คนไร้บ้านในภาวะโรคระบาด มาตรการที่ดีคือต้องมองเห็นความเป็นคน

‘คนไร้บ้าน’ คือกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อภาวะโรคระบาดอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่สามารถปกป้องตนเองจากโรคได้อย่างเต็มที่แล้วยังไม่ได้รับความใส่ใจจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลพวกเขาโดยตรงอีกด้วย โดยเฉพาะคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุหรือเจ็บป่วยอยู่แล้วทำให้ปัญหาซ้ำซ้อนยิ่งกว่าเดิม

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา เผยว่าขณะนี้มูลนิธิกระจกเงากำลังเร่งช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการแจกจ่ายเงินให้คนไร้บ้านคนละ 1,000 บาท หลังจากลงพื้นที่เก็บข้อมูลและทำการประเมินแล้ว มีทั้งการโอนสำหรับคนที่มีเลขที่บัญชีและการนัดหมายเพื่อหลีกเลี่ยงความชุลมุนและลดความเสี่ยงในการรวมตัวกันจำนวนมาก สิทธิพลเห็นว่าแนวทางช่วยเหลือคนไร้บ้านในภาวะวิกฤติเช่นนี้จำเป็นต้องวางระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อคนกลุ่มนี้ไม่น้อยไปกว่าคนกลุ่มอื่น

สถานการณ์คนไร้บ้านในช่วงโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงนี้เขาอยู่ในภาวะที่ยากลำบากที่สุดแล้ว ไม่เหมือนช่วงโควิดระบาดระลอกแรกที่คนในสังคมยังพอให้ความช่วยเหลือกันได้ ออกมาแจกข้าวตามจุดต่างๆ แต่ครั้งนี้แทบไม่มีเลย หรืออาจจะมี แต่ประปรายมากๆ อย่างที่ราชดำเนินจะเหลือแค่จุดเดียวที่คนไร้บ้านออกมารอรับข้าวได้ ส่วนจุดเดิมที่เคยมีตามสถานการณ์ปกติปิดหมดเลย ทั้งหน่วยงานสังคมสงเคราะห์และตามวัดต่างๆ ทำให้สถานการณ์ของคนไร้บ้านตอนนี้ย่ำแย่มาก

เรื่องอาชีพและการหารายได้ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย อีกอย่างหนึ่งคือ เขาไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ที่รัฐจัดไว้ให้ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ อะไรต่างๆ เหล่านี้ มีคนไร้บ้านจำนวนน้อยมากที่เข้าถึงได้ ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง อย่างโครงการเราชนะ แม้ว่ารัฐจะเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงเงิน 7,000 บาท แต่พอเราลงไปสำรวจข้อมูลก็พบว่ามีคนไร้บ้านกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้จะใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องสมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นต่างๆ 

เนื่องจากเราเป็นองค์กรที่ทำงานกับคนไร้บ้าน เรารู้ว่าถ้าเราทำอาหารไปให้เขา เราก็ต้องทำกันจนเหนื่อย ไม่เหมือนกับการให้เงินเขาไป 1,000 บาท แล้วให้เขาไปจัดการตัวเองได้เลย เหตุที่เราให้เงินเขาเนื่องจากเป็นสถานการณ์พิเศษ และเราเชื่อใจคนไร้บ้านพอสมควร อาจมีส่วนหนึ่งที่เอาไปกินเหล้าหรือเอาไปใช้ผิดประเภท ไม่ได้เอาไปซื้อของกินของใช้ แต่คิดว่าเป็นส่วนน้อยมาก เพราะฉะนั้นเราจะไม่มองแบบเหมารวมว่า ถ้าให้เงินไปแล้วจะทำให้เขาเอาไปใช้ผิดประเภท 

คนไร้บ้านเองมีความกังวลต่อโควิดมากน้อยแค่ไหน

ความกลัวต่อการติดเชื้อเป็นเรื่องรองเลยนะ มีงานวิจัยที่ไปสำรวจตั้งแต่ปีที่แล้ว (โครงการสำรวจผลกระทบโควิด-19 ต่อชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านและคนจน​เมือง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา และคณะ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ถึง 22 สิงหาคม 2563) พบว่า ความกังวลเรื่องโควิดน้อยมากเลย ส่วนใหญ่เขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กลัวอดตายมากกว่ากลัวติดเชื้อ เพราะฉะนั้นโควิดก็เป็นโรคที่เขาตระหนักนะ เขารู้ว่ามันติดทางไหนอย่างไรบ้าง แต่ด้วยวิถีที่ต้องเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน ทำให้เขารู้สึกว่าโควิดเป็นเรื่องรองสำหรับเขา 

การระบาดระลอกนี้มาจากกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นบนในเมือง คนกลุ่มนี้น่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยไหม

ก็อาจจะพูดได้ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วเป็นความหละหลวมของรัฐในการควบคุมมาตรการหรือเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการระบาด จึงส่งผลให้มีคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ภายใต้ความหละหลวมของรัฐสามารถทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคได้

เราคงไม่สามารถชี้ผิดถูกไปที่คนกลุ่มเดียวได้ ต้องชี้มาที่ตัวรัฐเอง เพราะรัฐมีหน้าที่บริหารจัดการเรื่องนี้โดยตรง นี่คือหน้าที่ของเขา และเขาปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แน่นอนว่าเราสามารถชี้ไปยังคนที่เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อได้ว่า คุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องนี้

อะไรคือความยากลำบากในการช่วยเหลือคนไร้บ้าน และรัฐควรมีมาตรการจัดการอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาที่สุดคือ เรื่องการห้ามรวมตัวเกิน 20 คน เพราะทำให้ทุกอย่างสะดุด เพราะบางทีการระดมความช่วยเหลืออย่างเช่นการตั้งจุดแจกอาหารก็ทำได้ยาก แต่ผมคิดว่าเงื่อนไขหรือมาตรการที่เคร่งครัดเกินไปก็ยังไม่หนักเท่ากับการที่รัฐไม่เห็นว่าคนกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแล เพราะเขามีสภาวะเปราะบางสูงมาก เมื่อมีวิกฤติหรือปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเข้ามา เขาจะเป็นกลุ่มแรกที่รับแรงกระแทกไปเต็มๆ 

ถ้าเกิดกรณีการระบาดในคนไร้บ้าน แน่นอนว่าความรุนแรงของโรคที่จะส่งผลต่อตัวเขามีสูงมาก เพราะส่วนใหญ่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้สูงอายุและเป็นคนอมโรค หลายคนมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องโควิดหรอก เอาแค่เรื่องทั่วไปเราก็รู้ว่าคนกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงอาหาร ภาพคนไร้บ้านที่ต้องไปรับข้าวที่ราชดำเนิน ผมคิดว่าภาครัฐเห็นเพราะกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มาลงพื้นที่ แต่ก็ไม่นำไปสู่การส่งต่อว่าจะต้องจัดการการให้ความช่วยเหลืออย่างไร แม้แต่ปัญหาเบื้องต้นอย่างการเข้าถึงอาหาร บางคนต้องการมีที่พักอาศัยที่เขารู้สึกว่าต้องปลอดภัยไว้ก่อนสำหรับเขา เพราะไม่รู้ว่าจะเสี่ยงติดเชื้อเมื่อไหร่ แต่รัฐก็ไม่ได้มีการจัดสรรพื้นที่ไว้รองรับตั้งแต่เนิ่นๆ เลย เราจะเห็นภาพนี้ได้เมื่อตอนโควิดระลอกแรก ซึ่งตอนนั้นรัฐประกาศเคอร์ฟิวเลย มีการจัดสถานที่รองรับแบบฉุกละหุกมาก ซึ่งก็จะเห็นปัญหาว่า ในหนึ่งห้อง มีคนไร้บ้านอยู่รวมกันเป็น 10 คน แน่นอนว่ามันไม่ควรถูกจัดการแบบนั้น 

มาครั้งนี้ผมก็ยังไม่เห็นการตระเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า แม้จะมีบทเรียนมาแล้วในระลอกแรก ถึงจะไม่ชัดเจนก็ทำ scenario ขึ้นมาได้ว่าควรจะรองรับแบบไหนอย่างไร แต่เขาไม่ทำ การไม่ทำ ทั้งๆ ที่มีบทเรียนมาก่อน ผมพูดได้เต็มปากว่ามันคือการละเลย การมองไม่เห็นพวกเขา การไม่ใส่ใจที่จะปกป้องดูแลพวกเขา ทั้งที่ก็เห็นว่าเขาคือกลุ่มเปราะบาง แรงกระแทกที่จะมาโดนเขามันหนักหน่วงกว่าคนทั่วไป

มีข้อเสนอเร่งด่วนอะไรบ้างที่รัฐควรทำ

อย่างแรกผมคิดว่าต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านอย่างครอบคลุม เอาแค่เรื่องอาหารการกิน ให้เขาเข้าถึงได้ครบถ้วน ด้านสุขอนามัย จะออกแบบอย่างไรให้เขาสามารถรักษาสุขอนามัยของตัวเองได้ เช่น ได้ล้างมือบ่อยๆ ได้อาบน้ำบ่อยๆ มีอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองจากโรค เช่น หน้ากากอนามัยที่เปลี่ยนได้ตลอด เพราะเมื่อเราลงพื้นที่ เราเห็นว่าบางคนหน้ากากยืดย้วย เขาจึงควรที่จะได้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ แม้แต่เรื่องของวัคซีนเองอาจจะต้องมีการสำรวจความต้องการของเขา อาจจะต้องออกแบบระบบบางอย่างที่ทำให้เขาเกิดแรงจูงใจในการไปฉีด ถ้าเราคิดว่าวัคซีนคือสิ่งสำคัญในการหยุดยั้งโรค เราก็ต้องออกแบบระบบใหม่ เพราะอย่างที่บอกว่าคนไร้บ้านเองก็ไม่ได้ตระหนักเรื่องนี้มากเท่าปัญหาปากท้อง ถ้าจุดฉีดวัคซีนอยู่ไกลจากเขา และต้องมีเงื่อนไขการลงทะเบียนที่ซับซ้อน มันก็จะเป็นเรื่องยากสำหรับเขา 

โดยปกติแล้วคนไร้บ้านเอง ถ้าเขาป่วย เขาก็ไม่อยากไปโรงพยาบาล เขาจะซื้อยากินเองจนหาย ถ้าไม่หายก็นอนซมจนกว่าจะป่วยหนักๆ ถึงจะยอมเข้ารับการรักษา หรือจนกว่าจะถึงขั้นส่งเข้าแผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาล ผมจึงคิดว่าเขาคงไม่เลือกที่จะเดินไปฉีดวัคซีนเองหรอก เราต้องสร้างระบบที่จะทำให้เขาเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการให้เขาเข้าถึงเงินเยียวยาเพื่อจัดการตัวเองทางเศรษฐกิจหรือซื้อของจำเป็น หากไม่มีจุดแจกข้าว เขาจะได้ซื้อข้าวกินเองได้ ผมคิดว่าหลายๆ เรื่องรัฐต้องเข้ามาดูว่าจะจัดการปกป้องดูแลพวกเขาในสถานการณ์วิกฤติอย่างไร มีทางเดียวคือต้องช่วยเขา เพราะเขาไม่มีศักยภาพในการปกป้องตัวเอง ยากมากที่เขาจะดูแลตัวเองในสถานการณ์แบบนี้

สิ่งแรกที่รัฐควรทำเลยคือ การมองเห็นคนไร้บ้านก่อนใช่ไหม

ต้องมองเห็นเขาในฐานะกลุ่มเปราะบางด้วยนะ เขาไม่มีเกราะกำบังที่จะรับมือวิกฤติแบบนี้ได้ ไม่ใช่แค่มองเห็นว่าเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เขาไม่ใช่คนพิการ แต่เปรียบเทียบได้ว่าเขาก็เหมือนคนพิการ ถ้าเรามองเห็นคนพิการ เราก็ต้องทำเครื่องมือที่สอดคล้องต่อกายภาพของเขา คนไร้บ้านก็เช่นกัน เขาไม่ใช่กลุ่มคนที่จะมานับรวมได้ว่าเป็นกลุ่มคนปกติ เขามีเงื่อนไขเฉพาะบางอย่างที่ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของเขาครับ

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า