วันที่ 25 พฤษภาคม ขบวนเครือข่ายประชาชนคัดค้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่ม ยังคงปักหลักอยู่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) หลังจากยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลจากการเรียกร้องให้ยุติการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … แม้จะมีตัวแทนจากภาครัฐออกมาเจรจา และรับข้อเสนอ แต่กลับไร้ความคืบหน้า
ภายในพื้นที่ชุมนุมมีการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง และกิจกรรมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดค้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่ม อาทิ กิจกรรมเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำที่ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว ปิดท้ายด้วยวงเสวนาหัวข้อ ‘ภาคประชาชนทำงานอย่างไร ทำไมต้องรับทุนไทย-ต่างชาติ’ โดยผู้ทำงานในองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) และกลุ่มที่ทำงานภาคประชาชน ได้แก่ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ร็อคเก็ตมีเดียแล็บ จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ และ สุลักษณ์ หลำอุบล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
หยุดวาทกรรมป้ายสี
ธารา เริ่มกล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยเคยมีความหวังอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเหมือนเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ หรืออยากให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมขององค์การระหว่างประเทศในด้านต่างๆ แม้แต่การเข้ามาขององค์การสหประชาชาติ ก็มีการช่วงชิงกันระหว่างประเทศในภูมิภาค
“คนที่มีตรรกะว่า NGO หรือชาวบ้านกลุ่มนั้นกลุ่มนี้รับเงินต่างชาติมาทำลายประเทศ ผมว่ามันเป็นตรรกะของพวกไดโนเสาร์ พวกโคตรจารีตนิยม เป็นความคิดที่ถูกสร้างขึ้นและถูกบ่มเพาะอยู่ในสังคม ผมคิดว่าสังคมไทยโดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองก็จะมีภาพจำของ NGO ไม่ว่าจะเป็นกรีนพีซ หรือองค์กรใดก็ตามที่มาทำงานในประเทศไทยว่าเป็นองค์กรที่ไม่เป็นที่ต้องการของประเทศไทย เพราะชอบไปขัดขวางโครงการต่างๆ ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปไม่ได้
“วันก่อน คุณวิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) พูดถึงเรื่องการรับเงินต่างชาติว่า กฎหมายทำลายการรวมกลุ่ม ถูกออกแบบเพื่อที่จะกำจัดองค์กรที่จะมาทำลายประเทศไทย ผมอยากจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า เราจะปิดประเทศหรือไง ในขณะที่รัฐบาลทุกยุค รวมทั้งรัฐบาลเผด็จการก็ฝันถึงการทำให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมของอะไรสักอย่างหนึ่ง รวมถึงศูนย์รวมของการทำงานกิจกรรม รวมถึงมีองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมันย้อนแย้งกับสิ่งที่อยู่ในกฎหมายฉบับนี้”
ธารา เล่าถึงเมื่อครั้งที่กรีนพีซเริ่มเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทย ต้องทำตามกฎหมายหลายฉบับที่มีอยู่ มิใช่สามารถทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องอยู่ภายใต้นิติรัฐของประเทศไทย ต้องส่งทั้งรายงานการเงิน รายงานกิจกรรม วันดีคืนดีก็มีสันติบาลหรือทหารมาเดินตรวจในสำนักงาน ซึ่งหมายความว่ารัฐสามารถเข้ามาตรวจสอบได้เสมอ
“คำว่า ‘เงินต่างชาติ’ มันตีความได้กว้างมาก เงินที่รัฐไปกู้มาก็เป็นเงินต่างชาติทั้งนั้น เงินไหลเข้าไหลออกจากองค์กรต่างๆ ที่ผู้เล่นไม่ใช่รัฐก็มีเยอะแยะไปหมด เป็นหมื่นองค์กรที่อยู่ในประเทศไทย เป็นทั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่างพวกเราที่ทำงานร่วมกับประชาชน ร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรม สมาคม หรือองค์กรทางวิชาการต่างๆ ที่ทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายต่อรัฐ ซึ่งก็มีความสำคัญในยุคที่ทั้งโลกติดต่อถึงกันหมด แต่กฎหมายฉบับนี้กลับต้องการมาปิดกั้น เหมือนจะให้เรากลายเป็นเกาหลีเหนือหรือจีน”
ธารา ย้ำว่าการทำงานของกรีนพีซสนับสนุนให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ แต่มักไปขัดกับกลุ่มผลประโยชน์ จนเป็นที่มาที่ทำให้เกิดวาทกรรมว่ารับเงินต่างชาติมาทำลายประเทศ ทั้งที่จริงบทบาทของกรีนพีซคือติดตามสอดส่อง ทำหน้าที่เหมือนหมาเฝ้าบ้าน กิจกรรมหลายอย่างที่กรีนพีซทำ เช่น การเปิดโปงกองเรือประมงของประเทศไทยที่ไปจับปลาในน่านน้ำสากล และใช้แรงงานทาสบนเรือ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้ประเทศไทยพ้นใบเหลืองจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU)
วาทกรรม ‘รับเงินต่างชาติ’ เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อซึ่งถูกนำมาป้ายสีหลายองค์กร รวมไปถึงกลุ่มชุมชนที่ยืนหยัดปกป้องทรัพยากรของตัวเอง ตั้งแต่สมัยสมัชชาคนจนที่ออกมาประท้วงเรื่องเขื่อนปากมูลก็ถูกกล่าวหาว่ารับเงินต่างชาติ หรือชาวบ้านสงขลาที่ต่อต้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ก็ถูกกล่าวหาเช่นกัน
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า NGO
จีรนุช กล่าวว่าอยากจะชวนทำเข้าใจก่อนว่า เมื่อพูดว่าองค์กรภาคประชาชนหมายถึงองค์กรแบบไหนบ้าง เพราะมีทั้งองค์กรที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศแล้วมาดำเนินงานจดทะเบียนในไทย กับองค์กรที่เกิดขึ้นและจัดตั้งในประเทศไทย
“สมัยที่เริ่มทำงานใหม่ๆ เวลาพูดถึงคำว่า NGO เราไม่รู้จักด้วยซ้ำ คนในสังคมไทยขณะนั้นไม่รู้จักว่า NGO คืออะไร ดีเอ็นเอของ NGO คืออะไร มีสิ่งมีชีวิตเป็นประเภทนี้ด้วยเหรอ สิ่งมีชีวิตที่บอกว่าไม่ได้ทำธุรกิจ ไม่ได้เป็นองค์กรรัฐ แล้วมันเป็นใคร แล้วทำทำไม อ๋อ…ถ้าอย่างนั้นมันต้องไม่ดีแน่เลย ต้องมามุ่งหวังทำลายประเทศไทย จึงเกิดวาทกรรมว่ารับเงินต่างชาติมาทำลายประเทศ
“ข้อหาใหญ่อีกอย่าง ก่อนที่จะมาถึงข้อหาหลังๆ ที่กล่าวหาว่าเป็นพวกล้มเจ้า ก็คือพวกขัดขวางการพัฒนา เป็นพวกที่ไม่ยอมให้ประเทศพัฒนา เพราะว่าจริงๆ มันกำเนิดมาจากกลุ่มคนหนุ่มสาวตั้งแต่สมัย 6 ตุลาฯ ที่ทำงานในลักษณะอาสาสมัคร แต่ทำแค่นั้นยังไม่พอ เพราะงานหลายอย่างต้องการความต่อเนื่อง เจาะลึก และลงไปฝังตัว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีรูปแบบขององค์กรที่ทำงานเต็มเวลา และตามมาด้วยไอเดียเริ่มต้นว่า NGO มีเงินเดือนสูงไม่ได้ เพราะทำงานสาธารณะ สมัยก่อนคนที่ทำงาน NGO มีความสามารถสูง ถ้าไปทำงานบริษัทต่างชาติเงินเดือนจะเยอะ แต่ด้วยความเชื่อที่อยากกำหนดทิศทางบางอย่างของประเทศ เขาจึงเลือกทำงานตามอุดมการณ์
“ยุคหนึ่ง NGO ถูกมองว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้า แต่ยุคหนึ่งก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าเป็นอนุรักษนิยมหรือเปล่า มันตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงไหม เวลาพูดถึงภาคประชาชน หรือ NGO ลำดับแรกที่เราอยากให้มองคือมันไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด จะเหมารวมองค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม NGO เป็นอันเดียวกันทั้งหมดไม่ได้ เพราะมันมีความหลากหลายในตัวขององค์กร และถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ความหลากหลายในทางอุดมการณ์ก็ยังมี ความขัดแย้งแตกต่างในทางเลือกว่าจะเอาแบบไหนก็ยังมี แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม เราคิดว่ามันไม่มีองค์กรไหนที่มาด้วยโจทย์ที่ว่าจะขายชาติ หรือรับงานมาเพื่อบ่อนทำลายชาติ มันคือโฆษณาชวนเชื่อที่เขาตั้งใจเอามาทำลายความน่าเชื่อถือ หรือทำให้สิ่งที่องค์กรภาคประชาชนยกมาตั้งคำถามกับรัฐนั้นอ่อนกำลังลง”
จีรนุชเล่าต่อว่า เมื่อครั้งที่ได้ร่วมทำงานกับประชาไท สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่คือ ความตั้งใจที่จะทำหน้าที่สื่ออิสระ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของทุนและรัฐ ซึ่งทำให้ประชาไทต้องเจอกับการคุกคามอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในแง่เสรีภาพสื่อและเสรีในการแสดงออก กฎหมายที่ประชาไทโดนฉบับแรกๆ หลังรัฐประหารปี 2549 คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้รับมืออาชญากรรมยุคใหม่ เนื่องจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ไม่เท่าทัน ทว่าภายหลังปรากฏว่าสิ่งที่กฎหมายถูกนำมาบังคับใช้คือ การกำกับเนื้อหาและจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนในช่องทางออนไลน์
เมื่อภาคประชาชนถูกคุกคาม
ขณะที่อาทิตย์ กล่าวว่าตนเองและเพื่อนๆ มีความฝันที่อยากจะทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม จึงก่อตั้งร็อคเก็ตมีเดียแล็บ องค์กรที่นำเสนอข้อมูลสำหรับสื่อมวลชน และเขียนโครงการขอทุนเพื่อทำในแนวทางที่อยากทำ
“แน่นอนว่าในประเทศมีวาระอยู่ว่า ปีนี้เขาสนใจจะให้ทุนเรื่องอะไร อยู่ในกรอบที่เขาสามารถให้ทุนได้หรือเปล่า แต่ประเด็นที่เราอยากทำมันอาจจะขายไม่ได้ ตอนนั้นพอดีมีแหล่งทุนจากสหรัฐอเมริกา National Endowment for Democracy (NED) บอกว่าสิ่งที่เราอยากทำ อยู่ในข่ายที่เขาสนใจ ซึ่งเราก็โอเค เพราะในช่วงตั้งไข่จำเป็นที่ต้องรับทุนสนับสนุน พร้อมกับการคิดหาว่าถ้าไม่มีทุนก้อนนี้แล้วเราจะอยู่ยังไง ประเด็นคือถ้าเรารอจนกระทั่งแหล่งทุนในประเทศอยากจะให้ทุนเรา หรือเรารอจนกระทั่งตลาดในประเทศโตพอที่จะมีคนจ้าง เราอาจจะเริ่มทำในตอนนี้ไม่ได้ เราอาจต้องรอถึงปี 2570 รอให้แหล่งทุนในประเทศมีความคิดที่ก้าวหน้าก่อน แปลว่าเราต้องรออีก 5-6 ปี เราก็เลยตัดสินใจไม่รอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติใดๆ เลย
“อย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในตอนก่อตั้ง ประเทศไทยก็มีความหวังว่าอยากจะมีมหาวิทยาลัยที่สามารถให้ปริญญาตรีได้ ตอนนั้นมูลนิธิร็อกเก็ต เฟลเลอร์ จากสหรัฐอเมริกา ก็เสนอความช่วยเหลือทางวิชาการและเงินทุนจำนวนหนึ่ง หรืออย่างเช่นทางรัฐบาลของเยอรมนี อยากสนับสนุนด้านอาชีวศึกษาของไทย สนับสนุนโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรืออย่างรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนเรื่องการพัฒนาโทรคมนาคม แล้วก็พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง”
ทางด้านสุลักษณ์ กล่าวว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้น 2 วันหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 เป็นการรวมตัวกันของทนายความ นักกิจกรรม นักวิชาการต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำทางกฎหมายกับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น
“เราไม่คิดว่าจะอยู่นานขนาดนี้ เพราะคิดว่ามี คสช. แล้วเดี๋ยวคงมีการเลือกตั้ง สถานการณ์สิทธิก็น่าจะดีขึ้น เราจึงเพิ่งมาจดทะเบียนปลายปี 2562 นี่เอง เพราะเราเห็นว่าสถานการณ์สิทธิไม่ได้ดีขึ้นเลย
“ประวัติการถูกคุกคามของเรามีมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว เหมือนหลายฝ่ายมองอยู่แล้วว่าเราเป็นคนสนับสนุนม็อบหรือเปล่า เด็กออกไปชุมนุมทำไมไม่ห้าม ทำไมไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ปีที่แล้วมีนักกฎหมายท่านหนึ่งไปร้องเรียนกับสภาทนายความ ให้มาตรวจสอบการทำงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพราะว่าการที่เราให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับลูกความ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ออกไปชุมนุมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นการยุยงส่งเสริมให้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจริงๆ เขาไม่ได้เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นการประกันสิทธิที่ประชาชนทุกคนควรจะได้ภายใต้กระบวนการยุติธรรม ใครก็ตามที่ถูกจับ ถูกดำเนินคดี ย่อมมีสิทธิเข้าถึงทนายความ มีสิทธิได้รับคำปรึกษาทางกฎหมาย มีสิทธิได้รับการประกันตัว ฉะนั้นเราทำงานเพื่อที่จะประกันสิทธิ แต่เรากลับถูกมองว่าทำไมไปยุยงส่งเสริมการกระทำผิดแบบนั้น
“มันโยงให้เห็นว่าในเรื่องของการรับทุน แหล่งทุนของรัฐเองก็ไม่ได้มองว่าเขาต้องมาสนับสนุน ในเมื่อเขาไม่ได้มองเห็นความสำคัญของงานที่เราทำ เลยกลายเป็นว่าแหล่งทุนที่สนับสนุนการทำงานของเราจำนวนมากที่ผ่านมาก็จะเป็นแหล่งทุนต่างชาติ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักคือ มูลนิธิต่างประเทศ สถานทูตต่างๆ ที่เห็นคุณค่าในการทำงานเพื่อประชาธิปไตย และองค์กรสิทธิระหว่างประเทศ”
สุลักษณ์ บอกว่าถ้าให้เล่าถึงลักษณะการคุกคาม เมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่จากสรรพากร 4 คน บุกเข้ามาในสำนักงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า บอกว่ามีคนร้องเรียนให้มาตรวจสอบ มีหมายออกมา 2 วันก่อนหน้านั้น และขอเอกสารทางการเงินทั้งหมดในช่วงเวลา 2 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ในลักษณะนี้เลย ทั้งที่ด้วยความเป็นมูลนิธิ ทางศูนย์ทนายความฯ ต้องส่งรายงานการดำเนินการให้กับทางเขตอยู่แล้ว และต้องส่งรายงานทางการเงินให้กับสรรพากรอยู่แล้ว ถ้ามีร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มฯ ก็ยิ่งเป็นภาระให้กับองค์กรภาคประชาชน เพราะแหล่งทุนก็ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างละเอียดอยู่แล้วว่าองค์กรได้ทำตามที่ขอทุนไปหรือไม่
หลังจบการเสวนามีตัวแทนพรรคฝ่ายค้านนำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางมาพบและให้กำลังใจผู้ชุมนุม พร้อมประกาศสนับสนุนข้อเสนอของประชาชน และจะคว่ำทุกร่าง หากเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภา