ถ้าแวนโกะห์เป็นผีจริง ลุงคงไม่มาหลอกแกหรอก

วันวิสาขะบูชา ฉันตื่นเช้ามาตอนบ่าย งัวเงียเห็นเพื่อนทักมาว่า “มึงว่ารูปแวนโกะห์ของจริงป่ะ” ก็งงๆ อะไรวะ? สักพักเปิดดูข่าว แล้วก็พบความบันเทิงในฐานะคนรักศิลปะในเมืองไทย อะไรมันจะพาดหัวข่าวได้ไทยขนาดนี้ด้วยประโยคปิดท้ายว่า

สยอง ผีแวนโก๊ะมาหา

เมาขี้ตาอยู่ดีๆ ก็ตื่นทันทีด้วยประโยคเดียว เลยเข้าไปอ่านเนื้อข่าวอย่างสนใจ

สรุปข่าวสั้นๆ ว่า

เมื่อห้าปีก่อน นักร้องดัง ‘อุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี’ ซื้อภาพเขียนเก่าๆ ภาพหนึ่งมาจากร้านขายของเก่าแห่งหนึ่งในไทย และสงสัยว่าอาจเป็นงานจิตรกรรมของ ‘วินเซนต์ แวนโกะห์’

  1. เธอจึงใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ ในปี 2015 โดยยื่นให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ตั้งแต่ปี 2015 รวมถึงสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ทำการวิจัยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
  2. ผลวิจัยออกมาว่า รูปมาจากในศัตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่แวนโกะห์ยังมีชีวิตอยู่จริง ตอนนี้รอไปพิสูจน์กับแวนโกะห์มิวเซียมแล้วเขาจึงจะประกาศว่าจริงหรือไม่จริง
  3. เผยเรื่องเหลือเชื่อ ‘ผีแวนโกะห์’ ตามติด เชื่องานวิจัยจะทำให้ไปเกิด ปลดปล่อยวิญญาณ

เป็นการอ่านข่าวที่สับสนในอารมณ์มาก เหมือนดูหนังไซไฟ ดาวินชี่โค้ด สืบเสาะ ค้นหาความจริง ภาพจริงหรือภาพปลอมกันแน่ แล้วอยู่ๆ หนังก็เปลี่ยนเป็น ชัตเตอร์กดติดวิญญาน เอาดื้อๆ อินซิเดียส 6 วิญโกะห์ตามติด ผีแวนโกะห์อาฆาตใครที่ขโมยรูปไปจะโดนตามตัดหู ไรเงี้ยะเธอ

อ่านแล้วก็รู้สึกมีความหวังในวงการศิลปะ คนไทยน่าจะสนใจศิลปะมากขึ้น เพราะไม่เคยมีใครใช้วิธีนี้ให้สื่อออกข่าวเกี่ยวกับศิลปะได้โครมครามขนาดนี้เลย ก็เลยอยากจะให้ใช้ไสยศาสตร์ที่คนไทยมีความเชี่ยวชาญเหลือเกิน มาใช้ควบคู่กับการทำความเข้าใจงานศิลปะของ วินเซนต์ แวนโกะห์ โดยการจุดธูปปักขนมปังบาแกตสไตล์ชาวฝรั่งเศส พร้อมไหว้ด้วยไวน์แดง วางดอกทานตะวันที่ลุงชอบ อัญเชิญลุงแวนโกะห์มาบรรยายให้นักศึกษาศิลปะและคนทั่วไปฟัง จัดที่หอศิลป์ฯกรุงเทพฯ เชิญ ริว จิตสัมผัส มาเป็นพิธีกร พร้อมล่ามภาษาฝรั่งเศส

หัวข้อบรรยายก็คงหนีไม่พ้น การทำงานศิลปะสอดคล้องกับสภาพสังคมในเวลานั้น, แนวคิดในการเพนท์ต่างๆ, การพัฒนาสไตล์งาน ไปจนถึงเม้ามอยนินทาแก๊งศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์แต่ละคน โมเน่ต์ตัวจริงเป็นคนยังไง หุ่นหมีแค่ไหน? เดกาส์แอบดูนักบัลเลต์แต่งตัวจริงป่ะ? แล้วตกลงทะเลาะกับโกแกงเรื่องอะไร? และในฐานะคนที่รักงานลุงมานาน ก็อยากจะถามว่า

“ลุงคะ งวดนี้ออกอะไรคะ?”

แวนโกะห์

ถ้าตัดไสยศาสตร์ออกไปแล้ว

ความจริงฉันตื่นเต้นกับเนื้อหาข่าวช่วงวิทยาศาสตร์มากเลยนะ ถ้าอ่านข่าวที่เชื่อถือได้หน่อยอย่างเดลินิวส์หรือ BBC Thai ที่ไม่มีเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด วิญญานเข้าฝันต่างๆ ฉันอิ่มเอมมากเลย ไม่ว่าจะการพิสูจน์ตั้งแต่กระบวนการหาอายุคาร์บอน (carbon dating) จากกรอบ ผ้าใบ และสีที่ใช้ หรือการพิสูจน์ด้วยการวาวรังสีเอ็กซ์ (XRF) เกิดความไม่เสถียรในระดับอะตอม และปล่อยพลังงานบางส่วนออกมา (ซึ่งเด็กตาใสๆ อย่างฉันก็ไม่รู้หรอกว่ามันว้าวอย่างไร แต่ตอนนี้ฉันว้าวมาก) ไปจนถึงอะไรที่ละเอียดอย่างธาตุเหล็กในสีทำปฏิกิริยากับน้ำ จนเกิดเป็นสนิม ทำให้สีเปลี่ยนไป

เฮ้ย คุณ จะมีสักกี่ครั้งเชียวที่เราจะได้สัมผัสการใช้วิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ว่าภาพนี้เป็นภาพจริงหรือภาพปลอมในประเทศไทย สำหรับคนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ การพบว่ามีกระบวนการนี้ในเมืองไทยนี่มันน่าดีใจมากเลยนะ

แต่ก็อยากจะท้วงหลายสำนักสักนิดที่บอกว่า “ซึ่งในยุคนั้นไม่มีใครที่เลียนแบบงานของท่าน (แวนโกะห์)” นั้น ความจริงแล้ว มีค่ะ แถมเป็นคนใกล้ชิดกอดคอคุยกันเหมือนพี่น้อง นั่นก็คือ คุณหมอกาเชต์ (Paul Gachet) ที่ดูแลรักษาอาการป่วยทางจิตของแวนโกะห์ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา คุณหมอชอบผลงานของแวนโกะห์มาก เพราะคุณหมอเองก็ชอบสร้างงานจิตรกรรม แต่คุณพ่อของคุณหมออยากให้เป็นหมอ เลยไม่ได้เป็นจิตรกร

Portrait of Dr. Gachet, 1890

มีเรื่องเล่าว่า คุณหมอชอบเก็บงานแวนโกะห์มาลอกเลียนแบบ ขนาดตอนที่คอลเลคชั่นของคุณหมอกาเชต์ได้ถูกส่งทอดต่อไปให้ทางการฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญต้องแยกรูปหลายใบของหมอกาเชต์ออกจากรูปของแวนโกะห์หลายรูปเลยทีเดียว

เอ๊ะหรือว่า….

จะเป็นอย่างไรก็ต้องรอฟังจากทางแวนโกะห์มิวเซียม ว่าจะเป็นรูปจริงตามที่ผลวิจัยออกมา หรือจะเป็นอีกรูปก๊อปปี้ของคุณหมอ หรือจะโดนผีแวนโกะห์หลอกว่า “แฮ่ โกหกนะจ๊ะ” ก็ต้องรอดูกันต่อไปวิญญานที่ว่ามาไม่ใช่วิญญานแวนโกะห์ แต่เป็นวิญญานหมอกาเชต์! แน้ เคราแกทองๆ ส้มๆ เหมือนกันด๊วย!

เอาล่ะค่ะคุณผู้อ่าน อยู่ๆ เรื่องนี้มันก็ซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้นมาทันที! พลิกไปพลิกมามากค่ะ เดาตอนจบไม่ได้มาก!

แต่ถึงแวนโกะห์เป็นผี ก็คงไม่มาหาถึงไทยหรอก

ไม่ว่าจะเพราะแกเขียนภาพวาดเป็นพันๆ ภาพ จนถ้ามาถึงนี่ก็แปลว่าแกคงไปหาภาพอื่นๆ อีกพันๆ ภาพของแก แบบแบ่งวิญญานไป อะไรแบบนี้เหรอ? หรือว่าการจุดธูปแล้วมาบอก คือบอกเป็นภาษาไทยคงไม่ใช่มั้ง แกเป็นคนดัทช์ แล้วไปใช้ชีวิตในฝรั่งเศส ถ้าไม่พูดภาษาดัทช์ ก็ต้องเป็นภาษาฝรั่งเศส หรือธูปมีฟังชั่นแปลภาษาให้แล้ว? แล้วลุงแกรู้เหรอว่าธูปมีฟังชั่นในการเรียกวิญญาน? อีกอย่าง ลุงนับถือศาสนาคริสต์ แล้วตามความเชื่อคริสต์นี่ไม่มีการ “ไปผุดไปเกิด” หรอกนะ (และฉันจะไม่สนใครหน้าไหนก็ตามที่บอกว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะการเขียนข่าวมั่วๆ ว่าเขาไม่ไปผุดไปเกิดนี่ ไม่นับว่าเป็นการดูหมิ่นศิลปินไปหน่อยเหรอ)

ดังนั้น เราจะตัดเรื่องทางไสยศาสตร์ออกไป แต่เราจะมาวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาแทนดีกว่าว่า ทำไม คนอย่างแวนโกะห์คงไม่มีห่วง แล้วก็คง “ไปผุดไปเกิด” หรือจะไปไหนของเขาก็ให้เขาไปเถอะ

วินเซนต์ แวน โกะห์ (Vicent Van Gogh ที่ชื่อจริงอ่านออกเสียงว่า ฟินเซนต์ ฟัน โคค) หลายคนรู้จักเขาในฐานะ ‘ศิลปินที่ประสบความล้มเหลว ทั้งชีวิตขายรูปได้แค่รูปเดียว’ นอกจากนั้นก็จะมีคอมเมนต์ประมาณว่า ไม่มีคนคบ ไม่มีเพื่อน ทุกคนไม่อยากเป็นอย่างเขา

ซึ่ง โอเค ใช่บางส่วน แต่ความจริงแล้ว แวนโกะห์รายล้อมไปด้วยคนที่สนับสนุนเขาเหมือนกันนะ อย่างคนที่คอยสนับสนุนแวนโกะห์มาตลอด ก็คือ เธโอ น้องชายของเขา ที่เป็นเหมือนแรงผลักดันให้วินเซนต์ทำทุกอย่างที่เขาอยากทำ ไม่ว่าจะส่งเงินค่ากินค่าอยู่ค่ารักษาพยาบาล ค่าสีค่าผ้าใบ ตลอดจนเป็นกำลังใจให้พี่ชาย ถ้าไม่มีเธโอ ก็ไม่มีแวนโกะห์

และในบั้นปลายชีวิตของแวนโกะห์ เขาก็มีคุณหมอที่สนิทกัน ไปมาหาสู่ แบ่งปันการวาดภาพด้วยกันอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือคุณหมอกาเชต์ที่เล่าไปตอนต้น แม้แต่ตอนที่อยู่ที่ปารีส เขายังมีชาวแก๊งศิลปินที่รักและสนับสนุนเขา อย่าง โมเนต์ (Claude Monet) พี่ใหญ่แห่งวงการอิมเพรสชั่นนิสม์* ที่เอ่ยปากบอกว่า แวนโกะห์มีฝีมือที่หาตัวจับยาก มีแววจะเป็นดาวรุ่งในวงการศิลปะ อีมิล เบอร์นาร์ด (Émile Bernard) นับถือแวนโกะห์เป็นเหมือนพ่อและพี่ชาย

The Painter of Sunflowers, a portrait of Vincent van Gogh by Paul Gauguin in December 1888

เพื่อนชาวแก๊งบางครั้งเวลาที่มีคนมาหาเรื่องแวนโกะห์ก็ออกมาปกป้อง อย่าง อังรี เดอ ทูลูส ลอว์เทรค (Henri de Toulouse-Lautre) และ พอล โกแกง (Paul Gauguin) โกแกงเป็นเพื่อนซี้ปึ้กกับแวนโกะห์ในตอนนั้น โกแกงวาดรูปให้แวนโกะห์ น่ารักกุ๊กกิ๊ก ก่อนที่จะแตกหักกันในไม่กี่ปีต่อมาเพราะวินเซนต์เป็นซึมเศร้ารุนแรง จนไล่เอามีดโกนจะมาเฉือนโกแกง แล้วสุดท้ายก็จบลงที่แวนโกะห์ตัดหูตัวเอง

แวนโกะห์ตายตอนอายุ 37 ปี ด้วยการยิงตัวเอง เขาค่อนข้างโด่งดังในหมู่ศิลปินนะ ขนาดตอนงานศพของแวนโกะห์นี่ศิลปินยุคนั้นมากัน 20 กว่าคน นับว่าเป็นงานรวมญาติศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์เลย

Wheatfield with Crows, 1890. Van Gogh Museum, Amsterdam
*ในวิกิพีเดียใช้คำว่า ลัทธิประทับใจ แล้วฉันฟังดูน่ารักประหลาดประแหล่งเกินไป เหมือนลัทธิที่ทุกคนเอามือทาบอกแล้วอุทาน “โอ้ว! ว้าว!” ตลอดเวลา ขอใช้ทับศัพท์แล้วกันนะคะ

ถ้าเป็นผี ก็ต้องมีห่วงใช่มั้ย? แต่เราไม่คิดว่าแวนโกะห์จะต้องห่วงอะไรแล้วนะ เขาน่าจะเคลียร์หมดไปตั้งแต่ตอนยังอยู่แล้วล่ะ เพราะอะไรน่ะเหรอ ลองอ่านจดหมาย ที่เขาส่งให้เธโอดูสิ

…ฉันเห็น ในตัวชายชาวไร่คนนี้ ในเรือนร่างที่ปะทะกับไอร้อนยามกลางวันของเขา ทำให้ฉันมองเห็นความตายในนั้น ที่มนุษย์เป็นเพียงพืชไร่ที่โดนเก็บเกี่ยวชีวิตไปด้วยชาวไร่ แต่ในความตายนี้ ไม่มีสิ่งใดที่น่าเศร้าเลย มันเกิดขึ้นในเวลากลางวันแสกๆ ที่ดวงอาทิตย์ส่องประกาย อาบทุกอย่างภายใต้แสงสีทองอร่าม…

จากจดหมายนี้ เราจะสังเกตว่า เขาไม่กลัวความตายเลย วิญญานที่มีห่วงจะมาบอกไหมว่า ความตายไม่น่าเศร้าเลย ความตายนั้นก็สวยงาม?ความตายสวยงามมั้ยสำหรับแวนโกะห์ เราไม่รู้ แต่ที่พอจะรู้ คือเช้าของวันที่ 27 กรกฎาคม 1890 กลางฤดูร้อนในชนบททางตอนใต้ของฝรั่งเศสที่ชานเมืองออร์แวร์ แวนโกะห์ขนแคนวาสและอุปกรณ์วาดรูปของเขาไปนั่งวาดรูปตามปกติ แล้วเขาก็ยิงเข้าที่กลางลำตัว เกิดบาดแผลเหวอะหวะแต่ไม่ตาย แวนโกะห์หอบร่างตัวเองกลับมาที่พักของเขา ทุกคนตื่นตะลึง เมื่อผู้ให้เช่าห้องพักของเขาถามแวนโกะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น แวนโกะห์ตอบเพียงแค่ว่า “ผมพยายามจะฆ่าตัวตาย”

Wheatfield with a Reaper, 1889, Van Gogh Museum, Amsterdam

ผู้ให้เช่าติดต่อคุณหมอกาเชต์ เช้าของวันถัดไป เธโอก็ได้ข่าวเกี่ยวกับแวนโกะห์ แวนโกะห์ใช้เวลาคุยกับคุณหมอ ก่อนที่เธโอจะบึ่งรถไฟจากปารีสมาถึงที่พักในเย็นวันนั้นแล้วเขาก็ใช้ชีวิตวาระสุดท้ายกับเธโอ ก่อนจะจบชีวิตลงสองวันต่อมา

น่าสงสัยไหมว่า ทำไมคนจะฆ่าตัวตายทั้งที ไม่ยิงเข้ากลางขมับ แต่กลับยิงเข้ากลางลำตัว ทำไมแวนโกะห์ต้องหอบร่างตัวเองกลับมาที่พักของเขา

เธโอในตอนนั้นติดเชื้อซิฟิลิส และต้องใช้เงินรักษา รวมทั้งภรรยาของเธโอเพิ่งคลอดลูกด้วย แวนโกะห์ที่ใช้เงินจากเธโอมาตลอด คงเริ่มคิดได้ว่า การมีเขาอยู่เป็นภาระกับชีวิตน้องชาย การฆ่าตัวตายของแวนโกะห์น่าจะเป็นการคิดมาอย่างดิบดีแล้วว่า นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด และการที่แวนโกะห์ไม่ยิงตัวตายกลางขมับเดี๋ยวนั้นเลย ก็ดูจะเป็นวิธีเดียวที่ทำให้เขาได้คุยกับเธโอ น้องชายของตัวเอง ก่อนจะตาย (น่าเศร้าที่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเธโอก็ฆ่าตัวตายตามเพราะความเศร้า) ถ้าแวนโกะห์เคลียร์ทุกอย่างกับคนใกล้ชิดทั้งสองแล้ว เขาจะต้องมาห่วงอะไรอีก ในเมื่อเขาก็ไม่เหลืออะไรให้ต้องกังวลอีกแล้ว

หลังความตายของแวนโกะห์

เขารู้สึกกับทุกอย่าง โธ่ วินเชนต์ที่น่าสงสาร เขารู้สึกมากเกินไป มันทำให้เขาต้องการในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

คือสิ่งที่แปร์ (ที่แปลง่ายๆ ว่าป๋า) ตองกีย์ หรือ ฟรองซัวส์ ตองกีย์ เจ้าของร้านขายสีที่แวนโกะห์มักจะไปซื้อสีกับเขา ได้พูดถึงแวนโกะห์ เรารู้ว่าทั้งชีวิตแวนโกะห์ขายรูปได้รูปเดียว แต่สิ่งที่แวนโกะห์ต้องการ คือเงินจริงๆ เหรอ?

Starry Night Over the Rhône, 1888, Musée d’Orsay, Paris

และถ้าใครผ่านตาผลงานของแวนโกะห์ จะเห็นว่าเขาวาดหลายอย่างมาก ตั้งแต่นายตำรวจยันชาวไร่ ตั้งแต่ดวงดาวระยิบรระยับไปยันดอกทานตะวันที่กำลังเหี่ยวโรยรา ไม่มีสิ่งไหนที่มีค่าทางความงามน้อยเกินไปในสายตาของแวนโกะห์เลย เขาวาดรูปแทบทุกวัน ภาพเป็นพันๆ ภาพ ที่ถูกกลั่นออกมาจากความประทับใจที่เขาเห็นในชีวิตแต่ละวันของแวนโกะห์ แล้วทำไมคนอย่างแวนโกะห์ที่ “รู้สึกในทุกสิ่ง” ถึงยังจะต้องห่วงรูปภาพเพียงรูปเดียวของเขาล่ะ? แวนโกะห์ไม่กลัวความตาย แต่แวนโกะห์เลือกที่จะมองความตายในมุมมองที่ต่างออกไป อย่างตัวอย่าง จดหมายฉบับนี้

…ในชีวิตของจิตรกรคนหนึ่ง ความตาย บางทีอาจไม่ใช่สิ่งที่ยากที่สุด สำหรับตัวฉันแล้ว ฉันยอมรับว่าฉันไม่รู้เรื่องความตายเลยแม้แต่น้อย แต่ภาพของดวงดาวที่ส่องประกาย ทำให้ฉันฝันตลอด…”ทำไมนะ” ฉันถามตัวเอง “ประกายแสงบนท้องนภา ช่างยากที่จะไขว่คว้ามาเหลือเกิน…หรือความตาย คือหนทางที่จะไปถึงดวงดาวได้ ฉันว่า การตายอย่างสงบในวัยชรา คงเป็นวิธีการเดินเท้าไปถึงดวงดาวกระมัง…

เราอยากถามจริงๆ เถอะ ทำไมถึงบอกว่าคนที่มองความตายเป็นหนทางไปสู่ดวงดาวอย่างแวนโกะห์ จะไม่ “ไปผุดไปเกิด” ได้อย่างไร คนที่มองเห็นความงามในชีวิต จะมาห่วงว่ารูปรูปเดียวจะไม่ได้ไปอยู่ใน ‘ที่ที่ควรจะอยู่’

ฉันอยากจะหัวเราะและร้องไห้ให้แวนโกะห์ในเวลาเดียวกันวินเซนต์ที่น่าสงสาร แม้แต่ตอนที่เธอตายไปแล้วยังมีคนจับเธอมาเล่ากันเป็นตุเป็นตะ ทุกคนตื่นเต้นเหลือเกินเกี่ยวกับโลกหลังความตายของเธอ จนเขาไม่สนเลยว่าตอนที่เธอยังอยู่ เธอช่างมีดวงตาที่เห็นโลกสวยงามเพียงไหน

ขอโทษนะวินเซนต์


อ้างอิงข้อมูลจาก:
vangoghmuseum.nl
vangoghletters.org
bbc.com
dailynews.co.th
https://en.wikipedia.org/wiki/Vincent_van_Gogh
theguardian.com

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า