สถาบันศิลปะอยู่ตรงไหนในใจประชาชน

“ความจริงแล้ว ไม่ใช่แค่เมืองที่สร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาโดยหวังเพียงว่าจะงอกเงยเป็นความสำเร็จ แต่เมืองที่ประสบความสำเร็จนั้นคือเมืองที่วางรากฐานให้กับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์พอจะเติมเต็มพิพิธภัณฑ์นั้น ควบคู่ไปกับการก่อร่างสร้างมันขึ้นมาต่างหาก”

คัดย่อจากบทความโดย Deyan Sudjic จากหนังสือ The Language of Cities1

สถาบันศิลปะ หรือหอศิลปวัฒนธรรมประจำประเทศหรือท้องถิ่น เป็นเหมือนหัวใจในการขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมในสังคมนั้นให้ไปข้างหน้า ไม่เพียงแต่เป็นสถาบันที่เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ แต่ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรม รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ทำงานสร้างสรรค์สามารถประคับประคองตนเองได้ ทั้งยังเปิดให้มีพื้นที่ในการพูดคุย ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมในสังคมนั้นได้ พื้นที่จัดแสดงเหล่านี้ เป็นราวกับที่กักเก็บและเผยแพร่ประวัติศาสตร์ของประเทศ ทั้งในระดับชาติไปจนถึงระดับปัจเจก หากมองประวัติศาสตร์เป็น timeline ที่เกิดจากการผลรวมของเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว สถาบันทางศิลปะอยู่ตรงไหนในสมการของการเขียนประวัติศาสตร์นี้?

หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ราชวังถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะ กักเก็บผลงานศิลปะที่สะท้อนประวัติศาสตร์ชาติของฝรั่งเศส และเปิดให้ประชาชนได้ชมในปี 1793 มาจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์นั้นเรารู้จักกันในนาม พิพิธภัณฑ์ลูฟร์

เดือนกันยายนปี 2014 หอศิลป์ในเมือง Diyarbakir ในประเทศตุรกีได้ปลดผลงานภายในห้องจัดแสดงทั้งหมด และเปิดให้ผู้ลี้ภัยจากอิรักตอนเหนือและซีเรียที่เดินทางโดยเท้าข้ามเทือกเขาทางตอนเหนือของซีเรีย เพื่อเข้ามาพำนักในตุรกี หอศิลป์แห่งนี้ มิได้เป็นภาพแทนของชาติ แต่เป็นที่พึ่งพิงของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากชาติที่ล่มสลาย2

ปี 2019 กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร The Lebanese Association for  Plastic Art หรือ Ashkal Alwan ได้ออกประกาศเลื่อนการจัดโปรแกรมที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17-27 ตุลาคม 2019 ท่ามกลางการประท้วงใหญ่ที่ลากยาวตั้งแต่ปี 2019-2020 หรือรู้จักกันในนามการปฏิวัติเดือนตุลาคม โดยให้เหตุผลว่า “พวกเราได้จับตาการประท้วงอย่างใกล้ชิด รวมถึงปรึกษากับเพื่อนร่วมงานและร่วมวงการ ทั้งจากสายงานทางกฎหมาย, สื่อ และศิลปวัฒนธรรม เพื่อการตัดสินใจที่ดีที่สุด เราสรุปได้ว่า ไม่มีเหตุผลใดที่จะรู้สึกเสียดายหรือเสียใจต่อการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดนี้” ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “See you on the street” หรือ “เจอกันบนถนน” 

วันที่ 16 ตุลาคม 2020 กรุงเทพมหานคร ตำรวจเริ่มใช้ความรุนเรงต่อผู้ชุมนุมด้วยการยิงน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตา กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่นลงมาจนถึงหน้าห้างมาบุญครองและหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทุกคนต่างหนีออกทางตรอกซอกซอยและหลบไปพักอยู่ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เหตุการณ์นี้เกิดคำถามว่า ทำไมหอศิลป์ที่เรียกตัวเองในฐานะ หอศิลป์ของประชาชน กลับไม่มีประชาชนคนไหนไว้ใจที่จะเข้าไปหลบในเวลาที่เกิดอันตรายเลย กระแสส่วนใหญ่กลับเอนไปทางการไปหลบภัยในรั้วจุฬาฯ หรือพื้นที่เอกชนเสียมากกว่า มิหนำซ้ำยังมีภาพรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาใช้พื้นที่หอศิลป์เพื่อจอดหน้าทางเข้าหอศิลป์อีก

หลังจากวันนั้น ตอนดึก มีโพสต์ของพนักงานหอศิลป์อย่างไม่เป็นทางการ ชี้แจงต่อเหตุการณ์ ดังนี้ 

“พี่ๆ พนักงานหอศิลป์แจ้งว่าเข้าไปหลบในหอศิลป์ได้นะคะ”

ตอนที่การประท้วงถูกสลายไปเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายกำลังไปจนถึงสะพานหัวช้างเรียบร้อยแล้ว

หรือแม้แต่โพสต์เฟซบุ๊คที่กล่าวว่า

“ก่อนปิดตึกมีเจ้าหน้าที่ ตร. ประสานมาขอที่จอดรถและขอให้เจ้าหน้าที่บางส่วนได้มีจุดพักรับประทานอาหารระหว่างเปลี่ยนเวร เราก็ให้อยู่บริเวณรอบตัวอาคารอย่างที่เห็นในภาพที่ว่อนในโซเชียลจริง นั่นเป็นเรื่องปกติ เหมือนที่รถนักข่าวและของประชาชนที่มาชุมนุมก็เข้ามาจอดอยู่ในลานจอดด้านล่าง (กว่าจะออกได้ร่วม 5 ทุ่ม) และเมื่อปิดตึกงดให้บริการแล้วมีน้องๆ และประชาชนที่กระสานซ่านเซ็นจากปฏิบัติการฉีดน้ำอันน่าทุเรศทุรังของฝ่าย ตร. แตกกระเจิงมา เราก็ช่วยกันโบกมือให้เข้ามาพัก เข้ามาหลบภัย ถ้ามีคนขอเข้ามาใช้ห้องน้ำ เราก็เปิดช่องทางให้เข้ามาใช้ได้”

หากแต่สิ่งที่ประชาชนต้องการจากหอศิลป์ มิใช่คำยืนยันจากพนักงานที่ไม่เป็นทางการ แต่คือความเชื่อมั่นว่าหอศิลป์ที่พวกเขาเองก็เป็นเจ้าของ ยึดหลักมนุษยธรรมและเสรีภาพในการแสดงออก เฉกเช่นผลงานศิลปะที่แสดงอยู่ในนั้น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็จากปากเสียงของ ศิลปิน นักศึกษา และประชาชน ที่ประท้วงต่อต้านการนำอาคารไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในสมัยผู้ว่า กทม. สมัคร สุนทรเวช จนได้เปิดอาคารในปี พ.ศ. 2551 จวบจนปัจจุบัน หอศิลป์กรุงเทพฯ ได้จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยที่ดังในระดับสากลหรือแม้แต่ศิลปินต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง3 ศิลปะแทบจะเป็นปราการด่านแรกของเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกโดยตรงหรือโดยนัย ทั้งที่หอศิลป์ได้รับผลประโยชน์จากความช่วยเหลือของประชาชน ในเวลานี้ ทำไมหอศิลป์จึงไม่ยืนหยัดอยู่ข้างความเป็นธรรมนี้เลย มิหนำซ้ำ ยังไม่เป็นที่ไว้ใจต่อประชาชนถึงความปลอดภัยด้วยซ้ำ

ที่ตลกร้ายไปกว่านั้นก็คือ หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในสถานที่หลักในการจัดงานเทศกาล Bangkok Art Biennale 2020 โดยธีมของปีนี้ก็คือ Escape Route หรือชื่อไทยคือ ‘ศิลป์สร้างทางสุข’ ซึ่ง

“มีที่มาจากสถานการณ์ความวุ่นวายในปัจจุบันที่กำลังรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน มาร่วมกันทำความเข้าใจ และปรับตัวให้อยู่รอดได้ในวังวน ที่ไม่น่ารื่นรมย์เหล่านี้ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ พยายามที่จะใช้ศิลปะช่วยในการนำพาออกจากเขาวงกตที่เต็มไปด้วยอุปสรรค”4

ฉันอยากจะหัวเราะทั้งน้ำตาให้กับความพอดิบพอดีนี้ ที่ไม่มีใครกล้าวางใจให้หอศิลป์เป็น ‘Escape Route’ ของพวกเขาเลย และแม้ว่าจะมีศิลปินที่ร่วมแสดงใน Bangkok Art Biennale 2020 จำนวนหลายคนได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 21 ตุลาคม 2020 ประณามความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อผู้ชุมนุม แต่จนวันนี้ก็ยังไม่มีแถลงการณ์ที่เป็นทางการจากหอศิลป์กรุงเทพฯ กรณีเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลาคมเลยแม้เพียงคำเดียว

หนึ่งในศิลปินที่ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงนี้ ก็คือ Ai Weiwei ที่มีผลงานจัดแสดงอยู่ที่ชั้น 9 ของหอศิลป์เอง น่าสงสัยเหลือเกินว่าหอศิลป์จะรู้สึกอย่างไร ที่เวลานี้มีผลงาน Law of the Journey, 2017 เรือยางสีดำขนาด 60 เมตร ที่ขนหุ่นผู้ลี้ภัยไร้หน้าตาสีดำ และผลงาน Odyssey ขนาดใหญ่ แสดงประวัติศาสตร์การลี้ภัยและการถูกกดขี่ในรูปแบบภาพเขียนฝาผนังสไตล์กรีก-โรมันของ Ai Weiwei ศิลปินชาวจีน จัดแสดงอยู่

Law of the Journey, Reinforced PVC, 2016

Ai Weiwei สร้างผลงานนี้จากภาพผู้อพยพที่ตามหาความปลอดภัยจากพื้นที่ที่พวกเขาลี้ภัยออกมา เรือยางลอยเคว้างกลางทะเล ไม่มีความแน่นอนว่าเมื่อถึงฝั่งแล้ว จะมีที่ใดโอบรับพวกเขาไว้ หรือจะต้องลอยคออยู่อย่างนั้น ตลกร้ายเข้าไปใหญ่ เมื่อภาพวาดบนฝาผนังนั้น เป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ข้างนอก กลุ่มผู้ประท้วงวิ่งหนีความรุนแรง ตำรวจถือโล่และกระบอง รถน้ำถูกใช้ในการฉีดไล่ต้อนประชาชน ในขณะที่ผลงานจัดแสดงภายในหอศิลป์เน้นย้ำความเป็นธรรมต่อเพื่อนมนุษย์อย่างหนักแน่น ทำไมหอศิลป์เองกลับไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเรือยางที่นำพาความปลอดภัยมาให้ประชาชนในชาติได้อย่างที่ควรจะเป็น หากเรียกภาษาวัยรุ่น ฉันคงใช้คำว่า “มันก็จะเขินๆ หน่อย” ในการอธิบายความรู้สึกนี้

Odyssey, Wallpaper, 2015

เวลานี้ประชาชนมิได้มองหาความสามารถในการแสดงออกอย่างแยบยล หรือการ ‘อยู่เป็น’ ในแง่การเมืองของหอศิลป์ แต่สิ่งที่ประชาชนเรียกหามากที่สุดคือมนุษยธรรม เวลานี้หอศิลป์ไม่สามารถอ้างได้แล้วว่าตนเองเป็นกลาง ในเมื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นขัดต่อมนุษยธรรมโดยตรง มิใช่การเลือกสนับสนุนการเมืองฝ่ายใด แต่เป็นการเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นตรงหน้า ‘บ้าน’ ของตัวเองโดยตรง

ย้อนกลับไปไม่นาน หอศิลป์ออกแถลงการณ์ว่าอยู่ในสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ ไม่สามารถจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้ เนื่องจากโดนตัดงบโดยทางการกรุงเทพมหานคร ไม่นานนักประชาชนต่างออกมา #saveหอศิลป์ และหาทางช่วยให้หอศิลป์ ‘ของประชาชน’ อยู่รอด แต่ในเวลาที่ประชาชนต้องการที่พักพิง 

เพราะเหตุใดสิ่งที่ได้กลับมาจากหอศิลป์กลับเป็นความเงียบงันและความเฉยเมยนี้ ฉันขอย้ำอีกครั้ง ว่าไม่มีคำแถลงการณ์แม้แต่ตัวอักษรเดียว ไม่มีแม้แต่คำขอโทษ หรือการยืนหยัดเพื่อประชาชนจากคณะกรรมการหอศิลป์เลยสักคำเดียว สิ่งเดียวที่ฉันเห็น กลับเป็นการเฉลิมฉลองที่จัดโดยกลุ่มทุนที่หนุนหลังหอศิลป์ และเก็บค่าเข้าชมต่อผู้มางานเลี้ยงนั้น

แม้เหตุการณ์นั้นได้ผ่านมาเป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว และความไว้วางใจที่เสียไปก็ยากจะเรียกกลับมาได้ แต่ประวัติศาสตร์บทนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบง่ายๆ ยุคสมัยเปลี่ยนไปทุกวันเฉกเช่นศิลปะที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประชาชนจะกลับมาไว้วางใจหอศิลป์ได้ นอกจากการกระทำของหอศิลป์เอง มิเช่นนั้นแล้ว คุณค่าของผลงานศิลปะที่หอศิลป์จัดแสดง ก็เป็นเพียงแค่ของประดับตกแต่งราวกับผักชีโรยหน้าให้กับการปกครองที่ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่การสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่เสรีภาพในการแสดงออก ผลงานที่จัดแสดงอยู่ภายในหอศิลป์คงเป็นเพียงความลักลั่นและลมปากไร้น้ำหนัก หากองค์กรหอศิลป์เองไม่สามารถยืนหยัดในความหมายของผลงานได้ แล้วประชาชนจะเข้าใจในคุณค่าของผลงานได้อย่างไร ท้ายที่สุดหอศิลป์เองก็คงทรยศต่อพันธกิจที่ตนได้ตั้งไว้ข้อแรกโดยตรง ซึ่งพันธกิจนั้นกล่าวว่า

“ขับเคลื่อนให้ประชาชนเข้าใจคุณค่าและความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่นไปจนถึงบริบทของโลก”5


เชิงอรรถ
  1. หนังสือ Language of Cities โดย Deyan Sudjic ตีพิมพ์ครั้งแรกวันที่ 28 พฤศจิกายน 2016 
  2. อ้างอิงจากบทความ Duty Free Art โดย Hito Steryl ตีพิมพ์ใน journal #63 นิตยสาร eflux ในปี 2015
  3. ความเป็นมาของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อ้างอิงจากเว็บไซต์ bacc.or.th
  4. Curatorial Text เกี่ยวกับ Bangkok Art Biennale: Escape Route โดย ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ 
  5. พันธกิจหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อ้างอิงจากเว็บไซต์ bacc.or.th

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า