‘ใคร’ อยู่เบื้องหลังการดิสเครดิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย

กระแสการเกลียดและหวาดกลัวชาวมุสลิม (Islamophobia) ในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเคยเกิดขึ้น หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่และบางชุมชนมาหลายปีแล้ว จากการปลุกปั่นของชาวพุทธกลุ่มเล็กๆ ที่มีแนวคิดสุดโต่ง (Fundamental Buddhism) ดังจะเห็นได้จากความพยายามคัดค้านการก่อสร้างมัสยิดในบางจังหวัดของภาคเหนือ ไปจนถึงการผลิตและเผยแพร่สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาเชิงลบต่อกลุ่มมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จากกลุ่มผู้ไม่หวังดีบนโซเชียลมีเดียตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือแม้แต่กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จากการที่กลุ่มคนไทยจำนวนหนึ่งอ้างตนว่ามีเป้าหมายปกป้องศาสนาพุทธ แล้วออกมารณรงค์สร้างกระแสและป้ายสีให้คนมองสินค้าประเภทฮาลาลในมิติที่ไม่ค่อยจะสู้ดี 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นเหล่านี้เป็นเหมือนมายาคติที่ออกจะขัดกับสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยที่เป็นศูนย์รวมของความหลากหลายและหลากที่มา (cultural melting pot) เสียเหลือเกิน เพราะวัฒนธรรมพุทธและอิสลามในไทยนั้นพิสูจน์แล้วว่าสามารถคงอยู่ร่วมกัน (co-exist) มาได้อย่างผาสุกนานหลายศตวรรษ ตั้งแต่การมีชาวอิหร่านมาร่วมเป็นข้าราชการในราชสำนักสมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงการที่สังคมไทยเราผนวก ‘โรตี’ เป็นอาหารเช้ายอดนิยมที่ขายกันในตลาดสดแทบทุกแห่งทั่วประเทศ ตามมาด้วยการที่ไทยได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และไต้หวัน สำหรับประเทศนอกกลุ่ม Organization for Islamic Cooperation (OIC) ในดัชนี Global Muslim Travel (GMTI) ที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวมุสลิม

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าประเทศไทยเป็นมิตรมากน้อยเพียงใดนั้น ให้ถอยกลับไปดูจากสถิติมัสยิดในไทยที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยรวบรวมเอาไว้ในปี 2021 ซึ่งมีจำนวนรวมมากกว่า 4,000 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย คิดเฉลี่ยจังหวัดละกว่า 50 แห่ง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีสถิติการจัดตั้งมัสยิดอยู่ที่ 6,000 แห่ง มากกว่าไทยเพียง 2,000 แห่ง นอกจากนี้ หากนำไปเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และออสเตรเลียนั้น มีการจัดตั้งมัสยิดอย่างเป็นทางการเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 2,000 แห่ง (โดยในกลุ่มนี้ออสเตรเลียถือว่ามีจำนวนมัสยิดน้อยที่สุดคือ 300 กว่าแห่งเท่านั้น)

ย้อนกลับมาที่ประเด็นอาหารและสินค้าฮาลาล คนส่วนมากที่ไม่คุ้นเคยกับประเด็นการค้าขาย อาจจะยังไม่ได้ตระหนักว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้า ผลิตภัณฑ์แปรรูป และอาหารฮาลาลไทยในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900,000 ล้านบาท) (ข้อมูล: www.nationthailand.com/business/30395271) จัดเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศ ASEAN โดยกลุ่มที่ให้ความสนใจสินค้าฮาลาลไทยมากที่สุดคือ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ (MENA) ที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่รวมกว่า 400 ล้านคน 

สาเหตุที่ทำให้สินค้าไทยประเภทดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นเพราะไทยมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการแปรรูปและถนอมอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปที่สามารถเก็บสะสมไว้ได้เป็นเวลานาน อาทิ ปลากระป๋อง สับปะรดเชื่อมกระป๋อง และน้ำผลไม้กระป๋อง เป็นต้น

สอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขของชีวิตความเป็นอยู่ที่อัตคัด และแร้นแค้นในเขตทะเลทรายที่แห้งแล้ง ไม่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมการเพาะปลูก หรือการปศุสัตว์ อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องของสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งทางศาสนา และประเด็นการก่อการร้าย ทำให้ประเทศกลุ่มดังกล่าวมีความมั่นคงทางอาหารที่ต่ำและมีความต้องการอาหารแห้ง-อาหารแปรรูปในปริมาณมาก ซึ่งการที่ไทยมีกลุ่มบริษัทที่มีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ถือเป็นความได้เปรียบ เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง มูลค่าตลาดรวมทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งจำนวนประชากรมุสลิมทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตามการประเมินจากสถาบัน Pew Research Center ระบุว่า ภายในปี 2050 ประชากรมุสลิมจะมีจำนวนรวมถึงเกือบ 3,000 ล้านคน 

อุตสาหกรรมสินค้า อาหาร และเวชภัณฑ์ฮาลาลของไทยจึงเป็นโอกาสที่ไม่ควรละเลย เพราะมีโอกาสเติบโตในต่างประเทศสูงอย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่น่านำกลับมาขบคิด คือ ในปี 2022 นี้ ราคาพลังงานมีความแปรปรวนจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งการพยายามปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง ในจังหวะเดียวกับที่หลายประเทศผู้ผลิตสินค้าบริโภคทั่วโลกเริ่มกังวลถึงภาวะขาดแคลนสินค้าในประเทศ และเริ่มปรับตัวเข้าหานโยบายชาตินิยมทางอาหาร (food nationalism) ซึ่งเปิดโอกาสให้ไทยกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดที่สามารถส่งออกสินค้าในฐานะ ‘ครัวไทย-ครัวโลก’ ได้มากขึ้นกว่าร้อยละ 30 คิดเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2022 

แน่นอนว่า การที่ไทยเป็นผู้ได้เปรียบก็ย่อมมีผู้เสียเปรียบ (zero-sum game) เพราะในทวีปเอเชียนี้ไม่ได้มีแต่ไทยเท่านั้นที่เป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล แต่ยังมีจีนที่เป็นเจ้าตลาด และประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่พยายามเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากจีนและไทยอยู่ด้วย ประกอบกับภูมิทัศน์ทางการค้าในตลาดสินค้าฮาลาลปัจจุบัน ผู้ค้ารายใหญ่ทั้งหมด 11 ประเทศ ตั้งแต่บราซิล อาร์เจนตินา จนถึงไทย ไม่มีประเทศใดเลยที่เป็นมุสลิม ซึ่งก็เป็นที่กังขาและถูกเหน็บแนมผ่านพาดหัวข่าวว่ามันดูย้อนแย้ง (ironic) จากหลายๆ สำนักข่าวมาหลายปี 

ในจุดนี้ หากจะนำสมมุติฐานที่ว่า ชาวพุทธบางกลุ่มถูกต่างชาติจ้างวานมาให้สร้างกระแสดิสเครดิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยก็ดูจะมีน้ำหนักไม่น้อย เพราะจังหวะและบริบทภายในกับภายนอกประเทศช่างสอดคล้องกันเหลือเกิน

อีกทั้งข้ออ้างบางประการที่ถูกหยิบยกมาเพื่อโจมตีสินค้าฮาลาลในร้านสะดวกซื้อนั้น ก็ดูจะน่าขบขันและไร้เหตุผลสิ้นดี คล้ายกับการตั้งใจเพียงแค่มาปลุกปั่น อันที่จริงหากกฎหมายที่ตรวจสอบ NGO (ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …) ผ่านและคลอดออกมาบังคับใช้ในอนาคตก็เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เพราะกลุ่ม NGO ชาวพุทธดังกล่าวนี้ก็จะถูกตรวจสอบความโปร่งใสด้านช่องทางการเงินว่าเคยรับเงินจากรัฐบาล/บริษัทต่างชาติ หรือดำเนินการภายใต้อิทธิพลของประเทศที่สูญเสียผลประโยชน์ทางการค้ามาสร้างกระแสบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยหรือไม่ เงื่อนไขและรูปแบบของเรื่องนี้จะคล้ายๆ กับกรณีที่กลุ่มอนุรักษนิยมไทยชอบโจมตี และกล่าวหาเยาวชนไทยว่ารับเงินจากรัฐบาลต่างชาติมาจัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทยนั้นแล 

สำหรับเหตุปัจจัยที่ทำให้ประเด็นเรื่องรับเงินจากต่างชาติ หรือบริษัท/องค์กรในต่างประเทศที่สูญเสียผลประโยชน์ทางการค้ามาเพื่อประท้วงนั้นมีน้ำหนัก เพราะสภาพพื้นฐานทางสังคมไทยไม่ใช่สังคมที่มีความขัดแย้งทางศาสนาหรือมีการปะทะกันทางวัฒนธรรมที่สูงแบบประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรป-สหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีการวิ่งไล่ทำร้ายกัน หรือตะโกนด่าทอกันบนท้องถนนเมื่อเจอบุคคลต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ และไทยเองก็มีประวัติศาสตร์ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม/ศาสนามานานหลายศตวรรษ การที่ NGO พุทธบางกลุ่มจะออกมาเคลื่อนไหวโจมตีสินค้าฮาลาลจึงเป็นเหตุการณ์ที่น่าสงสัย และดูมีวัตถุประสงค์แอบแฝง (hidden agenda) มากกว่าหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าติดตาม

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า