หญิงสาวเปลือยกาย และความหมายของเธอที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อเดือนมกรา ฉันและเพื่อนเกย์คนหนึ่งชวนกันไปหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เป็นงานรวมศิลปิน LGBT เราเจองานหนึ่งที่สร้างแรงปะทะมาก จะบอกว่าปะทะ (หรือ impact) ก็ฟังดูจะเป็นศัพท์ทางศิลปะไปหน่อย แต่จะไม่ให้ปะทะได้อย่างไร เพราะเมื่อเดินเข้าไปก็พบวิดีโอขาวดำของหญิงสาวสะสวยนอนเปลือยกายแผ่อยู่บนเตียงในจอขนาดใหญ่รายล้อมคนดู ทุกจอฉายสาวคนนี้จากมุมนั้นมุมนี้ ฉันไม่ได้ตกใจที่เห็นผู้หญิงเปลือย แต่สิ่งที่ฉันตกใจคืออวัยวะเพศของเธอนั้น ไม่ใช่ของผู้หญิง แต่เป็นของผู้ชาย

มันชัดเจน ไร้เซ็นเซอร์ ไม่มีอะไรมาบดบัง และแม้จะมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว และรู้ว่านี่คือ Transgender แต่ฉันก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าได้รับการปะทะกับภาพแบบนี้ ทั้งผมยาวสลวย หน้าอกขนาดใหญ่ ทรวดทรงงามหยดของเธอ ดวงตาคมกริบที่จ้องคนดูกลับมา และองคชาติที่ห้อยอยู่ตรงเป้า ทั้งหมดดูเข้ากันแม้ว่าจะรู้สึกขัดกันในภาพจำของฉัน วิดีโอฉายภาพเธอขยับมือไปมา แต่ไม่มีตอนไหนเลย ที่มือของเธอมาปิดอวัยวะเพศนั้น 

Welcome To My World ‘Tee’, อริญชย์ รุ่งแจ้ง, 2019, วิดีโอและศิลปะจัดวาง
ภาพจาก shanghartgallery.com

เราเดินออกจากห้องมาและพบว่ามีบทบันทึกของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินเจ้าของผลงานที่เราเพิ่งชมไป ‘Welcome to My World, Tee’ (ซึ่งเล่าเกี่ยวกับวัยเด็กของศิลปิน และบทสัมภาษณ์ นิกร ทวีทรัพย์ พี่สาวที่อยู่ในวิดีโอ

สองส่วนนี้เป็นคนละเรื่องกัน แต่มีความเกี่ยวโยงกัน ทั้งความเจ็บปวดของการเป็นเพศทางเลือก การก้าวผ่านมันไป จนถึงพ่อของอริญชย์ที่เป็นเหยื่อของความเกลียดชังที่เยอรมนี และนิกรที่ไปใช้ชีวิตใหม่ที่เยอรมนี ฉันเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดก่อนจะนึกถึงผู้หญิงในวิดีโอที่เพิ่งดู อะไรบ้างที่เปลี่ยนไป การมองเพศสภาพต่างออกไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการที่อริญชย์ใช้โพสแบบ Inclining Nude ในการสื่อสารหญิงสาวคนนี้

*บทบันทึกสามารถโหลดอ่านได้โดยหอศิลป์กรุงเทพฯ ได้เผยแพร่ไว้

สิ่งที่อยู่คู่ภาพวาดและงานศิลปะมาเป็นเวลานานแสนนานจนแทบจะจับมือเดินไปด้วยกัน คือผู้หญิงในผลงานศิลปะ โดยเฉพาะผู้หญิงเปลือย ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ก็จะเห็นสาวนอนเอนกาย ปลดเปลือยตัวเอง แผ่หราให้ผู้ชมได้มาดูพวกเธอ

Inclining Nude จึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปเมื่อพูดถึงเพศสภาวะในงานศิลปะ โดยเฉพาะผลงานชิ้นนี้ของอริญชย์ เราจึงอยากให้ทุกคนรู้จักภาพ Inclining Nude เด่นๆ ในประวัติศาสตร์มาก่อนจะถึงภาพพี่นิกร

นู้ดหรือโป๊?

ก่อนจะเรียนรู้เรื่อง Inclining Nude เรามารู้จักนู้ดกันก่อน เพราะก็ได้ยินคำว่าภาพนู้ดๆ อยู่ออกบ่อย ทั้งที่ภาพนู้ดคือภาพคนไม่ใส่เสื้อผ้า แล้วการนู้ดกับการโป๊ต่างกันอย่างไร? 

คุณเคนเนธ คลาร์ค (Kenneth Clark) นักประวัติศาสตร์ศิลป์อธิบายความหมายนี้ว่า “ในขณะที่การโป๊ (nakedness) คือภาพร่างกายไร้เสื้อผ้าที่ถูกเปิดเผย อันน่าอาย และเต็มไปด้วยจุดอ่อน การนู้ดคือการแสดงภาพร่างกายอันปลดเปลื้องจากอาภรณ์อย่างเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่เหนือกว่า และเที่ยงธรรม ผุดผ่อง” 

อะไรวะ?????

ใช่ค่ะ อ่านตอนแรกก็อะไรวะเหมือนกันค่ะ แต่คุณเคนเนธกำลังหมายความว่า จะโป๊หรือนู้ด มันอยู่ที่แอททิจูด ถ้าอายก็โป๊ แต่การนู้ด คือการที่คุณจงใจเปิดเผยอย่างไร้ความอับอายต่อสิ่งที่ตัวเองปลดเปลื้อง ดังนั้น การนู้ด จึงเข้าไปอยู่ในผลงานศิลปะหลายต่อหลายชิ้นเพื่อเปิดเผยทรวดทรงของมนุษย์ที่ไม่มีอะไรมาปิดบัง ดังนั้นในประวัติศาสตร์ มักจะถือว่ารูปนู้ดเป็นศิลปะที่สูงส่งกว่ารูปโป๊ทั่วไปเพราะ “มันคือวัฒนธรรม”

ทีนี้ปัญหาของความคิดนี้ก็คือ แล้วใครล่ะ เป็นคนที่กำหนดว่าอะไรเป็นวัฒนธรรม และอะไรคือศิลปะ เพราะในอดีต ศิลปินที่สร้างผลงานไปจนถึงผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่เป็นผู้ชายค่ะ และภาพนู้ดที่วาดขึ้นมา ส่วนใหญ่ ตัวแบบจะเป็นผู้หญิง เลยเกิดเป็นข้อโต้เถียงว่า แท้จริงแล้ว ภาพนู้ดที่ยกย่องว่าเป็น ‘ศิลปะอันสูงส่ง’ เหลือเกินนั้น มันเป็นเพียงข้ออ้างที่จะวาดภาพผู้หญิงโป๊เพื่อสนองความต้องการของผู้ชายอย่างสะดวกสบาย แถมได้รับการชื่นชมหรือไม่

ข้อโต้เถียงนี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อเรามาดูภาพนู้ดแบบนึงที่ใช้กันบ่อยมาก นั่นคือโพส Venus Pudica หรือวีนัสผู้เรียบร้อย (Modest Venus) ออกจะขัดกันหน่อยว่าเราเปลือยกายแล้วจะเรียบร้อยได้อย่างไร แต่ภาพนี้มันอธิบายในตัวเองค่ะ เพราะท่า Venus Pudica คือการนู้ดที่เอามือไปปิดอวัยวะเพศ พูดง่ายๆ คือเปลือยแต่ปิดจิ๋มนี่ล่ะค่ะ

The Birth of Venus, Sandro Botticelli, 1485–1486

มันซับซ้อนตรงที่ จุดประสงค์และท่าทางมันขัดกันน่ะสิ เพราะถ้าการนู้ดคือการเปิดเผยอย่างไม่เขินอาย แล้วแกจะปิดจิ๋มทำไมล่ะ! ไม่พอ การปิดจิ๋มของท่า Venus Pudica นี้มีจุดประสงค์ค่ะ เคยได้ยินไหมว่า ผู้หญิงเวลาแต่งตัว อย่าเปิดหมด มันไม่เหลือที่ให้จินตนาการ นั่นล่ะค่ะ ท่า Venus Pudica ปิดจิ๋มนี่ก็มีไว้เพื่อให้ผู้มองได้จินตนาการถึงสิ่งที่ปกปิดเอาไว้นี่แหละ ไม่ใช่แค่นั้น เพราะเมื่อเอามือหนึ่งไปปิดเอาไว้แล้ว ท่าทางก็จะไม่สมมาตรขึ้นมาทันที และความไม่สมมาตรนี่ล่ะ คือสิ่งที่ดึงสายตาของคนให้ไปมองสิ่งที่ปิดไว้ และจินตนาการถึงสิ่งที่มองไม่เห็น แยบยลไหมล่ะ

เอนกายประชัน

เราจะเปรียบเทียบภาพ Venus Pudica สามภาพนี้

ภาพแรกคือ Sleeping Venus โดย Giorgione

Sleeping Venus, Giorgione, 1510

เรื่องมันมีอยู่ว่า จอร์โจเนวาด Sleeping Venus ขึ้นมาก่อน เป็นภาพที่นับว่าดังมากเพราะเขานำเอาวีนัสมาวาดให้เหมือนกับภูตไพรน้อย แล้วก็เป็นการวาดที่ผสมแลนด์สเคปของธรรมชาติเข้าไปด้วย แต่ความทึ่งมันอยู่ที่ขนาดค่ะ เพราะเป็นงานแรกๆ ที่วาดนู้ดเกือบเท่าตัวคนเลย และนู้ดนั้นก็กินพื้นที่เกือบเต็มทั้งรูป แต่วาดไม่ทันเสร็จ จอร์โจเนก็ป่วยตายซะก่อน คนที่มาลูบพู่กันต่อก็เป็นใครไม่ได้นอกจากเพื่อนรักของเขาชื่อทิเทียน

ภาพที่สองคือ Venus of Urbino ของ Titian ซึ่งเป็นภาพที่ดัดแปลงมาจากภาพแรก และใส่รายละเอียดลงไป

Venus of Urbino, Titian, 1538

ทิเทียนได้รับอิทธิพลจากภาพของเพื่อนรักมาก เลยวาดวีนัสของตัวเองขึ้นมาด้วย นั่นก็คือ Venus of Urbino ความต่างของวีนัสทั้งสองเวอร์ชั่นอยู่ตรงนี้ ทั้งที่วาดเทพเหมือนกัน โพสก็แทบจะลอกกันมา แต่ของจอร์โจเนจะดูห่างไกล แตะต้องไม่ได้ ก็คือเป็นเทพนี่ล่ะ เทพที่สมบูรณ์แบบ แต่ของทิเทียนกลับให้ความรู้สึกว่าสามารถเข้าใกล้ เข้าถึงวีนัสคนนี้ได้มากกว่า ถึงกับยกวีนัสเข้ามานอนในบ้านเลย

ถ้าเปรียบเทียบกับวงการบันเทิงไทยก็คงสวยแบบอั้มกับสวยแบบน้องๆ BNK48 ที่คนนึงจะห่างไกลคนทั่วไปเลย แต่อีกคนยังสามารถซื้อบัตรจับมือได้ ไม่พอ วีนัสจ้องมองมาที่ผู้ชม ราวกับว่าเชื้อเชิญให้เข้ามาหา แต่สัญลักษณ์ที่ทิเทียนสอดแทรกเข้าไปในภาพกลับตรงข้ามกับความยั่วยวนเลยค่ะ เพราะดอกกุหลาบที่ถือในมือ เป็นดอกไม้ที่พูดถึงความรัก ลูกหมาที่ปลายเท้าสื่อถึงความไร้เดียงสาและความซื่อสัตย์ และสาวใช้ข้างหลัง กำลังเก็บของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง ซึ่งชี้ไปได้ว่าเธอเพิ่งแต่งเข้ามาในครอบครัว

เบื้องหลังของรูปนี้คือทิเทียนได้รับการว่าจ้างให้วาดรูปแก่ดยุคที่ต่อมาเป็นเจ้าเมือง Urbino นี่เอง และเขาก็ได้แต่งงานกับเจ้าสาวที่อายุน้อยกว่าเขามาก ด้วยความที่รูปยั่วยวนมาก เลยมีความเป็นไปได้ว่ารูปนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อฉลองการแต่งงาน แต่มีไว้เพื่อดูแบบส่วนตัว หรือกับแขกที่คัดเลือกแล้วมากกว่า เหมือนเป็นการอวดเมียเด็กของตัวเองไปกลายๆ

ภาพที่สามคือภาพ Olympia ของ Édouard Manet ซึ่งเป็นภาพที่ล้อภาพที่สองอีกที

Olympia, Édouard Manet, 1863

หมุนนาฬิกามาเกือบสองร้อยปี ณ กรุงปารีสที่ Moulin Rouge รุ่งเรือง Venus of Urbino ได้รับการนำมาล้อเลียนอีกรอบโดย Édouard Manet

ในรูป Olympia หญิงสาวในท่าทางเดียวกัน องค์ประกอบแบบเดียวกัน คือนอนอยู่บนเตียงสีขาว มีฉากหลังกั้นตรงกึ่งกลางตัวพอดี ด้านหลังมีคนรับใช้เช่นกัน เพียงแค่เธอไม่ได้อยู่หลังสุด แต่เข้ามากระชั้นชิดกับตัวแบบ และปลายเท้าก็มีสัตว์เลี้ยงตัวน้อยอยู่เช่นกัน เมื่อรูปนี้ถูกจัดแสดง ก็กลายเป็นที่ฮือฮามากเช่นเดียวกับ Sleeping Venus แต่เสียงวิจารณ์กลับออกมาในแง่ลบ เพราะผู้หญิงที่มาเนต์เอามาใช้เป็นแบบ น้อง Olympia นั้น ไม่ใช่เทพธิดาภูตไพรที่ไหน แต่จากองค์ประกอบรอบๆ ตั้งแต่ดอกกล้วยไม้ทัดหูแทนที่จะถือไว้ และเครื่องประดับที่ดูพยายามจะหรูหรา ไม่เพียงแค่นั้น แมวดำขู่ฟ่อที่เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกับลูกหมาหลับอย่างสงบ และคนรับใช้ผิวสีที่นำช่อดอกไม้อันเขื่องมาให้ แข่งความเด่นกับตัวแบบอย่างชัดเจน ดอกไม้นั้นอาจมาจากคนรัก หรือแม้แต่มาจากหนุ่มที่ต้องการตัวเธอ บอกได้ว่าเธอเป็นโสเภณี 

กระแสตอบรับเลยออกมาประมาณว่า เอาท่าทางของเทพ ศิลปะอันเป็นของสูง นู้ดที่ควรจะผุดผ่อง กล้บถูกศิลปินอย่างแกย่ำยี แต่ความจริงแล้ว นั่นคือสิ่งที่มาเนต์ต้องการจะสื่อ เพราะถ้าดูท่าทางและสีหน้าของเธอแล้ว เธอกลับดูไม่ยั่วยวนเลยสักนิด ทั้งการนอนชันตัวอย่างแข็งทื่อ มือที่ดูเกร็ง หน้าตาไม่รับแขก แถมหันมองผู้ชมอย่างจะๆ มาเนต์ตั้งใจวาดรูปนี้ให้เธอดูไร้ชีวิตชีวา แม้แต่ผิวของเธอก็ซีดหมองอมฟ้าเหมือนศพ รูปนี้เลยเป็นเหมือนการหันหลังให้กับขนบการทำงานจิตรกรรม และเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาของความคิดว่าการนู้ดและการวาดภาพที่ถือกันว่าเป็นของสูงนั้น มีจุดโหว่ตรงไหนบ้าง ยุคนี้ตรงกับยุค Realism หรือถ้าจะให้พูดง่ายๆ คือ มาเนต์วาดความจริง 

ผู้หญิงในภาพนี้คือวีนัสแห่งยุคสมัย นั่นคือความจริง ไม่ว่าจะมีภาพวาดแทนสาวสวยมากแค่ไหน แต่ในยุคนั้น สำหรับมาเนต์แล้ว นี่คือภาพของผู้หญิงที่ผู้ชายหมายปอง

มองอดีตแล้วถามปัจจุบัน

รูปอีกคู่ที่สูสีกันก็คือ La Grande Odalisque โดย J.-A.-D. Ingres และ Do Women Have To Be Naked to Get Into The Met. Museum? โดยกลุ่มศิลปิน Guerilla Girls

La Grande Odalisque, Jean Auguste-Dominique Ingres, 1814

ถอยหลังจากรูป Olympia มา 50 ปี รูป La Grande Odalisque ถูกวาดโดย ฌ็อง-โอกุสต์-ดอมินิก แองกร์ (Jean Auguste-Dominique Ingres) ในปี 1814 ต่างจากสามรูปที่กล่าวมาข้างต้น La Grande Odalisque ไม่ได้มีแบบมาจากนิยายกรีกโบราณ ถือเป็นแบบที่ใหม่ แต่ก็ไม่ได้ใหม่ชนิดเพิ่งมีมา 

คืออย่างนี้ ตอนนั้นตรงกับยุคสมัยของนโปเลียนพอดี และผลงานของตาแองกร์ก็เป็นเสาหลักของศิลปะลัทธิ Neo-classicism ซึ่งแปลว่า คลาสสิกใหม่ หรือเอาคลาสสิกมาทำใหม่ ไม่ใช่แค่ใหม่อย่างเดียว แต่ Neo-classicism คือการวาดภาพที่เหมือนจะคลาสสิก แต่ดัดแปลงบางส่วนให้เข้ากับเจตจำนงของศิลปิน อย่างเช่นรูปนี้เอง 

คืออย่างนี้ค่ะ นอกจากสายตาที่หันมองเราแบบไม่แยแสแล้ว รูปนี้ถ้าสังเกตดีๆ สาวในรูปมีสันหลังที่ยาวมาก ไม่ใช่ว่าไปขี้เกียจมาจากไหนนะคะ แต่เพราะแองกร์ต้องการจะเน้นความงามตรงส่วนหลังของเธอนี่ล่ะค่ะ ไหนจะขาของเธอที่ดูผิดองศาไปอีก แต่นั่นคือสิ่งที่ตาแองกร์ต้องการจะให้เกิด เพราะมันแปลก และที่แปลกนี่ล่ะ มันเลยสวยแบบแปลกๆ งงไหมคะ ทดไว้ก่อนนะ 

Odalisque เองก็ไม่ใช่เทพยดาที่ไหนเช่นเดียวกับ Olympia แต่ Odalisque คือหญิงสาวในฮาเร็ม ไม่ใช่ฮาเร็มธรรมดาด้วยนะคะ เพราะจากของตกแต่ง ทั้งผ้าโพกหัว พัดขนนกยูง และยาสูบด้านหลัง ก็คาดเดากันได้ว่านี่คือฮาเร็มในประเทศแขกๆ อย่างตุรกี หรือเมืองแถบตะวันออก เป็นการสร้างความคลาสสิกขึ้นมาใหม่โดยไม่ต้องผ่านความแฟนตาซีของเทพปกรณัม แต่ผ่านความเป็นประเทศที่แปลกตาไปจากสายตาของชาวยุโรป เลยยิ่งเสริมกับความแปลกของรูปนู้ดนี้ ที่ไม่ได้แปลกแค่ร่างกาย แต่แปลกที่ความเคยชินด้วย เราเรียกความคิดแบบนี้ว่า Orientalism

Orientalism มาบูมตอนยุคนโปเลียนเพราะเป็นยุคที่การล่าอาณานิคมเฟื่องฟูมากค่ะ เฟื่องฟูมากขนาดที่คนชนชั้นสูงสามารถไปท่องเที่ยวตามประเทศแบบนี้ แล้วก็ได้เห็นวัฒนธรรมต่างๆ กลับมาเป็นแรงบันดาลใจในการวาดรูปได้แบบ Odalisque นี่ล่ะค่ะ แต่ Orientalism นี่ล่ะ ที่เป็นตัวปัญหา เพราะคนยุโรปเหล่านี้ไม่ได้ซื้อตั๋วไปเที่ยวสามวันสองคืนแล้วก็กลับมารีวิวลงพันทิปแบบเรานี่ล่ะ แต่ที่เขาไปได้ เพราะเขาเป็นเจ้าอาณานิคมประเทศต่างๆ ก็คือรวยมาจากแรงงานของทาสจากประเทศอื่นนี่ล่ะ มันเลยเป็นประเด็นว่า คนยุโรปเหล่านี้ฉกฉวยเอาวัฒนธรรมของชนชาติอื่นมาใช้โดยที่ตัวเองก็ไปกดขี่เขา มองเขาว่า ‘เป็นอื่น’ หรือมองเขาว่า ‘แปลก’ นี่ล่ะ เหมือนกับว่าวันนึงมีฝรั่งมาบอกว่าส้มตำปูปลาร้าบ้านเราไม่อร่อยเพราะมันแปลก เราก็จะมองว่า อิหยังวะ สูกินบ่เป็นเอง

Do Women Have To Be Naked To Get Into the Met. Museum?, Guerrilla Girls, 1989
ภาพจาก guerrillagirls.com

เราหมุนไทม์แมชชีนมาที่ยุคไม่ปัจจุบันเท่าไหร่ แต่ก็ใกล้เคียง ในปี 1989 กลุ่มศิลปินหญิง Guerilla Girls ได้จัดแสดงผลงานชิ้น Do Women Have To Be Naked to Get Into The Met. Museum? หรือแปลได้ว่า “ผู้หญิงต้องเปลือยอย่างเดียวเลยหรือ? ถึงจะได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมโทรโพลีแทน” ซึ่งพิพิธภัณฑ์เมโทรโพลีแทน หรือ Met. Museum ที่นิวยอร์ค นับว่าเป็นหอศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ถ้าใครตามแฟชั่นก็จะได้ยินคำว่า The Met. Gala ที่จะชอบมีธีมต่างๆ มาทุกปี คนจัดก็คือที่นี่ล่ะค่ะ 

ส่วน Guerilla Girls เป็นกลุ่มศิลปินหญิงที่ไม่เปิดเผยตัวตน สมาชิกทุกคนจะสวมหน้ากากกอริลลา ที่เป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า Guerrilla (แกริลลา) หรือการสู้รบแบบกองโจร ที่พวกเธอต้องปิดหน้าเพราะงานที่พวกเธอทำส่วนใหญ่คือการเปิดโปงความไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมทางเพศในวงการศิลปะ ด้วยความที่วงการมันแคบ แถมพี่ๆ เล่นแฉแหลกสับกระจายขนาดนี้ ก็เลยต้องปิดหน้านี่ล่ะค่ะ งานชิ้นนี้นับเป็นงานไอคอนิคของพวกเธอมาก เพราะเธอตั้งคำถามโดยตรง ผ่านรูป La Grande Odalisque ที่ตัดภาพหัวกอริลลาอันเป็นที่จดจำของพวกเธอมาใส่ไว้แทนที่สาวในฮาเร็ม เหมือนจะเป็นการถามว่า “ฉันต้องเปลือยกายให้พวกคุณใช่ไหม ถึงจะได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์” ซึ่งคงไม่ใช่แค่การพูดถึงจำนวนอันน้อยนิดของศิลปินหญิงในวงการศิลปะแล้ว แต่พูดถึงผู้หญิงที่ทำงานในวงการศิลปะ เช่น ภัณฑารักษ์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ ว่าพวกเธอต้องถูกมองว่าเป็นวัตถุทางเพศก่อน ถึงจะอยู่ในวงการนี้ได้หรือ 

เป็นการสับผลงานที่ถูกยกย่องในยุคสมัยว่าเป็นศิลปะชั้นสูงมาตั้งคำถามใหม่ เพราะผลงานหลายชิ้นในอดีตที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานของ Old Masters เมื่อหันมาดูจริงๆ แล้ว หลายรูป เป็นรูปที่ถูกวาดขึ้นมาด้วย Male Gaze หรือถ้าแปลตรงตัวก็คือการจ้องมองของผู้ชาย 

จ้องมองแล้วมันยังไง? การจ้องมองคือสิ่งที่กำหนดมุมมองในรูปภาพ ถ้ามันถูกใช้เป็นการจ้องมองอย่างเดียว ก็คงไม่ผิดหรอก ถ้าอำนาจในการกำหนดนั้นไม่ได้ตกเป็นของเพศเดียว Male Gaze จึงทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศ หรือผู้ที่ถูกคุกคาม ผู้หญิงในผลงานเหล่านี้เลยมักจะเป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งที่ตัวเองเป็นจุดเด่นของภาพ เช่นเดียวกับที่เหล่า Guerilla Girls ถามว่า นอกจากการเป็นหญิงสาวเปลือยกายแล้ว ที่ทางของพวกเธอในโลกศิลปะอยู่ตรงไหน เสียงของเธอได้รับการฟัง และเข้าใจหรือไม่

หันมามองยุคปัจจุบัน ปี 2020 แล้ว เราได้ผ่านกระแส #MeToo มาไม่กี่ปี การเคลื่อนไหวในการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศทำให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับผลงานศิลปะมากขึ้น แต่คำว่า ‘feminism’ หรือความเท่าเทียมทางเพศ ได้ไปไกลกว่าแค่เพศชายและเพศหญิงแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เราประทับใจกับผลงานของอริญชย์ ไม่ได้มีเพียงเรื่องราวและการหยิบ Inclining Nude มาใช้ด้วยการเอานิกรหญิงข้ามเพศมาเป็นแบบ แต่ท่าทางของเธอต่างจาก Venus Pudica ที่ปิดอวัยวะเพศเอาไว้ นิกรเปิดเผยมันอย่างแจ่มแจ้ง และนอกจากเรือนร่างที่เธอเปิดเผยแล้ว ก็คือเรื่องราวในอดีตและความรู้สึกของเธอ ที่ถูกนำมาตีแผ่ไม่มีปิดบัง อริญชย์ได้สร้างความหมายใหม่ให้กับภาพนู้ดนี้ เขาเพิ่มความหมายของการจ้องมอง โดยไม่ได้มีแค่เราที่จ้องมองหญิงสาวบนจอ แต่เธอก็จ้องมองกลับมาที่คุณ จากจอขนาดใหญ่ประชันหน้าเราเช่นกัน 

บทบันทึกของอริญชย์ตอกย้ำว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ไม่ได้มีเพียงเรื่องเพศ แต่ความเกลียดชังที่มีต่อความแตกต่างได้ทำลายชีวิตคนไปมากเท่าใด เราอยากให้ทุกคนได้อ่านบทบันทึกนั้น เพราะความเกลียดชังไม่ได้มีอยู่เพียงแค่เพศสภาพที่ต่างจากที่เราเคยชิน แต่มันคือเรื่องในสังคมอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่เชื้อชาติ อาชีพ ความฝัน หรือแม้แต่ภายในความรัก ครอบครัว และความสัมพันธ์

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า