อะไรคือ ‘คามู คามู’?

camu-camu-1

 

คามู คามู เป็นไม้พุ่มที่มีขนาดเล็กประมาณ 3-5 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myrciaria dubia มีแหล่งกำเนิดในพื้นที่ริมน้ำของเขตป่าฝนแถบแอมะซอน ที่กินบริเวณหลายประเทศ ตั้งแต่ บราซิล เวเนซุเอลา โคลัมเบีย และเปรู มีชื่อในภาษาถิ่นว่า camucamu, camocamo และ cacari มีผลสีม่วงแดงคล้ายผลเชอร์รี ขนาดเท่าผลมะนาวใหญ่ๆ ใบและผลสามารถทำยาสมุนไพรได้สารพัด มีคุณสมบัติต้านการติดเชื้อไวรัส รักษาแผล งูสวัด เป็นยาแก้ไข้ ปวดหัว แก้หอบหืด แก้อาการเซื่องซึม รักษาสมดุลทางอารมณ์ รักษาต้อหิน ต้อกระจก เพิ่มภูมิคุ้มกัน รวมถึงการต้านอนุมูลอิสระ ตลอดจนข้อเข่าเสื่อม

นั่นคือการที่คนสมัยก่อน ‘กิน’ มันในฐานะไม้ผลชนิดหนึ่ง คามู คามู เป็นผลไม้ที่พบได้ไม่ยากในอเมริกาใต้ คนถิ่นจึงนิยมนำมาทำอาหารหลายชนิด ทั้งน้ำผลไม้ ไอศกรีม แต่ คามู คามู ไม่ได้เป็นผลไม้ที่ส่งออกขายทั่วโลก ที่เราพบกันทั่วไปจะอยู่ในรูปสารเคมีที่สกัดจากผลสด เช่น ผงคามู คามู และ คามู คามู ชนิดเม็ดและชนิดแคปซูล ส่วนในบ้านเราก็เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มหลายๆ ชนิด ที่ให้เหตุผลว่า ‘เพื่อสุขภาพ’ ไปจนถึง ‘ให้ความขาวกระจ่างใส’

ในตลาดโลกยุคปัจจุบัน คามู คามู คือ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ประมาณร้อยละ 2-3 ของน้ำหนักผลสด ซึ่งมากกว่าปริมาณของวิตามินซีในส้ม 30 เท่า มีธาตุเหล็กมากกว่า 10 เท่า ไนอาซีน 3 เท่า ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2) 2 เท่า และมีฟอสฟอรัสมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีเบตา-แคโรทีน โปรตีน กรดไขมันที่เป็นประโยชน์ และองค์ประกอบทางเคมีต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาเป็นจุดขาย

 

camu-camu-2

+ ประโยชน์ของ คามู คามู

  • วิตามินซี

คามู คามู มีวิตามินซีมากกว่าส้มและผลไม้ชนิดอื่นหลายเท่า ยกตัวอย่าง ผงคามู คามู ครึ่งช้อนชาจะมีวิตามินซีมากถึง 400 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการในแต่ละวัน

  • โพแทสเซียม

ร่างกายของเราต้องการโพแทสเซียมเพื่อให้ไตและหัวใจทำงานได้ตามปกติ คามู คามู จะมีโพแทสเซียมอยู่ประมาณ 71.1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

  • วาลีน

วาลีน (Valine) เป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถผลิตได้เอง วาลีนทำหน้าที่ป้องกันการเสื่อมของกล้ามเนื้อและระบบประสาท

  • ลิวซีน

ลิวซีน (Leucine) เป็นกรดอะมิโนจำเป็นอีกชนิดที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องรับจากอาหาร ลิวซีนจำเป็นต่อการเติบโตและการซ่อมแซมกล้ามเนื้อ กระดูก และมีส่วนช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต

  • ซีรีน

ซีรีน (Serine) เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสังเคราะห์เองได้ แต่ก็พบได้ในนม เนื้อสัตว์ ถั่ว มีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเซลล์ ช่วยในกระบวนการเผาผลาญไขมัน ช่วยย่อยโปรตีนและโพลีเป็บไทด์ให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้

  • ฟลาโวนอยด์

ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) บางชนิดสามารถต้านทานอนุมูลอิสระได้ดีกว่าวิตามินซี พบในผักผลไม้ ซึ่งในพืชแต่ละประเภทจะมีปริมาณและชนิดของฟลาโวนอยด์แตกต่างกันไป ซึ่ง คามู คามู มีฟลาโวนอยด์อยู่หลายชนิด เมื่อรับประทานจะเท่ากับได้บริโภคผักผลไม้หลายๆ ชนิดพร้อมกัน

  • กรดแกลลิก

กรดแกลลิก (Gallic Acid)ที่พบใน คามู คามู มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านไวรัสและเชื้อโรคหลายชนิด

  • กรดเอลลาจิก

กรดเอลลาจิก (Ellagic Acid)เป็นกรดอีกชนิดหนึ่งที่พบใน คามู คามู มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระเคยมีการศึกษาว่ามีสรรคุณต่อต้านมะเร็ง รวมถึงมีผลในการรักษาโรคเบาหวาน

 

camu-camu

+ คุณสมบัติทางการแพทย์

นอกจากผลการศึกษาในปี 2010 จาก Journal of Agricultural and Food Chemistry ที่พบว่า คามู คามู มีสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ส่งผลดีต่อการรักษาเบาหวาน ก่อนหน้านั้น ในปี 2008 ในวารสาร Journal of Cardiology ในปี 2008 ได้มีรายงานการทดลองเรื่องผลในการลดการอักเสบและติดเชื้อของปอด โดยนักสูบบุหรี่เพศชาย 20 คน ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ดื่มน้ำ คามู คามู เทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งที่รับประทานวิตามินซีชนิดเม็ดทุกวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เมื่อจบการทดลอง ปรากฏว่ากลุ่มที่ใช้ คามู คามู พบว่าสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ และมีปริมาณเซลล์ที่ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระในสภาวะที่สารต้านอนุมูลอิสระไม่เพียงพอ (oxidative stress) ลดลง โดยกลุ่มที่ได้รับวิตามินซีชนิดเม็ดไม่เกิดผลอะไรเลย

           

+ ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับคามู คามู

ในธรรมชาติ เมื่อสิ่งใดมีคุณสมบัติด้านดีมากๆ ย่อมมีอีกด้านให้เฝ้าระวังกันอยู่เสมอ จึงมีข้อท้วงติงว่าการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังน้อยเกินไปที่จะสรุปว่า คามู คามู เป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีประโยชน์มากมายเหมือนคำโฆษณา โดยเฉพาะผลกระทบในด้านลบต่อร่างกาย

  • ปัญหากับระบบย่อยอาหาร

แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่า เรายังมีข้อมูลไม่เพียงพอเรื่องการที่ร่างกายจะนำข้อดีของผลไม้ชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์ทั้งหมด เพราะคุณสมบัติบางอย่างของมันอาจส่งผลกระทบต่อระบบการดูดซึมได้ เนื่องจากปริมาณวิตามินซีที่สูงมากก็ทำให้ปริมาณกรดธรรมชาติที่มีมากตามไปด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะกระเพาะอาหารได้

  • ท้องร่วงรุนแรง

วิตามินซีช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในผู้ใหญ่ ถ้าบริโภคไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หากรับวิตามินซีเข้าไปในปริมาณมากๆ ร่างกายก็จะทำการกำจัดส่วนเกินออกทางปัสสาวะและอุจจาระที่จะมีความถี่มากขึ้น จนถึงขั้นท้องร่วงรุนแรง

  • นอนไม่หลับและมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น

การศึกษาพบว่า คามู คามู มีส่วนในการเพิ่มของ เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมความหิวและอารมณ์ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม คามู คามู จึงถูกใช้เป็นสมุนไพรรักษาอาการซึมเศร้า เมื่อคนที่มีอาการซึมเศร้ามีอารมณ์ที่ดีขึ้น ก็จะมีความกะปรี้กะเปร่า ไปจนถึงคึกคัก นอนไม่หลับ และมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าอยู่ในสภาวะแบบนี้นานๆ จะส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกมาก

  • พิษจากเหล็ก

วิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็ก เมื่อบริโภคผลไม้ที่มีวิตามินซีปริมาณมากจะส่งผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกายให้มากตามไปด้วย ทำให้เกิดภาวะธาตุเหล็กเกิน (iron overdose) มากกว่าที่ร่างกายต้องการ ส่งผลให้เกิดอาการอาเจียนรุนแรง และอาจทำให้ไตและตับเสียหายได้

  • หัวใจเต้นเร็ว 

ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า กังวล และเครียด มีโอกาสทำให้ตัวเลขความดันเลือดสูง คามู คามู ที่ใช้ในการรักษาอาการดังกล่าวจึงอาจส่งผลให้ความดันเลือดสูงขึ้นกว่าเดิม และแม้จะเป็นผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่ก็มีคำแนะนำทางการแพทย์ว่า การใช้ คามู คามู เป็นสมุนไพรบำบัดภาวะทางอารมณ์ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

 

+ คามู คามู ยังเป็นเพียงสมุนไพร

สิ่งสำคัญประการหนึ่งนอกจากผลข้างเคียงจากวิตามินซีที่มีมากแล้ว คุณสมบัติของ คามู คามู ยังอยู่ในระหว่างการทดลองและพัฒนา การบริโภคเป็นบางโอกาสในฐานะ ‘ผลไม้’ คงไม่ใช่ปัญหา แต่องค์กรใหญ่อย่าง องค์การอาหารและยาสหรัฐ (U.S. Food and Drugs Administration: FDA) ก็ยังไม่ได้มีการรับรองสรรพคุณทางการแพทย์ และยังไม่มีเอกสารรับรองจากกลุ่มแพทย์ใดๆ อย่างเป็นทางการ ดังนั้น คามู คามู จึงยังเป็นสมุนไพรที่ผ่านการทดลองหาประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์เท่านั้น เป็นเพียงสารเสริมอาหาร ที่ไม่ได้เป็นเคมีภัณฑ์ที่เป็น ‘ยา’ แต่อย่างใด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:      

wikipedia.org

webmd.com

huffingtonpost.ca

purehealingfoods.com

healing.answers.com

greenclinic.in.th

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า