พื้นที่ริมน้ำ…กำลังมา

tokyu_park-re

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

         

ข่าวคราวโครงการพัฒนาริ่มฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีเข้ามาให้รับฟังกันตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณ 14,006 ล้านบาท โดยปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะอนุกรรมการด้านการออกแบบและภูมิสถาปัตย์ เป็นประธานจัดทำองค์ประกอบการก่อสร้าง กำกับการออกแบบ กำหนดระยะเวลา แผนปฏิบัติการ รวมทั้งควบคุมงบประมาณให้เหมาะสม โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานโครงการ

เมื่อได้รับการร้องเรียนและเสนอให้ทบทวนโครงการ จากหกสมาคมด้านสถาปัตยกรรมและผู้เกี่ยวข้อง สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จึงพิจารณาปรับปรุงแบบทางเดินริมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลดขนาดความกว้างของพื้นที่ทางจักรยาน พื้นที่สีเขียว และทางคนเดิน จาก 19.5 เมตร เหลือ 12 เมตร

ไม่ต่างจากประเด็นสาธารณะอื่นๆ เกณฑ์ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะริมน้ำ ควรมาจากความต้องการของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะในหรือนอกพื้นที่เป็นสำคัญ พูดง่ายๆ ว่า แบบที่ออกมาหน้าตาคล้ายกันตลอดเส้นทางทั้งไปกลับริมสองฝั่งรวม 14 กิโลเมตร คือสิ่งที่ควรจะเป็นจริงหรือ?

 

+ เวนิสตะวันออก ในความทรงจำ

อองรี มูโอท์ นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจฝรั่งเศส ไม่ใช่คนแรกที่เรียกกรุงเทพฯหรือบางกอกว่า ‘เวนิสตะวันออก’ ในหนังสือ Voyage dans les royaumes de Siam, de Cambodge, de Laos ของเขาเมื่อปี 1864 บันทึกเอาไว้ว่า แม่น้ำคือเส้นทางหลักของเมือง ลำคลองต่างๆ ที่แยกย่อยออกไป ก็ไม่ต่างจากซอยเล็กซอยน้อย บนถนน (ไม่ราดยาง) มีแต่เสียงรถม้าและฝีเท้าม้าก็จริง แต่เมื่อเข้าใกล้น้ำเมื่อใด จะได้ยินเสียงพายกระทบน้ำ เคล้าไปกับเสียงลูกเรือและฝีพายครวญเพลงที่ตนถนัด

จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตคนกรุงนั้นผูกพันกับแม่น้ำลำคลองอย่างแยกไม่ออก แม้แต่ถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นทางสัญจรสายแรกของประเทศที่มีการก่อสร้างแบบตะวันตก ก็เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเริ่มสร้างเมื่อปี 1861 แล้วเสร็จในปีเดียวกับที่มูโอท์ออกหนังสือเล่มดังกล่าว

หลังจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับการอนุมัติและวางแผนการก่อสร้างไว้ในช่วงต้นปี 2559 มีกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2560 ด้วยแบบที่ไม่ต้องทำ EIA และแทบไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า หากไม่มีการพิจารณาทบทวนอย่างรอบด้าน สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนตามงบประมาณมหาศาลนี้จะส่งผลร้ายต่อทั้งลำน้ำและวิถีชุมชนโดยรอบในระยะยาว

 

+ แลนมาร์คเจ้าพระยา คืนความสุขยุค คสช.

มากกว่าเรื่องความกว้างของทางเดินริมน้ำ ยศพล บุญสม หนึ่งในกลุ่ม ‘Friends of the River’ อีกพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บอกเราว่า ยังมีปัญหานานาประการซ่อนตัวอยู่

จากประสบการณ์ที่ยศพลมีโอกาสร่วมงานกับโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ริมน้ำยานนาวา กะดีจีน (คำเรียกรวมพื้นที่ย่านกุฎีจีนและบริเวณโดยรอบ) และย่านคลองสาน ต้องผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม รวมทั้งการศึกษาข้อจำกัด เพราะบางทีชุมชนอาจไม่ได้ต้องการพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต

“บางช่วงเขาต้องการพื้นที่ที่สะท้อนการใช้สอยจริงๆ ในชุมชน หรือเขาอาจไม่ได้ต้องการทางเดินที่ต่อเนื่องกันทั้งหมด บางทีอาจจะวกเข้ามาเชื่อมกับพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่แล้ว การที่รัฐบาลเสนอแบบเดียวออกมาเหมือนกันทั้งหมด ไม่น่าจะตอบความหลากหลายของแต่ละช่วงได้”

ยศพลให้ข้อมูลว่า ก่อนจะมากำหนดจุดก่อสร้าง ต้องเริ่มจากฐานที่แน่นเสียก่อน นั่นคือ ต้องมีการศึกษาการใช้ที่ดิน ความเป็นไปได้ของโครงการ พื้นที่บริเวณไหนควรทำ ไม่ควรทำ และจะเชื่อมต่อกับเนื้อเมืองได้อย่างไร

“แต่กลายเป็นว่าเขาลากเส้นโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบเหล่านั้น” ยศพลเสริมว่า ยิ่งมีข่าวว่าจะไม่ต้องมีการทำ EIA ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยและกังวลว่า มีการศึกษาอย่างจริงจังแค่ไหน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด

ตัวแทนจาก Friends of the River ค่อนข้างกังวลเรื่องการกีดขวางทางน้ำของโครงสร้างทางเดิน จากบริเวณเขื่อนกั้นน้ำไปจนถึงทางเดินที่สร้างลงไปในลำน้ำ ที่อาจส่งผลต่อความสูงของน้ำในอนาคต รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้น้ำไหลแรงขึ้น มีผลต่อการกัดเซาะที่เพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งทางโครงการต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้สังคม

table_waterfront+ มีส่วนร่วม…ต้องใช้เวลา

ยิ่งออกตัวแรงเท่าไหร่ ยิ่งต้องมีเหตุผลหนักแน่นเพื่อยืนยันความเหมาะสมของโครงการมากขึ้นเท่านั้น หากต้องการการพัฒนาที่ครอบคลุมและสะท้อนความต้องการของประชาชนตามความเป็นจริง อาจถึงเวลาที่ต้องทบทวนโครงการอย่างจริงจัง ถึงขั้นตั้งเป็นวาระแห่งชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ

ยศพลมองว่า ถ้าหันกลับมาคุยกันใหม่แล้วมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของเมืองกับน้ำที่เคยมีมา ว่าเราจะใช้ชีวิตร่วมกับน้ำอย่างไรต่อไปในอนาคต แล้วคงต้องมองต่อไปถึงการฟื้นฟูย่าน การบริหารจัดการน้ำ ไปจนถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกมองเลยไปเสมอๆ

“ยังมีอีกหลายประเด็นที่เงินงบประมาณที่รัฐบาลจะทำน่าจะก่อประโยชน์ได้มากกว่าแค่มาคุยกันว่าทางเดินควรกว้างเท่าไหร่” ยศพลทิ้งท้าย

ความจริงอีกข้อหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ เข็มเสาแรกของโครงการจะตอกลงในลำน้ำเจ้าพระยาช่วงเดือนมกราคม 2559

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

Friends of the River

ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (uddc.net)

bangkok250.org

yannawariverfront.org

britishlibrary.typepad.co.uk

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร WAY ฉบับที่ 87 กรกฎาคม 2558

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า