[อภิชาต สถิตนิรามัย: ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบ] ตอนที่ 3: ‘ฉันทามติใหม่’ ในวันที่ชนชั้นนำเอาหินทับฝาหม้อไม่ให้กบกระโดด

การเลือกตั้ง 2566 เป็นการแสดงออกถึงความพยายามของประชาชน เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของไทย เนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 75.71 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านคนทั่วประเทศ 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่เช่นนี้ อภิชาต สถิตนิรามัย มองว่า การที่ประชาชนเทคะแนนให้กับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมกว่า 300 ที่นั่ง เป็นการแสดงออกของประชาชนว่า ไม่ต้องการระบอบประยุทธ์ ที่ลงหลักปักฐานมายาวนานเกือบทศวรรษ ทั้งยังสร้าง ‘ฉันทามติใหม่’ ทางการเมือง 

ขณะที่ 14 ล้านเสียงของพรรคก้าวไกล มีเจตจำนงในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทลายทุนผูกขาด ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งล้วนแล้วเกี่ยวโยงต่อการทำลายอำนาจที่กระจุกตัวของชนชั้นนำแทบทั้งสิ้น

ฉันทามติใหม่คือ พยายามของกบที่จะกระโดดออกจากหม้อต้มที่นํ้าเดือดปุดๆ แต่สุดท้าย กบไม่สามารถกระโดดออกมาได้สักทีเพราะมีการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เติมเชื้อไฟใต้หม้อกบ กดทับฝาหม้อเอาไว้ไม่ให้กบกระโดดออกมา กระทั่งอาจนำไปสู่การระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงทางการเมือง 

ติดตามบทวิพากษ์อันเข้มข้น ตรงไปตรงมา และคมชัดที่สุดในรอบทศวรรษของอาจารย์อภิชาต พร้อมกับจุดประเด็นที่น่าสนใจภายใต้การมองผ่านกรอบ ‘เศรษฐกิจการเมือง’ ผ่านบทสัมภาษณ์ชุด ‘ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบ’ ในวาระครบรอบ 1 ทศวรรษการรัฐประหาร 2557 ในประเด็นดังต่อไปนี้ 

  1. สภาวะถดถอยและการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 
  2. นายทุน-ขุนศึก ดึงขากบไม่ให้กระโดด 
  3. ปัญหาเชิงโครงสร้างและฉันทามติของประชาชน 
  4. วิกฤตหนี้ครัวเรือน 

การเลือกตั้ง 2566 ได้สะท้อนอะไรทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทยบ้าง

การเลือกตั้ง 2566 ที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงสนับสนุนมาเป็นลำดับที่ 1 ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยมาเป็นลำดับที่ 2 คนเลือก 2 พรรคนี้รวมกันได้ประมาณ 300 เสียงจากทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร หากตีความตามนี้แสดงว่า คนไทยมีความต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่เอาระบอบประยุทธ์ และต้องการคนใหม่ๆ เข้ามาบริหารประเทศ ตรงนี้ผมเชื่อว่าเป็น ‘ฉันทามติ’ แน่นอน 

พรรคก้าวไกลที่มาเป็นลำดับที่ 1 เสนอว่า ต้องแก้ปัญหาโครงสร้าง พรรคเพื่อไทยที่มาเป็นลำดับที่ 2 ไม่ได้พูดเรื่องปัญหาโครงสร้างอย่างชัดเจนนัก ดังนั้น หากจะบอกว่าเป็น ฉันทามติ 300 เสียงของคนไทยในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงไม่ถูกเสียทีเดียว เป็นเพียงแค่ฉันทามติไม่เอาระบอบประยุทธ์เท่านั้น 

แต่การที่พรรคก้าวไกลหาเสียงว่า ต้องการทลายทุนผูกขาด แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยเสียงสนับสนุนของก้าวไกล 14 ล้านเสียง แสดงเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งจุดหมายปลายทางของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ ก็คือการแก้ไขปัญเศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบนี่แหละ ที่จะต้องนำมาสู่การวางกติกาใหม่ ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ มีนโยบายอุตสาหกรรม ที่สร้างนำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมใหม่ๆ 

เมื่อประชาชนแสดงเจตจำนงไม่เอาระบอบประยุทธ์ 14 ล้านเสียงต้องการให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลไปเปลี่ยนโครงสร้าง แต่ผลที่ออกมาเราได้รัฐบาลข้ามขั้ว ผลกระทบระยะยาวจะเป็นอย่างไร  

การที่พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม มันทำให้ความพยายามในการทลายทุนผูกขาดมันยากยิ่งกว่าเดิม เพราะระบบอุปถัมภ์ผูกขาดยังคงดำเนินอยู่ต่อไปไม่ได้รับการแก้ไข               

ตอนที่เครื่องบินของคุณทักษิณแลนดิ้งที่ดอนเมือง มีข่าวลือจาก ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ หรือ ‘หมาแก่’ สื่อมวลชนชื่อดังช่อง 9 ระบุว่า มีเครื่องบินเจ็ทอีกลำนึงบินตามมาด้านหลัง เครื่องบินเจ็ทลำนี้เป็นเครื่องบินส่วนตัวของนายทุนใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย 

ถ้าข่าวลือของหมาแก่ ผมยํ้านะครับว่าข่าวลือ เป็นความจริง มันหมายความว่า ทุนขนาดใหญ่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วนี้ ดังนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้มีวาระ (agenda) ในการทลายทุนผูกขาด หรือว่ามีก็ทำไม่ได้

ทุนใหญ่ก็จะยังคงผูกขาดต่อไปอย่างน้อยอีก 4 ปี ?

มันก็ไม่แน่หรอกครับ การเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา เราก็ไม่รู้หรอก แต่สิ่งที่เราเห็นจากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วนี้ มันทำให้วาระการทลายทุนผูกขาดไม่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้

ด้วยรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลข้ามขั้ว วาระการทลายทุนผูกขาดในรัฐบาลชุดนี้ไม่น่าจะเกิด แล้วนโยบายเศรษฐกิจของเพื่อไทยจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอะไรได้บ้าง

นโยบายที่รัฐบาลใช้หาเสียงและเริ่มปฏิบัติไปแล้วบ้าง นโยบายเหล่านี้ ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาต้มกบแม้แต่น้อย เพราะนโยบายส่วนใหญ่ทั้งหมดเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น หรือแก้ปัญหาระยะยาวแบบขอไปที ตัวอย่างเช่น การลดค่าไฟ ซึ่งเป็นการใช้เงินกระเป๋าซ้ายซื้อเงินกระเป๋าขวา หรือการอุดหนุนนํ้ามันก็ดี อันนี้เป็นการใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหารากฐานในระยะยาว ไม่ได้ลงลึกไปสู่การแก้ไขปัญหาการผูกขาดด้านพลังงาน

อีกนโยบายที่เพิ่งแถลงไปว่าจะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้คือ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian Economics) ถ้าคุณกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจตกตํ่า จะวิกฤตหรือไม่ก็ได้ แต่เศรษฐกิจอย่างน้อยมันตกตํ่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น  รัฐบาลสามารถใช้นโยบายการเงินการคลังแบบขยายตัวเพื่อเข้ามาทดแทนกำลังซื้อที่ลดลงได้ เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 กำลังซื้อหดหายไปเลยจากตลาดจากการล็อคดาวน์ รัฐบาลจึงแจกเงินออกมา เพื่อพยุงกำลังซื้อให้มีอยู่ต่อไป 

ทฤษฎีแบบเคนส์เช่นนี้ ถูกออกแบบให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว แม้แต่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) เจ้าสำนักยังเคยกล่าวไว้ว่า “In the long run we are all dead” หรือ “ในระยะยาวพวกเราจะตายกันหมด” 

ความหมายคือ เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย 

อย่างไรก็ตาม มีแค่นโยบาย Soft Power ที่ถือว่ามาถูกทาง แต่ก็ต้องคงปรับอีกเยอะ เพราะเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ในแง่ส่งเสริมความสามารถการแข่งขัน 

อย่าไปติดคำว่า Soft Power พูดเน้นง่ายๆ ว่า ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เช่นที่เห็นในปัจจุบันอย่างกางเกงช้าง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยตัวมันเอง หรือการผลักดันให้คนใดคนหนึ่งเป็นแฟชั่นดีไซน์เนอร์ มันต้องมีระบบนิเวศน์ของการออกแบบสร้างสรรค์ด้วย กางเกงช้างตัวเดียวไม่ได้ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ แต่เราต้องวางกฎหรือกติกาอย่างไร ให้ส่งเสริมคนไทยให้เข้าสู่วงการออกแบบ มีสถาบันผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอย่างไร เมื่อมีบุคลากรที่พร้อมแล้วก็ต้องมีทุนในการผลิตความคิดออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งเราต้องพูดถึงทั้งระบบด้วย

พรรคก้าวไกลนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจบนแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่มีจุดเน้นต่างออกไปจากพรรคเพื่อไทยอย่างไร 

พรรคก้าวไกลเสนอในทางตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทย บนแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบสำนักสถาบันนิยม (Institutional Economics) นั้นมันไม่สำคัญตรงชื่อ เมื่อสักครู่เราพูดถึงปัญหาระยะสั้นกับปัญหาระยะยาว ซึ่งปัญหาระยะยาวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง 

คำว่าเชิงโครงสร้างแปลว่าแก้ง่ายๆ ไม่ได้ ต้องลงทุนเยอะ ทำอะไรหลายอย่างเยอะ การกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วครั้งชั่วคราวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้ และปัญหาระยะยาวนี้ เกิดจากกฎหรือกติกาในระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้จูงใจคนให้มีความสามารถในการแข่งขัน 

ตัวอย่างเช่น กติกาการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม กติกาที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ระบบอุปถัมภ์ผูกขาดคือ การไปทำลายกติกา ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันหรือแรงจูง (incentive) ให้คนพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาแข่งขันในตลาด การแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างมีหลายระนาบ ระนาบที่แก้ไขยากที่สุดอันหนึ่งคือ ระนาบกติกา และการบังคับใช้กติกาที่เป็นธรรม ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันหรือนวัตกรรม

เมื่อกลับมาที่เศรษฐศาสตร์สำนักสถาบันนิยม สำนักนี้ให้ความสำคัญกับกติกาทางเศรษฐกิจ ที่ได้สะท้อนภาพกติกาทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมอย่างที่กล่าวไปข้างต้น  ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีกติกาที่เป็นธรรม เพื่อก่อให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาด นำมาสู่การสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน แต่โดยพื้นฐานแล้วต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การวางกติกาที่เป็นธรรม คือการต่อสู้ทางการเมือง แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ตัวของมันเองคือการเมืองอย่างสำคัญที่สุด 

ระบบอุปถัมภ์ผูกขาด มันก็ถือกติกาชุดหนึ่ง เราจะแก้กติกาตรงนี้อย่างไร แน่นอนก็จะต้องสร้างกติกาใหม่ขึ้นมาเพื่อทำลายทุนผูกขาด มันแปลว่าอะไร มันก็คือการเมืองใช่ไหม และเป็นความยากในระดับรากฐาน ตราบใดที่การเมืองไทยยังไม่เปลี่ยน พลังทางการเมืองใหม่ๆ ยังไม่เกิดขึ้นและมีผลต่อการแก้ไขปัญหารากฐานทางการเมือง กติกาทางเศรษฐกิจก็จะยังไม่เปลี่ยน แม้จะเปลี่ยนได้ก็จะเป็นการเปลี่ยนชั่วครั้งชั่วคราวแทน ไม่ได้เปลี่ยนทั้งระบบ 

ยกตัวอย่าง พรบ.สุราก้าวหน้า ถูกกดดันไปเรื่อยๆ มันก็อาจจะเกิด แต่ระบบอุปถัมภ์ผูกขาดมันก็ยังคงอยู่ นี่คือตัวอย่างที่กติกาบางส่วนมันแก้ไขได้ แต่กติกาชุดใหญ่ที่ทำให้ระบบอุปถัมภ์ผูกขาดยังอยู่ มันคือการเมืองที่แก้ไขยาก 

หากความพยายามในการกุมอำนาจของชนชั้นนำเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันจะนำมาสู่ความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่ หากเทียบกับความขัดแย้งในอดีตเช่น เสื้อเหลือง-เสื้อแดง และ ชนชั้นนำเพียงหยิบมือ-คนส่วนใหญ่ของประเทศ อันไหนรุนแรงกว่ากัน 

ตอนนี้เรายังไม่สามารถตอบอะไรได้ แต่หากมองออกมาเป็นฉากทัศน์ (scenrio) ที่หลากหลายก็จะทำให้เราได้เห็นภาพความเป็นไปได้ 

การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วทำให้พัฒนาการทางการเมืองของไทย มี 2 แนวโน้ม คือ 

หนึ่ง ชนชั้นนำไทย มีอำนาจกระจุกตัวมากขึ้น

สอง ความพยายามในการมีส่วนร่วมของประชาชนสูงขึ้นเรื่อยๆ

สองแนวทางนี้มันสวนทางกัน เพราะการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วมันทำให้ ชนชั้นนำไทยมีอำนาจมากขึ้น กระจุกตัวมากขึ้น ส่งผลให้ความพยายามของประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากขึ้นเป็นไปได้ยากขึ้น ให้ผลลัพธ์แบบ ‘หักมุม’ ฝืนฉันทามติของประชาชน 

ความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) มันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ความขัดแย้งเสื้อสีเหลือ-แดง การเคลื่อนไหวของขบวนการคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มันคือ ปรากฎการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง

จากพฤษภาทมิฬเป็นต้นมา เราจะเห็นโครงสร้างอำนาจมันกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำใน กลุ่มนายทุน-ขุนศึก ในวงแคบมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความต้องการของประชาชนที่มีความต้องการในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากขึ้น และมันยัง ‘ปะทะ’ กันอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงออกเป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ

การยุบพรรคตัดสิทธิ์ การตัดสินคดี การแก้ไข ม.112 ปฏิรูปเท่ากับการล้มล้าง แสดงให้เห็นว่า ชนชั้นนำที่มีอำนาจกระจุกตัวสูงขึ้นนี้ ไม่ประนีประนอม ซึ่งเราไม่เห็นสัญญาณการประนีประนอมนี้เลย หากการยุบพรรคตัดสิทธิ์ของพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นจริงหมายความว่า พวกเขา (ชนชั้นนำ) ต้องการย้อนเข็มนาฬิกากลับไปมากกว่าปี 2521 รัฐธรรมนูญปี 2560 มันก่อให้เกิดอำนาจที่กระจุกตัวมากกว่าช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ด้วยซํ้า 

อำนาจที่เข้มข้นและกระจุกตัวของชนชั้นนำนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มันส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบนี้ 

กติกาทางการเมืองที่มีการกระจุกตัวทางอำนาจสูงเช่นนี้ จะทำให้การแก้ไขกติกาต่างๆ ที่มีรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตัวรองรับ จะทำให้การแก้ไขกติกาที่ทำให้กบกระโดดยากขึ้นไปอีก เศรษฐกิจก็จะโตช้าลง สูญเสียความสามารถในการแข่งขันขึ้นไปอีก สังคมไทยก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเข้าไปอีก หลังปี 2570 เป็นต้นไป ประชากรวัยแรงงานจะลดลงถึงปีละ 3 แสนคนลงไปอีกเรื่อยๆ จำนวนการลดลงของประชากรวัยแรงงานเช่นนี้ คิดเป็นการเจริญเติบโตที่ช้าลง 0.8 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP เช่น ปีที่แล้วเราโต 1.9 เปอร์เซ็นต์ หากสิ่งเหล่านี้เกิดเราจะโตเพียง 1.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น                        

ดังนั้น การกระจุกตัวของอำนาจในมือของชนชั้นนำที่เข้มข้น เหมือนสุมเชื้อไฟใต้หม้อต้มกบที่รุนแรงขึ้น ไม่นับว่ามันจะปะทุออกมาเป็นความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่ ถ้าหากชนชั้นนำประนีประนอมทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ฝาหม้อต้มกบคลายออกทีละน้อย ช่วยลดการปะทะกันทางการเมืองได้ กบก็พอที่จะกระโดดออกมาได้บ้าง กบอาจจะเจ็บตัวนิดหน่อย หากไม่มีท่าทีประนีประนอมทางการเมือง ก็เหมือนการปิดฝาหม้อแล้วเอาหินทับไปอีก 3 ก้อน มันก็อาจระเบิดออกเป็นความรุนแรงทางการเมืองได้

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า