BEHOLDER: ห้องพักส่วนตัวที่ไม่เป็นส่วนตัว

เคยไหม…เวลาที่เรากลับมาถึงห้องพักแล้วรู้สึกว่าทุกอย่างดูแปลกไป สิ่งของเครื่องใช้ดูผิดที่ผิดทาง ของที่ควรมีกลับหายไป ของที่ไม่ควรมีกลับมี เจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่เคยคุยกับเราแค่ไม่กี่หน แต่กลับรู้ทุกเรื่องของเรา แถมวันดีคืนดียังมีจดหมายลึกลับส่งมาแบล็คเมลเราด้วย!

Beholder คือเกม Indy ประเภทวางแผน (Adventure /Strategy) ที่จะทำให้คุณได้สวมบทบาทเป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลเผด็จการกำลังควบคุมอยู่ แน่นอนว่าด้วยหน้าที่การงานและครอบครัวที่ต้องดูแล ทำให้คุณต้องกลายเป็นเจ้าของหอพักจอมสอดรู้ และต้องทำทุกวิถีทางในการสอดส่องเหล่าผู้เช่าของตัวเองเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดและนำไปแจ้งต่อรัฐตามคำสั่งจากเบื้องบน โดยจะมีคำสั่งลงมาเป็นช่วงๆ ให้เราเก็บข้อมูลกับคนที่รัฐต้องการจะจับตามอง นอกนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงผู้เช่าทั่วไปที่ไม่มีความสำคัญเท่าไหร่

เราต้องเก็บข้อมูลผู้เช่าเหล่านี้ทั้งหมด เพราะข้อมูลของพวกเขาเป็นประโยชน์กับเรามาก นอกจากจะส่งให้รัฐเพื่อแลกกับเงินได้แล้ว เรายังสามารถปั่นหัวพวกเขาได้ด้วย ข้อมูลการกระทำผิดบางอย่างของผู้เช่าก็ทำให้เราหาเงินได้ง่ายๆ ด้วยการส่งจดหมายแบล็คเมลเพื่อขู่เอาเงิน หรือถ้ามากกว่านั้นเราก็แอบเข้าไปในห้องของพวกเขาเพื่อยัดสิ่งผิดกฎหมายก็สามารถทำได้ เพราะเงินที่ได้จากการแบล็คเมลนั้นมากจริงๆ 

มันอาจจะฟังดูแย่ แต่เมื่อสถานการณ์บังคับและครอบครัวของเรากำลังจะตายเพราะขาดเงิน หนทางดิ้นรนอย่างสุจริตในรัฐเผด็จการจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ และถ้าหากเราต้องการปกป้องครอบครัว ทางเดียวที่จะรอดคือการเหยียบย่ำชีวิตผู้อื่นขึ้นไป ถึงแม้ว่ามันจะเป็นหนทางที่ต่ำช้าก็ตาม 

ปฏิเสธ ต่อรอง ขโมยของ และแบล็คเมล

หลักๆ แล้วเกมนี้จะดำเนินด้วยการเล่นเควสต์ตามที่เราได้รับคำสั่งจากทางโทรศัพท์ และต้องทำภารกิจนั้นในระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีการวางแผนที่ค่อนข้างดี เพราะบางครั้งก็เป็นคำสั่งแบบกระชั้นชิดไม่กี่ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มีเวลาพอสมควรที่เราจะได้ทำงานและใช้เวลาไปกับเควสต์ทั่วไปจากผู้เช่ารายอื่นที่อยู่ภายใต้การดูแลของเรา

วิธีการเล่นเกมนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูล ซึ่งการเก็บข้อมูลก็มีตั้งแต่วิธีทั่วไปอย่างการชวนพูดคุย ไปจนถึงการแอบดูผ่านช่องประตู แต่การเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นการติดกล้องวงจรปิดในห้องผู้เช่าของเรา แล้วเข้าไปตรวจสอบข้าวของของผู้เช่าในตอนที่พวกเขาไม่อยู่ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากส่วนนี้ค่อนข้างมีประโยชน์และทำเงินให้เราพอสมควร เราสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปส่งให้กับรัฐเพื่อแลกกับเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้เช่า เช่น งานอดิเรก ของสะสม แต่ถ้าพบสิ่งผิดกฎหมายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องคิดว่าจะจัดการกับมันยังไงดี

แน่นอนว่าการทำงานสุจริตไม่อาจทำให้มีเงินพอใช้สักเท่าไหร่สำหรับเกมนี้ ดังนั้นสิ่งที่เกมนี้เปิดโอกาสให้เราทำคือ การแบล็คเมลและขโมยของผู้เช่าของเราไปขายให้พ่อค้าของเถื่อนที่มายืนรอหน้าอพาร์ตเมนต์ทุกคืน ซึ่งมันทำเงินค่อนข้างดี แต่ก็ต้องระวัง เพราะถ้าขโมยจนเกินโควตา เจ้าหน้าที่รัฐก็จะออกหมายจับเรา แล้วถ้าเราจ่ายค่าปรับไม่ได้และกระทำผิดซ้ำก็จะถูกปรับแพ้ไป (ยกเว้นว่าเราจะขโมยแต่ของแพงๆ ไปขาย จึงจะมีเงินมากพอสำหรับจ่ายค่าปรับ)

นอกจากนี้แล้วในเกมยังมีเควสต์ทั่วไปทั้งจากผู้เช่าและคนนอกที่มักจะขอให้เราทำสิ่งต่างๆ ให้ ซึ่งบางอย่างก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรร้ายแรงต่อเรานัก เราสามารถเพิกเฉยต่อเควสต์และปฏิเสธที่จะไม่ทำมันได้ เพราะค่อนข้างเสียเวลา อีกทั้งเรายังมีวิธีที่ง่ายกว่านั้นในการจัดการเรื่องนี้ บางครั้งถ้าคำขอนั้นดูจริงจัง เราก็สามารถต่อรองเพื่อค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อได้

ผู้เช่าที่ประวัติไม่ธรรมดา

การเป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์ทำให้เราเจอผู้เช่าหลากหลายรูปแบบและมีหลายเรื่องราว แต่ละตัวละครมีเรื่องราวที่น่าสนใจและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเต็มไปหมด ตั้งแต่ผู้เช่ารายแรกไปจนถึงรายสุดท้าย มีตั้งแต่คู่สามีภรรยาที่เคยเป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์มาก่อนและฝักใฝ่เรื่องการปฏิวัติ กะลาสีเรือที่แวะมานอนไม่กี่คืนแต่ฝากเราขายปลา คุณหมอที่อยากจะมีความรัก วีรบุรุษสงครามที่มาพักผ่อน คนจากกลุ่มกบฏที่มาขอพักชั่วคราว ชายหนุ่มผู้โชคดีที่ถูกรางวัลใหญ่ คุณป้าบรรณารักษ์ที่รักหนังสือมาก หรือแม้แต่ผู้หญิงที่หนีจากสามีที่เสพติดการใช้ความรุนแรง ตัวละครแต่ละตัวมีพื้นเพแตกต่างกันไป ทำให้ทั้งอุปนิสัยและการพูดต่างกัน เราต้องค่อนข้างให้ความสนใจกับการจดจำตัวละครพอสมควร เพราะเกมนี้มีตัวละครค่อนข้างเยอะ

ตัวละครแต่ละตัวมีความพิเศษและลักษณะจำเพาะของตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวพันกับเควสต์ที่เรารับมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งถ้าหากเราเก็บข้อมูลละเอียดมากพอก็จะสามารถแก้ไขปัญหาจากเควสต์ที่เรารับมาได้ไม่ยากเย็น ของที่เราต้องการบางครั้งก็อยู่ในห้องของใครสักคนที่เช่าอยู่ หรือถ้าเราอยากหาคนมารักษาลูกสาวก็อาจจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหมอที่เป็นผู้เช่าของเรา หรืออาจเป็นเงินพิเศษเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้จากการช่วยขายปลา แต่ผู้เช่าเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเหมือนคนปกติทั่วไป บางครั้งถ้าหากเราตอบไม่ดีหรือแก้ปัญหาได้ไม่ถูกใจเขา เขาอาจจะควักปืนออกมายิงเราตายได้ง่ายๆ เลย ฉะนั้นเวลาตอบคำถามหรือรับปากคนเหล่านี้จึงต้องระมัดระวังพอสมควร ต่อให้เป็นคนที่ดูไม่มีพิษมีภัยอย่างคุณป้าบรรณารักษ์ก็อย่าวางใจไป เพราะคุณป้าก็พกปืนเป็นเหมือนกัน (…)

บรรยากาศในเกมที่คลับคล้ายคลับคลา

‘ห้ามพูดคุยถึงเสรีภาพ’

‘กลุ่ม NEW TOMORROW คือศัตรูของชาติ’

‘ห้ามกินหรือครอบครองแอปเปิล!’

‘การอ่านหนังสือคือสิ่งผิดกฎหมาย’

กฎหมายประหลาดๆ และการพยายามสร้างภาพศัตรูซึ่งก็คือกลุ่มกบฏขึ้นมานั้น เป็นบรรยากาศที่ไม่ต่างจากฉากในนวนิยาย 1984 ที่มีเหล่าพี่ใหญ่ (Big Brother) คอยจับตามองเราทุกฝีก้าว และควบคุมพฤติกรรมของเราให้เป็นไปตามที่เหล่าพี่ใหญ่ต้องการ โดยในหนังสือ 1984 จะใช้จอทีวีในการจับตามองประชาชนของตัวเอง แต่กับเกม Beholder จะใช้กล้องวงจรปิดและ ‘เรา’ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของระบบเฝ้าระวังความมั่นคงที่อาจจะเป็นภัยต่อรัฐ

“Big Brother is Watching You!”

อาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ตามนั้นจริงๆ ถ้าหากว่าไม่มีเราที่เป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่ตั้งใจทำงานเกินหน้าที่และหมั่นส่งข้อมูลกลับไปยังรัฐ ถึงแม้ว่าข้อมูลที่เราได้มาจะเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้เช่าที่เราไม่มีความจำเป็นต้องเก็บด้วยซ้ำ แน่นอนว่าตัวเกมก็ไม่ได้ปล่อยให้เราเล่นเป็นมือเป็นเท้าของรัฐเผด็จการอย่างเดียว เพราะเหล่ากลุ่มกบฏ NEW TOMORROW ก็เห็นแววในตัวเราเหมือนกัน พวกเขาจะเข้าหาเราเพื่อผลประโยชน์ระหว่างกัน

เราสามารถตีบทสองหน้าด้วยการให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏไปพร้อมๆ กับรับใช้รัฐเผด็จการ แต่บ่อยครั้งระหว่างที่เราทำงานก็รู้สึกสงสัยเหมือนกันว่า ตัวเราเองก็กำลังถูกจับตามองอยู่หรือเปล่า เพราะหลายครั้งที่เหล่าเจ้าหน้าที่รัฐมักเข้ามาจับกุมเราในขณะที่กำลังขโมยของอยู่ ความจริงแล้วกล้องวงจรปิดที่เราไล่ติดในแต่ละห้องอาจจะไม่ได้ใช้เพื่อเป็นดวงตาของเรา แต่เป็นดวงตาให้กับรัฐที่ต้องการจะจับตามองประชาชนทุกคนเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการต่อต้านขึ้น แต่แน่นอนว่าระบอบอันผิดปกติที่ดำเนินมานานย่อมถูกต่อต้าน หูตาของรัฐอาจไม่ได้มีทุกที่ แต่ ‘เพื่อน’ ของกลุ่มกบฏนั้นมีอยู่ทุกที่

การกระด้างกระเดื่องเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย จากหนังสือพิมพ์ฉบับประชาชนที่ถูกแนบไว้ข้างหลังฉบับของรัฐเพื่อประกาศถึงความจริงที่เกิดขึ้น การติดป้ายผ้าต่อต้านเผด็จการ ไปจนถึงการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลเพื่อรวบรวมพลังและความคิดของประชาชนให้ลุกขึ้นมาขัดขืนต่อรัฐเผด็จการที่นับวันยิ่งจะบ้าอำนาจและเข่นฆ่าผู้คนไม่ต่างจากผักปลา

หนี่งในการต่อต้านที่เคยเกิดขึ้นในไทยและสัมผัสได้ถึงบริบทที่คล้ายกันคือ การรณรงค์กินแซนด์วิชต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวคือ เหล่านิสิตจากศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) โดยจัดเป็นกิจกรรมที่ชื่อว่า ‘ไม่อะไรมว๊าก อยากกินแซนด์วิช’

กิจกรรมครั้งนั้นจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนถึงวันครบรอบ 1 เดือนรัฐประหาร แต่เมื่อกิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้น เหล่านักศึกษา ศนปท. ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมไปปรับทัศนคติแทบจะทันที ซึ่งการกระทำเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากพี่ใหญ่ในหนังสือ 1984 สักเท่าไหร่ ที่มองว่าการครอบครองแอปเปิล (การกินแซนด์วิช) เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง 

ศีลธรรมหรือครอบครัว

บ่อยครั้งที่เรากำลังเพลิดเพลินกับการเล่นและเรื่องราวของผู้เช่าแต่ละคน แต่ก็แทบจะทุกช่วงของเกม ครอบครัวของเรามักจะเกิดปัญหาที่ต้องใช้เงินขึ้นมาเสมอ และมันก็เป็นเงินจำนวนที่สูงมากจนเราแทบจะไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าจะใช้วิธีสุจริตหามายังไง มันมากเสียจนถ้าเราเลือกที่จะทำตามแค่คำสั่งของรัฐแล้วไม่เล่นพลิกแพลงหรืออะไรเลยก็อาจจะทำให้เราสูญเสียครอบครัวของเราไป สมาชิกครอบครัวที่มักจะอยู่กันพร้อมหน้าในชั้นใต้ดินก็จะหายหน้าไปทีละคนเมื่อเราหาเงินมาได้ไม่ทัน หรือถ้าหากเราเลือกคนใดคนหนึ่งก็อาจจะทำให้คนที่ไม่ถูกเลือกหายไปตลอดกาล

แทบทุกอย่างและทุกวินาทีที่เกมนี้บีบคั้นให้เราเลือกที่จะหยิบตัวตนส่วนลึกของตัวเองขึ้นมา ตัวตนที่เราซุกซ่อนเอาไว้ไม่ให้ใครเห็นเพราะรู้ว่ามันไม่ควรมีอยู่ อาจจะถูกหยิบมาใช้เพื่อให้เราสามารถต่อกรกับเรื่องราวที่เราตัดสินใจทำเพื่อครอบครัวของเราได้ เราอาจจะกลายเป็นฆาตกรที่ฆ่าคนที่มาเช่าอพาร์ตเมนต์ของเราเพื่อแลกกับเงิน หรือแม้กระทั่งหาแพะมาให้โดนฆ่าแทนคนในครอบครัวตัวเอง

สถานการณ์ในเกมนี้บีบคั้นให้เราเลือกหนทางที่เราคิดว่าดีที่สุด แม้ว่าบางครั้งมันอาจจะเป็นวิธีการที่เลวร้ายและเราคิดว่ามันถูกต้องที่สุดแล้ว แต่บางครั้งมันก็ไม่เป็นไปตามที่เราคิดอยู่ดี การมีฉากจบหลายแบบของเกมนี้ทำให้เราแทบจะไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ทั้งนั้น ทุกการกระทำและการตัดสินใจส่งผลกระทบต่อกัน แล้วถ้าหากเราเลือกได้ไม่ดีพอ การกระทำทุกอย่างที่เราพยายามมาตลอดก็อาจสูญเปล่า

การได้ลองสวมบทบาทในเกมนี้จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนอะไรสักอย่างในตัวเอง ทั้งอุดมการณ์ทางการเมือง มุมมองทางด้านศีลธรรมของเราในแต่ละเรื่องที่มีทั้งต่อการกระทำของตัวเองและเรื่องราวของเหล่าผู้เช่าที่ร้องขอความช่วยเหลือจากเรา บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า แต่หลายครั้งเราก็ได้รับคำขอบคุณผ่านทางจดหมาย บางครั้งก็เป็นคำก่นด่าแหบห้าวจากรัฐที่เราทำหน้าที่ไม่ได้ดั่งใจ เราอาจจะยืดอกรับมันด้วยความเต็มใจหรือหงุดหงิดมากกว่าเดิม เพราะเราเองก็ไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนี้เหมือนกัน ความรู้สึกที่หลากหลายและสับสนปนเปทำให้เราแทบจะเผลอถอนหายใจยาวๆ ทุกครั้งหลังจากที่ฉากจบปรากฏขึ้น ไม่ว่าเราจะรอดชีวิตหรือไม่ก็ตาม เพราะการกระทำที่ผ่านมาของเรานั้นอาจจะทำให้เรารู้สึกไม่ ‘ควรค่า’ กับฉากจบแบบนี้ก็ได้

ฐิติพร อ่อนบ้านแดง
เด็กนิเทศที่มีอีกร่างเป็นแมวสีเทา ติดเป๊ปซี่กับนิยายวาย เวลาว่างส่วนใหญ่ที่มีถูกใช้กับการหาซื้อหนังสือใหม่ๆ มาอ่านแต่ก็ไม่ได้อ่านสักที

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า