ศิลปะบนเส้นขนานที่ 17 พรมแดนเวียดนามเหนือ-ใต้

le-bro-open

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี/อภิรดา มีเดช
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

เพราะเกิดที่เวียดนามเหนือ แต่ถูกเลี้ยงและเติบโตที่เว้ (Hue) เมืองบนผืนดินฝั่งเวียดนามใต้ ทำให้ศิลปินฝาแฝด ‘Le Brothers’ เห็นวัฒนธรรมและขั้วความคิดที่แตกต่างระหว่างคนเวียดนามทั้งสองฝั่งแดน

โดยตั้งใจ งานของเขาที่เริ่มฝึกฝนอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1994 จึงมีเรื่องราวชีวิตของคนเวียดนาม การเมือง ประวัติศาสตร์ ตั้งต้นที่ความแตกต่างของคนที่อยู่คนละฝั่งของเส้นขนานที่ 17 – เส้นที่ใช้แบ่งเวียดนามเหนือและใต้ตามอนุสัญญาเจนีวาในปี 1954 (พ.ศ. 2497)

คล้ายๆ เยอรมนี แม้กำแพงเบอร์ลินได้พังทลายไปแล้ว แต่ความเป็นเบอร์ลินฝั่งตะวันออกและตะวันตก อาจไม่เด่นชัดแต่ยังมีอยู่ แต่กับเวียดนามนั้นต่างออกไป ความคิดของเรายังคงไม่เหมือนกัน

lebro1b

พี่น้องตระกูลเล

เล หง็อก ตาน (Le Ngoc Thanh) และ เล ดึก ฮาย (Le Duc Hai) เกิดที่จังหวัดกวางบินห์ ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ในปี 1975 (พ.ศ. 2518) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง จากนั้นครอบครัวของพวกเขาย้ายภูมิลำเนามาลงหลักปักฐานที่เมืองเว้ เวียดนามใต้ เมืองที่อยู่ไม่ไกลจากเส้นขนานที่ 17 เส้นแบ่งกั้นความเป็นคนเวียดนามเหนือและใต้*

“พวกเรามีความทรงจำมากมายเกี่ยวกับเรื่องราวหลังสงครามโลก การแบ่งแยกประเทศ ความคิดของคนที่แตกต่างที่เกิดขึ้นจากเส้นแบ่งนั้น ดังนั้นสิ่งที่เราอยากทำ คือการสื่อสารให้ชาวเวียดนามเหนือใต้ต่อติดและเข้าถึงกันได้มากที่สุด และถ่ายทอดสิ่งที่ตกทอดทางประวัติศาสตร์นี้ออกไปให้คนข้างนอกได้รับรู้”

ทั้งคู่ศึกษาศาสตร์ด้านศิลปะที่วิทยาลัยศิลปะ ที่เมืองเว้ โดยที่ตาน เลือกเรียนการวาดด้วยสีแลคเกอร์ (Lacquer) ขณะที่ฮายสนใจวาดภาพด้วยสีน้ำมัน การพัฒนางานด้านการเพนท์ภาพของพวกเขาเป็นไปอย่างก้าวกระโดดที่วิทยาลัยแห่งนี้

การที่เขาทั้งสองได้รับเชิญให้จัดแสดงผลงานต่างประเทศที่กรุงเทพฯ ในปี 2009 และประเทศเกาหลีใต้ในปี 2012 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนนอกประเทศเริ่มรู้จักงานจากศิลปินเวียดนาม มากกว่านั้น เรา – คนนอก ยังได้ศึกษาและเข้าใจเรื่องราวภายในประเทศเวียดนามด้วย

ทำไมจึงเชื่อว่างานศิลปะจะเชื่อมประสานผู้คนให้เข้าใจกันได้?

“นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงมานั่งอยู่ตรงนี้”

น้ำเสียงของทั้งคู่ทุ้มแน่น และอธิบายต่อว่า การที่เขาเป็นศิลปินก็คล้ายกับเรา – ที่นั่งสัมภาษณ์เขาอยู่ตรงนี้ ในฐานะคนทำงานสื่อสารที่เผยแพร่สิ่งที่เขาคิดเชื่อออกไป และสำหรับเขา งานศิลปะมีพลังเพียงพอ ไม่ต้องใช้ภาษา หากเข้าใจกันได้โดยผ่านงานแสดงทางร่างกาย

“มีบางคนเข้ามาดูงานที่แกลเลอรีของเราแล้วร้องไห้ พวกเขาพูดว่า ‘Art can talk’

เพราะเวลาที่คุณอยู่ในประเทศที่ทุกอย่างมันกดดันมากๆ ทั้งการเมือง สภาพสังคม ความจน ความหวาดกลัว ความไม่มั่นคงและการแตกต่างแปลกแยก ถ้าทุกอย่างมันอยู่ล้อมรอบตัวคุณเต็มไปหมด คุณจะเข้าใจความรู้สึกของคนที่พูดว่า ‘Art can talk’ เป็นอย่างไร

“นี่เป็นสิ่งเดียวที่เราทำได้ (หัวเราะ) หน้าที่ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย หรืออาชีพอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนย่อมมีวิธีการและเรื่องราวในการสื่อสารด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน”

แม้ความสนใจเบื้องต้นของพวกเขาคือศาสตร์แห่งการวาดเขียน หากในงานแสดงช่วงหลัง พวกเขาหันมาสนใจงานศิลปะ performance หรือศิลปะที่ใช้ร่างกายในการถ่ายทอดผลงาน

“ในช่วงสิบปีให้หลัง งานของพวกเราจะเป็นวิดีโอและศิลปะการแสดง ไม่ใช่เหตุผลยิ่งใหญ่อะไร เราแค่เบื่องานเพนท์ (หัวเราะ) เราอยากจะโยนคอนเซ็ปต์ยิ่งใหญ่ทั้งหมดทิ้งไป แล้วเริ่มถ่ายทอดงานด้วยวิธีการใหม่ๆ แทน”

lebro1a
ที่พี่น้อง Le Brothers ว่า คือความตั้งใจที่จะหยุดสร้างและฝึกฝนงานศิลปะร่วมสมัย (contemporary art) ในฐานะเป็นเครื่องมือแสดงถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่ ‘ฟังไม่รู้เรื่อง’ เพราะมันง่ายที่จะถูกตีความด้วยมุมมองของชาวตะวันตกเอง

“ไดอะล็อกมันจะเป็นแบบนี้ พวกเขาจะถามเราว่าเราเป็นคนชาติอะไร พอเราบอกว่าเราเป็นคนเวียดนาม พวกเขาก็จะ อ๋า…ยูเป็นคนเวียดนาม ที่รบกับอเมริกา ที่รบกับจีนใช่ไหม

“ช่วงหลังๆ มานี้ถ้าใครถามว่าเราเป็นคนสัญชาติอะไร เราจะบอกเขาว่า เรามาจากดวงจันทร์ (หัวเราะ)”

ที่เขาบอกว่าอยากจะโยนคอนเซ็ปต์ หรือ ideology ของตัวงานออกไป เพราะอยากให้งานเป็นสิ่งสะท้อนปรากฏการณ์หลังประวัติศาสตร์ เป็นความทรงจำ เป็นชีวิตปัจจุบันของผู้คนสมัยนี้มากกว่า

ตัวอย่างงานด้าน performance ที่สร้างชื่อให้กับพี่น้อง Le Brothers คือเรื่องราวในผลงาน The Bridge ชุดงานวิดีโอหรือ ‘ซีรีส์’ ศิลปะการแสดงที่ต้องการสื่อสารถึงผลกระทบจากเส้นแบ่งกั้นประเทศที่ถูกสร้างขึ้นของทั้งสามประเทศ เวียดนาม เกาหลี และเยอรมนี

“เราไม่ได้สื่อสารเรื่องการแตกแยกธรรมดา แต่เป็นการแบ่งแยกทางความคิดของความเป็นคอมมิวนิสต์กับการไม่เป็น มันยาก และมันยังทิ้งร่องรอยอยู่ถึงวันนี้”

lebro3

โรงเรียนศิลปะที่ชื่อว่า ‘New Space Arts Foundation’

ไม่แต่เพียงเป็นศิลปิน อีกหน้าที่หนึ่งของพี่น้องคู่นี้คือการเป็น ‘ศิลปินอาจารย์’ และโรงเรียนสอนศิลปะและแหล่งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของพวกเขามีชื่อว่า ‘New Space Arts Foundation’ ตั้งอยู่ที่เมืองเว้ บ้านเกิดและเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่เกือบกึ่งกลางระหว่างโฮจิมินห์และฮานอย

แม้คำในภาษาอังกฤษจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘มูลนิธิ’ หรือ ‘Foundation’ แต่หากกลับไปดูหน้าที่และคำอธิบายสถานที่แห่งนี้ของพี่น้องเล มันอาจเทียบได้กับสถานที่สอนศิลปะที่มีไว้เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ขายงานศิลปะ ทั้งของพี่น้องเลและศิลปินที่มาเรียน เป็นโรงเรียนสอนศิลปะ และยังเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับศิลปินชาวต่างประเทศและผู้ที่ไม่ใช่ศิลปิน ให้ได้มาแลกเปลี่ยนบทสนทนากัน

“แกลเลอรีก่อตั้งขึ้นในปี 2000 ก่อนเพื่อเป็นช่องทางในการจัดแสดงและขายงาน แต่ประเด็นสำคัญของแกลเลอรี คือการเป็นตัวกลางการพัฒนาศิลปะ โรงเรียนสอนวาดภาพ และให้ชาวเวียดนามได้มาสื่อสารและพบปะกัน”

และหลังจากนั้นแปดปี โครงการมูลนิธิ ‘New Space Arts Foundation’ จึงเกิดขึ้นในพื้นที่ติดกันกับแกลเลอรี

ปัจจุบัน New Space Arts Foundation เปิดให้บริการและเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยพันธกิจของพี่น้องเลทุกวันนี้คือ การตั้งมั่นเป็นอาจารย์ที่ดีในการส่งเสริมศิลปินชาวเวียดนามในการพัฒนาศาสตร์ศิลปะ

คลิปวิดีโอทีเซอร์ของพี่น้องตระกูลเล Drops from moon 2016 จากชื่อบัญชีของ Le Duc Hai

ติดตามนิทรรศการแสดงผลงานของพี่น้องตระกูลเล ในคอนเซป ‘The Game | Viet Nam by LE Brothersณ Jim Thompson Art Center ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559-19 กุมภาพันธ์ 2560


* ประเทศเวียดนามถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและใต้ราว 21 ปี นับแต่ พ.ศ. 2497-2518
โดยเวียดนามเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ขณะที่เวียดนามใต้ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา มีศูนย์กลางการปกครองที่เมืองไซง่อน
30 เมษายน 2518 คือวันที่ถูกเรียกว่า ‘วันกรุงไซง่อนแตก’ วันที่ทหารชุดสุดท้ายของสหรัฐถอนทัพออกไป ทำให้เกิดความวุ่นวายถึงขั้นจลาจลขึ้นที่เมืองไซง่อน อย่างไรก็ดี วันนี้ถือเป็นวันสิ้นสุดการแบ่งแยกประเทศด้วยเส้นขนานที่ 17 ทำให้ประเทศเวียดนามกลับมาเป็นผืนเดียวกันอีกครั้ง

 

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า