วันที่ 9 มีนาคม 2566 คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 (คปช.53) นำโดย ธิดา ถาวรเศรษฐ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนและขอความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีกรณีการปราบปรามประชาชนปี 2553 เพื่อทวงคืนความยุติธรรมแก่คนเสื้อแดง ที่กระทรวงยุติธรรม แจ้งวัฒนะ
ย้อนกลับไปในปี 2553 ปฏิบัติการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในวันที่ 10 เมษายน ปฏิบัติการปิดล้อม สกัดกั้น และใช้อาวุธกับประชาชนบริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม และปฏิบัติการสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมปีเดียวกัน เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 99 ศพ และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
วันที่ 16 เมษายน 2553 คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม มีมติให้การกระทำความผิดทางอาญา กรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไปในราชการอาณาจักร รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน หรือที่เรียกว่า คดีเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นคดีพิเศษ
หลังผ่านมา 13 ปี มีการชันสูตรพลิกศพจนศาลมีคำสั่งในหลายสำนวนแล้วว่า สาเหตุการตายของประชาชนเหล่านี้เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้กระทำความผิด ผู้สั่งการ หรือผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษแต่อย่างใด ขณะที่ประชาชน ผู้ชุมนุม และแกนนำ กลับถูกจับกุมคุมขังและดำเนินคดีจำนวนมาก
คปช.53 ยังเห็นว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง จนทำให้คดีต่างๆ ไม่ดำเนินไปตามกระบวนการที่ถูกต้องและตามอำนาจหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ตาย ญาติผู้ตาย และประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก
คปช.53 จึงเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้กำกับดูแลกรมสืบสวนคดีพิเศษ ดังนี้
- สั่งการและเร่งรัดกรมสอบสวนคดีพิเศษให้เปิดเผยข้อมูลที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว และให้ตรวจสอบกรณีที่ได้ดำเนินการไปแล้วว่าสำนวนสอบสวนและรายงานชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่
- สั่งการไปยังกรมคุ้มครองสิทธิ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีหรือความผิดที่ถูกกล่าวหาแล้ว
- ปัจจุบันมีประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองกับฝ่ายรัฐถูกจับกุม คุมขัง และอยู่ระหว่างดำเนินคดี ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมราชทัณฑ์อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม ดังนั้นจึงควรจัดสถานที่ควบคุมผู้ถูกคุมขังเหล่านั้นแยกต่างหากจากนักโทษคดีทั่วไป
- เนื่องจากผู้ต้องในคดีการเมืองจำนวนมากไม่ได้รับการประกันตัว จึงใคร่ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหารือกับทางศาลเกี่ยวกับสิทธิประกันตัวของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามสนธิสัญญาต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ และเป็นไปตามนิติรัฐ นิติธรรมสากล รวมทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 29 วรรค 2 ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” มาตรา 29 วรรค 3 “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” และมาตรา 29 วรรค 5 “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ธิดา ถาวรเศรษฐ ตัวแทนของ คปช.53 เคยยื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานรัฐอื่นๆ และตัวแทนพรรคฝ่ายค้านมาแล้ว เพื่อทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงและประชาชนที่ถูกกระทำจากการเป็นผู้เห็นต่างทางการเมือง และเพื่อยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของผู้มีอำนาจในสังคมไทย
ทั้งนี้ คปช.53 ก่อตั้งขึ้นช่วงปลายปี 2565 โดยคนเสื้อแดง ญาติของคนเสื้อแดง แกนนำคนเสื้อแดง ทนายความ นักวิชาการและองค์กรต่างๆ ตลอดจนแนวร่วมประชาชนผู้รักความยุติธรรม
ที่มา
- เฟซบุ๊กธิดา โตจิราการ
- Friends Talk
- คปช.53 ยื่นหนังสือฝ่ายค้าน เสนอนโยบายทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง ลงนาม ICC