บ่ายวันหนึ่ง ระหว่างประชุมกองบรรณาธิการ WAY เราถกเถียงกันว่า เหตุใดการเดินทางไปท่องเที่ยวตามธรรมชาติของคนรุ่นใหม่จึงเป็นเทรนด์ที่มาแรงในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ข้อถกเถียงแบ่งออกเป็นสองชุด ชุดแรก สนใจปะทะกับโจทย์ข้างต้น ด้วยลีลาทีเล่นทีจริง โดยพุ่งไปยังสายแคมปิ้งในฐานะเป็น luxury ที่สร้างอัตลักษณ์ของคนกลุ่มหนึ่ง ส่วนข้อถกเถียงชุดที่สอง หันไปพิจารณาว่าเป็นความไม่พอใจสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ในเมืองใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติจึงเป็นรังพักให้คนหนุ่มสาวชาร์จแบตหัวจิตหัวใจ เพื่อกลับมาลุยกับบ้านเมืองผุๆ อีกครั้ง!
ที่ว่ามาข้างต้นไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่เล่าถัดจากนี้ ท่ามกลางข้อถกเถียงสองชุดดำเนินไป ผมอาศัยช่วงชุลมุนยกมือขึ้น แล้วบอกทุกคนว่าจะขออนุญาตออกไปเที่ยว ทั้งๆ ที่เพิ่งใช้สิทธิลาพักร้อนตามกฎหมายแรงงานไปกับการเขียนงานที่รักอีกประเภทคืองานวิชาการ และนั่นคงไม่เรียกว่าการพักร้อน และคิดว่าควรจะได้พักร้อนจริงๆ บ้าง
ถึงกระนั้น การเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้ ผมก็ได้ให้คำมั่นไว้ว่าจะเขียนสารคดีท่องเที่ยวกลับมาฝากสักชิ้น ปฏิกิริยาจาก บก. อาร์ตไดเร็คเตอร์ จึงสวนขึ้นทันทีว่า “ถ่ายรูปกลับมาด้วยนะ”
เช็คหม้อน้ำ เติมลมยาง สำรวจปลายทางที่จะไป
ผลงานการลั่นชัตเตอร์ที่ผ่านมาของผม คงการันตีเป็นที่ประจักษ์แก่ บก.อาร์ตฯ จนมีคำตอบเหลือเพียงหนึ่งว่า “เฟลชัวร์” (ฮา)
แต่ใครจะไปรู้ล่วงหน้าว่าชีวิตที่เดินผ่านมาทั้งร้ายดี ล้วนเชิญชวนให้เราสนใจทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ผมจึงเริ่มค้นคว้าข้อมูลการเที่ยวครั้งนี้อย่างบ้าระห่ำ โดยตระหนักไว้ว่าในฐานะนักเขียนที่ดีก็ “ควรจะทำอะไรให้ บก. เขาปลื้มใจเสียบ้างนะ”
90 เปอร์เซ็นต์ของเวลาในการเตรียมตัวเที่ยว จึงใช้ไปกับการค้นหาสถานที่ที่ควรไป หามุมถ่ายรูปสวยๆ และที่สำคัญถ่ายอย่างไรไม่ให้เฟลชัวร์!
เนื้อหาการพักผ่อนเที่ยวนี้ไม่มีอะไรน้อยไปกว่า การพาตัวเองไปอยู่ในจุดสงบ ทอดสายตาไปยังเส้นขอบฟ้า มีธรรมชาติที่งดงามแวดล้อมร่างกายเรา เหลือพื้นที่ว่างไว้พอให้ไต่สวนความคิดตัวเองนิดหน่อย พูดคุยกับคนที่น่าสนใจสัก 1-2 คน แต่การค้นข้อมูลท่องเที่ยวมันไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วย เพราะทริปนี้เกิดขึ้นไม่ถึง 1 สัปดาห์ หลังรัฐบาลคลายมาตรการล็อคดาวน์ ถึงแม้ว่าตามโวหารโฆษก ศบค. จะเรียกว่าควบคุมพิเศษก็ตาม
ฉะนั้นหากจะมีประโยชน์กับผู้อ่านอยู่บ้าง ข้อเขียนนี้เป็นการแนะนำการท่องเที่ยวอย่างง่ายๆ และเป็นจริงได้ในสถานการณ์ที่เราเผชิญกันอยู่ สถานที่ที่ไปก็ควรจะอยู่ในระยะที่ขับรถไปกลับเองได้ โดยไม่เอาความฝันมาขูดรีดร่างกายตัวเองเกินไป และที่สำคัญควรอยู่ในพื้นที่ควบคุมพิเศษ เห็นมาตรการ เห็นการปรับตัวของผู้คน พร้อมๆ กับเป็นสถานที่มีธรรมชาติสวยงาม มาถึงตรงนี้ จะมีอะไรดีเท่าไปที่ชายแดน ได้เห็นอานุภาพของเส้นแบ่งรัฐชาติที่เคยพร่าเลือนกลับมาเด่นชัดอีกครั้ง
สู่ปลายฟ้าทะเลฝั่งตะวันออก
‘เกาะกูด’ คือปลายทางที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกเริ่ม ที่นั่นเป็นเกาะสุดท้ายของน่านน้ำฝั่งตะวันออกของไทย ติดกับพรมแดนของกัมพูชาทางน้ำ พื้นที่บนเกาะมีประมาณ 111.266 ตร.กม. พรั่งพรูไปด้วยความงามนานัปการทั้งบนบก มีน้ำตก ชายหาด น้ำทะเล และชุมชนพื้นถิ่นที่มีเสน่ห์ดึงดูด
ผมเริ่มสำรวจวิธีการเดินทางและตรวจตราว่ามีเงื่อนไขของชีวิตอะไรบ้างที่เหนี่ยวรั้งร่างกายที่อ่อนล้าโรยแรงไม่ให้ไปถึงที่นั่นได้ ปัญหาที่โผล่มาแรกๆ เลยคือ ‘เงิน’
‘โครงการเราเที่ยวด้วยกัน’ คือทางออกของชายหนุ่มทุนน้อย โครงการนี้ได้รับความนิยมน้อยกว่ามูลค่าที่มันมีจริง มีเพียงบางโรงแรมและรีสอร์ทเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถดูได้จากแอพพลิเคชั่น agoda จะเห็นหมวดที่เขียนว่า ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เมื่อคลิกเข้าไปในเว็บไซต์จะพบรายชื่อรีสอร์ทที่เข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่ง ซึ่งราคาที่แอพพลิเคชั่นนี้แสดง เป็นราคาที่ลดลงมาตามเงื่อนไขของโครงการเรียบร้อยแล้ว คือ 40 เปอร์เซ็นต์ ติ๊ต่างว่าถ้าค่าห้อง 1,000 บาท ก็จะลดเหลือ 600 บาท และเมื่อเราได้ที่พักที่ต้องการ เราก็เลือกห้องและจ่ายเงิน
‘Rest Sea Resort Koh kood’ คือสถานที่ในการพักค้างคืนของทริปนี้ อันที่จริงห้องพักที่ผมเลือกนั้น ในสถานการณ์ปกติจะมีราคาที่สูง คือแพงสำหรับคนหนุ่มที่ยังไม่ลงหลักปักฐาน แต่ครั้งนี้ผมจ่ายไป 3,540 บาท ต่อคืน ซึ่งนั่นคือ 60 เปอร์เซ็นต์ ของราคาจริง เพราะถ้าไม่ได้ใช้โครงการเที่ยวด้วยกัน ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 5,900 บาทต่อคืน
สำหรับค่าอาหาร โครงการนี้จะมีเงินให้ผู้เที่ยวในแต่ละวันที่เช็คอิน โดยจะได้รับเป็นคูปองตอน 17.00 น. ของวันที่เช็คอิน โดยเงินจะเข้าผ่านแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ซึ่งแอพพลิเคชั่นต้องผูกกับ G-Wallet หรือ Krungthai Next
วันละ 600 บาท พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นคือ เป็นยอดเงินที่โครงการสนับสนุนให้ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 600 บาท นั่นหมายความว่า เราจะรับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้สูงสุด 1,500 บาท จ่ายจริงอยู่ที่ 900 บาท ซึ่งอีก 600 บาท รัฐจะสนับสนุนให้ สมมุติเข้าพักวันที่ 5 ก.พ. จะได้รับคูปอง 17.00 น. และเช็คเอาท์วันที่ 6 ก.พ. คูปองจะหมดอายุเที่ยงคืนของวันที่ 6 ก.พ.
แต่สิ่งที่ควรเตือนตัวเองเอาไว้ให้มั่นคือ ถ้าดื่มไปจนดึกดื่น คูปองนี้มีอายุถึงเที่ยงคืนของวันที่เช็คเอาท์เท่านั้น ฉะนั้นจึงควรคุมสติไว้บ้าง จะได้ไม่ลำบากในภายหลัง
บนถนนหนทางซูเปอร์ไฮเวย์ถึงท่าเรืออ่าวสลัด
หากขับรถจากกรุงเทพฯ ถ้าฝีมือการขับไม่เฉียดใกล้ระดับวิ น ดีเซล แนะนำให้ออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ แล้ววิ่งไปตามถนนมอเตอร์เวย์สายตะวันออกแล้วเลี้ยวซ้ายแยกบ้านบึงไปตามถนนหมายเลข 344 ก่อนจะไปเลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 3 อีกที ที่อำเภอแกลง ก่อนจะขับยาวไปตามถนนหมายเลข 3 มีด่านคัดกรองตามเขตแดนจังหวัด 2 ครั้ง เมื่อขับรถไปจนถึงตราดแล้ว เราต้องเลี้ยวขวาไปตามถนนสาย 3145 และ 3155 จนถึงบริษัทเรือข้ามฟากที่ชื่อ ‘บุญศิริ’ ผมเลือกฝากรถไว้ที่บริษัท สนนราคา 50 บาท ต่อคืน และจะมีรถพาไปส่งท่าเรือแหลมศอก โดยเรือจะออกเวลา 11.00 น. โดยมีด่านคัดกรองอีกรอบก่อนเดินขึ้นเรือ
อันที่จริง นับตั้งแต่โควิดระบาดรอบสอง มีเพียง 3 บริษัท ที่ให้บริการเดินเรือข้ามไปเกาะกูด หนึ่งคือ บริษัทบุญศิริ ที่ผมกำลังจะใช้บริการ จุดเด่นคือมีเรือใหม่และมีขนาดใหญ่ ไม่เบียดเสียดกับผู้คนมากนัก แถมยังมีบริการส่งตรงถึงกรุงเทพฯด้วยสำหรับใครที่ไม่ต้องการขับรถมาเอง ซึ่งเป็นบริษัทของทุนใหญ่เจ้าเดียวที่เข้ามาสัมปทานเดินเรือได้
สองคือ เกาะกูด Express จะมีเรือ 2 ประเภท คือเฟอร์รีและสปีดโบ๊ท ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของคนทั่วไปคือสปีดโบ๊ทจะทำความเร็วได้มากกว่าเฟอร์รี แต่ที่จริงแล้วเรือทั้งสองประเภทจะใช้เวลาเท่ากันคือ 1 ชั่วโมง – 1 ชั่วโมง 15 นาที ก็จะถึงเกาะ ความแตกต่างอยู่ที่สปีดโบ๊ทสามารถมาเทียบท่ากลางเกาะได้ คือบริเวณคลองเจ้า ซึ่งช่วยผ่อนภาวะข้างเคียงจากอาการเวียนหัวที่อาจจะมาจากการนั่งรถสองแถวบนเกาะระยะไกลได้ (บนเกาะจะเรียกว่า ‘แท็กซี่’) อีกทั้งบริษัทที่ให้บริการยังเป็นของชุมชนที่ก่อตั้งเอง ด้วยการระดมทุนจากคนในหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมหุ้นกัน และสามคือ บริษัท Princess เรือประเภทนี้มีราคาถูกที่สุด แต่ใช้เวลาเดินทางนานกว่าคือ 2 ชั่วโมงครึ่ง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการประหยัดเงินทุกเม็ด
ผมออกจากภาคพื้นทวีปตรงท่าเรือแหลมศอก ด้วยเรือเฟอร์รี ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ก็ถึงท่าเรืออ่าวสลัด เกาะกูด ทว่าด้วยการเปิดเดินเรือเพียง 3 จาก 5 เที่ยวต่อวัน และจำนวนคนที่มาเที่ยวก็ยังไม่คึกคัก ก็ทำให้มีโอกาสอันดีที่ได้เห็นความเงียบสงบของเกาะกูดได้เต็มตา แต่ก็แอบชวนคิดต่อว่าอาจจะเพราะเศรษฐกิจและความกลัวโควิดยังไม่สร่างซา
ยืนยันเรื่องนี้ได้จากคำพูดของพี่พนักงานเรือข้ามฟาก ที่บอกกับผมว่า “เกาะกูดเปิดยาก เราอยากจะส่งเรือข้ามไป แต่คนบนเกาะเขาไม่ยอมจนกว่าจะแน่ใจ”
ระหว่างที่นั่งรถของบริษัทไปยังเรือที่จอดรอบริเวณท่าเรือแหลมศอก มันจึงเหมือนกับแง้มกล่องปริศนาทิ้งไว้ รอให้เราเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง
ถึงแล้วสินะ เกาะกูด
จุดหมายปลายทางของผม อยู่ห่างจากท่าเรืออ่าวสลัด 22 กิโลเมตร หรือใช้เวลาราวๆ 40 นาที ถนนหนทางที่ใช้สัญจรมีความสวยงาม เหมาะกับการปั่นจักรยาน หรือขับมอเตอร์ไซค์ ขณะเดียวกันก็ท้าทายความสามารถในการขับรถพอสมควร เพราะมีจุดเลี้ยวและเนินสูงตลอดเส้นทาง
ถึงตรงนี้ น่าจะดีกว่าถ้าผู้อ่านได้รู้จัก คุณแพรรี่ เธอเป็นหญิงสาวอารมณ์ดีที่ให้คำแนะนำได้อย่างคล่องแคล่วและสนุกสนาน คอยทำหน้าที่เป็นแผนกส่วนหน้าของ Rest Sea Resort Koh kood เธอรักงานสายการโรงแรมมาตั้งแต่วัยรุ่น และเริ่มลุยถนนสายนี้ตั้งแต่หลังจากเรียนจบ ทำงานในไทย 2 ปี ก่อนจะไปอยู่เกาหลีใต้ 4 ปี และกลับมาไทย 2 ปี จากการพูดคุยกับเธอ แพรรี่บอกว่าตั้งแต่ทำงานมาหลายเกาะทั่วประเทศ ไม่เคยเห็นเกาะไหนมีความอุดมสมบูรณ์เท่านี้มาก่อน เพราะที่นี่ไม่ได้มีลักษณะเป็นเกาะเมือง นอกจากนั้นยังมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าทรัพยากรธรรมชาติที่นี่ยังดีอยู่ ทั้ง ลิง หมู่ป่า นก กระรอก ฯลฯ
แพรรี่เล่าถึงสัตว์ป่าบนเกาะไว้อย่างน่าสนใจว่า “บางทีคนพื้นถิ่นก็ยิงหมูป่าแล้วมาแบ่งกัน ส่วนลิงนั้นก็มีทั้งลิงเลี้ยงและลิงป่า ซึ่งลิงเลี้ยงก็เป็นการจับลิงลูกหลงตัวเล็กๆ ที่หลุดมาจากป่าเข้ามาในชุมชนแล้วไม่สามารถกลับเข้าไปในป่าได้ ถ้าเลี้ยงตอนโตแล้วนำมาฝึกฝนยังไงก็ไม่เชื่อง ส่วนมากชาวบ้านเลี้ยงไว้เก็บมะพร้าว”
เราจะสามารถเห็นลิงเหล่านี้ได้ง่ายตามข้างทาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอ่าวใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ ห่างจาก Rest Sea เพียง 4 กิโลเมตร ตรงนั้นจะมีลิงออกมาเยอะ โดยเฉพาะใกล้ๆ กับถังขยะที่คนออกมาทิ้งเศษอาหาร แต่จากการสอบถามพนักงานรีสอร์ทเล่าว่า “มีการประทุษร้ายกับคนน้อยมาก และอันที่จริงน้องกลัวคนด้วยซ้ำ”
อย่างที่บอกไปว่าเสน่ห์ของเกาะกูดอีกอย่างคือความเข้มแข็งของชุมชนตั้งแต่การตัดสินใจเปิดหรือปิดเกาะ ไปจนถึงการรักษาสมดุลของความเป็นท้องถิ่นกับความเป็นเมือง แพรรี่เล่าให้ผมฟังว่า ในช่วงโควิดระบาดรอบแรก ในเวลานั้นผู้คนที่นี่ยังไม่ทราบว่าไวรัสโคโรนาคืออะไร สิ่งที่คนท้องถิ่นทำคือชิงปิดเกาะก่อนเกาะอื่น วิธีการคือชาวบ้านชุมชนกับทุนท้องถิ่นจะประชุมรวมตัวกันแล้วลงมติปิดเกาะ
การรวมกลุ่มกันที่เหนียวแน่นในที่นี้ หมายถึง ผู้ประกอบการสามารถป้องกันทุนขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่เกาะ ทำให้ทุนขนาดเล็กและขนาดย่อมไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนัก รวมไปถึงมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด แม้ว่าจะมีมาตรการให้เปิดเกาะ แต่คนพื้นที่ก็มีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะเปิดหรือปิดเมื่อไร และไม่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงที่มีมาตรการปิดเกาะ จะว่าไปเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับที่แพรรี่บอก
จากการสอบถามชาวบ้านและสังเกตด้วยตา ผมพบว่า บนเกาะจะมีร้านค้าอยู่ตามรายทางคอยจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบครัน จากที่ไปซื้อจริงราคาก็เป็นมิตร ไม่น่าเชื่อว่าของเหล่านี้ขายบนเกาะที่ห่างจากผืนดินถึง 42 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม วันที่ผมไปเที่ยวก็พบว่า หลัง 4 ทุ่ม ร้านค้าเหล่านี้จะปิดหมด โดยเฉพาะอ่าวพร้าว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีร้านสะดวกซื้อของทุนยักษ์ใหญ่ปรากฏบนเกาะ ซึ่งให้อารมณ์ที่เงียบสงบจริงๆ ส่วนใครอยากจะดื่มยาวต่อ ข้อมูลเหล่านี้ทางรีสอร์ทก็เตือนเราตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วว่า ให้ตระเตรียมเสบียงไว้ให้พอ
กรณีเช่นนี้ รวมไปถึงปั๊มน้ำมันใหญ่ๆ ด้วย เพราะจะมีเฉพาะตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ที่ชาวบ้านพื้นถิ่นเป็นเจ้าของ วิธีการคือนำมาตั้งไว้หน้าบ้านหรือเช่าที่ตั้ง ซึ่งราคาของตู้พวกนี้จะอยู่ราวๆ 100,000-200,000 บาท แต่อาชีพส่วนใหญ่ของคนพื้นถิ่นจริงๆ แล้ว ยังอยู่ในภาคของการทำประมง ปลูกยางพารา และสวนมะพร้าว ซึ่งจะมีเยอะมากบริเวณอ่าวพร้าว ซึ่งอยู่รอบๆ พื้นที่ของ Rest Sea
Rest Sea มหัศจรรย์ของสีน้ำทะเล
ผมนั่งรถแท็กซี่ตามเส้นทางบนเกาะ สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นนอกจากความงามระหว่างทางไป คือ จุดชมอ่าวที่มีอยู่หลายจุด แต่ถ้าพูดถึงอ่าวที่มีความ unique มากที่สุดแล้วคนสนใจน้อยที่สุดน่าจะเป็น อ่าวใหญ่ ที่นี่เป็นชุมชนชาวประมง บ้านเรือนทุกหลังลอยน้ำสร้างยื่นออกไปยังทะเล อาหารทะเลสดๆ ที่หามาได้จะถูกขายส่งให้รีสอร์ทต่างๆ ภายในเกาะกูดและยังเปิดให้นักท่องเที่ยวมาชิม
สิ่งนี้สังเกตเห็นได้จากการตั้งชื่อจุดต่างๆ คือ คนพื้นถิ่นจะเรียกส่วนต่างๆ ของเกาะเป็นอ่าว เช่น ที่ผมอยู่เรียกว่าหมู่บ้านอ่าวพร้าว หรือตรงท่าเรือจะเรียกว่าหมู่บ้านอ่าวสลัด ส่วนถ้าหากจะวัดความกว้างของพื้นที่ต้องยกให้บางเบ้า ซึ่งเป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด รองลงมาจึงเป็นอ่าวสลัดและอ่าวพร้าว
หาดทรายเป็นอีกหนึ่งความงามของเกาะกูด ผมเข้าใจถึงสิ่งนี้ ก็เมื่อเดินทางมาถึงที่พักแล้วพบคู่รักหนุ่มสาว ถามข้อมูลพนักงานว่าบนเกาะกูด หาดทรายไหนสวยที่สุด พนักงานอธิบายอย่างตรงไปตรงมา ว่าความสวยขึ้นกับหลายองค์ประกอบ อาจจะทรายสวย น้ำทะเลสวย หรือจุดที่พระอาทิตย์ตกสวย
แต่ถ้าหากคาดหวังว่าความสวยคือการที่มีทรายที่ละเอียด สีขาวนวล แต่น้ำอาจจะสวยน้อยลงหน่อย และมีพระอาทิตย์ตก ก็อาจจะเป็นคลองเจ้า ซึ่งเป็นชายหาดที่น่าจดจำแห่งหนึ่งของเกาะกูด เพราะธรรมชาติได้เฉลี่ยความสวยทุกอย่างลงไปในจุดเดียว จนเป็นความงามที่ลงตัว
ส่วนอ่าวพร้าว จุดเด่นอยู่ที่การมีชายหาดที่ยาวพร้อมๆ กับเชื่อมต่อคลองน้ำกร่อย ตรงจุดนี้หากมองจากมุมสูงแล้ว สีน้ำทะเลที่ตัดกับคลองพร้าวจะมีการไล่เฉดสี โดยมีสีของหินเป็นองค์ประกอบที่คืบจากสีเข้มลงไปหาสีที่อ่อน เมื่อผืนน้ำปะทะกับแสงแดดก็ส่องสะท้อนเป็นสีแพรวเปล่งประกาย
ผมมีโอกาสพายเรือคายัคเข้าไปในคลองพร้าวจากหน้าหาดลึกเข้าไปในแผ่นดิน จะมีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร สิ่งที่จะเห็นมีสองฉาก คือด้านซ้ายเป็นป่าโกงกางที่คงความอุดมสมบูรณ์กับด้านขวาที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนของคนพื้นถิ่นที่มีถิ่นฐานอยู่ที่นี่มาหลายชั่วอายุคน
คลองพร้าวเป็นน้ำกร่อยที่ไหลลงมาจากเขา แต่ไม่ใช่ต้นทางของน้ำตก ฉะนั้นการพายคายัคครั้งนี้ทำให้ผมหวนคิดว่าราวกับกำลังสวมบท Captain Robert L. Willard ไปรับตัว Willard ในป่าทึบของเขตลุ่มน้ำโขงตอนใต้ แต่ข้อควรระวังในการพายคายัด ถ้าหากวันไหนมีมรสุมใหญ่ นั่นแปลว่าคลื่นจะสูง เมื่อคลื่นซัดเข้าหาฝั่งจะมีโขดหินสีเข้มขวาง มันจะตีเป็น double sea โดยอัตโนมัติ ต่างจากชายหาดทั่วไปที่คลื่นซัดเข้าหาฝั่งแล้วย้อนกลับลงทะเล
การนำคายัคไปเล่น โดยไม่ทราบข้อมูลตรงนี้ คายัคของเราก็อาจจะม้วนไปกับน้ำทะเลได้ ถ้าโชคร้ายหน่วยกู้ชีพก็ตามไปไม่ได้ กรณีเช่นนี้สติสำคัญที่สุด ไม่น้อยไปกว่าทักษะของการเหนี่ยวใบพาย
อุบัติเหตุและริ้นทะเล
ผมได้รับคำเตือนจากแพรรี่หลังจากที่ถึง Rest Sea ว่ามีเรื่องควรระมัดระวังความปลอดภัยอยู่หลายจุด แม้ว่าบนเกาะจะมีโรงพยาบาล แต่ก็อยู่ห่างจาก Rest Sea ถึง 18 กิโลเมตร และจากประสบการณ์ของเธอพบว่าเคยมีนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุบริเวณสระว่ายน้ำ ครั้งหนึ่งหลังจากพนักงานที่บริการตรงห้องอาหารเลิกงาน มีนักท่องเที่ยวต้องการเล่นน้ำในสระกลางคืน ซึ่งจัดแสงไฟสวยงามมาก เมื่อผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายคนก็อาจจะดีไซน์ท่าที่แอดวานซ์แล้วกระโจนลงสระ เกิดอุบัติเหตุเลือดตกยางออกได้ง่าย ที่สำคัญจุดถ่ายรูปสวยๆ จะมีเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือบริเวณริมสระว่ายน้ำ ที่ผู้หญิงอาจจะอยากได้ภาพกระโปรงยาวๆ พาดตามขอบสระ ก็มีหัวคะมำได้เช่นกัน
ริ้นทะเล เป็นอีกหนึ่งข้อควรระวังที่ unique มากๆ ของที่นี่ เพราะหากใครถูกกัดจะคันและเป็นแผลเป็นได้ง่าย บางคนก็เพียงคันธรรมดาแต่บางคนก็คันแล้วแพ้ด้วย
“น้องริ้น เป็นสัตว์ท้องถิ่น มีสายพันธุ์เดียวกับยุงแต่บอดี้ใหญ่กว่า สีขาวและบินได้ ชุมชนของน้องจะมั่งคั่งในพื้นที่ชายทะเลที่มีป่าโกงกาง วิธีสังเกตคือน้องจะบินมาเป็นฝูง” แพรรี่บอกกับผม
High Season มองทะเล Low Season เล่นน้ำตก
เกาะกูดนับว่าเป็นเกาะที่น่าอิจฉา สำหรับคนที่ได้ไปพอสมควร เพราะสามารถท่องเที่ยวและทำกิจกรรมที่หลากหลายได้ ผ่านการเดินทางเองหรือเช่ารถบริการก็ได้ การเดินทางบนเกาะมี 2 ทาง คือ หากไม่เช่ามอเตอร์ไซค์เพื่อขับขี่เอง ก็ต้องใช้แท็กซี่ / 2 แถว ที่เราต้องจ้าง ซึ่งต้องตระหนักว่าแอบแพง แต่ฟังก์ชั่นมีแตกต่างกัน ซึ่งหากต้องการเที่ยวมาทีเดียวจบ แนะนำเหมาแท็กซี่ไปเลย 5 ชั่วโมง ก็สามารถเที่ยวรอบเกาะกูดได้ ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่มาพักที่ Rest Sea ก็มักจะพักกัน 2 คืน 3 วัน หลายคนอาจจะเลือกแบบทริปด้วยการเที่ยวบนบกก่อนในวันแรก พอวันที่สองค่อยไปเที่ยวทางน้ำ
เวลาไปเที่ยวบนบก และรับค่าใช้จ่ายได้ ฟรอนท์สาวแนะนำผมว่า ให้เที่ยวรอบเกาะดีกว่า อย่างน้อยก็ดีกว่าแว้นมอเตอร์ไซค์บนเกาะที่เต็มไปด้วยภูเขา โดยเฉพาะเนินแถวอ่าวพร้าวสูง และอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าคุณไม่เชี่ยวชาญ
อีกประการคือมีโชเฟอร์ที่ขับรถให้เรา เขาจะทราบเส้นทางเป็นอย่างดี ผมนั่งไปกับรถชนิดนี้ แน่นอนว่าแอบเวียนหัวอยู่บ้างแต่รู้สึกมั่นใจในการขับของโชเฟอร์ผ่านโค้งและเนินอันตรายลูกแล้วลูกเล่า และยังสามารถแนะนำได้ว่าควรจะแวะคาเฟ่ร้านไหนได้ด้วย
การเดินทางด้วยวิธีนี้จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากนักท่องเที่ยวที่เลือกเดินทางมาเป็นกลุ่ม ช่วยให้สามารถเที่ยวแบบ “เอาทีเดียวให้จบ” แล้วมาหารค่าใช้จ่ายกันก็เพียงแค่คนละ 300-400 เท่ากับเช่ามอเตอร์ไซค์ 1 คัน แต่แถมคนนำทางให้เราด้วย 1 คน
จากการสอบถามพบว่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเกาะกูด ส่วนใหญ่คือมาชมทะเล ชายหาด น้ำตก และภูมิทัศน์รอบๆ ซึ่งสามารถแบ่งการท่องเที่ยวบนเกาะเป็น 2 พาร์ท ได้แก่ ช่วง high season คือ 6 เดือน ธันวาคม-พฤษภาคม ช่วงเวลานี้อากาศจะร้อนจัดน้ำทะเลจะสวย นั่นแปลว่าที่นี่ฤดูแล้งแล้ว ไม่มีลมไม่มีมรสุม อากาศร้อนจัด น้ำตกแห้ง ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ก็หน้าร้อนแล้ว
แต่หลังจากมิถุนายน-กันยายน จะเป็นช่วงมรสุมที่ฝนตกบ่อย น้ำทะเลจะขุ่น น้ำอาจจะไม่สวยเท่าหน้าแล้ง แต่น้ำตกก็เริ่มมีน้ำล้น เอ่อขึ้นจนตกลงมาแล้วสวย สำหรับน้ำตกบนเกาะมี 3 แห่งถ้วน ที่แรกคือน้ำตกยายกี๋ ตั้งอยู่ใกล้ๆ อ่าวสลัดที่ผมขึ้นฝั่งมา สองคือ น้ำตกห้วยน้ำเขียว แต่สถานที่ออกจะลึกลับจนคนไม่ค่อยรู้จักกัน และสามคือ น้ำตกคลองเจ้า
ห้องพักที่ชวนเอนกาย ของ Rest Sea
อย่างที่บอกไปว่า ห้องพักของ Rest Sea มีจำนวนไม่มาก แต่นั่นยิ่งเป็นเสน่ห์ให้ดึงดูดเข้ามาพัก สิ่งที่เป็นจุดขายคือสไตล์หรืออัตลักษณ์ มีการประดิดประดอยความสวยงามเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ในความสวยงาม ดูรวมๆ แล้วน่ารัก
สำหรับห้องพักแบบ Twin ที่ได้รับความนิยม ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาทต่อคืน แต่ถ้าใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันจะจ่ายเพียงแค่ 1,100 บาท การพ่วงด้วยอาหารก็สำคัญ สำคัญอย่างไร สมมุติบิล 1,000 บาท จะจ่ายแค่ 600 บาท แล้วงดอาหารเย็น รัฐช่วยจ่าย 400 บาท
แพรรี่บอกว่า “ตั้งแต่บริหารประเทศมา 5-6 ปี ไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็มีอันนี้แหละดีสุด”
นอกจากนั้นกิจกรรมของที่นี่ ยังมีอุปกรณ์ทางน้ำให้เล่น คือคายัค 2 ลำ สน็อคเกิลดำน้ำตื้น ซึ่งจะสามารถดำดูได้เวลาน้ำขึ้นจะมีปลาสวยงาม และจุดถ่ายรูปหลายจุด ทั้งเปลทะเล เรือโจรสลัด และมีบริเวณก่อกองทราย เด็กๆ จะสนุกมาก
แพรรี่เล่าถึงอัตลักษณ์ของ Rest Sea ที่มาจากการสรุปร่วมกับพนักงานของที่นี่พบว่า อัตลักษณ์ของที่นี่จะดึงดูดคนที่เป็น LGBTQ+ โดยทั่วไปจะมีคนกลุ่มนี้มาพัก 2-3 ห้อง หากเปรียบเทียบโดยเอาเกณฑ์ของเพศสภาพมาวัด เฉลี่ยกับจำนวนห้องแล้วถือว่าสูงมาก จริตอย่างหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสไตล์และความเป็นส่วนตัวของที่นี่ คนพักไม่เยอะ ข้อสังเกตของเธอคือนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อาจจะมองหาพื้นที่ที่ไม่วุ่นวาย
ส่วนอาหารที่นี่ ถือได้ว่ามีความหลากหลายให้เลือกเยอะมาก แต่จากการสอบถามในวันที่ผมเข้าพักถือว่าลดจำนวนลงแล้ว แต่อีกไม่นานก็จะกลับมาจัดเต็มๆ อาจจะถึง 21 รายการ ทั้งของคาว ของหวาน น้ำผลไม้และโยเกิร์ต ถ้าเป็นลูกค้าที่จองบัตรแพ็คเกจมา จะได้สิทธิอาหารคลุมทั้งเช้า กลางวัน และเย็น กระนั้นก็เป็นสิ่งที่น่าจดจำในทริปนี้ของผม
Mixologist และ ค่ำคืนที่งดงามสงบเงียบ
งานนี้ผมดื่มตั้งแต่บ่ายๆ โดยมี พี่บอย mixologist คนสำคัญในการเที่ยวครั้งนี้คอยบริการ พี่บอยเป็นคนกรุงเทพฯ ทำหน้าที่ดูแลอาหารและเครื่องดื่ม แต่เชี่ยวชาญเครื่องดื่มเป็นพิเศษ คล่องแคล่วเพิ่มขึ้นหากเป็นเครื่องดื่มที่ต้องใส่แอลกอฮอล์ลงไปด้วย
ปกติแล้วเขามีบาร์ส่วนตัวที่เกาะช้าง เอาใจใส่สร้างสรรค์ผลงานด้านนี้มาตั้งแต่ ม.6 ด้วยความมุ่งมั่นทำให้มาสายนี้ แม้ว่าจะเรียนจบทางบัญชี
พี่บอยเล่าจุดเริ่มต้นในการทำงานด้านนี้ไว้ว่า “เริ่มต้นคือเราอยากกินเหล้า แต่เรากินทุกวัน ก็คิดว่าควรทำกิจวัตรให้ได้ตังค์ด้วย ก็เลยไปสมัครเป็นบาร์เทนเดอร์ที่บาร์ดังๆ ในกรุงเทพฯ”
พี่บอยฝึกปรือวิชาได้ที่ ก็เดินสายไปทำงานต่างประเทศเสียเลย ทั้งการเป็น mixologist ที่ได้รับการยอมรับในวงการ สิ่งที่พี่บอยทำอยู่ เมืองไทยอาจจะเรียกบาร์เทนเดอร์ แต่ว่าในต่างประเทศดูเหมือนจะมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งกว่านั้น การชงเครื่องดื่มจะมีสถานะไม่ต่างไปจากจิตรกร หรือสถาปนิก ทุกๆ แก้วที่ผ่านมือพี่บอยจะต้องมีการดีไซน์ คิดแล้วออกแบบเครื่องดื่มตามความรู้สึกของลูกค้า อารมณ์ของสถานที่ เช่น หากลูกค้ามาพักที่ Rest Sea Resort ก็ต้องดูว่าลูกค้ามาที่นี่ทำอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่มาเก็บภาพสวยๆ เช็คอิน
“เมื่อลูกค้าเดินมาหาเราแล้วขอเครื่องดื่ม เราก็ต้องพิจารณาว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วผสมกับเครื่องดื่มที่เป็นต้นทุนเดิมของตราด เช่น สับปะรด จะนำมานำเสนออย่างไร คือคิดจากสิ่งที่มีแล้วคล้องไปกับความรู้สึกของลูกค้า” พี่บอยเล่าถึงวิธีการของเขา
ความหวังของพี่บอยคือ อยากจะทำงานตรงนี้อีก 2-3 ปี แต่การที่มาอยู่เกาะกูดได้ 1 ปี ในช่วงที่โควิด-19 เริ่มตั้งเค้า พี่บอยว่ามีส่วนกระทบจริงแต่ก็ตกลงจากอากาศไม่แรงมากนัก อีกทั้งเจ้าของรีสอร์ทก็ยอมที่จะจ่ายเงินเดือน 70 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีเลย์เอาท์ใครออก แต่เลือกจะเก็บพนักงานไว้แล้วสู้ไปด้วยกัน
ผมดื่ม เล่นกีต้าร์ ร้องเพลง บางครั้งหยุดคิด มองปูตัวเล็กๆ หลายสิบตัวไต่หาดทรายขึ้นมาจากน้ำ จนกระทั่งถึงกลางดึกแล้วจึงลากตัวเองเดินกลับห้องและผล็อยหลับไป ก่อนจะตื่นเช้าขึ้นมาอย่างสดใสไม่น่าเชื่อ เดินกลับมาเช็คเอาท์ที่ฟรอนท์ ได้พบกับหนุ่มสองคนที่เป็นคู่รักกัน จึงได้พูดคุยกันพอหอมปากหอมคอในวันกลับ ประโยคหนึ่งที่เขาบอกผมด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มว่า
“ผมมาที่นี่เป็นครั้งที่สอง”
ประโยคนี้น่าสนใจ การไปทะเลที่สุดปลายทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งที่สอง คงพอให้คำตอบคร่าวๆ ว่า เกาะกูดยึดกุมหัวใจคู่รักนั้นและหัวใจของผมไว้แค่ไหน
ผมขับรถกลับจากท่าเรือแหลมศอก ผู้อาวุโสสักคนเคยบอกผมว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสามารถเลี้ยงคนได้ทั้งประเทศ แต่คำถามคืออะไรที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นในเมืองไทยไม่ได้
ผมยังไม่มีคำตอบ และถ้าหากเป็นจริงดังคำกล่าวนั้น ผู้คนคงมีความสุขมากกว่ารอโครงการเยียวยา มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ มีตาข่ายทางสังคมที่รองรับเรา ผมคงไม่ต้องรีบบึ่งรถกลับไปใช้ชีวิตหนักๆ ในเมืองสีฝุ่นตลอดไป