ปมขยายสัมปทาน BTS สายสีเขียว 30 ปี แลกค่าโดยสาร 65 บาท คุ้มไหม?

‘สัมปทาน’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง การที่รัฐอนุญาตให้เอกชนจัดการบริการสาธารณะ หรือจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาเเละตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

ในบริบทของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ ร่างสัญญาร่วมลงทุนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ. บีทีเอสซี (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BTS) ต่อไปอีก 30 ปี เพื่อแลกกับการเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย

จุดเริ่มต้นของการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เกิดขึ้นเนื่องจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะนั้น ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 วันที่ 11 เมษายน 2562 โดยหวังว่าจะทำให้เกิดเอกภาพทั้งในเรื่องการเดินรถได้อย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน และกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน โดยให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่กําหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงไปเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานให้แล้วเสร็จ

จากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องการต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ บมจ. บีทีเอสซี ออกไปอีก 30 ปี หมายความว่า อายุสัมปทานจะขยายไปจนถึงปี 2602 จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในปี 2572 ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สัญญาเดิมของ บมจ. บีทีเอส จะยังมีอยู่ต่อไปอีกกี่ปี จากเดิมที่จะหมดสัญญาภายใน 7 ปีข้างหน้า หากเกิดการต่อสัญญาอีกครั้งจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และถ้ารัฐบาลยินยอมให้มีการเก็บค่าโดยสารในราคา 65 บาท จะสมเหตุสมผลกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเเล้วหรือไม่

ทางด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ออกมาชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะตามมาหาก ครม. อนุมัติสัมปทานว่า ประชาชนจะต้องเจอกับค่าครองชีพที่สูง กรณีอัตราค่าโดยสาร 65 บาท หากคิดเป็นค่าเดินทางไปกลับจะต้องใช้เงินเป็นจำนวน 130 บาทต่อวัน คิดเป็น 39 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งประชาชนต้องเจอกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น และอาจนำไปสู่ปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากจำนวนรถบนท้องถนนเพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้ โดยเสนอว่าให้คงอัตราค่าโดยสารไว้ที่ 44 บาทตลอดสาย ไปจนสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 และหลังสิ้นสุดสัมปทานแล้วให้เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย

อย่างไรก็ตาม ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคภูมิใจไทยที่ดูแลกระทรวงคมนาคม รวมถึง สอบ. ยังมีความเห็นแย้งกับข้อเสนอการขยายอายุสัมปทานดังกล่าวว่า ควรคิดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมและถูกลงกว่า 65 บาท จนทำให้ข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยถูกดึงออกจากวาระการประชุม ครม. อยู่หลายครั้ง โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยื่นหนังสือทักท้วงมาโดยตลอด 

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า