ไกลบ้าน: ไวรัส แฟชั่นวีค และสุนทรียภาพที่ริมระเบียงของชาวอิตาลี

อิง-สุจิวรรณ เขมากรณ์ ถูกชายชาวอิตาลีคนหนึ่งแสดงกิริยาต่อต้าน สีหน้าไม่พอใจ เขาพูดเป็นภาษาอิตาลีใส่หน้าเธอว่า “Coronavirus!” เมื่อเห็นเธอสวมหน้ากากอนามัย

ในวันที่โลกปั่นป่วนไปด้วยการคุกคามของไวรัส ผู้คนทั่วโลกรู้สึกกลัว ทุกคนใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวง บ่มเป็นความเครียดสะสม กลายเป็นชนวนชวนทะเลาะ อิงเข้าใจสถานการณ์ดีและไม่เคยคิดเหมารวม ไม่ใช่ชาวอิตาลีทุกคนจะแสดงท่าทีเช่นนั้นใส่เธอ ยังมีเพื่อนชาวอิตาลีอีกมากมายที่เข้าใจและนึกเป็นห่วงสุขภาพของเธออยู่เสมอ

เหตุการณ์นี้สร้างแผลเป็นแห่งความน้อยใจให้อิง เพราะเอาเข้าจริงไวรัสไม่ได้เลือกคน ไม่เลือกเชื้อชาติ แต่ทำไมเธอถึงถูกเลือกปฏิบัติ

ในวัย 28 ปี เธอตั้งใจเดินทางมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หลังใช้เวลาทำงานและเตรียมความพร้อมในสายงานถ่ายภาพเกือบ 5 ปี จนมาเจอทุน NABA (Nuova Accademia di Belle Arti หรือในชื่ออังกฤษคือ New Academy of Fine Arts) เธอจึงไม่รีรอยื่นสมัครและได้เข้าเรียนต่อในด้าน Photography and Visual Design ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

“เรามั่นใจเวลาได้จับกล้องถ่ายภาพ รู้สึกเป็นตัวเองมากๆ จึงตัดสินใจเดินต่อสายนี้ หลักสูตรที่เรียนจะใช้เวลาทั้งหมด 1 ปี เรามาอิตาลีเมื่อกันยายน 2019 อยู่ที่นี่ได้ 7-8 เดือนแล้ว อยู่ไม่นานมาก ก็เจอโรคระบาดเลย”

การมาเรียนต่างแดนครั้งนี้ เป็นการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลข้ามทวีปครั้งแรกของเธอ อิงสนใจและชื่นชอบประเทศอิตาลีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และ “หลงรัก architecture ชอบบรรยากาศมาก ชอบทุกอย่างในอิตาลี มันมีความสวยงาม รื่มรมย์ อีกอย่างเพราะที่นี่คือบ้านของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เราอยากมาเห็นเมืองของศิลปิน ตามประสาเด็กศิลปากร”

ความรู้สึกแวบแรกเมื่อเดินทางมาถึงอิตาลี เธอตื่นเต้นและรู้สึกมีแรงผลักดันบางอย่างเกิดขึ้น รู้สึก belong กับที่นี่ มีความสุข สบายใจ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เธอรู้สึกดีกับการได้มาอยู่ที่นี่มาก

เมื่อโรคระบาดเข้ามาทักทาย

ระยะเวลา 7-8 เดือนที่อิงอยู่ในอิตาลี เธอใช้ชีวิตอย่างสนุกและเรียบง่าย ออกไปถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ ชีวิตเริ่มต้นตั้งแต่เช้า

“เราเดินไปมหา’ลัย แค่ 10 นาทีก็ถึง เพราะที่พักอยู่ใกล้ ตอนเดินก็ได้ผ่านสวนสาธารณะ เห็นวิวดีๆ เห็นต้นไม้ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ไม่ได้ไปเรียน เราก็จะไปนั่งเล่น ถ่ายรูป ไปกินข้าว ไปมิวเซียม แกลเลอรี หรือนัดเจอเพื่อนๆ”

ทว่าชีวิตของอิงเปลี่ยนไป เธอนั่งอยู่ในห้องเงียบๆ ไม่ได้ไปนั่งเล่น ไม่ได้เดินไปมหา’ลัย ไม่ได้ออกไปถ่ายรูปนานร่วม 3 เดือนแล้ว

ย้อนไปในช่วงต้นปี 2020 พบผู้ติดเชื้อในอิตาลีที่เดินทางมาจากประเทศจีนจำนวน 3 คน จากนั้นไม่นานสถานการณ์ก็รุนแรงขึ้น โรคระบาดลามไปอย่างรวดเร็วในเมืองแบร์กาโม (Bergamo) แคว้นลอมบาร์เดีย (Lombardia) และแคว้นเวเนโต (Veneto) โรคแพร่กระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน

กระทั่งวันที่ 9 มีนาคม รัฐบาลอิตาลีตัดสินใจเริ่มมาตรการล็อคดาวน์แคว้นต่างๆ ทางเหนือของประเทศ แต่กลายเป็นว่าคืนนั้นชาวอิตาลีจำนวนมากแตกตื่นและตัดสินใจขึ้นรถไฟเดินทางกลับภูมิลำเนา-เหมือนมดแตกรัง

“เราว่านี่คือ turning point อีกจุดหนึ่งที่ทำให้การแพร่เชื้อในอิตาลีกระจายอย่างรวดเร็วมากๆ เพราะหลังจากนี้อีกไม่นาน พบยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงสุดติดเพดานถึง 6,500 คนต่อวัน”

ช่วงแรกที่พบผู้ติดเชื้อเพียง 3 คน ตอนนั้นเธอยังรู้สึกชิลๆ เพราะดูเป็นเรื่องไกลตัว เธอใช้ชีวิตอย่างปกติ จนเวลาผ่านไปยอดจำนวนผู้ติดเชื้อดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อทำให้ตกใจไม่น้อย

“ช่วงวาเลนไทน์เรายังไปปาร์ตี้กับเพื่อนอยู่เลย คนที่นี่ก็ใช้ชีวิตปกติ เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ตอนนั้นสถานการณ์ไม่ดีมากๆ ญาติๆ ที่อยู่ในเมืองไทยก็เข้ามาสอบถามมากขึ้น เพราะน่าจะเป็นช่วงเดียวกับสถานการณ์ที่ไทยก็เริ่มไม่ดี”

ทำไมผู้ติดเชื้อในอิตาลีถึงมีจำนวนมาก

ปัจจุบันตัวเลขยืนยันผู้ติดเชื้อในอิตาลีมีมากถึง 200,000 กว่าคน อิงบอกว่าสิ่งที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมากขนาดนี้มีหลายปัจจัย เช่น ตื่นตัวช้าเกินไปในการป้องกันโรค ความสามารถในการตรวจหาผู้ป่วยที่ไม่มากพอ เพราะจำนวนบุคลากรทางการแพทย์มีน้อย อิตาลีเองก็มีประชากรผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก รวมถึงปัจจัยด้านวัฒนธรรม เช่น การทักทายที่อาศัยการสัมผัสกัน และความเชื่อในการสวมหน้ากากอนามัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไวรัสระบาดหนักด้วยเช่นกัน

“ช่วงแรกๆ น้อยมากที่เราจะเห็นชาวอิตาลีหรือชาวต่างชาติสวมหน้ากากอนามัย” อิงบอก

อีกหนึ่งประเด็นที่อิงมองว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เชื้อไวรัสแพร่ไปอย่างรวดเร็วเพราะขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพ

“เพราะคนอิตาลีเดินทางโดยรถไฟเป็นหลัก ขนส่งสาธารณะของที่นี่ค่อนข้างเชื่อมต่อกันอย่างทั่วถึง การเดินทางค่อนข้างสะดวก รถไฟสามารถไปถึงทุกที่ได้ จากเหนือลงใต้ ใต้ไปตะวันออก เชื่อมต่อกันอย่างง่ายดาย ฉะนั้นการแพร่กระจายโรคจึงไปได้อย่างรวดเร็ว”

อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญไม่พูดถึงไม่ได้ อิงบอกว่าในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาตรงกับ Milan Fashion Week 2020 คนจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาดูแฟชั่นโชว์ และนี่อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ไวรัสกระจาย

เครียด กลัว กังวล แต่ไม่กลับบ้าน

อิงยอมรับว่าเธอเครียดกับภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้น

“บอกตรงๆ ตอนนั้นมีทั้งความกังวลว่าเราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร กลัวติดเชื้อ พอออกมาข้างนอกก็ต้องเจอสายตาของคนบางกลุ่ม ต้องอยู่ในบรรยากาศ racist มันทำให้เราเครียดกว่าเดิม เราไม่รู้เลยว่าจะโดนทำร้ายร่างกายหรือเปล่า”

สิ่งที่อิงแพนิคมีหลายเรื่อง บวกกับข่าวที่ถูกนำเสนอก็มีแนวโน้มน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงไม่อยากป่วยในต่างแดน

“แต่ที่ตัดสินใจไม่กลับ เพราะรู้สึกว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีต้นทุนหลายอย่าง หนึ่ง-เราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด สอง-บ้านเราอยู่ต่างจังหวัด หากเรากลับไทยเราต้องกักตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อน ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าระหว่างทางที่เราเดินทาง เราจะติดเชื้อไหม มีแต่ความเสี่ยงอยู่ทุกกระบวนการ”

เมื่อไม่กลับไทย อิงจึงต้องปรับตัวรับมือกับภาวะนี้ให้ได้ หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลอิตาลีประกาศล็อคดาวน์ทั้งประเทศ โดยออกนโยบาย Social Distancing และสนับสนุนให้ work from home มากขึ้น อิงบอกว่าสองสิ่งนี้ทำให้พฤติกรรมของชาวอิตาลีเปลี่ยนไป เมื่อต้องออกไปใช้พื้นที่สาธารณะ เธอเห็นคนอิตาลีใส่หน้ากากอนามัยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็พยายามช่วยควบคุมราคาเพื่อให้ประชาชนยังสามารถซื้อได้อย่างปกติ

ส่วนบรรยากาศหลังจากล็อคดาวน์ทั้งประเทศ อิตาลีก็เงียบลงมากๆ อิตาลีไม่สดใสเหมือนที่อิงเคยเห็นเมื่อ 7-8 เดือนก่อน หากจินตนาการไม่ออกอิงชวนให้นึกถึงกรุงเทพฯ ตอนสงกรานต์ – มันเงียบแบบนั้น

“ที่พักเราอยู่ติดกับริมถนน ปกติแล้วจะได้ยินรถวิ่งเข้าออกนอกเมืองเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ก็เงียบลง แต่ยังหาของกินได้ ธนาคาร ไปรษณีย์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยังเปิดตามปกติ รวมถึงร้านอาหารก็เปิดได้ แต่อยู่ในรูปแบบเดลิเวอรี”

ที่สำคัญ ไวน์ยังขายได้! อิตาลีไม่มีนโยบายงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์หรือเบียร์ยังคงหาซื้อไปตามปกติในซูเปอร์มาร์เก็ต

เรียนถ่ายรูป ท่ามกลางไวรัสระบาด

อิตาลีเป็นประเทศที่ตัดสินใจให้เรียนออนไลน์ทันที หลังรัฐบาลประกาศปิดเมือง ในฐานะนักเรียนปริญญาโท อิงบอกว่าอิตาลีตั้งหลักรับมือในเรื่องการศึกษาได้รวดเร็วและดีพอสมควร ในเมื่อไวรัสล้อมประเทศทำให้เดินทางไปเรียนไม่ได้ โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงเปิดให้เรียนออนไลน์ทันที ไม่ว่าคุณจะเรียนอยู่ระดับไหนก็ตาม

“ยิ่งเราเป็นนักเรียนต่างชาติ ยิ่งต้องเรียนให้จบตามคอร์สที่แพลนไว้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างต้องควบคุม เช่น ค่าใช้จ่าย อายุวีซ่า ดังนั้นจะปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉยๆ โดยไม่เกิดอะไรขึ้นไม่ได้”

แม้การเรียนออนไลน์จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับอิง เพราะการศึกษาไทยไม่ได้ฝึกปรือให้คุ้นเคยกับการเรียนในระบบออนไลน์เท่าไรนัก แต่เมื่อทดลอง study from home ไปสักระยะ อิงพบข้อดีว่าเธอมีสมาธิมากขึ้นในการเรียนในบางวิชา

แต่แน่นอนว่าการเป็นนักเรียนถ่ายภาพ จำเป็นต้องสร้างสรรค์ภาพถ่ายขึ้นมา มาตรการ quarantine จึงเป็นศัตรูอันดับหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการเรียนของอิงอย่างรุนแรง

“หลักสูตร ป.โท ระบุชัดว่าเราต้องฝึกงานถึงจะเรียนจบ ถ้าไม่เกิดไวรัส ในช่วงพฤษภาคมจะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเตรียมตัวเพื่อไปฝึกงาน แต่ด้วยสถานการณ์ ทุกอย่างถูกเลื่อน เราจึงทำได้แค่ ‘รอ’ ”

ในเมื่อออกไปถ่ายรูปไม่ได้เหมือนเก่า อิงจึงมีโปรเจ็คต์ส่วนตัวที่ได้ไอเดียจากการนั่งฟังเสียงไซเรนของรถฉุกเฉินต่างๆ จากห้องพักของตัวเอง

“เรานั่งนับเสียงไซเรนจากรถที่ขับผ่านหน้าบ้าน จดบันทึกไว้ว่าเสียงไซเรนของรถพยาบาลจะผ่านในช่วงเวลาใด วันไหน มากที่สุด ในอนาคตอาจจะเอาคลื่นเสียงที่จดและอัดบันทึกไว้มานั่งตีความ ตีความในเชิงคลื่นเสียง วิเคราะห์ shape ของคลื่น และดีไซน์ออกมาในรูปภาพ มันก็แปลกดีนะ สนุกด้วย” อิงเล่าถึงโปรเจ็คต์ในอนาคต

แน่นอนว่าการอยู่บ้านเป็นเวลานาน ต้องเรียนและทำงานในห้องแคบๆ ออกจากบ้านไม่ได้ ทำให้อิงอึดอัด

“โรคระบาดมันส่งผลกระทบต่อ creativity มากๆ เราอยากจะคิดงาน เรามักจะออกไปหาแรงบันดาลใจข้างนอก พอมาเจอสถานการณ์แบบนี้มันกระทบกับการเรียนของเราแทบทุกวิชา”

ความตีบตันเข้าเล่นงาน จนถึงขั้นต้องคุยกับอาจารย์ว่าคิดงานไม่ออกจริงๆ แต่อิงบอกว่าอาจารย์แต่ละคนน่ารัก เขาให้เวลาเพื่อให้นักศึกษาตกตะกอนให้มากที่สุด ไม่ได้เน้นการพรีเซนต์ด้วยสไลด์จำนวนมากๆ อาจารย์ที่เราเจอค่อนข้างให้ความใส่ใจกับสุขภาพจิตด้วยซ้ำ ยิ่งเกิดโรคระบาดเขายิ่งเข้าใจ นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่สัมผัสถึงความแตกต่างระหว่างที่เราเรียนในไทย

ความ (พยายาม) มีสุนทรียภาพ ในวันที่ไวรัสระบาด

วิดีโอชาวอิตาลีเล่นดนตรีจากระเบียง ประสานเสียงข้ามตึก ให้กำลังใจกันช่วงกักตัว เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนเนื้อแท้ของชาวอิตาลี อิงบอกว่าลึกๆ แล้วทัศนคติและนิสัยของคนอิตาลีค่อนข้างเป็นคนมีสุนทรียภาพ แน่นอนว่ามีการคอมเมนต์หรือแสดงความไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็เลือกมองวิกฤติให้เป็นเรื่องของการให้กำลังใจกัน

อิงอธิบายว่าชาวอิตาลีมักจะอยู่กันในอพาร์ตเมนต์ เมื่อถูกกักตัวในพื้นที่จำกัด ระเบียงบ้านจึงเป็นพื้นที่ที่สนุกที่สุด เราจึงเห็นภาพการออกมาร้องรำทำเพลง เห็นการทักทายกันระหว่างตึกตรงข้าม นั่นเป็นวิธีที่เขาพยายามสื่อสารเพื่อลดความเครียด

“เราว่าคนอิตาลีเขา prefer ในการใช้ชีวิตบนสุนทรียศาสตร์ ใช้ชีวิตให้มีความสุขมากกว่าความเครียด”

ในสายตาของอิง คนอิตาลีไม่ได้ติดมือถือ ติดโซเชียล หรือเป็นพวกสังคมก้มหน้าเท่าไรนัก พวกเขายังคงพกหนังสือไปในทุกที่ วันหยุดก็ไปเที่ยวมิวเซียม ไปเดินดูแกลเลอรี เขายังเสพศิลปะเป็นหัวใจหลักอยู่

“ชาวอิตาลีก็คือชาวอิตาลี ศิลปะอยู่ในสายเลือดของพวกเขา ท่ามกลางถนนที่เงียบแทบไม่มีรถวิ่ง แต่เราก็ยังได้ยินเสียงรถที่จอดรอไฟแดงเปิดเพลงลั่นอยู่”

The New Normal ในวงการแฟชั่น

มิลานคือหัวใจของอิตาลี มิลานจึงสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพราะเป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวและเมืองแฟชั่น อิงบอกว่าเมื่อวิกฤตินี้ผ่านไป มิลานและอิตาลีจะเกิด new normal หลายอย่าง

“หลังจากนี้อาจจะมีการวัดไข้ก่อนเข้าดูแฟชั่นโชว์ หรือไปรับชมแฟชั่นโชว์แบบออนไลน์มากขึ้น เราคิดไปถึงขั้นว่าคนอาจจะให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าน้อยลง เราอาจจะมองหาเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า ที่มัน simple และเน้นไปที่การใช้งานมากขึ้น ทุกอย่างจะเรียบง่ายและ back to basic กว่าเดิม หรือเห็นคอลเลคชั่นแฟชั่นของหน้ากากอนามัยที่มีดีไซน์สวยๆ ก็เป็นได้!”

โรคระบาดช่วยเปิดโลกกว้างให้อิง ในฐานะนักเรียนด้านศิลปะถ่ายภาพ อิงพบว่าโรคระบาดทำให้คนโดน isolate แต่ทำไมเรายังคงเห็นความครีเอทีฟของคนอยู่ นี่มันสะท้อนว่า ‘ความครีเอทีฟไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่’

คุณค้นเจอความครีเอทีฟของตัวเองได้แม้อยู่ในพื้นที่จำกัด มันจะงอกงามขึ้นมาโดยที่คุณไม่รู้ตัว เช่นความพยายามจะมีสุนทรียภาพของชาวอิตาลีในการจัดแฟลชม็อบเล่นดนตรีข้ามตึก

อิงเคยเป็นคนที่เคยจินตนาการว่าศิลปะต้องอยู่บนผ้าแคนวาส – แต่ตอนนี้เธอไม่คิดแบบนั้นแล้ว

“การที่เราได้ออกไปข้างนอก เหมือนกับการที่เราทำงานศิลปะโดยใช้อุปกรณ์ที่ดี เรามีแคนวาส มีสี มีพู่กัน อุปกรณ์ที่ครบครันอาจจะช่วยส่งเสริมให้งานชิ้นนั้นสวยงามขึ้น แต่การที่เราต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านเหมือนเรามีแค่ A4 และดินสอแท่งหนึ่ง แต่สุดท้ายเราก็สร้างสรรค์ศิลปะออกมาได้อยู่ดี”

แม้วันนี้มิลานและอิตาลีจะโดนไวรัสทำร้ายจนบอบช้ำ แต่สุดท้ายมิลานและอิตาลียังคงเป็นเมืองแห่งศิลปะที่งดงามอยู่ในใจของอิงอยู่ดี โจทย์ต่อจากนี้คือ มิลานและอิตาลีจะปรับตัวและเอาตัวรอดอย่างไรเพื่อให้ตัวเองงอกงามต่อไปได้ ไม่แน่มิลานอาจจะเป็นเมืองแห่งแฟชั่นในแบบ new era ต่อไปก็เป็นได้

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

สุจิวรรณ เขมากรณ์
เพราะความมั่นใจและรู้สึกเป็นตัวเองทุกครั้งที่จับกล้อง จึงตัดสินใจบินข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อรับบทบาทใหม่ จากช่างภาพใน Fashion Industry ไปเป็นนักศึกษาปริญญาโท Photography and Visual Design ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า