ภูสอยดาว: พิชิตยอด 2,102 ในวันที่ท้องฟ้าเป็นใจ…

“วันที่ 10 พฤศจิกายน พี่ลานะ! จะไปเดินป่า” นี่คือคำพูดของผมขณะเดินไปหาแอดมินที่ทำงาน เพื่อขอลาไปเดินป่าที่ ‘ภูสอยดาว’ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นการเดินป่าทริปแรกของปีและอาจเป็นทริปสุดท้ายของปี 2566 เพราะโดยส่วนตัวไม่ได้มีเช็กลิสต์เก็บยอดดอยให้หมด แต่เน้น ‘อารมณ์’ และ ‘จังหวะชีวิต’ พาไปล้วนๆ และช่วงปลายฝนต้นหนาวก็เหมาะเจาะสำหรับการเดินเข้าป่าเป็นอย่างยิ่ง

การเดินทางในครั้งนี้เหมือนการ ‘แทงหวย’ แต่โชคเข้าข้าง ถูกหวยแบบโชค 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 สามารถนัดมิตรสหายสายเดินป่าที่สามารถลางานพร้อมกันได้ ชั้นที่ 2 สามารถจองคิวเพื่อเดินขึ้นลานสนเพื่อไปกางเต็นท์ และชั้นที่ 3 คือ การได้ปีนขึ้นยอดภูสอยดาวที่ความสูง 2,102 เมตร (ซึ่งถือว่าเป็นยอดเขาสูงอันดับ 4 ของประเทศไทย) แต่การจะได้ปีนขึ้นยอดภูนั้นไม่ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวด้วย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของผู้พิชิตยอด 2,102 ทั้งหลาย

ดวง+ดวง+ดวง

ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มิตรสหายได้ทำการจองคิวขึ้นลานสนกับทางอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ผ่านแอปพลิเคชันของกรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ประสงค์จะขึ้นลานสนเพื่อไปกางเต็นท์ อาบป่าสนสามใบและทุ่ง ‘ดอกหงอนนาค’ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งดอกหงอนนาคนี้จะบานสะพรั่งไปทั่วลานสนดั่งพรมสีม่วงเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ผมได้ไปเห็นก็เกือบจะสิ้นสุดฤดูดอกหงอนนาคเข้าไปแล้ว

เมื่อจองคิวเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ตั้งตารอว่าเมื่อไหร่ทางอุทยานฯ จะเปิดให้ขึ้นยอด 2,102 เมตร ซึ่งสำหรับสายเดินป่าแล้ว การไปภูสอยดาวถ้าจะค้างแรมที่ลานสน 1 คืนแล้วกลับก็คงไม่ใช่ แต่จะต้องขึ้นยอดด้วยเพื่อให้คุ้มค่ากับการเดินทางอันแสนยาวนาน ซึ่งตรงนี้ต้องพึ่ง ‘ดวง’ เป็นอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางอุทยานฯ ได้ประกาศเปิดยอดภูสอยดาวให้ได้ปีนป่ายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป จึงรู้สึกโล่งใจไปอีก 1 เปลาะ ว่าอย่างน้อยก็ไม่เสียเที่ยว ได้ครบจบที่ยอด 2,102 แน่นอน 

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ยังไม่ทันจะล่วงผ่านเดือนตุลาคม อุทยานฯ ก็ประกาศปิดการขึ้นยอด 2,102 เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ยังมีฝนตกหนักบนยอดภูสอยดาว ส่งผลให้ทางขึ้นภูได้รับความเสียหายและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เราจึงปรึกษากันในหมู่คณะถึง ‘แพลนบี’ ว่าหากทางอุทยานไม่เปิดให้ขึ้นยอดจะไปไหนต่อดี 

ก่อนออกเดินทางเพียง 3 วัน เราได้รับข่าวดีเมื่อทางอุทยานฯ ประกาศเปิดให้ขึ้นยอดภูสอยดาวอีกครั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ 2 ที่เราจะอยู่บนภูสอยดาว และเป็นไปตามแผนเดิมว่าวันนี้เราจะขึ้นยอด 2,102 จึงถือเป็นโชคดีอีกครั้งที่แผนการเดินทางท่องเที่ยวไม่สะดุดแม้แต่น้อย

ออกเดินทางได้…

ทีมงานเหยียบคันเร่งให้ล้อหมุนออกจากจังหวัดชลบุรีตอน 20.00 น. ถึงจังหวัดพิษณุโลกเวลา 02.00 น. ก่อนแทงเข้าเส้นทาง 1296 และ 1143 ไปยังอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก บนเส้นทางนี้เมื่อหลาย 10 ปีก่อน สมัยผมยังเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยเดินทางผ่านถนนสายนี้ ผ่านจังหวัดเลย เพื่อไปจังหวัดหนองคาย ตอนนั้นเส้นทางยังไม่เรียบกริบขนาดนี้ รถตู้ยังเคยติดหล่มโคลนจนต้องไปช่วยเข็นช่วยดัน กระทั่งเวลา 05.00 น. ก็ถึงปั๊ม ปตท. ชาติตระการ อันเคยมีห้องนํ้าในความทรงจำที่ผมเคยล้างโคลนจากการเดินทางอันยากลำบากเมื่อ 10 ปีก่อน

อำเภอชาติตระการมี ‘ตลาดสดเทศบาลตำบลป่าแดง’ อันเป็นตลาดใหญ่แห่งหนึ่งที่บรรดาสายป่าเดินเขา หรือรถสองแถวที่รับส่งนักท่องเที่ยวจากสถานีรถไฟพิษณุโลก-ภูสอยดาว ต้องแวะจอดซื้อของก่อนขึ้นภูสอยดาวทั้งสิ้น แม่ค้าต่างคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวสายป่าเป็นอย่างดี เราแวะซื้ออาหารกันก่อนนำไปใส่ตู้เย็นฟ้า (ถุงพลาสติกสีฟ้า) ที่จะนำไปฝากลูกหาบเอาขึ้นภูสอยดาวเพื่อนำขึ้นไปกินกันบนนั้น

ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ฟ้าก็เริ่มสาง จึงตัดสินใจเดินทางต่อไปยังที่ทำการอุทยานฯ บนเส้นทาง 1237 ซึ่งมีความคิดเคี้ยวมากยิ่งขึ้นเพราะเป็นเส้นทางขึ้นเขา แต่ก็ไม่ได้ลำบากจนขับรถกันไม่ได้ 

และแล้วก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ ตอนเวลาประมาณ 7 โมงกว่า ทำการลงทะเบียนขึ้นลานสนและขึ้นยอด แปรงฟัน จัดเตรียมสิ่งของให้กับลูกหาบเพื่อนำขึ้นสู่ลานสน

ทางขึ้นแสนอบอุ่น สุดทางสู่ขิต?

ทีมงานถึงหน้าประตูเส้นทางเดินขึ้นสู่ลานสน ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน 3 กิโลเมตร รถจอดหน้าทางขึ้น เวลา 08.45 น. ก็เลยเดินถ่ายรูปรอฤกษ์ 09.00 น. จึงได้เริ่มเดินขึ้นจากจุดเริ่มต้นไปยังลานสนเป็นระยะทาง 6.5 กิโลเมตร (ระยะทางจริงประมาณ 8 กิโลเมตร จากการจับพิกัด GPS) 

เส้นทางจากจุดเริ่มปล่อยตัวช่างดูอบอุ่นสวยงาม มี ‘นํ้าตกภูสอยดาว’ มารอต้อนรับ ก่อนที่เราจะลัดเลาะไปตามตลิ่งลำธาร ข้ามลำธารด้วยสะพานท่อนซุงของป่าดิบชื้น เพื่อไปยังเนินแรกคือ ‘เนินส่งญาติ’ ที่เราจะเริ่มไต่ระดับขึ้นมา เป็นเส้นทางที่เอาเรื่องไม่น้อย หลายคนโดนรับน้องด้วยเนินนี้ ทำเอาตายเหมือนญาติมาส่งไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ จะกลับตัวลงไปก็ไม่ทันเสียแล้ว แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น! 

นํ้าตกภูสอยดาว บริเวณทางประตูทางขึ้นไปยังลานสน

หลังจากถูกรับน้องที่เนินส่งญาติ เราหยุดแวะดื่มกาแฟที่นี่ หยิบอุปกรณ์ ‘ชุดเคลื่อนที่เร็ว’ ออกมาจากกระเป๋าคู่ใจ 13 กิโลกรัม บวกนํ้าอีก 3 ลิตร อันมีทั้งเตาขนาดเล็ก ดริปเปอร์พับได้ และกานํ้าอย่างเบา มาต้มกาแฟดื่มเติมพลัง เมื่อดื่มเสร็จเพื่อนที่ตามมาข้างหลังเพิ่งเดินมาถึงจุดพักของเนินส่งญาติ แต่ก็ได้นอนแผ่ผายกลางโขดหิน ดังนั้น จึงตกลงกันว่า ผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งจะนำไปก่อน ขึ้นถึงแล้วจะเตรียมกางทาร์ป รับของจากลูกหาบ และหุงข้าวรอไว้

ชุดลาดตระเวน 2 คน ออกเดินล่วงหน้าต่อไปยัง ‘เนินปราบเซียน’ ซึ่งเป็นการไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ยากลำบากอะไรนัก มีจุดพักคือ ‘แคร่ลูกหาบ’ หลายช่วง ห่างกันประมาณ 500 เมตร เห็นจะได้ เดินเรื่อยๆ จนถึงเนินต่อไปคือ ‘เนินป่าก่อ’ เส้นทางระหว่างทั้งสองเนินค่อนข้างยาวเป็นพิเศษ ผ่านป่าเบญจพรรณ และผ่านจุดพักหลายครั้ง เมื่อมาถึงเนินนี้ก็เติมพลังด้วยไส้อั่วชาติตระการ ที่ซื้อมาจากตลาดป่าแดง อันมีเอกลักษณ์คือ เครื่องเทศไม่เยอะ ไม่เผ็ด แต่เนื้อในนุ่มและไส้บางกรอบ พร้อมด้วยข้าวเหนียว ก่อนออกเดินทางไปยัง ‘เนินเสือโคร่ง’

จุดพักบริเวณเนินปราบเซียน

เมื่อถึงเนินเสือโคร่งแล้ว เราจอดพักรับลมเย็นๆ ที่พัดผ่านกลางป่าเต็งรังมาให้ได้ชื่นใจ แลขวาแหงนหน้ามองขึ้นไปก็พบกับ ‘เนินมรณะ’ ที่เป็นเนินสุดท้ายของการขึ้นลานสน เนินมรณะนี้ลักษณะเหมือนหน้าผา มีทุ่งหญ้า ไร้ต้นไม้ ซึ่งบอกให้รู้ว่า เรากำลังใกล้ถึงป่าสนเขาที่มีความสูงมากกว่า 1,600 เมตรแล้ว การเดินขึ้นเนินมรณะ จะเป็นการเดินซิกแซกไปตามไหล่เขาจนสุดทาง เรามองเห็นนักท่องเที่ยวที่รวดไปก่อนหน้าจากไกลๆ ดูเหมือนมดไต่ไปเรื่อยๆ

เมื่อพร้อมแล้วจึงได้เริ่มเดิมขึ้นเนินมรณะ อันเป็น 1.5 กม. สุดท้ายก่อนถึงลานสน ขณะที่อากาศร้อนตอนเที่ยงวันก็ยิ่งทำให้ผมเหนื่อยมากยิ่งขึ้น ในแต่ละฝีก้าวต้องยกขาปีนโขดหินตลอดเส้นทาง คนที่เดินตามหลังมาก็บอกว่านี่ยากกว่าเขาช้างเผือกเสียอีก ได้แต่นึกในใจว่า “จริงเหรอวะ! อย่างน้อยไอ้เนินมรณะนี่ มันก็ดีกว่า เขาช้างเผือกล่ะวะ นั่นมี 4 ลูกเลยทีเดียว” หรือมันก็ดีกว่า “สันหนอกวัว เดินเท่าไรก็มองไม่เห็นยอดสักที” แต่ยิ่งเดินขึ้นเข้าใกล้ลานสนมากเท่าไร เราก็เห็นยอดภูสอยดาว ที่มักจะมีเมฆหมอกคลุมตลอดเวลาเข้าใกล้มากเท่านั้น

จนในที่สุด ชุดลาดตระเวนถึงลานสนในเวลาประมาณ 14.00 น. ก็รู้สึกหายเหนื่อยเมื่อเห็น ‘ทุ่งดอกหงอนนาค’ ไม่ใช่สิ! เห็นลานกางเต็นท์ต่างหาก รวมระยะเวลาเดินขึ้นลานสนภูสอยดาว 6 ชั่วโมงตามมาตรฐาน

ปลายขนหางช้างเผือก

เมื่อถึงลานสนที่ความสูง 1,633 เมตร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชุดลาดตระเวนได้จับจองพื้นที่เพื่อพักแรม แม้จับจองพื้นที่ในลานกางเต็นท์ที่ 1 แต่ก็ขอให้อยู่ห่างๆ จากกรุ๊ปทัวร์ที่มักจะจับจองพื้นที่บริเวณหน้าห้องนํ้าเป็นหลัก จะได้พักผ่อนยามคํ่าคืนอย่างสบายใจไร้เสียงรบกวน ก่อนเดินไปรับของจากลูกหาบที่บริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ เมื่อกางเต็นท์เสร็จก็กางทาร์ปเป็นพื้นที่นั่งส่วนกลางสำหรับทำอาหารและกินอาหาร ทางเจ้าหน้าที่และลูกหาบอนุญาตให้ก่อกองไฟได้ หากจุดไม่ติดก็ไปขอ ‘ไม้เกี๊ยะ’ หรือ ‘แก่นสน’ มาเป็นเชื้อไฟในการจุดได้ เมื่อจุดไฟติดก็เริ่มหุงข้าวด้วยหม้อสนาม จนสุกกินได้ไม่ไหม้ก้น จนกระทั่งเวลา 18.00 น. เพื่อนทั้งหมดได้เดินทางมาถึงยังลานสน หลายคนเหนื่อยจนต้องทิ้งกระเป๋าให้ลูกหาบระหว่างทาง มีอาการตะคริวอีก เมื่อพวกเขามาถึงผมจึงเริ่มเปิดครัวระหว่างรอให้พวกเขาเก็บของและกางเต็นท์ โดยเมนูวันแรกก็ง่ายๆ ต้มยำไก่กับผัดกระหลํ่าปลีหมูนํ้าค้าง ซัดกันเหมือนคนอดอยากมานาน

หลังรับประทานอาหารคํ่าเสร็จก็เดินไปล่า ‘ทางช้างเผือก’ ซึ่งคืนนั้นเป็นคืนเกือบสุดท้ายที่ทางช้างเผือกจะกลับลงไปสู่ซีกโลกใต้แล้ว ผมเห็นเพียงปลายขนหางของมันแค่นั้นเอง แต่ดาวน้อยใหญ่ยังคงระยิบระยับเต็มท้องฟ้าอยู่เช่นเดิม

ลานกางเต็นท์ 1 ลานสน ยามค่ำคืน
ปลายขนหางทางช้างเผือก ซึ่งตัวของทางช้างเผือกเคลื่อนลงไปอยู่ซีกโลกใต้แล้ว

ท้องฟ้าเป็นใจให้เราได้พิชิตยอด

วันที่ 2 บนภูสอยดาวนั้น เราตื่นแต่ตี 5 เพื่อมาทำกิจวัตร รับประทานอาหารเช้า ดื่มกาแฟ ให้เสร็จก่อน 7 โมงเช้า เพราะจะเตรียมขึ้นยอดภูสอยดาวในช่วงเวลา 08.00 น. แม้จะเกรงๆ อยู่บ้างว่าฝนจะตกไหม แต่ก็โชคดีที่ฟ้าเป็นใจให้เราได้พิชิตยอด 2,102 ม.

เมื่อถึงเวลาเราก็เดินทางไปยังที่ทำการอุทยานฯ เพื่อสวมอุปกรณ์ความปลอดภัยคือ หมวกเซฟตี้ เข็มขัด และเชือกสำหรับการโรยตัวก่อนขึ้นยอดภูสอยดาว เมื่อทุกคนมาครบ เราเป็นชุดที่ 2 ของวันแรกที่เปิดให้มีการขึ้นยอด โดยชุดแรกเริ่มปีนตอน 7 โมงเช้า

เราเริ่มเดินทางจากหน้าที่ทำการไปยังลานกางเต็นท์ 2 เมื่อผ่านเนินเขาของลานกางเต็นท์ 2 ไปแล้ว จะเป็นเขตห้ามผ่าน ผ่านได้เฉพาะขึ้นยอดกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น เดินมาสักพักเราจะเริ่มเข้าสู่เขตป่าดิบเขาเพื่อเริ่มสถานีการปีนยอด 2,102 เมตร โดยมี 10 สถานี ก่อนถึงยอดด้านบน เส้นทางในการปีนช่วงแรกมีขึ้นเนินบ้าง ลงหุบบ้างตามวาระ จนกระทั่งสถานีที่ 4 เป็นต้นไป จะเป็นการเริ่มปีนเขาที่มีความชันโดยประมาณ 60-70 องศา ซึ่งจำเป็นต้องโหนเชือกดึงตัวเองขึ้นไป ระหว่างทางก็ได้ชม ‘ต้นก่วม’ หรือ ‘ต้นเมเปิ้ล’ สลัดใบสีแดงลงมา มีดอกไข่ดาวที่ร่วงลงบนพื้นไปตลอดเส้นทาง ลมที่พัดผ่านเข้ามาที่ชะง่อนผาที่ยืนอยู่ก็พาให้รู้สึกหายเหนื่อยบ้าง ก่อนที่เราจะเข้าเส้นทางสุดโหดในช่วง 3 สถานีสุดท้าย ซึ่งเป็นหน้าผาตั้งชัน 80-90 องศา กับบันไดลิงให้ได้โหนขึ้นเท่านั้น

และแล้วเมื่อเวลา 11 โมง เราก็ปีนขึ้นยอด 2,102 เมตร ได้สำเร็จ บนยอดนั้นมีลานไม่ใหญ่มาก มีป้ายผู้พิชิตยอดภูสอยดาวและหลักเขตแดนระหว่างไทย-ลาว วันนั้นเราไม่สามารถมองลงมายังลานสนได้ เนื่องจากเต็มไปด้วยหมอกที่ปกคลุมขาวโพลน ต่างจากเรื่องเล่าของชุดแรกที่ได้ปีนขึ้นมาในตอนเช้าตรู่ พวกเขาบอกว่า พวกเขาสามารถมองลงมาเห็นลานสนได้อย่างชัดเจน

แน่นอน ผมกับมิตรสหายอีกท่านคือ ชุดลาดตระเวน (อีกแล้ว) ส่วนคนอื่นยังขึ้นมาไม่ถึง ก็เลยต้องนำอาหารเที่ยงขึ้นมารับประทานรอ ชงกาแฟรออีกรอบ จนกระทั่งชุดปีนที่ 2 เริ่มขึ้นมาถึงเต็มลานบนยอด เราจึงตัดสินใจกลับลงไปด้านล่าง ซึ่งสวนทางกับหนึ่งในทีมงานของเราที่เพิ่งถึงยอด

การเดินลงจากยอดนั้น มีความยากลำบากกว่าขาขึ้นและดูอันตรายมากกว่า เหมือนเอาหน้าทิ่มลง เพราะอาจจะไถลลงเป็น run down ไปได้ ผมเองก็เจอประสบการณ์นี้เช่นกัน จนได้แผลเป็นตราประทับจากการที่ไถลลง แล้วตอบสนองด้วยการเอาแขนโหนเชือก แต่แขนไปครูดกับเชือกถลอกเลือดซิบ เส้นทางขาลงแม้จะลำบาก แต่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ลงมาถึงลานสนช่วงบ่ายแก่ๆ ด้วยความเหนื่อยก็ไม่ได้รู้สึกถึงความหิว แต่ไปเดินเก็บซากไม้สนมาทำฟืนสำหรับคํ่าคืนนี้ เมื่อถึงบริเวณที่พักก็ตระเตรียมเอาอุปกรณ์ไปอาบนํ้า หลังจากไม่ได้อาบนํ้ามา 2 วัน

หลังจากได้อาบนํ้าที่เย็นจัดก็รู้สึกสดชื่นตัวเบา จากนั้นก็เตรียมอาหารสุดหรู ‘ชาบูดอย’ ต้มนํ้าซุปจากไก่ที่เหลือจากเมื่อวาน พร้อมจิบกาแฟยามบ่าย ชมเมฆที่ปกคลุมยอดภูสอยดาว พร้อมเกิดคำถามขึ้นใจในว่า “กูขึ้นไปได้ยังไง”

ในระหว่างรอมิตรสหายลงมาจากยอดภูสอยดาว คนที่อยู่บนลานสน 3 คน (อีกคนไม่ได้ขึ้น) ได้เดินไปชมพระอาทิตย์ตกดิน พร้อมเดินไปตามเส้นทางโดยรอบลานสน พวกเราเดินไปถึงพื้นที่อันเป็นสมรภูมิรบมาก่อนในปี 2530 นั่นคือ สมรภูมิบ้านร่มเกล้า อันเป็นสงครามขนาดย่อยระหว่างไทย-ลาว อันเกิดจากความขัดแย้งด้านพรมแดน โดยหลุมบังเกอร์ของทหารลาวยังคงอยู่บนฝั่งไทย ทว่าปัจจุบันเราไม่สามารถเดินขึ้นไปตามสันเขาเพื่อไปชมหมุดเขตแดนที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลได้อีกต่อไป

จุดกางเต็นท์ 1 ลานสน เมื่อมองลงมาจากจุดชมพระอาทิตย์ตกดิน

หลังจากนั้นเราย้อนกลับไปยังจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน ก่อนลงไปยังเต็นท์เพื่อรับประทานชาบูดอยทำเอง โดยคืนนี้ยังคงเหมือนเดิมว่า เราจะไปถ่ายดาวกันเช่นเคย แม้ว่าฟ้าฝนของภูสอยดาวจะเป็นใจ แต่พื้นที่โดยรอบเมื่อมองออกไปกลับเต็มไปด้วยพายุฝน โดยเฉพาะฝั่งลาวที่ฟ้าผ่ากระหนํ่าอยู่

ในระหว่างนั้น เราได้พบมิตรภาพระหว่างทางช่วงถ่ายดาวอยู่ ก็มีนักท่องเที่ยว 2 ท่านขอให้ผมถ่ายรูปกับดาวให้ เราก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด ผมต้องอัปรูปจากกล้องไปยังมือถือด้วยสัญญาณ 4G โชคดีที่บริเวณนั้นสัญญาณแรง ก่อนส่งรูปผ่านแอร์ดร็อปจากมือถือไปยังมือถือ 2 ท่านนั้น

ก่อนเข้านอน เราได้เดินไปพบปะสนทนากับเจ้าหน้าที่และลูกหาบซึ่งผิงไฟอยู่บริเวณหน้าที่ทำการ แม้ว่าจะอากาศจะไม่หนาวนัก ไม่ถึงเลขตัวเดียว แต่เหมือนเป็นกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ที่มาพร้อมดาวลอยบนฟากฟ้า

กลุ่มดาว Orion (ดาวนายพราน) ลอยเด่นอยู่เหนือยอดภูสอยดาว

Good Bye ภูสอยดาว

หลังจากผมและมิตรสหายใช้ชีวิตอยู่บนภูสอยดาวเป็นเวลา 2 คืน จึงได้เวลากลับมาเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงที่ทิ้งไว้ข้างหลังเมื่อหลายวันก่อน เช้านี้เราตื่น 6 โมงเช้า สายหน่อย หลังจากล้างหน้าแปรงฟันแล้ว เราก็เริ่มเก็บเต็นท์และอุปกรณ์ ก่อนดำเนินการเปิดครัวรับประทานอาหารเช้า จัดแจงแบ่งข้าวแบ่งอาหาร เพื่อนำไปรับประทานระหว่างการเดินลง อีกทั้งเตรียมสิ่งของที่จะนำลงไปข้างล่างฝากให้ลูกหาบไป ก่อนที่เราจะเริ่มเดินลงในเวลา 9 โมงเช้า

ในระหว่างที่กำลังเก็บสัมภาระนั้น ก็มีคู่รักเดินมาถามว่า ตรงนี้สามารถกางเต็นท์ต่อจากพวกเราได้ไหม เพราะบริเวณที่เขากางอยู่ถัดจากเราไปด้านบนมันเป็นแอ่ง เราก็ตอบกลับไปว่าได้เลย คู่รักคู่นี้มาเยือนภูสอยดาวเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หมายมั่นปั้นมือว่าจะขึ้นยอดภูสอยดาว 2,102 เมตร ให้ได้ เพราะการมาเยือนครั้งแรกไม่ได้ขึ้น ทว่า คู่รักคู่นี้โชคไม่ดีนัก เพราะหลังจากเมื่อวานที่อุทยานฯ เปิดให้ขึ้นยอดเป็นวันแรก แต่วันถัดมานี่เอง เจ้าหน้าที่ก็ประกาศว่ามีฝนตกบริเวณยอดภูสอยดาว เพื่อความปลอดภัยจึงปิดไม่ให้ขึ้นยอด

ป้ายผู้พิชิตยอดภูสอยดาว พร้อมด้วยหลักเขตแดนไทย-ลาว บนความสูง 2,102 เมตร

การเดินทางลงใช้เวลาน้อยกว่าตอนขาขึ้น ด้วยความเร็ว 30 นาที ต่อ 1 กิโลเมตร ทำให้ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง จึงถึงนํ้าตกภูสอยดาว เมื่อถึงนํ้าตกภูสอยดาวเรานั่งพักผ่อนรอมิตรสหายคนอื่นสักพัก แต่ว่ายังไม่มีวี่แววสักทีว่าจะถึง เพราะมิตรสหายบางคนมีอาการบาดเจ็บจากการขึ้นยอดเมื่อวานนี้ 3 คนที่อยู่บริเวณนํ้าตกจึงขึ้นรถเจ้าหน้าที่ไปยังที่ทำการอุทยานฯ ด้านล่าง เพื่ออาบนํ้าและรับของจ่ายเงินให้กับลูกหาบ ก่อนไปลงชื่อผู้พิชิตยอดภูสอยดาว 2,102 ม. เพื่อรับเกียรติบัตรและเสื้อยืด ทุกคนลงมาถึงพร้อมกันตอน 5 โมงเย็น ก่อนล้อหมุนเดินทางออกเพื่อกลับบ้านในเวลา 6 โมงเย็น

การเดินทางในครั้งนี้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทริปที่น่าประทับใจ คุ้มค่ากับความพยายามในการมาเยือนภูสอยดาวในครั้งนี้ ซึ่งกลับมาพร้อมรอยประทับของเชือกที่บาดแขน ทั้งยังได้พิสูจน์แล้วว่า ภูสอยดาวที่เขาว่ายากนั้น ไม่จริงเลย เมื่อเทียบกับสันหนอกวัวหรือเขาช้างเผือกที่เคยไปมาแล้ว

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า