‘เลือกตั้ง’ ต้อง free และ fair

ถึงนาทีนี้ แม้จะมีความเคลือบแคลงสงสัยในการประกาศวันเลือกตั้งจากทั้งเลขาธิการ กกต. และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทว่ากระแสข่าวการเมืองล้วนมุ่งไปในทิศทางที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปีหน้าอย่างไม่บิดพลิ้วเหมือนในทุกๆ ครั้งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เคยประกาศ

ดังนั้น คำถามนับจากนี้จึงไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่อีกต่อไป แต่เป็นคำถามที่ว่า การเลือกตั้งในปีหน้านี้นั้นจะมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และมีความเสมอภาคต่อทุกพรรคการเมืองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไรหรือไม่ต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและมีผลในทางปฏิบัติ’ หรือ Free, Fair & Fruitful Election (FFFE) จึงจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย’ โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ภาคประชาชน และภาคพรรคการเมือง

ภราดร ปริศนานันทกุล

เมื่อใกล้เข้าสู่ฤดูกาลการเลือกตั้ง ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า 7 ตัวแทนพรรคการเมืองในวงเสวนา มีแนวคิดและมุมมองอย่างไรต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดย ภราดร ปริศนานันทกุล ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้กล่าวว่า

“ผมคิดว่าทุกอย่างวนกลับมาเหมือนเดิมแบบเมื่อ 45 ปีก่อน (ปี 2516) ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ผลพวงของการรัฐประหาร สถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย เราอยู่ในสถานการณ์ที่เผด็จการครองเมืองเหมือนครั้งที่แล้ว แม่จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนาน แต่ผมเชื่อว่าด้วยพลวัตของโลก 5 ปีนี้ ยาวนานกว่า 15 ปีสมัยก่อน ผมเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ชัยชนะตกเป็นของประชาชน วันนี้ผมหวังจะเห็นชัยชนะตกเป็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง”

ภราดรกล่าวต่ออีกว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น วันนี้พวกเราไม่ต้องไปคาดหวังหรอกว่าเราจะเห็นกติกาใดๆ ที่เป็นธรรมและยุติธรรม เนื่องจากมันถูกเขียนขึ้นจากฝ่ายเผด็จการ เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางที่จะเป็นธรรมอยู่แล้ว” และย้ำว่า การต่อสู้ของประชาชนคือการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลสมัยใดก็ตาม

“สิ่งที่ผมอยากจะเรียกร้องก็คือ เราอยู่ในสถานการณ์กีฬาสีในหลายปีที่ผ่านมา ผมไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนั้น เราต้องอยู่บนหลักของประชาธิปไตย ไม่ใช่เลือกข้างหรือพวกที่เราสนับสนุน”

ราเมศ รัตนะเชวง

จากนั้น ราเมศ รัตนะเชวง ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ กกต. ลืมเรื่องราวเมื่อครั้ง คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลด กกต. ชุดเดิมไปเสีย แล้วมาตั้งหลักใหม่ ในฐานะที่เป็นคนกลาง เป็นองค์กรอิสระที่จะนำพาการเมืองไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียม เสรี และเป็นธรรมต่อทุกพรรคการเมือง

“ไม่ว่ากฎเกณฑ์ กติกา จะเป็นอย่างไร การกระทำของ คสช. จะเป็นอย่างไร เรา ในฐานะนักการเมือง เราพร้อมที่จะสู้ตามเกมกติกา ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบธรรม ซึ่งผมมีเหตุผลอธิบายครับ เหตุผลที่ต้องต่อสู้คืออะไรครับ? เพราะผมเชื่อว่าผู้ที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เราพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า พร้อมที่จะก้าวไปสู่คำว่าประชาธิปไตย

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดครับ แม้นคำว่าประชาธิปไตยดูจะเป็นเพียงแสงริบหรี่ที่อยู่ปลายอุโมงค์ หรืออยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ที่ห่างไกลออกไป เราก็เชื่อเช่นกันว่าจะมีหลายคนที่ต่อสู้ และก้าวไปเพื่อที่จะจุดไฟประชาธิปไตยให้ลุกโชน เพื่อพี่น้องประชาชน และเพื่อประเทศชาติ”

 

โค้งสุดท้ายของ คสช.

ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่​ อดีตอาจารย์​คณะนิติศาสตร์​ธรรมศาสตร์​ ปิยบุตร​ แสงกนกกุล​ กล่าวถึงประเด็นบทบาทของ กกต. ในการจำกัดบทบาทของพรรคการเมือง โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายและขาลงของ คสช. โดยปิยบุตร​เรียกร้องให้ฝ่ายองค์กร​อิสระและข้าราชการ​ออกมาแสดงบทบาทเพื่อยืนข้างฝ่ายเดียวกับประชาธิปไตย​

“ประเทศไทย​ กฎหมายพรรค​การเมืองใช้ระบบอนุญาต​ ไม่ใช่ระบบเสรีภาพ​ ระบบอนุญาตหมายถึงว่า เมื่อรวมตัวกันแล้ว ​ท่านเอาเอกสารไปยื่นกับ กกต. จึงจะได้รับอนุญาตให้ท่านตั้งพรรคได้​ พรรคอนาคตใหม่นับตั้งแต่การประชุมพรรคใช้เวลาทั้งสิ้น​ 97 วัน กว่าจะได้ตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ​ นี่คือระบบอนุญาต​ที่ไม่ใช่ระบบเสรีเหมือนอย่างประเทศอื่น”

ปิยบุตร​ยังมองว่า กฎหมายพรรคการเมืองเต็มไปด้วยอุปสรรคต่อการตั้งพรรคเล็ก​และพรรคเกิดใหม่​ ขณะเดียวกัน พรรคที่ก่อตั้งมาก่อนก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรค​ ทำให้เป็นกฎหมายตำรวจพรรคการเมือง มากกว่าจะเป็นกฎหมายพรรคการเมืองตามหลักการประชาธิปไตย​

ปิยบุตร​ แสงกนกกุล

ขณะที่บทบาทของ กกต. ปิยบุตรมองว่า ยังคงยึดติดระบบคิดแบบข้าราชการที่ดูจะสวนทางกับแนวทางพัฒนาประเทศ​ 4.0 ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระดาษในการทำเอกสารต่างๆ​ การไม่อนุญาตจำหน่ายสินค้าออนไลน์เพื่อระดมทุนเข้าพรรค​ รวมไปถึงการระดมเงินบริจาค เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน ​ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ยังล้าหลัง​ แม้จะมีท่าทีปรับเปลี่ยน​ แต่ก็ยังไม่เห็นว่าความพยายามนี้จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562

“ยิ่งไปกว่านั้น ความกล้าหาญในการทำงานของ กกต. ตอนนี้ยิ่งลดน้อยถอยลง​ เพราะเมื่อคุณตั้งใจจะทำอะไรเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง​ คุณเงยหน้าขึ้นไปเจอ คสช. คุณก็ถดทันที​ สุดท้ายอุปสรรคสำคัญที่สุดคือตัว คสช.​ เอง​ ​ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่​ 22​ พฤษภาคม​ 2557​ เมื่อ คสช. เข้ามายึดอำนาจ​ ฉีกรัฐธรรมนูญ ​แล้วตั้งตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์​ ออกรัฐธรรมนูญ​ขึ้นมาใช้เอง​ ออกคำสั่งต่างๆ​ แล้วเสกให้เป็นกฎหมาย​ ​โดยคำสั่งต่างๆ​ เหล่านี้มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก​ นี่คืออุปสรรคเริ่มต้น​”

ไม่เพียงแต่การออกกฎหมายที่กลายมาเป็นอุปสรรค ​ปิยบุตรยังมองว่าการยึดอำนาจของ คสช. ที่ยาวนานจนเข้าสู่ปีที่ 5 โดยไม่มีการกลับไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว และยังมีความพยายามสืบทอดอำนาจด้วยการกำหนดให้มี สว. จากการแต่งตั้ง​ 250 คน ซึ่งมีอำนาจในการเสนอชื่อนายกฯ นอกจากนี้ยังไม่นับการเปิดช่องทางให้มีนายกฯ ​คนนอก​ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์​ชาติ​ 20 ปี​ และ คสช. เองยังตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อสืบทอดอำนาจ​

เมื่อหันกลับไปมองบทบาทของ กกต. ปิยบุตร​เรียกร้องให้ กกต. ตลอดจนองค์กรอิสระ​และหน่วยงานราชการต่างๆ​ กลับเข้ามาอยู่ในร่องในรอย​ กลับมาอยู่ฝ่ายเดียวกับระบอบประชาธิปไตย

“ผมไม่ได้เรียกร้องให้ กกต. ต้องทำงานช้าง เพราะท่านต้องเผชิญหน้ากับ คสช. โดยตรง เพียงแต่ท่านควรใช้กฎหมายมือท่าน คือ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้เป็นคุณต่อพรรคการเมืองให้มากขึ้นเท่านั้น”

ศุภชัย ใจสมุทร

 

ไม่ free ไม่ fair

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นธรรมหรือไม่ และการเมืองหลังเลือกตั้งจะมีภาพออกมาเช่นไร เป็นคำถามที่อวลอยู่ในบรรยากาศงานเสวนาที่ถูกจัดขึ้นในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ตัวแทนพรรคที่ถูกมองว่าเป็นหมากสำคัญทางการเมืองไทยมาตลอด ศุภชัย ใจสมุทร ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งที่คนในพรรคได้หารือกันตั้งแต่มีการยึดอำนาจก็คือ เราจะเดินหน้าต่อ หรือว่าจะหยุด ถ้าหยุด แล้วใครจะร่วมกันฟันฝ่าในการกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย พรรคภูมิใจไทยจึงตัดสินใจเดินหน้า แม้ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นธรรม

“เรามุ่งหมายใฝ่ฝันที่จะกลับไปสู่การเมืองปกติ เรามีเป้าหมายว่าในที่สุดแล้ว ถ้ามีโอกาสเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เรามีแนวคิดที่จะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ในขณะเดียวกัน เราก็เน้นหนักในเรื่องการเมืองซึ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น และเราเห็นว่าวันนี้ที่เราคุยกัน บรรยากาศได้คลี่คลายลงไป”

มองไปยังการเลือกตั้ง ศุภชัยมีความเชื่อและเคารพในเกียรติยศของคนที่เข้ามาเป็น กกต. แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเรื่องความสุจริตเที่ยงธรรม ในขณะที่ประเทศกำลังคืบคลานเข้าสู่การเลือกตั้ง ศุภชัยพบว่าในองคาพยพบางส่วนอาจจะไม่ free และไม่ fair และทำให้เกิดการทุจริตการเลือกตั้ง

วันนี้กระบวนการการเลือกตั้งได้เริ่มขยับแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีผลกระทบกับตัวผู้สมัคร ทว่าศุภชัยมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การจัดแบ่งในบางเขตเลือกตั้งเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เช่น เขตเดิมที่ตนเป็น สส. ถูกตัดไปอยู่ในเขตเลือกตั้งอื่น นี่คือกระบวนการที่ทุกฝ่ายควรมาคุยกัน

“ดังนั้น ผมอยากฝาก กกต. ให้ท่านย้อนกลับไปคิดตรงนี้ และในอนาคต ผมเชื่อว่าอำนาจสูงสุดของประชาชนจะได้แสดงพลังอีกครั้งหนึ่ง”

อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์

ความท้าทายของพรรคเกิดใหม่

แม้ยังเป็นพรรคที่ไม่ได้รับการรับรองจาก กกต. แต่การเป็นตัวแทนจากสามจังหวัดชายแดนภายใต้เป็นเหตุผลสำคัญที่ อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ขึ้นเวทีเสวนาเพื่อกล่าวแทนเสียงของพี่น้องจากสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยอารีเพ็ญกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับที่แย่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมา

“เราอย่าปฏิเสธพลังของประชาชน เพราะว่าประเทศไทยไม่ใช่เป็นประเทศที่คนเชื้อชาติไทยสร้างชาติไทยตั้งแต่อยุธยาเพียงชนชาติเดียว มันมีหลายเชื้อชาติ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม สมัยกรุงแตกครั้งที่ 2 คนที่ช่วยเหลือให้เราได้รับเอกราชภายใน 6 เดือน คือเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ซึ่งประวัติศาสตร์ไม่ได้จารึก ในไทยนั้นประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ จะบอกว่าไทยคืออาเซียนก็ยังได้ เพราะฉะนั้นสังคมพหุวัฒนธรรมนั้นต้องควบคู่กับประชาธิปไตย สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีก็ต้องมีประชาธิปไตย และคนไทยทั้งประเทศต้องเข้าใจคำว่าพหุวัฒนธรรม”

วิรัตน์ วรศสิริน

ขณะที่ วิรัตน์ วรศสิริน จากพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งว่า เป็นความท้าทายที่พรรคใหม่ต้องเจอ

“เท่าที่ดูแล้ว การเลือกตั้งยังเป็นปัญหา ตั้งแต่อดีตมา ถ้าทหารได้มีอำนาจ เขาจะคิดว่าเขารักชาติมากกว่าคนอื่น เขารักประเทศมาก และจะต้องสืบทอดอำนาจ โดยผ่านการปฏิวัติเพื่อให้อำนาจอยู่กับเขาคนเดียว เขียนรัฐธรรมนูญ ตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และโกง ต้องโกง ไม่โกงก็ไม่ชนะ สุดท้ายจึงชนะและสืบทอดอำนาจ การปฏิวัติมีเรื่อยมาจนมาถึงครั้งนี้ ดังนั้น ผมคิดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่การเมืองสกปรกมาก ต้องให้ท่านเสรีพิศุทธิ์ (พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) มากวาดล้างสักที ผมว่าการเมืองจะสะอาดขึ้นเยอะ”

 

อนาคตพรรคการเมือง อนาคตประชาธิปไตยไทย

สุดท้าย พรรคการเมืองซึ่งเป็นที่จับตาจากทุกฝ่ายว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกยุบพรรคมากที่สุด จาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน มองประเด็นความสุ่มเสี่ยงที่พรรคเพื่อไทยจะถูกยุบเอาไว้ว่า “ถ้าพรรคเพื่อไทยถูกยุบ​ ผม​จะชวนอาจารย์​ชูศักดิ์​ (ชูศักดิ์ ศิรินิล) ที่ปรึกษากฎหมาย​ ท่านเลขาธิการพรรค ไปนั่งที่ไหนสักที่แล้วประกาศเชิญชวนประชาชนที่มีใจรักประชาธิปไตยหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีเจตนารมณ์​ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ทุกรูปแบบ

“เรื่องที่น่าเป็นห่วงของการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องที่จะยุบพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเรื่องของการรัฐประหารไม่ให้เสียของ​ เป็นเรื่องของการทำอย่างไรไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล​ แต่เรื่องนั้นยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับการที่เขาพยายามทำให้การเลือกตั้งทั้งหมด​ ระบบพรรคการเมืองทั้งหมด ไม่ให้มีความหมายสำหรับประชาชนในการเป็นผู้บริหารประเทศ”

จาตุรนต์ ฉายแสง

หากมองไปถึงอนาคตการเมืองไทย จาตุรนต์มองว่าเนื่องจากพรรคการเมืองถูกทำให้เล็กลง มีสมาชิกน้อยลง พรรคการเมืองไม่สามารถสื่อสารกับสมาชิกและประชาชนได้ และไม่สามารถทำนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้ เพราะสิ่งที่ คสช. กลัวที่สุดคือกระบวนการที่ประชาชนสามารถกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศผ่านพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

“การเลือกตั้งทั่วโลกมีไว้เพื่อป้องกันการขัดแย้ง แต่การเลือกตั้งในไทยกำลังถูกทำให้กลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งรุนแรง ทำให้ คสช. และพวกใช้การเลือกตั้งมาเป็นเครื่องมือในการรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. ดังนั้นที่เรารอกันมาเกือบ 5 ปีนั้น อย่าให้เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนไม่มีข้อมูลอะไรเลย อย่างนี้แล้ว ท่านทั้งหลายจะปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายแบบนี้หรือไม่ ถ้าไม่แล้ว สิ่งที่จะต้องทำคือ การร่วมกันผนึกกำลังเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม มีความหมาย เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในอารยประเทศ”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า