On this day: 18 พฤษภาคม 2523 รำลึก ‘เหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู’ ในวันที่เผด็จการเกาหลีสั่งฆ่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

เดือนพฤษภาคม ประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองชวนให้รำลึกมากมายหลากเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น พฤษภาทมิฬ (17 พฤษภาคม 2535) เหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง 94 ศพ (19 พฤษภาคม 2553) และเหตุการณ์รัฐประหาร ยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (22 พฤษภาคม 2557)

ชอนดูฮวาน (Chun Doo-hwan)

ในเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเกาหลีใต้ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองเช่นกัน นั่นคือ ‘เหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู’ หรือ ‘การก่อการกำเริบควังจู’ (Gwangju Uprising) ซึ่งเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ภายใต้การปกครองของ ชอนดูฮวาน (Chun Doo-hwan) อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผู้นำเผด็จการทหารที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก และออกคำสั่งปราบปรามผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยในเมืองควังจู ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ 

ย้อนรอยก่อนเกิดเหตุการณ์ ‘18 พฤษภาคม สังหารหมู่ควังจู’

หากมองกลับไปจะพบว่า ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ได้เริ่มก่อตั้งและมีกิจกรรมชัดเจนเป็นอย่างมากตั้งแต่ช่วงปลายยุคเผด็จการอันยาวนานของ พัคจองฮี (Park Chung-hee) อดีตผู้นำเผด็จการทหารที่ได้อำนาจปกครองประเทศจากการรัฐประหาร ผู้ซึ่งครองอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างยาวนานถึง 18 ปี และถูกลอบสังหารในวันที่ 26 ตุลาคม 2522

พัคจองฮี (Park Chung-hee)

ภายหลังการเสียชีวิตของพัคจองฮี จึงได้มีการสอบสวนเกิดขึ้น นำโดย ชอนดูฮวาน ในฐานะผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคงขณะนั้น จากนั้นในเวลาต่อมาเพียงไม่ถึง 2 เดือน ชอนดูฮวานก็ได้ทำการรัฐประหารในวันที่ 12 ธันวาคม 2522 ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้บรรยากาศของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ดูเหมือนจะผ่อนคลายลงไปในช่วงก่อนหน้า ก็ได้กลับมาปะทุและนำไปสู่การลุกฮืออีกครั้ง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อการกำเริบควังจู 

ในขณะที่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาลง ซ้ำยังนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านกฎอัยการศึกครั้งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณสถานีรถไฟโซล ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2523 โดยมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุม

เมื่อเริ่มมีผู้ประท้วงและชุมนุมมากขึ้น ทว่าชอนดูฮวานกลับตอบโต้ด้วยการขยายขอบเขตบังคับใช้กฎอัยการศึกออกไปทั่วประเทศในวันที่ 17 พฤษภาคม รวมถึงอาศัยข้ออ้างทางความมั่นคงเพื่อบุกที่ประชุมของแกนนำนักศึกษา 55 มหาวิทยาลัย และจับกุมนักการเมือง 27 คน ในข้อหายุยงให้เกิดการชุมนุมประท้วง

‘การปราบจลาจลซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง’ ข้ออ้างที่รัฐบาลเผด็จการใช้แทนคำสั่งฆ่า

จากการลุกฮือของประชาชนจนเกิดการชุมนุมขนาดใหญ่ นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ควังจูในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2523 

ทหารเกาหลีใต้ได้ใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านการขยายเวลาบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศภายใต้คำสั่งของชอนดูฮวาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 165 ราย และบาดเจ็บอีกราว 1,000 คน

นอกจากการออกคำสั่งยิงประชาชนแล้ว ยังมีรายงานว่ามีการซ้อมทรมานผู้ชุมนุมชายและละเมิดทางเพศผู้ชุมนุมหญิงที่ถูกจับกุมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้น 10 วันแห่งการสังหารหมู่ ก็ทำให้เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านจากยุคเผด็จการทหารมาสู่ประชาธิปไตยในที่สุด แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตประชาชนจำนวนมหาศาล

แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 40 ปี แต่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา มีรายงานจากเว็บไซต์ The Korea Herald ว่าอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุนแจอิน (Moon Jae-in) ผู้ซึ่งสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ได้แถลงการณ์ในพิธีรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ว่า มุนแจอินสั่งรื้อฟื้นการไต่สวนเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาใหม่ โดยระบุว่า ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อลงโทษผู้ก่อเหตุ แต่เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การเกิดความสมานฉันท์

ในขณะที่เครือข่ายญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Korea Herald ไว้ว่า พวกเขาจะไม่มีวันลืมสิ่งที่ชอนดูฮวานทำไว้ และจะจดจำเขาในฐานะฆาตกรต่อไป

‘มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคม’ จากเกาหลีใต้ถึงกรุงเทพฯ อีกหนึ่งแรงสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย

จากเหตุการณ์สังหารหมู่ 18 พฤษภาคม นำไปสู่การก่อตั้ง ‘มูลนิธิรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม’ และได้ประกาศจุดยืน รวมถึงให้การสนับสนุนนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ โดยล่าสุดในปี 2564 มีการประกาศมอบรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชนให้แก่ อานนท์ นำภา หรือ ‘ทนายอานนท์’ 

พิธีมอบรางวัลได้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากอานนท์ยังคงถูกคุมขังอยู่ ณ ขณะนั้น ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้สะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้่นในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า