13 ปี ล้อมปราบคนเสื้อแดง คราบเลือดถูกลบ ความยุติธรรมไม่ปรากฏ

ผ่านมาแล้ว 13 ปี นับตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2553 กับกิจกรรม ‘Big Cleaning Day’ หลังเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ ที่กลับกลายเป็นการลบเลือนประวัติศาสตร์การต่อสู้ให้หายไปพร้อมกับคราบเลือดสีแดง

19 พฤษภาคม 2566 สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดนิทรรศการ ‘รำลึกพฤษภา 53 ความจริงเลือนลาง 13 ปี ความยุติธรรมไม่ปรากฏ’ เพื่อทวงถามหาความยุติธรรมและร่วมรำลึกถึงคนเสื้อคนแดง ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อนุญาตให้มีการจัดเวทีพูดถึงคนเสื้อแดงกันอย่างตรงไปตรงมา

ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ ‘พฤษภา’53 รัฐบาลใหม่กับการทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดง’ โดยมีวิทยากรได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน้องเกด อาสาพยาบาลผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ดำเนินรายการโดย สิรภพ อัตโตหิ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

13 ปีที่แล้ว เขาเป็นหนึ่งในแกนนำ นปช.

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เล่าว่า ตนเป็นหนึ่งในแกนนำ นปช. ซึ่งมีพัฒนาการจากการชุมนุมของเครือข่ายต่อต้านเผด็จการในปี 2549 ในชื่อแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยเขาเป็นหนึ่งในแกนนำจัดการชุมนุมใหญ่ในปี 2552 เพื่อต่อต้านการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะมั่นใจว่าเป็นขบวนการเดียวกันกับที่ขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนเป็นเชื้อไฟให้เกิดการรัฐประหาร นปช. มองว่านั่นคือความไม่ชอบธรรม และเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน

ณ เวลานั้น เกิดการชุมนุมขึ้นหลายครั้ง แม้ทหารจะออกมาควบคุมโดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่เคยมีการปฏิบัติการทางทหารหรือการใช้อาวุธสลายการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ณัฐวุฒิยืนยันว่ามีคนเสื้อแดงเสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย จากการถูกมัดมือและโยนลงแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 2552

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

พอถึงปี 2553 เครือข่าย นปช. และคนเสื้อแดงมีความเข้มแข็งอย่างมาก มีการจัดรายการโทรทัศน์ชื่อ ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ เพื่อเชิญชวนคนเสื้อแดงจากแต่ละจังหวัดมาพูดคุยกัน การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา จนถึง 10 เมษายน ที่มีการใช้อาวุธปืนสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรก ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ณัฐวุฒิเป็นผู้เจรจาผ่านเวทีให้มีการยุติปฏิบัติการทหาร ความรุนแรงหยุดลงพร้อมกับความสูญเสียของประชาชนและเจ้าหน้าที่ไปแล้วอย่างน้อย 20 ราย กลุ่มแกนนำจึงตัดสินใจยุบเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ เพื่อไปรวมกันที่ราชประสงค์ที่เดียว จนกระทั่งมีการลอบยิงพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล และมีคนตายทุกวัน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

“อย่าว่าแต่ที่ยืนเลย ที่นอนตายเขาก็ไม่ให้” ณัฐวุฒิเล่าว่า 2-3 วันหลังจากมีการล้อมปราบเข่นฆ่า รัฐได้จัดกิจกรรมเชิญชวนศิลปิน ดารา มาฉีดน้ำล้างถนน มาเฉลิมฉลอง และลบล้างพื้นที่การต่อสู้ของคนเสื้อแดง บรรทัดประวัติศาสตร์ประเทศนี้จึงไม่มีแม้แต่ที่นอนตายให้กับคนเสื้อแดง

13 ปีที่แล้ว เธอถูกเรียกว่าเป็น ‘แม่ผู้ก่อการร้าย’

ในตอนนั้น พะเยาว์ อัคฮาด ไม่เคยรู้จักม็อบคนเสื้อแดง กมลเกด อัคฮาด ลูกของเธอมาขออนุญาตไปเป็นอาสาหน่วยพยาบาล เนื่องจากเข้าใจวิธีการรักษา และรับปากว่าจะไม่เป็นอันตราย พะเยาว์อนุญาต เพราะเข้าใจว่าเครื่องหมายกาชาดจะช่วยคุ้มกันได้ตามหลักสากล

เธอเข้าใจว่าเหตุการณ์จะเหมือนในปี 2552 ที่จะมีรถมารับผู้ชุมนุมให้กลับโดยสวัสดิภาพ จนเมื่อเริ่มมีการประกาศเคอร์ฟิว เธอกลัวลูกสาวตัวเองจะกลับบ้านลำบาก จึงโทรศัพท์ไปถาม แต่กลับได้ยินเสียงปลายสายพร้อมกับเสียงลูกปืน จึงบอกให้ลูกไปหลบในวัด ค่อยกลับบ้านในวันพรุ่งนี้แทน 

2 ทุ่ม มีคนโทรมาหาพะเยาว์อีกครั้ง เพื่อแจ้งข่าวการเสียชีวิตของกมลเกด เธอไม่เชื่อในตอนแรก พยายามบอกปลายสายว่าอย่าล้อเล้น อีกทั้งยังโทรไปหาแต่ละมูลนิธิ เพื่อขอคำยืนยันว่าข่าวที่ได้ยินมาไม่ใช่เรื่องจริง

พะเยาว์ อัคฮาด

13 ปีที่แล้ว เธอคือนักวิชาการศูนย์ข้อมูลประชาชน

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ เล่าว่าตนทำหน้าที่อยู่ในศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) และพบว่าอคติของคนในสังคมที่มีต่อคนเสื้อแดงในตอนนั้นท่วมท้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นกลางและนักวิชาการส่วนใหญ่

หลังสลายการชุมนุมปี 2553 รศ.ดร.พวงทอง เล็งเห็นว่ามีความพยายามที่จะลบล้างหลักฐาน และป้ายสีคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้ก่อการร้ายไปพร้อมกัน ซึ่งขณะนั้นภาครัฐมีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในหมู่นักวิชาการจึงต้องรวมตัวจัดตั้งองค์กรค้นหาความจริงควบคู่กัน ในนามของ ศปช. เพราะไม่เชื่อว่าสังคมจะเกิดความเป็นกลางได้ท่ามกลางอคติที่เกิดขึ้นต่อคนเสื้อแดง

รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

คดีไม่คืบหน้า อายุความเหลือเพียง 7 ปี

พะเยาว์เล่าว่า 13 ปีที่ผ่านมา มีการเยียวยาแค่ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเงิน 7.5 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการยุติธรรมมีการไต่สวนไปเพียง 20 กว่ากรณี เมื่อไต่สวนเสร็จก็ไม่มีการจัดการต่อ ต้องให้ญาติผู้เสียชีวิตไปตามต่อกับอัยการ แต่อัยการก็กลับบอกว่าส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทุกวันนี้คดียังไม่ขยับ และผู้เสียชีวิตก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

พะเยาว์ฝากไปถึงรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งว่า อยากให้ดูแลเรื่องกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากตอนนี้อายุความเหลืออีกเพียง 7 ปี ญาติแต่ละคนก็เริ่มแก่ชรา ไม่รู้จะตายก่อนที่ความยุติธรรมจะมาถึงหรือไม่

กระบวนการคืนความยุติธรรม

ณัฐวุฒิเล่าว่า การดำเนินการคืนความยุติธรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประการแรก ครม. มีมติให้จ่ายเงินเยียวยาผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต จากการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองภายใน 7 เดือนหลังเข้าปฏิบัติหน้าที่ แต่ ครม. ชุดดังกล่าวกลับถูกตั้งข้อหา ต้องสู้คดีอยู่ 7 ปี จนกระทั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยกคำร้องในที่สุด

ประการที่สอง มีความพยายามดำเนินคดีผู้สั่งการ ฐานบงการฆ่าโดยเจตนา มีจำเลยได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ทั้งสองแย้งว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณคดี ป.ป.ช. จึงมีมติยกคำร้องจำเลยทั้งคู่ นอกจากนี้ อดีตอธิบดี DSI และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคดี ยังถูกนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพแจ้งข้อหา ม.157

ประการที่สาม เวลานั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์เห็นชอบให้สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ยื่นประกันตัวผู้เกี่ยวข้องกับคดีการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยใช้ทั้งหลักประกันจากหน่วยงานรัฐและ ส.ส. พรรคเพื่อไทยใช้ตำแหน่งประกันตัว

ประการสุดท้าย ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการจัดตั้งเรือนจำพิเศษ สำหรับผู้คุมขังคดีการเมือง แต่ต่อมาถูกยกเลิกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ถามหาความเป็นธรรมถึงรัฐบาลในอนาคต

ณัฐวุฒิเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีสาระสำคัญคือ หาก ป.ป.ช. ไม่รับพิจารณาคดี ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง หรือ หาก ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติว่าคดีไม่มีมูล สามารถส่งต่อให้ทางอัยการสูงสุดพิจารณา ถ้าอัยการสูงสุดพิจารณาว่าคดีมีมูลความผิดอาญา สามารถให้ยื่นฟ้องคดีได้ ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่าไม่มูล ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องได้โดยตรง

หากสำเร็จตามนี้ จะทำให้ญาติผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องคดีได้ภายใน 6 เดือน หลังรัฐบาลเริ่มต้นใช้อำนาจบริหาร

ทางด้านพะเยาว์กล่าวเสริมว่า ในปี 2553 การเมืองถูกแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย อยากให้ในอนาคตมีเวทีให้คนเห็นต่างทางการเมืองได้พูดคุยกันอย่างปลอดภัย ไม่ใช่พูดแล้วโดนยัดคดี

ณัฐวุฒิทิ้งทาย ฝากคนรุ่นหนุ่มสาวว่า หัวใจหลักของการชุมนุมคือความปลอดภัยของประชาชน วินาทีที่ต้องตัดสินใจอะไรสักอย่าง อยากให้มีความปลอดภัยของประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญ

ฟิซซา อวัน
ฟูลไทม์นิสิต พาร์ทไทม์บาริสต้า พกหนังสือไว้ข้างกายเสริมสร้างความเท่ในยุคดิจิทัล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า