เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี
“ทุกคืนวันศุกร์ ฉันนอนไม่ค่อยจะหลับ ฉันออกไปเที่ยวกลางคืน
ถ้าไปเที่ยวผับฉันคงยืนเต้นคนเดียว
อยากจะพบกับเธอจัง อยากจะพบกับเธอจัง
อยากจะรู้ว่าเป็นไง อยากให้รู้ว่าสนใจ… ”
ถ้อยความบางส่วนจากเพลง ‘คืนวันศุกร์’ ของวงดนตรีร่วมสมัย ‘Saliva Bastards’ เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2549 ฉายให้เห็นอารมณ์เหงาในคืนวันศุกร์ของคนเมือง ได้อย่างง่ายงาม
แต่ถ้าต้องพูดในส่วนของเส้นทางการเที่ยวของคนกรุงเทพฯ แล้วนั้น กลับเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงมายาวนาน กว่าจะเป็นค่ำคืนในแบบที่คนรุ่นเราเข้าใจ
กรุงเทพฯยามค่ำคืน นอกจากจะเป็นภาพแทนไลฟ์สไตล์ในแต่ละยุคสมัยแล้ว ยังทำให้เข้าใจได้ว่าทิศทางการพัฒนาเมืองของผู้มีอำนาจนั้น สัมพันธ์อย่างไรกับชีวิตยามค่ำคืนของผู้คน
1
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเสนอว่า กรุงเทพฯเปลี่ยนจากเมืองกลางวันมาเป็นกลางคืน ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อหลังทศวรรษ 2500 เนื่องจากความเข้าใจในด้านวัฒนธรรม ว่าการเที่ยวกลางคืนเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นในช่วงนี้ แม้กรุงเทพฯ ก่อนทศวรรษที่ 2510 จะมีไฟฟ้าใช้แล้วก็ตาม ไฟฟ้ามีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น
ข้อเสนอนี้ชวนให้เราสนใจคิดย้อนไปในไลฟ์สไตล์เก่าๆ ของคนรุ่นก่อน เพราะการเที่ยวกลางคืนแบบที่เราเข้าใจอยู่นี้ น่าจะเกิดในช่วงที่อเมริกาภิวัฒน์ (Americanization) ขึ้นกระแสสูง แต่อีกทางหนึ่งความบันเทิงในยามค่ำคืนของคนกรุงเทพฯ พบว่าเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสักระยะ หากแต่จำกัดตัวในวงแคบๆ
วีรยุทธ ปีสาลี ผู้เขียนหนังสือ กรุงเทพฯ ยามราตรี อธิบายว่า ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปการเมืองการปกครอง มีความบันเทิงของคนกรุงเทพฯ อยู่หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบจารีตที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ อย่างการเที่ยวตามโรงบ่อน โรงโสเภณี การเที่ยวดูมหรสพในงานวัด งานเผาศพ สำหรับโรงบ่อนนั้นเป็นแหล่งเที่ยวรวมความบันเทิงไว้หลากหลาย ทั้งมหรสพ การเล่นพนัน การเที่ยวหาของกินเล่น
การรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในชีวิตประจำวันในสมัยนี้ มีส่วนสำคัญในการเปิดรับความบันเทิงใหม่ๆ เข้ามา เช่น โรงละคร ปรินซ์เธียร์เตอร์ ก่อนจะมีโรงฉายภาพยนตร์ในเวลาต่อมา แต่ก็ยังคงจำกัดในหมู่ผู้รากมากดีบางกลุ่ม
พอได้รับวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว รูปแบบการเที่ยวก็เปลี่ยนไปเป็นแบบสมัยใหม่ มีการเที่ยวตามโรงภาพยนตร์ สวนสนุก สถานบันเทิงเริงรมย์ เช่น ไนท์คลับ ผับ บาร์ เบียร์ฮอลล์ โรงเต้นรำ เกิดอาชีพใหม่ อย่างพาร์ทเนอร์ไว้รองรับนักเที่ยว แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ คนในสมัยก่อนกับในสมัยนี้มองการเที่ยวกลางคืนว่าเป็นอบายมุขเหมือนกัน
อีกทั้งยังได้มีการยกเลิกเล่นการพนัน และยกเลิกบ่อนเบี้ยได้ทั้งหมดในสมัยรัชกาลที่ 6 (อย่างน้อยก็ในระบบกฎหมายปกติ) การเต้นลีลาศเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เพิ่มเข้ามาในหมู่ชนชั้นนำก่อน ซึ่งมักจะจัดกันตามคลับ บาร์ สโมสร แต่ไม่ได้เกิดเป็นธุรกิจการค้า แค่เอาเป็นเรื่องสนุก รื่นเริง
กรุงเทพฯ จึงเปลี่ยนเข้าสู่สังคมกลางคืนอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ประมาณสมัยรัชกาลที่ 6 หรือราวทศวรรษที่ 2460 เพราะในช่วงเวลานั้นเริ่มเกิดวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตกลางคืน มีสถานที่สำหรับให้คนออกมาใช้ชีวิตกลางคืนมากขึ้น รูปแบบการใช้ชีวิตกลางคืนก็เริ่มเปลี่ยนเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น
2
สถานบันเทิง เช่น ผับ บาร์ ไนท์คลับ เพื่อการค้า ที่มีบริการอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับความนิยมสูงขึ้น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 2490 จอมพล ป. ริเริ่มนโยบายรัฐนิยม ส่งผลต่อการแต่งกายของผู้คนอย่างมาก และกรมประชาสัมพันธ์มีบทบาทในการเผยแพร่เพลงยอดนิยม โดยเฉพาะเพลงของวงสุนทราภรณ์ ที่ถูกนำมาเล่นในโรงแรม ไนท์คลับ ปัจจุบันเราจะพบร้านในสไตล์ย้อนยุคได้บ้าง ตามห้างสรรพสินค้าเก่าๆ และสมาคมต่างๆ
ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ สถานบันเทิงถูกควบคุมมากขึ้น ด้วยเหตุที่ว่าการท่องเที่ยวในยามค่ำคืนเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเกินไปในยามที่ประเทศฝืดเคือง ในช่วงนี้รัฐบาลประกาศงดความบันเทิง เช่น การเต้นรำ มีการควบคุมการจำหน่ายสุรา ระหว่าง 4 ทุ่ม ถึง ตี 5 พร้อมๆ ไปกับการสนับสนุนความบันเทิงตามแบบแผนของรัฐ เช่น ร้องเพลงปลุกใจ และการสนับสนุนการรำวง
ในทางตรงกันข้าม เผ่า ศรียานนท์ ผู้มีอำนาจสูงในฝั่งตำรวจ กลับมีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก และมีการสร้างที่พักตากอากาศบางปู เป็นแหล่งท่องเที่ยวและลานลีลาศ ที่นั่นเองเป็นแหล่งบันเทิงของข้าราชการจำนวนมาก ที่หันมาเสพสุขในรูปแบบใหม่
จนกระทั่งหลังรัฐประหาร 2500 รัฐจึงเริ่มเข้ามาจัดระเบียบการเที่ยวกลางคืนมากขึ้นอีกครั้ง มีประกาศเรื่องต่างๆ ออกมา เช่น การเปิด-ปิดสถานบันเทิง การจัดประเภทสถานบันเทิง การห้ามแสดงฟลอร์โชว์ตามสถานที่สาธารณะ เช่น เวทีลีลาศสวนลุมพินี หรือสถานที่ราชการ งานการกุศล ให้แสดงได้เฉพาะในไนท์คลับเท่านั้น การจัดการกวดขันการเที่ยวกลางคืนของกลุ่มวัยรุ่นและอันธพาล รวมถึงลักษณะการเต้นและการแต่งกายที่รัฐซึ่งขณะนั้นก็คือจอมพลสฤษดิ์เห็นว่าไม่เหมาะสม
3
กล่าวในทางทฤษฎี ไลฟ์สไตล์ที่เหมือนกันมิได้กระจายไปยังกลุ่มคนที่แตกต่างกัน หากเราใช้กรอบคิดของนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสอย่าง ปิแอร์ บูดิเยอร์ (1979) ซึ่งเสนอให้การบริโภคเป็นเครื่องมือในการแบ่งชนชั้นอย่างหนึ่ง ที่ที่ความชื่นชอบทางสุนทรียะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของคนในสังคม รสนิยมที่แตกต่างกันเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งกลุ่มคนในสังคม ช่วยให้เราเข้าใจบรรทัดฐานข้อนี้
การกินอาหาร เครื่องดื่ม ในยามค่ำคืนของคนกรุงเทพฯ เป็นหลักฐานชั้นดีที่บอกว่า ไลฟ์สไตล์การกินอาหารก็แตกต่างกันไปตามชนชั้น มีตั้งแต่ร้านข้าวต้ม ข้าวเสียโป บะหมี่ อ้อยควั่น อาหารจีนตามริมถนน จนถึงอาหารจีนระดับภัตตาคารหรือเหลา และสิ่งสำคัญที่เปลี่ยนไปพร้อมกับการเที่ยวกลางคืน ก็คือวัฒนธรรมการกิน คือเกิดความนิยมออกไปกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น เมื่อก่อนคนชั้นสูงนิยมกินอาหารในบ้านในพื้นที่ส่วนตัว เพราะว่าการกินอาหารนอกบ้านเป็นเรื่องของชนชั้นล่าง
ช่วงที่เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดจากสังคมกลางวันมาเป็นสังคมกลางคืนของคนกรุงเทพฯ ทำให้สไตล์อาหารการกินก็เปลี่ยนไปด้วย ประกอบกับมีคนชั้นสูงบางส่วนที่ได้ไปศึกษาที่ต่างประเทศ กลับมาก็นำวัฒนธรรมการกินอาหารนอกบ้านมาด้วย คนชั้นสูงนิยมขับรถออกไปกินข้าวนอกบ้านโดยเฉพาะที่ราชวงศ์ เป็นย่านพบปะของคนชั้นสูง มีการออกไปกินบะหมี่และไอศกรีมกัน เราเห็นได้จากนิยายหลายๆ เรื่องก็กล่าวถึงการไปกินอาหารที่ราชวงศ์
การวางทิศทางการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ก็ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯเช่นกัน ดังจะพบว่า สถานที่ท่องเที่ยวค่ำคืนในช่วงแรกของกรุงเทพฯ จะคึกคักกระจุกตัวอยู่ในย่านเยาวราช ก่อนจะขยายไปยังบางรัก และพื้นที่อื่นๆ ตามมา เช่น พัฒน์พงศ์ ซอยคาวบอย และตลอดถนนสายสุขุมวิท ที่เป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองไปทางทิศตะวันออกในทศวรรษ 2510
และต่อจากนี้เอง ที่ประเภทความบันเทิงที่หลากหลายของคนกรุงเทพฯ ได้มีการขยายตัวไปยังพื้นที่ใหม่มากขึ้น เช่น โรงหนัง สนามมวย สนามม้า ผับ บาร์ สโมสร ภัตตาคาร อาบอบนวด คาราโอเกะ
4
การเปลี่ยนแปลงผังเมือง ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืนกระจายตัวไปยังอื่นๆ จากที่เมื่อก่อนกระจุกตัวอยู่ย่านสำเพ็งและเยาวราช ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวจีน แต่พอมีชาวตะวันตกเข้ามาทำการค้าขายและตั้งที่อยู่อาศัย เกิดเป็นชุมชนชาวตะวันตกที่บางรัก ย่านท่องเที่ยวยามค่ำคืนก็ขยายตัวออกไปที่บางรัก พอมีการตัดถนนขยายตัวเมืองไปทางตอนเหนือของพระนครแถวบางลำพู สามเสน ก็เกิดสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นตามมา
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ตัวเมืองกรุงเทพฯ นั้นเริ่มขยายไปทางฝั่งธนบุรีจากการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าก็เกิดย่านสะพานพุทธ มีสถานเริงรมย์มาเปิดให้บริการที่ตีนสะพานทั้งสองฝั่ง ส่วนแหล่งท่องเที่ยวย่านสุขุมวิทและเพชรบุรีตัดใหม่ เกิดขึ้นหลังการตัดถนนสุขุมวิท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมอเมริกันสมัยสงครามเวียดนาม
5
ดูเหมือนว่ารัฐจะเป็นตัวละครสำคัญในการกำหนดสไตล์การใช้ชีวิตยามค่ำคืนของคนกรุงเทพฯ และในอีกทางหนึ่งไม่ว่าสมัยใด รัฐก็ไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้คนออกมาเที่ยวกลางคืน เพราะค่านิยมที่มองว่าการเที่ยวกลางคืนเป็นอบายมุข (ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นไปตามทิศทางนี้) แต่นโยบายของรัฐบางอย่างก็ทำให้คนออกมาเที่ยวกลางคืนสะดวกขึ้น เช่น การพัฒนาถนนหนทาง การคมนาคมขนส่ง การพัฒนาแสงไฟในเมือง อย่างแสงไฟทำให้เกิดความปลอดภัยในเมือง แต่ก็ทำให้คนออกมาเที่ยวกลางคืนมากขึ้นด้วย
วีรยุทธ ปีสาลี ชี้ให้เห็นอีกว่า อบายมุขกับเงินคงคลังของรัฐเกี่ยวพันกันมากเพียงใด เขาย้ำว่า “ต้องไม่ลืม ว่ารายได้หลักของรัฐยังมาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับความบันเทิงยามค่ำคืน เช่น บ่อน ฝิ่น โสเภณี และเครื่องดื่มมึนเมา อย่างโสเภณีสมัยก่อนเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย โดยต้องเสียภาษีบำรุงถนนให้กับรัฐ ที่เรียกว่าภาษีบำรุงถนนเพราะรัฐนำเงินที่ได้จากโสเภณีไปสร้างถนนเพื่อพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ อีกทีหนึ่ง โสเภณีเพิ่งถูกทำให้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2503 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์”
การท่องเที่ยวยามค่ำคืนและกำลังแรงงานในธุรกิจสถานบันเทิงก็เป็นพลังผลักดันความเป็นเมืองไม่น้อยไปกว่าแรงงานในส่วนอื่นๆ
ในกรุงเทพฯเอง โรงบ่อนเองคือขุมทรัพย์ที่ทำรายได้มหาศาลให้แก่ผู้ควบคุมกฎ ซึ่งในอดีตรัฐพยายามควบคุมจัดการมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการยกเลิกบ่อนเล็กๆ ให้เหลือบ่อนใหญ่อยู่ไม่กี่แห่ง ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ยกเลิกโรงบ่อนอย่างถาวรเมื่อ พ.ศ. 2460 พอรัฐทำให้สิ่งบันเทิงเหล่านี้ผิดกฎหมาย ใครที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้ต่อไปก็กลายเป็นเรื่องเถื่อนขึ้นมา เช่น โสเภณีเถื่อน บ่อนเถื่อน โสเภณีเริ่มไปแอบแฝงขายบริการตามโรงภาพยนตร์ โรงแรม สถานเริงรมย์แทน คนที่ชอบเล่นการพนันก็เริ่มหันมาเล่นไพ่และเปิดบ่อนในบ้าน เช่น การเล่นไพ่ในกลุ่มคนชั้นสูงที่แพร่หลายหลังการยกเลิกโรงบ่อน
6
อีกตัวอย่างของอิทธิพลจากนโยบายรัฐกับสถานบันเทิงยามค่ำคืน คืออิทธิพลของข้อตกลงในยุคสงครามเย็น ในสมัยสฤษดิ์มีการถ่ายโอนกิจการให้แก่เอกชนมากขึ้น รวมถึงสถานบันเทิงของรัฐ ผู้ได้รับประโยชน์อย่างมากจากสถานบันเทิงก็คือ กิจการเบียร์และกิจการสุรา ความเปลี่ยนแปลงด้านไลฟ์สไตล์ขยายตัวอย่างกว้างตามคำอธิบายของนิธิ เอียวศรีวงศ์ จึงเกิดขึ้นในเวลาต่อจากนี้
ลองนึกถึงฉากที่ Frank Lucas แสดงโดย Denzel Washington ในหนังเรื่อง American Gangster มาขนยาเสพติดจากเมืองไทย ความพรั่งพรู ของ ไนท์คลับ บาร์ ยาเสพติด โสเภณี ซึ่งเกิดขึ้นหลังข้อตกลงถนัด-รัสก์ ที่มีนโยบาย R&R Service หรือ rest and recreation ทำให้กรุงเทพฯ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของกองทัพสหรัฐ (สถานบันเทิงย่านพัฒน์พงศ์ จึงเริ่มขึ้นยุคนี้)
ประเภทของสิ่งบันเทิงก็จะมีไนท์คลับ บาร์ อะโกโก้ วัฒนธรรมอเมริกันเข้ามาอย่างมากในช่วงนี้ มีการเต้นรำในจังหวะร็อคแอนด์โรล ทวิสต์ ฮอบบิท ขยายตัวมากขึ้น จนปี 2509 รัฐบาลต้องออก พ.ร.บ.ควบคุมสถานบริการ เพื่อบังคับใช้กับการเที่ยวกลางคืนโดยเฉพาะ
7
กล่าวได้ว่าก่อนปี 2520 คนที่ไปเที่ยวส่วนใหญ่มักเป็นพวกทำงานประจำ มีรายได้สูง มีกำลังในการซื้อ และนิยมสังสรรค์ ฟังดนตรี เต้นรำ และมีดิสโก้เธค ขึ้นมา รวมไปถึงการดูภาพยนตร์ที่สูงขึ้นอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น ที่แม้จะมีรายได้ไม่มาก แต่เป็นสถานบันเทิงที่เข้าถึงได้ง่าย จนกระทั่งมีการตรากฎหมายที่เฉพาะเจาะจงขึ้นอีก ชื่อว่าพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2525 นิยามสถานบันเทิงว่า “สถานบริการที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีเกิน 2 ชิ้น หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง” การควบคุมสถานบันเทิงจึงมีความเง้มงวดมากขึ้น พร้อมๆ กับการขยายตัวในรูปแบบความบันเทิงใหม่ๆ
ในทศวรรษที่ 2530 ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงได้สร้างให้มีกลุ่มคนใหม่ๆ ที่มีกระเป๋าหนาออกเที่ยวในยามค่ำคืนมากขึ้น (ถนน RCA สถานที่ที่ได้รับความนิยมสูงมาก เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้) มีความบันเทิงที่ขยายตัวอย่างมาก เช่น คอกเทลเลานจ์ คาราโอเกะ คาเฟ่ ฯลฯ ในช่วงนี้ถึงกับมีคำแซวนักเที่ยวกลางคืนว่า “ไม่เห็นขาอ่อนจะนอนไม่หลับ”
แต่หลังปี 2540 เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ กลุ่มคนที่ “ไม่เห็นขาอ่อนจะนอนไม่หลับ” หรือเรียกกันว่า ‘มนุษย์ทองคำ’ ซึ่งเป็นคนชั้นกลางที่มีไฟล์สไตล์หรูหรา ฟู่ฟ่า ก็พลันหายไปและนำมาสู่ความซบเซาของสถานบันเทิงยามค่ำคืน
ค่ำคืนมืดมิดไม่นานนัก ราวๆ กลางทศวรรษที่ 2540 เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ผู้คนเริ่มออกมาท่องเที่ยวกันคึกคักอีกครั้ง เทรนด์การสวมเสื้อเอวลอย เกาะอก สายเดี่ยวของสาวๆ เฟื่องฟูไปตามสถานบันเทิง และแน่นอนการจัดระเบียบสังคมโดยรัฐบาลก็กลับมาอีกครั้ง (‘มือปราบสายเดี่ยว’ คือฉายาของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น)
การจัดโซนนิ่งทั่วประเทศโดยเฉพาะในปี 2544 กรุงเทพฯได้ผ่อนปรนให้มีการจัดโซนนิ่งได้เพียง 3 พื้นที่ คือ พัฒน์พงศ์ รัชดาภิเษก และเพชรบุรีตัดใหม่ และในปี 2546 แก้ไขพระราชบัญญัติสถานบริการให้ครอบคลุมสถานบันเทิงทุกประเภท การเดินทางของสถานบันเทิงของกรุงเทพฯในเวลานี้ได้มีการขยายรูปแบบออกไปเป็นจำนวนมาก มีร้านอาหาร ดนตรี หลากหลายประเภท ร้านเหล้าขนาดเล็กที่มีเครื่องดนตรีน้อยชิ้น แบบที่เราเข้าใจในปัจจุบัน เริ่มแพร่หลายเวลานี้ รวมไปถึงธุรกิจยามค่ำคืนของกรุงเทพฯได้กลายเป็นรายได้สำคัญโดยไม่เลือกหน้าว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตย การปิดสถานบันเทิงจึงมักจะใช้เวลาสั้นๆ เท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ
8
ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2552 พบว่ามีคนที่ทำงานในสถานประกอบการบันเทิง จำนวน 715,411 คน จากจำนวนสถานประกอบการบันเทิง ภัตตาคาร ผับ บาร์ ที่มีมากเกือบ 300,000 แห่ง ตัวเลขนี้เฉพาะที่ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ และตัวเลขดังกล่าวไม่รวมแรงงานเพื่อนบ้านจำนวนมาก (คาดว่ามีมากกว่า 500,000 คน) ที่เข้ามาทำงานเป็น พ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ คนล้างจาน พนักงานทำความสะอาด ซึ่งส่วนมากมีรายได้เป็นแบบวันต่อวันหรือต่อสัปดาห์
และในอนาคต ไม่ว่าค่ำคืนของกรุงเทพฯ จะเนิ่นนานอีกเพียงใด ธุรกิจสถานบันเทิงและไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ ก็เดินทางมาไกลเสียจนทุกเรื่องเกี่ยวพันกับความอยู่รอดของผู้คนจำนวนมาก และรัฐจำเป็นต้องควบคุมความบันเทิงในรูปแบบนี้ต่อไปนานเท่านาน ความสำคัญของธุรกิจยามค่ำคืนนี้ เห็นได้จากยามที่รัฐขาดรายได้ เป้าหมายแรกๆ ในการเก็บเงินคงคลังเข้ากระเป๋าสาธารณะ ก็หนีไม่พ้นสถานบันเทิง ดังตัวอย่างเล็กๆ ข้างล่างนี้
“ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯเสนอแผนปรับเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ประมาณการ 1.867 ล้านล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ 5 เดือนแรกปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560) ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 6,000 ล้านบาท ดังนั้นจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังเข้าไปไม่ถึง เช่น กลุ่มร้านกลางคืน ทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ กลุ่มอาบอบนวด”
มาตรการต่อไปข้างหน้าอาจจะยังไม่รู้ แต่ที่แน่นอนคือ ชีวิตกลางคืนของผู้คนที่ไม่ใช่ครูบา พระเจ้า (อาจจะยกเว้นให้บางรูปบางคน) ก็ยังคงยืนอยู่บนการบริโภคความบันเทิง ดั่งเพลงคืนวันศุกร์ ที่เหล่าคนเหงา ยังคงต้องแสวงหาความรื่นรมย์ ความเมา ความเศร้า หรือความรัก กันต่อไป ฯลฯ
“อยากจะพบกับเธอจัง อยากจะพบกับเธอจัง
อยากจะรู้ว่าเป็นไง อยากให้รู้ว่าสนใจ…”
อ้างอิง:
Bourdieu,Pierre.1984. Distinction. A Social Critique of the Judgement of Taste, translate by Richard Nice. London: Routledge
วีระยุทธ ปีสาลี. 2557. กรุงเทพฯ ยามราตรี. กรุงเทพฯ: มติชน
“อาบอบนวด-ผับ-บาร์” มีหนาว! อธิบดีสรรพากรสั่งเจ้าหน้าที่ล่อซื้อ-เก็บภาษีเพิ่ม, http://www.matichon.co.th/news/485988, 6 มีนาคม 2560