อุบัติเหตุทางถนนกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อเทียบกับอีก 8 ประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าตัวเลขอุบัติเหตุจริงๆ น่าจะสูงกว่าในรายงาน
รายงาน Global Burden of Disease Study ประจำปี 2013 ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet สำรวจข้อมูลใน 188 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1990-2013 พบว่า โรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งและสองในประเทศจีน ขณะที่อุบัติเหตุทางถนน กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 แซงหน้าการเสียชีวิตจากอาการป่วยเรื้อรังอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ปอดอักเสบ มะเร็งตับ ไต และมะเร็งกระเพาะอาหาร
ตัวเลขอย่างเป็นทางการที่รายงานโดยกระทรวงความมั่นคงทางสังคม (Ministry of Public Security) ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2014 มีอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากอุบัติเหตุ 426,378 ครั้ง มีผู้เสียเสียชีวิตรวม 87,218 ราย
ศาสตราจารย์หลี่ หลี่ปิง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุ วิทยาลัยแพทย์ซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจริงๆ น่าจะสูงกว่าในรายงาน เนื่องจากข้อจำกัดในการติดตามผลเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะรวมผู้ที่เสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์หลังเกิดเหตุเท่านั้น ส่วนผู้ที่ต้องรักษาตัวและเสียชีวิตหลังจากนี้ จะไม่ถูกนำมารวมไว้ในสถิติ
หลี่ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมาจากประสบการณ์การขับขี่ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน และระบบโครงข่ายถนนที่ไล่ตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไม่ทัน
ขณะที่ หวัง ชางจุน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและจัดการจราจร กล่าวว่า สาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่มาจากความไม่ระมัดระวังของผู้ขับขี่เป็นสำคัญ
ปี 2003 ประเทศจีนมีรถจดทะเบียนทั้งสิ้น 24 ล้านคัน ขณะที่ 10 ปีถัดมา ในปี 2013 ปริมาณรถในประเทศจีนพุ่งไปถึง 137 ล้านคัน มีถึง 31 เมืองที่มีปริมาณรถเกิน 1 ล้านคัน อีก 8 เมือง อาทิ เสินเจิ้น เทียนจิน มีรถกว่า 2 ล้านคัน ขณะที่ปักกิ่งคือแหล่งรวมรถยนต์กว่า 5 ล้านคัน (เทียบกับประเทศไทย ข้อมูลปี 2555 มีรถจดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯประมาณ 7 ล้านคัน)
ผู้ขับขี่ในจีนต่างจากแถบตะวันตก พวกเขาไม่ได้หัดขับรถมาตั้งแต่วัยรุ่น แต่เพิ่งมาฝึกหัดได้ไม่นานหรืออาจจะหลังซื้อรถแล้วด้วยซ้ำ หลี่ให้เหตุผลว่า นักขับขี่ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้น
ที่มา: scmp.com