“ขะ ขะ แข็งแกร่ง…” ย้อนอ่านความคิดชัชชาติ จากกรณีถนนลูกรัง ถึงนโยบาย 200 ข้อ เพื่อกรุงเทพฯ ที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อาจเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ในฐานะ ‘รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ เมื่อ meme ใส่เสื้อกล้าม ถือถุงแกง เดินเข้าวัดในเช้าวันหนึ่งของเขาได้รับการแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ในด้านการบริหาร ชัชชาติในฐานะ รมว.คมนาคม ยังถูกกล่าวขวัญว่าเป็นมันสมองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

เมื่อต้องลงจากตำแหน่งเพราะการรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ชัชชาติผันตัวไปทำงานภาคธุรกิจ โดยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นระยะเวลา 4 ปี

ทว่าชัชชาติก็ไม่ได้หายหน้าไปจากเวทีการเมืองไทย เขามีชื่อเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 พร้อมกับสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัยเกษม นิติศิริ

แม้ไม่ได้เป็นนายกฯ แต่ชัชชาติยังพร้อมลุยเวทีการเมือง เขาเปิดหน้าลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อพรรคใด ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 นับเป็นการเปิดตัวเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. รายแรกๆ ที่ยาวนานกว่า 2 ปี ก่อนการเลือกตั้งจะจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ในระยะเวลาดังกล่าว ชัชชาติมีโอกาสลงพื้นที่เพื่อศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของชาวกรุงเทพฯ จนกลั่นออกมาเป็นนโยบายกว่า 200 ข้อ เพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

WAY ชวนย้อนอดีตสำรวจถ้อยคำและความคิดของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ให้ปริ่มเปรมกันอีกครั้ง

เวลาเป็นสิ่งที่แพงที่สุด

30 กรกฎาคม 2556

“ปัญหาจริงๆ แล้วของเรา คือเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเวลา เพราะคิดว่าเวลาคือของฟรี แต่ที่จริงไม่ฟรี เพราะเวลาเป็นสิ่งที่แพงที่สุด”

ในปี 2556 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องรับผิดชอบ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม อาทิ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า และมอเตอร์เวย์ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวถูกกระแสสังคมในขณะนั้นต่อต้านว่า การก่อหนี้สาธารณะเพื่อสร้าง ‘รถไฟขนผัก’ เป็นสิ่งไม่จำเป็น กระทั่ง สุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทำการไต่สวน พ.ร.บ. นี้ถึงกับกล่าวว่า “ให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศไทยก่อน รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็น”

ชัชชาติชี้แจงว่า โครงการรถไฟรางคู่ไม่ใช่ผลงานที่เขาเป็นคนคิด หากแต่มีการคิดกันมาแล้ว 20 ปี แต่รัฐบาลชุดนี้นำมาเป็นนโยบายหลักและหาแหล่งเงินทุนให้ โดยยอมรับว่าการสร้างรถไฟจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้แน่นอน แต่เราต้องเลือกว่าจะเป็นหนี้วันนี้หรือวันหน้า และหากในอนาคตคิดจะสร้าง งบประมาณย่อมสูงกว่า 2 ล้านล้าน

“บางทีต้นทุนของการไม่ทำ มันสูงมากจนเราก็ลืมคิดถึงมัน เพราะฉะนั้นหัวใจของ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของ ‘เวลา’ ครับ”

เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?

2 กุมภาพันธ์ 2560 

“หน้าที่ของรัฐหลักๆ มีอยู่สองส่วนคือ หนึ่ง สร้างความเจริญให้ประเทศ (growth) สองคือ ประชาธิปไตย เราต้องทำให้คนส่วนใหญ่อยู่ได้ ของเราอยู่แค่เรื่อง growth เป็นหลัก เราภูมิใจกับ GDP โต แต่เราจะไม่ภูมิใจกับรายได้เฉลี่ยประชากรที่เพิ่มขึ้นหรือ”

ในปี 2560 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร่วมวงถกประเด็น ‘ความเหลื่อมล้ำ เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ ที่สยามสมาคม กรุงเทพฯ ผ่านมุมมองในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้เคยมีส่วนแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย โดยชัชชาติเสนอว่า ในความเป็นจริงความเหลื่อมล้ำนั้นมีอยู่ทั่วไปรอบตัวคนทุกคน ซึ่งมีตั้งแต่สีขาว สีเทาอ่อน สีเข้ม ฯลฯ สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากสังคมไทยชินกับความเหลื่อมล้ำที่ช่วยรักษาสถานะของแต่ละคนเอาไว้ มากกว่านั้น ชัชชาติยังเห็นว่า แก่นสำคัญของปัญหานี้คือความไม่ยุติธรรมทางโอกาส โดยอุปมาเหมือนคนที่วิ่งแข่งกัน แต่จุดสตาร์ตไม่เท่ากัน

ในยุคที่ชัชชาติมีบทบาทเป็น รมว.คมนาคม เขาพบว่า แท้จริงแล้วการคมนาคมเป็นตัวอย่างสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่คนส่วนใหญ่เห็นชัดเจนแต่มองข้ามไป เพราะในชีวิตประจำวัน ทุกๆ เช้า คนทุกคนจะต้องแบ่งปันพื้นที่ท้องถนนร่วมกับคนอื่นๆ ในแง่นี้ท้องถนนจึงเป็นส่วนผสมของความไม่เท่าเทียมกันชัดเจนที่สุด

ข้อมูลของชัชชาติที่ใช้อธิบายตัวอย่างคือ ในกรุงเทพฯ มีรถเก๋งจำนวน 4 ล้านคันต่อวัน ที่สัญจรอยู่ตามถนน ขณะที่ขนส่งมวลชนซึ่งผู้ใช้บริการมากที่สุดอย่างรถเมล์ พบว่ามีอยู่เพียง 5,000 คันเท่านั้น

วิธีการอย่างหนึ่งที่เขาเห็นว่าน่าสนใจคือ อาจให้สิทธิ์รถเมล์มากกว่ารถเก๋ง โดยการทำบัสเลน แต่ย้ำว่าประเทศไทยต้องมีรถเมล์ที่ดีก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ จำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง

“รถเมล์ 1 คัน ผู้โดยสาร 60 คน เท่ากับรถเก๋ง 60 คัน ที่ขับคนละคัน ความจริงแล้ว นโยบายที่เราไปเน้นเรื่องรถไฟฟ้านั้น เราลืมเรื่องเบสิกคือ การเดินทางของคนส่วนใหญ่”

ขนส่งสาธารณะไทย เอายังไงกันดี

1 มีนาคม 2560

“หลักการของการมีรถเมล์สาธารณะคือ จะมีบางเส้นทางที่มีกำไร และบางเส้นทางที่ไม่มีกำไร ถ้าหากเราให้รถเมล์ของเอกชนวิ่ง เอกชนก็จะเลือกวิ่งเฉพาะเส้นทางที่มีกำไร แล้วชาวบ้านที่อยู่ไกลๆ ก็จะไม่มีรถไปเซอร์วิสหรอก บริเวณที่คนแน่นๆ ก็จะเป็นบริเวณที่ดินราคาแพง เช่น สีลม สุดท้ายแล้วก็จะทำเกิดการแข่งขันจนคนบางคนอยู่ไม่ได้”

ในปี 2560 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ใน WAY MAGAZINE ว่าด้วยโครงสร้างระบบคมนาคมและขนส่งสาธารณะของไทย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตลอดจนประเด็นความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนผ่านการสัญจรของผู้คน 

“ผมสรุปง่ายๆ ว่า ระบบขนส่งสาธารณะของบ้านเรายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่พอสมควร เพราะไม่ได้เซอร์วิสให้กับทุกคน คนที่มีโอกาสก็จะสบายหน่อย นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทุกคนพอเรียนจบมาก็จะหาซื้อรถ เพราะว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นไง อันนี้อาจจะต้องคิดให้ดีว่าบริการขั้นพื้นฐานควรจะเป็นยังไง เพราะในชีวิตกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เราจะต้องอยู่บนท้องถนน สำหรับ gen Y ที่รอรถไฟฟ้า อาจจะเสียเวลารวมๆ แล้วเป็นปีเลยนะ ที่ติดอยู่บนถนนนั่น…”

“แค่เราใส่ใจกับคนรอบข้างสักนิดหนึ่ง เราก็จะเห็นว่ามันมีความเหลื่อมล้ำเยอะ เราแค่นั่งรถเก๋งแล้วมองเห็นคนที่เขายืนรอรถเมล์เป็นชั่วโมง ไม่มีรถขึ้น ถ้าเราเข้าใจชีวิตเขา เราก็จะเห็นว่าชีวิตคนมันก็เหลื่อมล้ำ มันไม่ต้องไปดูไกลเลย”

การเมืองควรเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่

3 มีนาคม 2560

“ที่ผ่านมาการเมืองเป็นเรื่องของคนรุ่นเก่าเสียเยอะ พอเราบอกว่าการเมืองไม่ดี การเมืองเน่า ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเข้ามา สุดท้ายวงจรก็อยู่แต่กับคนเก่า ทั้งๆ ที่คนรุ่นใหม่ควรเป็นคนออกแบบประเทศ เพราะเขาได้รับผลกระทบมากสุด แต่พอยิ่งบอกว่าการเมืองมันชั่ว การเมืองมันไม่ดี คนรุ่นใหม่ก็ยิ่งหนี”

ถ้อยคำข้างต้น กล่าวในปี 2560 ในวันที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปลี่ยนบทบาทจาก รมว.คมนาคม มาเป็นผู้บริหารภาคเอกชน เจ้าตัวบอกว่าทุกวันนี้เขาเป็นเพียงคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ยังคงสวมเสื้อกล้ามและถือถุงแกงใส่บาตรเป็นกิจวัตรปกติ แม้จะไม่ได้ตั้งใจให้ป๊อป แต่ชื่อของเขาก็ยังคงอยู่ในกระแสโลกออนไลน์ไม่จางหาย เคล็ดลับง่ายๆ ของชัชชาติก็คือ เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด

มากกว่านั้น ในสายตาของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เขายังคงมีความหวังว่าอนาคตประเทศไทยต่อจากนี้ต้องขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่คนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นเขา

เราต้องเป็น ‘รัฐบาลเปิด’

6 พฤศจิกายน 2562 

“ความยั่งยืนก็คือ การที่คนรุ่นนี้ไม่สร้างภาระที่ไม่จำเป็นให้กับคนรุ่นต่อไป โดยมีหัวใจอยู่ที่ความโปร่งใส และความมีประสิทธิภาพของระบบราชการ ส่วนตัวจึงอยากเสนอนโยบาย ‘รัฐบาลเปิด’ หรือ open government

“แน่นอนว่า รัฐบาลจะไม่สามารถยั่งยืนได้เลย หากการก่อสร้าง 3 สนามบิน มูลค่า 2.2 แสนล้าน สัมปทาน 50 ปี โดยที่ประชาชนไม่รู้รายละเอียด ถามว่าใครจะเป็นคนใช้ ใครเป็นคนจ่ายเงิน เพราะผู้ที่อนุมัติก็คงอยู่ไม่ถึง 50 ปีแน่ๆ

“ฉะนั้น หัวใจของเสรีภาพและยั่งยืน คือการมีรัฐบาลที่เปิดเผยให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูล สามารถตรวจสอบ และออกแบบชีวิตตัวเองได้”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวในงาน Thammasat Open House Freedom & Sustainability ปี 2562 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในหัวข้อ ‘นโยบายเพื่อประชาชนและความยั่งยืน TU Resolution Talk’ โดยเชิญ 3 นักการเมือง ได้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองอิสระกลุ่ม New Dem และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ 

การพูดคุยในหัวข้อดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า เสรีภาพคือหัวใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากไม่มีเสรีภาพทางความคิด สติปัญญาก็ไม่เกิด และนวัตกรรมทั้งหลายที่ขับเคลื่อนสังคมและมนุษยชาติย่อมเกิดได้ด้วยการคิดและลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ทั้งสิ้น

เพราะประชาชนมีต้นทุนทาง ‘เวลา’

1 มีนาคม 2560

“รถไฟความเร็วสูงควรจะขนคน เพราะคนมีต้นทุนทางเวลาเยอะ ส่วนสินค้าหนัก ความตรงเวลาสำคัญกว่าความเร็ว ยกเว้นสินค้าพวกดิจิทัลหรือสินค้าน้ำหนักเบา อาจใช้รถไฟความเร็วสูงได้ ถ้ามีสองระบบนี้คู่กันก็จะดี ขนของใช้รถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟความเร็วสูงเอาไว้ขนคน”

ในปี 2560 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ใน WAY MAGAZINE ว่าด้วยโครงสร้างระบบคมนาคมและขนส่งสาธารณะของไทย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตลอดจนประเด็นความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนผ่านการสัญจรของผู้คน 

มาร่วมทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

7 เมษายน 2565

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มาเที่ยวแป๊บๆ คนจะชอบ แต่ถ้าเกิดอยู่นานๆ บางทีก็เหนื่อย ฉะนั้น นโยบายก็มาจากคำว่าเมืองน่าอยู่ หรือ Livable City เราไม่ได้อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่หรูหรา เวอร์ เป็น Smart City แต่เป็นเมืองที่อยู่แล้วมีความสุข เป็นเมืองที่น่าอยู่ และสุดท้าย ต้อง inclusive คือต้องน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ใช่น่าอยู่สำหรับบางคน”

สำหรับชัชชาติ เมืองคือแหล่งหางาน (Labor Markets) หากเมืองไม่มีงานให้ทำ ผู้คนก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งความหวังและอาศัยอยู่ได้ แต่จากการลงพื้นที่คลุกคลีกับชาวกรุงเทพฯ 2 ปีกว่า ทำให้เขาเห็นว่า กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนรวยเท่านั้น หากมีรายได้ต่ำหรือปานกลาง ก็จะมีปัญหาการเข้าถึงบริการต่างๆ ในเมืองทันที เพราะค่าใช้จ่ายแฝงในกรุงเทพฯ สูงมาก ซึ่งบางครั้งก็แพงแต่คุณภาพไม่ดี

ตัวอย่างเช่น ระบบคมนาคมที่ไม่วางแผนอย่างเป็นระบบ ทำให้รถติด หมายความว่า ในแต่ละปีคนกรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาอยู่บนท้องถนนมากเกินไป หากในหนึ่งวัน รถติดไปแล้ว 2 ชั่วโมง คนกรุงเทพฯ ก็จะติดแหง็กอยู่บนรถนานถึง 1 เดือนในรอบปี หรือการส่งเสียลูกหลานให้เรียนกวดวิชาเป็นเงินนับแสนบาทต่อปี สาเหตุก็เพราะคุณภาพของโรงเรียนในกรุงเทพฯ ยังไม่ดีพอ เป็นต้น ดังนั้น หากพัฒนาเมืองให้มีบริการที่ประชาชนพึงได้ตั้งแต่แรก ก็จะทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลง

การทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน กลายเป็นโจทย์หลักที่ใช้ในการออกนโยบายของ ‘ทีมเพื่อนชัชชาติ’ ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ จนได้นโยบายมากถึง 214 นโยบาย คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเปลี่ยนแปลงเมืองหลวงแห่งนี้ให้น่าอยู่ขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า