ทำไมเราจึงไม่ควรรอ ‘วัคซีนที่ดีกว่า’

“ไม่กล้าฉีด…รอวัคซีนที่ดีกว่านี้ก่อน” ใครหลายคนอาจพูดและคิดเช่นนี้ เพราะขาดความมั่นใจในวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ อย่าง AstraZeneca และ Sinovac 

เนื่องด้วยข่าวสารมากมายที่ออกมาต่างๆ นานา ว่ามีผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนบ้าง มีอาการจากผลข้างเคียงที่ได้ยินมาอย่างหนาหูบ้าง หรือแม้แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองตัวที่ยังการันตีไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ความมั่นใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนของคนไทยมีน้อยเหลือเกิน

แต่ถึงอย่างนั้นกลับมีผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศหลายท่านได้ออกมาชี้แจงถึงประสิทธิภาพของวัคซีนทุกยี่ห้อ ว่าการพิจารณาประสิทธิภาพของวัคซีนเพียงอย่างเดียวจนไม่กล้าฉีดนั้น อาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

ประสิทธิภาพวัคซีน อาจไม่ใช่ตัวชี้ขาด

จากการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวข้างต้น แน่นอนว่าคนจำนวนมากอาจไม่มีความมั่นใจในตัววัคซีนอย่าง Johnson & Johnson และ Sinovac เพราะดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าวัคซีนสองตัวแรกอย่าง Pfizer และ Moderna อย่างเห็นได้ชัด

แต่การวัดกันที่เปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถนำมาสรุปได้อย่างแม่นยำถูกต้องเสมอไป

ยกตัวอย่าง วิธีการทดลองประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer/BioNTech ในอาสาสมัครจำนวน 43,661 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเท่ากัน คือกลุ่มละ 21,830 คน

กลุ่มแรก คือกลุ่มคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน (vaccine) และอีกกลุ่ม คือกลุ่มคนที่ได้รับยาหลอก (placebo) หรือยาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาโดยไร้ซึ่งสารออกฤทธิ์ทางการแพทย์ และปล่อยให้พวกเขาใช้ชีวิตตามปกติ โดยมีนักวิทยาศาสตร์คอยสังเกตการณ์เป็นระยะเวลาหลายเดือน

จากการทดลองในกลุ่มผู้ที่ได้ยาหลอก มีจำนวน 162 ราย ที่มีอาการป่วยและติดเชื้อโควิด-19 ส่วนกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนมีเพียง 8 รายเท่านั้นที่ติดเชื้อ 

จากนั้นจึงนำตัวเลขมาคำนวณเป็นอัตราประสิทธิภาพของวัคซีน โดยคำนวณจาก ‘ส่วนต่าง’ ระหว่างสัดส่วนผู้ติดเชื้อของทั้งสองกลุ่ม หารด้วยเปอร์เซ็นต์ผู้ติดเชื้อในกลุ่มยาหลอก

กล่าวคือ ผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 162 คน จาก 21,830 เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้เท่ากับ 0.74 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังติดเชื้อ 8 คน จาก 21,830 เท่ากับ 0.04 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำจำนวนเปอร์เซ็นต์ของคนทั้งสองกลุ่มมาลบกัน เพื่อหาส่วนต่างของเปอร์เซ็นต์ที่วัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงได้ ซึ่งก็คือ 0.7 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำมาหารด้วยเปอร์เซ็นต์คนติดเชื้อในกลุ่มยาหลอก (0.74 เปอร์เซ็นต์) จึงจะได้ผลลัพธ์คือ 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer นั่นเอง

ที่มา: nytimes.com

ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ตัวเลขประสิทธิภาพนั้นเปรียบเทียบจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้วัคซีนและยาหลอก ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ที่ใช้ชีวิตในสถานที่ สภาพแวดล้อมเดียวกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ ‘ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัดๆ กับทีมแพทย์ 3 สถาบัน’ วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า การทดลองของวัคซีนแต่ละยี่ห้อนั้นไม่ได้ทดลองในสถานที่เดียวกันและเวลาเดียวกัน อีกทั้งในแต่ละพื้นที่ก็มีสายพันธุ์ของไวรัสที่แตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้นการเปรียบเทียบจากอัตราประสิทธิภาพอย่างเดียวจึงวัดกันไม่ได้ 

เราจึงขอยกตัวอย่างกรณีของวัคซีน 3 ยี่ห้อ ได้แก่ Moderna, Pfizer/BioNTech และ Johnson & Johnson เพื่อเทียบประสิทธิภาพของทั้ง 3 ยี่ห้อ ที่ทดลองในพื้นที่และเวลาที่ต่างกัน จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา


กล่าวคือ การทดลองวัคซีนของ Moderna อยู่ที่สหรัฐอเมริกาและสิ้นสุดลงในช่วงฤดูร้อน เช่นเดียวกันกับ Pfizer/BioNTech ส่วน Johnson & Johnson ทดลองที่สหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน แต่ทดลองในช่วงเดือนตุลาคม 2020 จนถึงปลายมกราคมปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้เข้าร่วมการทดลองมีโอกาสสูงมากในการติดเชื้อ อีกทั้ง ยังมีการทดลองนอกประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างประเทศแอฟริกาใต้และบราซิลอีกด้วย ซึ่งประเทศเหล่านี้ไม่ใช่แค่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงเนื่องจากเชื้อไวรัส แต่พื้นที่เหล่านี้มีสายพันธุ์ต่างออกไป แต่ทั้งนี้จากการทดลองของวัคซีน Johnson & Johnson ปรากฏผลว่า สามารถช่วยลดการติดเชื้อได้ถึง 64 เปอร์เซ็นต์ 

ดังนั้นผลการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัว จึงไม่อาจใช้เป็นการตัดสินชี้ขาดได้

“ถ้าคุณพยายามเทียบหนึ่งต่อหนึ่ง หรือหัวต่อหัว ของวัคซีนแต่ละตัว การทดลองจึงต้องเป็นไปในกรณีเดียวกัน ต้องทดลองในพื้นที่เดียวกันและเวลาเดียวกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์อะเมชห์ อะดัลจา (Amesh Adalja) จากศูนย์รักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University)

เช่นเดียวกับ เดโบราห์ ฟูลเลอร์ (Deborah fuller) อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ที่กล่าวว่า “ถ้าเราฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Moderna โดยทำการทดลองใหม่ให้อยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับการทดลองของ Johnson & Johnson เราอาจเห็นอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนที่แตกต่างกันได้”

ประสิทธิภาพที่เท่ากันของวัคซีน 

ระดับอาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 นั้นมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ จนถึงขั้นเสียชีวิต

ดังนั้นหากเราได้รับเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง (severe symptoms) ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (hospitalized) หรือเสียชีวิต วัคซีนจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเหล่านี้ได้ และเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว หากติดเชื้อในภายหลัง จะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น 

ดังนั้นหากเทียบวัคซีนที่ประเทศไทยมีขณะนี้อย่าง Sinovac และ AstraZeneca จะพบตัวเลขประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกันและเท่ากันในระดับต่างๆ ดังนี้

วัคซีน Sinovac มีอัตราป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการน้อยมากอยู่ที่ 50.4 เปอร์เซ็นต์ และอัตราป้องกันอาการป่วยปานกลางที่ 65.3-91.2 เปอร์เซ็นต์ และอัตราป้องกันอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตที่ 100 เปอร์เซ็นต์ 

เช่นเดียวกับอัตราประสิทธิภาพวัคซีน AstraZeneca อยู่ที่ 54.1 เปอร์เซ็นต์ ในการป้องกันการติดเชื้อทุกรูปแบบ และ 70.4 เปอร์เซ็นต์ (62.1-90 เปอร์เซ็นต์) ในการป้องกันสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง และ 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 

ส่วนของ Pfizer มีประสิทธิภาพ 91.3 เปอร์เซ็นต์ ในการป้องกันการติดเชื้อ และ 100 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับคำพูดของ รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษากรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่กล่าวผ่านรายการ Pediatrics Delivery ในช่วงถามตรง-ตอบจริงกับประเด็นวัคซีนโควิด-19 ว่า 

“วัคซีนทั้ง 2 ตัว มีประสิทธิภาพสูง ป้องกันการเสียชีวิต สำหรับผู้เข้าไอซียู และใส่เครื่องช่วยหายใจ ได้ผลเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เทียบเท่ากับวัคซีนอื่นๆ เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่าวัคซีนยังมีประโยชน์” 

ดังนั้นแล้วเป้าหมายของการผลิตวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดจำนวนเชื้อเป็นศูนย์ (Covid Zero) แต่คือการทำให้ความรุนแรงของไวรัสที่อาจส่งผลให้อาการของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์รุนแรงลดลงนั่นเอง

คำถามที่คนมักสงสัยว่า “วัคซีนตัวไหนจะป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ดีที่สุด?” คำตอบในวันนี้คงยังไม่มี แต่หากถามว่า วัคซีนตัวไหนที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ วัคซีนตัวไหนจะป้องกันไม่ให้เรามีอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล และวัคซีนตัวไหนจะช่วยให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง 

คำตอบก็คือ “วัคซีนทุกตัว”

รีบฉีดเพื่อยับยั้งการระบาด

“ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,300 ล้านโดส แต่เป้าหมายคือ 10,000 ล้านโดส เป็นอย่างน้อย และในไทยต้องไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส เพื่อจะยุติปัญหาการระบาดได้” ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าวผ่านเสวนาหัวข้อ ‘ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัดๆ กับทีมแพทย์ 3 สถาบัน’

จากข้อมูลจำนวนการได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2564 รวม 2,242,150 โดส ใน 77 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ทั้งหมด 1,462,762 ราย และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์ 779,388 ราย โดยยังเหลืออีกประมาณ 97 ล้านโดสที่ยังต้องฉีดเพื่อยับยั้งการระบาดในครั้งนี้ แต่ทั้งนี้จะมีวัคซีนเพิ่มเข้ามาอีกช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นพ.ยง ยังได้เปรียบเทียบการเร่งการฉีดวัคซีนของประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษที่มีประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทยด้วยว่า ในอังกฤษมีการใช้วัคซีน Pfizer ในช่วงแรก และเปลี่ยนมาใช้ AstraZeneca ในภายหลัง เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศสที่ใช้วัคซีน AstraZeneca แต่ด้วยความกังวลเรื่องลิ่มเลือดจึงชะลอการใช้วัคซีนไปก่อน ซึ่งหากเทียบกับประเทศอังกฤษแล้ว ณ ปัจจุบันนี้อังกฤษมีผู้ป่วยประมาณ 1,000 กว่าราย และเสียชีวิตเพียงหลักหน่วย ในขณะที่ฝรั่งเศสปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยอยู่ที่ 10,000 – 20,000 ราย และเสียชีวิตในหลักร้อย 

“ดังนั้นความสำคัญอยู่ที่จะฉีดให้ได้มากและเร็ว เพื่อคืนสู่วิถีชีวิตปกติ ไม่ว่ายี่ห้อไหนก็ตามไม่แตกต่างกัน วัคซีนได้ศึกษาผ่านระยะที่ 3 มาแล้วทั้งสิ้น” ศาสตราจารย์ นพ.ยง กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.กำธร มาลาธรรม ยกตัวอย่างการศึกษาของประเทศสก็อตแลนด์ว่า มีการแบ่งกลุ่มบุคลากรจำนวนหลายแสนคน โดยมีทั้งผู้ที่ได้และไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งบุคลากรที่ได้รับวัคซีนไปแล้วจะทำให้ผู้ที่อาศัยร่วมกันในบ้านและคนใกล้ชิดมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยป้องกันได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จะช่วยป้องกันไม่ให้คนในครอบครัวติดเชื้อได้ 54 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกันอาจได้รับเชื้อมาจากที่อื่น ดังนั้นหากผู้ร่วมอาศัยได้รับวัคซีน ชุมชนได้รับวัคซีน และประชาชนในประเทศได้รับวัคซีน จะมีอัตราการป้องกันได้ถึง 2 เท่าเลยทีเดียว 

ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องผลข้างเคียงก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้ใครหลายๆ คนเกิดความกังวลที่จะรับวัคซีน

แพทย์หลายท่านจึงได้ออกมาชี้แจงถึงอาการข้างเคียง โดยชี้ให้เห็นว่าการมีไข้สูง ปวดเมื่อย หลังได้รับวัคซีนนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีแล้ว

โดยผลข้างเคียงของ 2 วัคซีนอย่าง AstraZeneca และ Sinovac เป็นเพราะเหตุดังนี้

AstraZeneca ผู้ที่มีอายุน้อยจะมีอาการข้างเคียงมากกว่าผู้สูงอายุ ซึ่ง ศาสตราจารย์ นพ.ยง กล่าวว่าถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งผลข้างเคียงที่พบส่วนมากคือเป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ นั่นเป็นเพราะวัคซีนของ AstraZeneca ทำจากไวรัสที่มีเชื้อเป็นอยู่ แต่ไม่สามารถแบ่งตัวได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ร่างกายจึงเป็นเหมือนการติดเชื้อ ทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาโดยการสร้างภูมิต่อวัคซีนจนเป็นสาเหตุให้มีไข้ขึ้นสูง 

ส่วนวัคซีนของ Sinovac นั้นจะมีอาการหรือผลข้างเคียงน้อยกว่า เพราะวิธีการในการพัฒนาวัคซีนเป็นแบบดั้งเดิม โดยการฆ่าไวรัสใช้สารเคมีชนิดเดียวกันกับวัคซีนพิษสุนัขบ้า และใช้แอดจูแวนท์ (Adjuvant) หรือสารผสมในวัคซีนหรือแอนติเจน เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดเดียวกันกับบาดทะยัก แต่ต่างเพียงการใช้ตัวไวรัสเท่านั้น เช่นเดียวกับวัคซีนตับอักเสบ A หรือไข้หวัดใหญ่ จึงทำให้เกิดอาการข้างเคียงน้อยหรือไม่มีอาการเลย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดเพียง 1-2 วันเท่านั้น หรือช้าสุดคือ 1 อาทิตย์

ในส่วนของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ศาสตราจารย์ นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวว่า ประชากรไทยจะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าชาวตะวันตกถึง 10 เท่า จากปัจจัยทางพันธุกรรม 

จากข่าวที่เกิดในยุโรปนั้นคือภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ นอกจากลิ่มเลือดอุดตันแล้วยังมีเรื่องของเกล็ดเลือดต่ำอีกด้วย แต่พบได้น้อยมาก หรือพบได้ 1 ในแสนถึง 1 ในล้าน ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองของภูมิต้านทานของร่างกายที่รุนแรงเกินไป ทำให้ร่างกายกระตุ้นเกล็ดเลือดจนเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันขึ้นมา ซึ่งผลข้างเคียงนี้สามารถรักษาได้ หากเกิดอาการเวียนศีรษะ หมดสติ หายใจถี่ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ควรรีบมาพบแพทย์

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นพ.พันธุ์เทพ ยังกล่าวว่า พบผู้ป่วยร้อยละ 20 ที่ติดเชื้อโควิดและมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันดีกว่า เนื่องจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการติดโควิดมีมากกว่าการฉีดวัคซีน อีกทั้งในประเทศไทยก็ยังไม่มีผู้ป่วยที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษแบบชาวยุโรป 

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกโรงพยาบาลศิริราช ยังยืนยันอีกด้วยว่า ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน และ “ขอให้กลัวโควิด อย่ากลัววัคซีน ฉีดก่อนป้องกันก่อน และเราทุกคนจะปลอดภัยจากโควิด เราจะทำให้โควิดจากโรคร้ายกลายเป็นไข้หวัดธรรมดาด้วยวัคซีน” 

(ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2564)

ฉีดเมื่อไหร่

เริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ลงทะเบียนยังไง
  • ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ LINE OA ‘หมอพร้อม’ เวอร์ชั่น 2
  • โรงพยาบาลที่มีประวัติรักษาอยู่ หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ 
  • อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
  • ฉีดวัคซีนแบบวอล์คอิน (walk in) 
  • โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่เปิดให้มีการลงทะเบียนรับวัคซีนโควิด-19 ผ่านลิงค์ของโรงพยาบาลเอง
ฉีดที่ไหน

สถานที่ 14 แห่งที่จัดเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 6 โซนดังนี้

  • กลุ่มเขตกรุงเทพฯ เหนือ 2 แห่ง ได้แก่ 
    • บริษัทปูนซีเมนต์ไทย หรือ SCG บางซื่อ ฉีดได้ 2,000 คน/วัน 
    • ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว 2,000 คน/วัน 
  • กลุ่มเขตกรุงเทพฯ ใต้ 4 แห่ง ได้แก่ 
    • สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน 1,500 คน/วัน 
    • ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค เขตสวนหลวง 1,000 คน/วัน 
    • True Digital Park เขตพระโขนง 1,000 คน/วัน 
    • เอเชียทีค เขตบางคอแหลม 2,000 คน/วัน 
  • กลุ่มเขตกรุงเทพฯ ตะวันออก 3 แห่ง ได้แก่ 
    • เดอะมอลล์ บางกะปิ 2,000 คน/วัน 
    • โรบินสัน ลาดกระบัง 1,000 คน/วัน 
    • โลตัส มีนบุรี 1,000 คน/วัน 
  • กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ 
    • เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย 1,000 คน/วัน
    • ไอคอนสยาม เขตคลองสาน 1,000 คน/วัน 
  • กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 3 แห่ง ได้แก่ 
    • สถานีบริการน้ำมัน ปตท. พระราม 2 เขตบางขุนเทียน 1,500 คน/วัน 
    • เดอะมอลล์ บางแค 2,000 คน/วัน 
    • บิ๊กซี บางบอน 1,500 คน/วัน 

ส่วนในต่างจังหวัด การบริหารจัดการวัคซีนขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนกลางจะส่งวัคซีนตามยอดที่จะฉีดร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร ให้จังหวัดไปจัดบริการ 3 กลุ่ม คือ หมอพร้อม, อสม./รพ. และกลุ่ม walk in ในจังหวัดที่มีความพร้อม 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามจุดบริการฉีดวัคซีนได้ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด คาดว่าจะทยอยประกาศจุดบริการของแต่ละจังหวัดในสัปดาห์หน้า

อ้างอิง

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า