การ์ตูน ‘ไข่แมว’ กับกระบอกเสียงของความคับข้องใจ

เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี

 

เพจ ‘ไข่แมว’ ซึ่งมีเนื้อหาเสียดสีการเมืองในรูปแบบการ์ตูนออนไลน์ หายไปจากการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 18 มกราคม ด้วยจำนวนผู้ติดตามในเฟซบุ๊คเป็นจำนวนอย่างน้อย 452,113 บัญชี การร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ความโดดเด่นด้านเนื้อหาและเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างคาแรคเตอร์บุคคลทางการเมืองในการ์ตูนช่องไม่มีคำพูด พิสูจน์ถึงผลงานของ ‘ไข่แมว’ ได้เป็นอย่างดี

ความเห็นของผู้ติดตามส่วนใหญ่ต่างแคลงใจและออกมาตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะเป็นฝีมือของรัฐบาล คสช. เพื่อปิดกั้นความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน

ล่าสุดรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ออกมาปฏิเสธเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะที่ พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยเรื่องนี้กับ Voice TV ว่า “คสช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และกระแสพาดพิงถึงการใช้อำนาจปิดเพจ เป็นเพียงการคาดเดา และไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ”

ความเห็นของโฆษก คสช. ดูจะสวนทางกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดสี่ปีที่ผ่านมาภายใต้อำนาจรัฐบาล คสช. เพราะนอกจากจะมีการจับกุมคุมขังประชาชนจำนวนมากในโลกออฟไลน์แล้ว ในโลกออนไลน์ยังมีการจับกุม ปิดเพจและเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นระลอกเรื่อยมา

เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ฟุลเลอร์ตัน (California State University, Fullerton) ซึ่งเคยนำเสนอผลการศึกษาการ์ตูนการเมืองในเฟซบุ๊คเรื่อง ‘Reconfiguring Conversations in Politics with Facebook-Native Political Cartoon’ ในที่ประชุมเอเชียศึกษา ปี 2017 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

ในฐานะผู้ติดตามผลงานและศึกษาการ์ตูนนิสต์ในเมืองไทย เพ็ญจันทร์จะช่วยตอบคำถาม อธิบายเอกลักษณ์และวิธีการสื่อสารที่มีเสน่ห์ของ ‘ไข่แมว’

ทำไมต้องเป็นการ์ตูนการเมือง

การนำเสนอการ์ตูนล้อการเมืองมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ในประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ หรือศตวรรษที่ 19 ในอเมริกา คนอาจจะมองข้ามว่าการ์ตูนอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นสีสัน แต่ในอดีต การ์ตูนล้อการเมืองมีผลด้านการสร้างความสามัคคีในยุคที่อเมริกากำลังจะลุกขึ้นแข็งข้อต่ออังกฤษ เช่น กรณีที่ โธมัส แนสต์ (Thomas Nast) วาดภาพนักการเมืองเป็นนกแร้งกำลังทึ้งการคลังของนิวยอร์ค

นักการเมืองที่โดนล้อถึงกับออกปากว่า เขาไม่ค่อยสนใจว่านักการเมืองเขียนอะไร เพราะคนส่วนใหญ่ที่เลือกเขาอ่านหนังสือไม่ออก แต่พวกเขาเข้าใจภาพการ์ตูน

ในเมืองไทยเองก็มีนักเขียนการ์ตูนล้อที่วิพากษ์สถานการณ์บ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ตัวอย่างเช่น นักวาดการ์ตูนที่ใช้ชื่อว่า ‘แก่นเพชร’ ที่เสียดสีสังคมในยุคนั้นในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง

ตัวอย่างการ์ตูนการเมืองไทยในอดีต ที่มา: บางกอกการเมือง ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2466

ในสมัยนี้ การ์ตูนล้อก็ทำหน้าที่วิพากษ์สังคม อาจจะเสียดสี เช่น การ์ตูนล้อ โดนัลด์ ทรัมป์ ใน The New Yorker บางทีล้อเลียนจนทำให้บางคนทนไม่ได้ เช่น กรณี Charlie Hebdo ที่ล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด จนกลายเป็นชนวนแห่งความโกรธและแค้น มีคนสองคนบุกเอาปืนไปยิงสำนักงานใหญ่ในปี 2015

เสน่ห์ในการสื่อสารของ ‘ไข่แมว’

การ์ตูน ‘ไข่แมว’ เป็นการ์ตูนที่ทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทางเฟซบุ๊คโดยเฉพาะ ทำให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับการเมือง โดยอาศัยภาพ โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ภาพการ์ตูนสี่ช่องที่ไม่มีข้อความนี้ทำให้เกิดบทสนทนารูปแบบใหม่ กับคนอื่นๆ แบบสั้นๆ บางทีก็ไม่ปะติดปะต่อ หรือเป็นเหตุผล แล้วแต่ว่าใครอยากจะเข้ามาคุย หรือแสดงความเห็น หรือความรู้สึก ความคับข้องใจ ฯลฯ

บางทีผู้ติดตามเพจอาจจะช่วยตีความอธิบายสิ่งที่เห็น และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ ที่เห็นได้ชัดคือกรณี นาฬิกาหลายๆ เรือนบนข้อมือตัวการ์ตูนคล้ายนายพลท่านหนึ่ง แต่ละภาพที่ไข่แมวนำเสนอ ดูจะล้อสะท้อนสถานการณ์เหตุการณ์ หรือข่าวที่เกิดขึ้น และเป็นการล้อเลียนผู้มีอำนาจหรืออยู่ในกระแสข่าว ในบางครั้งเกิดขึ้นรวดเร็วหลังจากมีข่าวออกมาไม่กี่ชั่วโมง ถ้าไม่ได้ติดตามข่าวจะไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร มีหลายคนตั้งใจอ่านคอมเมนต์เพราะต้องการเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เรียกว่ารู้ข่าวเพราะการ์ตูนไข่แมวก็มี ขณะที่บางคนอาจจะสนุกกับการหา ‘ทักกี้’ ที่แอบซ่อนอยู่ในภาพ

ที่น่าสนใจคือการสั่นคลอนผู้มีอำนาจด้วยการล้อเลียน ในช่วงเวลาที่การวิพากษ์โดยตรงหรือการแสดงออกทางการเมืองโดยวิธีอื่นหยุดชะงักไป การที่เราเห็นเป็นการ์ตูน มันเป็นการสลับอำนาจที่คนธรรมดาสู้กับคนมีอำนาจด้วยการวิพากษ์ในลักษณะที่ทำให้เป็นสิ่งที่ตลก บางทีพิลึก

เหตุผลอาจไม่ใช่แรงส่งทางการเมือง

การสื่อสารแบบคอมเมนต์สั้นๆ อาจไม่ได้เป็นการสื่อสารอย่างเป็นทางการหรือสละสลวย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี เราจะพูดอะไรสั้นๆ เวลาส่งข้อความ text หรือคนไทยอาจจะไลน์หากัน รูปแบบคือ ‘สั้น’ หรือบางทีก็ใช้อีโมติคอน

ถามว่าเป็นการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จไหม ก็ขึ้นอยู่กับเราเข้าใจว่าความสำเร็จคืออะไร ส่งต่อความหมายได้สำเร็จ หรือทำให้คนคุยกันจนเป็นกระแส เช่น สิ่งที่เป็นกระแสการเมืองอยู่ ณ ขณะนั้น นี่เป็นจุดที่แยกออกมาจากความเข้าใจว่าการจะศึกษาการสนทนาเรื่องการเมืองต้องเป็นการสนทนาในแบบที่มีเหตุมีผล หรือเป็นลักษณะที่สามารถโน้มน้าวอีกฝ่ายด้วยเหตุผล

สิ่งที่น่าศึกษาคือการสื่อสารในโซเชียลเปลี่ยนไป การโน้มน้าวจิตใจคนไม่ได้อยู่แต่ในหลักเหตุผลอย่างเดียว มันมีอย่างอื่นที่สามารถทำให้คนคล้อยตามได้ และไม่ได้จำกัดอยู่แค่เหตุผล ซึ่งก็มีนักวิชาการอย่าง แลนซ์ เบนเน็ตต์ (Lance Bennett) เสนอว่า อาจเกิดจากเวลาเราเห็นคนใกล้ตัว เพื่อน หรือคนในเครือข่ายเรา พูดอะไร หรือทำอะไร เช่น ออกไปประท้วง

วิธีจัดการการ์ตูนนิสต์

มีข้อสงสัยกันมากเรื่องการที่ ‘ไข่แมว’ อาจโดนอุ้มตัวไป สิ่งที่อยากจะบอกคือ การต่อสู้กับคนมีอำนาจมีความเสี่ยงมากในประเทศที่กฎหมายไม่มีความยุติธรรม แต่หากเป็นประเทศที่ระบบกฎหมายยังทำงานอยู่ก็สู้กันไปทางกฎหมาย ถ้าเป็นเรื่องไม่จริงก็ฟ้องหมิ่นประมาทกันไป ประเทศที่ระบบยุติธรรมไม่ทำงานก็จะมีอะไรแบบนั้น

คือเฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแบบหนึ่งที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย มีข้อจำกัด มีจุดอ่อน ข้อความที่เผยแพร่กันไปก็มีทั้งจริงและไม่จริง แต่ประเด็นคือการที่เชื่อมกันเป็นเครือข่ายมันทำให้ความคิด ภาพ หรือข้อมูลที่คนหนึ่งเห็นกระจายไปวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว

ในอเมริกาก็เลยมีเรื่องข่าวปลอม ข่าวหลอก ที่เผยแพร่อยู่ในเฟซบุ๊ค ส่วนการคิดว่าจะทำอะไรดีเพื่อต่อต้านรัฐนั้น ตอนนี้ลักษณะของการต่อต้านรัฐเป็นในรูปแบบของแต่ละบุคคลที่จะคิดอะไร และหลายครั้งเป็นการขัดขืนอำนาจรัฐแค่เพียงเขียนข้อความหรือเป็นแฮชแทคตอบโต้คนมีอำนาจ เปิดโอกาสให้คนร่วมโพสต์ หรือทวีต และติดแฮชแทคได้

พลังแห่งการสื่อสารของ ‘ไข่แมว’

อย่างแรก มันต่างจากการ์ตูนหนังสือพิมพ์ เพราะภาพที่เห็นไม่ได้อยู่แค่หน้าจอของเพจแล้วนิ่งอยู่อย่างนั้น ฟังก์ชั่นของเฟซบุ๊คที่ทำให้คนคอมเมนต์ และเผยแพร่โดยการแชร์ บางทีก็แคปภาพไปแชร์ที่อื่น อาจจะไปตัดต่อล้อเลียนเพิ่ม แบบติดอันดับของ ‘Know Your Meme’ แบบโกอินเตอร์ไปก็มี หรือนำไปเป็นภาพ ความเห็นทางการเมืองในช่องทางอื่นๆ

การ์ตูนเฟซบุ๊คนี้มีลักษณะเหมือนมีม (meme) ที่สามารถจะถูกส่งต่อหรือเก็บไปเผยแพร่เหมือนกับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ การ์ตูนไข่แมวทำให้เกิดลักษณะที่เหมือนแฟนคลับ คนเกือบครึ่งล้านติดตาม

การสื่อสารทางภาพมีเสน่ห์ตรงที่มันสื่อกับเราโดยทางความรู้สึก ไม่ได้โดนกำหนดโดยข้อความ และความรู้สึกที่เรามีต่อภาพบางทีมันเร้าอารมณ์บางอย่าง อาจจะอยากขำ อยากแชร์ อยากเผยแพร่ โดยที่บางทีอาจจะไม่ได้สนใจว่าวิพากษ์อะไรก็ได้ แต่ชอบเพราะสี ลายเส้น อยากเห็นว่าซ่อนทักกี้ไว้ตรงไหน จะอินหรือไม่อินกับการเมืองก็ได้

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า