วาทกรรมด้อยค่ากับมายาคติที่ห่มคลุม ‘คนเสื้อแดง’ ตลอด 13 ปี

โศกนาฏกรรมการเมืองไทยในอดีต เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเข็มที่หมุนวนบนหน้าปัดนาฬิกา ตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ มาจนถึงพฤษภา 53 เมื่อกลุ่มผู้มีอำนาจเกรงกลัวการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทางออกเดียวของพวกเขาคือการหยิบจับอาวุธขึ้นมาประหัตประหารความคิดของคนหนุ่มสาว นำมาสู่การนองเลือดและสูญเสีย

ดอกไม้ที่เรียกว่า ‘อุดมการณ์’ ยิ่งทุบทำลายยิ่งงอกงาม ส่งผลให้ผู้คนไม่ยอมหลงลืมหรือเกรงกลัวต่อเหตุการณ์ในอดีต ทุกคนจดจำ สะท้อนคิด ไว้อาลัย และยังคงประณามทรราช ทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ทว่าเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมเสื้อแดง ‘พฤษภา 53’ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพวกเขานั้นเลือนราง ถึงแม้เพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่นาน แต่ยังคงมีมายาคติบางอย่างที่ห่มคลุมอุดมการณ์ของพวกเขา ประกอบสร้างเป็นภาพจำที่นำไปสู่วาทกรรมด้อยค่า

เผาบ้าน เผาเมือง

เมื่อพูดถึงคนเสื้อแดง หนึ่งในภาพจำที่มักถูกกล่าวถึง คงหนีไม่พ้นวลี “เผาบ้านเผาเมือง” หรือเหตุการณ์การก่อจลาจลและเหตุเพลิงไหม้หลายจุดในกรุงเทพมหานคร อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ศาลากลางจังหวัดต่างๆ และอีกหลายบริเวณ อันเนื่องมาจากการเข้าสลายการชุมนุมของทหารและรัฐบาล ณ ขณะนั้น 

มีการบันทึกคำปราศัยบางช่วงของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เมื่อ 23 มกราคม 2553 ใจความว่า 

“ถ้าพวกคุณยึดอำนาจ พวกผมเผาทั่วประเทศ เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง แล้วใครจะจับใคร จะอะไรมาเอากับผม ถ้าคุณยึดอำนาจ”

เวลาต่อมา นายณัฐวุฒิให้การรับสารภาพในชั้นศาล ว่าตนได้พูดคำปราศัยดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้พูดในวันที่มีเหตุสลายการชุมนุม

ถึงแม้ช่วงเวลาที่ผ่านมา กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกตัดสินคดีในชั้นศาลแล้ว ซึ่งมีทั้งที่ถูกสั่งฟ้องและยกฟ้อง หมายความว่า มีทั้งกรณีที่ ‘ผิดจริง’ และ ‘ถูกกล่าวหา’ ทว่าวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” นั้น ได้ถูกสลักไว้บนชื่อของคนเสื้อแดงทุกคนไปแล้ว 

ในเวลาต่อมา ‘กลุ่มราษฎร’ ได้ร่วมกิจกรรมรำลึกถึงการจากไปของคนเสื้อแดง ทำให้วาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ในแง่มุมที่ต่างออกไป ก่อนหน้านี้มีเพียงคนสนใจว่าคนเสื้อแดงหัวรุนแรงและเผาบ้านเผาเมืองอย่างไร แต่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มุ่งตั้งคำถามว่า ณ ขณะนั้นคนเสื้อแดงถูกกระทำอย่างไร

ขี้ข้าทักษิณ

ครั้งหนึ่ง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส. จากพรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้ที่เคยเป็นคนเสื้อแดงมาก่อน ให้สัมภาษณ์ว่า “คนเสื้อแดงมีหลายเฉด” นั่นหมายความว่าในหนึ่งเจตนารมณ์ มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย

หลังจากนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ประกาศยุบสภาในปี 2543 ประชาชนส่วนใหญ่ในเวลานั้นมีความตื่นตัวเรื่องการเมืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายมากที่สุด 

เมื่อ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง บนแท่นรัฐธรรมนูญที่ก่อร่างโดยประชาชน ประกอบกับนโยบายของพรรคที่ขับเน้นเศรษฐกิจและสวัสดิการแบบจับต้องได้ อาทิ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน ทำให้ผู้คน ณ ขณะนั้นเชื่อว่า นี่คือระบอบประชาธิปไตยอันชอบธรรมที่ตนแสวงหามาโดยตลอด หลังจากตกอยู่ภายใต้การรัฐประหารมาอย่างยาวนาน

คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน เข้ายึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ทำให้ประเทศไทยหวนคืนสู่ยุคมืดแห่งการรัฐประหารอีกครั้ง ประชาชนที่เพิ่งได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ก็ฝันสลาย พร้อมกับรัฐธรรมนูญที่ถูกทุบทำลายด้วยทหารเป็นครั้งที่ 15 ประชาชนจึงออกมาประท้วง และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยดังเดิม

เมื่อรัฐบาลทักษิณถูกโค่นล้มไปพร้อมๆ กับระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนที่ออกมาประท้วงมีทั้งเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทักษิณ และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง

วลี “ขี้ข้าทักษิณ” จึงถือกำเนิดขึ้น นอกเหนือจากถูกใช้เป็นคำก่นด่าของฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังเป็นวาทกรรมห่มคลุมคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในขณะนั้นด้วย เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร และเรียกร้องประชาธิปไตย จะถูกเหมารวมว่าต่อสู้เพื่อทักษิณ ทว่าไม่มีใครมองเห็นการเรียกร้องประชาธิปไตยในนั้น

แดงล้มเจ้า

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นหมุนวน ไม่ต่างจากวาทกรรม ‘ล้มเจ้า’ ที่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธโจมตีฝ่ายเสรีนิยมอยู่เป็นนิจ ที่มาของคำว่า ‘แดงล้มเจ้า’ สืบเนื่องมาจาก ‘ผังล้มเจ้า’ ที่ถูกเผยแพร่เมื่อครั้งคนเสื้อแดงประท้วงขับไล่รัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดย พลเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ได้นำเอกสาร ‘ผังล้มเจ้า’ ที่ปรากฏชื่อแกนนำ นปช. นักการเมืองสังกัดพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย กลุ่มนายทุน และนักกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งสื่ออีก 8 สำนัก ที่ถูกอ้างว่าเป็น ‘สื่อเสื้อแดง’ ถูกจัดวางเป็นแผนผังที่มีรายชื่อเชื่อมโยงกันเป็นขบวนการ

นักวิชาการบางส่วน อาทิ ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผังล้มเจ้าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สร้างความชอบธรรมให้แก่ ศอฉ. และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ซึ่งตกอยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำจากความล้มเหลวในการสลายการชุมนุม นปช. 

ต่อมา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดีผังล้มเจ้า เพราะเห็นว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอ และไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำ 

ไม่ว่าผังล้มเจ้าจะมีจริงหรือไม่ ใครเป็นผู้เขียน แต่คนเสื้อแดงก็ถูกตีตราไปแล้ว ว่าคิดล้มล้างสถาบัน

ที่มา:

Author

กนกวรรณ เชียงตันติ์
ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า