บิตคอยน์ สกุลเงินไร้ชนชั้น

คนไทยแห่ลงสนามการเงินดิจิตอลหลังจากมูลค่าบิตคอยน์พุ่งขึ้นถึง 1,000,000 บาท ในวันที่ 3 มกราคม 2564 ผลักดันแอพพลิเคชั่น Bitkub ของผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลบน App Store กลายเป็น top chart อันดับ 1 แซงหน้าการดาวน์โหลด Line, Facebook และ YouTube ในประเทศไทย

ราคาบิตคอยน์กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลก นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่เริ่มใช้สกุลเงินที่มาจากการผลิตเองโดยใครก็ไม่ทราบแน่ชัด แม้ธนาคารกลางส่วนใหญ่ของโลกยังมีท่าทีไม่แน่ใจเพียงพอที่จะรับรองการใช้สกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้ในการชำระหนี้ตามกฎหมาย แต่เส้นทางชีวิตของบิตคอยน์ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบสิ้น

จุดเริ่มต้น

คริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิตอล สร้างขึ้นจากกลไกคณิตศาสตร์ที่กำหนดจำนวนไว้จำกัด สำหรับเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยน ส่วนใหญ่ทำงานอยู่บนระบบ Blockchain ด้วยวิทยาการแบบเข้ารหัส เพื่อดำเนินประโยชน์ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกรรมแบบนิรนาม ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถกำหนดมูลค่าการซื้อขายกันเองได้อย่างอิสระ ไร้ตัวกลาง ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล และไม่มีลักษณะทางกายภาพที่จับต้องได้เหมือนธนบัตร

ระบบปฏิบัติการ Blockchain คือเครือข่ายการเก็บข้อมูลบนโลกดิจิตอลโดยกระจายข้อมูลนั้นไปยังหลายๆ คน ที่อยู่ในระบบเดียวกัน เปรียบเสมือนการถือสมุดบัญชีธนาคาร ทุกคนจะมีชุดข้อมูลเหมือนกัน และเชื่อมต่อกันเป็นวัฏจักร ส่งผลให้เกิดการกระจายศูนย์อำนาจ โปร่งใส ยังสามารถตรวจสอบได้และมีความปลอดภัยสูง เพื่อรองรับการขับเคลื่อนของเงินคริปโตฯ อย่างสมบูรณ์แบบ ขณะที่มีบางองค์กรเล็งเห็นศักยภาพของ Blockchain จนนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการปฏิบัติงาน เช่น FedEx ผู้ให้บริการจัดส่งของรายใหญ่ของสหรัฐ ใช้ Blockchain เป็นมาตรฐานการดำเนินงานพัฒนาการส่งพัสดุและระบบข้อมูลของลูกค้า

บิตคอยน์ (BTC) สกุลเงินดิจิตอลแรกของโลกเผยโฉมให้เห็นเมื่อปี 2552 เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี Blockchain โดยนักพัฒนาคนเดียวกันมีนามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ เพื่อใช้ดำเนินการธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการ การเทรดค่าเงิน การสะสมทรัพย์ ซึ่งมูลค่าการเติบโตของบิตคอยน์ค่อนข้างสูงกว่าเหรียญอื่นๆ จึงได้รับความนิยม และกลายเป็นภาพจำของคนส่วนใหญ่ว่าลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีคือการลงทุนบิตคอยน์

การได้มาซึ่งบิตคอยน์

มี 3 วิธี

  1. ใช้เงินซื้อเหรียญบิตคอยน์ คล้ายคลึงกับการแลกเงิน เช่น นำเงินบาทไปซื้อบิตคอยน์มาอยู่ในมือของเรา แต่ละช่วงจะมีเรตราคาแลกเปลี่ยนตามราคาท้องตลาด สามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้โดยการเก็งกำไรเหมือนกับการซื้อขายทองคำ พอราคาขึ้นสูงกว่าต้นทุนที่ใช้ซื้อมาสามารถขายออกไปเพื่อเอากำไรได้
  2. การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ โดยชำระเงินเป็นบิตคอยน์แทนสกุลเงินหลัก แล้วแต่ข้อตกลงของผู้ซื้อและผู้ขาย
  3. ขุดบิตคอยน์ด้วยคอมพิวเตอร์ นักขุดบิตคอยน์รับหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีธุรกรรมภายในระบบ Blockchain จะได้รับรางวัลเมื่อทำการตรวจสอบหรือ ‘ขุด’ โดยโปรแกรมสำเร็จ ซึ่งการจะได้รับรางวัลแล้วแต่การจัดสรรของระบบ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างธุรกรรมนั้นๆ รางวัลจำนวนเหรียญที่ระบบตีมูลค่าเป็นเพดานต่อหนึ่งชิ้นงานหรือเรียกว่า Block Reward 
ตัวอย่างการ ‘ขุด’ บิตคอยน์

แท้จริงแล้วสกุลเงินดิจิตอลมีอีกหลายตัว เช่น Ethereum เป็นชื่อของ Blockchain หนึ่ง ผลิตสกุลเงินชื่อว่า Ether (ETH) รั้งตำแหน่งอันดับ 2 ของโลก สร้างขึ้นในปี 2556 โดย วีตาลิค บูเทริน (Vitalik Buterin) โปรแกรมเมอร์ชาวรัสเซีย และ XRP ของบริษัท Ripple ผลิตในปี 2555 ที่รู้จักกันดีไม่น้อยหน้าไปกว่าใคร เนื่องจากมีแพลตฟอร์มแตกต่างจากสกุลเงินดิจิตอลอื่นๆ ด้วยระบบปิด ซึ่งใช้งานเฉพาะธนาคารที่ลงทะเบียนกับบริษัทเท่านั้น ถือเป็นอีกตัวจุดชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาของเหรียญคริปโตฯ เจ้าอื่นเพิ่มสูงขึ้น

5 สาเหตุที่ทำให้บิตคอยน์ราคาพุ่งแตะล้าน

ความสำคัญของราคาบิตคอยน์ถือเป็นการประเมินแนวโน้มของตลาดคริปโตฯ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อในอนาคต แล้วปัจจัยใดที่ทำให้มูลค่าขึ้นลงราวกับรถไฟเหาะ 

1. การฟ้องร้อง Ripple

สกุลเงินดิจิตอลอีกแบรนด์หนึ่งอย่าง XRP จากบริษัท Ripple อยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้องข้อพิพาทกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐ จากกรณีที่ ก.ล.ต. สหรัฐ กล่าวหาว่า XRP เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซ้ำยังมีบริษัทการลงทุนยักษ์ใหญ่อย่าง Tetragon Financial Group หรือบริษัทด้านการลงทุนของประเทศอังกฤษแห่ฟ้องตามหลัง ก.ล.ต. สหรัฐ มาติดๆ ส่งผลให้ชื่อเสียงแทบจะล่มไม่เป็นท่า และเว็บเทรดที่เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิตอลและแพลตฟอร์มการเงินหลายแห่ง เช่น Crypto.com, Coinbase และ OKCoin กำลังดำเนินการถอดถอน XRP ออกจากระบบ ภายในเดือนมกราคม 2564 อาจเป็นเหตุให้นักลงทุนส่วนใหญ่เสียความเชื่อมั่นจึงหนีมาซบอกบิตคอยน์

2. สถานการณ์ COVID-19 หนึ่งปัจจัยสำคัญของการย้ายฐานการลงทุน

มาตรการล็อคดาวน์ กักตัว และ work from home ทำให้การทำงานของประชากรโลกเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ ผลสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ พบว่า  รายได้แรงงานทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 10.7 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด COVID-19

นอกจากนี้ท่าทีความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการบริหารเงินของทุกภาครัฐที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ รัฐบาลหลายประเทศจึงเร่งอัดฉีดเพื่อรักษาสกุลเงินของตัวเอง แสดงสัญญาณของภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

ขณะที่ตลาดหุ้นและการเงินหลักเริ่มชะลอตัว ทำให้นักเทรดเงินตราหันมาสนใจฝั่งตลาดเงินดิจิตอลด้วยมุมมองที่ว่า บิตคอยน์คล้ายกับการลงทุนทองคำในบทบาทของเครื่องป้องกันความเสี่ยง 

3. สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

นี่ก็สืบเนื่องมาจากวิกฤติโรคระบาดเช่นกัน เมื่อสหรัฐมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากตั้งแต่เกิดการแพร่กระจายของ COVID-19 นักวิเคราะห์บางคนระบุว่าการยับยั้งการระบาดของสหรัฐ ตามหลังประเทศอื่นๆ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและหนี้จากการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่วนทางด้านความเชื่อมโยงตามหลักวิเคราะห์คือเงินดอลลาร์สวนทางกับค่าเงินบิตคอยน์ เมื่อเงินดอลลาร์แข็งตัว มูลค่าของบิตคอยต์จะน้อยลงนั่นเอง

4. การหลั่งไหลเข้ามาของสถาบันการลงทุน

นักลงทุนสถาบันยักษ์ใหญ่ระดับโลก อาทิ Square, Paypal, MicroStrategy, GrayScale, SkyBridge และ Fidelity ซึ่งเป็นบริษัทจัดการลงทุนของสหรัฐ ต่างให้ความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอลโดยเฉพาะบิตคอยน์ เห็นได้จากการเปิดให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิตอล การประกาศซื้อบิตคอยน์ และอนุญาตให้ผูกเงินคริปโตฯ กับบัญชีซื้อขายปกติ

ข้อได้เปรียบของบิตคอยน์จากนักลงทุนส่วนใหญ่พบว่า โอกาสเกิดเงินเฟ้อในระบบนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะปริมาณบิตคอยน์ในระบบนั้นมีจำกัดคือมากสุดไม่เกิน 21 ล้านบิตคอยน์เท่านั้น ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกชะงักตัว

Pornhub ก็เป็นหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงให้แก่เงินคริปโตฯ ช่วงโควิดระลอกแรกพบว่าสถิติผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7-14 เปอร์เซ็นต์ แต่ VISA และ Mastercard ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์กับเว็บไซต์ เนื่องจากนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการข่มขืน แอบถ่าย ซึ่งไม่ได้รับความยินยอม Pornhub จึงเพิ่มช่องทางการชำระเงินเป็นรูปแบบคริปโตฯ ทำให้สาวก Pornhub หันมาใช้มันแลกเปลี่ยนค่าสมาชิกพรีเมียม 

5. วัฏจักรบิตคอยน์

นักลงทุนบางส่วนมองว่าการขึ้นลงของบิตคอยน์หมุนเวียนเป็นวัฏจักรตามกลไกราคาตลาด จำนวนบิตคอยน์ในปัจจุบันกำลงลดน้อยลง เพราะมีการขุดบิตคอยน์ไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเงื่อนไขต่ออีกว่ายิ่งเหลือน้อย ยิ่งทำการขุดยากขึ้น ทำให้อุปสงค์หรือความต้องการบิตคอยน์สูงกว่าอุปทานหรือจำนวนบิตคอยน์ในท้องตลาด กอปรกับความนิยมในตัวบิตคอยน์ที่ติดอันดับการค้นหาใน Google trend อยู่บ่อยๆ 

ชีวประวัติการสร้างตัวตนของค่าเงินบิตคอยน์

ปี 2552 (2009)

กำเนิดบิตคอยน์และระบบ Blockchain โลกใหม่แห่งการทำธุรกรรมดิจิตอล ผู้สร้างมีจุดประสงค์เพื่อใช้สกุลเงินที่เขาผลิตเอง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจใด ต้องโปร่งใสและปลอดภัย จึงมีการสอดแทรกเงื่อนไขต่างๆ อย่างเช่น การขุดบิตคอยน์เปรียบเสมือนการขุดเหมืองทอง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนคือ 0.04951 ดอลลาร์ต่อ 1 บิตคอยน์เท่านั้น

ปี 2555 (2012)

ปรากฏการณ์ Bitcoin Halving หรือการลดลงครึ่งหนึ่งของจำนวนบิตคอยน์ที่ออกใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 บิตคอยน์ปรับให้หนึ่งบล็อกข้อมูล จ่ายเหรียญทุก 10 นาที จากเดิมนำบิตคอยน์ออกมา 50 หน่วย จะเหลือจำนวนเพียง 25 หน่วย แต่ก็ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อราคาบิตคอยน์ในตลาดมากนัก บางครั้งผลอาจจะเป็นบวกหรือลบแล้วแต่โอกาสและสถานการณ์ข้างเคียง สิ่งสำคัญของ Bitcoin Halving คือการดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้อย่างมาก

อีกหนึ่งสถานการณ์สำคัญคือเว็บไซต์ WordPress เป็นที่รู้จักกันในวงการ open source web software ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ Blog และชุมชนออนไลน์ ประกาศยอมรับบิตคอยน์ ทำให้แนวโน้มของราคาบิตคอยน์เริ่มเห็นเค้าลางดี ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนบิตคอยน์อยู่ที่ 13 ดอลลาร์ ต่อ 1 บิตคอยน์

ปี 2556 (2013)  

ผลพวงจาก Bitcoin Halving ครั้งที่ 1 ทำให้เริ่มต้นปีด้วยราคาบิตคอยน์เพิ่มขึ้นมาถึง 1,150 ดอลลาร์ ก่อนจะปรับตัวเข้าสู่ขาลงมาที่ 650 ดอลลาร์ ธุรกิจบางแห่งเริ่มรับเงินบิตคอยน์เพื่อชำระค่ารายการสินค้าและบริการ แต่ธนาคารกลางจีนสั่งห้ามทุกธนาคารทำธุรกรรมด้วยบิตคอยน์ จึงทำให้มูลค่าในตลาดเริ่มดิ่งลงไปบ้าง ทว่ามูลค่าเงินบิตคอยน์ก็เกือบแตะหลักพันในเดือนธันวาคมที่จำนวน 979 ดอลลาร์ ต่อ 1 บิตคอยน์

ปี 2557 (2014)

บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ Microsoft บริษัทคอมพิวเตอร์อย่าง Dell และบริษัทขายตั๋วเครื่องบิน-โรงแรม Expedia ก็เริ่มรับชำระเงินเป็นบิตคอยน์ แต่เกิดการแฮ็คเว็บไซต์ Mt. Gox เสียหายไปกว่า 850,000 บิตคอยน์ บางเว็บไซต์จึงต้องระงับการแลกบิตคอยน์เป็นเงินจริง และมีการปิดตัวลงชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาด้านความปลอดภัย ส่งผลให้มูลค่าการแลกเปลี่ยน Bitcoin ปรับร่วงลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียง 302 ดอลลาร์ ในเดือนธันวาคม

ปี 2559 (2016)

วนกลับสู่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ระบบ Blockchain ลดจำนวนบิตคอยน์ จาก 25 หน่วย ให้เหลือเพียง 12.5 หน่วย จบสิ้นปีด้วยอัตราบิตคอยน์ 1 หน่วยต่อ 958 ดอลลาร์ 

ปี 2560 (2017)  

บิตคอยน์ก็ได้ถูกกล่าวขานขึ้นมาอีกครั้ง หน้ากระดานแสดงกราฟอัตราแลกเปลี่ยนบิตคอยน์กับเงินดอลลาร์ตั้งแต่ มกราคม-ธันวาคม เป็นแนวเฉียงเรียงรายไต่ระดับขึ้นไปทุกเดือน จุดสำคัญในช่วงเดือนธันวาคมของปีนี้เรียกได้ว่าเป็นขาขึ้นของวงการบิตคอยน์เลยก็ว่าได้ มูลค่าบิตคอยน์พุ่งสูงถึง 20,089 ดอลลาร์ เป็นประวัติการณ์ครั้งแรก หลังการจากประกาศซื้อขายบิทคอยน์บนตลาด CMC Markets หรือบริษัทด้านการเงินที่มีสำนักงานในสหราชอาณาจักรและตลาดอื่นๆ 

ปี 2561 (2018) 

หลังจากผ่านยุคทองแห่งสกุลเงินดิจิตอลไม่นาน ค่าเงินคริปโตฯ ยอดนิยมอย่างบิตคอยน์ร่วงระนาวเหลือเพียง 8,300 ดอลลาร์ต่อ 1 บิตคอยน์ในช่วงต้นปี จากการที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดควบคุมการค้าเงินดิจิตอล โดยมีกระแสข่าวลือสะพัดว่าอาจมีการแบนการซื้อขายเงินดิจิตอลในหลายประเทศ อาทิ ประเทศจีนบอยคอตการค้าขายด้วยบิตคอยน์และ Facebook ประกาศแบนโฆษณาบิตคอยน์ทั้งหมด ซ้ำยังมีการโจรกรรมสกุลเงิน NEM ของบริษัทซื้อขายเงินดิจิตอลแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Coincheck Inc. สร้างความเสียหายมูลค่า 58 พันล้านเยน หรือเท่ากับ 530 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินเดียได้ประกาศไม่ยอมรับการใช้สกุลเงินดิจิตอลชำระหนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยืนยันว่าจะต้องไม่มีกรณีที่ใช้สกุลเงินดิจิตอลเพื่อธุรกิจผิดกฎหมายในอินเดีย ทำให้เหลืออัตราค่าเงินบิตคอยน์ส่งท้ายปีเพียง 3,122 ดอลลาร์

ปี 2562 (2019)

ตลาดการเงินคริปโตฯ เริ่มบรรเทาบาดแผลจากปีก่อนหน้าได้บ้างแล้ว กระทั่งราคาบิตคอยน์ได้พุ่งจาก 4,000 ดอลลาร์ไปแตะ 14,000 ดอลลาร์ เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน หลังการเปิดตัว White Paper ของสกุลเงินดิจิตอล Libra ในสังกัด Facebook แต่ก็เริ่มถดถอยจากความลังเลของนักลงทุนและธนาคารหลายแห่งต่อ Libra และปัจจัยกดดันจากการเปิดตัว Bakkt เพื่อเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์บิตคอยน์ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ต่ำกว่าระดับ 8,000 ดอลลาร์ เหลือประมาณ 7,992.36 ดอลลาร์

ปี 2563 (2020)

Bitcoin Halving ครั้งที่ 3 เข้ามาเยือนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ภายในหนึ่งบล็อก จากการผลิต 12.5 หน่วย จะมีบิตคอยน์เกิดขึ้น 6.25 หน่วย ทำให้การขุดยากขึ้น

จุดเปลี่ยนของมุมมองตลาดคริปโตฯ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการอุบัติของโรคระบาด COVID-19 ที่ทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัวขนานใหญ่ นักลงทุนกลับมาให้ความสนใจต่อตลาดคริปโตฯ ด้วยการมองว่าเป็นอีกช่องทางการลงทุนที่ดูคุ้มอยู่ไม่น้อย หากเทียบกับตลาดอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน 

ราคาผันผวนของบิตคอยน์ยังคงมีอยู่มากโข ทว่ากลับเป็นไปในทางบวกมากกว่า ยิ่งช่วงเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในค่ำคืนแห่งความลุ้นระทึกผลเลือกตั้งทำให้อัตราการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์แตะที่ 14,400 ดอลลาร์ แม้หลังประกาศผลว่าประธานาธิบดีคนใหม่คือ โจ ไบเดน มูลค่าบิตคอยน์ร่วงลงไปเล็กน้อยประมาณ 100-200 ดอลลาร์แต่ก็ค่อยๆ ฟื้นกลับมา

การประกาศข่าวใหม่ของ Paypal ที่จะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เพื่อซื้อขายบิตคอยน์ภายในปี 2564 และการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่ เช่น พอล ทูดอร์ โจนส์ (Paul Tudor Jones) และ สแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์ (Stanley Druckenmiller) ส่งผลให้มูลค่าบิตคอยน์ดีดตัวถึงระดับ 29,043 ดอลลาร์ ส่งท้ายปี

ปี 2564 (2021)

เกิดกระแสฮือฮาทั่วโลกต้อนรับปีใหม่ เมื่อมูลค่าบิทคอยน์เพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก โดยค่อยๆ ไต่ระดับเรื่อยมาจนถึงวันที่ 7 มกราคม ราคาบิตคอยน์แตะระดับสูงที่สุดในประวัติการณ์ พุ่งทะยานถึง 37,342  ดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านบาท จุดพีคมูลค่าบิตคอยน์ครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องจากท้ายปี 2563 และต้นเหตุมาจากสถาบันการลงทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น Square MicroStrategy และ GrayScale เป็นต้น ที่ยังคงแถลงการณ์และแสดงออกถึงการสนับสนุนบิตคอยน์ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อยอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ขณะที่บางส่วนที่หลบหนีจากการเทรดบนตลาดหลักทรัพย์มาเป็นตลาดคริปโตฯ แทน  

สกุลเงินดิจิตอลกำลังเป็นเรื่องแห่งชาติ

รัฐบาลหลายประเทศให้ความสนใจและกำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลของตัวเองเพื่อจัดตั้งเป็นสกุลเงินดิจิตอลแห่งชาติ อย่างประเทศจีนทดลองใช้เงินหยวนดิจิตอลซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภค นำร่อง 4 เมือง ได้แก่ เซินเจิ้น, ซูโจว, สงอัน และเฉิงตู เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ผ่านแพลตฟอร์มบริการชำระเงินหลายราย เช่น AliPay หรือ WeChat Pay รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั้ง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล รัสเซีย เริ่มพัฒนาหนทางการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดด้วยสกุลเงินดิจิตอลแห่งชาติเช่นกัน หรือแม้กระทั่งพื้นที่สังคมออนไลน์อย่าง Facebook ประกาศเปิดตัวสกุลเงินดิจิตอลชื่อว่า Libra เพื่อมาใช้ในแพลตฟอร์มของตัวเอง ด้วยข้อเสนอจุดแข็งคือการเป็นเงินดิจิตอลที่มีมูลค่าคงที่ ซึ่งจะมีค่าก็ต่อเมื่อมีสินทรัพย์มาค้ำประกัน แล้วค่อยผลิตเงินออกไปตามมูลค่านั้น

ทางด้านประเทศไทยก็มีการทดลองผลิตสกุลเงินดิจิตอลแห่งชาติเช่นกัน ในชื่อ ‘โครงการอินทนนท์’ ศึกษา วิจัย และพัฒนา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง และบริษัท R3 (ผู้พัฒนา DLT ใน Corda Platform) ได้ประสบความสำเร็จในการทำการทดสอบต้นแบบของระบบการโอนเงินระหว่างประเทศในเชิงธุรกิจ ผ่านสกุลเงินดิจิตอลจำลองร่วมกับโครงการ LionRock ของธนาคารกลางฮ่องกงไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว

โอกาสจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคธุรกิจเริ่มเคลื่อนไหวบนลู่ทางของสกุลเงินดิจิตอล ซึ่งกำลังฉายแววให้เห็นว่าเร็วๆ นี้ คริปโตเคอร์เรนซีอาจกลายเป็นสินทรัพย์ในกระเป๋าสตางค์ของทุกคนทั่วโลกที่จะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างอิสระทั้งในประเทศและต่างประเทศ

Author

มานิตา โอฬาร์ศาสตร์
ละอ่อนน้อย ผู้กำลังปั้นตัวในบ้าน WAY ใฝ่ฝันอยากปรุงแต่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงบนหม้อต้มสื่อ หล่อหลอมมอมเมา mindset ของผู้อ่านให้เข้าถึงความเป็นคน นับถือจินตนาการ ความสัมพันธ์ และบ่อความคิดของมนุษย์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า