ก้าวผ่านปีที่ 89 สำหรับการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย
นับเป็นหมุดหมายสำคัญของคณะราษฎรในการนำพาประชาชนและประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้ากว่าสยามเดิมที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้สยามจะเริ่มมีการนำวิทยาการ เทคโนโลยีจากตะวันตกมาริเริ่มใช้ภายในประเทศอยู่บ้าง แต่โครงสร้างการบริหารยังคงรวบไว้เพียงแค่ในเมืองหลวงและตามหัวเมืองใหญ่เท่านั้น ราษฎรตามพื้นที่ชนบทห่างไกลยังไม่สามารถเข้าถึงและรับรู้ถึงการมีอยู่ของวิทยาการใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น
รัฐบาลคณะราษฎร เข้ามาทลายกรอบเดิมที่เคยถูกสงวนไว้เพื่อรับใช้คนเพียงหยิบมือในสังคม แล้วกระจายไปสู่ราษฎรทั่วประเทศอย่างแท้จริง จึงเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลคณะราษฎรได้มอบสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้แก่ราษฎร เฉกเช่นรัฐบาลประชาธิปไตยแบบสากลตามที่คณะราษฎรได้ตั้งประสงค์ไว้
‘การสาธารณสุข’ คือหนึ่งในผลงานโดดเด่นที่สำคัญ แต่ได้รับกล่าวถึงน้อยกว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมากกว่านั้น นโยบายด้านการสาธารณสุขหลายข้อ ยังกลายมาเป็นบรรทัดฐานในชีวิตที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน
WAY สนทนากับ ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เขียนหนังสือ จากปีศาจสู่เชื้อโรค: ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย พาเราสำรวจอดีตเพื่อเรียนรู้การดำเนินการของรัฐในด้านสาธารณสุขแต่ละยุค นับตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยคณะราษฎร จนถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิดในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ก่อนการเริ่มคำถาม ชาติชายตั้งประเด็นชวนคิด ที่มีส่วนทำให้เรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงผลงานด้านสาธารณสุขของคณะราษฎรมีที่ทางน้อยบนหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก
โดยเสนอว่า ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์’ มีความหมายคนละอย่าง ประวัติศาสตร์ที่คนทั่วไปรับรู้คือ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อสร้างอดีตให้คนปัจจุบันรับรู้ จึงไม่ได้มีเพียงนักประวัติศาสตร์ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอดีต ยังมีนักรัฐศาสตร์ ชนชั้นปกครอง ฯลฯ ฉะนั้นประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เป็นการรับรู้ของคนทั่วไป จึงมักจะตั้งต้นว่าการแพทย์การสาธารณสุขในประเทศไทยเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกับที่คิดเกี่ยวกับการเลิกทาส การรถไฟ ฯลฯ
“ผมเข้าใจว่า เวลาเราคิดเกี่ยวกับรัชกาลที่ 5 เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง เพราะประวัติศาสตร์นิพนธ์เขียนให้พระองค์ท่านเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงไทยเข้าสู่สมัยใหม่ แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่เป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด” ชาติชาย เปิดบทสนทนาก็จะตอบคำถามของเรา
เชิญทุกท่านอ่านประวัติศาสตร์การสาธารณสุขไทยจาก ชาติชาย มุกสง
การเข้ามาของการแพทย์สมัยใหม่เริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบในช่วงใด
เวลาพูดถึงการแพทย์สมัยใหม่ อาจจะต้องดูความสัมพันธ์กับความเป็นรัฐสมัยใหม่ ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากรัฐโบราณไม่ว่าที่ไหนก็ตาม นั่นคือ การเป็นรัฐที่ต้องดูแล ปกป้อง คุ้มครอง บำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้กับราษฎร สำหรับรัฐโบราณแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ถือเป็นบทบาทของรัฐ
เมื่อรัฐรับเอารูปแบบของรัฐสมัยใหม่มาใช้ การกำเนิดของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงสามารถแผ่ไปทั่วถึงทั้งประเทศ บทบาทของรัฐเหล่านี้มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำบางอย่างที่รัฐโบราณไม่เคยทำมาก่อน เช่น การศึกษา การแพทย์ เกิดเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน ฉะนั้น การแพทย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 และผนวกกับรอบๆ สยาม เป็นประเทศอาณานิคมที่มีคุก มีโรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัยเป็นแบบสมัยใหม่ เราจึงอยากปรับปรุงให้มีองค์กรเช่นนั้นบ้าง เลยเปลี่ยนแปลงองค์กรของตนเองด้วย
ฉะนั้น ปัจจัยภายนอกคือ สมัยอาณานิคมเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องสร้างองคาพยพทางการเมือง สร้างรัฐสมัยใหม่ให้เหมือนกับรัฐที่เกิดขึ้นรอบๆ คืออาณานิคม ความคิดเรื่องศิวิไลซ์เป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองเองตระหนักว่า เป็นความชอบธรรมที่ต้องทำ ขึ้นให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะโดนดูถูก เสื่อมเสียเกียรติ ความคิด civilization แผ่ขยายไปทั่วโลก เพราะใครก็ตามที่จะอยู่ในกระแสนี้ หากคุณไม่ทำ คุณก็จะไม่อยู่ในกระแสนี้ แล้วคุณก็จะไม่สามารถพูดได้ว่าคุณเป็นคนสมัยใหม่หรือรัฐสมัยใหม่
ส่วนปัจจัยภายในคือ สร้างอำนาจของตัวเองขึ้น สามารถรวมศูนย์อำนาจได้ เพราะรัฐสยามไม่เคยเป็นรัฐที่มีอำนาจแผ่ไปทั่วรัฐที่ตัวเองอ้างในดินแดนมาก่อน เพราะมันเป็นรัฐที่ปกครองผ่านคน คุณให้เจ้าเมืองปัตตานีมาส่งดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง 3-4 ครั้ง แค่นี้คุณก็พอใจแล้ว คุณไม่ได้สนใจว่าคนปัตตานีจะอยู่กันอย่างไร จะมีโรงพยาบาลหรือไม่ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองส่วนกลาง เป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองปัตตานีไป
ฉะนั้น ความสัมพันธ์แบบใหม่ที่พยายามดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สิ่งหนึ่งที่เมื่อไปดึงมาแล้วเป็นปัญหา คือการดึงเก็บภาษี เมื่อคุณเก็บภาษีมา คุณก็ต้องตอบแทนคืน ต้องปกครองเขา ต้องให้สิ่งที่คุณไปขูดรีดเขามา หมายความว่า นี่คือบทบาทใหม่ของรัฐที่ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยเฉพาะ เรื่องของโรงพยาบาลและโรงเรียน ซึ่งผู้ที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญในการนี้ คือพวกมิชชันนารี เพราะมิชชันนารีทำมาก่อน โรงเรียนคริสต์เกิดขึ้นก่อนโรงเรียนรัฐ เป็นสิ่งที่รัฐต้องรู้สึกว่า หากประชาชนรับทางฝั่งคริสต์มากไปก็อาจจะส่งผลให้ประชาชนมีความคิดเอนเอียงไปทางคริสต์ศาสนา จึงต้องตั้งโรงพยาบาลใหม่เพื่อช่วงชิงพื้นที่กับมิชชันนารี
หากเทียบกันระหว่างการแพทย์สมัยใหม่ของไทย ช่วงรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประเทศอาณานิคมเพื่อนบ้าน ถือว่าเราเจริญมากน้อยเพียงใด
ถ้าเราดูเฉพาะการแพทย์สมัยใหม่ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคม เราล้าหลังมาก (ลากเสียงยาว)
ปัตตาเวียในช่วงศตวรรษที่ 19 จะพบว่าโรงเรียนแพทย์ของดัตช์รับนักเรียนแพทย์พื้นเมืองเป็นแพทย์ชั้น 2 ก้าวหน้าที่สุดในโลกตะวันออก หมายความว่า ก้าวหน้าถึงขนาดที่มีอะไรเกิดขึ้นที่ดัตช์เมืองแม่ จะใช้เวลาเดินทางมาถึงปัตตาเวียภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน พร้อมใช้ได้เลย แล้วต้นแบบทั้งหมดรัชกาลที่ 5 ก็ไปดูมาจากปัตตาเวีย สิงคโปร์ ดังนั้นเขาไปไกลกว่าเรามาก แล้วข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมคือ โรงพยาบาลที่เกาะสอง วิคตอเรียพอยต์ของระนอง โรงพยาบาลที่เวียงจันทน์ โรงพยาบาลที่อยู่ตรงข้ามกับเชียงราย โรงพยาบาลที่ ตรงข้ามกับอุบลฯ แถวจำปาสัก โรงพยาบาลฝั่งปีนัง เป็นโรงพยาบาลที่ฝั่งชนชั้นสูงหรือผู้มีอันจะกิน รวมไปถึงชาวบ้านที่อาศัยตามชายแดนเหล่านี้ไปรักษาในฝั่งของโรงพยาบาลในอาณานิคม
ในแง่นี้ การตั้งโรงพยาบาลในตอนแรกไม่ได้ตั้งตามความจำเป็นทางการแพทย์ แต่ตั้งตาม ‘ความจำเป็นทางการเมือง’ การตั้งโรงพยาบาลที่ระนองเพื่อไม่ให้คนข้ามไปรักษาที่เกาะสอง คือเรายังคิดเรื่องการที่คนต้องไปขึ้นต่อการปกครองกับเจ้าเมืองในดินแดนอื่นอยู่ ไม่ได้ปกครองไปตามเส้นเขตแดนของรัฐสมัยใหม่ เลยมีการไปตั้งโรงพยาบาลเหล่านี้ ตั้งที่ปัตตานีเพราะมีกบฏ
แต่ไม่มีหมอ ไม่มีงบประมาณไปดำเนินการ
หรือแม้แต่จอมพล ป. เอง เมื่อสร้างโรงพยาบาลแรกๆ ก็เป็นการสร้างเพื่อ ‘อวดธง’ สร้างศักดิ์ศรีของชาติว่าเรามีโรงพยาบาลสมัยใหม่ไปประจันกับฝั่งประเทศอาณานิคม อันนี้คือรูปธรรมที่ชัดเจนมาก
ดร.วิกเตอร์ จี ไฮเซอร์ ตัวแทนมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ มีโอกาสได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 6 หลังไปเยือนโรงพยาบาลศิริราชและกราบทูลว่า “ข้าพเจ้าเสียใจมากที่จะกราบบังคมทูลว่า โรงเรียนแพทย์ของใต้ฝ่าพระบาทนั้น เป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีฐานะต่ำที่สุด (poorest) เท่าที่เคยเห็นมา”
พระองค์ตกพระทัยมากและทรงตอบว่า “เป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องน่าละอาย เป็นไปไม่ได้ ไม่เคยมีใครบอกฉันในเรื่องนี้”[1] เมื่อรัชกาลที่ 6 ได้ทราบดังนี้จึงมีพระราชประสงค์ให้มูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ได้เข้ามาช่วยปรับปรุงแพทยศาสตรศึกษา แต่เฉพาะในด้านหลักสูตรการเรียนการสอน
มุมมองของชนชั้นปกครองระหว่างก่อน 2475 และหลัง 2475 ในเรื่องสิทธิพื้นฐานของราษฎรต่อการเข้าถึงระบบสาธารณสุขแบบสมัยใหม่เป็นไปในไปทิศทางใด
รัฐก่อนปี 2475 ไม่คิดว่าการรักษาพยาบาลนั้นเป็นสิทธิ เขามองเป็นการกุศลที่ชนชั้นสูงมอบให้ อันนี้เราต้องให้ความยุติธรรมสักนิด การแพทย์ในครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 เป็นเรื่องของ ‘moral movement’ คือ การช่วยเหลือคนจนเป็นภาระหน้าที่ตามศีลธรรมของคนรวยและผู้ปกครอง หมายความว่า การที่ชาวอังกฤษที่อาศัยในกรุงเทพฯ สร้างตึกที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วนำชื่อพระนางเจ้าวิคตอเรียมาตั้ง ชนชั้นนำไทยเห็นแล้วทำต่อ เมื่อสร้างตึกเสร็จก็นำชื่อของเจ้าไปตั้งเต็มไปหมด นี่คือความคิดของครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19
การทำสาธารณกุศลด้วยการแพทย์ เรียกว่าเป็นการแพทย์แบบความคิดหลักของชนชั้นปกครองก็ว่าได้ ซึ่งคณะราษฎรนั้นไม่ใช่ คณะราษฎรมาด้วยทัศนะแบบใหม่ที่มองว่า นี่เป็นสิทธิของพลเมืองที่จะต้องเข้าถึงความปลอดภัยในชีวิตตามหลัก 6 ประการ เป็นแนวนโยบายแห่งรัฐของคณะราษฎรที่มองว่า ประชาชนไม่ควรจะตายมาก จึงต้องปฏิวัติการแพทย์ สาธารณสุข อิงมาจากคำแถลงวันเปิดกระทรวงสาธารณสุขของจอมพล ป.[2] ฉะนั้นเขาต้องการสร้างประชากร ด้วยแนวคิดนี้มันเป็นสิทธิที่คนจะไม่ตาย รัฐต้องจัดหาการแพทย์ให้พลเมือง เพื่อให้คนเหล่านี้ไม่ตายก่อนวัยอันควร
นี่คือวิธีคิดของผู้ปกครองที่มีต่อผู้ถูกปกครองว่ามันต่างกัน จากเดิมที่ใช้มุมมองแบบสาธารณกุศล หรือมุมมองการแพทย์แบบสงเคราะห์ สงเคราะห์ใคร ก็สงเคราะห์ ‘ผู้ที่โชคดี’ เท่านั้น
คำถามคือ ทำไมต้องรอวันนั้น? ทำไมไม่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้เลย? นี่มันต่างกันมาก แต่สังคมไทยยังคงติดอยู่กับแบบแรก เช่น ทุกวันนี้ชนชั้นสูง ดารา อยากจะบริจาค อยากจะวิ่งเพื่อช่วยโรงพยาบาล มันถูกจัดอยู่ในความคิดแบบแรกทั้งหมด เรายังไม่คุ้นกับความคิดแบบที่ 2 คือสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ ควรที่จะต้องมีชีวิตที่รอดตาย มีชีวิตที่ดีจากการบริการสาธารณสุขที่เป็นพื้นฐานของรัฐ
ฉะนั้น การที่คุณแข่งกันสร้างตึกจึงมักจะปรากฏในกรุงเทพฯ เพราะต้องการสื่อถึงชนชั้นกลางเพื่อให้เห็นบทบาทในความกรุณา จิตใจสาธารณกุศล Philanthropist Medicine จึงเป็นเรื่องใหญ่มากในศตวรรษที่ 19 แต่ในต่างประเทศถูกใช้อย่างจำกัดเพราะมีรัฐสภา จะไปทำอะไรเซ่อซ่าโดยไม่ผ่านรัฐสภานี่ทะเลาะกันใหญ่โต เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่ต่างกัน แล้วคณะราษฎรก็เข้ามาเซ็ตตรงนี้ใหม่ พอมาถึงยุคสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ก็กลับไปใช้มุมมองที่เป็นการแพทย์แบบเดิม ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับประชาชน แล้วประชาชนเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ หมายความว่า ถูกเบลอไปหมดเลยในปฏิสัมพันธ์ที่ใช้ในชุดความคิดนี้
เวลาเราพูดถึงการแพทย์ก่อน-หลัง 2475 เราจะต้องแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา
ช่วงก่อน 2475 ตั้งแต่ รัชกาลที่ 5-2475
ช่วง 2500 เป็นต้นมา
แต่ช่วง 2475-2500 มันหายไป
ถ้าคุณไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์คุณจะนึกไม่ออกเลยว่า เฮ้ย คณะราษฎรเคยทำอะไรเกี่ยวกับการสาธารณสุขบ้างหรือเปล่า นึกไม่ออกเลย ซึ่งมันมีเวลาที่ไม่ต่อเนื่องกันอยู่ ในเวลาของคณะราษฎรมักจะไม่ถูกมองว่าเป็นประวัติศาสตร์ เพราะมันถูกลบให้หายไปตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ขึ้นมา สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชน จะเห็นได้อย่างชัดเจนคือ โรงพยาบาลโรคเรื้อนที่เป็นราชประชาสมาสัย ซึ่งจอมพล ป. สร้างโรงพยาบาลและนิคมโรคเรื้อนขึ้นมา ต่อมากลายเป็นราชประชาสมาสัยในปี 2503 นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า บางผลงานมันถูกสวมทับแล้วอธิบายใหม่ มันเกิดขึ้นหลังสมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา นี่คือประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เรารับรู้กัน
แม้ในยุคปัจจุบันเองเราก็ยังคงเห็นการทำสาธารณกุศลอยู่เรื่อยมา เพียงแต่เป็น กลุ่มชนชั้นใหม่ อธิบายแบบนี้ได้ไหม
การแพทย์การสาธารณสุขบ้านเรายังไม่ได้เป็นสิทธิ แต่เป็นการสงเคราะห์ หรือว่าสาธารณกุศลที่ใครก็ตามที่มีเงิน พวกนี้ก็ถือว่ามาแทนชนชั้นนำเดิม มีหน้ามีตาก็มาบริจาค เพื่อให้ชื่อกับคนเหล่านี้ใช้เป็นสะพานเชื่อมหาอำนาจระหว่างพวกคนมีเงินใหม่ (เจ้าสัวใหม่) กับการแพทย์แบบเจ้าอุปถัมภ์ทั้งหลาย เป็น sub-culture ใหญ่ที่อยู่ในการแพทย์ แล้วเรามักจะไม่ค่อยได้พูดถึง
เวลาสังคมวิจารณ์กรณีที่ใครต่อใครออกมาบริจาค เขาก็อยู่ในความคิดชนชั้นนำ ไม่ได้มองว่า สิ่งที่คุณทำมันไม่ correct กับการปกครองแบบประชาธิปไตยที่คนมีสิทธิ ประเด็นที่เขาวิจารณ์คืออันนี้ ไม่เกี่ยวว่าคุณจะเลวหรือดี ความเลวหรือดีไม่เกี่ยวว่าคุณจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงการรักษา อย่างเช่นถ้าคุณกินเหล้า คุณก็ควรตายสิ เป็นการแพทย์ที่ทุกคนไม่ได้ยืนอยู่บนสิทธิ มันไม่ได้เท่าเทียม แต่เป็นการแพทย์ที่คุณจะเลือกสงเคราะห์ใคร
คณะราษฎรเคยเซ็ตเรื่องนี้ไว้ อย่างที่บอกว่า สุดท้ายแล้วคณะราษฎรกระจายการรักษาไปยังกลุ่มเฉพาะ ให้ทุกกลุ่มได้รับการรักษาที่ดีที่สุด การที่คุณมีโรงพยาบาลหญิง (โรงพยาบาลราชวิถี) หมายความว่า คุณจะมีหมอที่เชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับโรคผู้หญิงและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ผ่านการวิจัย มีการค้นคว้า ทำให้ไม่เกิดความสูญเสียในภาวะการคลอดบุตร รวมไปถึงโรคของผู้หญิง เด็กและสงฆ์ นั่นคือความคิดทางการแพทย์ที่มันจะต้องช่วยคนทุกกลุ่ม ทุกระดับชั้น เราไม่ค่อยมีความคิดชุดนี้เหลืออยู่ในปัจจุบัน เหลือเพียงว่า คุณเป็นใคร คุณนอนโรงพยาบาลเพราะว่าคุณเป็นใคร ไม่ใช่เพราะว่าคุณเป็นคน
ในสมัยคณะราษฎรเขาสร้างรัฐเวชกรรม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา ป้องกันการตายและการเจ็บป่วย เพราะมันเป็นสิทธิที่เขาต้องได้รับจากรัฐ อันนี้ชัดเจนมาก อยู่ในคำแถลงเปิดกระทรวงสาธารณสุขของจอมพล ป.
เมื่อชนชั้นนำเห็นถึงประโยชน์ของการแพทย์สมัยใหม่ เหตุใดจึงยังไม่ขยายการแพทย์สมัยใหม่ให้แก่ประชาชน
ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีหมอฝรั่งเป็นหมอประจำตัว แต่ไม่ได้รักษาโรคมาลาเรียกับหมอฝรั่งคนนั้น เพราะเชื่อว่าตนเองหมดอายุขัยแล้ว มันเป็นความคิดที่ว่ารัฐไม่มีหน้าที่ ก่อนหน้ารัชกาลที่ 5 ที่แม้ชนชั้นนำจะรู้ว่าการแพทย์สมัยใหม่มีประโยชน์ แต่รัฐยังไม่มีแนวคิดในเรื่องบทบาทของรัฐในการจัดบริการสาธารณสุข
แต่พอสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีโอกาสเสด็จไปชวา อินเดีย สิงคโปร์ พระองค์จึงเริ่มรับรู้ว่า เมืองอาณานิคมเหล่านั้นมีระบบสาธารณสุขแบบสมัยใหม่ที่เป็นรูปธรรมแล้ว ถึงแม้รัชกาลที่ 5 จะเสด็จกลับมาสยาม แต่ก็ยังไม่ได้ลงมือวางรากฐานระบบสาธารณสุขโดยทันทีก็ตาม แต่มีจุดเปลี่ยนตรงที่ว่า เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นภายในรัชสมัยพระองค์ ทางภาครัฐมีการใช้รูปแบบโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นมาก่อน อย่างน้อยรูปแบบทางความคิดก็เริ่มเปลี่ยนไปสู่แนวคิดที่ว่า มันเป็นหน้าที่ของรัฐจริงๆ ในการดูแลพลเมืองที่เจ็บป่วยจากโรคระบาด
เริ่มแรกมีแนวคิดในการสร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้นช่วงปี 2429 แต่ก็สร้างเสร็จในปี 2431 ขนาดว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างเองยังใช้เวลาตั้ง 3 ปีกว่าจะได้เปิดเป็นเรื่องเป็นราว พอศิริราชสร้างเสร็จก็ใช่ว่าประชาชนจะยอมเข้ามารักษาเลย เมื่อศิริราชสร้างเสร็จได้ 10 ปีแรก มีคนไข้เข้ามารักษาแค่หลักร้อย ถึงขั้นว่าต้องจับขอทานแถวสะพานหันมาเป็นคนไข้ที่ศิริราช ไม่อย่างนั้นโรงพยาบาลจะล้ม เพราะคนไม่ยอมมารักษา
ในแง่นี้ทั้งคนสร้างก็ไม่เชื่อ คนจะเข้ามาใช้บริการก็ไม่คิดว่าตนเองต้องรักษากับแพทย์สมัยใหม่ แต่เมื่อมีโรคระบาดมันจำเป็น เกิดการกักตัวขึ้น ผู้ที่กักตัวก็ถูกนำมารวมที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสมัยใหม่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 เพราะมีโรคระบาด และเราเริ่มรู้ว่าเชื้อโรคมันสามารถติดกันได้ โรงพยาบาลจึงต้องเป็นที่ปลอดเชื้อ จากนั้นจึงพาคนที่มีเชื้อออกห่างจากชุมชน นี่คือคอนเซ็ปต์ของโรงพยาบาลสมัยใหม่ ซึ่งโรงพยาบาลสมัยใหม่ในบ้านเราเพิ่งมาเกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะความคิดเรื่องเชื้อโรคทำให้เกิดโรคชัดเจนแล้ว และการปรับปรุงการศึกษาแพทย์มาตรฐานวิชาชีพจากความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ โรงพยาบาลศิริราชสมัยรัชกาลที่ 5 มันคือ hospitel (คำว่า hospitel ในยุคนั้นหมายถึง สถานที่รวบรวมคนป่วยที่ติดเชื้อให้มาพำนักในสถานที่ที่รัฐจัดเตรียมไว้ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคระบาดภายในชุมชน แต่ไม่ได้มีการรักษาเต็มรูปแบบอย่าง hospital)
อะไรคือผลงานที่เป็นรูปธรรมในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร
หากพูดถึงยุคสมัยแห่งคณะราษฎร รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็สำคัญมากเช่นกัน ในช่วงที่พระยาพหลฯ ขึ้นมาในปี 2476 หลังจากชนะกบฏบวรเดช เป็นครั้งแรกที่คณะราษฎรได้ดำเนินนโยบายตามหลัก 6 ประการ ของตนเองจริงๆ เนื่องจากในช่วงรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นเวลาแห่งการประนีประนอมกับชนชั้นสูง แทบไม่ได้ทำอะไร กฎหมายใหม่ๆ ไม่ได้ออก สำหรับผมเรื่องสาธารณสุข จอมพล ป. จริงจังมาตลอดจนถึงปี 2500 เลย ด้านอื่นอาจจะขาดหาย จนมาถึงการเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ก็โดนชนชั้นนำช่วงชิงไปเยอะ
ในสมัยพระยาพหลฯ ปี 2477 ออกนโยบายที่เรียกว่า ‘รัฐเวชกรรม’ รัฐเวชกรรมคืออะไร คือต้องการให้โรงพยาบาลและการบริการทางการแพทย์ สาธารณสุขเป็นที่พึ่ง เป็นบริการของรัฐที่บริการให้กับประชาชน มีแผนนโยบายการสร้างโรงพยาบาลตามโครงการ ‘โรงพยาบาลหัวเมือง’ ระบุในแผนไว้ว่า ต้องสร้างโรงพยาบาลขนาดกลาง ขนาดเล็ก จำนวนเงินเท่าไหร่ สร้างจังหวัดไหน มีการวางแผนไว้ทั้งหมดว่าปีไหนสร้างไว้กี่แห่งๆ ใช้งบเท่าไหร่ วางไว้หมด แม้ตอนแรกจะสร้างไม่ได้ตามนี้ เพราะงบไม่มี ต้องรอไปอีก 10 ปี แต่สุดท้ายก็สร้างทุกโรงพยาบาลเสร็จในช่วงที่จอมพล ป. เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 ในปี 2497[3]
ในแง่นี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ แผนการขยายโรงพยาบาลไปตามหัวเมืองภายใน 4 ปี เป็นความอาจหาญมาก สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขยายไปเพียงไม่กี่จังหวัด อันนี้คือสิ่งที่จอมพล ป. พยายามทำ
ผลงานเชิงประจักษ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้นั่นคือ การตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นในปี 2485 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รวบรวมหน่วยงานที่ทำหน้าดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนมาไว้ให้เกิดเอกภาพ และสร้างชาติด้วยการเพิ่มประชากรคุณภาพ ให้ความสำคัญให้มีรัฐมนตรีมารับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชน
ในช่วงจอมพล ป. มีกองส่งเสริมอาหารแห่งชาติ ก็คือการให้ประชาชนกินตามหลักโภชนาการ อันนี้เป็นโครงการที่เพิ่งตั้งในปี 2482 หน่วยงานนี้มีหน้าที่ออกมาเพื่อบอกกล่าวแก่ประชาชนว่า ควรกินอะไร กินอาหารอย่างไร กินข้าวให้น้อยและกินกับให้มาก เพราะเดิมทีเรากินข้าวมากกว่ากินกับข้าว นี่เป็นการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
ตัวอย่างก็คือ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารของคณะราษฎรที่รวบรวมเอานโยบายส่งเสริมพืชสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ สนับสนุนการปลูกถั่วงอก ถั่วเขียว ส่งเสริมการทำของชำ ส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน (น้ำปลา) แล้วมารวมในชามก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารแห่งชาติ เป็นรสชาติแบบใหม่ตามหลักบริโภคศาสตร์หรือครบโภชนาการ 5 หมู่ ในปัจจุบัน
อีกทั้งมีการประกาศให้ประชาชนสวมรองเท้าเพื่อไม่ให้พยาธิไชเท้า การกินอยู่หลับนอนที่เป็นเวลามากขึ้น นอกจากนี้จอมพล ป. ได้ออกรัฐนิยมฉบับที่ 11 ให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง หรือว่าจะเป็นส้วมสาธารณะที่ออกมาในปี 2477 การส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักดื่มนม กินไข่ ล้วนเป็นผลงานรูปธรรมที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. หมายความว่า วิถีชีวิตสมัยใหม่บางอย่างที่เราคุ้นเคยกันมีที่มามาจากจอมพล ป. ทั้งนั้น
ในยุคคณะราษฎรมีการปกปิดข้อมูลทางด้านสาธารณสุขแบบสมัยนี้บ้างหรือไม่
ในสมัยก่อน กระทรวงสาธารณสุขมีกระบอกเสียงของตัวเองชื่อว่า ‘แถลงการณ์สาธารณสุข’ ออกทุกๆ 3 เดือน ฉะนั้นกิจการของสาธารณสุขทุกอย่างจะถูกแถลงในนี้หมด แถลงการณ์สาธารณสุขจะบอกว่ามีนโยบายอะไร ต้องทำอย่างไร ซึ่งใครๆ ก็สามารถอ่านได้ แต่กิจกรรมนี้เริ่มหายไปในสมัยปลายๆ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ พอเข้าสู่ยุคจอมพลถนอม (กิตติขจร) ก็หายไปเลย
มันมีความชัดเจน ระบบสายบังคับบัญชาสมัยก่อนมันก็ชัดเจน ใครเป็นคนให้ข่าวได้บ้าง มันก็ชัดเจน สมัยก่อนประมาณปี 2530 ขึ้นไป คนที่จะแถลงข่าวกับหนังสือพิมพ์ได้ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบอกไว้ชัดเจนว่า ใครสามารถพูดได้บ้าง ไม่ใช่ว่ายื่นไมค์จ่อใครก็พูดได้ หมายความว่า โครงสร้างระบบราชการที่ต้องเผชิญหน้ากับสื่อและเอกชน ไม่เคยปรับเลย แต่อย่างอื่นปรับไปหมดแล้ว
การสื่อสารข่าวของโฆษกกระทรวงสาธารณสุขสมัยจัดการกับโรคซาร์ส และไข้หวัดนกช่วงรัฐบาลจากการเลือกตั้งนี่ดีมาก ไม่มีคำถามตามหลัง และแถลงเท่าที่จำเป็น คิดให้ชัดเจนก่อนการแถลงต่อประชาชน เรียกว่า ใช้วอร์รูมของสื่อมวลชน ไม่เหมือน ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ไม่มีการสอนประชาชนด้วย
บางรอบก่อนแถลง จะเปิดรอบสื่อมวลชนถกกันในห้องสื่อก่อน คือเขาจะเปิดให้สื่อมวลชนคุยกันให้เรียบร้อย แล้วขอญัตติกันว่า เราจะบอกประชาชนกี่เรื่อง ซึ่งมันสามารถทำได้เพื่อป้องกันความสับสน จากนั้นก็ออกเป็นจดหมายข่าวกระทรวงสาธารณสุข แล้วให้ทุกคนเคร่งครัดกับถ้อยคำ ประเด็นนี้สำคัญมาก แต่เราจะเห็นว่าการสื่อสารในยามวิกฤติของรัฐบาลปัจจุบันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่มี strategy ใดๆ
การระบาดของโควิด-19 ในปีที่แล้ว ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดีจนไม่มียอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นระยะเวลาหลายเดือน เหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงอะไร
ถ้ามองว่ามันสัมพันธ์ยังไงกับรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเห็นว่าเรามีนโยบายรัฐเวชกรรมมาตั้งแต่ปี 2475 มันก่อให้เกิดการปกครองชีวญาณ (Governmentality) ในหมู่ประชาชน ตามคำอธิบายของ มิเชล ฟูโกต์ หมายความว่า คณะราษฎรทำให้เรื่องของสุขภาพกลายเป็นความเสมอภาค เป็นสิทธิที่ทุกคนจะได้รับจากรัฐ แล้วทุกคนก็มีหน้าที่ในการช่วยเหลือรัฐด้วยการดูแลตัวเอง
เรียกอีกอย่างว่า ‘Biopolitics’ (ชีวอำนาจ) หมายถึง การเมืองที่ควบคุมไปยังการมีชีวิตของพลเมือง พลเมืองจะต้องอยู่ดีกินดี รู้จักป้องกันโรคภัยไม่ให้เจ็บป่วย ซึ่งเราเรียกว่า Docile Body คือ ร่างกายที่เชื่องเชื่อต่อรัฐ เป็นความสำเร็จที่เรียกว่าเป็นรัฐเวชกรรม ฉะนั้นผมเข้าใจว่า ความสัมพันธ์กับรัฐแบบนี้ที่มีมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มันทำให้การรับรู้ของคนไทยถูกเชื่อมต่อกับบรรทัดฐานที่รัฐกำหนด ฉะนั้นการที่จะเชื่อรัฐในการป้องกันและควบคุมโรคจึงเป็นเรื่องที่เรามีมาตั้งแต่หลัง 2475 จนถึงปัจจุบัน ผนวกกับประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายควบคู่กับตัวการปกครองชีวญาณในหมู่ประชาชน ผ่านกฎหมายควบคุมโรคติดต่อ เป็นต้น
จะเห็นว่า เรามีกฎหมายควบคุมโรคติดต่อที่ใช้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2477 กฎหมายนี้มีความผิดและโทษ เพราะถ้าคุณไม่แจ้งให้รัฐทราบ คุณมีความผิดและโทษทางอาญาชัดเจน เพราะฉะนั้นการสร้างการรับรู้ต่อโครงสร้างการปกครองของรัฐที่มีโทษตามกฎหมาย เกิดขึ้นควบคู่กันกับ พ.ร.บ.กำหนดให้บางโรคติดต่อเป็นโรคติดต่ออันตราย มันเป็นกฎหมายเชิงปกครอง ซึ่งการใช้คู่กันมันทำให้การจัดการในรอบแรกราบรื่น แล้วการที่สร้าง govern มันสำเร็จมาก เพราะเราถูกทำให้เชื่อว่า การติดโรคของประชาชนนั้นไม่ดีต่อรัฐ ไม่ดีต่อตนเอง ซึ่งเราไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธ ทุกวันนี้ยังมีคนถามอยู่เลยว่า ซิโนแวคถ้าเราเสี่ยงโชคได้ เราจะปฏิเสธไปได้มั้ย แต่ว่าที่อื่นเขาอาจจะเป็นเรื่องปกติที่จะไม่รับบริการในสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย เราก็มีสิทธิเหมือนกันหรือเปล่าที่จะปฏิเสธไม่รับวัคซีน
จากสถานการณ์โควิดที่เราเผชิญมาร่วม 2 ปี ในปีนี้ถือได้ว่าสถานการณ์เลวร้ายลงอย่างมากจนมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มองว่าเป็นสิ่งที่รัฐจงใจให้เป็นเช่นนี้ หรือเพราะรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการจริงๆ
ผมว่าในเซนส์ของการปกครองในรัฐสมัยใหม่มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘จงใจ’ เพียงแต่ว่า มันคงจะเละเทะเพราะไม่มีความสามารถจริงๆ เอาง่ายๆ ที่เราต้องถามกลับว่า ตกลงถ้าเทียบกันระหว่างรัฐบาลสมัยนี้กับรัฐบาลสมัยคณะราษฎร ความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชนหรือว่ามุมมองที่เขามองประชาชน ที่เขาเป็นผู้นำ เป็นผู้ให้บริการ เขามองว่าประชาชนเป็นผู้ที่มีสิทธิที่จะไม่ตาย เขาต้องรู้สึกไหมว่า การที่เขาทำให้ประชาชนตาย มันเป็นสิ่งที่ไม่โอเคที่สุดแล้ว
หมายความว่า มันเป็นสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบ ซึ่งถามว่า เซนส์ที่คุณจะบริหารในฐานะที่ประชาชนเป็นผู้มีสิทธิในสถานะพลเมือง ที่จะต้องได้รับการบริการจากการแพทย์และการสาธารณสุขที่จะไม่ตาย และมีสุขภาพที่ดี ทำได้เพียงพอกับเหตุการณ์นี้หรือยัง ถามแค่นี้พอ
หลายๆ ที่ในเมื่อเขาทำไม่ได้ เช่น ไต้หวัน เขาออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ แสดงว่าเขารับผิดชอบต่อประชาชน และทำเพื่อประชาชนอย่างดีที่สุด แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ออกมาขอโทษตรงๆ มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการรับผิดชอบ ถ้าคุณยังเป็นผู้ที่รับผิดชอบอยู่ แต่ของเรามันไม่มีทั้งหมดทั้งปวงนั้น ทั้งเซนส์ของการบริหารรัฐกิจเพื่อให้ทุกคนได้รับสิ่งที่สมควรได้รับในฐานะพลเมือง
ฉะนั้นผมคิดว่า เราอาจจะลองเสี่ยงเทียบดูว่า บทบาทของการเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อพลเมืองตัวเอง ผมว่ามันยังไม่เท่าสมัยแห่งคณะราษฎร คุณไปดูสมัยพระยาพหลฯ ถ้าใครทำอะไรที่แกรู้สึกว่าฝืนต่อมติมหาชน ฝืนต่อสภา แกจะลาออกทันที เพื่อรักษาอำนาจของสภาในการควบคุมฝ่ายบริหาร
บางคนก็มองว่าพระยาพหลฯ เป็นพวกขี้น้อยใจ คือมองไปที่เรื่องส่วนตัว แต่จริงๆ แล้วพระยาพหลฯ พยายามรักษาหลักการว่า ถ้าสภาไม่สามารถคุมฝ่ายบริหารได้ ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือสภาเมื่อไหร่มันไม่โอเค ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อสภา แต่เซนส์นี้ในปัจจุบันเราไม่เหลือเลย หมายความว่า คุณต้องคุมสภาให้ได้ แล้วคุณจะบริหารได้ แต่พระยาพหลฯ พยายามแสดงให้เห็นว่า การบริหารแบบสภา มันต้องทำงานเพื่อประชาชนร่วมกัน โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ถ้าคุณเทียบแบบนี้คุณจะเห็นเลยว่า โอ้โห เรามาไกลมาก แต่มาไกลในแง่ที่ถอยหลัง
เอาเข้าจริงแล้ว พันธกรณีระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองได้เปลี่ยนรูปแบบไปในลักษณะที่ว่า ย้อนหลังไปไกลกว่ารัชกาลที่ 5 อีก คือคุณแทบจะไม่เห็นว่ามันเป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อพลเมือง สิ่งเหล่านี้มันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่คุณต้องมี แล้วหากคุณทำไม่ได้ คุณควรจะใช้วิถีทางในรัฐสภา โดยหาคนใหม่มาทำให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด
แต่ปัจจุบันสิ่งนี้ไม่มีแล้ว เสมือนกับว่าโลกนี้ไม่มีใครแล้ว มึงต้องเอากูนี่แหละ
เชิงอรรถ
[1] สุด แสงวิเชียร. 2514. ดร.ไฮเซอร์กับความช่วยเหลือของมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ต่อรัฐบาลไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ กรุงเทพโฆษณาและการพิมพ์.
[2] 2500. อนุสรณ์ 15 ปีกระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์พระจันทร์. หน้า 61-64.
[3] แหล่งเดียวกัน.
[4] ชาติชาย มุกสง. 2563. จากปีศาจสู่เชื้อโรค: ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มติชน.