‘สัมปทาน’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง การที่รัฐอนุญาตให้เอกชนจัดการบริการสาธารณะ หรือจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาเเละตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด
ในบริบทของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ ร่างสัญญาร่วมลงทุนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ. บีทีเอสซี (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BTS) ต่อไปอีก 30 ปี เพื่อแลกกับการเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย
จุดเริ่มต้นของการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เกิดขึ้นเนื่องจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะนั้น ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 วันที่ 11 เมษายน 2562 โดยหวังว่าจะทำให้เกิดเอกภาพทั้งในเรื่องการเดินรถได้อย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน และกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน โดยให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่กําหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงไปเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานให้แล้วเสร็จ
จากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องการต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ บมจ. บีทีเอสซี ออกไปอีก 30 ปี หมายความว่า อายุสัมปทานจะขยายไปจนถึงปี 2602 จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในปี 2572 ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สัญญาเดิมของ บมจ. บีทีเอส จะยังมีอยู่ต่อไปอีกกี่ปี จากเดิมที่จะหมดสัญญาภายใน 7 ปีข้างหน้า หากเกิดการต่อสัญญาอีกครั้งจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และถ้ารัฐบาลยินยอมให้มีการเก็บค่าโดยสารในราคา 65 บาท จะสมเหตุสมผลกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเเล้วหรือไม่
ทางด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ออกมาชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะตามมาหาก ครม. อนุมัติสัมปทานว่า ประชาชนจะต้องเจอกับค่าครองชีพที่สูง กรณีอัตราค่าโดยสาร 65 บาท หากคิดเป็นค่าเดินทางไปกลับจะต้องใช้เงินเป็นจำนวน 130 บาทต่อวัน คิดเป็น 39 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งประชาชนต้องเจอกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น และอาจนำไปสู่ปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากจำนวนรถบนท้องถนนเพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้ โดยเสนอว่าให้คงอัตราค่าโดยสารไว้ที่ 44 บาทตลอดสาย ไปจนสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 และหลังสิ้นสุดสัมปทานแล้วให้เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย
อย่างไรก็ตาม ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคภูมิใจไทยที่ดูแลกระทรวงคมนาคม รวมถึง สอบ. ยังมีความเห็นแย้งกับข้อเสนอการขยายอายุสัมปทานดังกล่าวว่า ควรคิดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมและถูกลงกว่า 65 บาท จนทำให้ข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยถูกดึงออกจากวาระการประชุม ครม. อยู่หลายครั้ง โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยื่นหนังสือทักท้วงมาโดยตลอด