ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร: เผาบางกลอย-อุ้มบิลลี่ ตอบทุกคดีที่โลกต้องรู้ เมื่อแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

พลันที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของไทย ชื่อของบุคคลผู้นี้ก็ถูกถามถึงเป็นลำดับต้นๆ และเป็นที่หมายตามากที่สุดของบรรดาสำนักข่าวต่างๆ ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผืนป่าแห่งนี้ โดยเฉพาะวีรกรรมและข้อครหามากมายซึ่งยังเป็นที่แคลงใจ 

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ได้รับรางวัล ‘ข้าราชการพลเรือนดีเด่น’ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2554 ออกมาให้สัมภาษณ์เปิดใจกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยชัยวัฒน์ได้ร่วมพูดคุย ชี้แจง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทุกประเด็นร้อน ไม่ว่าจะเป็นกระแสการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวบ้านบางกลอย การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมถึงอัพเดตความคืบหน้าในคดีเผาไล่รื้อหมู่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง คดีอุ้มฆ่า ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ ที่ตัวเขาเองตกเป็นคู่กรณี และการเตรียมการฟ้องกลับทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ดูแลคดีปู่คออี้-บิลลี่

6 ปีแห่งความหมาย ณ ผืนป่าแก่งกระจาน

ชัยวัฒน์หวนย้อนเรื่องราวในอดีต สมัยที่ได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยพื้นเพชัยวัฒน์เป็นชาวอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ดังนั้น การได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติงานที่ผืนป่าแก่งกระจาน จึงเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจสำหรับเขา ชัยวัฒน์กล่าวว่า ตนนั้นมีความรู้ดีในเรื่องของผืนป่าแก่งกระจาน รวมถึงปัญหาต่างๆ อาทิ การลักลอบฆ่าสัตว์ การตัดทำลายต้นไม้ การบุกรุกพื้นที่ ฯลฯ 

ระหว่างปี 2551-2557 หรือระยะเวลา 6 ปี ที่ชัยวัฒน์ได้ทำหน้าที่ดูแลผืนป่าแห่งนี้ นับว่าเป็น 1 ใน 5 ของชีวิตราชการ 30 ปีของเขาเลยก็ว่าได้ ชัยวัฒน์กล่าวว่า ระยะเวลา 6 ปีในผืนป่าแก่งกระจานเป็น 6 ปีที่ทำงานมากกว่าตลอดชีวิตราชการ เนื่องจากมีเรื่องราว ความทรงจำ และประสบการณ์มากมายที่นั่น และหากเปรียบเทียบประสบการณ์นี้เป็นตำรา อาจเรียกได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ ณ ผืนป่าแก่งกระจาน เป็นตำราเล่มสำคัญของชัยวัฒน์เลยก็ว่าได้ 

“6 ปีในแก่งกระจาน ผมคิดว่า ผมทำมากกว่า 30 ปีของชีวิตราชการของผมเลยนะ 6 ปีที่มีเรื่องราว มีประสบการณ์ และได้ทำประโยชน์ต่อแผ่นดิน ผมมั่นใจว่า ผมได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตราชการที่นั่น แล้วก็ได้สร้างอุดมการณ์เรื่องการพิทักษ์ป่าให้กับเจ้าหน้าที่ สร้างแรงบันดาลใจ อุดมการณ์ จิตสำนึกต่างๆ ผมทำให้กรมอุทยานและผู้พิทักษ์ป่าทั่วประเทศได้รู้ถึงปัญหาการลาดตระเวน การเดินป่า

“ชาวบ้านหมู่บ้านบางกลอยนั้นอยู่อย่างสงบ เมื่อก่อนแม้แต่ท่อน้ำก็ไม่สามารถเข้าได้ ถนนก็ไม่พัฒนา แต่ผมได้พัฒนาหมู่บ้าน ผมเข้าไปสร้างสิ่งต่างๆ ผมอยากให้เขาเจริญ สะพานแขวน ผมก็เป็นคนอนุมัติเอง โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถนน โซลาร์เซลล์ เกิดขึ้นในช่วงของผมทั้งหมด ผมเป็นคนอนุญาตให้ดำเนินการ การจัดการที่ดิน การทำนาขั้นบันได ผมเป็นคนทำทั้งหมด ก่อนหน้านั้นไม่มีอะไรเลย ไม่มีการพัฒนา และไม่มีการอนุญาตการก่อสร้าง ผมอนุญาตเป็นคนแรก ผมเป็นคนทำคนแรกด้วยซ้ำ”

เมื่อแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติ

แก่งกระจานได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524 ซึ่งถือได้ว่าเป็นอุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีพื้นที่ถึง 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.8 ล้านไร่ นับตั้งแต่มีการประกาศก็มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านบางกลอย และมีการส่งเสริมให้ราษฎรสามารถดำรงชีวิตอยู่กับผืนป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

ชัยวัฒน์บอกเล่าเรื่องราวเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จเยือนที่เขื่อนแก่งกระจาน ได้รับสั่งให้ นายถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ในสมัยนั้น เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 และได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า “เรื่องป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษา อย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้ เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น” จากพระราชดำรัสดังกล่าว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี แก่งกระจานจึงได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

เปิดปมขัดแย้ง ‘บ้านบางกลอย’

ชัยวัฒน์ระบุว่า เมื่อปี 2535 มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มติดอาวุธ ที่บริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ในขณะที่บริเวณหมู่บ้านสาละวิน แถวชายแดนพม่า ก็มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่เช่นกัน เวลานั้นมีการส่งเจ้าหน้าที่ไป 9 คน เนื่องจากมีการปะทะกันรุนแรง จึงมีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 คน เหลือรอดกลับมา 4 คน หลังจากนั้นก็มีปัญหาเรื่องกองกำลังติดอาวุธและชนกลุ่มน้อยมาโดยตลอด หน่วยงานด้านความมั่นคงก็มีการเข้ามาดูแลและจัดการผืนป่าอย่างให้ความเป็นธรรม 

“คนที่อยู่ในป่านั้นมีทั้งอยู่อย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งหมด เพราะว่ากลุ่มชาติพันธ์ุที่อยู่อย่างถูกต้อง เขาก็อยู่อย่างสันติและเป็นตัวตนของเขาอยู่แล้ว แต่ก็มีคนที่อพยพย้ายถิ่นข้ามไปข้ามมา ถ้าประเทศพม่าสงบ เขาก็กลับไปฝั่งนู้น ถ้าประเทศพม่าสู้รบกัน ก็กลับมาฝั่งเรา หลังๆ คนกลุ่มพวกนี้ก็มาบุกรุกป่าแก่งกระจาน มาล่าสัตว์ป่า และสิ่งที่เราพบก็คือ ปัญหายาเสพติด

“ผมเข้ามาทำงานปี 2551 ผมรู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์เขาอยู่กันอย่างสงบ ไม่มีปัญหา คนที่มีปัญหาคือ คนที่อพยพข้ามไปข้ามมา คนที่ไม่มีสัญชาติไทย พูดง่ายๆ คือคนของประเทศเพื่อนบ้านที่ย้ายเข้ามาล่าสัตว์บ้าง หรือบุกรุกที่ดินทำกินผิดกฎหมายบ้าง ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาว มีคนเพิ่มขึ้นประมาณพันคน จึงมีการตรวจสอบ และพบว่าเป็นประชากรผิดกฎหมาย มีการล่าสัตว์ป่า ปลูกพืชยาเสพติด โซนนั้นแทบจะไม่มีสัตว์ป่าเหลืออยู่เลย แถวใจแผ่นดิน สัตว์ป่าก็เริ่มจะหมดลง”

ชัยวัฒน์กล่าวว่า กลุ่มคนจากประเทศเพื่อนบ้านมักล่าสัตว์ และเอาไปขายเพื่อแลกเอาเงินมาทำบัตรประชาชน 

“คนที่อยู่ดั้งเดิมไม่ใช่คนที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย คนที่อยู่บางกลอยไม่ใช่คนที่ทำความผิด ผมก็ไม่ค่อยอยากพูดหรอก เพราะไม่ได้อยากมาแก้ตัวตลอด มีข่าวอะไรก็ต้องออกมาแก้ตัว จริงๆ คนบางกลอยแต่เดิมมีประชากร 391 คน แล้วก็มีเพิ่มเติมเข้ามา สมัยที่ผมอยู่ ผมรับได้ที่ 1,039 คน แล้วผมผลักดันให้เขาได้บัตรประชาชน เพราะถ้าเขามาอยู่แล้วไม่มีสัญชาติ เขาไม่สามารถครอบครองที่ดินของรัฐได้ ชาวบางกลอยต้องอยู่อย่างถูกกฎหมายและได้รับที่ดินอย่างที่เขาควรจะได้สิทธิ”

ปัญหาประชากรแฝง และกระบวนการค้ามนุษย์

เมื่อปฏิบัติหน้าที่ไประยะหนึ่ง ชัยวัฒน์เริ่มรับรู้ถึงปัญหาเรื่อง ‘ประชากรแฝง’ หรือบุคคลที่เข้ามาอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายและเข้ามาลักลอบล่าสัตว์ ชัยวัฒน์กล่าวว่า กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการทำบัตรประชาชนเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธ์ุบางกลอย และเป็นที่มาของปัญหา โดยในมุมมองของชัยวัฒน์การกระทำเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘การค้ามนุษย์’

“ปัญหาที่บางกลอยคือ เรื่องของประชากรแฝง คนที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย เข้ามาล่าสัตว์ คนที่อยากมาทำบัตรกลุ่มชาติพันธ์ุบางกลอย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ย้ายจากฝั่งพม่ามาอยู่หมู่บ้านนี้ เป็นที่มาของปัญหาเริ่มต้น ทุกคนต้องจ่ายเงินตั้งแต่เข้ามา และมีการติดต่อกับหัวหน้ากลุ่มชาติพันธุ์ พูดเลยว่า มันคือการค้ามนุษย์ 

“ทุกคนเสพข่าวที่มันบิดเบือน ข่าวเท็จ จริงๆ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดการให้ประชากรอยู่กับป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเขาอยู่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายจะคุ้มครองเขา การที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ใช้กฎหมายไทย ก็ต้องมีสัญชาติไทย ตอนแรกชาวบางกลอยมี 391 คน ตอนผมไปอยู่ ตกอยู่ประมาณ 1,400 คน ในช่วง 10 ปี จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมาพันคน แต่พอไปสำรวจสำมะโนครัวของอำเภอ ตัวเลขมันเป็น 3,000 กว่า มันคนละเรื่องคนละราว พอตรวจสอบจะพบว่า มันมีการย้ายเข้ามาแบบผิดกฎหมาย”

ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างกรณี นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ชัยวัฒน์บอกเล่าว่าตนเคยได้ไปพูดคุยและขอดูสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งพอดูแล้วพบว่ามีสมาชิก 7 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบทะเบียนราษฎร์ที่อำเภอพบว่า มีคนเข้ามาสวมชื่อในบ้านของเขาถึง 14 คน สรุปคือมีสมาชิกรวมทั้งหมด 21 คน ชัยวัฒน์ระบุ พร้อมยืนยันว่าตนมีหลักฐาน

จุดเริ่มต้นของ ‘ความผิดพลาด’ อดีตที่ไม่อาจย้อนกลับ

ชัยวัฒน์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ บ้านโป่งลึกและบางกลอย ซึ่งเป็นหมู่บ้าน มีสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินที่ภาครัฐจัดสรรให้ ผู้คนจึงมักย้ายมาอยู่บริเวณนี้ ส่วนบริเวณใจแผ่นดิน คือส่วนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และในปี 2552-2553 ตนได้เข้าไปเจรจากับผู้คนในหมู่บ้านแต่ละหลัง 

“ปี 2552-2553 ผมเข้าไปเจรจากับบ้านแต่ละหลัง เข้าไปคุยทุกคน ที่ผมเข้าไปเจรจาก็เพราะว่าเป็นคนฝั่งโน้นทั้งหมด ผมก็บอกว่า คุณมาโค่นป่าผมขนาดนี้ได้ยังไง เขาก็บอกว่าเขามีปัญหาถูกผลักดันมาจากฝั่งโน้น ในขณะเดียวกัน ถ้าจะจับกุมก็มีปัญหา จะเอามายังไง ชนกลุ่มนั้นมันติดอาวุธทั้งหมด 

“จนถึงปลายปี 2553 เราพบว่า ข้าวที่เขาเคยขอผมไปปลูกตอนนั้น ถ้าเราไปไล่เขาออก เขาก็จะขยับไปที่เขาลูกอื่น เขาก็ต้องไปโค่นต้นไม้อีกที่หนึ่ง เราก็ต้องเสียป่าและต้นไม้ไปอีก ตอนนั้นเราเลยคิดว่า ปลูกก็ปลูก ด้วยความใจดีของเรา ปี 2552-2553 ผมไม่เคยดำเนินคดีกับใคร ผมไม่เคยจับกลุ่มชาติพันธ์ุแม้สักคนเดียว ผมไม่เคยจับคดีบุกรุกป่าเลย ผมจับแค่คดีอาวุธปืนกับคดีล่าสัตว์

“จุด 14 แผลเป็นที่มีการบุกรุก หลังจากที่ผมเอาข้าวไปแจก เอาของไปให้ หลังจากนั้นมันก็ลุกลามออกไป กลายเป็นแผลเป็นกว่า 70 แผล ลูกน้องที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เขาก็บอกว่าหัวหน้าใจดี เห็นแล้วก็ไม่จับ แล้วยังเอาของไปแจกอีก อันนี้เป็นจุดแรกที่ผมทำผิดพลาด แต่ตอนนั้นเรารู้ว่าทำแบบนี้มันก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเราคิดว่าถ้าคุยแล้วเข้าใจในสิ่งที่เรามา ในความที่เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน เราก็สื่อสารกัน แต่ปรากฏว่าพอเขาเกี่ยวข้าวเสร็จ เขาก็ข้ามภูเขา แล้วก็บุกรุกเพิ่มขึ้น เป็นแผลเป็นมากขึ้น ผมเลยบอกว่าที่ผมผิดก็เพราะผมไม่จับกุมตั้งแต่แรก

“ผมรู้สึกผิดจริงๆ ผมไม่ได้ประชด ผมเป็นลูกผู้ชาย ผมไม่กระแนะกระแหนใคร แต่ผมรู้สึกว่า ถ้าวันนั้นผมจับกุมโดยใช้กฎหมายแต่แรก ก็คงไม่เกิดปัญหาลุกลามขนาดนี้ แต่มันก็จะมีปัญหาเรื่องอื่น อาจมีการปะทะกัน อาจจะมีการดักยิงเจ้าหน้าที่ ผมก็เลยมาคิดว่ามันคุ้มกับตรงนั้นไหม

“อีกประเด็นหนึ่งที่เลือกจะไม่จับก็คือ เรามีทีมงานน้อย เราไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปไล่จับ เราไม่มีกำลัง ไม่มีอาวุธพร้อม แล้วตอนนั้นเชื่อว่าใช้จิตวิทยาคุยได้ ก็น้อมนำพระราชดำริว่าคุณอยู่กับป่าได้ ถ้าลงมาทำมาหากินข้างล่าง เราจะจัดสรรที่ทำกินให้ หางานให้ทำ แต่เขาก็ขอกลับไปฝั่งโน้นอีก เพราะญาติพี่น้องเขาอยู่ฝั่งโน้น พอเกี่ยวข้าวเสร็จ เขาก็กลับมาใหม่”

นอกจากนี้ ในปลายปี 2553 ชัยวัฒน์พบว่า ข้าวที่ชาวบ้านปลูกมีต้นกัญชาปะปนอยู่ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นประเด็นที่ไม่สามารถยอมได้ 

“ปลายปี 2553 เราพบว่า ข้าวที่ปลูกมีต้นกัญชาแซมอยู่ เท่านั้นแหละ มันเป็นประเด็นที่ผมยอมไม่ได้ จากนี้ต่อไปผมจะจับกุมทั้งหมด ในตอนยุทธการครั้งที่ 4 ผมก็เข้าไปเจรจาชุดแรก แล้วก็รื้อถอน ส่วนใหญ่ไม่เหลือแล้ว ไม่มีใครอยู่แล้ว มันเป็นเพิงร้าง เจ้าหน้าที่เข้าไปดูก็เห็นพ้องต้องกันว่า เป็นแปลงกัญชาหรือเพิงตากกัญชา ต้องรื้อทำลาย ส่วนที่เป็นของกลาง เป็นอาวุธปืน ก็ต้องเอามาดำเนินคดีต่อไป”

กรณีเผาบ้านปู่คออี้-อุ้มฆ่าบิลลี่

ชัยวัฒน์ระบุว่า การกล่าวหาว่าตนเป็นผู้เผาบ้านปู่คออี้ เป็นเรื่อง ‘ไร้สาระ’ จนเป็นเหตุให้ตนถูกไล่ออกจากราชการ ดังนั้น ชัยวัฒน์จึงเตรียมการดำเนินคดีกับ วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ดูแลคดีและได้รับมอบอำนาจจากปู่คออี้

“เหตุเกิดปี 2554 เขาไปฟ้องศาลปกครองปี 2555 คดีแรกที่เขาฟ้องผมคือ คดีของ นอแอ๊ะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ เหตุเกิดวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 หลังจากนั้นวราภรณ์ก็พานอแอ๊ะไปฟ้องคดีแพ่ง ประมาณปี 2555 ไปขึ้นศาลก็รู้สึกงงๆ ศาลถามว่านอแอ๊ะมาไหม ทนายความบอกว่าไม่ได้มา ทนายความเป็นผู้รับมอบอำนาจ แต่กระทรวงกับเจ้าหน้าที่อุทยานมาหมด เขาเรียกค่าเสียหาย 2.6 ล้านบาท โดยอ้างว่า ผมเป็นคนไปเผาบ้านนอแอ๊ะ ศาลก็ถามว่า ถ้าจะชดใช้ ผู้แทนสภาทนายความคนนี้จะทำยังไง เขาตอบยังไงรู้ไหม เขาตอบว่าเงินไม่ได้ไปเยียวยาคุณนอแอ๊ะ แต่จะเอาเข้าสภาทนายความ เขาตอบศาลอย่างนี้” ชัยวัฒน์กล่าวพร้อมกับถามถึงความเป็นธรรมที่จะให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับเงินเยียวยา 

“ส่วนคดีต่อมาที่มีปู่คออี้กับพวกอีก 6 คน ก็มีการอ้างว่าผมเป็นคนไปเผาบ้านปู่คออี้ เหตุเกิดวันที่ 5 พฤษภาคม 2554 แต่เขาไปแจ้งความ 19 ตุลาคม 2558 เกือบ 4 ปีครึ่ง คำให้การคือ ผมไปออกคำสั่งให้เขาเผา แล้วอยู่ในขบวนการนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปรับ-ไปส่ง ตอนแรกเขาฟ้องกระทรวงทรัพยากรฯ เขาไม่ได้ฟ้องผมนะ แต่พอศาลสูงสุดบอกว่าให้ชดใช้ค่าละเมิดและบอกว่าชัยวัฒน์อยู่ในเหตุการณ์ เขาก็เขียนฟ้องผม

“ผมขอเรียนว่า คุณไม่ใช่ผู้ชกในศาลปกครองตั้งแต่แรก ผมก็ไม่เคยไปแก้ต่างหรือแก้ตัว วันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 ผมดำเนินการอยู่ทั้งหมด 7 จุด ถ้าย้อนไป 1 ปี หรือในปี 2553 ในเดือนเมษายน ผมไปเจรจา 7 จุดนั้น ครั้งที่ 4 คือ 5-9 พฤษภาคม และคุณวราภรณ์ก็ได้สร้างตัวละครขึ้นมา คือปู่คออี้กับพวกอีก 6 นอแอ๊ะอีกหนึ่ง เป็น 7 ให้ไปสอดคล้องกับ 7 จุดที่เราดำเนินการในครั้งนั้น 

“วันนี้ผมจะฟ้องทีละคน แล้วก็จะเปิดหน้าทีละคน เพราะในวันที่เกิดเหตุ ผมนั่งอยู่ที่ศูนย์อำนวยการ วันที่ 5 ยุทธการเสร็จปั๊บ วันที่ 6 ผมไปนอนอยู่ที่ชายแดน วันที่ 7 เช้า ลูกสาวของปู่คออี้มาคุกเข่า คุกเข่าข้างๆ ผม บอกว่า หัวหน้าไปรับปู่ให้หน่อย ปู่ไม่สบาย จะเอาปู่มารักษา ปู่อย่างนู้นอย่างนี้ ผมบอกว่าอย่ามายุ่งกับผม เพราะมันเป็นยุทธการ คุณอย่ามายุ่ง ผมก็ไล่เขากลับไปนะ เขาก็มารอบสอง แล้วอ้างใหม่ว่าปู่ตาเสีย จะเอาปู่ไปรักษาตา ผมเรียนว่าสมัยนั้น ผมไม่รู้จักปู่คออี้เลย พูดถึงตำนานอะไรต่างๆ ผมไม่รู้จักแกหรอก 

“ผมก็บอกว่าไปหาผู้ใหญ่บ้านมา ผมก็ให้คนไปรับปู่คออี้มารักษา แต่ในการบรรยายกลับบอกว่า นายชัยวัฒน์ได้วางแผนหลอกล่อให้ปู่คออี้ออกจากบ้าน แล้วเผาบ้าน ในคำให้การ คุณสร้างสตอรี่ขนาดนี้เลยเหรอ”

นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ยังเล่าว่า “ปู่คออี้กับพวก 6 คน โดย 3 ใน 6 คน ได้กลับมาให้การใหม่ และให้สัมภาษณ์ใหม่กับนักข่าวว่า บ้านเขาถูกเผา แต่เขาไม่เห็นหรอกนะ เขาก็ไม่ได้ไป เขาไม่เคยขึ้นไปดูหรอก แต่มีคนมาบอกว่าบ้านถูกเผา แต่ก่อนที่บ้านจะถูกเผา เดือนตุลาคมเขาขึ้นไปเกี่ยวข้าว เขาบอกว่าหลังเกี่ยวข้าว 1 เดือน บ้านก็ถูกเผา แสดงว่าเป็นเดือนพฤศจิกายนถูกไหม ตอนนั้นที่คุณไปแจ้งความผม ที่บอกว่าผมไปเผาเดือนพฤษภาคมปี 2554 ตอนนั้นบ้านคุณยังไม่ถูกเผาเลย บ้านยังอยู่อยู่เลย 3 คนให้การเหมือนกันว่าบ้านเขาถูกเผาเดือนตุลาคมปี 2554

“ตอนที่ไปจับนอแอ๊ะ พร้อมกับของกลางปืน 8 กระบอก ก็พบว่าอยู่บ้านหลังเดียวกับปู่คออี้ และลูกๆ หลานๆ ราว 13 คน แต่ตอนฟ้องกลับแยกเป็นสองหลัง ทั้งๆ ที่อยู่หลังเดียวกัน แต่พอตรวจสอบ พบว่าบ้านปู่คออี้ไม่ได้อยู่ที่บางกลอยบน แต่อยู่ที่ห้วยสามแพร่งมาตลอด มีหลักฐานชัดเจน ตลอด 6 ปี ปู่คออี้ไม่เคยอยู่ที่บางกลอยบนหรือใจแผ่นดินเลย”

ชัยวัฒน์ยืนยันว่า ภาพที่เห็นว่าบ้านถูกเผา แท้จริงแล้วเป็นแปลงกัญชาและเพิงพักที่เอาไว้ตากกัญชา ไม่ใช่บ้านของปู่คออี้แต่อย่างใด ดังนั้น ตนจึงได้ตัดสินใจดำเนินการไล่ฟ้อง วราภรณ์ อุทัยรังษี ผู้เป็นทนายความผู้ดูแลคดีปู่คออี้-บิลลี่ พร้อมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งชัยวัฒน์ยังระบุว่า ชาวบางกลอยรู้ดีว่าเหตุการณ์เป็นเช่นไร “ทุกวันนี้เราฟังเสียงคนบางกลอยเพียงแค่หยิบมือ ที่มีปัญหาคือ 10-20 คนเอง ที่เหลือเป็นคนข้างนอกมากกว่า แต่คนบางกลอยส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา”

นอกจากนี้ ชัยวัฒน์กล่าวว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนไม่เคยขึ้นไปดูบริเวณใจแผ่นดินจริงๆ เนื่องจากไม่มีผู้ใดต้องการเห็นพื้นที่และสภาพความเป็นจริงที่อ้างว่าเป็นการทำไร่หมุนเวียน พร้อมกับตักเตือนนักวิชาการที่ออกมาพูดว่า กลุ่มคนเหล่านี้อยู่มาก่อน หรืออ้างว่าศาลบอกว่าที่นั่นเป็นชุมชนดั้งเดิม “ผมเรียนว่า ไปอ่านคำสั่งศาลให้จบก่อนนะ ศาลพูดถึงบุคคลทั้ง 6 ว่าเป็นผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ” 

เมื่อถูกถามถึงคดีบิลลี่ ชัยวัฒน์ชี้แจงว่า คดีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ และศาลยังไม่ฟ้องตัวเขา ตอนนี้คดีอยู่ที่อัยการสูงสุด “ผมไม่อยากจะเล่าเรื่องนี้ ขอให้อยู่ในกลไกของชั้นอัยการสูงสุด” 

นอกจากนี้ชัยวัฒน์ยังแสดงความเห็นถึงเหตุการณ์อุ้มฆ่าบิลลี่ไว้ว่า “ถ้าคุณฟังโดยใช้วิจารณญาณ บุคคลที่ทำได้อย่างนั้นก็ชั่วพอสมควร คนที่อ้างและเขียนว่าไปเผา แล้วเสียบเหล็ก อยู่ในถังแล้วก็เผาอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ผมว่าคนที่เขียนเรื่องนี้ก็ชั่ว คนทำก็ชั่ว” 

แก่งกระจานสู่การเป็น ‘มรดกโลก’ 

“ผมคิดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ควรจะดีใจมากที่สุด การที่ยูเนสโกประกาศให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก อำนาจหน้าที่ หรือการที่คุณจะร้องเรียนกับใคร คุณทำได้เต็มที่เลย เพราะว่ามันมีคนต่างชาติเข้ามาให้ความสนใจคุณเต็มที่แล้ว คนที่ควรดีใจมากที่สุดคือ กลุ่มชาติพันธ์ุหรือชาวบ้านหมู่บ้านบางกลอยที่อยู่ในพื้นที่ป่า พวกเขาควรจะดีใจมากกว่าผม ถ้าไม่มีพื้นที่ป่า ไม่มีสัตว์ป่า ผมว่ามรดกโลกก็ไม่มีค่า ถ้าป่าถูกบุกรุกทุกวัน สัตว์ป่ามันตายทุกวัน ถูกล่าทุกวัน ไม่มีการคุ้มครองจากผู้พิทักษ์ป่า มันก็ไม่ได้ 

“การประกาศเป็นมรดกโลกของแก่งกระจาน มันแสดงให้เห็นว่าแก่งกระจานมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผมว่ากลุ่มชาติพันธุ์ เขาต้องดีใจมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะเขาจะอยู่โดยมีคนคุ้มครอง จะมียูเอ็นมาดู จะมียูเนสโกมาดู ใครจะมารังแกคุณ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กฎหมายโดยมิชอบ เจ้าหน้าที่โดนแน่” 

ชัยวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันหมู่บ้านบางกลอยมีการพัฒนาในเรื่องต่างๆ ผู้คนมีโทรศัพท์ใช้ สามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกได้ นอกจากนี้ชัยวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า ยังมีชาวบ้านบางกลอยอีกจำนวนมากที่รักเขา แต่ก็มีคนเกลียดเช่นกัน “คนรักผมก็เยอะ คนเกลียดผมก็มี แต่ในอัตราส่วนผมคิดว่ามีคนรักผมมากกว่าคนเกลียดผม ข้อความที่กระจายข่าวออกไปมันเป็นของคนข้างนอก”

ชัยวัฒน์กล่าวถึงจุดยืนของตน โดยระบุว่า วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงควรจะธำรงไว้ และรู้สึกเสียดายที่วิถีชีวิตของชาวบ้านบางกลอยได้เปลี่ยนไป “ผมเสียดายมากกว่า ผมเคยคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ผมคิดว่าวิถีชีวิตของชาวกะหร่างควรจะรักษาไว้ด้วยซ้ำ ผมเคยมีปัญหากับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เขาจะพัฒนาหมู่บ้านนี้ จะสร้างให้เป็นบ้านอย่างดี บ้านคอนกรีตที่ถาวร ผมบอกไม่ได้ ผมไม่อนุญาต ผมอยากให้สร้างบ้านดิน 1 หลัง แล้วก็สร้างบ้านของวิถีกะเหรี่ยง 1 หลัง แล้วทำการท่องเที่ยว คนที่ไปเที่ยวก็ไปอยู่ที่บ้านดิน มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ส่วนบ้านกะเหรี่ยงให้เป็นวิถีชีวิต แล้วก็มีศูนย์วัฒนธรรม

“วันหนึ่งผมเดินดูแถวชายแดน ผมเจอพ่อแม่และลูก 4 คนเดินตามกันไป เขาก็ใช้สมุนไพรในป่า หากินในป่า แล้วก็ตัดไม้ไผ่มาสร้างบ้าน ถ้าถามว่าคนปัจจุบันหรือตัวผมเอง ผมยังทำไม่ได้เลย วิถีชีวิตแบบนี้มันเกิดได้จากคนที่อยู่ในป่าเท่านั้น ผมอนุญาตให้เขาหาปลาได้ แต่ต้องอยู่ในวิถีชีวิต ไม่ใช่หาแล้วเอาไปขาย ถ้าหาแล้วกินเพื่ออยู่ อันนี้ผมให้”

ชัยวัฒน์ยังปฏิเสธคำกล่าวที่ว่า นโยบายของรัฐไทยและกรมอุทยานคือการขับไล่ผู้คนออกจากป่า เนื่องจากแนวทางของกระทรวงทรัพยากรฯ มองว่าประชาชนไทยต้องมีสิทธิหรือมีที่ดินทำกินในป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2561 ว่า “ผมมีความสุขมากที่มีกฎหมายตัวนี้ออกมา และให้ราษฎรที่อยู่ในป่ามีสิทธิทำกินในป่า ผมเองเป็นคนที่ผลักดันแล้วก็ช่วยในเรื่องนี้มาโดยตลอด การแก้กฎหมายตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุด”

นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ได้กล่าวถึงกรณีแผนที่ทหาร และข้อถกเถียงเรื่องถิ่นฐานคนบางกลอยที่อยู่กันมาเนิ่นนานก่อนจะมีการประกาศเขตอุทยาน โดยให้ความเห็นว่า “เวลาขึ้นศาล ศาลจะดูว่าแผนที่นี้คุณได้มาถูกกฎหมายหรือไม่ หรือถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะฉะนั้นมันอาจจะเป็นใครพิมพ์ก็ได้ แล้วก็อ้างว่าได้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่สมัย ร.5 ผมไม่เคยเห็นแผนที่ทหารที่ว่าหรอกครับ มันอาจจะเป็นที่หมายของทหารเท่านั้นเอง ว่ามีใจแผ่นดิน บางกลอยบน ห้วยสามแพร่ง เนินพันร้อย เอาอย่างนี้แล้วกัน ผมเป็นคนกำหนดเนินพันร้อย เพราะว่าอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลพันร้อย ทุกคนจะได้ไปถูก ต่อไปก็จะเป็นคำบอกเล่า เป็นตำนานต่อไป ส่วนเรื่องแผนที่ คนที่จะตอบได้คือศาล”

เตรียมฟ้องนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

“คุณวุฒิ บุญเลิศ (นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง) ผมฟ้องหลายคดี น่าจะเป็นคดีที่เขาไปแชร์ข้อมูลว่าผมไปทุจริตอะไรสักอย่าง ผมก็เลยฟ้อง แต่ศาลเห็นว่าข้อมูลผมไม่พอ ศาลก็เลยยกฟ้อง แต่ถ้าผมเจออะไร ผมก็ฟ้องใหม่อยู่แล้ว ถ้าผมฟ้องไปแล้วเขาไม่ผิดจริง เขาก็มีสิทธิฟ้องผมกลับ

“ผมไม่รู้จัก วุฒิ บุญเลิศ หรอก แต่เขาเป็นคนกระจายข่าวลือของผม ไม่ว่าจะเป็นคดีต่างๆ เขาจะเป็นคนแชร์ ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะเกี่ยวข้องกับคนที่มาทำบัตรในหมู่บ้านบางกลอยหรือเปล่า ผมหาหลักฐานอยู่ ฝากบอกเขาด้วยแล้วกัน ถ้าท่านดูไลฟ์นี้อยู่ รอผมหาเจอก่อน ถ้าผมหาเจอ อาจารย์วุฒิก็คงไม่รอด

“ผมไม่ค่อยเจอ คุณวุฒิ บุญเลิศ ด้วยซ้ำ เวลาเขาพูดในเวทีต่างๆ เขาจะมีเรื่องพาดพิงถึงผม แต่ที่ต้องฟ้องเพราะมันมีหลักฐานจริงๆ อย่างที่ผมบอก เพราะว่าการย้ายคนเข้ามา มันย้ายโดยมิชอบ คนที่มาจากที่อื่นและไม่ใช่คนบางกลอย แล้วบอกว่าที่ดินทำกินไม่พอ มีการย้ายเข้ามาเยอะนะ แล้วก็อ้างว่าตัวเองอยู่มาก่อน เคยทำกินมาก่อน อะไรพวกนี้ ก็ต้องตรวจสอบกัน”

ชีวิตหลังออกจากราชการ

ชัยวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันตนออกมาทำไร่ทำสวน และเดินหน้าใช้ชีวิตของตนต่อไป นอกจากนี้ยังต้องไปขึ้นศาลอยู่บ่อยครั้ง โดยเป็นคดีที่ได้ทำไว้ตั้งแต่สมัยที่ตนยังทำงานราชการอยู่ 

“ตอนนี้ผมก็มีการอุทธรณ์คดี มีการปรึกษากับทนาย ชีวิตผมก็ต้องไปขึ้นศาล ขึ้นศาลหมายความว่า คดีที่ผมทำตั้งแต่ตอนที่ผมทำงานอยู่ ผมจับไว้ประมาณ 400 กว่าคดี เป็นคดีใหญ่ทั้งหมด 100 กว่าคดี ผมก็ต้องเป็นพยานขึ้นศาลต่ออีกหลายคดี ถามว่าลำบากไหม ผมตั้งใจแล้วว่าผมทำไปเพื่อการปกป้อง ผมเคยพูดว่าคนดีไม่ต้องกลัวผม ถ้าคุณชั่ว คุณกลัวผมได้เลย ถ้ารู้ตัวว่าทำผิดกฎหมาย คุณกลัวผมได้เลย ผมจับอยู่แล้วเรื่องการบุกรุกป่า เรื่องการฆ่าสัตว์ ผมไม่ยอมอยู่แล้ว ทุกวันนี้ผมภูมิใจในหน่วยพญาเสือที่ทำงานแทนผม ผมภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้น้องๆ ได้ทำงานต่อ

“ผมอยู่ได้ครับ ผมสบายใจ แล้วผมก็มีความสุขกับการได้ออกมาอยู่ข้างนอก ผมจะได้ไปสอนคนอื่นว่า หลังจากเกษียณแล้วต้องทำยังไง ผมถูกให้เกษียณก่อนชีวิตราชการ 3 ปี ผมก็ยังมีความสุขอยู่นะ ผมไม่ตีโพยตีพาย เพราะว่าเหตุมันเกิดขึ้นแล้ว ใช้ชีวิตต่อกับเงินเดือนที่มีอยู่กับภาระที่มี จะต้องทำยังไง เพราะฉะนั้น การไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนดีที่สุด

“ถ้าบอกว่าไม่เสียใจกับการออกราชการก่อน แสดงว่าผมตอแหล ผมเสียใจอยู่แล้ว ถามว่าเจ็บแค้นไหม เราอย่าบอกว่าเจ็บแค้นเลย คุณใช้ระบบวิธีการ ใช้กฎหมายที่คุณกล่าวหาผม ทิ่มแทงผม ให้ผมออกจากราชการ แต่ถ้าผมพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลที่คุณชี้มามันไม่ถูกต้อง ผมฟ้องกลับอยู่แล้ว เหมือนวราภรณ์ที่กล่าวหาผม โทษของผมคือประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต วันนี้ผมจะปล่อยคนแบบนี้ลอยนวลเหรอ คุณเล่นผมถึงประหารชีวิตกับจำคุกตลอดชีวิต คุณก็มีสิทธิจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตเหมือนกัน เพราะคุณใช้หลักฐานเท็จมากล่าวหาผมขนาดนี้ ผมทำงานมาในวงการราชการ เขารู้หมดว่า ผมทำเพื่อปกป้องทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติและสัตว์ป่า ผมไม่เคยทุจริต ผมพูดได้เลยว่า ผมไม่เคยทุจริต ผมไม่เคยไปโกงใคร ผมไม่เคยไปเหยียบเท้าใครก่อนด้วยซ้ำ พอเขามาเหยียบเท้าผมก่อน แล้วผมเจ็บ ผมขอชักเท้าผมออก มีโอกาสเหยียบกลับคืนก็ต้องยอมเจ็บ

“ผมเป็นนักเลงอยู่แล้ว เพราะนักเลงไม่เคยโกงใครก่อน ผมไม่ใช่อันธพาล อันธพาลเนี่ยระรานไปทั่ว ผมอาจเป็นนักเลง เวลาพูดอะไร ผมต้องรับผิดชอบกับคำพูดของผม กับสิ่งที่เป็นตัวตนของผม”

‘เทวดา’ หรือ ‘ซาตาน’ 

เมื่อถูกถามถึงมุมมองต่อตัวตนของเขาว่าเป็น ‘เทวดา’ หรือ ‘ซาตาน’ สำหรับผืนป่าแก่งกระจานและชาวบ้านบางกลอย ชัยวัฒน์ได้ให้คำตอบว่า “คำถามมันอาจจะเป็นคำถามที่คนอยู่ฝั่งตรงข้ามถาม ถ้าความรู้สึกผม ผมช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธ์ุมากกว่าพวกคุณ มากกว่าคนถามแล้วกัน เพราะว่าจริงๆ ผมทำมาเยอะมาก เรื่องการช่วยเหลือ เรื่องการรักษาปู่คออี้ เขาไปขอร้องผม แล้วผมก็ให้ความช่วยเหลือเอาเขาลงมารักษา

“เราต้องทำใจให้กว้าง แล้วก็เสพสื่อที่มันถูกต้อง ผมเป็นคนที่รักกลุ่มชาติพันธ์ุมากกว่านักสิทธิมนุษยชน คนที่อ้างว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชน อ้างว่าเป็นสภาทนายความ ทำเพื่อคนกลุ่มนี้ ผมบอกเลยว่า ผมรักเขามากกว่าพวกคุณด้วยซ้ำ พวกนี้อาศัยความด้อยโอกาสของกลุ่มชาติพันธ์ุมาแอคชั่นมากกว่า ให้ว่ากันต่อไปว่าคนกลุ่มนี้ทำอะไรให้กลุ่มชาติพันธุ์ผู้เสียโอกาสได้แค่ไหน ผมทำในสิ่งที่ผมต้องทำ ถ้าวันไหนไปหมู่บ้านบางกลอย ให้ลองไปสอบถามชาวบ้านเขาดู ว่าสมัยที่ชัยวัฒน์อยู่นั้นเป็นอย่างไร ทำอะไรบ้าง และใช้ชีวิตอยู่อย่างไร”

อ้างอิง

อวิกา กันยาแสงศรี
เด็กปาก(กา)แจ๋วในทวิตเตอร์ผู้ผันตัวมาเป็นนัก(อยาก)เขียน เฟมินิสต์และแพนเซ็กชวลผู้หลงใหลในบทเพลงและสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกรูปแบบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า