วินาทีนี้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ลูกจ้างรายวัน รวมถึงกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราว คำสั่งปิดสถานประกอบการนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ว่า รัฐจะมีมาตรการเยียวยาชดเชยรายได้ที่หายไปอย่างไรบ้าง
ภายหลังคำสั่งปิดสถานที่สำคัญและห้างร้านต่างๆ แรงงานหลายพันชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา แม้ทั่วโลกจะรณรงค์มาตรการ ‘Social Distancing’ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกักตัว 14 วันตามแคมเปญ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนทำได้อย่างเสมอหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย คนหาเช้ากินค่ำ และผู้ที่มีรายได้วันต่อวันอย่างพ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ หรือลูกจ้างรายวันเองก็ตาม
มาตรการช่วยเหลือประชาชนประการแรกที่ออกมาก่อนโดยยังไม่ต้องเสนอผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ได้แก่ มาตรการดูแลตลาดหลักทรัพย์ ที่มุ่งเน้นไปที่ตลาดตราสารหนี้ เพราะมองว่ามีประชาชนและบุคคลรายเล็กเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก และหากตลาดหลักทรัพย์ซึ่งถือว่าเป็นส่วนบนของระบบเศรษฐกิจกระทบหนัก ‘ส่วนล่าง’ หรือภาคประชาชนเองก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ถัดมาไม่กี่วัน เราเริ่มได้ยินถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยตรง สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับเงินเยียวยา 50 เปอร์เซ็นต์จากฐานเงินเดือน โดยมีเพดานอยู่ที่ 15,000 บาท นั่นหมายความว่า สูงสุดของเงินเยียวยาผู้ประกันตนจะอยู่ที่รายละ 7,500 บาทต่อเดือน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างจะได้ค่าแรงชดเชยไม่เกิน 60 วัน และ 2. กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 180 วัน และจะมีการขยายเวลาลดการส่งเงินสมทบของนายจ้างออกไปด้วย ส่วนผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมรัฐให้คำตอบ เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า แรงงานนอกระบบจะได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
เงินจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนไม่ต้องคำนวณรายจ่ายแต่ละครัวเรือนอย่างละเอียดก็พอจะประมาณได้ว่า คงไม่ใช่ตัวเลขที่เหมาะสมเพียงพอกับรายจ่ายของคนว่างงานชั่วคราวแน่นอน ตามที่รัฐมนตรีคลังชี้แจง มาตรการนี้ทางกระทรวงการคลังจะขอให้ที่ประชุมอนุมัติ ‘งบกลาง’ เพื่อสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินจำนวน 2 หมื่นล้านบาท และแพ็คเกจอื่นๆ อย่างการเยียวยาผลกระทบจากการปิดสถานบริการจะตามมาภายหลัง
จากข้อมูลที่กรมบัญชีกลางเปิดเผยตัวเลขล่าสุดเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบกลางในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 พบว่า มีการเบิกจ่ายงบประมาณงบกลางไปแล้ว 2.21 แสนล้านบาท คงเหลืองบกลาง 1.97 แสนล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563) ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แม้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จะเพิ่งถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ เกิดความล่าช้ามาหลายเดือน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าไป 3 เดือน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562
คำถามที่ตามมาก็คือ การเบิกจ่ายงบกลางด้วยตัวเลขกว่าแสนล้านบาทตามการเปิดเผยข้อมูลของกรมบัญชีกลางนั้น ถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง และการมีอยู่ของงบกลางฟังก์ชั่นแบบไหนกันแน่?
กรอบการใช้งบกลางตามระเบียบกำหนดกรณีจัดสรรเงินงบกลางตามมาตรา 20 (6) ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ. 2561 คร่าวๆ แล้ว มีด้วยกัน 4 ข้อ
- เป็นรายจ่ายเพื่อป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ
- เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติร้ายแรง
- เป็นรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐต้องใช้จ่าย
- เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบ แต่มีภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
เมื่อดูรายละเอียดของ พ.ร.บ.งบประมาณปี พ.ศ. 2563 ที่มีการพิจารณาผ่านร่างกันล่าช้าหลายเดือน พบว่าในส่วนของงบกลางตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี พ.ศ. 2563 มีจำนวนสูงถึง 5.18 แสนล้านบาท มากกว่างบกลางใน พ.ร.บ.งบประมาณปี พ.ศ. 2562 ราวๆ 47 ล้านบาท
ส่วนของงบกลางที่มีวงเงินเพิ่มสูงขึ้นแตะไปถึง 5.18 แสนล้านบาทนั้น มาจากแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 2.65 แสนล้านบาท และเป็นเงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ 6.27 หมื่นล้านบาท
ข้อสังเกตของการใช้งบกลางคือ การใช้งบกลางไม่จำเป็นต้องผ่านการลงมติเห็นชอบหรือรับรองจากคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายตรงนี้ได้เลย 2 กรณีคือ การเคาะอนุมัติงบด้วยวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และวงเงินเกิน 10 ล้านบาท ส่วนวงเงินเกิน 100 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน แล้วจึงแจ้งให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกทีหนึ่ง
การใช้จ่ายงบกลางทั้ง 3 ทาง เรียกเป็นภาษาปากก็คือ ‘ตีเช็คเปล่า’ เพราะไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือการตรวจสอบจากฝ่ายค้านอีกต่อไป เมื่อร่างงบประมาณฯ ผ่านสภาผู้แทนฯ มาแล้ว นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีสิทธิใช้จ่ายงบส่วนนี้ได้อิสระ และที่น่าสนใจก็คือ การพิจารณาผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายส่วนของกระทรวงอื่นๆ จะมีการแจกแจงรายละเอียดในสภาฯ อย่างถี่ถ้วนว่า แต่ละกระทรวงจะใช้งบไปกับโครงการใดบ้าง ทว่า งบกลางเป็นเพียงส่วนเดียวที่ไม่ได้ระบุลงลึกชี้ชัด และยังเป็นสัดส่วนที่มีตัวเลขสูงที่สุดในวงเงินของ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ด้วย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขงบกลางพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในรัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่เมื่อครั้งรัฐบาล คสช. หรือรัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งถ้าลงไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมอีก ก็จะพบว่า แม้งบกลางจะมีตัวเลขสูงมากอยู่แล้ว แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2559, 2560 และ 2561 ก็ยังมีการตั้ง ‘งบกลางปี’ เพิ่มเติมไปอีก ตรงนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการจัดการของรัฐบาลประยุทธ์ในรอบเกือบ 6 ปีที่ผ่าน ที่ประชาชนเองควรจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วยหรือไม่
กลับมาสู่คำถามตั้งต้นถึงงบกลางที่มีจำนวนมหาศาลว่า ทำไมงบกลางที่ถูกดึงมาใช้กรณีเยียวยาประชาชนจากพิษ COVID-19 จึงเป็นตัวเลขเพียงหลักหมื่นล้าน และเมื่อเฉลี่ยต่อหัวแล้วจึงได้เพียง 5,000 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น เราพบว่า รายละเอียดงบกลางในรายการ ‘เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น’ คิดเป็นร้อยละ 15-23 หรือมีตัวเลขอยู่ที่ 96,000 ล้านบาท และเมื่อนำไปเทียบเคียงกับรายละเอียดงบกลางในส่วนอื่นๆ แล้วจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมากขึ้นไปอีก เพราะในจำนวนเงิน 5.18 แสนล้านบาทนั้น กว่า 51.2 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นตัวเลข 2.65 แสนล้านบาท ถูกจัดสรรไปเป็นงบประมาณส่วนบุคลากรราชการ ได้แก่ เงินรายการ เงินเบี้ยหวัด บำนาญ และบำเหน็จ ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในงบกลาง และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอดหลายปีด้วย
แต่แม้ว่าสัดส่วนตัวเลขงบประมาณส่วนบุคลากรราชการจะสูงที่สุดในวงเงินงบกลาง เราก็ยังได้ยินปัญหาเงินตกเบิกของบุคลากรระดับปฏิบัติการอยู่บ่อยๆ รวมถึงปัญหาการเบิกจ่ายงบกลางได้อย่างอิสระของคณะรัฐบาลที่ยากจะตรวจสอบได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ กรณีขออนุมัติงบกลางจากรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไปกับค่าใช้จ่ายการจัดพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร-ตำรวจจำนวน 3.4 ร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบกลางส่วนฉุกเฉินเลยสักนิด
สิ่งที่เราน่าจะตั้งข้อสังเกตและจับตามองในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีกันต่อไปก็คือ ในยามฉุกเฉินและเกิดวิกฤติที่ส่งผลกระทบโดยตรงมาถึงตัวเราขนาดนี้ รัฐบาลในฐานะตัวแทนประชาชนฟังก์ชั่นหน้าที่ เป็นปากเป็นเสียงแทนเราได้ดีแค่ไหน งบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีๆ ลงมาถึงภาคประชาชนมากน้อยเพียงใด ตัวเลขกว่า 5.18 แสนล้านถูกนำไปใช้จ่ายกับอะไรที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับเราบ้าง (ในแง่นี้แล้วงบกลางส่วนงบฉุกเฉินควรจะมีตัวเลขมากกว่านี้ด้วยหรือไม่)
หรือกระทั่งการตั้งงบกลางปีเองที่โดยปกติแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่จะไม่มีการทำแบบนี้ เว้นเสียแต่ในกรณีฉุกเฉินยามคับขันเท่านั้น อย่างเช่น กรณีน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ในรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ และเมื่อครั้งวิกฤติการเงินโลกในรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์
นี่ยังไม่นับรวมถึงวิกฤติอื่นๆ ที่จะตามมาภายหลังอย่างภัยแล้งที่มีการประเมินตั้งแต่ปี 2562 ว่า ปีนี้จะมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี การส่งออกที่ชะลอตัวตั้งแต่ปลายปีก่อน ภาคการเกษตรที่ยังวิกฤติซ้ำแล้วซ้ำเล่า มาจนถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบินที่คงต้องเร่งฉีดยาประคองตัวกันไปอีกหลายปีเห็นจะได้
ส่วน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นั้น นายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบรายละเอียดไปแล้ว ซึ่งวงเงินของ พ.ร.บ.งบประมาณปี พ.ศ. 2564 อยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท สัดส่วนงบกลางเพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี พ.ศ. 2563 ถึง 5.5 หมื่นล้านบาท มีตัวเลขงบอยู่ที่ 5.7 แสนล้านบาท ส่วนของงบฉุกเฉินเพิ่มขึ้นเพียง 3 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งนโยบายที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี พ.ศ. 2564 มุ่งเน้นก็ยังคงเป็นการขาดดุลงบประมาณ หมายความว่า งบประมาณรายจ่ายที่ผ่านมามีรายจ่ายมากกว่ารายได้ นี่คือปัญหาของรัฐบาลคุณประยุทธ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทั้งดุลการคลังที่ยังขาดดุลต่อเนื่อง และหนี้สาธารณะคงค้างที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ที่สุดแล้วเราในฐานะประชาชนได้รับประโยชน์จากงบกลางที่มีตัวเลขสูงขึ้นจริงๆ หรือเป็นเพียงเครื่องจ่ายภาษีให้รัฐเบิกจ่ายโดยปราศจากรายละเอียด ในสภาวะที่คุณประยุทธ์และทีมเศรษฐกิจพร่ำบอกกับประชาชนว่าเศรษฐกิจไทยยังดีราบรื่นตลอดมา