนั้น


มีความเชื่อมโยงอะไรระหว่างกระบวนการทำภาพยนตร์กับประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ถูกเสนอใน ดาวคะนอง

เรารู้สึกว่ากระบวนการการทำหนังกับการบันทึกประวัติศาสตร์มีบางอย่างคล้ายกัน สื่อทั้งสองแบบล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความไม่แน่นอน รวมถึงความทรงจำของผู้คนด้วย ขั้นตอนการทำหนังมีการบันทึกภาพ การตัดต่อ กระบวนการเหล่านี้เหมือนการเขียน text ทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง

ในพาร์ทหลังของหนังดาวคะนองมีฉากหลังคือกรุงเทพฯ เรารู้สึกว่าพาร์ทในกรุงเทพฯไม่มีอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หน้านั้นเลย แต่มันคือการบันทึกภาพปัจจุบัน บันทึกสังคม ณ ปัจจุบัน ถ้าเวลาผ่านไปสัก 10-20 ปี พาร์ทกรุงเทพฯในครึ่งหลังของดาวคะนองจะเป็นเหมือน archive ของสังคมยุคนี้ เหมือนเรา preserved ไว้ ซึ่งภาพปัจจุบันจะชัดเจนก็ต่อเมื่อเราอยู่ในอนาคตแล้วมองย้อนกลับมา ถ้ามองตอนนี้ก็อาจจะเห็นอะไรไม่แจ่มชัด ครึ่งหลังของ ‘ดาวคะนอง’ ก็ไม่มีดราม่าไม่มีอะไร มันดูเฉยๆ เรื่องก็ดำเนินไปเรื่อยๆ แต่เรามองว่ามันคือการบันทึกประวัติศาสตร์ ณ ปัจจุบัน

 

การเกิดและเติบโตของเห็ดนางฟ้าถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในหนัง ซึ่งคุณบอกว่าสนใจเรื่องการเติบโตจากสิ่งผุพังของรา ขณะที่ตัวละครที่เป็นนักเขียน (รับบทโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง) พูดไว้ในหนังทำนองว่า เธอไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต แต่เป็น ‘ผู้รอดชีวิต’ จากเหตุการณ์คราวนั้น มีความเชื่อมโยงอะไรระหว่าง ‘รา’ กับ ‘ผู้รอดชีวิตจากประวัติศาสตร์’

เราคิดว่าคนดูสามารถเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันได้นะ แต่เราคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงแบบนั้นก็ได้ เพราะเรารู้สึกว่าหนังทั้งเรื่องเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เป็น circle ของชีวิต และ circle ของสังคมด้วย ตอนทำ ‘เจ้านกกระจอก’ เราก็ทำแบบนี้ มันคือวงจรชีวิต แต่วันก่อนเพิ่งอ่านข้อเขียนเกี่ยวกับ ‘ดาวคะนอง’ มีคนตีความเรื่องเห็ดหรือเชื้อรา เขาบอกว่ามันเป็นเหมือนวรรณะที่ต่ำสุดของสิ่งมีชีวิต ซึ่งก็น่าสนใจ แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้นตอนทำ เราแค่สนใจเรื่องเห็ดหรือเชื้อราที่มันเกิดขึ้นมาจากความผุพังความเน่าเฟะ การตายของสิ่งหนึ่งทำคลอดอีกสิ่งให้เกิดขึ้นมาเสมอ มันน่าเป็นแบบนั้นมากกว่า ถ้าถามเราน่ะนะ

 

วงจรชีวิตของสังคมหรือความตายที่เกิดขึ้นมาใหม่จากสิ่งที่ผุพัง ถ้ามองในแง่หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็อาจไม่ได้สวยงามหรือเข้าท่าเข้าทางสำหรับมุมมองของคนคนหนึ่งใช่ไหม

หมายถึงเห็ดที่เกิดขึ้นมาแบบไม่เข้าท่าใช่ไหม

เราคิดว่ามันอยู่ที่มุมมอง ถ้าถามเรา เรารู้สึกว่าเรายังมีความหวัง แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่าไม่มีความหวังก็ได้ จะมองว่าเป็นความเน่าเฟะที่อาจจะหวนกลับมาอีกก็ได้ แต่ในความเน่าเฟะนั้นมีความหวังดำรงอยู่ สำหรับเรา-เห็ดนางฟ้าคือความหวัง มันเกิดและมีชีวิตขึ้นมาได้ท่ามกลางความผุพัง แม้กระทั่งความตาย นั่นคือเห็ดนางฟ้า มันคือความหวัง

สำหรับเรา สิ่งที่เกิดจากความตายคือชีวิตใหม่อีกชีวิตหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็อาจจะไม่ตรงกับ ‘ผู้รอดชีวิต’ เสียทีเดียว เพราะมันไม่ใช่ชีวิตเดิมของเรา แต่คือชีวิตใหม่ เรารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งเมื่อตายลง ย่อมมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นใหม่เสมอ แบบนี้มากกว่า


เราอยากจะสร้างพื้นที่ทางความทรงจำให้คนจดจำเหตุการณ์นี้ในฐานะที่เป็นสื่อภาพยนตร์และในฐานะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เราอยากให้สองสิ่งนี้ผสมผสานกัน เพราะภาพยนตร์คือสื่อบันทึกความทรงจำ แล้ว 6 ตุลาคือเหตุการณ์ที่ต้องถูกจำ มันไม่ใช่เหตุการณ์ที่เราประสบกับตัวเองมา มันคือความทรงจำมือสอง แต่แม้ว่าจะเป็นความทรงจำมือสอง เราก็มีความหวังว่า มันควรถูกจดจำอยู่ดี

 

img_4199-copy


‘ดาวคะนอง’ มีหลายอย่างที่ผสมกันมากมาย ชีวิตสามัญของคน วัฏจักรของสิ่งมีชีวิตและสังคม ประเด็น 6 ตุลา 19 เข้ามาเชื่อมโยงกับเส้นเรื่องอื่นๆ ในหนังได้อย่างไร

ส่วนหนึ่งในหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับตัวเรา เริ่มแรก ‘ดาวคะนอง’ เริ่มจากชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ (รับบทโดย อัจฉรา สุวรรณ์) แต่เมื่อเราเริ่มพัฒนาบท เรารู้สึกว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของหนังมากกว่านี้ เราจึงเขียนตัวละครที่เป็นผู้กำกับหญิงเข้าไป แต่ตัวละครตัวนี้ห่างไกลจากตัวเรานะ

แล้วในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เรากำลังพัฒนาบทหนังสารคดีเกี่ยวกับ 6 ตุลา แต่ท้ายที่สุดมันไม่ได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เรารู้สึกผูกพันกับ 6 ตุลา เพราะเหตุการณ์นี้เกิดปีเดียวกับเรา เราก็เลยรู้สึกคอนเน็คกับ 6 ตุลา ตั้งแต่เด็กแล้วนะที่เวลาอ่านอะไรก็ตามที่มี พ.ศ. 2519 เราจะรู้สึกว่านี่คือปีที่เราเกิดอยู่ตลอด มันก็เลยฝังใจหรือผูกพัน เรารู้สึกว่า 6 ตุลา อยู่กับตัวเรามานานแล้ว

 

ทำไมสารคดี 6 ตุลา จึงไม่เกิด

ตอนนั้นได้อ่านงานเขียนของอาจารย์ธงชัย ‘6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวาฯ’ เราก็อยากจะทำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เราไม่ได้มาจากสายหนังสารคดี แต่เป็นงานเขียนที่อ่านแล้วรู้สึกอยากทำหนังสารคดี แต่มันยาก ทั้งเป็นเรื่องเซนซิทีฟและเราก็ไม่เชี่ยวชาญงานหนังสารคดี

ตอนนั้นเราก็เขียน proposal เขียน treatment ไว้แล้วนะ เราส่ง proposal ไปขอทุนจากหลายแหล่ง แต่ไม่มีแหล่งไหนให้ทุนเลย เราไม่รู้จะเริ่มกระบวนการทำหนังสารคดีในประเด็นแบบนี้อย่างไรเนื่องจากไม่เคยทำสารคดี เราไม่รู้จะไปติดต่อกับเขา (ฝ่ายขวา) แล้วบอกว่าขอสัมภาษณ์อย่างไร คนเหล่านั้นก็เป็นบุคคลที่มีอายุ บางทีเขาก็อาจไม่อยากพูดถึงมัน ก็เลยพับโปรเจ็คต์นี้ไป แต่ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเรากำลังเขียนดาวคะนองอยู่ด้วย มันก็เลยหลุดเข้ามาในดาวคะนอง

 

คุณเจอ 6 ตุลาที่ไหน

จำไม่ได้ อาจจะเป็นช่วงอายุ 12-13 เคยอ่านเจอในหนังสือ แต่จำไม่ได้ว่าเล่มไหน อาจเป็นช่วงครบรอบ 10 ปี 6 ตุลามาไม่นาน ก็เลยมีการตีพิมพ์หนังสือ แต่จำได้ว่าช่วงก่อนนั้นไม่เคยรู้จักเหตุการณ์นั้นมาก่อน

 

นอกจาก ปี 2519 ซึ่งเป็นปีเกิดของคุณ มีอะไรที่ดึงดูดคุณเข้าหา 6 ตุลา

ที่รู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์นี้มากๆ คือตอนที่ได้อ่านบทความหลายชิ้นของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้น เขาเขียนผ่านมุมมองของเขา มีถ้อยคำแบบ “พี่ครับ, หยุดยิงเถอะ” มันเป็นการเล่าประวัติศาสตร์ที่ตัวผู้เขียนก็อยู่ในเหตุการณ์นั้น เรามีโอกาสได้อ่านงานเขียนชิ้นหนึ่งที่เขาไปพูดคุยกับฝ่ายขวาสมัยนั้น (งานเขียนชิ้นนี้ชื่อ ‘6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549: จากชัยชนะสู่ความเงียบ [แต่ยังชนะอยู่ดี]’ – กองบรรณาธิการ) ซึ่งเต็มไปด้วยปริศนา โศกนาฏกรรมครั้งนั้นไม่ใช่แค่รัฐทำกับประชาชน แต่ประชาชนทำกับประชาชนด้วยกันเอง

มีซีนหนึ่งในหนังที่ตัวละครที่รับบทเป็นพนักงานประจำรีสอร์ทในจังหวัดน่าน ถามตัวละครที่เป็นผู้กำกับ (รับบทโดย วิศรา วิจิตรวาทการ) ที่กำลังสนทนากับตัวละครที่เป็นนักเขียน (รับบทโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง) ในทำนองว่า “ทำไมพี่ไม่ให้เขาเล่าเองเลยล่ะในเมื่อเขาก็เป็นนักเขียน และมันก็เป็นชีวิตของเขา” ซีนนี้ชวนตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของเรื่องเล่า ใครควรเล่าเรื่องระหว่างเจ้าของเรื่องหรือคนรุ่นหลัง

ซีนนี้คนชอบคิดว่าเราคิดแบบนั้น แต่ว่าเราไม่ได้จะบอกว่าเจ้าของเรื่องราวเขียนเรื่องของตัวเองแล้วมันจะดีกว่าให้คนอื่นเล่านะ ซีนนี้ตัวละครพูดว่า “ทำไมพี่ไม่ให้เขาเขียน เพราะมันเป็นเรื่องของเขา” คำถามนี้มันเป็นการตั้งคำถามกับผู้กำกับก็จริง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้คิดว่า คนที่อยู่ในเหตุการณ์หรืออยู่ร่วมยุคกับบางหน้าของประวัติศาสตร์ จะสามารถถ่ายทอดความเป็นจริงได้ดีกว่าเสมอไป

เวลาที่คุณเขียนอัตชีวประวัติของตัวเองมันไม่ได้หมายความว่าเรื่องที่คุณเขียนเกี่ยวกับตัวเองมันจะจริงกว่าสิ่งที่คนอื่นเขียนถึงคุณ เพราะเรามักจะเข้าข้างตัวเองใช่ไหม แต่ในซีนนี้คนมักจะตีความว่าเราคิดแบบนั้น จึงให้ตัวละครตั้งคำถามแบบนั้น “เขียนเองน่าจะจริงกว่า” แต่จริงๆ ไม่ใช่ความตั้งใจ

ประวัติศาสตร์มันก็เป็นแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ไง มันไม่มีคำตอบ แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ก็มีมากมาย เราจะนับอย่างไรว่าสิ่งไหนคือประวัติศาสตร์ ต้องได้รับการบันทึก ต้องได้รับการตีพิมพ์ สิ่งนี้จึงจะถูกเรียกว่าประวัติศาสตร์เหรอ สิ่งที่ไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้มันก็หายไปตามกาลเวลาซึ่งก็มีเยอะแยะ ส่วนหนึ่งนั่นคือปัญหาของประวัติศาสตร์ มันไม่ได้ครอบคลุมไปหมดทุกอย่าง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์นะ แต่มันไม่มีคำตอบจริงๆ ว่าเราจะเชื่อได้อย่างไร

 

หลังจากทำ ดาวคะนอง เสร็จ คุณรู้สึกจบกับ 6 ตุลาในฐานะคนทำหนังหรือยัง หรือมีสิ่งที่ยังอยากจะพูดอีก

บางทีเราก็ถามตัวเองเหมือนกัน ท้ายที่สุดเราทำได้แค่นี้เองเหรอ แต่เราไม่ใช่ activist นะ เราจะทำอะไรได้มากกว่านี้เหรอ เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองนะ ตอนหนังไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โน (Festival del Film Locarno) รอบปฐมทัศน์ ในช่วง Q&A ก็มีคนดูถามว่า “คุณต้องการอะไรจากการทำหนังเรื่องนี้” เขาถามเราว่า intention ในการทำหนังเรื่องนี้คืออะไร เราก็คิดตามเขาจริงๆ นะ ว่าเราทำไปเพื่ออะไร

เราก็บอกเขาว่า เราอยากจะสร้างพื้นที่ทางความทรงจำให้คนจดจำเหตุการณ์นี้ในฐานะที่เป็นสื่อภาพยนตร์และในฐานะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เราอยากให้สองสิ่งนี้ผสมผสานกัน เพราะภาพยนตร์คือสื่อบันทึกความทรงจำ แล้ว 6 ตุลาคือเหตุการณ์ที่ต้องถูกจำ

พอตอบคำถามนี้ รุ่งขึ้นวันต่อมามีนักข่าวมาสัมภาษณ์ เราทบทวนคำถามและคำตอบของเมื่อวาน ‘แค่จดจำมันเพียงพอเหรอ’ จำแล้วยังไงต่อ แต่ไม่มีคำตอบ ตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ

 

คำตอบของคุณชวนให้นึกถึงบางประโยคในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ ฆอร์เก ลูอิซ บอร์เจส เขาบอกว่า มนุษย์นี่นะถ้าจดจำทุกสิ่งในชีวิตเราจะจมข้อมูลที่ท่วมท้นมหาศาล ดังนั้น บอร์เจส จึงสรุปว่า “การลืมต่างหากที่ทำให้มนุษย์มีชีวิต” คุณมีอะไรอยากจะเถียงบอร์เจสไหม

เราเคยเขียนเรื่องพวกนี้ไว้ใน director statement ว่า นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์นะ – การลืม

มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ถ้าเราไม่ลืมอะไรเลยก็จะเป็นแบบที่บอร์เจสว่า ทุกอย่างมันจะท่วมท้น เราไม่มีทางตื่นในตอนเช้าได้ เราไม่สามารถลุกจากเตียงไหวหรอก เรารู้สึกแบบนั้นนะ แต่บางเรื่องมันต้องจำ แล้วแต่ละคนก็มีความทรงจำไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่าเหตุการณ์นี้ต้องถูกจำ แต่ถามว่าเราจำได้ไหม เราจำไม่ได้หรอก มันไม่ใช่เหตุการณ์ที่เราประสบกับตัวเองมา มันคือความทรงจำมือสอง แต่แม้ว่าจะเป็นความทรงจำมือสอง เราก็มีความหวังว่า มันควรถูกจดจำอยู่ดี

 

ปัญหาที่ซับซ้อนไปกว่านั้นก็คือ เราจะจำถูกหรือจำผิด เช่น มีการตีความประวัติศาสตร์แบบผูกพ่วงกับรสนิยมทางการเมืองของตนในปัจจุบัน

บางทีมันก็น่าคิดนะว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร (หัวเราะ) นั่นน่ะสิ

 

ทำไมจึงเลือกคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง มาเป็นนักเขียนที่ในเรื่องเป็นอดีตผู้นำนักศึกษา

เราได้อาจารย์รัศมีจากการแคสติ้ง ไม่ได้เขียนตัวละครตัวนี้ขึ้นมาโดยอ้างอิงกับบุคคลใดเป็นพิเศษ เราเขียนตัวละครนี้เสร็จก็เริ่มแคสติ้งหานักแสดง แต่เป็นการแคสที่ไม่ได้ต้องการนักแสดงมืออาชีพมาเล่นบทนี้ เพราะตัวละครตัวนี้จะถูก repeat โดยนักแสดงมืออาชีพอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็คือพี่ต่าย-เพ็ญพักตร์ ซึ่งพาร์ทนั้นรับบทโดยนักแสดงมืออาชีพแล้ว ในพาร์ทนี้เราอยากได้นักแสดงมือสมัครเล่น

สำหรับอาจารย์รัศมี เราไม่เคยทำงานกับเขามาก่อน รู้จักผ่านงานเขียน เราเคยอ่านมาบ้าง แล้วเราก็รู้ว่าอาจารย์รัศมีทำละครเวที อย่างน้อยเขาก็มีทักษะการแสดง แล้วก็เป็นนักเขียนด้วย เราไปเจออาจารย์ที่บ้าน ก็เป็นการพูดคุยมากกว่าแคสติ้ง เราให้อาจารย์รัศมีอ่านบทในส่วนของตัวละครนักเขียน แล้วก็มีการต่อบทกันนิดหน่อย โอเค เราเลือกอาจารย์รัศมี

แต่ก็ลองแคสนักแสดงละครเวทีนะ แต่เขาอาจจะมีความเป็นนักแสดงมากเกินไป แล้วถ้ามีความเป็นนักแสดงมากเกินไป มันจะไปตีกับพี่ต่าย-เพ็ญพักตร์

 

อาจารย์รัศมีก็ผ่านประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น หลังปี 2519 ทำนิตยสาร โลกหนังสือ วันเปิดตัวหนังมีคนถามคุณหลังหนังจบว่า สิ่งที่ตัวละครนักเขียนที่รับบทโดยคุณรัศมีพูดนั้น มาจากบทที่คุณเขียนหรือเป็นคำพูดที่คุณรัศมีพูดเอง เพราะมีคำพูดที่บ่งถึงรสนิยมทางการเมืองปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากรสนิยมทางการเมืองในอดีต ซึ่งมันสะท้อนความเบลอของตัวละครนักเขียนในหนังกับนักแสดงที่มีชีวิตอยู่ใกล้กับประวัติศาสตร์ 6 ตุลา

จริงๆ ก็คิดนะ ว่าการที่เราได้นักแสดงที่มีชีวิตผ่านยุคนั้นมันช่วยทำหน้าที่บางอย่างในหนัง ช่วงก่อนถ่ายทำเราก็ให้อาจารย์รัศมีเล่าให้ฟังตามมุมมองของอาจารย์ว่า เหตุการณ์นั้นส่งผลอะไรต่อชีวิตบ้าง แต่ไม่ละเอียดมากนะ เพราะเราเขียนบทเสร็จแล้ว แล้วเราก็ไม่ได้อยากให้ตัวละครนี้ base on สิ่งที่เขาผ่านมา 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะในหนังก็มีเรื่องที่เราแต่งเพิ่มเข้าไป เขาก็เล่าให้เราฟังว่ามีอะไรเกิดกับเขาบ้าง

ทุกสิ่งในหนังเกิดขึ้นจากบทภาพยนตร์ทั้งหมดเลย ยกเว้นซีนเดียวที่เราให้อาจารย์รัศมีเล่าให้ฟังว่า 6 ตุลาส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตของเขา แล้วเราก็ถ่ายแค่เทคเดียว ซึ่งปรากฏในซีนท้ายๆ ของหนัง

 

วันนั้นคุณตอบคำถามหลังหนังจบที่ถามว่า คาดหวังอะไรกับหนังเรื่องนี้ คุณบอกว่า คาดหวังมากไปกว่าตัวหนัง ช่วยขยายความหน่อย

เราพูดแบบนี้เหรอ

 

คือคุณกำลังคาดหวังว่าหนังเรื่องนี้มีภาระทางประวัติศาสตร์อย่างนั้นหรือเปล่า

ส่วนหนึ่งก็ใช่นะ แต่มันอาจจะฟังดูแบบว่าอะไรของหล่อนยะ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรนะ หนังคือสิ่งที่เราสามารถทำได้ในบทบาทหน้าที่ของเรา ในฐานะคนทำหนัง สิ่งที่เราทำไม่สามารถเรียกได้ว่าเสียสละด้วยซ้ำ มันเป็นหน้าที่ เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ แต่เราไม่รู้จะพูดอย่างไร

 

ระหว่างขั้นตอนการทำ ดาวคะนอง คุณเผชิญกับการเซ็นเซอร์ตัวเองบ้างไหม

เราคิดกับเรื่องนี้น้อยไปด้วยซ้ำ เราว่าเราไม่ค่อยคิดนะ เพราะถ้าคิดแบบนั้นจะทำงานไม่ได้ เราเพียงแต่ทำให้เสร็จก่อนแล้วส่งเซ็นเซอร์ ถ้ามีปัญหาเราค่อยดีลกับมัน ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นวิธีที่ไม่ค่อยฉลาด ก็น่าจะเตรียมไว้เลยตั้งแต่แรก แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้ เรารู้สึกว่าถ้าเราแพลนไว้ สมองมันจะคิดไม่ได้ อยากทำอะไรก็ทำเลย

เพิ่งอ่านข้อเขียนเกี่ยวกับดาวคะนอง เขาบอกว่าหนังมีวิธีการเล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาอย่างฉลาด เพราะมันเสนอภาพเหตุการณ์นี้แบบไม่ตรงๆ โต้งๆ แต่ถามว่าเรากลัวเซ็นเซอร์หรือไม่ เราว่ามันเป็นวิธีเล่าเรื่องของเรามากกว่า เราไม่ได้ทำแบบนั้นเพราะต้องการเสนอภาพ 6 ตุลาที่ไม่ใช่ 6 ตุลาจริงๆ เพราะจะได้ไม่โดนเซ็นเซอร์ ถ้าคิดแบบนั้นตั้งแต่แรกเราคิดว่าเราคงทำงานไม่ได้

 

คุณมีปัญหากับเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างกระบวนการทำงานศิลปะที่อาจจะมีลักษณะอมความ ซ่อน hint ซ่อนนัยยะ กับ การเซ็นเซอร์ตัวเอง บ้างไหม

เรามองว่าภาพยนตร์คือศิลปะ ศิลปะก็ควรเป็นอะไรที่ไม่กระจ่างชัดจนเกินไป เพราะฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ตัวเอง เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่การพยายามจะยัดอะไรเข้าไปเพื่อหนีการเซ็นเซอร์จากหน่วยงานหรือสังคม มันคือขั้นตอนการทำงาน เราอยากจะเสนอประเด็นที่เราสนใจอย่างไรผ่านศิลปะ

 


img_4045-copy


ใน เจ้านกกระจอก คุณสนใจเรื่องสังคมปิตาธิปไตย สนใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างพ่อกับลูกชาย แต่ใน ดาวคะนอง ผู้ชายได้อพยพหนีหายไปจากหนังหมดเลย ทำไมจึงเป็นแบบนั้น

เราเริ่มพัฒนา ดาวคะนอง ตอนที่ทำ เจ้านกกระจอก ช่วงใกล้เสร็จ ก็เลยอยากจะทำประเด็นผู้หญิงบ้าง เพราะเราสำรวจพื้นที่สังคมที่เป็นปิตาธิปไตยไปแล้วใน เจ้านกกระจอก เราอยากทำหนังที่พูดถึงผู้หญิง…แค่นั้นเลย ตัวละครผู้ชายก็เลยมีแค่ตัวเดียว (ปีเตอร์ รับบทโดย เป้-อารักษ์)

แต่เราไม่ได้ตั้งใจจะกีดกันผู้ชายออกไปจากหนังนะ เราไม่ได้รู้สึกว่าเรากำลังเสนอภาพที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความจริง เพราะดาวคะนองเป็นอะไรที่ใกล้ตัวมากเลย เรามาจากสิ่งแวดล้อมที่มีผู้หญิงรายล้อมชีวิต ครอบครัวมีพี่สาว 3 คน เราเป็นคนที่ 4 พี่น้อง 4 คน เป็นผู้หญิงหมดเลย เราก็โตมาจากสิ่งแวดล้อมแบบนี้ แล้วชีวิตการทำงานก็มีแต่ผู้หญิงเกือบทั้งหมด เราก็เลยรู้สึกว่านี่คือสภาพสังคมของเรา ผู้ชายก็มีแต่น้อยและไม่ค่อยมีบทบาทต่อชีวิตเราเท่าไร มันก็เลยเป็นแบบนั้น

เราก็เลยรู้สึกว่าการที่หนังดาวคะนองมีแต่ผู้หญิงไม่ใช่เรื่องเหนือจริง ไม่ใช่แค่เรานะ แม้แต่ผู้ช่วยผู้กำกับดาวคะนองก็มาจากครอบครัวที่มีแต่ผู้หญิง หรือแม้แต่ line producer ก็มาจากบ้านที่มีแต่ผู้หญิง ผู้หญิงที่ดูหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกกับการที่ไม่มีผู้ชายในหนังนะ มันไม่ได้ไปสะกิดความรู้สึกของเขาเลย หรือรู้สึกว่าหนังตั้งใจกันผู้ชายออกไปจากหนัง แต่ถ้าผู้ชายดูก็อาจจะรู้สึกนิดนึง (หัวเราะ)

 

ใน เจ้านกกระจอก คุณสำรวจพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชาย คือเป็นปัญหาของลูกชายที่ต้องตามรอยพ่อหรือออกมาให้พ้นจากเงาของพ่อ ก็เลยอยากจะถามว่า คุณเคยคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาวในสังคมชายเป็นใหญ่ไหม

เคยคิดๆ เพราะตอนเขียนเจ้านกกระจอก ก็คิดว่าหรือเราจะให้ตัวละครลูกเป็นผู้หญิง แต่เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชาย กับ พ่อกับลูกผู้หญิง มันต่างกัน ตอนแรกก็คิดจะเขียนตัวเอกเป็นผู้ชายแต่เราไม่ใช่ผู้ชาย แต่เราจะพูดถึงสังคมที่เป็นปิตาธิปไตย แต่พอเป็นพ่อกับลูกผู้หญิงมันก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบนี้อีก มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกผู้หญิง กับ พ่อกับลูกผู้ชาย ก็ไม่เหมือนกัน

 

แล้วอะไรคือปัญหาของลูกสาวภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่

เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหา เพราะมันมองไม่ค่อยเห็น เราคิดว่าสังคมไทยมีการเหยียดเพศอยู่ แต่มันไม่ชัดเจนเหมือนสังคมวรรณะแบบอินเดีย ประเด็นนี้ในสังคมไทยเป็นอะไรที่จับต้องยาก และบางทีมันก็เป็นแค่ความรู้สึก แต่พอผู้หญิงพูดสิ่งเหล่านี้ออกมาก็จะถูกมองว่าหัวรุนแรง ถ้าเรียกร้องสิทธิก็จะเป็นหัวรุนแรงแล้ว มันเป็นปัญหาด้านอิมเมจของผู้หญิง

ถามว่าผู้หญิงมีปัญหาไหม เราว่ามี ความน่าเชื่อถือของผู้หญิงไม่เท่าผู้ชาย เรารู้สึกแบบนี้จริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ดูข่าวคราวเกี่ยวกับนักการเมืองผู้หญิงสิ ไม่เป็นเมียน้อยก็ต้องเป็นอะไรสักอย่าง ต้องมีข่าวแบบนี้ ทำไมมันมีอยู่แค่นี้ ไม่สามารถเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพได้เหรอ โอเค นักการเมืองผู้ชายที่มีคุณภาพมันก็อาจจะไม่ค่อยมี ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นผู้หญิง เราว่ายิ่งยากขึ้นไปอีก

 

เวลาคุณดูหนังของผู้กำกับชาย มองเห็นอคติทางเพศไหม

เห็นหลายเรื่อง แม้กระทั่งวิธีการถ่าย ยกตัวอย่าง Motel Mist เรารู้สึกว่าวิธีการถ่ายของหนังเรื่องนี้ไม่มีอคติทางเพศนะ Motel Mist มีประเด็นผู้ชายแก่กับผู้หญิงเด็ก มันง่ายมากที่จะถ่ายให้ดูเป็นมุมมองของผู้ชาย แต่เรื่องนี้เราไม่ค่อยรู้สึกแบบนั้นในทางภาพนะ แต่เนื้อหามีบ้าง แต่คนก็บอกว่าโอเค เพราะมันไม่ได้เป็นประเด็นชายกดทับหญิง…โอเค แต่มันก็มีบ้างที่เราจะคิดกับเรื่องพวกนี้ แต่เรารู้สึกว่ามุมกล้องของหนังเรื่องนี้ไม่มีปัญหา

แต่หนังหลายเรื่องมุมกล้องจะมีปัญหาในการจับภาพผู้หญิง แต่เนื้อหาเราว่ามีหลายเรื่อง ไม่อยากพูดเลย เดี๋ยวจะโดน (หัวเราะ)

 

ไม่เฉพาะหนังกระแสหลัก หนังอิสระก็มี?

ใช่ๆ มีทั้งนั้นแหละ เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้สึก แต่เมื่ออายุมากขึ้นสิ่งเหล่านี้กระจ่างชัดขึ้น เราไม่ได้เรียนสายเฟมินิสต์ ตอนเด็กๆ เคยเห็นประโยคทองของ ซีโมน เดอ โบวัวร์ เขาพูดว่า เขาไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่สังคมทำให้เขาเป็นผู้หญิง ตอนเด็กไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้ว (หัวเราะ) รู้สึกจริงๆ ว่าจริง

 

คุณตั้งคำถามในสเตตัส ว่าทำไมผู้กำกับหญิงในสังคมไทยจึงถูกมองข้าม อยากทราบแนวโน้มหรือสถานการณ์ของผู้กำกับหญิงเป็นอย่างไร

เราก็คิดว่าทำไมผู้กำกับหญิงจึงไม่มีมากกว่านี้เสียที…เออ ทำไมล่ะ ทำไม ทำไมมันน้อยมากเลย เรารู้สึกว่ามันต้องมีมากกว่านี้

 

แต่ดูเหมือนว่าหนังอิสระจะมีผู้กำกับหญิงมากกว่าหนังกระแสหลักนะ

ไม่จริง เช่นใครมั่ง

 

คุณ, พิมพกา โตวิระ หรือแม้แต่ผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ และชวัลรัตน์ รุ้งแสงเจริญทิพย์ ที่ทำหนังสารคดีเกี่ยวกับลุงบัณฑิต อานียา หรือแม้แต่หนังสั้นอย่าง วันนั้นของเดือน ของ จิรัศยา วงษ์สุทิน แต่หนังกระแสหลัก เราแทบนึกชื่อผู้กำกับหญิงไม่ออก

ใช่ ก็จริง แต่เรารู้สึกว่าหนังนอกกระแส ผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ๆ เยอะจริง แต่ยังไม่ได้ถูกผลักขึ้นมา เราหวังมากเลยนะว่าพวกเขาจะขึ้นมา อย่างน้องที่ทำหนังสารคดี Mr.Zero หรือ จิรัศยาที่ทำเรื่อง วันนั้นของเดือน เราหวังมากเลยว่าเขาจะถูกผลักดันขึ้นมา แต่มันจะเกิดขึ้นหรือเปล่า

ตอนแรกที่ดูภาพของ the Hollywood Reporter Thailand (นำเสนอผู้กำกับหนัง 6 คนที่น่าสนใจ-กองบรรณาธิการ) สิ่งแรกที่คิดคือทำไมพี่นุช-พิมพกาไม่ติดอยู่ในผู้กำกับ 6 คนนั้น เพราะเรารู้สึกว่าปีที่ผ่านมาพี่นุชแอ็คทีฟมากเลย มีทั้งหนังสั้นหนังยาวทำอะไรไม่รู้เต็มไปหมด แล้วทำไมเขาไม่ถูกนำเสนอในประเด็นนั้น เราข้องใจมากเลย

ย้อนกลับไปประเด็นที่เราคุยกันเมื่อครู่ มันไม่ได้ซัฟเฟอร์นะ แต่คับแค้นใจ…เราอึดอัด ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคุยกับพี่นุชเรื่องนี้ เราก็ไม่เคยรู้เขาคิดยังไง แต่ก็มีโอกาสได้คุยกันไม่นานนี้ เขาก็เล่าให้ฟังว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งมากกว่าเราอีก เพราะเขามาก่อน การเหยียดเพศในโลกภาพยนตร์นี่แหละ ทำหนังตั้งแต่เริ่มเข้าวงการหนังยาว เขาเจออะไรมาเยอะมาก ประเด็นก็คือมันไม่มีใครออกมาพูด เพราะพอพูดก็จะถูกมองว่าหัวรุนแรง เรียกร้องสิทธิ เป็นเฟมินิสต์ ซึ่งไม่ควรมีใครต้องเจอแบบนี้ไม่ว่าในโลกภาพยนตร์หรือในสังคมวิชาชีพอื่น


img_4025


คุณบอกว่าตัวเองไม่ใช่ activist แต่หลังรัฐประหารปี 49 คุณจัดกิจกรรม ‘จูบในที่สาธารณะ’ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

โดนด่าเละเลย (หัวเราะ) แต่ก็ด่าไปเถอะ…เราไม่สน รัฐประหารปี 2549 คือ turning point ในชีวิตของเราเหมือนกันนะ สิ่งที่เราเคยเชื่อว่าความคิดของเราก็ไม่ได้ต่างไปจากคนอื่นนัก เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยู่ดีๆ มันหายไปหมดเลย ทั้งรอบตัวเราไม่มีใครคิดแบบเรา เรารู้สึกสะเทือนใจเหมือนกันนะ ว่าความรู้สึกที่เราเคยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมันจางหายไป ช่วงนั้นมีข้อมูลเลอะเทอะเต็มไปหมดเลย เริ่มมีการปั่นกระแสความเกลียดชัง การล่าแม่มดยุคแรกๆ เราก็จัดกิจกรรม เราให้คนส่งคลิปจูบกันในที่สาธารณะ…แค่นี้เลย แล้วเราก็ทำเป็นเดโมตัวหนึ่ง ตอนนั้นมันยังไม่มีไวรัลด้วยนะ มือถือก็ยังถ่ายคลิปไม่ได้ด้วยมั้ง ต้องใช้กล้องวิดีโอ ส่วนหนึ่งก็อยากจะเอามันด้วยนะ อยากดูปฏิกิริยาของคนว่าจะยังไง ท้ายที่สุดไม่มีใครส่งมาเลย ไม่มีเลยแม้แต่คนเดียว มีคนแชร์และพูดถึงเยอะนะ แต่ไม่มีคนทำ

 

คนคนหนึ่งที่รู้สึกอกหักจากสังคมรอบตัว ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมจูบในที่สาธารณะ แต่ไม่มีใครส่งมาเลย คุณรู้สึกอย่างไร

แถมโดนด่า (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นไม่รู้สึกอะไรมากแล้ว เรารู้สึกแบบนั้นตอนก่อนทำกิจกรรมนี้มากกว่า ไม่รู้สึกเฟลนะ แต่อาจจะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ตอนรัฐประหารใหม่ๆ รู้สึกจริงๆ เพราะเหมือนเราถูกลอยแพยังไงไม่รู้

 

หลังปี 49 ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเยอะมาก เปลี่ยนวิธีการทำหนังของคุณไหม

วิธีการทำภาพยนตร์อาจจะไม่เปลี่ยนนะ แต่ความสนใจเปลี่ยน แรงกระตุ้นเปลี่ยน เพราะหากไม่มีรัฐประหารที่ทำให้เรารู้สึกถูกลอยแพ มันเป็น turning point ในความเชื่อของตัวเอง ก็อาจจะไม่ได้ทำดาวคะนองก็ได้ แต่เราแค่สมมุตินะ

 

ปี 57 ล่ะ คุณรู้สึกอย่างไร มีภูมิคุ้มกันไหม

จริงๆ มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรชินชาเนอะ แต่ทำไมชินชาก็ไม่รู้ พอเจอบ่อยๆ มันเริ่มชาชิน แต่มันไม่ควรชาชิน เพราะมันอันตราย แต่ถ้าให้ตอบด้วยความสัตย์จริง…ใช่ มันรู้สึกน้อยลง แต่เราไม่ควรรู้สึกน้อยลง ก็เป็นสิ่งที่พยายามบอกตัวเองอยู่

 

เวลาให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศกับสื่อไทย ความรู้สึกต่างกันไหม หรือคุยกับสื่อนอกมีความสบายใจกว่าสื่อไทย

มีส่วน บางประเด็น

 

คุณจะตอบแค่นี้ใช่ไหม

ใช่ (หัวเราะ)

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า