ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ: PM2.5 ปอด-ปาก-ท้องของคนปลูกอ้อย

ภาพจากเฟซบุ๊ค: Chainarong Setthachua

บางเช้า ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นั่งดื่มกาแฟ ขนนกสีดำปลิวลงมา แต่ไม่ใช่ขนนก มันคือใบอ้อยที่เผาไหม้ไม่หมด

ช่วงรอยต่อระหว่างปลายปี-ต้นปี คือฤดูกาลเปิดหีบอ้อย เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต การเผาอ้อยเป็นกิจกรรมหนึ่งของการเก็บเกี่ยว เพราะทุ่นแรงงานและต้นทุนต่ำ แม้ว่าราคาขายจะถูกหักจากการเผาอ้อย หิมะดำ หรือ black snow จึงปกคลุมเหนือพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยในประเทศไทย ประกอบกับสภาพอากาศที่หยุดนิ่ง มลพิษทางอากาศจึงหนาหนัก เกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด

ระหว่างปี 2557-2562 ซึ่งอยู่ในช่วงรัฐบาล คสช. มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 8,456,000 ไร่ เป็น 11,469,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 3,013,000 ล้านไร่ ขณะที่โรงงานน้ำตาลกำลังจะเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 29 แห่งตามการส่งเสริมของภาครัฐ

โรงงานน้ำตาล 1 แห่ง ใช้พื้นที่การปลูกอ้อยประมาณ 3-4 แสนไร่ โรงงานน้ำตาล 29 แห่ง จึงต้องการพื้นที่ปลูกอ้อย 5 ล้านไร่

“ผมเชื่อว่าต่อให้เลยพ้นปี 2565 ไปแล้ว การเผาอ้อยก็จะยังมีอยู่ ยังไม่สามารถแก้ได้”

อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านนี้ บอกว่า มาตรการที่รัฐออกมาผ่อนผันให้โรงงานค่อยๆ ลดรับซื้ออ้อยเผาภายในปี 2565 คือใบเบิกทางให้มีการเผาอ้อยต่อไปดีๆ นี่เอง

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และยังเกี่ยวพันไปถึงชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และความเป็นธรรมของการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างโรงงานน้ำตาลกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และสิทธิที่จะใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีของทุกคน

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ เสนอมาตรการระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ การจัดสรรผลประโยชน์ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย รวมถึงนโยบายด้านอุตสาหกรรมเกษตรของรัฐบาล

เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับปอด ปาก และท้องของผู้คน

 

สำหรับคนที่อยู่กรุงเทพฯ เมื่อตื่นเช้าขึ้นมามองไปที่เส้นขอบฟ้า ก็จะเห็นภาพขมุกขมัว ที่อีสานหรือจังหวัดมหาสารคาม ทัศนียภาพเป็นอย่างไร

คล้ายฤดูหนาว เหมือนหมอกลงในฤดูหนาว นี่คือแถวสารคามแถวร้อยเอ็ดนะ แต่ไม่ใช่หมอกฤดูหนาว มันคือควันจากการเผา เห็นชัดเจนมาก บางพื้นที่ที่อยู่ใกล้พื้นที่การเผา ฟ้าจะมีสีเหลืองเลย แสงแดดสีเหลือง ท้องฟ้าที่อำเภอวิเชียรบุรี (จังหวัดเพชรบูรณ์) เป็นสีเหลืองเลย ไม่เห็นแสงอาทิตย์ อันนี้โหดมาก เผาหนักและต่อเนื่อง

ต่างประเทศเรียกเขม่าจากการเผาชีวมวลว่า ‘หิมะดำ’ หรือ black snow ประเทศไทยก็เกิดหิมะดำเต็มไปหมด ทุกพื้นที่ที่มีการเผาก็เกิดหิมะดำ ทั้งฝุ่นจิ๋ว PM ขนาดต่างๆ ที่จังหวัดมหาสารคามบางวันผมตื่นเช้ามาดื่มชาดื่มกาแฟ ก็จะมีเขม่าใบอ้อยที่เผาไหม้ไม่หมดปลิวมา คล้ายขนนกปลิวลงมา แต่ไม่ใช่ขนนกนะครับ มันคือเขม่าจากการเผาอ้อยอย่างชัดเจน

วงจรการผลิตอ้อยในแต่ละปีเป็นอย่างไร หิมะดำจะมาช่วงไหน

อ้อยจะมีอายุ 14 เดือน การปลูกอ้อย 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวได้ 2-3 รอบ รอบแรกก็คืออ้อยตอ 1 เมื่อตัดอ้อยเสร็จก็จะมีอ้อยตอ 2 ตัดอ้อยเสร็จ ก็จะมีอ้อยตอ 3 แต่บางที่ก็อาจจะได้แค่อ้อยตอ 2 คือตัดได้ 2-3 ครั้งต่อการปลูกอ้อย 1 ครั้ง การตัดอ้อยจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูเปิดหีบอ้อย คือปลายปีไปจนถึงต้นปี ก็คือช่วงนี้แหละ พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ เป็นช่วงเก็บเกี่ยวและมีการเผา ประจวบเหมาะพอดีกับสภาพอากาศที่หยุดนิ่ง มวลอากาศไม่เคลื่อนตัว มันก็เลยหนักในช่วงนี้

สารคามตอนนี้ไม่ถือว่าแย่นะ ปีที่แล้วมีบางช่วงที่คุณภาพของอากาศแย่เกินค่ามาตรฐานมาก พูดง่ายๆ ว่าเป็นจุดแดง แต่ช่วงเวลานี้ไม่ได้รุนแรงนะครับ แต่จังหวัดอื่นในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง และบางส่วนของอีสาน ก็มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน เมื่อสองวันก่อน (วันที่ 20 มกราคม) ตอนที่กรุงเทพฯ มีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ 160-170 บางจังหวัดทะลุ 200 นะครับ ที่สูงที่สุดอยู่ที่กำแพงเพชร รองลงมาที่กาญจนบุรี อันนั้นสูงที่สุดในประเทศ สูงกว่ากรุงเทพฯ อีก

ข่าวสารหรือมาตรการของภาครัฐดูเหมือนจะเอากรุงเทพฯ เป็นตัวตั้ง มันทำให้เรามองข้ามการแก้ปัญหาที่แท้จริงอย่างไร

ถ้าดูจากมาตรการ ก็เป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ระดับภูมิภาคอาจจะมีมาตรการเดียวที่เกี่ยวข้อง ก็คือการห้ามเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นการพูดที่กว้างมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคเป็นเรื่องการเผาพืชอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาอ้อย ซึ่งเกิดขึ้นในหลายจังหวัด เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เช่น สุพรรณบุรี ก็ยังเผากันไม่หยุด ที่สระแก้ว กาญจนบุรี เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ มีการเผาหนักมาก ทั้งหมดเป็นการเผาอ้อย ซึ่งจะบอกว่าเป็นการเผาในพื้นที่โล่งก็ได้ แต่เราก็ไม่ได้เห็นมาตรการอะไรที่รัฐนำมาใช้แก้ปัญหาการเผาพืชอุตสาหกรรม

พื้นที่ที่ผมพูดถึงมีการเผาอ้อยทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ การแก้ไขปัญหามันเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าไม่ได้มุ่งไปที่การปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ รัฐบาลผ่อนผันให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยเผาได้

สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ก็คือรัฐออกมาตรการห้ามเผาในที่โล่ง และมีการผ่อนผันให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยเผาไปถึงปี 2565 …

การผ่อนผันนี้ ผมเรียกมันว่าใบเบิกทางไปสู่การเผาอ้อย บางพื้นที่ข้าราชการระดับสูงอ้างว่า… พูดง่ายๆ ว่ารัฐบาลอนุญาตให้เผา ผมเห็นว่าตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก ความจริงแล้วการเผาอ้อยทำให้เกษตรกรเสียเปรียบนะครับ และโรงงานก็ไม่ได้ขาดทุน เพราะว่าโรงงานก็บอกว่าเครื่องจักรจะต้องทำงานหนักในกรณีที่เผาอ้อย เพราะต้องแยกสิ่งที่ปนเปื้อนจากการเผาออกไปด้วย ไม่เหมือนอ้อยที่ไม่เผา ซึ่งโรงงานก็หักเงินตรงนี้จากเกษตรกร แล้วหักส่วนนี้เยอะด้วย โรงงานไม่ได้เสียอะไรเลยนะครับ เคยมีรายงานจากกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรหลายปีมาแล้ว รายงานว่า คนที่ได้ประโยชน์จากการเผาอ้อยคือโรงงานน้ำตาล เกษตรกรเสียเปรียบฝ่ายเดียว

โรงงานจะรับซื้ออ้อยที่เผาในราคาที่ต่ำกว่าอ้อยที่ไม่เผา?

ต่ำกว่ามากเลยครับ ดิ่งเลยล่ะครับ

ตราบใดที่โรงงานรับซื้ออ้อยเผา มันก็นำไปสู่การเผา ถ้ารัฐบาลสั่งห้ามโรงงานรับซื้ออ้อยเผาอย่างเด็ดขาด มันก็ตัดไฟแต่ต้นลม ถ้าไม่มีคนซื้ออ้อยเผาใครจะเผาอ้อยครับ เกษตรกรก็ต้องดูแลไร่อ้อยของตัวเองอย่างดี นอกจากเกษตรกรจะไม่เผาเองแล้ว ต้องไม่ให้คนอื่นมาเผาของตัวเองด้วย ก็ต้องรักษาแปลงของตัวเองอย่างดี มันก็ง่ายนิดเดียวเอง แต่พออ้างว่าค่อยๆ ลดการรับซื้ออ้อยเผา ผมก็ไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติมันมีการตรวจสอบหรือเปล่าว่า โรงงานรับซื้ออ้อยเผาตามเปอร์เซ็นต์ที่ควบคุมให้ลดลงหรือเปล่า อันนี้เราก็ไม่รู้ได้ แต่ที่แน่ๆ พอมีการเผาแบบนี้ หน่วยงานอย่างจังหวัดจะลงไปจัดการได้อย่างไร จะไปห้ามเขาได้ยังไง เพราะรัฐบาลเขาผ่อนผันน่ะ มันก็จบน่ะสิครับ

ประเทศที่มีการผลิตน้ำตาลและปลูกอ้อย เขาจัดการหรือมีมาตรการอย่างไร

ในกรณีฟลอริดาที่มีการผลิตน้ำตาลจำนวนมาก โรงงานน้ำตาลต้องรับผิดชอบไร่อ้อยด้วย การเผาอ้อยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถ้าเกิดการเผาอ้อย โรงงานน้ำตาลจะถูกดำเนินคดีด้วย โรงงานน้ำตาลถูกนำตัวไปขึ้นศาล แต่บ้านเราการผลิตอ้อยอยู่ในระบบโควตา ซึ่งเป็นระบบเกษตรพันธสัญญาอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือการที่เราไปขายน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลก เสร็จแล้วก็ได้โควตามาว่าปีหน้าจะต้องส่งน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดโลกกี่ตัน รัฐบาลก็มาจัดสรรให้โรงงานต่างๆ ในแต่ละเขต โรงงานต่างๆ ในแต่ละเขตก็ได้โควตาไป ก็จะมีสมาคมชาวไร่อ้อยของเขตหรือจังหวัดที่จะจัดสรรโควตาที่ผลิตอ้อยให้เกษตรกร ก็จะมีโควตาใหญ่ โควตาย่อย ซึ่งระบบนี้ก็มีข้อจำกัด

การปลูกอ้อยแปลงใหญ่ เช่น ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก การปลูกอ้อยแปลงใหญ่จะขาดแคลนแรงงาน เมื่อขาดแคลนแรงงาน วิธีตัดอ้อยที่ง่ายที่สุดคือเผาอ้อย อย่างสุพรรณบุรีก็มีคนจากร้อยเอ็ดไปรับจ้างตัดอ้อย ตอนเย็นเผา ตื่นเช้ามาตัด จะทำให้ตัดได้รวดเร็วกว่าการไม่เผา ประหยัดแรงงานกว่า อีกส่วนหนึ่งก็คือเจ้าของไร่อ้อยไม่อยากจะใช้เครื่องจักร เพราะการใช้เครื่องจักรทำให้ดินแน่น อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง แล้วต้นทุนของเครื่องจักรมันก็สูงมากๆ

ในภาคอีสานเครื่องจักรไม่ต้องพูดถึง เพราะเกษตรกรไม่ได้มีพื้นที่ปลูกเยอะ ฉะนั้นเครื่องจักรมือสองราคา 5-6 ล้าน เกษตรกรไม่มีปัญญาซื้อหรอกครับ ฉะนั้นการเผาเป็นเรื่องที่เราผลักภาระไปที่ชาวไร่ ซึ่งชาวไร่อ้อยก็ตกเป็นจำเลย ซึ่งโรงงานน้ำตาลและสมาคมชาวไร่อ้อยระดับเขตหรือจังหวัดต้องรับผิดชอบด้วย เพราะรู้อยู่แล้วว่าอ้อยแปลงไหนเป็นของใคร ส่งเข้าโรงงานไหน แต่คนปลูกอ้อยเป็นจำเลยของสังคม ไม่เคยสาวไปถึงโรงงานน้ำตาล

อะไรคือปัญหาของระบบโควตาอย่างที่อาจารย์กล่าวข้างต้น

การปลูกอ้อยนั้นเกษตรกรต้องไปขึ้นทะเบียนกับสมาคมชาวไร่อ้อย ซึ่งจะได้โควตาการปลูกอ้อยมา ถ้าชาวไร่อ้อยรู้สึกว่าเขาแบกรับความเสี่ยง เขาจะไม่ขึ้นทะเบียน

ความเสี่ยงคืออะไร เกษตรกรต้องมีผลผลิตตามจำนวนที่กำหนดไว้ ถ้าทำไม่ได้ก็จะมีการปรับ สำหรับเกษตรกรที่รู้สึกว่าต้องแบกรับความเสี่ยงต่อจำนวนผลผลิตที่กำหนด เขาก็จะปลูกอ้อยเสรี พูดง่ายๆ ปลูกผิดกฎหมายนั่นแหละ แต่เกษตรกรเรียกให้ดูดีหน่อยว่าปลูกเสรี ซึ่งทำให้เขามีอำนาจในการต่อรองมากกว่า

เช่น ปีไหนเขาได้ผลผลิตเยอะ เขาก็จะมีอำนาจต่อรองสูง แทนที่จะขาย 800 บาทตามที่มีการประกาศรับซื้ออ้อย เขาก็สามารถต่อรองได้เป็น 1,000 กว่าบาทซึ่งมันสูงกว่าต้นทุนที่เขาลงทุน ซึ่งต้นทุนต่อไร่ตอนนี้ก็ 1,100 บาทนะครับ เขาก็ต้องขายให้ได้มากกว่านั้น ไปขาย 800 ก็ขาดทุน แล้วถ้าเขาไม่สามารถปลูกได้ตามโควตาที่กำหนดก็ถูกปรับอีก ฉะนั้นคนกลุ่มนี้ก็มีความเสี่ยงต่อการเผาอ้อยด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นมากในอีสาน เพราะในอีสานมีคนปลูกอ้อยเสรีเยอะ

อีกกรณีที่เป็นปัญหา ซึ่งเป็นวิธีการของกลุ่มทุน มันจะมีการแย่งอ้อยกัน แย่งอ้อยข้ามเขต เพราะโรงงานไม่มีอ้อยเพียงพอที่จะไปผลิตน้ำตาลตามโควตาที่ได้ พวกโควตาย่อยที่จะมีในหมู่บ้านก็รวมตัวกันไปเผาอ้อยของพวกปลูกอ้อยเสรี

รวมตัวกันไปเผา?

รวมตัวกันจ้างคนไปเผา (หัวเราะ) กาฬสินธุ์หรือขอนแก่นเจอปัญหาเผาอ้อยหนักเมื่อปีที่แล้วก็เกิดจากปัญหาการรวมหัวกันไปเผาอ้อยนี่แหละครับ เผาเพื่อบังคับให้ขายอ้อย อ้อยนี่…เผาแล้วถ้าคุณไม่ขายภายในวันสองวัน น้ำหนักของอ้อยจะลด แล้วก็จะขาดทุน เกษตรกรที่ปลูกอ้อยเสรีถ้าถูกลักลอบเผาอ้อย ราคาจาก 800 อาจจะเหลือ 350 ยังไงก็ต้องขาย จำใจขาย

อีกส่วนหนึ่ง การขายอ้อยตกเขียว อ้อยตกเขียวก็คือ กลุ่มที่ปลูกอ้อยเสรีเมื่อปลูกไปสัก 2 เดือนก็จะรู้ว่าอ้อยจะได้ผลผลิตดีหรือไม่ดี ถ้าได้ผลผลิตดีก็จะมีโควตามารับซื้ออ้อย เขาเรียกว่าขายอ้อยตกเขียว เขาจะได้เงินครบ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ต่อเมื่อคนที่ซื้ออ้อยตกเขียวไปมาตัดอ้อย เกษตรกรบางคนอยากได้เงินเร็ว แต่เขาไม่มาตัดอ้อยไปสักที ก็เผาไร่อ้อยตัวเอง เผาเพื่อที่จะให้คนที่ซื้ออ้อยตกเขียว มารีบตัดอ้อยของตัวเอง เพื่อจะได้ใช้เงิน

ปัญหาตรงนี้ มันเป็นปัญหาของ… ความจริงแล้ว พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ จัดสรรผลประโยชน์หรือการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อยไว้ที่สัดส่วน 30:70 โรงงานได้ 30 เกษตรกรได้ 70 แต่นี่คืออุดมคตินะครับ เพราะในความเป็นจริงเกษตรกรมีแต่ขาดทุน

ไม่ได้เลย?

ต้นทุน 1,100 ต่อไร่ ปีนี้ราคา 750 บาทต่อตัน มันจะได้อะไรล่ะครับ นึกออกใช่ไหมครับ ฉะนั้นการจัดสรรประโยชน์ เอาแค่การรับซื้อมันก็เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ราคาที่ขายได้ยังไม่คืนทุนเลยครับ เกษตรกรจะไปหวังตอ 2 ตอ 3 ซึ่งมันยากมากที่จะได้กำไร

ฟังจากที่อาจารย์เล่ามา เกษตรกรอยู่ในระบบการผลิตแบบโควตา นอกจากขาดทุนแล้ว ระบบการผลิตหรือระบบการขายอ้อยตามโควตาทำให้เขาต้องเผาอ้อย เป็นจำเลยของสังคม

ผมอยากแยกเป็น 2 ส่วนนะ ส่วนแรกคือส่วนที่เป็นแปลงขนาดใหญ่ เป็นนายทุนขนาดใหญ่ ส่วนนี้เขามีศักยภาพที่จะจัดการไร่อ้อยได้โดยไม่มีการเผา แต่เขาจะเลือกหรือไม่เลือกก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายย่อย เขามีความเสี่ยง เสี่ยงทั้งเรื่องของผลประโยชน์ที่ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย พูดง่ายๆ ตัวเลขสัดส่วน 30:70 พวกเขาไม่ได้ตามนี้ ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ มันมีขั้นตอนเยอะแยะเลยที่จะทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ คุณไปขายอ้อย ไม่ใช่ว่าจะได้เงินเลยนะ คุณได้เช็คมา ซึ่งเขาตีเช็คล่วงหน้า เกษตรกรต้องใช้เงินเลยใช่ไหม ธนาคารก็ไปรับซื้อเช็คหน้าโรงงานแล้วก็หักเงินมาจากเกษตรกร มันเป็นระบบแบบนี้ แล้วเกษตรกรจะโงหัวขึ้นได้ยังไง

การปลูกอ้อยเสรีทำให้เขามีช่องทางยังไง

พอปลูกอ้อยเสรี เขาสามารถต่อรองราคาได้ เขารู้ว่าบางปีโรงงานมีอ้อยไม่พอ เมื่อไม่พอ โรงงานก็ต้องหาอ้อยให้ได้ ก็ต้องมาขอซื้ออ้อยจากพวกปลูกอ้อยเสรี ซึ่งผู้ปลูกอ้อยเสรีก็จะสามารถต่อรองราคาได้ แทนที่จะขายตามราคาที่ประกาศ ก็ขายให้เกินทุนที่ลงทุนไปเพื่อให้ตัวเองได้กำไร สิ่งนี้สะท้อนว่าการจัดสรรผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลไม่ได้ให้เกษตรกรตามที่กฎหมายกำหนด หรือทำให้เกษตรกรอยู่ได้ คือถ้าเกษตรกรได้ 70 เปอร์เซ็นต์ตามที่กำหนด เกษตรกรก็อยู่ได้ใช่ไหมครับ แต่เราจะเห็นว่าชาวไร่อ้อยมีการประท้วงเกือบทุกปี แสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ล้มเหลว อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวที่มีกฎหมายกำหนดแบบนี้ แต่ก็ยังทำตามกำหนดไม่ได้เลย

ผู้ปลูกอ้อยเสรีจึงต้องเลือกเกมนี้?

ใช่

จากปัญหาการเผาอ้อยที่เบื้องต้นเรามองเห็นเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหากระทบสุขภาพ แต่ก็ดูเหมือนมันจะพัวพันกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย อาจารย์มีข้อเสนออะไรบ้าง

ผมมีมาตรการที่เสนอ 3 ระยะ

ระยะเร่งด่วน รัฐบาลต้องมีคำสั่งให้โรงงานไม่รับซื้ออ้อยเผา ไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลจะผ่อนผัน เพื่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม สามารถที่จะสั่งได้เลย อาจจะภายใน 7 วันหรือ 10 วัน ก็ทำได้ เพราะอ้อยเผาอาจจะยังมีเหลือในสต๊อก แต่หลังจากนั้นก็ห้ามรับซื้ออ้อยเผาเด็ดขาด มันก็จะลดการเผาทันทีเลย

และโรงงานต้องรับผิดชอบด้วย ตอนนี้โรงงานไม่ต้องรับผิดชอบอะไร รอรับซื้ออ้อยเผาอย่างเดียว โรงงานจะต้องทำงานกับสมาคมชาวไร่อ้อยทั้งระดับเขตและระดับจังหวัดที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการเผาอ้อย โรงงานก็ต้องจัดการในการหาเครื่องจักรที่จะทำให้การเผาอ้อยยุติลง เก็บเกี่ยวด้วยวิธีอื่น ซึ่งโรงงานต้องลงมาทำเรื่องนี้ ไม่ใช่ตัดตัวเองออกไป ผมเห็นโรงงานน้ำตาลทำแคมเปญติดป้ายหน้าโรงงาน ‘หยุดเผาอ้อย เพื่อลดฝุ่น PM2.5’ มันไม่มีทางแก้ปัญหาการเผาได้จากการติดป้าย ดังนั้นโรงงานน้ำตาลต้องลงมารับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย และต้องยึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีคือสิทธิมนุษยชนแบบหนึ่ง ถึงแม้รัฐบาลจะไม่บังคับให้หยุดรับซื้ออ้อย โรงงานน้ำตาลก็จะต้องเสียสละเรื่องนี้ ต้องยึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สมาคมชาวไร่อ้อยเอง ก็ต้องออกมาทำงานกับชาวไร่อ้อย 3 ฝ่ายนี้ต้องทำงานร่วมกันนะครับ

ที่ผ่านมารัฐบาลส่งเสริมการปลูกอ้อย ขยายพื้นที่การปลูกอ้อย ซึ่งตรงนี้ก็เห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้าส่งเสริมซึ่งเป็นการสร้างปัญหาใหม่ ภาคอีสานกำลังจะมีโรงงานน้ำตาลอีก 29 แห่ง โรงงานน้ำตาล 29 แห่งต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 5 ล้านไร่ โรงงานน้ำตาล 1 แห่ง ต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 3-4 แสนไร่ ผมเชื่อว่าต่อให้เลยพ้นปี 2565 ไปแล้ว การเผาอ้อยก็จะยังมีอยู่ ยังไม่สามารถแก้ได้ ถ้าไม่จัดการอย่างเป็นระบบ

นอกจากนั้น รัฐบาลต้องทบทวนอุตสาหกรรมที่ใช้พืชอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอ้อย ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นนโยบาย Bio Hub (โครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ) ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่จะใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบและไปต่อยอด ต้องระงับไว้ก่อนเลยจนกว่าจะแก้ปัญหาได้

มาตรการระยะกลาง ผมเสนอว่ารัฐบาลต้องลงมากำกับและจัดการให้การจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อยเป็นไปตามกฎหมาย คือชาวไร่อ้อยได้ 70 เปอร์เซ็นต์ โรงงานได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็หมายความว่า ชาวไร่อ้อยสามารถนำกำไรเหล่านี้เป็นทุนในการพัฒนาเทคนิคต่างๆ รวมทั้งซื้อเครื่องจักรมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ชาวไร่อ้อยก็ลืมตาอ้าปากได้ด้วย

ตอนนี้เราส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ไปดูชาวไร่อ้อยได้เลย น้อยมากที่จะรวย แม้แต่เกษตรกรที่มีโควตาบางคนยังเป็นหนี้

ส่วนมาตรการระยะยาว ผมคิดว่าปัญหาควันพิษในปัจจุบัน… ผมไม่ใช้คำว่า ‘หมอก’ แต่มันคือควันพิษ มันวิกฤติถึงขั้นเป็นภัยพิบัติแล้ว มีคนเจ็บป่วยจำนวนมาก อย่างที่วิเชียรบุรี เพชรบูรณ์ เกิดความเสียหายทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจการท่องเที่ยว การจะแก้ปัญหาภัยพิบัติแบบนี้ได้ จำเป็นที่จะต้องยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น ประเทศก็ต้องเปลี่ยนแปลงการผลิตแทนที่จะเน้นไปที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย เป็นพื้นที่จำนวนมหาศาล มันมีแต่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม การใช้สารเคมี รวมถึงการทำลายระบบนิเวศ การเผาเป็นแค่ติ่งหนึ่งเองนะครับ แต่การไปทำลายพื้นที่ที่เคยเป็นแปลงนาเปลี่ยนเป็นไร่อ้อย มันก่อให้เกิดภัยพิบัติ อุทกภัยด้วย การแก้ปัญหานี้มันต้องพูดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า ที่มาของฝุ่นในฤดูแล้งคือการเผาชีวมวล แต่รัฐกลับเน้นการจำกัดที่มาของมลพิษจากเครื่องยนต์ดีเซล ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ถ้าให้ผมวิจารณ์ตรงๆ รัฐบาลเอาใจทุน ตั้งแต่การขยายพื้นที่การปลูกอ้อยแล้ว ตามมาด้วยผ่อนผันให้โรงงานรับซื้ออ้อยได้ เป็นนโยบายที่เอาใจทุน ผมอยากให้กลับไปดูว่ามีบริษัทใดบ้างที่บริจาคโต๊ะจีนให้กับพรรคการเมืองหนึ่ง เป็นเงินโต๊ะละ 3 ล้าน ซึ่งมีทุนน้ำตาลอยู่ด้วย นี่คือสิ่งที่เรามองเห็นใช่ไหมครับ ส่วนความสัมพันธ์ที่ลึกกว่านั้น เราก็พูดถึงไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐาน

ใครนั่งเป็นประธานหรือกรรมการนโยบายด้านเกษตรที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผมคิดว่าตรงนี้รัฐเอื้อให้กับทุน แทนที่จะพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม พูดถึงสุขภาพของประชาชน พูดถึงการปกป้องสิทธิของประชาชน ผมขำไม่ออกที่นายกฯ อ้างว่า การที่รัฐบาลจะไปออกมาตรการห้ามกิจกรรมต่างๆ เป็นการไปละเมิดสิทธิมนุษยชน จริงๆ แล้วที่คุณทำอยู่คือการปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ตอนนี้โรงงานหลายแห่งกำลังทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อผลักดันให้โรงงานน้ำตาลเกิดขึ้น เช่น ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด บ้านไผ่ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ก็มีการเตรียมที่จะเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปยังสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม แต่ข้อสังเกตของผม การทำ EIA ของโรงงานเหล่านี้ ตามกฎหมายก็มีช่องโหว่ เพราะไม่ได้ประเมินพื้นที่การปลูกอ้อยเลย แต่ประเมินในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงานเท่านั้น นอกจากพื้นที่ปลูกอ้อยที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการเผาอ้อย จะมีการแย่งน้ำจากชาวนา ซึ่งจะทำให้เกิดภัยแล้งมากขึ้น ประเด็นเหล่านี้ไม่ปรากฏเป็นประเด็นในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเลย นโยบายของรัฐบาลนอกจากมีโรงงานน้ำตาลแล้วมันก็พ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วย นอกจากมลพิษจากการเผาอ้อย ยังมีมลพิษจากโรงงานน้ำตาล มลพิษจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งใช้ชานอ้อย บางพื้นที่ชานอ้อยไม่พอ เราก็เห็นโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้อย่างอื่นด้วย ต้นไม้ในไร่นาก็ถูกตัดไปเป็นเชื้อเพลิงหมด เวลาที่ชาวบ้านขาดแคลนเงิน ต้องการเงินสด ก็เกิดสภาพแบบนี้ ตัดไม้ในนาตัวเองไปขาย ซึ่งมันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

ผมอยากจะพูดอีกเรื่องหนึ่งให้ฟัง เนื่องจากการปลูกอ้อยเราใช้ระบบโควตาใช่ไหม ผู้ปลูกอ้อยเสรีก็จะขายอ้อยตกเขียว เวลาเขาจะขายอ้อยตกเขียว มันต้องไม่มีจอมปลวก ไม่มีต้นไม้ในไร่อ้อย ถ้ามีมันจะถูกหัก มี 3-4 ต้นอาจจะถูกหัก 1 ไร่ ซึ่งต้นไม้ที่เราเห็นในนาซึ่งยืนต้นมาแต่โบราณ มันก็ถูกตัดหมดครับ ไม่งั้นจะถูกหักพื้นที่

อีกนโยบายหนึ่งคือ Bio Hub ในอีสานมี 2 พื้นที่หลักๆ คือบ้านไผ่ซึ่งเชื่อมไปถึงร้อยเอ็ด สารคามด้วย ซึ่งก็คือการที่จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากพืชเกษตร ซึ่งหลักๆ ก็คืออ้อยนั่นเอง เอาไปทำอะไรบ้าง ไฟฟ้า พวกผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งต้องมีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งมันก็ควบคู่ไปกับจำนวนโรงงานน้ำตาลด้วย อีกพื้นที่เฟส 2 จะเกิดที่อุบล ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ อันนี้คือแผนของรัฐบาล

จินตนาการออกไหมครับ ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราจะได้เห็นอะไร

การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของพื้นที่ ผมคิดว่ามันจะเกิดภัยพิบัติค่อนข้างรุนแรง ไม่ใช่เรื่องอากาศอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องอุทกภัย แล้วก็ความแห้งแล้ง เพราะพื้นที่ที่จะไปปลูกอ้อยส่วนหนึ่งไปทับซ้อนพื้นที่ที่มีการปลูกข้าว พื้นที่ที่มีการปลูกข้าวก็จะมีคันนาคอยกักเก็บน้ำ ซึ่งคันนานี้แหละครับช่วยลดความรุนแรงของอุทกภัย

อ้อยไม่ใช่พืชทนแล้งอย่างโฆษณาที่บอกว่า แห้งแล้งให้ปลูกอ้อย…ไม่ใช่นะ อ้อยเป็นพืชใช้น้ำเยอะมาก มันก็จะแย่งชิงน้ำจากครัวเรือนที่ปกติหน้าแล้งจะเก็บน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค อย่างในทุ่งกุลาที่ยังไม่มีโรงงาน แต่มีการส่งเสริมการปลูกอ้อย ก็มีการเจาะบาดาล เอาน้ำบาดาลมาใช้ ตรงไหนไม่มีน้ำผลผลิตก็ไม่ได้ ก็ไปเจาะน้ำบาดาลมาใช้ หมู่บ้านในอีสานอย่างทุ่งกุลา บางหมู่บ้านใช้น้ำบาดาบล 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ใช้น้ำจากระบบประปา ฉะนั้นการแย่งชิงน้ำเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า