“ถ้าไม่ได้ภาษาจีนก็อยู่ยากเหมือนกัน”
ฟังดูไม่เหมือนเลยว่านี่อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า เมื่อมีคำพูดกันต่อมาจากคนนอกพื้นที่ว่า ถ้าคุณได้ภาษาจีนกลาง คุณจะสามารถหางานทำได้ง่ายหน่อยในหม่าหลี่ปา (မာလီပါး) แต่ถ้าพูดได้แต่ภาษาพม่า ก็จะยากสักหน่อย เพราะที่หม่าหลี่ปานี้ เจ้าของกิจการ ร้านรวง และผู้คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีนกลางกันเป็นหลัก
บ่อยครั้งที่ได้ยินเรื่องเล่าว่าแรงงานชาวพม่าที่หวังเข้าไปทำงานเก็บเงินในหม่าหลี่ปา บางทีต้องหางานอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน บางคนก็ยังไม่ได้งาน จริงๆ งานมันมีอยู่ แต่ว่าส่วนใหญ่ นายจ้างอยากได้คนที่สื่อสารภาษาจีนกลางได้ด้วย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้ ทั้งๆ ที่หม่าหลี่ปาที่ว่านี้อยู่ในพม่า
ไม่กี่ปีมานี้ หม่าหลี่ปาเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะนักลงทุนจีนจำนวนมากหอบเงินมหาศาลเข้าไปลงทุน สร้างโรงแรม สถานบันเทิง คาสิโน กิจการ ร้านค้าต่างๆ โดยกลุ่มลูกค้าหลักของสถานบันเทิงเหล่านี้ข้ามมาเที่ยวจากฝั่งจีน พนักงาน ลูกจ้างของกิจการในเมืองหม่าหลี่ปา ส่วนใหญ่ก็เป็นคนจีน เป็นเช่นเดียวกันกับเมืองลา ที่อยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ที่เคยรู้จักกันในชื่อ ลาสเวกัส แห่งรัฐฉาน ซึ่งเป็นเมืองที่นักลงทุนชาวจีนเข้ามาเปิดคาสิโนใหญ่น้อยเป็นจำนวนมากในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ต่อมากระแสซบเซาลง เมื่อทุนคาสิโนบางส่วนตัดสินใจย้ายสถานที่ออกจากเมืองลา ไปเปิดนอกเมือง อย่างที่เมืองม้า ห่างจากเมืองลาไปทางเชียงตุงราว 16 กิโลเมตร คาสิโนเมืองลาค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง และเปลี่ยนสภาพเป็นบ่อนขนาดเล็ก แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักเหมือนเมื่อทศวรรษ 90
หม่าหลี่ปามาจากชื่อไผ่จีนพื้นเมืองพันธุ์หนึ่ง ที่มีอยู่มากในบริเวณชายแดนจีน-พม่า คนพื้นเมืองแถบนั้นก็เลยเรียกชื่อเมืองตามชื่อของต้นไผ่พื้นเมืองนั้น แต่เมื่อเอ่ยถึงชื่อหม่าหลี่ปา คนนอกพื้นที่หรือแม้แต่คนในพม่าเอง อาจไม่ค่อยคุ้นชื่อนี้สักเท่าไหร่ ซึ่งต้องเป็นคนในพื้นที่จริงๆ ถึงจะรู้ คนส่วนใหญ่รู้จักหม่าหลี่ปาในอีกชื่อหนึ่งมากกว่า
ภาษาไทใหญ่เรียกเมืองนี้ว่า လဝ်ႉၵႆႇ (เล้าไก่) ภาษาพม่าเรียกเมืองนี้ตามไทใหญ่ว่า လောက်ကိုင် (เล่าก์ก่าย) ว่ากันว่าเป็นชื่อภาษาจีน มาจากคำว่า 老街 (Lǎojiē) หรือเหล่าเจ มีความหมายทำนองว่า ถนนเก่า ตรอกเก่า ย่านเก่าตลาดเก่า เมืองเล่าก์ก่าย เป็นเมืองชายแดน อยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ติดกับจังหวัดหลินซาง ในมณฑลยูนนานของจีน พิกัดของเมืองเล่าก์ก่าย ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองหมู่เจ้ (မူႇၸေႊ) ในภาษาไทใหญ่ และหมู่แส่ (မူဆယ်)ในภาษาพม่า ประชากรส่วนใหญ่ของเล่าก์ก่ายเป็นชาวจีนโกกั้ง (果敢族) กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง รัฐบาลพม่าให้สิทธิชาวโกกั้งปกครองตนเอง โดยกำหนดให้เป็นเขตปกครองพิเศษที่ 1 มีเมืองเล่าก์ก่ายเป็นเมืองศูนย์กลาง
ชาวโกกั้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ค่อนข้างแตกต่างจากชนพื้นเมืองอื่นๆ ในรัฐฉาน ตามประวัติศาสตร์ พวกเขาเป็นชาวจีนฮั่นแท้ๆ ที่อพยพมายึดพื้นที่บริเวณชายแดนระหว่างรัฐฉานกับจีน ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยขุนศึกตระกูลหยาง (คนละตระกูลกับที่มีชื่อเสียงโด่งดังสมัยราชวงศ์ซ่ง) ที่ภักดีต่อราชวงศ์หมิง ถอยร่นหนีราชวงศ์ชิง เข้ามายึดครองพื้นที่แถบนั้น และตั้งเป็นรัฐอิสระ บางครั้งก็รบกับเจ้าถิ่นไทใหญ่บ้าง รบกับพม่าบ้างไปตามประสา เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองพม่าเป็นอาณานิคม และใช้นโนบายแบ่งแยกและปกครอง อังกฤษก็เลยให้ยศเจ้าฟ้า แบบเดียวกับเจ้าฟ้าไทใหญ่ ได้อยู่อย่างอิสระและมีอิทธิพลในพื้นที่นั้น ต่อมาในยุคหลัง ด้วยความที่ใกล้ชิดจีนมาก ก็เลยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปช่วงหนึ่ง มีทายาทตระกูลหยางเป็นผู้ปกครอง หลังสิ้นสุดยุคคอมมิวนิสต์ อำนาจเปลี่ยนถ่ายไปอยู่ในมือนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ และก่อตั้งกองกำลังโกกั้งชื่อ The Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA ในปี 1989 นับถึงปี 2020 ก็ยังเป็นหนึ่งในกลุ่ม 7 กองกำลังชาติพันธุ์ หรือ 7 สิงห์แดนเหนือ ซึ่งยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงระดับประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า มีพื้นที่ครอบครองราว 2 พันกว่าตารางกิโลเมตร
ทศวรรษที่ผ่านมา มีรายงานขององค์การสหประชาชาติออกมาเป็นระยะๆ ว่าเขตปกครองพิเศษของกลุ่มโกกั้งและว้ายังเป็นบริเวณหนึ่งในพม่าที่มีการเพาะปลูกฝิ่นอย่างแข็งขัน และทางการพม่ามักกล่าวหาว่าพวกกบฏสนับสนุนการค้าฝิ่น ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามปฏิเสธคำกล่าวหา แม้กระทั่งชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ ซึ่งเหนื่อยหน่ายกับแก๊งยาเสพติด ก็ไม่อยากให้มีการค้ายาเสพติดอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2002 โกกั้งได้ประกาศเป็นพื้นที่ปกครองปลอดยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง โดยมีการปราบปรามและลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงในปี 2009 กองกำลังโกกั้ง (MNDAA) ถูกกดดันให้แปรสภาพเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force: BGF) ภายใต้การควมคุมของตั๊ตมะด่อหรือกองทัพพม่า (တပ်မတော်) แต่กองกำลังโกกั้ง (MNDAA) ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากับกองทัพพม่า จากนั้นกองทัพพม่าก็มีท่าทีเป็นศัตรูกับกองกำลังโกกั้ง (MNDAA) ในระดับที่มากขึ้นเรื่อยๆ มีรายงานว่า ในปี 2009 ประชาชนมากกว่า 3 หมื่นคน อพยพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งจีน เมื่อกองทัพทหารพม่าเปิดฉากโจมตีกลุ่มกบฏโกกั้ง ซึ่งการต่อสู้ดังกล่าวทำให้รัฐบาลทหารพม่าถูกจีนตำหนิ ในปี 2015 เกิดเหตุปะทะกันอีกครั้งระหว่างกองทัพทหารพม่าและกลุ่มกบฏในเขตปกครองพิเศษกองกำลังโกกั้ง การสู้รบระหว่างทหารพม่ากับฝ่ายกบฏยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในตอนเหนือของรัฐฉาน …
กลุ่มมือปืนติดอาวุธครบมือกลุ่มหนึ่งบุกเข้ามาในเมืองอย่างรวดเร็ว แล้วบุกลุยเข้าไปในโรงแรม 3 แห่ง มีการต่อสู้กัน ใครคนหนึ่งถูกฆ่าตาย พนักงานโรงแรมและคาสิโนราว 300 ชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน รถยนต์ประมาณ 20 คัน ถูกเผา ที่หน้าโรงแรมนั้น …
ถ้าเคยดูหนังแอ็คชั่นฮ่องกง Line Walker อาจคิดว่านั่นมันคล้ายกับฉากหนึ่งใน Line Walker ทว่าไม่ใช่ นั่นมันเป็นฉากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน
6 มีนาคม 2017 สมาชิกของ MNDAA บุกโจมตีคาสิโน 3 แห่งใน 3 โรงแรมที่อยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย ตอนนั้น กองทัพพม่าออกมาเปิดเผยว่ากองกำลังโกกั้ง MNDAA ได้จับกุมพลเรือนเป็นชาย 120 คน หญิง 200 คน ไปจากโรงแรมในเมืองเล่าก์ก่าย เขตปกครองตนเองโกกั้ง ว่ากันว่าพลเรือนที่ถูกจับจะถูกนำไปฝึกเป็นทหาร เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้กองทัพพม่าและกองกำลังโกกั้งปะทะกัน 48 ครั้ง กองทัพพม่าต้องตรึงกำลังรักษาความปลอดภัย อย่างเข้มงวดในพื้นที่ รวมทั้งตั้งด่านตรวจเข้ม บนถนนที่มุ่งสู่เมืองกุนหลง เมืองแสนหวี และเมืองล่าเสี้ยว ทางเหนือของรัฐฉาน
ในความรับรู้ของโลกภายนอก พื้นที่ปกครองพิเศษของกองกำลังโกกั้ง และรวมถึงพื้นที่รัฐฉานยังคงมีภาพจำที่เข้าไปพัวพันกับยาเสพติด โดยเฉพาะการเป็นแหล่งปลูกและค้าฝิ่น แหล่งใหญ่ของโลก อย่างในปี 2002 มีรายงานว่าสามารถผลิตฝิ่นได้อยู่ที่ประมาณ 175 ตัน ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เมื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ
ต้นทศวรรษ 2000 การปลูกและค้าฝิ่นเริ่มเปลี่ยนไป อันเป็นผลมาจากการที่ MNDAA ประกาศใช้นโยบายพื้นที่ปลอดฝิ่น รัฐบาลทหารพม่าก็เห็นดีเห็นงามด้วย สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและอนุญาตให้เปิดคาสิโนในเมืองเล่าก์ก่ายได้ เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปในส่วนนี้
มีนาคม 2003 สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เขียนรายงานการมาเยือนเมืองเล่าก์ก่าย พบว่าการบริหารของรัฐบาลท้องถิ่นโกกั้งภายใต้การนำของ เผิง เจียเซิง (彭家声) มีนโยบายให้คาสิโนและผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ เปิดให้บริการอาหารจีน เพื่อเอาใจนักเล่นพนันจากฝั่งจีน โดยเปิดขายอาหารจีนตั้งแต่จุดตรวจด่านชายแดนจีน-พม่านั้นเลย
การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นไปที่นักพนันจากฝั่งจีนทำให้เล่าก์ก่ายกลายเป็นเมืองที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักข่าวชาวสวีเดน เดินทางเข้ามาในเล่าก์ก่ายเมื่อปลายปี 2015 เขียนถึงการพัฒนาเมืองเล่าก์ก่ายไว้ว่า เมืองกำลังเร่งก่อสร้างถนนสายใหม่และอาคารสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมและสถานบันเทิง โรงแรมสูงหลายชั้นผุดขึ้นมาใจกลางเมือง สองข้างทางเต็มไปด้วยโรงแรมขนาดเล็ก ร้านโทรศัพท์มือถือ ร้านขายสินค้าแบรนด์เนม และบ่อนพนันอีกจำนวนไม่น้อย ขณะที่รายงานของ UNODC ก็พบว่า คาราโอเกะ บาร์ อาบอบนวด และธุรกิจกลางคืนอื่นๆ ได้เข้ามาครอบครองพื้นที่ใจกลางเมืองเล่าก์ก่ายแล้วตั้งแต่ปี 2003
ถึงปี 2020 เล่าก์ก่ายมีคาสิโนถึง 30 แห่งแล้ว ซึ่งให้บริการ 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี ถึงแม้จะมีเคอร์ฟิวในช่วง 21.00 น. ถึง 05.00 น. ตั้งแต่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างกองทัพพม่ากับ MNDAA เมื่อปี 2015 และมีโรงแรมมากกว่า 50 โรงแรม อาคารสูงหลายชั้นถูกสร้างขึ้นตามสไตล์ที่คล้ายคลึงกับเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามชายแดน มีเพียงไม่กี่สัญญาณที่บ่งบอกว่านี่คือดินแดนอธิปไตยของพม่า เห็นจะมีแต่ข้าราชการของรัฐที่สวมชุดแต่งกายแบบพม่า และแขวนป้ายภาษาพม่า เพราะที่เหลือทั้งหมดล้วนมีบรรยากาศเหมือนเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาจีนเป็นหลัก ขายสินค้าจีน ใช้สกุลเงินหยวน อ้างอิงเวลาจีน รถยนต์ป้ายทะเบียนจีน หรือแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ ก็ยังใช้เครือข่ายของจีน
นักปกครองเขตโกกั้งเสนอให้สร้างสนามบินที่เมืองต่าส่วยถั่น (တာရွှေထန် ) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของเล่าก์ก่าย ประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อรองรับการพัฒนาในส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคโกกั้ง ข้อเสนอนี้มีขึ้นหลังจาก เมื่อต้นปี 2015 รัฐบาลพม่าอนุมัติให้มีการสร้างสนามบินแห่งแรกในรัฐชิน ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล ในโครงการท่าอากาศยานซูร์บุง (Surbung) บนยอดเขาซูร์บุง ห่างจากเมืองฝลัม (ဖလမ်း / Falam) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 8.5 ไมล์ อยู่ที่ระดับความสูง 6,000 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล มีรันเวย์ยาว 2 กม. ท่าอากาศยานดังกล่าวอยู่ใจกลางรัฐชิน และเมืองต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้ได้ในเดือนกันยายน 2020
ปี 2019 หน่วยงานกำกับดูแลเขตปกครองตนเองโกกั้งได้ยื่นขออนุมัติต่อกรมการบินพลเรือนพม่า เพื่อขออนุญาตสร้างลานบินเล็กๆ ที่สามารถรองรับเครื่องบินที่บรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 10 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มนักพนันจากฝั่งจีน
ฝันของหม่าหลี่ปาที่จะเป็นมาเก๊าใหม่ในภูมิภาคอาจดูไม่ไกลเกินไปก็ได้ เพราะปีที่แล้ว The Myanmar Public Affairs Management Committee ได้ประกาศผ่านกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจคาสิโนในประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยการเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการต่างๆ หลังจากในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจคาสิโนในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งของข้อกฎหมายที่ร่างมาทั้งหมดนั้นเป็นพื้นฐานมาจาก Gambling Act ของพม่าเองที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1986 ซึ่งถูกนำมารีวิวใหม่โดยรัฐสภาพม่า โดยเฉพาะข้อบังคับใช้กับผู้ใช้บริการคาสิโนที่เป็นชาวต่างชาติ หรือผู้ใช้บริการที่เดินทางข้ามประเทศมาเพื่อเข้าใช้บริการธุรกิจคาสิโน
เช่นเดียวกับในหลายเมืองชายแดนจีน ที่มีทุนคาสิโนเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วยให้เมืองพัฒนาไปได้แบบก้าวกระโดด แม้ว่าจะมีผลกระทบอย่างมากตามมา โดยเฉพาะในมิติด้านสังคมก็ตาม และก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่าทุนคาสิโนไม่ยอมหยุดนิ่ง ทุนเหล่านี้มักแสวงหาที่ลงทุนใหม่ เมื่อแหล่งเดิมซบเซาลง
การได้รับสัมปทานเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยมีคาสิโนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ เป็นกระแสที่น่าจับตามอง เพราะอ้างว่า มันทำให้โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ มีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คนในพื้นที่อาจมีคุณภาพและมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่เมืองก็ถูกทำให้ทันสมัยแบบจีน เป็นจีนเพื่อคนจีนมากขึ้น ทำให้หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าเมืองหรือบ้านของเขากลายเป็นเมืองของคนจีนไปแล้ว
ไม่ห่างไกลจากตัวเราเท่าไหร่ ก็มีรายงานข่าวเมื่อปีที่แล้วว่า ทุนจีนทะลัก แห่ลงทุนเมียวดี ผุดคาสิโนทั้งเล็กและใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเมย เรียงเป็นตับ แถมบริษัทร่วมทุนยักษ์ใหญ่จีนจับมือกองกำลัง BGF พม่า สัมปทานพื้นที่ 3 หมื่นเอเคอร์ 70 ปี ทุ่มทุนกว่าหมื่นล้านสร้างเมืองใหม่-คาสิโนหรู ยันเขตอุตสาหกรรมติดพรมแดน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รับระเบียงเศรษฐกิจ EWEC-สะพานตองยิน 2
ด้วยจุดยุทธศาสตร์ และการเป็นเมืองชายแดนจีน ทำให้หม่าหลี่ปาฝันจะเป็นมาเก๊าใหม่แห่งภูมิภาค แม้ว่าจะมีความท้าทายใหญ่ คือ การที่ยังคงเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งยังไม่ได้มีการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า อีกทั้งการตกลงหารือเรื่องสันติภาพของบรรดาแกนนำกลุ่มโกกั้งกับรัฐบาลพม่าก็ยังไม่ราบรื่น ลงตัวดีเท่าไหร่ แต่ทำอย่างไรได้ ในเมื่อก็ต้องช่วงชิงทุนจีนในบรรยากาศของยุคระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า (CMEC) ในศตวรรษที่ 21 นี้ เฉกเช่นเดียวกับในอดีตที่ผ่านมา
และหน้าตาประวัติศาสตร์การพัฒนาเมืองเล่าก์ก่ายสมัยใหม่ ก็อาจแบ่งได้ 3 ยุค ได้แก่
- ยุคเฮโรอีน (1970s) – ตามรายงานของ เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ กล่าวว่า เผิง เซียเจิง ผู้นำกลุ่มโกกั้งได้ก่อตั้งโรงงานเฮโรอีนแห่งแรกในเขตปกครองพิเศษโกกั้งในช่วงทศวรรษ 1970 และดำเนินงานเรื่อยมาอย่างน้อย 20 ปี
- ยุคฝิ่น (1990s)
- ยุคคาสิโน (2020s) !?!
ป.ล. แม้จะมีความหวังกันว่าน่าจะมีสัญญาณที่ดีในรัฐบาลนี้ในเรื่องการเจรจาหยุดยิงในเขต 7 สิงห์แดนเหนือเสียที แต่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2020 มีรายงานข่าวว่าคณะเจรจาความเมือง 7 สิงห์แดนเหนือ หรือ FPNCC ประกอบด้วย 1.กองทัพสหพันธรัฐว้า (UWSA) 2.กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) 3.กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) 4.กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตย หรือ โกกั้ง (MNDAA) 5.กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ เมืองลา (NDAA) 6.กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA) 7.กองทัพอาระกัน (AA) มีมติว่า เมื่อสหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมปางโหลง ศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 4 ในระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2020 ผู้นำกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อีก 6 กลุ่มที่เหลือ ก็จะไม่เข้าประชุมด้วย เนื่องจากรัฐบาลพม่าถือว่า องค์กรสหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) เป็นกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไปว่าสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติจะดำเนินไปอย่างไร ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี เพราะวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปของพม่า โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 330 ที่นั่ง และสมาชิกวุฒิสภาอีก 168 ที่นั่ง รวมกับตำแหน่งทางการเมืองระดับสหภาพ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น 1,171 ที่นั่ง