On this Day: 23 พฤษภาคม 2553 ‘12 ปี Big Cleaning Day’ การทำลายหลักฐานบนประวัติศาสตร์บาดแผลของคนเสื้อแดง

เวลาผ่านไปกว่า 1 ทศวรรษกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดความสูญเสียและสร้างความเจ็บปวดที่ยังคงเป็นบาดแผลเรื้อรังของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งตกเป็นจำเลยของสังคม ซ้ำยังถูกตราหน้าว่าเป็น ‘พวกเผาบ้านเผาเมือง’ 

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นถูกนำเสนอผ่านรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 92 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,500 ราย ในช่วงระยะเวลา 69 วันของการชุมนุม ในขณะที่รายงานอีกฉบับจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ระบุว่ามีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นถึง 94 ราย ขณะที่ผลการไต่สวนการตายในชั้นศาลยังพบอีกอย่างน้อย 18 ราย ที่เสียชีวิตด้วยกระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ

สาเหตุของความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาจากคำสั่งใช้ ‘กระสุนจริง’ อันเป็นวิธีการตอบโต้ของรัฐบาลซึ่งนำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยปฏิบัติการการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการ

กระสุนจำนวน 597,500 นัด คือจำนวนที่ถูกเบิกจ่าย โดย ศปช. เป็นผู้นำเสนอข้อมูลชุดนี้ และจากจำนวนกระสุนที่ถูกเบิกทั้งหมดนี้มีการส่งคืนให้กรมสรรพาวุธในภายหลังจำนวน 479,577 นัด นั่นเท่ากับว่าได้มีการใช้กระสุนไปทั้งสิ้น 117,923 นัด นอกจากนี้ ยังมีการเบิกกระสุนสำหรับการซุ่มยิงจำนวน 3,000 นัด ซึ่งได้ส่งคืนไปในจำนวน 880 นัด เท่ากับว่าถูกใช้ไปจำนวน 2,120 นัด

ปลอกกระสุนที่ตกหล่นอยู่ตามพื้นที่เต็มไปด้วยคราบเลือดของผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่รัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้ออกคำสั่งฆ่าประชาชนได้เคยเกิดขึ้นจริง

แต่หลังจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมผ่านไปเพียง 4 วัน ก็ได้มีปรากฏการณ์ ‘Big Cleaning Day’ เกิดขึ้น นำโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ภาพที่เกิดขึ้นถูกสื่อใหญ่หลายสำนักบอกเล่าว่านั่นคือการร่วมมือร่วมใจกันของประชาชนและกลุ่มกิจกรรมทางสังคมกว่าหมื่นคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือที่ใช้เรียกกันในขณะนั้นว่า ‘คนเสื้อหลากสี’ เพื่อทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ ที่มีการสลายการชุมนุม ฉีดล้างคราบเลือด เพื่อขจัดร่องรอยการมีอยู่ของคนเสื้อแดงออกไป 

นอกจากนี้ ยังมีเหล่าศิลปิน ดารากว่า 300 คน รวมตัวกันสวมเสื้อสีขาว พร้อมยืนขับร้องเพลง ‘ขอความสุขคืนกลับมา’ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าทุกคนในขณะนั้นจะก้าวข้ามผ่านความรุนแรงไปด้วยกัน

แต่หารู้ไม่ว่า ในอีกด้านหนึ่งของความจริง การกระทำเหล่านี้สะท้อนและนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์มากมายว่า การร่วมทำความสะอาดพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะทำลายหลักฐานชิ้นสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเศษซากของปลอกกระสุน ข้อความบนกำแพงต่างๆ รวมไปถึงร่องรอยคราบเลือดคนเสื้อแดงที่ติดอยู่ตามพื้น จึงทำให้ดูเหมือนว่าการร่วมชำระล้างกรุงเทพฯ ในขณะนั้น เป็นความพยายามที่จะหันหลังให้กับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและให้ความสำคัญกับพื้นที่ อาคาร สิ่งก่อสร้าง มากกว่าการกล่าวถึงชีวิตของผู้ชุมนุมที่สูญเสียไป

ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเวลาล่วงเลยมากว่า 1 ทศวรรษ ประชาชนบางส่วนจึงตระหนักรู้ได้ว่า มหกรรม Big Cleaning Day อันน่าชื่นชมที่เกิดขึ้นในปี 2553 นั้น เป็นการย่ำยีความเจ็บปวดของคนเสื้อแดงครั้งใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการดึงประชาชนจำนวนมากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำลายหลักฐานด้วยเช่นกัน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะยังคงติดอยู่ในใจคนเสื้อแดงและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไม่จางหาย เพราะผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดยังคงลอยนวลและไม่เคยต้องเข้ารับโทษใดๆ 

อ้างอิง

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า