คืนสิทธิที่ดิน คืนถิ่นหาปลา: 10 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อบ้านของคนชาติพันธุ์ชาวเล

“เตรียมเหล็กปลายแหลมให้พร้อม อย่าลืมไฟฉาย เพราะทันทีที่พระอาทิตย์ตกดินจนท้องฟ้ามืดและน้ำเริ่มลด นี่คือเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการออกเรือไปแซะมันตามโขดหิน” 

ดวงแก้ว หาญทะเล ชาวเลอูรักลาโว้ยบนหาดชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เล่าถึงวิธีการออกไปหาหอยลิ้น 

ตั้งแต่อดีตกาลอาชีพหลักของชาวอูรักลาโว้ยคือ การทำประมงแบบโบราณ จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือง่ายๆ อาศัยเรือลำเล็กเป็นบ้านรอนแรมอยู่กลางทะเล ยามมีคลื่นลมจะหลบเข้าไปอยู่ในเพิงพักที่ปลูกเอาไว้ตามชายหาดหรือบนเกาะต่างๆ ปลูกมะพร้าวหรือพืชผลอื่นๆ บ้าง แต่ไม่ถือครองที่ดิน ไม่รู้หนังสือไทย แม้จะอยู่อาศัยบนผืนดินชายฝั่งทะเลมานาน

ด้วยความไม่รู้หนังสือ ไม่รู้กฎหมาย ชาวเลส่วนใหญ่จึงไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน ทำให้ถูกขับไล่จากผู้ที่มาทีหลัง มีเพียงสุสานของบรรพบุรุษที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปีเท่านั้นที่เป็นหลักฐานยืนยัน ว่าพวกเขาอยู่ตรงนั้นมานานแค่ไหน

ยิ่งปัจจุบันนโยบายการท่องเที่ยวถูกส่งเสริมมากขึ้น ความงดงามของชายหาด น้ำทะเลเขียวใส ทำให้ผืนดินริมฝั่งอันดาเป็นที่หมายปองอย่างยิ่ง นายทุนต่างถิ่นหลั่งไหลกันเข้ามาทำธุรกิจ เปิดกิจการโรงแรม รีสอร์ท อ้างเอกสารสิทธิ์ครอบครองและขับไล่คนพื้นถิ่นออกไป 

เมื่อถามดวงแก้วว่า ทุกวันนี้เธอยังออกไปหาหอยลิ้นได้เหมือนเดิมไหม เธอตอบว่า ได้ แต่ความรู้สึกข้างในราวกับตัวเองเป็นหัวขโมย เพราะต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ กลัวโดนนายทุนจับ ทั้งที่เป็นอาชีพที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

10 ปีผ่านไป ปัญหายังคงถูกขังไว้ที่เดิม

“พวกเราชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ทั้งมอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย พวกเราอาศัยในพื้นที่ทะเลอันดามันมากว่า 300 ปี หาอยู่หากินเรียบง่าย พึ่งพิงธรรมชาติ แต่มาวันนี้เมื่อมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาการท่องเที่ยว การประกาศเขตอนุรักษ์ทั้งทางทะเลและในเขตป่า ทำให้วิถีชีวิตของพวกเราเปลี่ยนแปลงไปมาก”

แสงโสม หาญทะเล ชาวเลอูรักลาโว้ย สะท้อนถึงความอึดอัดใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนพื้นเมือง เธออธิบายว่า ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลออกมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ปัจจุบันผ่านไป 10 ปีแล้ว มติ ครม. ดังกล่าวกลับยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ หนำซ้ำปัญหากลับมีมากขึ้นกว่ากว่าเดิม แสงโสมยกตัวอย่างปัญหาทั้งสิ้น 7 กรณีที่กลุ่มชาวเลยังคงต้องเผชิญ โดยเฉพาะชุมชนชาวเลที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน 

  1. ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย: ชุมชนชาวเลหลายแห่งยังไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นของตนเอง ทั้งๆ ที่อาศัยมายาวนาน 
  2. พื้นที่ถูกรุกราน: มีผลสำรวจพบว่า พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือสถานที่ที่มีคุณค่าทางจิตใจกว่า 23 แห่ง มีปัญหาในการออกเอกสารรุกล้ำแนวเขต ทำให้ชาวเลอูรักลาโว้ยไม่สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมในฌีไร (สุสาน) ได้อีกต่อไป 
  3. การฟ้องขับไล่: พบคดีความที่กลุ่มธุรกิจเอกชนออกเอกสารสิทธิ์มิชอบทับที่ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชาวเลหาดราไวย์ ชุมชนชาวเลบ้านสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ถูกดำเนินคดีรวม 28 คดี มีชาวเลเดือดร้อนกว่า 3,500 คน
  4. ปัญหาที่ทำกินในทะเล: จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า แต่เดิมชาวเลหากินตามเกาะแก่งต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 27 แหล่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แหล่งที่ยังสามารถหากินทางทะเลได้
  5. ปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่หน้าชายหาด: วิถีชีวิตของชาวเลผูกติดกับชายหาดมาช้านาน พื้นที่หน้าหาดเป็นทั้งบ้าน แหล่งทำมาหากิน และที่จอดเรือ แต่ปัจจุบันหน้าหาดกลายเป็นพื้นที่แสวงหาประโยชน์ของกลุ่มภาคเอกชนต่างๆ ที่เข้าไปทำธุรกิจ ชาวเลถูกบีบบังคับและกดดันให้ย้ายบ้านไปอาศัยหลังหาด
  6. ปัญหาเรื่องการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรม: กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ขาดความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม
  7. ปัญหาการไร้สัญชาติ: ยังพบชาวเลกว่า 400 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม จังหวัดระนอง

“ผ่านมาแล้ว 10 ปี ปัญหาของชาวเลบางส่วนสามารถแก้ไขได้ แต่ยังมีปัญหาอีกมากที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะนี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ไม่อาจจะแก้ได้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือใช้มติ ครม. เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่สามารถคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมและเอื้อต่อการแก้ปัญหา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แสงโสมทิ้งท้าย

หลักฐานเชิงมานุษยวิทยา คือเครื่องยืนยันตัวตนชาวเล

อภินันท์ ธรรมเสนา รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2553 ย้ำกับเราถึงปัญหาที่ชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กังวลมากที่สุด นั่นคือ ที่ดินและพื้นที่ทำกิน

“เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ที่ดินในที่นี้ หมายถึงความมั่นคงของชีวิต หมายถึงบ้าน ถ้าคุณไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย คุณจะทำอะไรได้บ้าง คือมันไม่ใช่ความต้องการเหนือกว่าใคร มันคือความต้องการพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมของมนุษย์ ชาวเลก็เช่นกัน เขาเพียงต้องการบ้าน เขาต้องการความมั่นใจ ออกไปทำมาหากินแบบไม่ต้องกังวล”

อภินันท์บอกว่า ชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่บนความหวาดกลัว เพราะพวกเขาไม่มีโฉนดที่ดินในการยืนยันความเป็นเจ้าของสิทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม 

“อีกประเด็นหนึ่ง พวกเขายังต้องการศักดิ์ศรี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อตัวตนของเขาถูกยอมรับ ปัญหาที่เกิดทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินหรือการมองเห็นศักดิ์ศรี ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขาไม่ถูกยอมรับตัวตน ไม่ถูกยอมรับในฐานะมนุษย์ เมื่อเรามีมุมมองเช่นนั้น เวลาแก้ปัญหาเราก็มองว่า อ๋อ..เขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เขาไม่ใช่คนไทย เขาแตกต่าง เราแก้ปัญหาแบบสงเคราะห์ไปวันๆ ไม่ต้องมีหลักฐาน แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ชีวิตเขาจะมั่นคงได้อย่างไร”

นอกจากเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2553 บทบาทของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรยังมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและส่งเสริมผ่านการสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ได้ใช้ทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง โดยจัดทำข้อมูลชุมชน ค้นคว้า และบันทึกประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลจะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้

“บทบาทของศูนย์มานุษฯ ที่เราทำคือ บันทึกประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อสะท้อนว่าชาวเลอยู่ที่นี่มานานแล้ว จากหลักฐานสืบสาวเครือญาติ หรือจัดทำปฏิทินชีวิตในรอบปี พบว่าชาวเลอยู่บนเกาะนี้มานานนับร้อยปี”

อภินันท์อธิบายถึงวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ว่า เดิมทีพวกเขาไม่ได้อยากเป็นเจ้าของหรือครอบครองพื้นที่เหนือกว่าใคร คนทั่วไปอาจตื่นเต้นตกใจเมื่อเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ออกมาเรียกร้องทวงคืนที่ดิน ความจริงแล้วพวกเขาเพียงต้องการใช้ประโยชน์ เพื่อหมุนเวียนอาศัยและทำมาหากินตามวิถีและวัฒนธรรมของตนเท่านั้นเอง

“คุณบอกว่าให้กะเหรี่ยงอยู่แค่ 20 ไร่ บนภูเขาก็พอ ไม่ให้พวกเขาเคลื่อนย้ายไปไหน ซึ่งนี่ไม่ใช่วิถีชีวิตเขานะ กลุ่มชาติพันธุ์เขาไม่มีวัฒนธรรมการเป็นเจ้าของใดๆ เขาเชื่อว่าผืนป่าทั้งผืนเป็นของขวัญจากพระเจ้า แต่ตอนนี้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นของเจ้าหน้าที่รัฐ จากเดิมที่เขาเคยใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษก็กลายเป็นใช้ไม่ได้ เพราะคุณกำลังเอาโลกทัศน์ในปัจจุบันไปขีดเส้นให้พวกเขา

“เช่นกันกับกรณีชาวเล ‘ทำไมชาวเลต้องขอไปจับปลาตรงนั้น ตรงนู้น ทำไมไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง’ คือชาวเลเขาคำนวณฤดูมรสุมตามวิถีดั้งเดิมของเขา บางครั้งอาจต้องออกเรือไปหลายหาด แต่รัฐชอบเอาฐานคิดเรื่องกรรมสิทธิ์มาพิจารณา โดยหลงลืมว่าจริงๆ แล้วพวกเขาต้องการเพียงแค่ทำมาหากินเท่านั้นเอง และไม่เคยมีประวัติศาสตร์ไหนที่บอกว่า สัตว์น้ำหรือต้นไม้ในป่าหายไปเพราะกลุ่มชาติพันธุ์ ป่าหมดเพราะสัมปทานป่าต่างหาก” อภินันท์ทิ้งท้าย

หยุดละเมิดสิทธิเหนือทรัพยากร ผลักดันเสียงชาวเลไปสู่ข้อกฎหมาย

เมื่อถอดบทเรียนตลอดระยะเวลา 10 ปี หลังจากมีมติ ครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลออกมาตั้งแต่ปี 2553 ปัญหาบางประเด็นถูกแก้ไขและพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทว่าประเด็นเรื่องที่ดิน ทั้งที่ดินทำกินในป่าหรือทะเลยังคงไม่ถูกยกระดับอย่างเป็นรูปธรรม 

การหาหนทางที่จะช่วยผลักดันให้ปัญหาคลี่คลาย เป็นที่มาของการจัดงาน ‘รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล’ ครั้งที่​ 11​ เมื่อวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2563 บริเวณชายหาดหน้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยวาระสำคัญคือ การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ

ประการแรก สนับสนุนและผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เครือข่าย การพัฒนาศักยภาพผู้นำ การเข้าถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ประการที่สอง ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในการจัดการและใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลบนฐานภูมิปัญญาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการพื้นที่และการจัดทำธรรมนูญชุมชนร่วมกับชุมชน เพื่อประกาศเป็นพื้นที่ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์

ประการที่สาม คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อนของรัฐและเอกชน และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรม

การเข้าถึงทรัพยากร คือพื้นฐานของการมีชีวิต

ความคืบหน้าในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เปรียบเสมือนเป็นความหวังใหม่ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์

อภินันท์ยืนยันว่า กลุ่มพี่น้องไม่ได้เรียกร้องอะไรที่เกินเลย การพัฒนาควรจะเกิดจากการสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิเลือกในวิถีชีวิตตัวเอง หรือให้โอกาสเขาได้เปรียบเทียบและตัดสินใจด้วยตัวเอง ตอนนี้กลายเป็นว่าชีวิตคนชาติพันธุ์ขึ้นอยู่ในมือผู้มีอำนาจ

“หากก้าวข้ามมายาคติวัฒนธรรมและขยายความหมายของคำนิยามทางวัฒนธรรม โดยเพิ่มมิติทางด้านจิตวิญญาณเข้าไปด้วย คุณจะมองเห็นชีวิต ศักดิ์ศรี คุณค่า และมองเห็นปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องแก้ไข

“อันที่จริงกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ว่าชาวเลหรือกะเหรี่ยง โดยธรรมชาติเขาพึ่งพาตัวเองได้ แต่ปัญหาคือตอนนี้เขาไม่มีพื้นที่ให้ได้แสดงศักยภาพในตัวเอง เขาดูแลตัวเองได้ เขามีวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาเป็นร้อยปี แต่บางคนยังมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์คือภาระ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงมีทัศคติมองเขาเป็นปัญหาของประเทศ ซึ่งมันไม่ใช่เลย” อภินันท์กล่าว

ท้ายที่สุดไม่ว่าเส้นทางการต่อสู้เพื่อชีวิตและบ้านของคนชาติพันธุ์จะสิ้นสุดลงอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยย้ำเตือนและทำให้ทุกคนเข้าอกเข้าใจพี่น้องชาติพันธุ์มากขึ้น คือการมองว่าเขาคือมนุษย์ 

เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ สิทธิในการมีชีวิตจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ได้รับการยอมรับในการมีอยู่ของตัวตน เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคนเหมือนกัน ทั้งหมดทั้งมวลคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นชนชาติพันธุ์ใดก็ตาม

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า