คำว่า ‘เพื่อน’ ของคุณหมายความว่าอย่างไร?
ถ้าให้อธิบายบางคนอาจเขียนได้เป็นหน้ากระดาษ บางคนอาจเขียนไม่ได้เลย แต่ถ้ายกความหมายจากราชบัณฑิตยสภา ‘เพื่อน’ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสถานะทางสังคม ถูกอธิบายไว้ว่า
เพื่อน ในภาษาไทยเป็นคำที่มีความหมายกว้าง อาจหมายถึง ผู้ที่มีสถานะเกี่ยวข้องกันแบบใดแบบหนึ่ง ตั้งแต่รักใคร่สนิทสนมกันมากถึงกับร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน จนถึงเกิดมาร่วมโลกโดยไม่รู้จักกันเลยก็ได้
แล้วคำว่า ‘เพื่อนสนิท’ กับ ‘เพื่อนสนิทสมัยเด็ก’ สำหรับคุณต่างกันไหม?
บางคนว่าไม่ต่าง บางคนก็ว่าต่าง
แต่รู้หรือไม่ว่า มิตรภาพเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ชีวิตของคุณอยู่ดีมีสุขได้ด้วย นี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกล่าวอ้างลอยๆ เพราะมีงานวิจัยจำนวนมากที่ให้คำอธิบายหรือผลสรุปออกมาเป็นทำนองเดียวกัน
อย่างงานวิจัยล่าสุดที่ถูกเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ Child Development ฉบับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รายงานว่า เพื่อนสนิทในวัยเด็กส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเราในวัยผู้ใหญ่ได้
จากการติดตามข้อมูลของวัยรุ่นจำนวน 169 คน โดยแบ่งออกมาเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 15 ปี กลุ่มอายุ 16 ปี และกลุ่มอายุ 25 ปี โดยจากกลุ่มสุดท้ายค้นพบว่า ใครก็ตามที่เพื่อนสนิทสมัยเด็กมีคุณภาพสูง (high quality) – สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ‘เพื่อนสนิท’ หมายถึง คนที่มีการติดต่อกันตลอดเวลา มีการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนกันและกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีความสนใจคล้ายกัน อีกทั้งไม่จำเป็นว่าเพื่อนสนิทจะต้องเป็นคนเดิมทุกปีเสมอไป – มีแนวโน้มที่จะมีความกังวลต่อการเข้าสังคม (social anxiety) น้อยกว่า มีอาการซึมเศร้าน้อยกว่า และมีความภูมิใจในตัวเองมากกว่ากลุ่มที่อยากเป็นป็อปปูลาร์ในหมู่เพื่อน ซึ่งมีแนวโน้มไปในทางตรงข้าม ว่าจะเป็นโรคกังวลต่อการเข้าสังคม เมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่
เรเชล นาร์ (Rachel Narr) หัวหน้างานวิจัยและนักเรียนแพทย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จีเนีย (University of Virginia) แสดงความคิดเห็นว่า
“เราไม่แปลกใจที่เพื่อนสนิทสมัยเด็กมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร แต่เราแปลกใจที่มันส่งผลกระทบต่อกันมา และมีบทบาทสำคัญเมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่”
หรืออีกงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบขั้วตรงข้ามของคนที่ ‘พยายาม’ จะมีเพื่อนสนิทเยอะๆ นั้นสามารถส่งผลร้ายต่อใจได้อย่างไร
ทิม แคสเซอร์ (Tim Kasser) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน อธิบายว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์นั้นมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ ความมีชื่อเสียง (popularity) กล่าวคือ จะช่วยให้เรามีเพื่อนมากขึ้น ขยายขอบเขตกลุ่มเพื่อนออกไปกว้างขึ้น กับอีกข้อคือ ความชอบพอกัน (affinity) ช่วยสร้างความสัมพันธ์กับใครคนหนึ่งได้อย่างสนิทสนมมากยิ่งขึ้น
แม้ทั้งสองจะเป็นสิ่งที่ดี แต่แคสเซอร์ชี้ว่า ใครที่พยายามจะเป็นทั้งที่ชื่นชอบของใครหลายคน มักจะมีความสุขลดลง สุขภาพจิตย่ำแย่ลง และบ่อยครั้งที่จะรู้สึกหดหู่เศร้าหมอง โดยเฉพาะเด็กๆ ที่พยายามจะเป็นใครสักคน เป็น ‘somebody’ และเป็นที่รู้จักของคนทั้งโรงเรียน
“การเป็นคนที่ใครๆ ก็รู้จักในโรงเรียนเป็นเรื่องที่เท่นะ แต่พอคุณอายุ 25 แล้ว ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่คุณต้องการเสมอไปเหมือนเดิมแล้ว สุดท้ายความรู้สึกที่ว่า ‘อยู่ท่ามกลางผู้คนแต่กลับรู้สึกโดดเดี่ยว’ ก็เข้ามากระแทกใจคุณ เมื่อคุณคิดถึงเพื่อนสมัยโรงเรียน และตามมาด้วยความกังวลต่อการเข้าสังคม” นาร์กล่าว