Chaos Mandala: National Coloration Complex การผนวกรวมและไหลเวียนของวัฒนธรรมบนพื้นที่สี่เหลี่ยมเดียวกัน ในสายตาของ ‘ธนัช ธีระดากร’

นี่อาจเป็นขวบปีของการพูดถึงอัตลักษณ์ของปัจเจก ที่เป็นเสียงกรีดร้องจากยุคสมัย 

หากเราสะกดรอยตามย้อนมองประเด็นในงานทัศนศิลป์ร่วมสมัย จะเห็นได้ว่าศิลปินในวงการสร้างสรรค์เริ่มพูดถึงที่ทางของ ‘ตัวฉัน’ ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก (mass history) ว่าเส้นทางของเรื่องราวใดๆ ที่แข็งแรงเสมือนกับว่าไร้รอยต่อนั้น มันยังมีเส้นอื่นๆ ที่บางกว่า เป็นสีอื่น ดูไม่ขลังและกระจ้อยร่อย เชื่อมต่อ ทับ คาบเกี่ยว แตกหน่อออกไปหลากเส้นทาง หรืออีกนัยคือ เส้นที่แข็งแรงนั้นเริ่มสั่นคลอนลง 

ถ้าจะกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ประวัติศาสตร์เส้นหลักในบทเรียนแข็งโป๊กที่เรารับรู้มา ซึ่ง ‘ตัวฉัน’ ดูไกลห่างออกมา กำลังสั่นคลอนด้วย ประวัติศาสตร์ส่วนตัวที่แตกแถวกันออกมากรีดร้อง ผ่านการจัดแสดงงานศิลปะ บทเพลง วรรณกรรม หรือภาพยนตร์ อยู่ตามตรอกซอกซอยของงานสื่อสาร เหตุอาจเป็นเพราะวาระของผู้ชนะที่ได้ถือครองเรื่องเล่าหลักกำลังถูกเขย่าด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ยุคสมัยที่ใหม่กว่า’

เสียงและแสงกลบฝังรูปธรรมที่ปรากฏให้ตกใต้ความอหังการของความแอ็บสเเตร็ค
ให้หลงลืมรายละเอียดปลีกย่อยของภาพปรากฏ
ที่ชูคอในแง่ความหมาย ฉันคือลายพรางถูกใช้ในงานศิลปะจนช้ำ
ฉันคือภาพแทนของความศรัทธา เป็นความขึงขังห่างไกลที่ถูกใช้ในงานเสียดสี

เมื่อถูกวางทาบกับความไม่จริงจัง เป็นลายเส้นที่รับ
มาจากอารยะธรรมอื่น แต่ฉันเองก็ไม่ได้เป็นเดี่ยวเช่นกัน
พวกเราตกใต้แอบสแตร็กต์ไม่มีที่มาที่แน่ชัด แต่กลับเร้าอารมณ์มากกว่า
เสียงสร้างบทสนทนากับแสงวูบวาบ แน่นอนว่ามันกระทำการกับโสตประสาทไม่น้อย

แต่ความสำคัญอาจคือ มันทำงานกับห้วงคำนึงเพียงฉับพลัน
ระยะที่สูงกว่าสร้างความโอ่อ่า แต่ก็ตกใต้การอำพรางด้านใต้
ที่เร้าความอยากรู้มากกว่า อาจเป็นเฉพาะบุคคล ไม่ใช่ทั้งหมด
ความเซ็กซี่คือความวับวับแวมแวม พอๆ กับความไม่รู้แน่ชัด
space ถูกใช้ไปกับการให้ความหมายจน place หดหาย
สี่เหลี่ยมใหญ่คับแน่นไปด้วยสี่เหลี่ยมเล็ก
แต่ละเหลี่ยมเงียบงันไม่คุยกันเท่าลำโพงสี่มุมที่ตะโกนเรียกหากันไม่หยุด
แถมยังเผื่อแผ่คนที่เดินผ่านไปมา
ความเวิ้งว้างด้านหลังที่อยู่ด้านหน้าประตูตั้งตนเป็นตัวเอก
เหตุเพราะมีพื้นที่ว่างมากพอให้ฉุกคิด
มวลความจัดจ้านของผู้ทำกลบฝังนัยแฝงตามอักษร
แต่กำลังร่างเส้นใหม่ เป็นเส้นที่ฉูดฉาดเถิดเทิง เร้าให้เกิดประสบการณ์ใหม่
มันไปไกลกว่าในแง่การปรากฏ

งาน Chaos Mandala: National Coloration Complex ของ ธนัช ธีระดากร เองก็วางตนอยู่ในท่าทีของการผนวกรวม การไหลเวียนของวัฒนธรรม ให้มาอยู่บนพื้นที่สี่เหลี่ยมเดียวกัน ความสี่เหลี่ยมในงานเริ่มตั้งแต่สี่เหลี่ยมที่ใหญ่ที่สุด คือห้องเเกลเลอรีที่บรรจุรวมความเหลี่ยมปลีกย่อยเอาไว้ เหลี่ยมใหญ่นี้คือเล่ห์เหลี่ยมของคนทำงานศิลปะที่สร้างสถานการณ์ที่ลักลั่น (แน่นอนว่าการทำงานศิลปะคือการทำสิ่งลักลั่น) ศิลปินสร้างสรรค์ให้พื้นที่สี่เหลี่ยมในแกลเลอรีเกิดความผกผันของเส้นเวลา เพราะวัตถุที่ถูกหยิบมาใช้ในสี่เหลี่ยมเหล่านี้ มีตั้งแต่เรื่องกระเเสหลักอย่างพุทธศาสนาไปจนถึงแฮมทาโร่ บนภาพกราฟฟิตี้ที่เชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย ที่เป็น movement ของกลุ่มคนรุ่นใหม่

ดังนั้นหากมองด้วยตาเปล่าหนึ่งชั้น เราจะเห็นการ parody ภาพของความขึงขังจริงจังอย่างลายเส้นที่คุ้นเคยที่ดูแล้วรู้สึกได้ถึงความไทย (ความไทยในที่นี้คือ ความทรงจำร่วมทางวัตถุหรือรูปแบบ) เป็นภาพที่อิงกับเรื่องของศาสนา ภาพจำอันไกลโพ้น รู้สึกนานแสนนาน เหตุใดศาสนาถึงดูเป็นเรื่องนานแสนนาน เมื่อเทียบกับลายเส้นฉูดฉาดที่ดูจะเป็นเส้นที่ร่วมสมัยกว่า หรือแม้กระทั่งลวดลายของยูนิฟอร์มทหาร ลูกเสือ เนตรนารี ที่คล้ายกับจะพาเราไปสู่นึกคิดที่เกี่ยวโยง บริบทของการเมืองไทย หากถูกหยิบมาใช้ในสภาพการณ์ปัจจุบันนี้ มันจึงเป็นการประกอบรวมของสิ่งซึ่งอยู่กันคนละ เวลา สภาพการณ์ ให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อเกิดความหมายใหม่โดยเลี้ยวแยกออกจากความมี ความเป็น ของสิ่งส่วนเหล่านั้น 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจเพราะส่วนประกอบที่ถูกหยิบมาใช้ถูกครอบด้วยสไตล์การทำงานของศิลปินที่ฉูดฉาด มันจึงฝังกลบความหมายใหม่ที่นึกคิดของคนดูจะไปถึง หรือก็คือภาพรวมที่กลมกลืนด้วยสไตล์ของศิลปิน ทำให้สิ่งส่วนที่เขาหยิบมาประกอบรวมในงาน (ซึ่งแต่ละอย่างค่อนข้างแรงในความหมายด้วยตัวมันเอง) ไม่ถูกหักล้างความหมายเดิม มันยังคง มีอยู่ เป็นอยู่ ด้วยตัวมันเองอย่างแรงกล้า มีเพียงเส้นเวลาที่ติดตัวมากับลายเส้น 

วัสดุเหล่านั้นที่เกิดความผกผันและทำงานก่อกวนโสตประสาทของคนดู พลังอันล้นทะลักและความหนักมือของผู้สร้างโชว์เด่นหรา หลั่งไหลเข้ามาในโสตประสาทของผู้ชม พอๆ กับการจับต้นชนปลายไม่ถูก ว่าพลวัตของวัตถุที่ศิลปินเลือกหยิบจับมาทำงาน จะพานึกคิดของผู้ดูไปสู่อะไร ท่ามกลางการแย่งกันเป็นตัวเอกของวัตถุ คงจะมี ส่วน ท่อน เสี้ยว ไหนสักจุดที่จะตกค้างติดออกไปกับผู้ชม เมื่อพวกเขาเดินออกจากห้องที่จัดจ้านในบรรยากาศ ไปสู่ความสงัดนิ่ง ขาว เทา เขียว บริเวณรอบนอก BANGKOK CITYCITY GALLERY

เมื่อมองงานในอีกชั้น เป็นชั้นที่แทรกซึมเข้าหางานมากกว่าการยืนมองด้วยตาเปล่า เดินรุกเข้าหาสี่เหลี่ยมแต่ละชิ้นที่วางอยู่ตามจุดต่างๆ ประกอบด้วยภาพที่เป็นความทรงจำร่วมของวัฒนธรรม ศิลปินใช้จุดนี้ในการสร้างสรรค์ ภาพจำกับการรับรู้ เท่ากับว่าขอบเขตการรับรู้ของผู้ชมสำคัญมากต่อการดูงาน แน่นอนว่าการเป็นคนไทยแล้วเดินเข้าไปดูงาน ก็จะได้ความหมายในแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคนต่างวัฒนธรรมก็จะได้ความหมายในอีกแบบหนึ่ง เพราะศิลปินเลือกที่จะใช้การเห็นและความคุ้นชินของบุคคลมาเล่นสนุก บนพื้นที่ที่กระหน่ำไปด้วยแสง สี เสียง 

อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาพูดจากศิลปินคือ เขาสนใจการหลั่งไหลของข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เขาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เปรียบเสมือนการ field trip ท่องล่องเข้าไปหาสิ่งที่จับต้องไม่ได้เชิงกายภาพเพื่อนำมาสร้างภาพ เขากล่าวว่า “อัลกอลิธึมของอินเทอร์เน็ต ทำให้ความแข็งแกร่งของกระแสหลักค่อยๆ ล่มสลาย” การที่เขาเลือกใช้สังสารวัฏ มาใช้ประกอบอยู่ประปรายภายในห้องแกลเลอรีเองก็อาจกำลังสะท้อนว่า สิ่งส่วนอันประกอบขึ้นมาเป็นภาพจำเหล่านี้ ก็จะเวียนว่ายกันตามวาระของเวลา 

เช่นเดียวกับที่เกริ่นไปตอนต้นว่า งานสื่อสารประเภทต่างๆ กำลังใช้เสียงของตัวเองในการอารยะขัดขืนต่อประวัติศาสตร์กระเเสหลัก ดังที่เห็นศิลปินในแวดวงต่างๆ มีความมั่นใจที่จะตะโกนเรื่องราวเล็กจ้อยของตัวเองออกมา และไม่ยอมรับสิ่งที่เคยถูกฉีดซึมเข้าไปสู่ร่างให้เชื่อว่ามีเพียงสิ่งส่วนเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขากำลังร่างประวัติศาสตร์เส้นใหม่ ที่เรามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของมันได้เช่นเดียวกัน เรา (ในที่นี้เคยเป็นข้าพเจ้า แต่จะใช้คำว่าเราได้ เมื่อผู้อ่าน อ่านมาถึงตรงนี้) 

เดินออกมาจากห้องแกลเลอรี สิ่งที่ตกค้างออกมาด้วย ไม่ใช่สีสันตระการของการแสดงงาน หรือเสียงที่ฟังดูสมัยใหม่ แต่เป็นนึกคิดเกี่ยวกับการอ้างอิงถึงกัน ศิลปินใช้ภาพความทรงจำร่วม มาสร้าง visual culture แน่นอนว่า สิ่งที่ศิลปินนำมาประกอบสร้างเป็นงานก็ล้วนถูกหยิบจับมาใช้ในบริบทต่างๆ จนมีภาพจำแตกกระจายออกไป ดังนั้นการหาความหมายหรือกระทำการบางอย่างเกี่ยวกับมัน ก็คือการสร้างหลักฐานร่องรอยไว้ผ่านการหยิบจับอะไรมาสร้างสรรค์ 

ด้วยเหตุนี้ งานสร้างสรรค์จึงไม่ใช่อะไรที่ก่อผุดขึ้นมาเองได้ แต่เป็นการอ้างอิงกับสิ่งเก่าเดิมที่มีมาหมุนเวียนใช้เพื่อก่อเกิดสิ่งใหม่ แม้กระทั่ง‘ประวัติศาสตร์’ เองก็ถูกนำมาแปรผันเล่าใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ เพื่อเป็นการบันทึกไว้ว่าเราเคย ‘รู้สึก’ อย่างไรกับเหตุการณ์นั้นๆ ในฐานะ ‘ตัวฉัน’

ชวนมาร่วม ‘รู้สึก’ ในฐานะ ‘ตัวฉัน’ กับนิทรรศการ Chaos Mandala: National Coloration Complex โดย ธนัช ธีระดากร ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ได้จนถึง 19 สิงหาคม 2566 
และขอวงเล็บว่าจะมีการแสดงดนตรีของ CHAOS MANDALA PRESENTS CLUB PARASITE ในวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2023 เวลา 18.30-22.00 น. ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY

Author

เจนจิรา สิริพรรณยศ
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า