Bastille Day สัญลักษณ์ปลดแอก ชนวนปฏิวัติฝรั่งเศส

14 กรกฎาคม เป็นวันที่ชาวฝรั่งเศสต่างออกมาเฉลิมฉลอง พบปะ พร้อมกับเอื้อนเอ่ยคำอวยพรแก่กันและกันว่า “Bonne fête nationale” หรือ “สุขสันต์วันชาติ” 

อะไรทำให้วันนี้สำคัญกับชาวฝรั่งเศสมากจนกลายเป็นวันชาติฝรั่งเศส หากย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 วันนี้เองเป็นวันที่ชาวฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเหล่าปัญญาชน บรรดาพ่อค้าแม่ค้า แรงงาน และประชาชน ต่างยกพล ย่ำเท้า และเดินขบวนประท้วง โดยจุดมุ่งหมายหลักคือ การบุกทลายคุกบาสตีย์ (Bastille) ซึ่งเป็นสถานที่กักขังนักโทษการเมือง เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอกจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) และได้จุดประกายให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) จุดพลิกผันสำคัญของประเทศในเวลาต่อมา

คุกบาสตีย์ ถูกสร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 14 ในช่วงของสงครามร้อยปี (Hundred Years’ War) ระหว่างประเทศอังกฤษกับฝรั่งเศส คุกแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันทางเข้าด้านตะวันออกของกรุงปารีส มีแนวกำแพงหินสูงราว 100 ฟุต ตั้งตระหง่าน ดูน่าเกรงขาม ในช่วงเวลาของการบุกทลายคุกบาสตีย์ มีนักโทษที่ถูกคุมขังหลงเหลืออยู่เพียง 7 รายเท่านั้น ได้แก่ ผู้ต้องหาปลอมแปลงเอกสาร 4 ราย บุคคลวิกลจริต 2 ราย และขุนนางผู้มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากพวกพ้อง 1 ราย

เหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์นี้ เกิดจากความโกรธเคืองและความคับแค้นใจของราษฎรชาวฝรั่งเศสที่ปะทุออกมา เนื่องจากในรัชสมัยนั้นฝรั่งเศสต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมหาศาล เช่น ภาระหนี้สินจากการเข้าร่วมสงครามในดินแดนอเมริกาเพื่อให้ได้รับเอกราชจากอังกฤษ รวมถึงการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยของบรรดาราชวงศ์ จนทำให้ในช่วงปลายทศวรรษ 1780 รัฐบาลฝรั่งเศสต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน จนต้องเก็บภาษีจากประชาชนสูงขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ความล้มเหลวจากการปลูกพืชผล อันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางในปี 1788 ก็ยิ่งตอกย้ำ ซ้ำเติม กระทบต่อปากท้องประชาชน จนทำให้ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะอดอยาก ความยากแค้นปกคลุมทั่วทั้งประเทศ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น แม้แต่ขนมปังก็มีราคาแพงเสียจนประชาชนไม่อาจเอื้อมถึง รวมถึงมีการปล้นชิงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น การบุกปล้นร้านขนมปังเพื่อนำอาหารมาประทังชีวิตตน

แม้การบุกทลายคุกบาสตีย์จะไม่ได้มีเป้าหมายหลักเพื่อปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นเชิงสัญลักษณ์ของการปลดโซ่ตรวน และความไม่จำนนต่อการกดขี่ของระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศส 

ปัจจุบันคนส่วนหนึ่งมองว่าคุกหรือเรือนจำเป็นรูปแบบหนึ่งของการกดขี่ และเริ่มออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นในการมีอยู่ของเรือนจำ หากย้อนกลับไปในอดีต คุกเคยเป็นสถานที่กักขังชาวแอฟริกันที่ตกเป็นเชลย รวมถึงชนพื้นเมืองที่ถูกคนขาวปล้นชิงดินแดน กระแสของการต่อต้านรูปแบบการกดขี่โดยการดำรงอยู่ของเรือนจำ (prison abolition) จึงได้ปรากฏให้เห็น 

มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า คุกนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้นักโทษกลับตัวกลับใจ และสามารถกลับคืนสู่สังคม หรือออกแบบมาเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์กันแน่ การจับนักโทษมาขังคุก กดทับให้อยู่ในสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดจริงๆ หรือไม่ 

ทุกวันนี้หลายคนมองว่าคุกเป็นพื้นที่กักขังคนทำผิด ผลักให้เป็นปัญหาของปัจเจก จนหลงลืมการมองไปถึงรากเหง้าของปัญหาเชิงโครงสร้าง ผู้ต้องขังจำนวนมากที่อยู่ในนั้นส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จนเกิดวลีที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”

จะเป็นไปได้หรือไม่ หากสักวันหนึ่ง ผู้คนจำนวนมากในสังคมจะเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของเรือนจำ หันมามองลึกถึงรากเหง้าของปัญหาความเหลื่อมล้ำ และให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สังคมที่ปลอดภัย และร่วมกันแสวงหาหนทางหรือมาตรการอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังสามารถกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองคนหนึ่งได้อย่างมีคุณภาพ ปราศจากโซ่ตรวนแห่งการถูกกักขังให้จมปลักอยู่กับสภาพแวดล้อมอันแฝงไปด้วยระบอบการกดขี่ในเรือนจำ

อ้างอิง

อวิกา กันยาแสงศรี
เด็กปาก(กา)แจ๋วในทวิตเตอร์ผู้ผันตัวมาเป็นนัก(อยาก)เขียน เฟมินิสต์และแพนเซ็กชวลผู้หลงใหลในบทเพลงและสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกรูปแบบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า