‘ชิม ช้อป ใช้’ ในทัศนะของร้านชำและคนค้าขาย นโยบายนี้ดีจริงหรือ

หลังจากรัฐมีมาตรการเอาใจประชาชนด้วยการแจกเงินในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้นำไปจับจ่ายซื้อของที่ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐได้ และ 23 กันยายน ที่ผ่านมา รัฐได้คลอดมาตรการใหม่ป้ายแดงเพิ่ม คือ แจกเงิน 1,000 บาท ให้กับประชาชนที่ร่วมลงทะเบียนในโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทย ให้คนไปท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อของในจังหวัดที่ไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน

ช่วงแรกเป็นที่ฮือฮาว่า คนแห่ลงทะเบียนกันจนระบบล่ม ต้องตั้งตารอคอยกันตั้งแต่เที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสอง แต่ถึงจะลงทะเบียนผ่าน บางคนสแกนหน้าไม่ผ่าน อ่านเงื่อนไขไม่เข้าใจ ลืมใช้สิทธิ ก็โดนตัดสิทธิกันไป ซึ่งได้เห็นมุมมองของผู้รับสิทธิ 1,000 บาทกันไปบ้างแล้วจากสื่อโซเชียลต่างๆ ลองฟังเสียงจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ กันบ้างว่า หลังจากมีโครงการนี้มากว่า 4 สัปดาห์ พวกเขามีอะไรเล่าให้เราฟังบ้าง

 

Cafe One-One-Two

‘เจี๊ยบ’ เป็นพนักงานประจำร้าน Cafe One-One-Two ส่งยิ้มทักทายในช่วงสายของวัน เธอทำงานที่นี่มาเกือบปีแล้ว

เจี๊ยบบอกว่า เจ้าของร้านสนใจเข้าร่วมโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ธนาคารมาติดต่อสอบถามถึงที่ร้าน เพราะคิดว่าน่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้

“โครงการเขาก็น่าสนใจ จะได้มีเงินหมุนเวียนด้วย ช่วงนี้เป็นช่วงแรกๆ ที่เขาเริ่มทำ มีลูกค้ามาเรื่อยๆ นะคะ อาจจะไม่ทุกวันแต่ก็มีเข้ามา เกินสิบคนแล้ว ตั้งแต่เริ่มโครงการมา คนในละแวกนี้หรือคนที่ทานอยู่แล้วก็ตั้งใจมาซื้อ เพราะเห็นว่าร้านนี้รับ (ชิมช้อปใช้) บางส่วนก็ดูจากโลเคชั่นเห็นตรงนี้มี ก็เลยแวะมา”

ส่วนตัวเธอเองก็ได้เข้าร่วมรับสิทธิใช้ 1,000 บาทด้วยเช่นกัน แต่ต้องไปใช้จ่ายต่างจังหวัดเพราะภูมิลำเนาเดิมเป็นคนกรุงเทพฯ

“ไปใช้ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็เป็นพวกของอุปโภค บริโภค เข้าห้างฯ ใช้จ่ายง่าย หมดเลยทีเดียว เพราะไม่มีเวลาไปตรงอื่น ถ้าไปเที่ยวก็อาจจะไปโซนชลบุรี เพราะว่ามันใกล้ บางคนเขาอาจจะไม่โอเค แต่สำหรับพี่ พี่ก็ว่าโอเคนะ คนที่ได้เขาก็ต้องว่าเขาโอเค อยู่ๆ มันก็ได้มา ตอนสแกนก็ไม่ติดปัญหาอะไร จะมีของพ่อที่สแกนหน้าไม่ได้ ก็ไปติดต่อธนาคาร มันง่ายๆ ไม่ซีเรียส”

โดยรวมแล้วเจี๊ยบค่อนข้างพอใจกับนโยบายนี้ และหากในอนาคตมีโครงการลักษณะนี้อีก เธอยืนยันว่าจะเข้าร่วม

“ข้อดีก็เหมือนอย่างที่เขาว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จากที่เขาว่ามันเงียบๆ ก็อาจจะให้มีเพิ่มมาบ้าง แต่ข้อเสียนี่ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีข้อเสียตรงไหน เพราะว่าก็เห็นยังดีอยู่ ไม่มีระบบล่มนะคะตั้งแต่ที่ใช้มา ถ้ามีเฟสสองก็คงใช้ต่อเนื่องค่ะ”

 

ร้านขายของชำธงฟ้าประชารัฐ

ณ ร้านขายของชำขนาดเล็กติดถนนที่มีผู้คนสัญจรไปมาพลุกพล่าน หน้าร้านติดป้ายไวนิลธงฟ้าประชารัฐ ไว้อย่างชัดเจน

เจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า ร้านของเธอเข้าร่วมโครงการธงฟ้าฯ อยู่ก่อนแล้ว เพราะเห็นว่าน่าสนใจและแถวบ้านเป็นแหล่งชุมชน คิดว่าถ้ามีบริการครบจบที่เดียวก็น่าจะทำให้ลูกค้ามาที่ร้านของเธอร้านเดียว ปรากฏว่าผลตอบรับดี คนในชุมชนมาใช้บริการกันค่อนข้างมาก ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิม พอรัฐออกนโยบาย ‘ชิมช้อปใช้’ ร้านของเธอจึงเข้าร่วมด้วย

“โครงการนี้มันเชื่อมต่อกัน ร้านเราเป็นร้านธงฟ้าอยู่แล้ว จึงสมัคร (ชิมช้อปใช้) ร่วมไว้ เผื่อลูกค้าแวะมา ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แค่โหลดแอพฯ (แอพพลิเคชั่นถุงเงิน สำหรับร้านค้า) แล้วสแกนคิวอาร์โค้ดของลูกค้า ให้ลูกค้ากดยืนยัน ก็ใช้จ่ายเงินได้แล้ว มีลูกค้าแวะมาใช้บริการประปราย เพราะโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ สามารถใช้กับร้านอะไรก็ได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นร้านธงฟ้า โครงการนี้เลยไม่ค่อยมีผลบวกกับร้านเท่าไหร่

“รัฐเปิดกว้างอยู่แล้วไม่เฉพาะห้างฯ ใหญ่ โรงแรมก็ด้วย ร้านอาหารก็ด้วย ปั๊มน้ำมันยังมี คือโครงการนี้เปิดกว้างเพื่อให้คนไปจับจ่ายท่องเที่ยวกัน มันก็ตรงกับชื่อโครงการ ก็ถือว่าตอบโจทย์”

ด้าน ตรียาพร หวังเชย หรือ นู พนักงานประจำร้านก็เห็นด้วยกับโครงการนี้ และเธอเองก็เป็นคนหนึ่งที่ลงทะเบียนรับสิทธิ 1,000 บาทด้วยเช่นกัน

“ก็เหมือนกระตุ้นให้คนไปเที่ยว เพราะอย่างนี่ถ้าไม่ได้ชิมช้อปใช้ก็ไม่ไป แต่พอได้มาก็เหมือนกระตุ้นให้เราได้ไปเที่ยวบ้าง ไปพักผ่อน แต่ลงทะเบียนยาก ยากมาก (เน้นเสียง) ยากจริงๆ เที่ยงคืนตีหนึ่งนี่คือยังนะ เหมือนระบบมันล่มหรืออะไรไม่รู้ ต้องรอประมาณตีสอง – ตีสองครึ่ง สแกนหน้าสิบรอบ บางทีกล้องเราความละเอียดมันเยอะ แต่ในบัตรประชาชนมันจะมัวๆ พอเราสแกนปุ๊บ มันชัดเกินอะ (หัวเราะ) ก็ไม่ผ่าน ต้องไปทำให้กล้องมัวๆ หน่อย ตั้งค่าคุณภาพให้มันต่ำสุด บางคนเขาก็ไม่ได้เลยนะ ลงทะเบียนผ่านก็จริง แต่เข้าแอพฯ (แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง) ไม่ได้ เขาก็จะไม่ได้ใช้ มีแต่คนบ่นว่าสแกนยากมาก”

ในฐานะพนักงานประจำร้าน นูจึงได้พบปะพูดคุยกับลูกค้าที่มาใช้สิทธิช้อปที่ร้าน  และบางครั้งเธอก็ต้องสวมบทเป็นครูสอนนักเรียนใช้แอพพลิเคชั่น และทำหน้าที่อธิบายเงื่อนไขของการใช้สิทธิ 1,000 บาทนี้ด้วย

“คนมาใช้ที่ร้านก็ปานกลาง บางวันก็ไม่มี ช่วงแรกๆ 2 คนมั่ง 3 คนมั่ง บางทีไม่มีเลยหลายวัน ตัวเลือกในกรุงเทพฯ เยอะไง ร้านใหญ่ๆ บ้าง ห้างฯ บ้าง ส่วนมากเขาก็ไปใช้แบบนั้น คนที่มาใช้ที่ร้านจะเป็นช่างก่อสร้างบ้าง มาทำงานแถวนี้บ้าง บางคนก็ใช้หมดพัน บางคนก็ไม่หมด ใช้สี่ห้าร้อย ซื้อแต่ของที่จำเป็น ข้าว ไข่ แฟ้บ น้ำมัน ถ้าพันนึงหมด เขาก็จะซื้อน้ำมั่ง ขนมมั่ง คือซื้อทุกอย่างจบๆ ไป

“เรามีแอพฯ ถุงเงิน ก็ให้เขาสแกน แต่โอ้โห (เน้นเสียง) นาน (เน้นเสียงอีกรอบ) กว่าจะได้ เน็ตต้องแรงจริงอะ ถ้าเน็ตไม่แรงพอเราสแกนยังไงมันก็ไม่ผ่าน เพราะเขาต้องยินยอมทางเครื่องของเขาด้วย วันนั้นมีคนนึงเขายอมลงทุนสมัครเน็ตใหม่เลย เพราะว่าเน็ตเก่ามันไม่แรงพอ แล้วบางทีมาในช่วงจังหวะที่คนใช้เยอะๆ แอพฯ ล่ม! เลยบอกให้มาประมาณ 2 ทุ่ม หรือก่อน 5 โมงเย็น มันจะสแกนง่าย แต่ถ้าหลังจากนี้ไปประมาณ 5 โมงถึง 1 ทุ่มเนี่ยยาก เหมือนระบบมันไม่ทันอะ ไปรุมๆ กันก็ไม่โอเค ส่วนบางคนได้มา (ได้สิทธิ) ก็คือยื่นให้เราทำเลย ทำให้หน่อย (หัวเราะ) เราก็กดให้เขา ให้เขาใส่รหัสเอง

“มีบางคนงงเรื่องเวลา เอ้า ทำไมมีเขียนถึง 30 พ.ย. เราก็ต้องอธิบายเขาว่า แค่ครั้งแรกภายใน 1-14 วัน พอรอบต่อไปก็แล้วแต่คุณ ถ้าใช้ไม่หมดก็มีกำหนดถึง 30 พ.ย. ตอนแรกเราเองก็ไม่รู้นะ จนมาสังเกตเอานี่แหละ เขาไม่ชัดเจนพออะ กติกาเขาต้องชัดเจนกว่านี้ และระบบต้องดีกว่านี้”

ส่วนการรับสิทธิต่อที่สอง หรือการรับเงินคืน 15 เปอร์เซ็นต์ หลังเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ นูบอกว่า

“อันนี้ไม่รู้เลยจริงๆ เขาต้องไปเติมที่ไหน เผลอๆ พันเดียวหมด ลบแอพฯ จบ”

“แต่เฟสสองเขาไม่เหมือนเดิมอะ ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด แต่มีคนบอกว่าเราต้องสำรองเงิน หรือจ่ายไปเองก่อน แล้วเขาจะคืน 15 เปอร์เซ็นต์ ของที่เราจ่าย แล้วใครจะมีเงินสำรองไปจ่ายขนาดนั้นเนาะ”

 

สุธิดา ค้าข้าว

เมื่อก่อนร้านขายของชำแห่งนี้ขายแต่ข้าวสาร จึงตั้งชื่อร้านว่า ‘สุธิดา ค้าข้าว’ แต่ภายหลังลูกค้าถามหาสินค้าอื่น อุษณีย์ หรับหลี หรือ นิเบี๊ยะห์ จึงหาสินค้าหลากหลายประเภทมาขายที่ร้านและขยายร้านจนเป็นร้านขายของชำขนาดใหญ่ในย่านนี้

ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ ร้านของเธอเข้าร่วมโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐมาก่อนอยู่แล้ว สังเกตได้จากป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่แขวนเด่นสง่าป้ายฟิวเจอร์บอร์ดเล็กๆ ที่ติดอยู่ตามเสา

“มีเจ้าหน้าที่ (ธนาคารกรุงไทย) โทรมาถามว่า ร้านเป็นธงฟ้าใช่ไหม จะเข้าร่วมชิมช้อปใช้ไหม เราก็ถามว่าถ้าร่วมรายการต้องทำยังไง ก็ไม่มีอะไรแค่โหลดแอพฯ (ถุงเงิน) แล้วลูกค้าก็มาใช้ มันง่ายกว่าที่เราจะทำโครงการธงฟ้าอีก มันหลายขั้นตอน แต่อันนี้มันง่ายอะแค่โหลดแอพฯ แค่นั้น เราก็ใช้ได้เลย”

นิเบี๊ยะห์อธิบายการเข้าร่วมโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ และยังเล่าถึงความท้อแต่ไม่ถอยของเธอในการลงทะเบียนรับสิทธิ 1,000 บาทด้วย

“กว่าจะเข้าได้ สามวัน สี่วัน ยาก (เน้นเสียง) ยากมาก นี่ยังว่าถ้าไม่ได้ ก็จะไม่เอาแล้ว สามวันสแกนหน้าไม่ผ่านอะ ตอนนั้นถอดใจแล้วแหละ ขายของก็จะขาย มานั่งสแกนหน้า เดี๋ยวลูกค้าก็จะซื้อ ฮึ่ม…ถ้าวันนั้นไม่ได้ก็จะไม่เอาแล้ว แต่ก็ เออ…ได้

“ที่บ้านได้สิทธิ 4 คน เลยไปใช้ที่แม็คโครชลบุรี ตอนนั้นเราก็ไม่ได้นึกว่าจะไปซื้อของ ทีนี้พอคิดไปคิดมา เฮ้ย เราไม่ต้องกินก็ได้นี่ เราไปช้อปของมาใส่ร้านก็ได้ เพราะว่ามันตั้งสี่พัน กินไม่หมดอยู่แล้ว เอาเป็นของมาให้ลูกค้าดีกว่า ไหนๆ เราก็ต้องซื้อแม็คโครอยู่แล้ว ก็เลยใช้สิทธิตรงนั้น

“นิไม่ได้ไป น้องสาวไป ก็ให้น้องสาวไปแล้วนิค่อยส่งรูปไปให้ แต่มันต้องใช้ 2 เครื่อง ไปยืมใครมาเตรียมเปิดสแกนไว้ นิเปิดสแกน (QR code) ให้เขาแล้วก็ส่งไลน์ไปให้เขา ส่วนอีกเครื่องนิก็ต้องเปิดรอไว้เพื่อที่จะยืนยัน เพราะงั้นต้องมี 2 เครื่อง ให้น้องไปคนเดียวก็ทำได้ 4 เครื่องเลย พอเขาโทรมาบอกจะทำแล้วนะ ก็เตรียมโทรศัพท์ไว้ 2 เครื่อง

“นิเคยทำให้ลูกค้าทางปัตตานี คือเขาช้อปที่กรุงเทพฯ แต่ตัวเขาไม่ได้มา นิก็เลยบอกให้เขาทำตามนี้ แล้วบอกว่าสะดวกเมื่อไหร่ก็มารับของที่ร้านได้เลยสองพัน คือทำไว้ก่อนเพราะเดี๋ยวมันจะหมดอายุการใช้งานก็จะเสียเปล่า”

ด้วยร้านที่มีขนาดใหญ่กว่าร้านอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง และมีสินค้าให้เลือกสรรมากมายทั้งข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน และสินค้าสำหรับพ่อค้าแม่ค้า ทั้งวัตถุดิบทำเบเกอรี หัวเชื้อน้ำผลไม้ และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ทำให้มีผู้มาใช้สิทธิที่ร้านนี้มากพอสมควร

“ร้านเราบางทีวันนึง 6-7 คน มีทุกวัน ก็มีช่วงนี้แหละที่ไม่มี เมื่อวานไม่มีเลย ส่วนใหญ่ลูกค้าบอกว่ามาทีเดียวได้หมดเลย

“ห้างฯ สะดวกกว่า แต่ที่นี่มันก็เร็ว บางทีไปห้างฯ ต้องรอนาน ราคาก็ไม่ได้ต่างกับเราเลย นิให้เขาเลือกไปเลย เลือกนานเท่าไหร่ก็เรื่องของเขา เสร็จเมื่อไหร่บอกเรา จัดการให้

“นิว่าสำคัญสุดอยู่ที่ตัวเรา  เราเทคแคร์ลูกค้าโอเคไหม ให้ความสนิทสนมเป็นกันเอง แล้วบางทีขายของกับลูกค้าเราก็ไม่ได้ตึง 102 บาทก็คิด 100 ลูกค้าน่ะบาทนึงก็โอเคแล้ว ได้ใจอะเนาะ

“แต่เฟสสองนิว่าไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ เพราะถ้าเขาให้ลูกค้าเอาตังค์ไปเข้าเอง เรียกว่าไงดี คือของฟรีมันก็โอเคใช่ปะ ก็รีบอยู่แล้วแหละ ดูอย่างบัตรธงฟ้า (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) เขาให้ 200-300 เนี่ย ลูกค้าจะรีบมาเลย ก็ต่างรีบร้อนจะมาเพราะว่า 1.กลัวของหมด 2.ของฟรี อุตส่าห์พยายามทำกว่าจะได้”

 

ร้าน Cafe Amor

ร้านกาแฟขนาดกลางตั้งอยู่ริมถนน ติดกระจกใสเกือบรอบทิศ ทำให้เห็นภายในร้านที่ตกแต่งด้วยของเก่าสไตล์วินเทจ และเห็นชายคนหนึ่งที่กำลังง่วนอยู่กับการทำงาน พอเดินเข้าไปใกล้ๆ ร้านจะเห็นป้ายกระดาษ A4 แปะไว้ที่กระจกว่า ร้านนี้เข้าร่วมโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ หากขับรถผ่านไปมาอาจจะไม่ทันได้สังเกต ถ้าใครอยากมาใช้บริการ คงต้องเสิร์ชหาร้านในเว็บไซต์กันมาก่อน

‘ฮง’ ผู้จัดการร้าน Cafe Amor เล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทยมายื่นข้อเสนอโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ ให้ เขาเห็นว่าเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับทางร้าน ไม่เสียผลประโยชน์ใดๆ และจะได้เป็นทางเลือกหนึ่งกับคนที่ใช้สิทธิ 1,000 บาท จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ แต่ก็มีลูกค้ามาใช้สิทธิที่ร้านเพียงแค่ 3-4 รายเท่านั้น

“โครงการมันก็ไม่ได้หวือหวา คนที่ได้ผลประโยชน์ก็คือตามห้างสรรพสินค้า ร้านที่มีชื่อเสียงหน่อย อย่างร้านผมมีแอร์ก็จริง แต่น้อยคนจะมานั่งทานกาแฟ เจอเคสสุดท้ายใช้จนจะหมดเหลือไม่กี่ร้อยก็มาคำนวณดู มานั่งทานให้มันหมดไป นอกนั้นเขาก็ไปซื้อของตามห้างดังๆ กันหมดแล้ว

“แม่ค้า (หาบเร่แผงลอย) ทำไมถึงไม่เข้าร่วมโครงการเยอะ เพราะว่าเขาไม่ได้เงินคืนทันที จ่ายเสร็จปุ๊บต้องรอวันรุ่งขึ้น แล้วถ้าคนไม่มีเงินสำรอง เขาจะเอาเงินที่ไหนซื้อของ ต้องรออีกวันนึงกว่าจะได้เงิน ถ้าแม่ค้าขายลูกชิ้นอยากทำบ้างล่ะ คนมาซื้อ 20-30 บาท แต่พรุ่งนี้เย็นถึงจะได้เงิน เขาจะเอาเงินที่ไหนไปลงทุนตอนเช้า”

แล้วถ้าไม่ใช่โครงการนี้ คิดว่างบ 10,000 ล้านบาทที่เอามาแจก จะเอาไปทำอะไรดี?

“ผมว่าตั้งเป็นศูนย์พัฒนา สอนให้เขาทำอาหาร ทำอาชีพ หรือใครอยากจะมาขายของ เก็บค่าเช่าเขาไม่แพง ให้ทุกคนมีโอกาสได้เข้าไปในส่วนนั้น เพราะไปขายทั่วๆ ไปเทศกิจก็มาจับ ใช้พื้นที่สนามหลวงหรือที่ไหนก็ได้ที่เป็นสถานที่ของคนกรุงเทพฯ หรือว่าศาลากลางจังหวัด ให้ผู้ประกอบการรายได้น้อย เอาของที่ได้คุณภาพมาขายแล้วให้คนไปใช้สิทธิ ตรงส่วนนี้ผมว่าจะดีกว่า นั่นคือการส่งเสริมรายได้ที่ดี”

เมื่อถามว่าถ้ามีโครงการลักษณะนี้อีกในอนาคตจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ ฮงให้คำตอบว่า

“มีคนเอาเงินมาให้ ใครไม่รับ แต่ก็จะดูว่า แล้วรัฐบาลเอาเงินจากไหน เก็บภาษีประชาชนหรือเปล่า รัฐบาลไม่ได้พิมพ์แบงก์ได้เอง ดูสิ เพียงไม่กี่วันหมดไปกี่ร้อยล้านแล้ว เงินที่แจกไปมันมาจากไหน ไม่ใช่มาขึ้นภาษีทีหลัง (หัวเราะ)”

 

ร้านขายของชำ ทวีศักดิ์

ป้ายไวนิลโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังสีเขียวซีดถูกแขวนบังแดดอยู่หน้าร้าน ภายในร้านมีกระสอบข้าวสารและแพ็คน้ำดื่มตั้งเทินสูงหลายชั้น รวมทั้งแพ็คขนมที่ตั้งอยู่ตามชั้นวางของ มองดูเผินๆ แล้วก็รู้ได้ทันทีว่าร้านของชำร้านนี้เน้นแบบขายส่งมากกว่าขายปลีก

เมื่อลองสอบถามเจ้าของร้าน หรือ ทวีศักดิ์ ถึงการเข้าร่วมโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ โครงการน้องใหม่จากรัฐบาล ก็ได้คำตอบว่า

“อันนี้ไม่รู้เลยว่ามี มารู้อีกทีนึงตอนเห็นเขาโพสต์กันในเฟซบุ๊คว่าได้ชิมช้อปใช้ แต่ว่าเราก็ไม่ได้สนใจอะไรอยู่แล้ว พันนึงหาเองดีกว่า” ทวีศักดิ์พูดพลางหัวเราะเบาๆ

แล้วคิดว่าโครงการนี้เป็นยังไง?

“ไร้สาระครับ ไม่มีประโยชน์ จ่ายตังค์มา เอาตังค์มา แล้วไปไหนอะ เที่ยวเสร็จ เศรษฐกิจดีขึ้นไหม ไม่ได้ดีขึ้นเลย เหมือนเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมครับ

“นโยบายแจกตังค์อะไรพวกนี้ไม่ได้ช่วยหรอกครับ ถ้าลองหันไปดูสินค้ารอบตัวนะ จะรู้ว่าทุกวันนี้สินค้ามันขึ้นขนาดไหน (หันไปมองขวดเฮลส์บลูบอยบนชั้น) น้ำหวานนี่แต่ก่อนขวดละ 40 ทุกวันนี้ 60 ยังซื้อไม่ได้เลย ข้าวของมันขึ้นครับ”

ในฐานะที่อยู่ในวงการร้านขายของชำมากว่าสิบปี ตั้งแต่สมัยที่เป็นลูกมือของพ่อจนตอนนี้เป็นเจ้าของกิจการเอง ทวีศักดิ์บอกว่า เศรษฐกิจช่วง 2 ปีหลังนี้ คนน้อยลง กำลังซื้อก็น้อยลง ร้านอาหารบริเวณนี้เซ้งไปหลายราย รายได้ต่อวันหายไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์

และเมื่อถามว่าร้านของตนได้รับผลกระทบอะไรจากโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ บ้างหรือไม่ ในขณะที่ร้านอื่นเข้าร่วมโครงการมีลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้น แต่ร้านของเขาไม่ได้ร่วมโครงการอะไร

“เราอาศัยลูกค้าประจำ แล้วเราขายไม่แพง ขายราคาถูกกว่าตามท้องตลาด บางอย่างเราขายถูกกว่าห้างฯ อีก ลูกค้ารู้เขาก็มาซื้อ”

ทวีศักดิ์ให้ความเห็นเพิ่มว่า ถ้าไม่ใช้เงินกับโครงการนี้ ก็อาจนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้

“เอาเงินไปเข้าโรงพยาบาลครับ ต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะตอนนี้โรงพยาบาลแออัด สาธารณสุขมันน้อยไป ชาวบ้านต้องไปนั่งต่อคิว ไปเป็นวันๆ เจ็บป่วยมาต้องมานั่งรอคิวเช้าถึงเย็น ไปฉีดวัคซีนทีนึงก็ต้องรอเป็นวัน ซึ่งมันเปลืองเวลา เอาเวลาไปทำอะไรได้ตั้งเยอะ”

Author

ศรุตยา ทองขะโชค
นักศึกษาจบใหม่สายวารสาร อยากสั่งสมประสบการณ์และค้นหาความลงตัวให้ชีวิต เป็นคนไม่หยุดอยู่กับที่ เขียนไดอารี่ทุกทีที่ไปเที่ยว พร้อมแชะภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ ชอบถ่าย candid เป็นชีวิตจิตใจ และกำลังเริ่มต้นใหม่กับการถ่าย portrait

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า