ฟื้นฟูโควิด 4 แสนล้าน: อย่าให้เหมือนว่าเรานั่งดูเขาเล่นลิเก

15 มิถุนายน 2563 ครบกำหนดเปิดรับข้อเสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติ COVID-19 วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้กรอบ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพดำเนินการ 

หลังจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 จนถึง 30 มิถุนายน 2563 จะมีการนำโครงการทั้งหมดเสนอเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของอนุกรรมการและคณะกรรมการกลั่นกรองต่อไป โดยข้อมูลจากเว็บไซต์สภาพัฒน์ฯ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563 พบข้อเสนอโครงการเบื้องต้นให้พิจารณา จำนวน 34,263 โครงการ วงเงิน 841,269 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน จำนวน 33,798 โครงการ วงเงิน 465,023 ล้านบาท ด้วยงบประมาณที่เสนอเข้ามาสูงเกิน 8 แสนล้านบาทไปแล้ว จึงคาดว่าข้อเสนอโครงการกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จะถูกหั่นงบออกให้เหมาะสมกับวงเงินที่ตั้งไว้ 

อย่างไรก็ตาม มีคำถามไม่น้อยว่าสายพานกระบวนการพิจารณาโครงการทั้งเส้นจะนำไปสู่การฟื้นฟูประเทศได้จริง หรือเพียงแค่ ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’ 

เสียงร้องทักทำนองนี้ดังมาก่อนแล้วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อ รองศาสตราจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้จับตาการฟื้นฟูที่จะตามมาอีกไม่ช้า หลังจากรัฐบาลเริ่มจ่ายเงินเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ระบุว่า “งบฟื้นฟูซึ่งผ่านหน่วยงานราชการต่างๆ ในแง่การกระจายทรัพยากรจะทำให้การเข้าถึงของคนในชุมชนเป็นปัญหาอย่างมาก”

ทัศนะวิพากษ์ของประภาสต่อจากนี้จึงเป็นภาคต่อจากการติดตามมาตรการของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยพุ่งไปยังหัวใจของวิกฤติ COVID-19 คือชีวิตผู้คนและความละเอียดอ่อนต่อการใช้ ‘หนี้อนาคต’ ของลูกหลานไทย ซึ่งประภาสเห็นว่าทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่หายไปจากกระบวนการฟื้นฟูฯ 

แน่นอนว่าเขาไม่พลาดที่จะฝากข้อเสนอไว้เช่นกัน 

ผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ให้บทเรียนอะไรบ้าง และแผนเยียวยาฟื้นฟูภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ประชาชนจะได้อะไร 

เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะแบ่งออกเป็นงบที่ใช้สำหรับโครงการต่างๆ ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท อีกส่วนหนึ่งคือ 6 แสนล้านบาทที่ใช้ในการเยียวยาที่ชื่อว่า ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งได้นำไปใช้เยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบซึ่งรวมถึงเยียวยาเกษตรกรด้วย จำนวน 550,000 ล้านบาท ซึ่งจนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ได้เบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 320,000 ล้านบาท แต่ใน 6 แสนล้านบาท ยังกำหนดให้ใช้ในแผนงานและโครงการด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ผมมองว่าที่ผ่านมาโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ หลายฝ่ายก็จะเห็นว่าปัญหามาจากเกณฑ์การประเมินไม่ชัดเจน 

ประเด็นสำคัญที่อยากจะเสนอคือ มีคนจำนวนมากที่ออกจากชนบทเข้ามาทำงานในเมือง และเมื่อได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 แล้วเขาไปลงทะเบียนก็จะมีการตกหล่น เพราะมีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของคนที่เป็นเกษตรกรและคนที่เข้ามาเป็นแรงงานนอกระบบ เพราะคนที่เข้ามาทำงานในเมืองแต่มีทะเบียนในชนบทเป็นเกษตรกร ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยา 

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากในปัจจุบันครอบครัวเกษตรกร ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องทำการเกษตรทุกคน ที่สำคัญรายได้ในภาคเกษตรนั้นเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านที่ผมอยู่พบว่า สมาชิกครอบครัว 3-4 คน ทำนา 20 ไร่ จะเหลือคนทำนาเพียง 1-2 คน ที่เหลือเข้ามาเป็นแรงงานนอกระบบในเมือง หรือไม่ก็เข้ามาทำมาค้าขาย เมื่อคนเหล่านี้ขาดรายได้จากมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล แล้วมาลงทะเบียนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ระบบก็ประเมินให้เขาเป็นเกษตรกร เพราะเห็นว่าไปอยู่ในครอบครัวเกษตรกร 

(วาดรูปให้ดู) โครงสร้างครอบครัวเกษตรกรเป็นดังนี้ 

จะเห็นว่ามีคนในครอบครัวเกษตรกรออกไปทำงานนอกระบบ แต่พอมีมาตรการเยียวยาคนเหล่านี้กลับไม่ได้เงิน เพราะระบบระบุให้ไปอยู่ในส่วนของครอบครัวเกษตรกร และรัฐจะให้คนที่ลงทะเบียนเกษตรกรรายเดียว กลายเป็น ‘หนึ่งครัวเรือนหนึ่งสิทธิ’ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาตกหล่นในการได้รับเงินเยียวยาแก่คนทั้งสองด้าน คือทั้งอาชีพเกษตรกรและคนที่ลงทะเบียนอาชีพนอกระบบ 

สำหรับคนที่ทำงานในเมือง จากงานวิจัยของผมพบว่า

คนที่อยู่ในชุมชนแออัดหรือคนจนเมือง ที่เรียกตัวเองว่า ‘คนทำงานหาเช้ากินค่ำ’ ก็เป็นแรงงานรับจ้างตามบ้าน ตั้งแต่ซักผ้า ดูแลผู้สูงอายุ ค้าขาย หาบเร่แผงลอย เมื่อเกิดวิกฤติก็ไปลงทะเบียน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้รับการเยียวยาเช่นกัน เพราะถูกประเมินว่า ‘เป็นอาชีพที่ไม่ตกงาน’

ต่อมาเมื่อมีการเคลื่อนไหวร้องเรียนจึงมีการตั้งผู้พิทักษ์สิทธิเพื่อตรวจสอบทีหลัง แต่จากการติดตามก็พบว่ามีทั้งได้รับการเยียวยาบ้างและไม่ได้บ้าง

ในส่วนของงบประมาณเยียวยา 6 แสนล้านบาท ข้อเสนอที่น่าจะพอทำให้ปัญหาถูกแก้ไขสำหรับผม ดีที่สุดคือเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน งวดที่เหลือค่อยกลับมาจ่ายถ้วนหน้า (มีการเบิกจ่ายครบเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563) โดยใช้เกณฑ์รายได้เป็นตัวตั้ง เรื่องนี้ไม่ใช่ผมเสนอคนเดียว มีหลายคนเสนอ รวมถึง อาจารย์สมชัย จิตสุชน (ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) 

ปัญหาของกระบวนการพิจารณาโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน

มาสู่ขั้นตอนการฟื้นฟู จะเห็นว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้คณะอนุกรรมการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 5-15 มิถุนายน 2563 และหากข้อเสนอผ่าน ค่อยส่งกลับไปให้หน่วยงานแก้ไขในรายละเอียด ก่อนจะส่งมาที่คณะกรรมการกลั่นกรองชุดใหญ่ และเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามีปัญหาอยู่ 2-3 ประเด็น คือ

ประการแรก กระบวนการมีระยะเวลาที่สั้นมากสำหรับการใช้จ่ายเงินถึง 4 แสนล้านบาท ผมอยากจะเรียกว่า ‘กระบวนการลุกลี้ลุกลน’ ด้วยระยะเวลาที่สั้นมากเช่นนี้ จึงมีคำถามว่า ‘ใคร’ ที่พร้อมจะเสนอโครงการ

เพราะระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้เสนอผ่านหน่วยงานราชการเท่านั้น นั่นหมายความว่าโครงการของชาวบ้าน ประชาสังคม กลุ่มองค์กรชุมชน ฯลฯ ต้องเสนอผ่านหน่วยงานราชการเท่านั้น

ความเร่งรีบของกรอบเวลามีส่วนเปิดทางให้โครงการที่หน่วยงานราชการทำมาก่อนแล้วเข้ามาเสนออีก เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ขุดลอกคูคลอง ทำถนน เจาะน้ำบาดาล ไปจนถึงเก็บผักตบชวา ฯลฯ ทั้งหมดคือโครงการที่ทำกันมาอยู่แล้วในภาวะปกติ รูปแบบการทำประชาคมเป็นแบบถนัดดั้งเดิมคือ เรียกประชุมมายกมือถ่ายรูปแล้วก็กลับ อาจารย์บุญเลิศ (บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จะเรียกว่า ‘โครงการพายเรือในอ่างน้ำ’ เข้าใจว่ารูปแบบนี้อาจมีถึง 6-7 หมื่นล้านบาทที่เสนอเข้าไปพิจารณา

อาจจะมีโครงการที่ดีกว่านี้ขึ้นมาหน่อยคือเรื่อง ‘เศรษฐกิจฐานราก’ ซึ่งผมยังมองว่าเป็นโครงการที่เคยเสนอกันมาแล้ว เช่น โครงการเกษตรอินทรีย์นาแปลงใหญ่ หรือ โครงการนาอินทรีย์ล้านไร่ เป็นต้น ต้องมานั่งคิดกันว่าโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่มีอยู่แล้ว มีงบประมาณบ้าง ไม่มีงบประมาณบ้าง ก็ใส่งบประมาณอัดลงไป ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับฐานคิดที่ว่า คิดขึ้นมาใหม่ ทำใหม่ หรือมีฐานคิดที่ชัดเจนขึ้นมาจากการเผชิญภาวะวิกฤติ

หนึ่งในโครงการที่เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ยกมาพูดเป็นตัวอย่างหลายครั้งคือ โครงการนาแปลงใหญ่ แต่จากการลงพื้นที่ทำวิจัยของผมพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า โครงการนาแปลใหญ่หรือเกษตรแปลงใหญ่ที่มุ่งให้เกษตรกรรวมกลุ่มปรับปรุงการผลิตนั้นก็พบปัญหาหลายอย่าง เช่น คุณภาพของข้าวที่ตอนแรกต้องการให้เป็นข้าวอินทรีย์ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นข้าว GAP ก็พอ (Good Agricultural Practicess – ข้าวที่มาจากระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิตปลอดสารพิษ)

รวมไปถึงจากที่ตั้งเป้าไว้ประมาณ 3,000 โครงการ ได้ตามเป้าเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และในกระบวนการที่เกิดขึ้นยังพบว่าเป็นเพียงการรวมตัวกันของชาวบ้านเพื่อจัดอบรม โดยเฉพาะการอบรมทำน้ำหมักไตรโคเดอร์มา โครงการนี้มีอุปสรรคมาก เพราะเวลาทำจริงๆ ต้องมีเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ เป็นผู้จัดการ แถวหมู่บ้านที่ผมอยู่ เกษตรอำเภอจะมาบอกว่า “อาจารย์อย่าไปทำเลย เพราะพวกผมต้องมารับผิดชอบ” จึงไม่มีใครอยากมาทำ และในแง่ของการบริหารจัดการก็ไม่ง่าย

ประเด็นสำคัญที่ยกตัวอย่างเรื่องนี้คือ โครงการที่มีอยู่เดิมแล้ว แต่เอางบประมาณที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินพิเศษเข้าไปถม แน่นอนว่ามีการประเมินผลอยู่ แต่การประเมินผลแบบที่ผ่านมา มันไม่ได้ประเมินผลสำเร็จในแง่ของการสร้างรายได้หรือยกระดับการผลิตแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการดำเนินการโครงการ ดูจำนวนคนเข้าร่วม 

ถ้าตั้งหลักให้ดี ต้องทบทวนโครงการเหล่านี้ให้ชัดเจนว่าเป็นโครงการในภาวะวิกฤติ ไม่ใช่เอาโครงการเดิมแล้วเติมงบเข้าไป

ทำไมกระบวนการฟื้นฟูเช่นนี้จึงไม่ประกันว่าการใช้งบประมาณจะถูกนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่าโครงการเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในบริบทที่ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 แม้ว่าถึงที่สุดทรัพยากรในรูปแบบงบประมาณก้อนนี้อาจจะไปตกอยู่ที่ชุมชนบ้าง เช่น ชาวบ้านมาอบรมทำน้ำหมัก มาสมัครโครงการนาแปลงใหญ่ก็อาจจะได้เบี้ยเลี้ยง แต่เรื่องสำคัญอีกอย่างคือ การกระจายและการเข้าถึงทรัพยากรขึ้นกับกลไกรัฐและเครือข่ายของผู้มีอำนาจ ที่สร้างและสานต่อกันมาจนย่างเข้าหนึ่งทศวรรษแล้ว

ชาวบ้านที่ผมพบบางคนจะอธิบายว่า “มันเหมือนกับเรานั่งดูเขาเล่นลิเกกัน” เพราะทรัพยากรอยู่ในมือของกลุ่มผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ หัวคะแนน พรรคการเมือง และตอนนี้มีการพูดกันถึงการแบ่งเค้ก 80 ล้านในหมู่ สส. ของพรรครัฐบาล เพราะในแง่ของการทำโครงการ นักการเมืองเหล่านี้จะมีชุดโครงการที่เข้าไปต่อรองหรือผลักดันได้

แน่นอนว่าอาจจะไม่ใช่งบประมาณที่จัดให้นักการเมืองโดยตรง แต่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลมีโอกาสอย่างมากที่จะทำโครงการเหล่านั้นจากข้างล่าง ด้วยการร่วมกับจังหวัดหรือหน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่กระทรวงตัวเองบริหารอยู่ ในความเป็นจริงมีบางโครงการที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีเหล่านี้ทำผ่านสำนักปลัดกระทรวงหนึ่ง ก็สามารถใช้ช่องทางเหล่านี้ผ่านความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ อาจจะมีโครงการในใจว่าทำกันมาอยู่แล้วก็ดันต่อผ่านช่องทางเดิม เราจึงเห็นเครือข่ายทางอำนาจที่สัมพันธ์กับระบบราชการ แล้วโยงมาสู่กลไกการมีส่วนร่วม เพราะถ้าเราดูตามผังการเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟู จะเห็นว่าคณะอนุกรรมการมีอำนาจมาก คิดดูว่าโครงการที่เสนอมาจากทั้งประเทศจำนวนหลายหมื่นโครงการมาอยู่ที่มือของคนไม่กี่คน จะพิจารณาแต่ละโครงการในรายละเอียดได้อย่างไร

ผมคิดว่าทางออกอย่างน้อยที่สุด กลไกการตัดสินใจควรจะไปอยู่ในระดับพื้นที่ ให้มีการตัดสินใจร่วมกันของคนในพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้ดีกว่าอรหันต์จำนวนไม่กี่คนพิจารณาโครงการ งบประมาณ 4 แสนล้านบาท ยังไงก็ต้องมีความผิดพลาด

และเมื่อผ่านอรหันต์ชุดแรกที่เป็นคณะอนุกรรมการ ตามระเบียบฯ ก็ให้หน่วยงานที่เสนอกลับไปแก้ไขในรายละเอียดแล้วเสนอกลับมา ซึ่งก็ต้องไปผ่านอรหันต์อีกชุดที่มีอยู่ไม่กี่คนอีก ก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยระยะเวลาที่สั้นมาก จะอ่านเอกสารโครงการที่เสนอเข้ามาตลอดเวลายังอ่านไม่หมดเลย สุดท้ายก็กลับไปที่ระบบราชการที่มีแผน มีโครงการพร้อมอยู่แล้ว

กรณีนี้รัฐบาลอาจจะอ้างเหตุผลของกรอบเวลาที่ต้องรีบใช้งบ แต่คำถามคือรีบใช้แล้วมันเกิดหายนะ จะรีบไปทำไม ผมเองอีก 2-3 ปี ก็จะอายุ 60 ปีแล้ว ต้องใช้หนี้ไปอีก 30 ปี ถึงวันนั้น 90 ปี อาจจะตายก่อน ยังใช้หนี้ไม่หมดเลย โครงการเยียวยาเหล่านี้จึงไม่ได้ก่อให้เกิดประสิทธิภาพของชีวิตผู้คนเลย

สำหรับกรณีการมีส่วนร่วมที่เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ พูดถึงคือ การเปิดเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นได้ตลอดเวลา ผมมองว่าการมีส่วนร่วมแบบนี้ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติ ผู้คนอาจจะแสดงความเห็นไปแล้ว แต่การตอบสนองไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน เพราะไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนกระบวนการตัดสินใจที่สำเร็จรูปไปหมดแล้ว แม้กระทั่งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขออนุญาตอ้างคำพูดของอาจารย์สมชัย จิตสุชน ยังบอกว่า “ความเห็นของพวกเรา ไม่รู้เขาจะฟังหรือไม่” ยิ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา จะไม่ยิ่งไปกันใหญ่หรือ

เหมือนกับเวลาจะพิจารณาการตรากฎหมายตามมาตรา 77 (มาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน) ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเอาความเห็นไปปรับปรุงหรือแก้ไข เอาแค่ให้สบายใจว่าได้เปิดให้มีการแสดงความเห็น

เนื่องจากงบประมาณมันใหญ่มาก แต่การออกแบบระบบมีปัญหาทุกจุด ตั้งแต่การเสนอโครงการ ระยะเวลา กลไกการตัดสินใจ กลไกการมีส่วนร่วม และกลไกในการตรวจสอบกำกับ มันไม่ประกันเลยว่าจะเกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

หากวันนี้จะมีการแก้ไขแนวทางการฟื้นฟู ข้อเสนอของอาจารย์คืออะไร

ตอนนี้สภาผู้แทนราษฎรยอมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบ COVID-19 อันนี้เป็นส่วนที่ดี แต่ก็เกิดจากการเคลื่อนไหวของคนข้างนอก ไม่ได้มาจากการออกแบบของคนทำโครงการเอง พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนที่เข้าร่วมก็ต้องให้เครดิต 

แต่ในระยะต่อไป การกำกับตรวจสอบต้องคิดถึงการเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม หรือผู้คนในสังคม รวมถึงหน่วยงานวิชาการ ต้องไม่ให้มีการใช้งบประมาณไปเหมือนกับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่ต้องเกิดประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างผลผลิตและรายได้ให้กับประชาชนหลังวิกฤติ ไม่ควรปล่อยให้ระบบราชการทำแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะการประเมินแบบระบบราชการมักจะเป็นการประเมินเพียงว่า โครงการได้ดำเนินการไปแล้ว ใช้งบประมาณไปแล้ว มีคนเข้าร่วมเท่าไหร่ แต่ว่าไม่ได้มีการประเมินผลสำเร็จ ในภาษานโยบายสาธารณะเรียกว่า ‘outcome’ ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้คนได้จริง

ในการออกแบบโครงการอาจจะไม่ได้มีการคิดเรื่องนี้ไว้ แต่ในเชิงสังคม ผมก็ยังคาดหวังว่าภาคประชาสังคม เช่น กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) จะมีการรวมตัวทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับเรื่องนี้ด้วย แม้ว่าจะมีภาคประชาชนบางส่วนเข้าไปขอแบ่งเค้กงบประมาณก็ตาม แต่อีกส่วนหนึ่งต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับให้ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่วันมานี้ผมคิดว่าสภาพัฒน์ฯ มีท่าทีผ่อนคลายในแง่ระยะเวลามากขึ้น ได้ยินจากการแถลงข่าวของเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ก็บอกว่า จะเปิดให้มีการพิจารณารอบ 2 ฉะนั้นในการพิจารณารอบ 2 ถ้าเกิดขึ้นจริง รอบแรกอาจจะพิจารณาคุณสมบัติของโครงการจากความใหม่หรือมีการคิดใหม่ และยืดระยะเวลาในการพิจารณาในรอบที่ 2 ในช่วงนี้อาจจะขยายเวลาให้กระบวนการมีส่วนร่วมกว้างขวางออกไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อให้การจัดประชาคมในลักษณะที่มีส่วนร่วมจริงๆ ให้มีเครือข่ายองค์กรในระดับพื้นที่เกิดขึ้น อาทิ องค์กรกึ่งทางการอย่างสภาองค์กรชุมชน (ภายใต้พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551) เข้าทำงานร่วมกัน ทั้งในการเสนอโครงการ พิจารณาโครงการ ที่สำคัญต้องคิดอย่างเข้าใจวิกฤติ ว่าผู้คนเผชิญอะไร ดิ้นรนอย่างไร และจะไปหนุนเสริมอย่างไร

จากตัวอย่างผลสำรวจในงานวิจัยเรื่อง ‘ผลกระทบทางเศรษฐกิจ-สังคมของ COVID-19 ต่อครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในชุมชนเกษตรกรรม’ ซึ่งเราเก็บข้อมูลในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่เกี่ยวพันกับเรื่องเศรษฐกิจฐานรากด้วย พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงภาวะวิกฤติเกษตรกรกลุ่มนี้เผชิญวิกฤติด้านอาหารและผลผลิตที่ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง รายได้ก็หดหายไป แต่คนกลุ่มนี้ก็สามารถปรับตัวด้วยการขยายตลาดในระดับชุมชน มีแหล่งอาหารที่เชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรของชุมชน

ตารางแสดงผลกระทบของ COVID-19 ต่อการผลิตทางการเกษตรและแหล่งรายได้ของครัวเรือน
ตารางแสดงผลกระทบของ COVID-19 ต่อช่องทางการขายผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร

ในแง่นี้ ถ้าเราใจเย็นเสียหน่อย แล้วมามองทิศทางในการดำเนินโครงการ กลับมาทำความเข้าใจการรับมือวิกฤตินี้จากชีวิตของผู้คน ว่าพวกเขามีบทเรียน มีประสบการณ์อะไรบ้าง แล้วเข้ามาหนุนเสริม ถ้าเห็นภาพแบบนี้ แทนที่จะเอางบประมาณไปจ่ายให้กับโครงการแบบเดิมๆ เพราะเศรษฐกิจฐานรากไม่ได้อยู่ที่แปลงการผลิตอย่างเดียว แต่ยังอยู่ในกลุ่มของแรงงานนอกระบบด้วย

ผมคิดว่าโครงการฟื้นฟูฯ ไม่ได้คิดถึงชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่ยังคงมองเห็นคนเป็นเกษตรกรที่อยู่ในแปลงนา มีความสุขกับการทำมาหากิน ตื่นเช้าเอาสวิงไปช้อนปลา อยู่กันอย่างพอเพียง หากเป็นการท่องเที่ยวก็เป็นท่องเที่ยววิถีชุมชน ซึ่งมันไม่ใช่

เพราะเขามีการผลิตที่ต้องส่งขายตลาด มีแรงงานที่เข้าไปทำงานในเมือง ในแปลงการผลิตของหนึ่งครอบครัวจะเหลือคนเพียง 1-2 คนเท่านั้นที่ทำการเกษตร และเขายังมีค่าใช้จ่ายที่หลากหลายด้วย รายจ่ายที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตร อันนี้คือฐานชีวิตจริงของผู้คน

ในส่วนของแรงงานนอกระบบเองก็จะมีทั้งคนที่มีงาน คนที่ตกงาน หรือมีรายได้แต่รายได้ลดลง โดยภาพรวม COVID-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการผลิตของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยทั้งการผลิตหลักคือ ข้าว พืชพาณิชย์ ผักและไม้ผล จำนวนครัวเรือนที่ตอบว่ารายได้ลดลง ร้อยละ 49.7 แต่พบว่าพืชหลักคือ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ได้รับผลกระทบน้อยกว่าพืชอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระยะเก็บเกี่ยวหรือเกี่ยวแล้ว ส่วนการผลิตพืชที่มีรายได้ลดลงคือ ยางพารา 

สำหรับครัวเรือนที่ได้รับเงินส่งกลับจากลูกหลานที่เข้าไปทำงานในเมือง พบว่า เกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.5 ได้รับเงินส่งกลับที่ลดลง จำนวนเงินที่สมาชิกครัวเรือนส่งกลับบ้านในช่วงปกติคือ เฉลี่ยเดือนละ 5,309 บาท ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ลดลงเหลือ เฉลี่ยเดือนละ 2.541 บาท หรือหายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเยอะมาก

ในแง่ของปัญหาเราจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า ครอบครัวเกษตรกร 1-2 คน อยู่ในแปลงเกษตร แต่ที่เหลือต้องออกไปเป็นแรงงานในเมือง การฟื้นฟูมันต้องเห็นชีวิตของคนกลุ่มนี้ ทำยังไงเขาจะมีหลักประกันเหมือนแรงงานในระบบ

ผลการสำรวจจากวิจัยที่อาจารย์ทำ ดูเหมือนว่ากระบวนการฟื้นฟูจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่พบมา ถึงที่สุดแล้วต้องปรับปรุงแนวทางอย่างไรให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่ามากที่สุด 

ในสายตาของชาวบ้านในชุมชน โครงการที่ออกมานอกจากจะมีลักษณะเป็นการเล่นลิเกอย่างที่ผมเรียนไปแล้ว มันยังไปกระจุกตัวอยู่ในคนหยิบมือหนึ่งของหมู่บ้านด้วย โจทย์คือทำยังไงให้การฟื้นฟูรายได้หรือฐานชีวิตของผู้คนเป็นจริงได้ ลองคิดถึงโครงการหนึ่งที่เข้าไปในหนึ่งหมู่บ้านที่มี 200 ครัวเรือน มันจะเข้าไปแตะคนเพียง 10-20 ครอบครัว เท่ากับอีก 180 ครอบครัวได้เพียงนั่งมอง งบประมาณจะไปถึงครอบครัวที่ต้องการตลาดที่มั่นคง มีฐานทรัพยากรไว้รับมือในยามวิกฤติอย่างไร ฐานชีวิตของเกษตรกรรายย่อยจึงยากที่จะเข้าถึง เพราะประโยชน์ตกไปอยู่ในมือคนเพียงจำนวนหนึ่งที่ร่วมเล่นลิเกเท่านั้น

ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าลืมว่าไม่ได้มีการเลือกตั้งมา 6-7 ปีแล้ว ความสัมพันธ์กับคนในชุมชนในระยะเวลาที่สั้นเช่นนี้จึงกลายเป็นการทำงานร่วมกับระบบราชการแทน ผมลองดูประเภทโครงการคร่าวๆ ซึ่งผมก็ยังดูไม่หมด ก็คิดอยู่ว่าอรหันต์ไม่กี่คนจะอ่านไหวได้ยังไง และพบว่าโครงการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ได้สะท้อนสิ่งใหม่ และก็เช่นเดียวกับโครงการของหน่วยราชการคือ เป็นโครงการที่ท้องถิ่นทำมาแต่เดิมอยู่แล้ว

แล้วยิ่งช่วงหลังท้องถิ่นก็ถูกตีกรอบด้วยระเบียบของมหาดไทย ว่าต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะได้โครงการเก่าๆ เหมือนกัน 

สุดท้ายนี้ขอย้ำอีกครั้งว่า

หนึ่ง-กระบวนการพิจารณาโครงการควรจะมีการผ่อนคลาย ระยะเวลา และกระบวนการควรจะกว้างขวางกว่านี้ สอง-กระบวนการตัดสินใจ ไม่ควรฝากไว้เพียงอรหันต์ไม่กี่คน ควรมีการกระจายให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนในการอนุมัติโครงการ น่าจะเป็นทางออกที่พอจะเป็นไปได้ 

และสาม-กระบวนการตรวจสอบ ควรมากกว่าเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ และนอกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้ว ภาคประชาสังคมควรเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการพิจารณา อนุมัติ และการตรวจสอบการดำเนินการของโครงการ โดยมีหน่วยงานวิชาการเข้ามาประเมินผลอย่างจริงจัง

สำหรับทิศทางของการฟื้นฟู เศรษฐกิจชุมชนมีการปรับตัวในภาวะวิกฤติ ไม่พึ่งตลาดที่อยู่ไกลบ้านออกไป ผมคิดว่าตลาดชุมชนที่ อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เรียกว่า ‘ตลาดที่อยู่ในภูมินิเวศเดียวกัน’ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงชีวิตเข้ามาหากันได้ทั้งคนกินคนปลูก อันนี้ผมว่าเป็นการปรับตัวที่สำคัญ ผมคิดว่ามันต้องฟื้นฟูแบบนี้

วันนี้ ผมคงไม่สามารถเสนออะไรที่สำเร็จรูป แต่ในแง่กระบวนการ ถ้าไม่เร่งรีบเกินไป เราหาทิศทางร่วมกันได้จากผู้คนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน งบประมาณตรงนี้ควรไปทำงานกับผู้คนเหล่านี้ ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิด จะเห็นมุมใหม่ๆ ที่ต่างออกไปจากโครงการแบบเดิมๆ

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Photographer

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า