ใน ‘การศึกษา’ ที่มองหาแต่ข้อบกพร่อง ฝันของเราจึงหวังให้ ‘การเรียนรู้’ คือเรื่องปกติ

สะอาด – เด็กขี้กลัว ขี้แง มีอะไรก็เก็บไว้ในใจ ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก ชอบหนีไปร้องไห้และคุยกับกำแพง แต่เป็นเด็กดี เรียนเก่ง คว้ามาหมดรางวัลคณิตคิดเร็ว มารยาทงาม ไปจนถึงคัดลายมือ

ครูจุ๊ย – อยู่โรงเรียนเป็นเด็กเงียบ แต่อยู่บ้านพูดมาก เรียนเก่ง เป็นนักกิจกรรม เคยขอครูประกวดมารยาทบ้างแต่ไม่ได้รับอนุมัติเพราะครูบอกว่าไม่เหมาะ กลับกันโรงเรียนมอบรางวัลลูกดีเด่นให้แทนเพราะขยันช่วยพ่อแม่ขายของ

คนแรกเพิ่งจะออกหนังสือเล่มใหม่ การศึกษาของกระป๋องมีฝัน ช่วงนี้เราจึงเห็นหน้า ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ เจ้าของนามปากกาสะอาด (Sa-ard) บ่อยหน่อย ส่วนคนที่สองเพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของโรงเรียนต้นกล้า จังหวัดเชียงใหม่ กลับมาทำหน้าที่ ‘ครูจุ๊ย’ อีกครั้งของ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ทั้งคู่มีเหมือนกันคือ ‘ปัญหา’ ต่อการศึกษา คนแรกแสดงออกผ่านลายเส้นการ์ตูน คนหลังก้าวเข้าสู่สภา หวังว่าพลังที่มีจะทำให้มันดีขึ้น แต่ก็ถูกผู้ทรงพลังกว่าตัดสิทธิไป 10 ปี

WAY จึงชวนทั้งคู่มาสนทนากันเรื่องการศึกษาส่วนตัว บางประสบการณ์อาจต่างกันสุดขั้วแต่สิ่งที่เชื่อเหมือนๆ กันคือ ‘คนบ้า’ เท่านั้นที่เกิดมาสมบูรณ์แบบ

ทั้งคู่เป็นเด็กแบบไหน

สะอาด : เป็นเด็กเหี้ยครับ (หัวเราะ) พูดเล่นครับ ตอนเด็กๆ ผมขี้กลัว เป็นเด็กขี้แง ถ้านับตอนประถมอนุบาล เป็นเด็กร้องไห้เก่ง มีอะไรก็เก็บไว้ในใจ แล้วก็ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกออกมาเพราะเรากลัวว่าถ้าแสดงบางอย่างออกไปแล้วจะมีปัญหาอะไรไหม ผมจะมีตำนานกับครอบครัวว่า ผมจะชอบหนีไปร้องไห้กับกำแพง คุยกับกำแพง บางทีก็ไปมุดใต้โต๊ะทั้งมื้อ เพื่อร้องไห้ น้อยใจ

แต่เป็นเด็กเรียนเก่ง ประถมเป็นตัวแทนโรงเรียนไปตอบปัญหาคณิตศาสตร์ พวกคณิตคิดเร็ว เป็นเด็กคิดเลขเร็ว

แต่พาร์ทวาดรูปจะซ่อนๆ ไว้ไม่อยากแสดงออก กลัวถูกมองว่าเป็นเด็กเนิร์ด เพราะจริงๆ เราเนิร์ด

ครูจุ๊ย : ทำไมถึงคิดว่าวาดรูปเป็นเนิร์ด

สะอาด : เพราะผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ถูกห้ามในทุกๆ พื้นที่ แม่ส่งไปเรียนเทควันโด้ ผมยังรู้สึกกลัว ไม่อยากบอกคนอื่นเลยว่าเราไปเรียนเทควันโด้ ไม่รู้ทำไม รู้สึกว่า identity เด็กที่ไปเรียนพิเศษมันแตกต่าง มันจะดูเป็นการข่มเขาว่าเรามีอะไรพิเศษ หรือสนใจอะไรมากกว่าคนอื่น วาดรูปก็เป็นหนึ่งในนั้น เลยไม่โชว์ ถ้าเพื่อนถามก็บอกว่าคนอื่นวาด หรือแอบวาดไม่ให้เพื่อนเห็น เลยไม่มีโมเมนต์ที่เพื่อนมารุมๆ แล้วบอกว่า วาดกูหน่อยดิ

แล้วครูจุ๊ยเป็นเด็กแบบไหน

ครูจุ๊ย : จุ๊ยมาจากโรงเรียนหญิงล้วน ตอนประถมครูประจำชั้นจะบอกแม่ว่า ที่โรงเรียนเงียบมาก แล้วแม่จะบอกว่า ที่บ้านมันพูดมากๆ เลย ทำไมไม่เหมือนที่บ้าน เป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ไม่ได้ที่หนึ่ง หัวโจกประมาณหนึ่งแต่ก็ไม่หัวโจกจนสุด อยู่ในกลุ่มคนเยอะๆ ได้ เป็นเด็กกิจกรรม ทำหมดทุกอย่าง เชียร์ลีดเดอร์ พิธีกร ฯลฯ

จำได้เลย เคยได้รับรางวัลลูกดีเด่น เพราะช่วยพ่อแม่ขายของ คือพ่อแม่มีร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เจอครู เราก็ “ครูจะเอาอะไรเหรอคะ ร้านพ่อแม่หนูค่ะ”

สะอาด : เออ ผมนึกขึ้นได้ว่า ผมเคยได้รางวัลมารยาทดี (หัวเราะ) ผมเคยไปแข่งคัดไทยของรุ่นด้วย แบบลายมือสวย เหมือนผมมี identity การเป็นเด็กดี๊เด็กดีตอนประถม เพราะเราคือเด็กผู้ชายที่ได้คะแนนสอบดีๆ ซึ่งมีไม่กี่คน

ครูจุ๊ย : เฮ้ย ของเราอะ เราเคยบอกเพื่อนในห้องว่าขอไปเป็นตัวแทนประกวดมารยาท แต่เพื่อนไม่ให้ บอกว่าเราไม่เหมาะ เพราะเดิมพันของห้องเรา เป็นห้องที่ได้รางวัลมาตลอด แต่ทำเป็นหมด ผ่านการเป็นนักเรียนคลานเข่าหาครูมาตลอด ไหว้สามระดับเป็น ถอนสายบัวเป็น ถวายบังคมเป็น

ที่ครูบอกว่าตัวเองเป็นหัวโจก อธิบายเพิ่มเติมได้ไหม

ครูจุ๊ย : เราจะเป็นแนวผู้หญิงๆ แบบคนนี้ไม่โอเคเรื่องนี้ ไม่คุยกับเขานะ ตอนนั้นจำไม่ได้แล้วว่าใช้วิธีไหน แต่ผลลัพธ์คืออันนี้

เป็นควีนบี?

ครูจุ๊ย : ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าเป็นเบอร์สอง มันมีคนที่เป็นควีนบีกว่าเรา แต่เราบอกว่า เฮ้ย อย่างนี้ไหมล่ะ เป็นมาสเตอร์มายด์อยู่ข้างหลัง

สะอาด : ชักใยเบื้องหลัง

ครูจุ๊ย : ใช่ เป็นแบบนั้น แล้วก็เล่นกีฬาไม่เก่ง ไม่ชอบคาบกีฬา ไม่ชอบคาบคณิต ถ้าจะสอบให้ผ่านก็ต้องลอกเพื่อน จำได้ว่า ก่อนจบ ม.3 มั้ง ต้องว่ายท่าผีเสื้อให้ได้ในสระว่ายน้ำโรงเรียน เรารู้สึกว่าโคตรโหด ทรมานทรกรรมเหลือเกิน เก่งสุดคือปิงปอง ไม่ใช่ตีกับเขานะ คือเดาะปิงปองได้

อยู่บ้านอ่านแต่หนังสือ เด็กๆ ติด อกาธา คริสตี เต็มบ้าน ขอป๊ากับแม่ซื้อ ป๊ากับแม่จะไม่ส่งไปเรียนพิเศษแบบกิจกรรมเลย เพราะมันเบียดเบียนวิชาการ แต่ป๊าจะสนับสนุนให้ไปต่างประเทศ ไปแคนาดาเองตั้งแต่อายุ 12 สอบทุนได้ AFS ก็ให้ไป

ตอนไป AFS กลับมา เป็นจุดเปลี่ยนของจุ๊ย จะเป็นเด็กที่มั่นใจขึ้นเยอะมาก ตอน ม.ปลายก็จะมีคำถามว่าทำไมต้องทำอันนี้ ทำไมต้องทำอันนั้น ทำไมใส่ต่างหูเยอะๆ ไม่ได้ เพราะเราเคยใส่ได้ที่นู่น ทำไมย้อมผมไม่ได้ ครูก็คิดซะว่าเราไปทะเลมาสิ ผมโดนแดดเลีย แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย ไม่ดีเหรอ แล้วก็มีความเป็นผู้นำมากขึ้น

เคยโดนทำโทษแรงที่สุดเรื่องอะไร

สะอาด : ความทรงจำตอนประถมคือโดนคุกเข่าหมู่ที่พื้นคอนกรีตเพราะคุยกันเยอะ มีครั้งหนึ่งที่คุกเข่านานมาก ผมเห็นเพื่อนค่อยๆ เป็นลมไปทีละคน ทีละคน โรงเรียนประถมผมจะลงโทษด้วยการคุกเข่าทั้งระดับบ่อยมาก เป็นท่าไม้ตาย ไม่ใช่แค่ ผอ. ที่สั่งคุกเข่าได้ แต่ทุกยูนิตที่เหนือไปกว่าเรามีอำนาจในการสั่งหมด แล้วผมก็คิดว่านั่นคือ normal ของโลกในโรงเรียนที่เราอยู่

ครูจุ๊ย : เราเห็นครูที่มีไม้ใหญ่ๆ เราไม่เคยโดนหรอกนะ แต่จำความรู้สึกได้ว่า ครูน่ากลัวมากจนเราต้องการออกซิเจน

ม.ปลายเคยถูกเรียกเข้าห้องปกครองเรื่องทรงผม หลังกลับจากฟินแลนด์ เราสนุกกับการทำผม ก็เลยไปตัดผมทรงขั้นบันได ขั้นขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันด้วย แต่ครูไม่รู้หรอกเวลามาโรงเรียนเราถักเปีย

แต่เดชะ วันนั้นเป็นวันที่ยิ่งใหญ่มาก โรงเรียนเรากับโรงเรียนน้องทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วดิฉันเป็นพิธีกร พอเป็นพิธีกร คือต้องดรายผมสวยสยาย แล้วทุกคนก็เห็นว่าเป็นขั้นบันได ต่อหน้าอีกโรงเรียนซึ่งเป็นพี่น้องกัน มันเหมือนเสียหน้า ก็โดนเรียก เราก็บอกว่ามันผิดยังไงในเมื่อวันอื่นๆ หนูก็แบบนี้

เมื่อ ช่างแม่ง = Empathy

ถ้าให้คะแนนความสุขในวัยเรียนของตัวเอง เต็มสิบให้เท่าไหร่

ครูจุ๊ย : คงให้ 7 เพราะอยู่ในโรงเรียนเยอะเกิน ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเยอะแยะ ไม่ได้มีโลกของงานอดิเรก ไม่ได้มีโลกอื่นนอกเหนือจากที่อยู่ในโรงเรียน

สะอาด : ผมให้ 4

ไม่อยากย้อนกลับไป ไม่มี nostalgia ชีวิตโรงเรียนเลย แต่ชอบเพื่อนนะ

ผมจ๋อยง่ายมั้ง สมมุติถ้าอยู่ในสถานการณ์แบบครูจุ๊ย ผมอาจจะตัดผมแปลกๆ ไปวันนึง พอโดนด่า ผมก็จะจ๋อยแรงเลยว่าทำไมเราเป็นคนแบบนี้นะ ทำไมมีปัญหากับสังคมนะ ทำไมไม่อยู่เฉยๆ นะ ผมมีคำถามว่า ‘ทำไมเราเป็นคนแบบนี้’ บ่อยมาก

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ยังถามอยู่เลย ทำไมเราชอบเขียนการ์ตูนนะ แล้วรายได้ก็ไม่เยอะ ถ้าเราจิ้มเลือกหมอตั้งแต่ตอน ม.ปลายล่ะ… เพราะการเรียนเราก็ใช้ได้ ก็อาจจะไม่ต้องมีคำถามเรื่องเศรษฐกิจแบบนี้ก็ได้

แล้วถึงจุดไหนที่เราใช้คำว่า ‘ช่างแม่ง’ ได้

สะอาด : จุดที่ empathy กับตัวเอง (หัวเราะ) นี่คลาสสิกเลย จุดที่เศรษฐกิจแย่ เราก็ทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้

เราจะไม่กดตัวเอง เพราะรู้ว่ากดตัวเองไม่ช่วยอะไร ผมไม่ชอบกดตัวเองแล้วพยายาม push ผมว่าตั้งโจทย์ผิด ถ้าเราจะเป็นเศรษฐีจากการเขียนการ์ตูน มันคือการตั้งโจทย์ผิดโคตรๆ แล้วมันเป็นจะ suffer ไปตลอดกาล ผมก็เลยเปลี่ยนโจทย์

ไปถึงจุด Empathy ได้อย่างไร

สะอาด : ผมเป็นคนรู้สึกผิดง่ายกับชีวิต แล้วผมไดรฟ์ชีวิตด้วยความรู้สึกผิด “นี่เราเกิดมาเปลืองทรัพยากรโลก เราไม่ได้ทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์” พอคิดแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็พบว่า เชี่ย ทรมานมาก แล้วก็ไม่มีความสุขกับชีวิตเลย จุดที่มันระเบิดออกมาคือตอนที่พ่อผมป่วย เข้าโรงพยาบาลเอกชน คืนเดียวหลายแสน ผมก็พบว่า อาชีพเราถึงจังหวะที่มันต้องใช้เงิน ก็ตอบยากว่าสิ่งที่เราเลือกมันถูกต้องไหม

แต่พอมัน suffer ไปเยอะๆ ก็พบว่าแบบนี้จะไม่รอด ก็ตัดเรื่องที่เราต้องเอาชนะทุกอย่างออกไป แล้วมาคิดว่าเราจะต้องวางแผนการเงินยังไงให้เป็นเรื่องเป็นราว ต้องรักตัวเองด้วย ถึงจะเวิร์คสุด

ในทางปฏิบัติทำอย่างไรบ้าง

สะอาด : ร้องไห้ งอแง แล้วตื่นมาก็อ่าน พ่อรวยสอนลูก (หัวเราะดัง) ดูว่าจะวางแผนการเงินยังไง แล้วก็มาฟังพี่หนุ่ม (รายการ Money Coach) ฟังทุกวันเลย สุดท้ายก็ฟังพี่ดุจดาว (วัฒนปกรณ์) อ๋อ ความรักตัวเองมันสำคัญอย่างนี้นี่เอง ณ ตอนนั้นถ้าไม่ทำแบบนี้ก็จะไปสู่จุดที่กดจนไม่เหลืออะไรแล้ว เพราะคำว่า “ทำไมเราเป็นคนแบบนี้” มันเป็นคำถามที่กดตัวเองมาก

เหมือนเด็กรุ่นใหม่ขาดเรื่อง Empathy เยอะมาก?

ครูจุ๊ย : คิดว่าด้วยความที่ปัจจุบันเราถูกแวดล้อมด้วยข้อมูลต่างๆ เยอะมาก มาทั้งภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว มหาศาลจนทำให้ละเลยรายละเอียดต่างๆ ของตัวเอง สิ่งละอันพันละน้อยที่ตัวเองทำได้ดี แล้วมาบวกกับระบบนิเวศของการศึกษาไทยที่ไม่เคยมองเห็นสิ่งละอันพันละน้อยของเด็กๆ

สังเกตไหม เวลาเราอยู่ในห้องเรียน เคยมีครูชมเราเหรอว่า ขอบคุณมากที่พยายามนะ ไม่ว่างานคุณจะออกมาเป็นยังไง ไม่มีนะ ในประสบการณ์การเรียนรู้ของเรา ทำให้เขากดดันตัวเองไปเรื่อยๆๆๆ โดยที่ไม่รู้ตัว แล้วก็ระเบิดออกมาเป็นสิ่งต่างๆ นานาโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัวด้วย

จุ๊ยคิดว่าจากรุ่นเราก็ถูกกดดันประมาณหนึ่ง รุ่นเราอย่างเยอะๆ ก็เห็นว่า เพื่อนคนนี้มีกล่องดินสอที่กดได้ทุกช่อง เราก็อยากได้บ้าง แต่ตอนนี้คือสามารถเห็นทุกอย่าง เปรียบเทียบกันในทุกแง่มุม แล้วเราก็พยายามหาอะไรต่อมิอะไรเพื่อวิ่งตามให้ทันโดยไม่รู้ตัว เพราะมันคือ sense of belonging

การมองเห็นความงาม รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของคนรอบตัวก็เลยหายไป เราคิดว่ามันสำคัญมากๆ สำหรับการเติบโตของมนุษย์คนหนึ่ง ตัวเราเองไม่ได้อยากได้รับการชื่นชมว่า เก่งๆๆๆ ตลอดเวลา เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่ง แต่พอมีคนมาบอกเราว่า “โห นี่ทำมาตั้งเยอะ ดีจัง ที่เห็นคุณทำมาเยอะขนาดนี้” ทั้งที่เราเองอาจจะไม่รู้สึกดีมากกับงานชิ้นนั้น แต่มีคนเห็นว่าเราดิ้นรนระหว่างทางกว่ามันจะเกิดขึ้นมา นี่ต่างหากที่ตกหล่นไป

ถ้าไปเจาะเฉพาะเรื่องระบบการศึกษา มีจุดไหนไหมที่กดทับจนไม่เห็นตัวเอง

ครูจุ๊ย : เพิ่งไปเปิดดูข้อสอบ NT (National Test การสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (NT: จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.) ป.1 เด็กๆ ต้องอ่านคำว่า บริษัท ได้ อะเมซิ่งปะ เฮ้ย ป.1 บริษัท ยากมากนะ มันมี บ.ใบไม้ ร.เรือ ที่ไม่รู้จะอ่านยังไง ษ.ฤๅษี ที่จะไปรู้เหรอว่าต้องอ่านว่า ส.เสือ

เราก็พยายามตามหาว่าทำไมข้อสอบต้องยากวายป่วงขนาดนี้ ไปคุยกับเพื่อนที่เชี่ยวชาญเรื่องการวัดผล เขาบอกว่า “แก เด็กอ่านไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อันนี้มันวัดผล เป็นข้อสอบไว้จัดประเภทว่าเรามีเด็ก genious เด็กธรรมดา เด็กต่ำกว่ามาตรฐาน” จุ๊ยบอก จะบ้าเหรอ เด็กอ่านไม่ได้ เด็กรู้สึกนะเว้ย เขารู้สึกว่านี่คือข้อสอบ มันต้องทำให้ได้ แต่มันอ่านไม่ได้อะ แล้วการออกข้อสอบแบบนี้แลกกับความรู้สึกนี้ของเด็ก มันคุ้มเหรอ

จุ๊ยรู้สึกว่า กองวัดผลของเราไปกดดันเด็ก ทำให้พฤติกรรมคนที่อยู่รอบตัวเด็กก็เป็นแบบ “อ่านให้ได้สิ” โดยที่ไม่มีใครเข้าใจเรื่องวัดผล จุ๊ยไม่แน่ใจว่า ถ้าไปบอกเด็กๆ ว่า เอาเท่าที่อ่านได้ อ่านไม่ได้ไม่เป็นไร มันจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราต้องคิดวิธีวัดผลที่ทำร้ายจิตใจเด็กน้อยกว่านี้

จุ๊ยคิดว่า

ความเข้มข้นของการประเมินวัดผลในปัจจุบันยิ่งตอกย้ำความรู้สึก การที่ทำให้เด็กไม่สามารถมองเห็นความดี ความงามของตัวเอง มันมองเห็นแต่จุดที่เราทำไม่ได้ ไม่เห็นจุดที่เราทำได้

ความเรียนเก่งของภูมิ เป็นไปด้วยความสมัครใจ หรือกลัวว่าถ้าเรียนไม่เก่งแล้วจะมีผลหลังจากนั้น

สะอาด : ผมว่าคู่กัน จริงๆ ผมก็ชอบคณิตศาสตร์ตอนเด็กๆ แล้วรู้สึกว่าพอทำได้แล้วมีคนมาชมมันดีใจจัง แต่พอมัธยมเราเริ่มพบว่าดีใจแล้วไงวะ ก็เลยเลิกเรียนแบบเอาเกรดเลย รู้นะว่าเกรดไม่ได้มีผลอะไรกับเราขนาดนั้น ก็เอาความฉลาด ความพยายามทั้งหมดไปใส่ในการ์ตูน เลยไม่ค่อยตั้งใจเรียน ได้คะแนนน้อยก็ไม่เป็นไร เป็นอย่างนี้จน ม.ปลาย

ครูที่ปลอดภัย

เคยสอบตกไหม

สะอาด : เคย แต่ไม่เคยเกรด 0 ผมตกบางวิชาอย่างเคมีที่ตกกัน 80 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งระดับ

สอบตกไม่ได้แปลว่าเราเกลียดวิชานั้น?

ครูจุ๊ย : ม.ต้นเคยสอบตกวิชาชีวะ จากเด็กที่ชอบชีวะมาก จำได้ว่าเราชอบ เกรเกอร์ เมนเดล มากๆ แต่เรียนไปเรื่อยๆ สอบควิซตก แล้วการที่ต้องไปนั่งในห้องวิทย์มืดๆ เพื่อแก้ สอบซ่อม มันโคตรจำในความทรงจำ รู้สึกว่า ทำไมการสอบตกมันรู้สึกแย่ขนาดนี้ หลังจากนั้นเราก็ ‘อยู่เป็น’ เราจะพยายามไม่ปล่อยให้ตัวเองสอบตก อะไรที่เรารู้ว่าไม่ถนัด ลอกเพื่อนไปเลย และมันส่งผลต่อมาว่า อะไรที่เราไม่ถนัดปุ๊บ เราปิดกำแพง แบบปิดบ้าน ลาก่อน บาย ไม่เอาเลย

สะอาด : ผมเพิ่งมารู้ตัวทีหลังว่าวิชาที่เราเคยเกลียดตอนประถม จริงๆ แล้วเราชอบมันนี่หว่า อย่างเช่น ผมชอบภาษาอังกฤษ ฟิสิกส์ จริงๆ ฟิสิกส์มันสนุกมากนี่หว่า ประวัติศาสตร์ ทฤษฎีการคิดต่างๆ สังคม มันกว้างขวางขนาดนี้เลยเหรอ ชีววิทยายิ่งสนุกไปใหญ่ มันเกี่ยวกับตัวเรา เราเริ่มเห็นความเชื่อมโยง ไม่ใช่มานั่งท่องว่าสัตว์ชนิดนี้อยู่ category ไหน ไฟลัมไหน

ครูจุ๊ย : คนละโลกกันเลย จุ๊ยมีความเข้าใจมาตลอดว่าเราไม่สามารถเป็นอย่างอื่นนอกจากคนที่อยู่ในสายศิลป์ แต่จริงๆ แล้ว ปัจจุบันที่เติบโตขึ้นมา คลิปที่ชอบดูที่สุด คือ บีบีซีสัตว์โลก กับคลิปที่เป็นอวัยวะภายใน โรคเกิดขึ้นได้ยังไง ผ่าตัดทำยังไง ชอบมาก นั่งดูได้เรื่อยๆ สนุกจัง ตื่นเต้น แต่พวกนี้ไม่ได้อยู่ในสารบบตอนเด็กเลย

สะอาด : ผมไม่ค่อยเจอครูที่รักในวิชาตัวเองเท่าไหร่ ตอนที่ผมเรียน ไม่เจอครูสอนชีวะที่อินว่าสัตว์โลกมันเจ๋งนะเว้ย มีแต่แบบปิ้งสไลด์แล้วก็พูดๆ ลอกๆ จบวิชาก็ส่ง เซ็น

การเรียนในระบบ มีซักช็อตนึงไหมที่เราคิดว่า นี่แหละคือการเรียนรู้

สะอาด : มีโมเมนต์ที่ผมชอบอยู่บ้าง ตอนมัธยม มีเทอมนึงอาจารย์สอนภาษาอังกฤษเขาบอกว่า เทอมนี้ครูจะไม่สอนแล้ว จะให้เพื่อนสอนกันเอง หันโต๊ะเข้าหากัน แล้วตลอดเทอม ติวกันเอง คนละหัวข้อ คนละบท ครูก็คอยกำกับ นั่งอยู่ในห้อง ผมรู้สึกว่าเทอมนั้นเป็นเทอมที่ผมรู้เรื่องภาษาอังกฤษมากที่สุดตั้งแต่เรียนมาในชีวิตมัธยม

พอเรางงเรื่องไหน เราก็ถามเพื่อนเลย ถามแบบปลอดภัย เพราะเวลาเรียนผมมีคำถามตลอด แต่ไม่กล้าถาม มันอาจจะเสียเวลาคนอื่นที่อาจจะอยากไปพักกินข้าว เสียเวลาครูเองด้วย

ครูจุ๊ย : เป็นละครเวทีภาษาอังกฤษ ตอน ม.6 ได้เอาทุกอย่างที่เป็นภาษาอังกฤษมาใช้ จุ๊ยเป็นพิธีกร และพากย์ เขียนบทเองด้วย ทุ่มสุดตัว แล้วเพิ่งรู้ตัวว่าตัวเองชอบพรีเซนต์ ชอบเขียนบท ตอนไปอัดพากย์เสียงตัวละคร ก็สนุกจังเลย เป็นพื้นฐานที่ทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไร ทำให้ไปเรียนโทศิลปะการละครต่อ เป็นโมเมนต์เดียวที่ได้ตอบตัวเองว่าชอบทำสิ่งนี้ ก่อนหน้านี้ก็แค่เป็นเด็กชอบภาษาอังกฤษ แล้วไง อ๋อ นี่ไง มันเอามาใช้ยังงี้

สะอาด : แต่ของผมคือ อาจารย์รุจน์ โกมลบุตร (คณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์) แหละครับ ผมชอบเขาในหลายแง่มุม ตอนมหา’ลัยผมมีความคิดที่อยากจะหนีไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง แต่เรียนกับเขาแล้วรู้สึกโชคดีจังที่ตัดสินใจมาเรียนมหา’ลัย มีกระบวนการเรียนรู้แบบนี้อยู่

อาจารย์รุจน์สอนอะไร อย่างไร

สะอาด : อาจารย์รุจน์สอนวิชาเขียนข่าว ซึ่งผมไม่ชอบเขียนข่าว เป็นคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยมาก แต่ว่าเขาทำให้การเรียนเขียนข่าวเชื่อมโยงกับสังคมรอบๆ ตัว ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราเรียนอยู่ตอนนี้ มันเชื่อมกับภาษีประชาชนนะ เชื่อมกับปัญหาของมหา’ลัย ปัญหารอบๆ เรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ มีผลกระทบกับสังคมอย่างแท้จริง แต่ก่อนหน้านี้เราไม่เห็นเป็นรูปธรรมถึงขนาดนี้

แล้วผมชอบความเป็นมืออาชีพของเขา ผมไม่ค่อยเจอครูที่เป็นมืออาชีพ จริงๆ แล้วที่เข้าไปเรียนมหา’ลัย ผมอยากเจอคนที่เป็นมืออาชีพซักที เพราะผมรู้สึกว่าโรงเรียนมัธยมมันไม่ค่อยจริง ทุกคนก็สอนก็เรียนเพื่อเอาคะแนนไปอย่างนั้น กระบวนการที่จะเรียนรู้มันไม่ค่อยจริง แต่อาจารย์รุจน์ทำให้เห็นว่า เขาตั้งใจถ่ายทอด ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ หรอกว่ามันจะ matter กับสังคมได้ยังไง แต่แสดงด้วยกระบวนการ แล้วเขาก็แฟร์ด้วยว่าคำแบบไหนที่เขาไม่ชอบ เช่น เขาไม่ชอบเขียนคำว่า ‘ตน’ ในข่าว “คุณจะเขียนก็ได้นะ แต่จะโดนหักคะแนนเพราะผมไม่ชอบ ผมมีอคติ” หรือไม่ชอบคำว่า ‘ข้าพเจ้า’ ในบทความ “คุณจะลองเขียน ลองท้าทายมาก็ได้ แล้วถ้าผมโอเคกับมัน ก็จะไม่ติดอะไร” เขาแชร์ให้เห็น bias ของเขาเลยว่าคืออะไร เขาประเมินยังไง

ทำให้ผมเห็นว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่จริง เพราะเราเห็นความเป็นมนุษย์ของบุคคลนี้ เราเห็นข้อด้อยของเขา เช่น เขาจะชนบทนิยมมาก ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยที่จะวิพากษ์วิจารณ์เขา แลกเปลี่ยนกับเขา

คีย์คือความเป็นมนุษย์ของครู?

สะอาด : ใช่ เราปลอดภัย ที่จะถาม แลกเปลี่ยน ขอความรู้ สื่อสาร แล้วเราก็รู้ว่าถ้าเราตั้งใจทำเต็มที่ ครูคนนี้ก็จะแฟร์กับเรา เพราะเขาจะเห็นถึงความพยายามของเรา

แล้วอย่างครูจุ๊ยล่ะคะ เผยความเป็นมนุษย์ของครูยังไง

ครูจุ๊ย : บ่อยมาก หลายครั้งเราก็จะบอกว่าอันนี้เราไม่รู้ การยอมรับว่าไม่รู้เป็นเรื่องที่ครูหลายคนยังติดอยู่ว่าเราต้องรู้ทุกอย่าง บางทีสอนภาษาอังกฤษเด็กมาถาม ครูคะ คำนี้ออกเสียงว่าอะไร เราไม่รู้ คำนี้เราไม่เคยเห็น หาด้วยกันไหม เราก็หัดออกเสียงพร้อมนักเรียนไปเลย อะไรที่เราทำไม่เป็น ไม่รู้ ทำไม่ได้ บางทีเราก็ให้เขาสอน

อันนี้มันทลายกำแพงระหว่างครูกับนักเรียนไปเยอะมาก เพราะว่า ครูไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เข้าถึงไม่ได้และรู้ทุกอย่าง มันส่งผลต่อมุมมองที่มีต่อความรู้ด้วยนะ ว่าความรู้ไม่ต้องมาจากครูก็ได้ เราช่วยกันหาข้อมูลแล้วเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันก็ได้ หรือบางทีเขาสอนครูก็ได้ เขารู้เยอะกว่าครูก็ได้

การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

ครูอ่านหนังสือ การศึกษาของกระป๋องมีฝัน แล้ว ในฐานะของคนที่เคยทำงานด้านนโยบายมาก่อน เห็นอะไรบ้าง

ครูจุ๊ย : ถ้าในแง่ของนโยบาย เราเห็นความเป็นราชการอยู่ในนั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ แพทเทิร์นที่สั่งแล้วต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น วิธีการมองทุกอย่างเป็นสายพาน เป็นก้อน ชุดผลิตจากโรงงาน

เรา child center กันมากี่ปีแล้วล่ะ ตั้งแต่รุ่นจุ๊ย เด็กๆ ตอนนี้เราก็ยัง struggle กับคำนี้อยู่เลย ถามว่าเพราะอะไร เพราะหนึ่ง ความคิดเชิงนโยบายที่มาจากข้างบน ลงมาที่ฝ่ายบริหาร แล้วก็ส่งมาที่ห้องเรียน

บรรยากาศการเรียนรู้เป็นการใช้วิธีคิดแบบอำนาจนิยม มีอยู่ในโรงเรียนมากขึ้น มีอยู่ในครอบครัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งจุ๊ยก็ไม่แน่ใจพอจะเคลมว่ามันมากขึ้นหรือเปล่า แต่โซเชียลมีเดียทำให้เราได้เห็นบทบาทของทหารในโรงเรียนมากขึ้น ทั้งบริบทปกติ เราเริ่มเห็นว่ามีกิจกรรมที่ไม่ใช่ รด. แต่ทหารมีส่วน เราเริ่มเห็นพื้นที่ที่เป็นพื้นที่พิเศษ อย่างสามจังหวัดชายแดนใต้ เราเพิ่งเห็นว่าเขาทำอะไรบ้าง

ในครอบครัวเอง แม้ว่าเราจะเห็นกระแส positive parenting การเลี้ยงลูกเชิงบวก วินัยเชิงบวก แต่เราก็เริ่มเห็นการบังคับขู่เข็ญลูกมากขึ้น ในช่วงโควิด มีเรียนออนไลน์ บางบ้านเอาลูกมัดเก้าอี้ไว้ เดี๋ยวลูกไม่ดูครู หรือที่ได้ฟังมา เช่น ครูสอนลูกประถมอยู่ ถึงเวลาต้องยกมือตอบ แล้วพ่อแม่เฝ้าอยู่ด้วย พ่อแม่หยิกลูกว่าทำไมไม่ตอบ หรือผลักลูก ตอบสิ

สำหรับสะอาด เขียนการ์ตูนไปเพื่ออะไร

สะอาด : หลายๆ อย่าง เขียนเอาสนุกด้วย เอาตังค์ด้วย บางส่วนก็เอาไปช่วยส่วนนั้นส่วนนี้ด้วย เล่มนี้ (การศึกษาของกระป๋องมีฝัน) เราได้ทุนสนับสนุนมา เราเลยแบ่งรายได้ไปทำอย่างอื่นด้วย ไม่งั้นจะเหมือนแสวงหากำไรเกินไป แต่จริงๆ นี่คือโมเดลที่เราอยากทำ คือเราได้ด้วย อะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาก็ได้ไปด้วย  เพราะผมแสวงหา 3 ด้าน คือ 1.ความอยู่รอดของอาชีพ ยังชีพได้ คุณภาพชีวิตโอเค  2.แสวงหาความเป็นเลิศในแง่ศิลปิน อยากก้าวไปข้างหน้า มีความทะเยอทะยานในอาชีพ และ 3.ทำให้งานชิ้นหนึ่งมีความหมายกับคนอื่นมากที่สุด เป็น 3 ขาที่พยายามบาลานซ์ และพยายามไปให้ได้ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ลอง เรียนรู้ไป

การเรียนรู้ครั้งล่าสุด

ตอนนี้ครูจุ๊ยกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนต้นกล้า เชียงใหม่ ที่มีตำแหน่งประธานบริหารโรงเรียนนำหน้า ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือก?

ครูจุ๊ย : ผู้บริหารคนเก่าเรียกว่าโรงเรียนทางเลือก แต่จุ๊ยอยากเรียกว่า โรงเรียนหนึ่ง ที่อยากให้เด็กๆ มาโรงเรียนแล้วไม่เกลียดโรงเรียน ไม่กลับไปแล้วรู้สึกว่าจำอะไรที่โรงเรียนไม่ได้เลย อยากให้ที่นี่มีความทรงจำที่สนุกกลับไป อยากให้เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยที่เขาไม่ได้รู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้อะไรหลายอย่างเต็มไปหมด ให้ใช้ทุกอย่างในโรงเรียน ได้เรียนรู้ตลอดเวลา เพราะโรงเรียนพื้นที่กว้างมาก อยากให้เขามีชีวิต outdoor เยอะๆ เพราะส่วนหนึ่งเรารู้สึกว่าธรรมชาติช่วยเราเยอะมาก

เราอยากให้เด็กๆ ที่นี่ได้สร้างเรื่องราวในเวอร์ชั่นของตัวเอง มีความทรงจำของตัวเองกลับไป นี่คือที่เราอยากเห็น

สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีไดอะล็อก จุ๊ยเชื่อว่าครูในโรงเรียนกับเด็กๆ ต้องสื่อสารอย่างเสมอกัน คุยกันได้ ผู้ปกครองกับโรงเรียนต้องคุยกันได้ อย่างช่วงโควิดก็เรียกตัวแทนเด็กๆ มา อยากฟังว่าอยู่ที่บ้านเป็นยังไงกันบ้าง เดี๋ยวต้องเรียนออนไลน์ ต้องกลับมาโรงเรียน ต้องกลับมาแบบ new normal รู้สึกยังไง โอเคกับกฎไหม ต้องใส่แมสก์โอเคไหม ใช้เฟซชีลด์อีกชิ้นสลับกับแมสก์ได้ไหม อยู่ห่างกับเพื่อนได้ป่าว

เด็กเล่าให้เราฟังว่าชอบทำอะไรมากที่สุดตอนอยู่บ้าน แล้วเราก็พยายามเอาอันนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ในโรงเรียนให้มากที่สุด ทำสนามเด็กเล่นใหม่ให้เป็นสวนสนุกเบาๆ ทำภูเขาให้ปีนเล่นทีละคนได้

ทั้งหมดนี้ถามว่าเป็นแค่การทำของเล่นไหม จุ๊ยไม่รู้สึกแบบนั้นเลย ภูเขาหนึ่งลูกที่เด็กปีนได้ คือความภาคภูมิใจหนึ่งสเต็ปที่เขาทำได้ หรือถ้าทำไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร พยายามใหม่แล้ววันหนึ่งเขาก็จะสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยเขานอกเหนือจากกระบวนการพูดคุย ความมั่นใจ การที่เขารู้ว่าตัวเขาทำอะไรได้

สมมุติเด็กคนหนึ่งอยู่โรงเรียนเทศบาล บอกว่าหนูอยากเรียนรู้แบบนี้บ้าง ทำยังไงดี

ครูจุ๊ย : การศึกษาในระดับนโยบายมีทั้งซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์ มองดูที่ฮาร์ดแวร์ ยอมรับว่า โรงเรียนจุ๊ยลงทุนไปกับมัน แต่ก็ไม่ได้เป็นการลงทุนที่เป็นไปไม่ได้สำหรับโรงเรียนกว่าสามหมื่นโรงในไทย มันเป็นไปได้ ภูเขาหนึ่งลูกไม่ได้ยากเกินไป เอาดินมากองเป็นภูเขาหนึ่งลูก เด็กปีนขึ้นไปลงมา ได้ความภูมิใจแล้วไม่รู้กี่รอบ เอาน้ำมาฉีดสิ ให้มันลื่น ยากไปอีก เหล่านี้ไม่ได้ใช้เงินเยอะ ดังนั้น ถ้าเรื่องของฮาร์ดแวร์ มันเป็นไปได้ แค่คุณใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ด้วยความคิด รู้ว่าจะใช้มันทำอะไรบ้าง อย่ามองเป็นแค่สนามเด็กเล่น มองไปให้ลึกว่าจะทำอะไรกับเด็กของคุณได้ แล้วคุณก็เลือกใช้ตาม budget ที่มี

ส่วนซอฟต์แวร์คือวิธีคิด อันนี้ยากที่สุด เพราะมันถูกกรอกมาตั้งแต่นโยบายข้างบน เพราะไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโดยการบอกว่า นี่คือ child center แต่เป็นการเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมด เปลี่ยนวิธีคิดทั้งหมด เราบอกว่าครูเป็น facilitator ไม่ได้เป็นเพราะปักป้าย แต่คุณต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ แล้วคุณต้องมองเห็นทุกอย่างรอบตัวคุณเป็นกระบวนการเรียนรู้ให้ได้ อันนี้ต้องฝึกกันเยอะมาก แบบที่จุ๊ยพยายามทำอยู่ เราชวนครูมาฝึก ข้างหน้าเห็นของอะไร วิชาคุณอันนี้สอนอะไรได้ แตกออกมา ฝึกกันไปอย่างนี้

เราไม่ได้เป็นโรงเรียนที่มีครูเก่งล้ำเลิศมาเลย เราฝึก เราเทรนเขาเรื่องความสำคัญและความงดงาม รายละเอียด ความพยายามของเด็ก เป็นเรื่องที่นโยบายทำไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายมันไม่ต่อเนื่อง เดี๋ยวมา เดี๋ยวไป

ตอนนี้คำว่า ‘การเรียนรู้’ เต็มไปหมดเลย ทั้งเรียนรู้ตลอดเวลา เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้นอกห้องเรียน ฯลฯ เราจะไปถึงจุดที่เบื่อการเรียนรู้ไหม?

สะอาด : ผมได้คำตอบว่า มันหนีได้เหรอวะ ต่อให้เบื่อก็หนีไม่ได้ ไม่ปรับตัวได้เหรอ อาจจะได้ในบางพื้นที่ถ้าคุณโชคดีจริงๆ แต่โลกตอนนี้ไม่ค่อยใจดีเท่าไหร่ ถ้าเราไม่ปรับตัว ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรื่อยๆ เราคงไม่รอด

ครูจุ๊ย : เราอยู่ในยุคที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องปกติ และจะเป็นเรื่องที่สามัญมากๆ แต่ก่อนที่จะเป็นเรื่องสามัญ ก็ต้องเป็นเรื่องที่คนสับสน งงก่อน จนวันหนึ่งก็ไม่ต้องพูดถึงมันเยอะแยะแล้ว เพราะจะไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราก็ได้แต่หวังว่าวันนั้นจะมาถึงเร็วมากๆ เพราะอยากเห็น

สะอาด : อาจจะดูน่าเบื่อตอนที่เราคิดว่าเรียนรู้เหมือนเรียนหนังสือ มีครู มีกระดานดำ แต่ผมว่ามีวิธีการที่หลากหลายมากที่จะไปสู่ความรู้ใหม่ๆ หรือว่าต้องเปลี่ยนคำ? เช่น เลเวลอัพทางปัญญา อะไรงี้ (หัวเราะ) ดูน่าเบื่อน้อยลงมั้ง

ครูจุ๊ย : เราพูดถึง ‘การศึกษา’ มานาน แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น ‘เรียนรู้’ จุ๊ยไม่อยากให้สุดท้ายแล้วเรียนรู้กลายเป็นเหมือนการศึกษา อยากเห็นการเรียนรู้เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องแบ่งบ้านแบ่งโรงเรียน ไม่ต้องแบ่งนอกห้องในห้อง อยู่ไหนก็เกิด

การเรียนรู้ครั้งล่าสุดของทั้งคู่คืออะไร

สะอาด : มาร์เก็ตติ้ง

ขายหนังสือ ผมตั้งใจแล้วว่าผมจะเป็นเซลส์ขายหนังสือที่ดีที่สุดให้ได้ แล้วผมก็วางแผนมาร์เก็ตติ้งออนไลน์เลยนะว่าแต่ละวันผมจะทำอะไรบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วผมทรมานมาก ต้องแอ็คว่าเรากำลังตลกอยู่ อินเนอร์คือ ‘นี่ไม่ใช่กู’ แต่ก็ต้องทำให้ได้ คนอ่านต้องได้ประโยชน์จากคอนเทนต์จริงๆ ด้วย ผมตั้งใจกับมันประมาณนึง

ครูจุ๊ย : ปลูกต้นไม้

จากใจคนที่ทิ้งพลูด่างให้ตายมาแล้ว มันเป็นแผลในใจ คนอะไรพลูด่างยังตาย ก็มาทำความเข้าใจมันใหม่หมดเลย ใช้วิธี เลี้ยงทีนึงก็เลี้ยงหลายๆ แบบไปเลย แล้วดูว่าแบบไหนรอด ทดลองดู คือวัดระดับความชื้น อุณหภูมิ ความชื้นในดิน ในห้อง คืออยากรู้ว่าทำยังไงมันถึงจะไม่ตาย

สนุกกับการพยายามเข้าใจสิ่งใหม่ที่เราทำแล้วล้มเหลว ปกติจุ๊ยจะพยายามทำอะไรใหม่ๆ ปีละหนึ่งอย่างอยู่แล้ว เป็นธงไว้ทุกปี บางปีก็ไปเรียนบัลเล่ต์ ไปเต้นบัลเล่ต์ให้ได้ล้ม มีหลายครั้งที่เราไปเรียนอะไรใหม่ๆ เพื่อรีเซ็ตตัวเองกลับมาสู่สเตตัสศูนย์ จากความไม่รู้ก็ค่อยๆ บิลด์มัน อย่างเรียนบัลเล่ต์ก็ไม่ได้นานหรอก แต่สิ่งที่ได้ก็คือถ้าไม่กล้าล้มจะเต้นบัลเล่ต์ไม่เป็น จงล้ม

เวลาไปคุยกับเด็กๆ น้องๆ จะพูดเหมือนกันว่าเรียนไปทำไม เด็กไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองชอบอะไร เรียนอะไร และที่สำคัญห้ามพลาดด้วย จะทำยังไงดี

สะอาด : สุดท้ายต้องอาศัยสองอย่างที่สำคัญมากคือ พื้นที่และเวลา พื้นที่ที่จะไปลอง และเวลามากพอที่จะลองแล้วมาคิดว่าชอบหรือไม่ชอบ ต้องได้มีเวลามาคิดว่าเรารู้สึกกับมันยังไง เชิงบวกเชิงลบยังไงบ้าง ถ้าเราอยู่ในโรงเรียนมัธยมที่เวลาถูกจัดสรรให้อยู่ในห้องเรียนมหาศาล ก็มีสิทธิที่จะทำให้เขารู้จักตัวเองได้ยากกว่าคนที่โดดเรียนอย่างผม

การไม่รู้ว่าเราชอบอะไร ผมว่าก็เป็นข้อดีนะ เพราะจะช่วยพาให้ชีวิตออกไปลองทำสิ่งต่างๆ รอบตัว หรือไปปรึกษาครู รุ่นพี่ หรือหาพื้นที่เพื่อให้เราได้ทดลองเล่น ทดลองพลาด เพราะการรู้ว่าเราไม่ชอบอะไร สำคัญที่สุด แล้วค่อยๆ พยายามลองออกแบบชีวิตดู

ครูจุ๊ย : ถ้าจะขอเด็กๆ รุ่นปัจจุบันได้อย่างนึง ขอให้ อย่ากลัวที่จะลอง อย่ากลัวที่จะผิด รู้ว่าไม่ได้เป็นคำขอที่ง่ายนักหรอก แต่ถ้ากล้าลองอะไรซักอย่าง มันจะมีคำตอบกลับมาเสมอ แล้วไม่ว่าคำตอบนั้นจะเป็นคำตอบว่า ชอบ ไม่ชอบ ทำได้ ทำไม่ได้ อิน ไม่อิน มันคือคำตอบทั้งสิ้น ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการซะ ลองแล้วกลับมา เออ ไม่ชอบว่ะ คุณก็ได้ติ๊กอันนึงออกไปจากสารบบละ

อย่ายึดติดว่าคำตอบของวันนี้จะต้องเป็นคำตอบของทั้งชีวิต เพราะมนุษย์คือมนุษย์ ไม่สามารถเป็นเครื่องจักรที่ถูกโปรแกรมแบบไหนมาก็จะเป็นแบบนั้นตลอดไป วันนึงคุณเป็นอย่างนี้ วันอื่นคุณอาจจะเป็นอีกอย่าง

กลับไปสู่คำว่า empathy ที่มันหายไป เราลืมไปเลยว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้

เราอยู่ในสังคมที่ตามหาแต่ความสมบูรณ์แบบ คนบ้าอะไรจะเกิดมาแล้วสมบูรณ์แบบเลย ก็ต้องค่อยๆ progress มา ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งระบบการศึกษา สังคม ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาด้วยความเข้าใจนี้

สะอาด : ผมจะมีสองอย่าง บางครั้งเราลองทำอะไรบางอย่างแล้วโดนคนรอบข้างเฆี่ยน อีกอันคือเฆี่ยนตีตัวเองว่าเราพลาด แล้วก็จะสูญเสียความรู้สึกของตัวเองในระยะยาวได้ แต่สิ่งที่สำคัญเลยคือ กระบวนการลองผิดลองถูก ทั้งลองเฆี่ยนและไม่เฆี่ยนตัวเองดู

ลองคิดว่าคนที่พยายามเฆี่ยนเรา ทำไมเขามองมุมนี้ สุดท้ายนี่ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้อยู่ดี ค่อยๆ ฟังเขา เข้าใจเขา เข้าใจตัวเอง ในทุกครั้งที่เราผิดพลาด เป็น process ที่พัฒนา ค่อยๆ เกลาใจเราไปเรื่อยๆ ทำให้ใจเรากว้างขึ้นเรื่อยๆ ต่อสิ่งใหม่ๆ ที่ตามมา

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า