‘คนเดือนห้า’ ในวันที่ความรุนแรงรอการสะสาง

พฤษภาคม (MAY) เป็นเดือนลำดับที่ 5 ตามปฏิทินเกรกอเรียน ที่ไม่เพียงหมุนเวียนไปตามรอบปีปฏิทินเท่านั้น เพราะสำหรับหลายคน เดือนพฤษภาคมยังคงตรึงความรู้สึกให้หยุดนิ่งย้ำเตือนความทรงจำ บาดแผล และความปวดร้าวจากความรุนแรง ซึ่งเขาและเธอต้องเผชิญด้วยตาตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยแล้ว ความรุนแรงเช่นนี้ดูจะเป็นที่คุ้นเคย และรู้จักกับสิ่งเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

รายงานชิ้นนี้พิจารณาความทรงจำต่อความรุนแรงทางการเมือง หรือเรียกในภาษาในวงการความรุนแรงศึกษา หมายถึง ‘อาชญากรรมโดยรัฐ’ ที่เกิดในเดือนนี้ จากสามเหตุการณ์สำคัญโดยเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้และสองเหตุการณ์หลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่ หนึ่ง การปราบปรามประชาชนชาวกวางจู เกาหลีใต้ ในปี 1980 สอง การปราบปรามประชาชนในไทย เมื่อปี 1992 และสาม การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงด้วยกระสุนจริง เมื่อปี 2010

เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้กับการชำระบาดแผลในอดีต

เมื่อ 40 ปีก่อน ที่เกาหลีใต้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองกวางจู ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม ปี 1980 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายหลายร้อยคน บาดเจ็บอีกหลายพันคน ขณะที่ผู้รอดชีวิตถูกรัฐบาลนายพลชุน ดู ฮวาน ป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กระทั่งปี 1996 รัฐบาลพลเรือนได้มีการนำตัวผู้บัญชาการปราบปรามประชาชนขึ้นไต่สวนและตัดสินประหารชีวิต และอีกหนึ่งคนรับโทษจำคุกตลอดชีวิต (ก่อนที่ คิม แด จุง หนึ่งในผู้ต้องหาจากเหตุการณ์เมื่อปี 1980 จะแนะนำให้ ประธานาธิบดีคิม ยอง ซัม อภัยโทษจำเลยทั้งสอง)

ประเด็นที่น่าสนใจตามมาคือหลังการชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2017 ประธานาธิบดีมุน แจ อิน ได้ประกาศรื้อฟื้นคดีการสังหารหมู่ประชาชนในปี 1980 อีกครั้ง ภายหลังจากที่ ชุน ดู ฮวาน อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ อ้างในหนังสืออัตชีวประวัติว่า เขามิใช่ผู้สั่งการให้ทหารปราบปรามประชาชน การรำลึกถึงการต่อสู้ครั้งนั้นของชาวเกาหลีใต้ จึงมิใช่การ ‘ให้อภัย’ ในความหมายที่ยังไม่ได้มีการสะสางความจริง สิ่งที่ มุน แจ อิน ทำคือ การหวนกลับไปชำระอดีตที่ด่างพร้อยของเกาหลีใต้

วันนี้เมื่อ 3 ปีก่อน (18 พฤษภาคม 2017) ที่เมืองกวางจู เกาหลีใต้ มีการมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูประจำปี 2017 ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1998 ในปีนี้ คณะกรรมการตัดสินให้ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาไทยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และในวันเดียวกันมีการถ่ายทอดสด มุน แจ อิน ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ เดินทางไปยังสุสานแห่งชาติกวางจู เพื่อเป็นประธานในพิธีรำลึก 37 ปีการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยเมืองกวางจู ในปี 1980 ช่วงวัยหนุ่มของประธานาธิบดีคนใหม่ เขาได้ร่วมต่อต้านเผด็จการทหาร เคยเข้าคุก และเคยเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ครั้งนี้เขาได้ประกาศรื้อคดีสังหารหมู่ขึ้นมาอีกครั้ง โดยยืนยันว่า จะแสวงหาความจริง และค้นหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนมาดำเนินคดี นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เขายังคงรักษาปณิธานนั้น

“รัฐบาลใหม่จะพยายามอย่างถึงที่สุด ในการเปิดเผยภาพทั้งหมดของการสังหารหมู่ เพื่อค้นหาว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการออกคำสั่งให้เปิดฉากยิงผู้ชุมนุม” คือส่วนหนึ่งของคำพูดที่ มุน แจ อิน กล่าวต่อรายการโทรทัศน์ และมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2017

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2020) ที่เกาหลีใต้ ครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองกวางจู ประธานาธิบดีมุน แจ อิน ของประเทศเกาหลีใต้เข้าร่วมพิธีรำลึกเหตุปราบปรามผู้ชุมนุมที่เมืองกวางจูเมื่อปี 1980 ที่จัดขึ้นในเช้าวันนี้ โดยประธานาธิบดีมุนได้เดินทางไปเคารพผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยในประเทศเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีหวังว่าคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความสำคัญของขบวนการชุมนุมกวางจูเมื่อหลายสิบปีก่อนจะได้รับการจารึกลงในรัฐธรรมนูญเกาหลีต่อไปด้วย

มุนรับรองว่าจะสนับสนุนการสอบสวนความจริงกรณีผู้อยู่เบื้องหลังการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ประท้วงที่กวางจูอย่างสุดความสามารถ หากผู้กระทำผิดยอมรับสารภาพก็อาจมีกระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอมและได้รับการอภัยโทษ ประธานาธิบดีกล่าวว่าจะไม่ยุติการค้นหาผู้สูญหาย รวมถึงจะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และกู้เกียรติยศคืนมาแก่เหยื่อของเหตุการณ์ปราบปรามประชาชน

‘คนเดือนห้า’ กับความเงียบของไทย

หันมาพินิจความรุนแรงในเดือนเดียวกัน แต่ต่างพื้นที่ ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับการต่อสู้ของประชาชนเกาหลีใต้ในปี 1980 อยู่พอสมควร ทว่ามิใช่ในแง่ของการคลี่คลายความขัดแย้ง หรือในแง่บริบททางการเมือง แต่เป็นข้อเรียกร้อง และคุณค่าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยการชุมนุมทั้งสองเหตุการณ์ เป็นการเรียกร้องการเลือกตั้งและให้กองทัพถอนตัวออกไปจากการเข้าแทรกแซงทางการเมืองในกรณีของไทย มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมสองครั้งสำคัญ คือในปี 1992 และอีกครั้ง ในปี 2010

ปี 1992 การชุมนุมของประชาชนไทยเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารของ พลเอกสุจินดา คราประยูร มีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง 2.ให้มีการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และ 3.แยกกองทัพและระบบราชการออกจากการเมืองรัฐสภา การเรียกร้องดำเนินไปอย่างร้อนระอุตลอดเดือนพฤษภาคม จนกระทั่งรัฐบาลทหารตัดสินใจสลายการชุมนุม มีประชาชนล้มตายและสูญหายกว่า 80 คน บาดเจ็บอีกนับพันคน เมื่อเหตุการณ์ ‘พฤษภา 35’ ผ่านพ้นไปกว่าแปดปี ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น ได้เปิดเผยผลการสอบสวนการสลายการชุมนุมที่ยาวนาน

‘แปดหน้า’ คือรายงานที่ถูกนำมาเปิดเผยครั้งนั้น พร้อมกับใช้ปากกาสีดำขีดทับข้อความบางส่วน ทำให้ญาติวีรชนต้องเคลื่อนไหวเพื่อนำเอารายงานข้อเท็จจริงฉบับเต็มมาเปิดเผย

ในรายงานข้อเท็จจริงที่ญาติวีรชนสืบค้นได้มากกว่า ‘แปดหน้า’ มี พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นประธานการสอบสวน แสดงให้เห็นถึงกองกำลังที่ใช้ปราบปราม บริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์ ด้านหน้าโรงแรม บริเวณถนนราชดำเนิน ส่วนภาพในบันทึกสีดำที่ถูกเซ็นเซอร์ มีการกระทืบ มีการยิง มีการจับกุมประชาชน มีผู้บัญชาการกองทัพระดับสูงคุมกำลัง เมื่อไม่มีการเปิดเผยภาพรวมของรายงานทั้งหมด จึงไม่พบการดำเนินคดีใดๆ กับผู้บัญชาการในการปราบปรามประชาชนในเดือนพฤษภาคม 1992 จนถึงปัจจุบัน

แตกต่างกันออกไปแค่เพียงปฏิทินปี ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง ตลอดเดือนเมษายน-พฤษภาคม ในปี 2010 จนสิ้นเสียงกระสุนในวันที่ 20 พฤษภาคม 2010 พบความสูญเสียของประชาชนในแง่จำนวนและความรุนแรงมีระดับใกล้เคียงกันกับสองเหตุการณ์ที่กล่าวมา

รายงานการสลายการชุมนุมครั้งนั้น ที่ใกล้เคียงกับคำนิยามของคณะกรรมการแสวงหาความจริงมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ อย่าง ‘ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553’ (ศปช.) ชี้ให้เห็นภาพรวมของการสลายการชุมนุมต่อคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ว่า

“รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ และกองทัพ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และละเมิดกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนักในการสลายการชุมนุม มีการระดมกำลังพลของกองทัพถึง 67,000 นาย มีการเบิกจ่ายกระสุนจริงถึง 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด เท่ากับมีการใช้กระสุนจริงไปทั้งสิ้น 117,923 นัด มีการเบิกจ่ายกระสุนสำหรับการซุ่มยิง (สไนเปอร์) 3,000 นัด ส่งคืนเพียง 880 นัด เท่ากับใช้ไป 2,120 นัด และมีการประกาศ ‘เขตกระสุนจริง’ ต่อผู้ชุมนุมอย่างเปิดเผย และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 84 ราย (เจ้าหน้าที่ 10 ราย) และบาดเจ็บอีกกว่า 1,400 คน”

จนถึงปัจจุบันผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ยังไม่ได้มีการใช้ข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมาเอาผิดผู้สั่งการแต่อย่างใด

แน่นอน เป็นภาพจริงที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากประเทศเกาหลีใต้ ที่มีความรุนแรงทางการเมืองคล้ายคลึงกัน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

 

ระบอบการเมืองกับความรุนแรง

ในหนังสือที่ชื่อว่า The Politics of Collective Violence ของนักรัฐศาสตร์ที่ค้นคว้าในทฤษฎีเกี่ยวกับความรุนแรง ตีพิมพ์ออกมาในปี 2003

ชาร์ลส์ ทิลลี (Charles Tilly) เสนอว่า ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากรัฐบาลเผด็จการและประชาธิปไตย แต่หัวใจสำคัญของความสูญเสียจากความรุนแรงนั้น จำต้องพิจารณาผ่านระบอบการเมือง (regime) ซึ่งกว้างไกลกว่าการมองเพียงตัวรัฐบาล (state) อันหมายถึงรัฐเป็นเพียงกลไกหนึ่งในองค์ประกอบของความรุนแรงทั้งหมด ทิลลีพบว่า รัฐที่มีการใช้ความรุนแรงเข้มข้นที่สุด เกิดขึ้นในรัฐเผด็จการที่มีโครงสร้างแข็งแรง ขณะที่ในระบอบเผด็จการแบบอ่อน ศักยภาพในการใช้ความรุนแรงยังมีอยู่อย่างจำกัด ส่วนรัฐประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จะมีศักยภาพในการใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองในยามที่จำเป็น

เช่น กรณีการจลาจลในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต่างๆ จะถูกเหนี่ยวรั้งด้วยกฎกติกาทางการเมือง และการตรวจสอบทางการเมือง ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวทำให้เข้าใจประสิทธิภาพของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐมากยิ่งขึ้น

กรณีของไทย ความสูญเสียของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี 1992 และ การเรียกร้องให้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2010 นั้น ระบอบการเมืองมิได้เป็นเผด็จการรวมศูนย์แต่อย่างใด แต่เป็นระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง หรือกล่าวในภาษาของ ชาร์ลส์ ทิลลี นั่นคือ เผด็จการแบบอ่อน ที่ไม่ได้ขยายพื้นที่การปราบปรามอย่างรุนแรงแบบระบอบเผด็จการเข้มแข็ง แต่ก็มีความโหดร้ายรุนแรงในระดับสูง

หากมองตามกรอบคิดนี้แล้ว จะช่วยให้เห็นว่า ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งเป็นแค่ไม้ประดับ แต่เผด็จการมีอำนาจนำนั้น ก็สามารถนำไปสู่การ ‘อาชญากรรมโดยรัฐ’ หรือปกปิดข้อเท็จจริงจากความรุนแรงนั้นได้ต่อไป ดังที่ปรากฏให้เห็นในความรุนแรงในเดือนพฤษภาคมทั้งสองเหตุการณ์ของไทย

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองในรัฐสภากับสถาบันกองทัพที่ยังมีอำนาจสูง ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการชำระสะสางความจริงและความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาหลังการปราบปรามประชาชนทั้งสามเหตุการณ์บอกความจริงนี้ให้แก่เรา

สักวันหนึ่งหวังใจว่า ผู้มีอำนาจที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน บางคนอาจจะต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเองในอดีต ทั้งการสนับสนุนการปราบปรามประชาชน หรือการร่วมโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย และเปลี่ยนมายืนบนหลักการที่วีรชนในเดือนพฤษภาคมทั้งสามเหตุการณ์เคยถางทางไว้ก่อนหน้านี้


ดูเพิ่มเติมที่:
ปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อมูลเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 63

 

 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Illustrator

ชิน เอกก้านตรง
กราฟิกดีไซเนอร์ผู้มีลายเส้นมักน้อย แต่บรรจุความหมายในปริมาณตรงข้ามลายเส้น ‘Shhhh’ เป็นอีกนามหนึ่งที่เขาใช้ผลิตงานศิลปะ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการออกเสียงให้ถูกต้อง แหล่งวัตถุดิบในการทำงานของเขามาจากคณะตลกทั่วฟ้าเมืองไทย เพลงอินดี้พ็อพ เพลงสตริงคอมโบไทยยุคอิเล็กโทนครองเมือง และบาร์หลายแห่งในพระนครยามค่ำคืน (ศิลปกรรม WAY ถึงปี 2560)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า