ครอบครัว EF ทักษะศตวรรษที่ 21 และความรุนแรงทางการเมือง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

คอลัมน์นี้ต้องการเขียนเรื่องครอบครัวและทักษะศตวรรษที่ 21 เป็นสำคัญ  

รากฐานของครอบครัวคือจิตวิเคราะห์ รากฐานของทักษะศตวรรษที่ 21 คือ Executive Function (EF)

ทักษะศตวรรษที่ 21 มีเนื้อหาครอบคลุมความรู้พื้นฐาน 4 เรื่องซึ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเรา คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง  

ปัญหารอบด้านบ้านเมืองของเราวันนี้ไม่พ้นเรื่องโควิด-19 ความยากจน ฝุ่นควัน PM2.5 และความเห็นต่างทางการเมือง การยกตัวอย่างให้เห็นจริงในเรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 จึงทำได้ง่ายเพราะหันไปทางไหนก็พบ

ทักษะศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที หากลูกหลานของเรามีทักษะสามประการนี้ดี เขาจะรับมือเรื่องรอบตัวทั้งสี่เรื่องได้ดี

ทักษะศตวรรษที่ 21 มิได้อยู่ลอยๆ ทักษะศตวรรษที่ 21 ที่ดีพัฒนามาจาก Executive Function (EF) ที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนประกอบที่เรียกว่าคิดยืดหยุ่น (cognitive flexibility) ในทำนองเดียวกัน EF ก็มิได้อยู่ลอยๆ แต่พัฒนามาจากครอบครัวที่เลี้ยงเด็กมาในแนวทางพัฒนา EF

ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อมโยงจากครอบครัวที่เลี้ยงลูกแบบดั้งเดิม สู่ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 และก่อนหน้านั้น อยู่ที่เราจะเห็นความเชื่อมโยงนี้มากน้อยเพียงไร และเมื่อเห็นแล้วเราควรพัฒนาครอบครัวไทยสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่ที่เด็กไทยทุกคนสามารถพัฒนา EF และทักษะศตวรรษที่ 21  

ครอบครัวดั้งเดิมเป็นอย่างไร 

ครอบครัวดั้งเดิมหมายถึงครอบครัวในศตวรรษที่ 20 อบรมสั่งสอนลูกหลานให้เป็นเด็กดี มีวินัย ถือความสัตย์ และเรียนเก่ง โดยนิยามเด็กดีไว้ตายตัว นิยามวินัยไว้ตายตัว นิยามความสัตย์ตามใจฉันและพรรคพวกของฉัน และเชื่อว่าถ้าลูกเรียนเก่งจะได้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยที่ดีกว่า มีคอนเน็คชั่นที่ดีกว่า มีงานที่ดีกว่า ตามด้วยมีฐานะและสถานะทางสังคมที่ดีกว่า  

ครอบครัวดั้งเดิมคาดหวังเช่นนี้มิใช่เรื่องผิด ทั้งหมดนี้ทำไปในนามของความรักและคาดหวังเห็นลูกมีความสุขความเจริญด้วยใจบริสุทธิ์ 

ที่อยากให้ลูกรับราชการและเป็นเจ้าคนนายคนนั้นส่วนหนึ่งแต่เชื่อว่ามิใช่ส่วนใหญ่ พ่อแม่ดั้งเดิมจำนวนมากก็มิได้ต้องการอะไรมากขนาดนั้น พูดสั้นๆ คือขอให้ลูกไม่ยากจนก็เพียงพอ แต่ว่าพวกที่ได้เป็นข้าราชการและเจ้าคนนายคน (เช่น ผู้เขียนบทความนี้ เป็นต้น) ก็ก่อปัญหาวันนี้ไม่น้อยทั้งที่พื้นเพมาจากลูกหลานชาวบ้านกันแท้ๆ

ยุคไวไฟและไอทีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อตอนปลายศตวรรษที่ 20 ไม่เพียงกระทบระบบการศึกษา แต่กระทบระบบครอบครัวด้วย

ครอบครัวดั้งเดิมหมดเวลาไปกับการให้การศึกษาลูกหลานในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมมาก เด็กๆ ใช้เวลา 15 ปี จากอนุบาล 1 ถึงมัธยม 6 ไปเรียนหนังสือที่ตายตัว ท่อง จำ ติว และสอบ พ่อแม่หลายบ้านหมดเวลาไปกับการทำมาหากิน ปากกัดตีนถีบ เก็บหอมรอมริบ เพื่อให้มีเงินเหลือมาส่งลูกเรียนหนังสือเก่งๆ เราอยู่กันมาแบบนี้นานมาก นานจนกระทั่งเกิดความเสียหายในวันนี้

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคไวไฟและไอที เด็กๆ จำเป็นต้องมีสมองที่มีความสามารถ EF ที่จะคิดยืดหยุ่นในทุกเรื่องจึงจะรับมือโลกสมัยใหม่ได้ แต่ EF มิได้มาจากการเรียนหนังสือมากๆ  

EF ได้มาจากการอ่านหนังสือมากๆ แต่หนังสือบ้านเราราคาแพง ได้มาจากการเล่นมากๆ แต่เด็กอนุบาลและประถมบ้านเรามีเวลาเหลือให้เล่นน้อยมาก และได้มาจากการทำงาน แต่การศึกษาและค่านิยมบ้านเราไม่ให้เด็กทำงาน ให้เรียนอย่างเดียว

ครอบครัวสมัยใหม่วันนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบการศึกษา เอาเด็กออกจากระบบการศึกษาคับแคบมาทำโฮมสคูลเมื่อไรก็ได้ จะได้จัดเวลาการอ่าน การเล่น และการทำงาน รวมทั้งการเรียนรู้ด้วยโจทย์ปัญหาเป็นฐานจากที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนเลย โรงเรียนตายมาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ส่วนใหญ่ของเราทำมิได้เพราะทั้งสองคนต้องออกไปทำงานตั้งแต่หลังลาคลอดได้ 3 เดือน พ่อแม่จึงไม่สามารถอ่านหนังสือให้ทารกฟังเต็มเม็ดเต็มหน่วย เล่นกับลูกมากๆ ช่วงเด็กเล็ก และฝึกลูกทำงานเมื่อเป็นเด็กโต ตัวปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจของสังคมไทยนั้นเองที่คอยขัดขวางมิให้ครอบครัวดั้งเดิมของเราพัฒนาไปเป็นครอบครัวสมัยใหม่ เหตุเพราะติดขัดที่ไม่มีทั้งเงินและเวลา

นั่นทำให้ยังมีเด็กและเยาวชนอีกมากไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ห้ามด้วยความห่วงใย ส่วนหนึ่งเพราะยังติดกรอบและระเบียบของระบบการศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะไม่กล้าเนื่องจากระบบการศึกษาของเราสอนให้ไม่กล้า และอีกส่วนหนึ่งไม่สามารถคิดออกนอกกรอบได้ เพราะ EF ยังพัฒนาไม่ถึงระดับ  

คำกล่าวของรัฐบาลว่าผู้ประท้วงมีแค่ 200-300 คนก็เกินจริงไปมาก แต่ที่น่าจะจริงคือรัฐบาลที่ชาญฉลาดมักทำให้ครอบครัวยากจนเอาไว้และทำให้การศึกษาคับแคบเข้าไว้ เพราะนั่นเท่ากับตัดกำลัง EF ส่วนที่ว่าด้วยการคิดนอกกรอบทิ้งไปตั้งแต่ต้นมือ

เราจึงต้องการครอบครัวสมัยใหม่มากกว่านี้ ครอบครัวที่รู้ว่าการเรียนเก่งอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อลูกหลาน การเรียนเก่งมิใช่เรื่องไม่ดีในตัวเอง แต่การรู้รอบด้าน จิตใจประชาธิปไตย และคิดนอกกรอบได้คือ EF จะสำคัญต่อพัฒนาการทักษะศตวรรษที่ 21 มากกว่า  

แล้วช่วยให้สังคมของเราหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ดีกว่า

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า