เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี / อภิรดา มีเดช
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
คงไม่น่าประหลาดใจถ้าที่นี่คือประเทศโสมแดง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2556 เมื่อบิ๊กตำรวจแห่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ออกมาวางท่าขึงขังว่า จะล้วงข้อมูลการสนทนาระหว่างบุคคลผ่านแอพพลิเคชั่นยอดนิยมอย่าง Line รวมถึงการกด Like กด Share ทั้งหลายก็จะถูกสอดแนมด้วย ทำให้บรรยากาศของบ้านนี้เมืองนี้แลดูคล้ายรัฐเผด็จการเข้าไปทุกที
ทันทีที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการ ปอท. ออกมาปูดแนวคิดนี้ ผู้คนในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คพร้อมใจกัน ‘สหบาทา’ โดยไม่ต้องนัดหมาย เพราะนั่นหมายถึงการที่รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยหวังจะล้วงลับตับแตกใครก็ได้ตามใจต้องการ และยิ่งเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้ครอบงำสังคมไทยมากยิ่งขึ้น พูดให้เห็นภาพชัดก็คือเข้าข่ายดักฟัง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ
ไม่ว่าอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว ที่สาธารณะ หรือเป็นพื้นที่ส่วนตัวบนที่สาธารณะก็ตาม อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักวิจัยโครงการวิจัยความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ยืนยันมั่นเหมาะว่า ‘สิทธิอินเทอร์เน็ต เป็นสิทธิมนุษยชน’
แม้วิธีคิดสุดโต่งของผู้การ ปอท. จะถูกตอกกลับไปแล้ว แต่ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียทั้งหลายก็ยังไม่อาจไว้ใจได้ว่า จะมีขบวนการใต้ดินของหน่วยงานรัฐที่แอบลักลอบสอดแนมข้อมูลของพวกเราอยู่หรือไม่ เพราะแม้กระทั่งช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ปรากฏข่าวคราวของโครงการ ‘ปริซึม’ ซึ่งดำเนินงานโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐและประเทศพันธมิตร โดยมีการปฏิบัติภารกิจนี้อยู่อย่างลับๆ
สิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์ควรมีขอบเขตแค่ไหน
ถ้าเปรียบเทียบอินเทอร์เน็ตเป็นเสมือนเมืองแห่งหนึ่ง เราย่อมสามารถเดินไปที่ไหนก็ได้ในเมืองนี้ ถ้ามันมีทางให้เดินได้ แต่หากมีเส้นทางไหนที่เจ้าของตึกไม่ต้องการให้เราเดินเข้าไป เขาก็สร้างกำแพงกั้น แต่หลักการก็คือ ถ้าไม่มีอะไรเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย สิ่งที่เหลือเราสามารถทำได้หมด เพราะหลักสิทธิเสรีภาพก็คือ เราสามารถทำอะไรก็ได้ที่กฎหมายไม่ได้ห้าม
ถ้ามองในแง่เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น กฎหมายไม่ได้ระบุหรอกว่าคุณสามารถพูดเรื่องอะไรได้บ้าง แต่จะบอกแค่ว่าเรื่องไหนที่คุณพูดไม่ได้ ซึ่งโดยทั่วไปก็คือเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในบางสังคมอาจกำหนดเรื่องศีลธรรมอันดีเข้าไปด้วย โดยเฉพาะรัฐศาสนา ยิ่งถ้าเป็นรัฐศาสนาแบบเข้มข้นแล้ว นอกจากจะมีข้อกำหนดเรื่องศีลธรรมอันดีหรือหลักเกณฑ์ทั่วไปที่สังคมยอมรับร่วมกัน เขาอาจไปไกลถึงขั้นว่ามีข้อห้ามบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น ห้ามวิจารณ์ศาสดา หรือไม่สามารถท้าทายหลักความเชื่อแก่นกลางของศาสนานั้นได้ ซึ่งกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็แตกต่างกันไปตามแต่ละสังคม
ฉะนั้นสิ่งที่สังคมเราถกเถียงกันมาตลอดก็คือ อะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้ หรือพูดได้แค่ไหน ซึ่งก็ต้องมาดูหมวดข้อยกเว้นหรือข้อห้ามว่ามีความชัดเจนแค่ไหน
สิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์กับออฟไลน์ สามารถใช้บรรทัดฐานเดียวกันตัดสินได้หรือไม่
เมื่อก่อนสิ่งที่เรียกว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ มันยังไม่เกิดขึ้นจริง มันเป็นเรื่องของจินตนาการในภาพยนตร์หรือนิยายวิทยาศาสตร์ ว่าคนสามารถติดต่อสื่อสารหรือโต้ตอบกันได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องเจอหน้ากัน แต่ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตคือชีวิตจริง มีผู้ใช้จริง ฉะนั้นจะบอกว่าเฟซบุ๊คเป็นเรื่องของโลกเสมือนก็คงไม่ใช่
คำจำกัดความของคำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ เปลี่ยนไปแล้ว และได้ขยายอาณาเขตมากขึ้นหลังจากที่เรามีสมาร์ทโฟน ซึ่งถ้าเราเขียนข้อความหรือแสดงความเห็นอะไรออกไปมันก็จะปรากฏอยู่ในนั้นหรือสามารถเสิร์ชหาย้อนหลังได้ ฉะนั้น พื้นที่สาธารณะนอกจากจะขยายในเชิงพื้นที่แล้ว ยังขยายในมิติของเวลาอีก สุดท้ายแล้วอินเทอร์เน็ตก็คือสังคมจริงของคน ฉะนั้นเวลาพูดถึงสิทธิเสรีภาพมันก็ควรจะเป็นเรื่องเดียวกันทั้งในออนไลน์และออฟไลน์
หลักการนี้ได้รับการยอมรับแล้วจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งประกาศไว้เมื่อปี 2012 ว่า สิทธิมนุษยชนในสังคมออฟไลน์จะต้องเป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับสังคมออนไลน์
ในเมื่อสังคมออนไลน์กับออฟไลน์เป็นสิ่งเดียวกัน การออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 จะถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะอาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกพ่วงความผิดหลายกระทง
แน่นอนว่าการแสดงออกก็ย่อมต้องมีขอบเขต ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ หลายๆ ประเทศจึงไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่เพื่อมาควบคุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เหมือน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในบ้านเรา เพียงแต่เป็นการปรับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วหรือแก้ไขเล็กน้อย เช่น ในการสอบสวนดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อนุญาตให้ใช้หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์นำสืบในศาลได้ โดยที่ฐานความผิดต่างๆ ยังคงไว้ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ควรมีการออกกฎหมายใหม่ๆ เลย เพราะความผิดบางอย่างในกฎหมายอาญาก็ไม่ได้ระบุไว้ จึงต้องมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตขึ้นมาเพื่อระบุความผิดที่ไม่มีอยู่ในกฎหมายอาญาเดิม
ถ้ากฎหมายอาญามีเรื่องความมั่นคง หมิ่นประมาท และเรื่องลิขสิทธิ์อยู่แล้ว กฎหมายอินเทอร์เน็ตก็ไม่ควรพูดถึงเรื่องนี้อีก แต่ควรระบุถึงความผิดอื่นๆ ที่ยังไม่มีในกฎหมายอาญา เช่น การขโมยข้อมูล การก็อปปี้ เพื่อจะได้ใช้กลไกกฎหมายที่มีอยู่แล้วต่อไป ฉะนั้น แนวทางที่เหมาะสมก็คือ การนำกฎหมายเดิมที่มีฐานรากมั่นคงอยู่แล้วมาปรับใช้กับความผิดทางอินเทอร์เน็ต และเพิ่มเฉพาะมาตราที่กฎหมายเดิมยังไม่เคยมี
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีข้อบกพร่องที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างไรบ้าง
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นอกจากเรื่องกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์หรือมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ข้อสำคัญคือมันทำให้เกิดสองมาตรฐาน เช่น มาตรา 14 (1) ในทางอาญา ระบุว่า ถ้าหมิ่นประมาทซึ่งหน้า มีโทษจำคุกสูงสุดแค่ 1 ปี แต่ถ้าหมิ่นหยามผ่านสื่อ โทษจำคุก 2 ปี แต่ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถ้าใช้มาตรา 14 (1) กลับมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี
หรือกรณีโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันจะมีความผิดอาญาตามมาตรา 112 โทษจำคุก 15 ปี แต่ที่แย่กว่านั้นคือ เขาจะเพิ่มความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกหนึ่งกระทง คือต้องจำคุกเพิ่มอีก 5 ปี ฉะนั้น มันก็เลยเกิดคำถามว่าทำไมโทษจึงไม่เท่ากัน เมื่อกฎหมายออนไลน์กับออฟไลน์ยังมีลักษณะสองมาตรฐาน มันก็ไม่แฟร์
ที่จริงกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ร่างมาตั้งแต่ปี 2546 นอกจากจะมี พ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ฯ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสืบหาข้อมูลผู้ต้องสงสัยแล้ว กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้นควบคู่กันก็คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งร่างมา 10 กว่าปีแล้ว แต่กฎหมายยังไม่ออกสักที
นิยามของโลกออนไลน์ ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เราจะแยกแยะอย่างไร
โดยรวมอาจแยกแยะยาก เพราะพื้นที่ออนไลน์มีลักษณะที่เชื่อมติดกันโดยมองไม่เห็นรอยต่อ เช่น ในเว็บไซต์หนึ่งก็ยังมีลิงค์ต่างๆ มาเชื่อมต่ออีกมากมาย
กรณี ‘เฟซบุ๊ค’ อาจต้องดูเป็นรายกรณีไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่ามีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวแค่ไหน แต่บางครั้งแม้ในพื้นที่ส่วนตัวของเราเองก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเพื่อนของเราก็สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นบนหน้าเว็บเพจเราได้ ซึ่งท้ายที่สุดอาจต้องดูที่เจตนาเป็นอันดับแรก
อย่างไรก็ตาม หลักสากลทั่วไปว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีแนวโน้มที่จะคุ้มครองการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากกว่า อย่างเช่นในสหรัฐ ถ้ามีการแสดงความคิดเห็นเชิง parody (ล้อเลียน) ก็สามารถทำได้ โดยผู้นำควรมีความอดทนอดกลั้นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ การล้อเลียน มากกว่าบุคคลอื่นเป็นพิเศษ แต่ถ้าเป็นการโจมตีบุคคลหรือจงใจให้เกิดความเสียหาย อันนี้กฎหมายไม่คุ้มครอง แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม รัฐก็ไม่ควรเข้ามาควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และหากจะเข้ามายุ่งก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่ายุ่งได้แค่ไหน
รัฐสามารถอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงในการควบคุมและจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชนหรือไม่
อ้างได้ แต่ถามว่ามันฟังขึ้นหรือไม่ ก็ต้องดูปัจจัยแวดล้อม
สำหรับผมมีหลัก 3 ข้อ ว่าเข้าหลักความมั่นคงหรือไม่ หนึ่ง-การกระทำนั้นมีเจตนาชัดเจนที่จะทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม สอง-สิ่งที่ทำไปแล้วมีแนวโน้มว่าจะเกิดผลลัพธ์เช่นนั้นจริง สาม-มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างข้อหนึ่งและสอง
ขณะเดียวกัน ตามกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของชาติสมาชิก ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีตั้งแต่ปี 2539 มีหลัก 3 ข้อที่รัฐจะสามารถเข้าแทรกแซงการแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้คือ
หนึ่ง-ต้องมีความโปร่งใสและคาดหมายได้ คือรัฐต้องมีประกาศหรือกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนรับรู้รับทราบว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
สอง-หลักความชอบธรรม ต้องดูว่ารัฐมีความชอบธรรมเพียงพอหรือไม่ที่จะเข้าควบคุม
สาม-หลักว่าด้วยความจำเป็น สมมุติเกิดข่าวลืออย่างใดอย่างหนึ่งที่กระทบต่อความมั่นคง มันมีวิธีการอย่างอื่นที่จะจัดการได้หรือไม่ เช่น การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสู้กับข่าวลือ ถ้ามาตรการขั้นพื้นฐานแบบนี้ยังพอใช้ได้อยู่ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่รัฐจะหาข้ออ้างเพื่อเข้ามาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก เพื่อให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพน้อยที่สุด ไม่ใช่ใช้ยาแรงตั้งแต่ต้น
มีกรณีใดบ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถใช้อำนาจในการดักฟังได้
ถ้า ปอท. เข้ามาตรวจสอบ Line ย่อมเข้าข่ายดักฟังและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแน่นอน ยกเว้นว่าจะตรวจสอบเฉพาะในกรณีที่มีเหตุให้สงสัย แล้วไปขอความร่วมมือจากบริษัทไลน์ก็สามารถทำได้ เพราะกระบวนการสืบสวนเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้เป็นกรณีพิเศษเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ แต่ควรมีความชัดเจนด้วยว่า เนื้อหาประเภทไหนหรือการกระทำใดที่ต้องสงสัย บุคคลใดบ้างที่เข้าข่ายถูกตรวจสอบ และมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้วิธีนี้
ที่สำคัญต้องดูว่ากระทบความมั่นคงจริงหรือไม่แค่ไหน ไม่เช่นนั้นรัฐก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้มาตรการนี้ สิ่งที่น่ากลัวคือ ถ้าเมื่อไหร่ที่เขาสามารถดักฟังใครก็ได้ เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาดักฟังใครบ้าง
Like / Comment / Share เป็นอาชญากรรมได้จริงหรือ
สำหรับการกด Like กับ Comment ในเฟซบุ๊ค ทั้งตำรวจและกระทรวงไอซีทีมองว่าผิดหมด เขาถือว่าเป็นการเผยแพร่ต่อ ทั้งที่จริงการกด Like แล้วไปโผล่หน้าไทม์ไลน์คนอื่น มันไม่ใช่ความผิดของเรา แต่เป็นเรื่องของระบบการคำนวณของซอฟต์แวร์ในเฟซบุ๊ค ถ้าเพจไหนมีคนกด Like หรือ Comment เยอะ แสดงว่าป๊อปปูลาร์ กลไกของเฟซบุ๊คก็จะดันขึ้นไปโผล่หน้าไทม์ไลน์บ่อยกว่าปกติ พอเป็นแบบนี้เจ้าหน้าที่รัฐก็เลยตีความว่ามันเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่มากขึ้น เข้าข่ายความผิดมาตรา 14 (5) ซึ่งในประเด็นนี้ผมว่ามันตีความเกินเลยเกินไป และไปเจาะจงเฉพาะเรื่องการเผยแพร่อย่างเดียว แต่ควรต้องดูด้วยว่าเนื้อหาในการ Comment นั้นเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ซึ่งการ Comment ก็คือการแสดงออกอย่างหนึ่งที่ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองตามหลักสิทธิเสรีภาพ
นอกจากนี้ การกด Like มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราชอบหรือสนับสนุน เช่น กด Like ภาพงานศพพ่อของเพื่อน เป็นต้น
ส่วนกรณี Share ศาลประเทศแคนาดาตัดสินแล้วว่าไม่ผิด เพราะถือว่าเป็นแค่การแชร์ลิงค์ไปหาข้อความนั้น ถ้าต้นทางเขาลบทิ้ง สิ่งที่เราแชร์ก็จะหายไปด้วย แล้วถ้าต้นทางมีการแก้ไขต้นฉบับ ถามว่าคนที่กดแชร์จะมีความผิดด้วยหรือ ซึ่งเรื่องนี้ศาลมีคำพิพากษาแล้วว่าผู้แชร์ย่อมไม่มีความผิด เพราะไม่ใช่เจ้าของเนื้อหาและไม่สามารถควบคุมเนื้อหาในลิงค์นั้นได้หากมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง กรณีนี้จึงเป็นหลักคิดที่พอจะนำมาเทียบเคียงได้
การใช้สื่อออนไลน์ ผู้ใช้พึงต้องระมัดระวังอย่างไรบ้าง
เรื่องการกด Like, Comment หรือ Share ถ้าไม่ได้เป็นการทำร้ายใครก็ทำไปเถอะ ไม่ต้องคิดมาก แต่ในแง่การใช้งานโซเชียลมีเดียก็ควรเรียนรู้กลไกการใช้งานของมันไว้บ้าง ว่าส่วนไหนเรียกว่าอะไร ถ้ากดปุ่มนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าแชร์อันนี้ปุ๊บใครจะเห็นบ้าง เพื่อเป็นความรู้ในการป้องกันตนเอง เพราะบางครั้งเราอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่สุดท้ายอาจมีผลกระทบต่อตัวเราเองได้
เวลาใช้เน็ตก็ควรรู้กลไกการทำงานของมัน เช่น ถ้าเข้าเว็บไซต์หนึ่งมันจะเก็บข้อมูลอะไรของเราไปบ้าง แล้วถ้าไม่อยากให้มันเก็บจะมีวิธีไหนบ้าง ถ้าเราเปรียบเทียบสายส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนถนนสายหนึ่ง เวลาเราส่งข้อมูลก็เหมือนส่งของขึ้นรถบรรทุก ถ้าเราไม่ได้ปิดผ้าใบคลุมไว้ คนอื่นก็อาจจะเห็นว่าเราขนอะไร แต่ถ้าปิดเอาไว้ เขาก็จะไม่รู้ว่ารถขนอะไร เขารู้แค่ว่ารถทะเบียนอะไร วิ่งจากไหนไปไหน ซึ่งบางครั้งข้อมูลแค่นี้ก็อาจเป็นอันตรายกับเราได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่รัฐพยายามจะเข้ามาดักฟังหรือจำกัดสิทธิคนในอินเทอร์เน็ตมากเท่าไหร่ ก็ย่อมมีคนคิดค้นซอฟต์แวร์ป้องกันการถูกดักฟังด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีโปรแกรมหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘ทอร์’ เพื่อป้องกันการสอดแนมจากบุคคลอื่น เช่น หากเราต้องการเรียกข้อมูลจากเว็บไซต์หนึ่ง ซอฟต์แวร์ตัวนี้ก็จะวิ่งสับขาหลอกไปยังเว็บท่าอื่นๆ ก่อน ซึ่งผู้ให้บริการ (ISP) จะไม่สามารถมองเห็นได้เลยว่าเราเข้าไปดึงข้อมูลมาจากเว็บไซต์นั้น
ผมเชื่อว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นเหตุผลโดยชอบธรรมที่เราจะต้องปกป้องตัวเราเอง โดยเฉพาะตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล