ถ้ายากจนเท่ากัน ผู้หญิงจะขวนขวายเล่าเรียนมากกว่าผู้ชาย

ประวัติของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่มักมีเส้นเรื่องว่า เพราะพวกเขามาจากครอบครัวที่ยากจน ปู่ย่าตายายมีลูกมาก ทำให้ในจำนวนพี่น้องหลายคนไม่ใครก็ใครต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เสียสละให้ลูกคนใดคนหนึ่งที่พ่อแม่เห็นควรได้เล่าเรียนต่อ ที่เหลือให้ออกมาทำงาน ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน

ผู้ที่ได้เรียนต่อส่วนมากมักเป็นผู้ชาย เป็นพี่คนโต ส่วนผู้หญิงให้ออกมาทำงานบ้าน เรียนทำอาหาร ฝึกการดูแลบ้านเพื่อเตรียมตัวไปเป็นเมียที่ดีต่อไป

ประโยคข้างต้นอาจไม่จริงทั้งหมด ผู้เขียนอ้างอิงจากเรื่องเล่าของคนรอบตัว ไม่มีตัวเลขทางสถิติในประเทศไทยยืนยันรองรับ แต่ที่อ้างขึ้นมาเพราะบทความเรื่องPoor Girls Are Leaving Their Brothers Behind (หญิงสาวยากจน ผู้กำลังก้าวห่างออกจากพี่ชายของพวกเขาไปเรื่อยๆ) โดย อลานา เซมูเอลส์ (Alana Semuels) คอลัมนิสต์ผู้ติดตามประเด็นทางสังคม เขียนประจำให้กับสำนักข่าว Atlantic และ Los Angeles Times ทั้งหมดนี้ทำให้ย้อนคิดถึงเรื่องราวข้างต้น ซึ่งเซมูเอลส์ก็ต้องการสื่อเน้นประเด็นนี้เช่นกัน

มีงานวิจัยใหม่หลายชิ้นยืนยันว่า เด็กสาวจากครอบครัวยากจน ประสบความสำเร็จกับการเรียนระดับมหาวิทยาลัยในสัดส่วนที่มากขึ้น และมากกว่าพี่น้องผู้ชายในครอบครัวเดียวกันเสียอีก สวนทางกับสถิติในอดีตที่ผู้ชายประสบความสำเร็จด้านการเรียนมากกว่า

ความน่าสนใจของบทความชิ้นนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า ผู้หญิงเก่ง กล้าหาญ และอดทนขยันขันแข็งกว่าเด็กผู้ชาย แต่เซมูลเอลส์อ้างอิงงานวิจัยหลายชิ้น เดินทางไปสัมภาษณ์นักวิจัย และลงไปคุยกับนักเรียนทั้งหญิงชายที่มาจากครอบครัวยากจน

เธอตั้งคำถามขั้นต้นว่า ทำไมเส้นกราฟจึงพลิกเปลี่ยนเช่นนั้น ผู้หญิงเก่งกว่าผู้ชายเพราะถูกกำหนดด้วยเรื่องดีเอ็นเอหรือเพราะเหตุผลทางจิตวิทยาและสังคมอันซับซ้อน โดยเฉพาะประเด็น ‘gender’ หรือเรื่องเพศสภาพ ที่สังคมบอกว่า ถ้ามีเครื่องเพศแบบนี้ ต้องมีพฤติกรรมอย่างไร

ขับเน้นให้เห็นประเด็นอย่างเด่นชัดก่อนไล่เรียงข้อมูลทั้งทางสถิติและบทสัมภาษณ์ ข้อสรุปหนึ่งที่เซมูเอลส์ยกขึ้นมาคือ ผู้ชายที่มาจากครอบครัวยากจนไม่ได้มีดีเอ็นเอโง่หรือเรียนไม่เก่ง แต่เพราะไอเดียเรื่องความเป็นชาย (masculine) ในครอบครัวชนชั้นแรงงานนั้นชัดเจนและเข้มแข็งมาก เด็กผู้ชายยากจนที่สนใจเรียนมักถูกหาว่าเป็นเกย์หรือถูกเรียกว่า ‘pussies’ กระทั่งบอกว่า นี่เป็นพฤติกรรมที่ช่าง ‘girly’ สุดๆ

ความเป็นชายที่พวกเขายึดถือ (หรือสังคมพยายามยัดใส่มือให้จับไว้) คือการทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเป็นสิ่งที่ชายชาตรีต้องทำ และการศึกษาระดับมัธยมหรือช่วงก่อร่างสร้างฐานทางความคิดเป็นสิ่งจำเป็นน้อยกว่า

แน่นอนว่าครอบครัวที่มีการศึกษา มีโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ย่อมสอนความเป็นชายในอีกรูปแบบ และทำให้เห็นด้วยตัวเองว่าอาชีพของผู้ชาย ของพ่อ ที่ทำเงินและทรงภูมินั้น ใบปริญญาหรือการศึกษาคือใบเบิกทางให้มีชีวิตที่ดีได้

สถิติ: ผู้หญิง ความยากจน และระดับการศึกษา

ผู้หญิงจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ชนชั้นแรงงาน หรือครอบครัวผู้อพยพในสังคมอเมริกัน ขณะนี้มีตัวเลขชี้ว่าพวกเธอขยับเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น และทำคะแนนได้ดีในชั้นเรียนด้วย

สำนักงานสถิติด้านการศึกษาแห่งชาติสหรัฐ (National Center for Education Statistics: NCES) เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1960-2015 ระบุว่า เด็กผู้ชายจากครอบครัวยากจนและกำลังศึกษาชั้นมัธยมปลายปีที่ 2 หรือเกรด 11 ในปี 2002 สามารถจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2013 ราว 12.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้หญิงสำเร็จการศึกษาราว 17.6 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะผู้หญิงชาวละตินที่มีอายุ 25-29 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีราว 22 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ชายที่มีตัวแปรเดียวกันจบการศึกษาระดับปริญญาตรีราว 16 เปอร์เซ็นต์

เซมูเอลส์ขีดเส้นใต้ไว้ว่า แม้ตัวเลขดังกล่าวจะยืนยันว่าผู้หญิงที่มาจากครอบครัวยากจนจะไปได้ดีในระบบการศึกษามากกว่าผู้ชายที่มีข้อจำกัดเดียวกัน แต่ก็ยังห่างชั้นกว่าผู้หญิงจากครอบครัวชนชั้นสูง ครอบครัวที่มีการศึกษา หรือมีความได้เปรียบทางสังคมและเศรษฐกิจ ตัวเลขของ NCES ระบุว่า ผู้หญิงจากครอบครัวที่ได้เปรียบทางสังคม ที่อยู่เกรด 11 เมื่อปี 2002 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2013 กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกันจากครอบครัวยากจนจบการศึกษาปริญญาตรีเพียง 17.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แต่ใครหลายคนอาจตั้งคำถามว่า ระดับการศึกษาเป็นมาตรวัดความสำเร็จในชีวิตขนาดนั้นจริงหรือ?

แน่นอนว่าความสำเร็จในชีวิตไม่ได้วัดจากระดับการศึกษา หนังสือหลายเล่มบอกเล่าชีวประวัติของบุคคลสำคัญระดับโลกที่เรียนไม่จบแต่สร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับมนุษยชาติ เช่น สตีฟ จ็อบส์ ผู้นำธุรกิจและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธาน และอดีตประธานบริหารของแอปเปิลคอมพิวเตอร์

แต่ต้องขีดเส้นใต้ไว้เช่นกันว่า มันไม่ได้ซื่อตรงและสวยงามเช่นนั้น และหากดูข้อมูลที่ตรงไปตรงมาอย่างระดับการศึกษาและมาตรฐานเงินเดือน จากงานวิจัยของศูนย์การศึกษาและแรงงาน (Center on Education and the Workforce: CEW) มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ซึ่งเผยแพร่ราวปี 2016 ชี้ว่า งานกว่า 8.4 ล้านจาก 11.6 ล้านตำแหน่งทั่วโลกที่เกิดหลังเหตุการณ์วิกฤติทางการเงิน (recession) ปี 2007 ตกเป็นของผู้ที่มีใบปริญญา ไม่นับช่องว่างของค่าแรงระหว่างคนที่มีใบปริญญากับไม่มีใบปริญญาว่าจะห่างกันสักเพียงไหน

เพราะเด็กผู้ชายยากจนไม่ชอบเรียนหรือต้องออกมาหาเงินเพื่อเป็นผู้นำครอบครัวกันแน่

ทำไมเด็กผู้ชายจึงมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวกว่า ไม่สนใจเรียนกว่า ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลจากพันธุกรรม ฮอร์โมน  หรือจากยีนที่มาจากเพศชาย? คำตอบไม่ใช่เช่นนั้นทั้งหมด เซมูเอลส์นำเสนอข้อมูลด้วยการยกงานวิจัยเรื่อง Childhood Environment and Gender Gaps in Adulthood (สิ่งแวดล้อมในวัยเด็กและช่องว่างด้านเพศสภาพในช่วงวัยผู้ใหญ่) โดย National Bureau of Economic Research องค์กรด้านการวิจัยไม่แสวงกำไรในสหรัฐ ที่ยืนยันว่า…

เด็กๆ ไม่ว่าจะเพศไหนก็มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในด้านการเรียนรู้ที่เหมือนกัน แต่จุดเปลี่ยนที่เริ่มแตกต่างชัดเจนมาจากตัวแปรที่เรียกว่า ‘ความยึดถือด้านความเป็นชาย’ (masculine) ที่เด็กผู้ชายในครอบครัวชั้นแรงงานยึดถือ

เซมูเอลส์ตอกย้ำประเด็นนี้ด้วยการสัมภาษณ์ คลอเดีย บุชแมนน์ (Claudia Buchmann) ศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท (Ohio State University) และผู้ร่วมเขียนหนังสือ The Rise of Women: The Growing Gender Gap in Education and What it Means for American Schools (ยุคสมัยของผู้หญิง: ช่องว่างระหว่างเพศที่มากขึ้นในระบบการศึกษาและความหมายที่มีต่อโรงเรียนอมเริกัน) บุชแมนน์ยืนยันคล้ายกันว่า ทั้งในครอบครัวและในระบบการศึกษา เด็กผู้ชายจะถูกกดดันให้แสดงออกถึงความเป็นชายในรูปแบบต่างๆ

เช่น ถ้าเด็กผู้ชายตั้งใจเรียนมากๆ จะถูกล้อว่า ‘girly’ ‘gay’ หรือpussies’ เมื่อรวมกับความคิดว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำครอบครัว และภาวะการเป็นผู้นำครอบครัวที่เด็กๆ มักเห็นคือ ผู้ชายต้องทำงานหนัก ทำงานนอกบ้าน พวกเขาจึงไม่เห็นว่า การเรียนในห้องเรียนสำคัญสักปานใด เมื่อรวมกับความคิดเชื่อว่าผู้หญิงต้องขยันและละเอียดอ่อน ทั้งหมดนี้ทำให้ความเป็นหญิงมีสกิลที่เหมาะสมเหมาะเจาะกับการพัฒนาทักษะในด้านการศึกษา

ไอเดียความเป็นชายในครอบครัวที่มีการศึกษาหรือความได้เปรียบทางสังคมจะไม่ใช้แนวคิดนี้กับลูก บุชแมนน์บอกว่า พวกเขาจะอธิบายความเป็นชายกับลูกชายของพวกเขาใหม่ ความเป็นชายไม่เกี่ยวกับการตั้งใจเรียนแล้วจะถูกหาว่าเป็นเกย์ หรือเป็นเรื่องของผู้หญิง พวกเขาสอนและอาจเป็นตัวอย่างว่า อาชีพที่พ่อแม่พวกเขาเป็นอยู่นั้น เด็กๆ จะเป็นได้ก็ต่อเมื่อมีการศึกษา โดยเฉพาะการมีใบปริญญา

ไม่ใช่เด็กผู้ชายยากจนทุกคนจะมีชีวิตที่ลำบาก และอยู่ในวงจรความจนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เซมูเอลส์พยายามนำเสนอบทความของเธอในหลายๆ มิติ ด้วยการเดินทางไปคุยกับทั้งชายและหญิงที่เคยผ่านความยากจนแต่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีหลายเคสที่ผู้ชายไม่จบการศึกษาระดับปริญญาสามารถมีชีวิตที่ดีได้ แต่อีกหลายเคสเช่นกันที่ชีวิตของพวกเขายังซ้ำรอย จน ไม่ชอบเรียนหนังสือ มีปัญหาพฤติกรรม และมีลูกในวัยที่พวกเขาไม่พร้อม

“ถ้าผมมีพื้นฐานครอบครัวที่ดี ผมคงเข้าใจว่าการเรียนมันสำคัญอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ ชีวิตผมคงไปได้ไกลกว่านี้”

คือหนึ่งในคำสัมภาษณ์ของชายสัญชาติอเมริกัน-ลาวที่เซมูเอลส์เดิมทางไปพบ เธอไม่ได้ตั้งใจจะซ้ำเติม แต่เลือกประโยคนี้ขึ้นมาเพื่อชี้ว่า พวกเขาเพียงไม่รู้ ไม่ถูกทำให้เห็น ว่าการศึกษามันสำคัญ ด้วยน้ำมือของความจน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความคาดหวังความกดดันจากเรื่องเพศของตัวเอง 

ที่มา: theatlantic.com

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า