ซำบายดีเมืองลาว: มิตรประเทศของไทย อยู่อย่างไรในช่วงโควิด

เรียกว่านับตั้งแต่สะพานเชื่อมมิตรภาพไทย-ลาว เปิดใช้ในปี 2536 การค้าการลงทุนระหว่างสองมิตรประเทศก็ก้าวหน้าตามลำดับ แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 พรมแดนสองฝั่งก็ถูกกั้นขวางอีกครั้ง

หากนึกถึงมีม ‘เก็บเห็ดที่ลาว ได้ฉีดไฟเซอร์’ ย่อมบ่งบอกถึงการรับรู้ต่อสถานการณ์ในลาวได้เป็นอย่างดี และหากปราศจากมีมดังกล่าว เราอาจไม่ได้เมียงมองความเป็นไปท่ามกลางภาวะโรคระบาดในประเทศมหามิตรเลยก็ว่าได้

ขณะที่การค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว นับเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงปากท้องของคนทั้งสองฟากฝั่ง และเป็นปัจจัยหนึ่งในการชี้วัดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และในสภาวการณ์ทั้งก่อนและหลัง COVID-19 จึงน่าติดตามต่อว่าทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของลาวนั้นจะเป็นอย่างไร 

WAY Conversation ชวนผู้อ่านร่วมถอดบทสนทนาในหัวข้อ ‘สะบายดีเมืองลาว: มิตรประเทศของไทย อยู่อย่างไรในช่วงโควิด’ กับแขกรับเชิญ 2 ท่าน คือ เจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิดในลาวอย่างใกล้ชิด และ รศ.ดร.สมหมาย ชินนาค คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้เชี่ยวชาญด้านลุ่มน้ำโขงศึกษา โดยมี อิทธิพล โคตะมี กองบรรณาธิการ WAY ร่วมเปิดบทสนทนาผ่านช่องทาง Facebook LIVE เพจ WAY magazine เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ภาพรวมการค้าการลงทุนระหว่างลาวและไทยก่อนสถานการณ์ COVID-19 

ทั้งสมหมายและเจษฎาเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ก่อนวิกฤติการระบาดของโควิด ลาวมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงและต่อเนื่อง เจษฎากล่าวถึงภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจว่า ก่อนหน้าการระบาด เศรษฐกิจของประเทศลาวเติบโตอย่างชัดเจนประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์อย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา 

“ปกติเราค้าขายกับลาว ปีหนึ่งเกือบๆ 200,000 ล้านบาท อันนี้เป็นการค้าสองฝ่าย และยังไม่ได้นับการค้าข้ามแดนที่ไทยส่งสินค้าผ่าน สปป.ลาวไปยังจีน ไปยังเวียดนาม ในส่วนนี้มีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่าการค้าแบบสองฝ่ายเสียอีก โดยรวมแล้วการที่เราส่งสินค้าไปจีน เวียดนาม โดยผ่านลาว ปีหนึ่งก็ประมาณ 2.3-2.4 แสนล้านบาท เห็นได้ถึงความสำคัญของ สปป.ลาวต่อเศรษฐกิจไทย และสิ่งที่คนไทยเรายังไม่ค่อยตระหนักคือ การค้าชายแดนทั้งหมดไม่เฉพาะกับ สปป.ลาว ปีหนึ่งๆ มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท”

เจษฎา กตเวทิน

เจษฎาย้ำถึงความสำคัญของการค้าชายแดนที่ไม่ได้มีเพียงเฉพาะกับประเทศลาวเท่านั้น

ขณะที่สมหมายชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ลาว ผ่านการเข้ามาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของคนลาวในจังหวัดอุบลราชธานีว่า “พูดได้เลยว่าตัวเลขการเจริญเติบโต เขาโตกว่าเรานะ ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง เกือบเทียบเท่ากับจีนด้วยซ้ำไป” 

สมหมายกล่าวต่อไปอีกว่า รูปธรรมที่ชัดเจนคือ เมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน มีทุนใหญ่จากกรุงเทพฯ (กลุ่มเซ็นทรัลฯ) เข้ามาทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าในตัวเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือคนลาว อีกทั้งร้านรวงต่างๆ ก็เริ่มติดโปสเตอร์ภาษาลาวให้เห็นโดยทั่วไป 

ขณะที่ในฝั่งนครหลวงเวียงจันทน์ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด สมหมายอธิบายเพิ่มเติมผ่านบรรยากาศของตลาดเช้าว่า “เมื่อก่อนตลาดเช้าเวียงจันทน์จะเป็นอาคารที่ไม่ได้ทันสมัยแบบซูเปอร์มาร์เก็ต พอถึงช่วงประมาณปี 2018-2019 ตลาดเช้ามีการปรับเปลี่ยน มีการก่อสร้าง กลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต มีบันไดเลื่อน เป็นเหมือนห้าง ส่วนตลาดเช้าแบบที่เคยเห็นในภาพเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ก็อยู่ตามตรอกซอกซอยเล็กๆ”

เศรษฐกิจลาวในช่วงนั้นเติบโตถึงจุดที่รัฐมีศักยภาพเพียงพอในการชำระเงินกู้บางส่วนจากต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลลาวมีเงินมากพอที่จะท็อปอัพให้กับบรรดารัฐกรหรือข้าราชการ/บุคลากรของรัฐ ดังกรณีที่ลูกศิษย์ของสมหมายได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในช่วงเวลาดังกล่าว

จากประสบการณ์ของสมหมาย ทำให้เห็นภาพความเป็นไปของวิถีชีวิตคนลาวภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาก่อน COVID-19 ได้อย่างแจ่มชัด และไม่เพียงแค่ภาพของตลาดหรือการติดต่อค้าขายเพียงอย่างเดียว การบริการทางสุขภาพก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในกิจกรรมบริเวณชายแดนที่มีความคึกคัก

ในงานวิจัยของสมหมายภายใต้โครงการ ‘การเสริมสร้างศักยภาพจังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองต้นแบบด้านบริการสุขภาพข้ามแดน ในเขตอีสานใต้’ ซึ่งเป็นงานศึกษาในช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 พบว่า มีทั้งคนลาวและคนกัมพูชาเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลจังหวัดอุบลราชธานีเป็นหลักหมื่นคน โดยในปี 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562 นับเฉพาะโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี มีคนกัมพูชามากกว่า 16,000 คน เข้ารับการรักษา 

สมหมายกล่าวถึงช่วงเวลาดังกล่าวว่า มีรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยถึงปากเซ แต่เนื่องจากการนำรถข้ามแดนมีกติกาและความยุ่งยาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ฝั่งลาวก็จะส่งผู้ป่วยที่ด่านและรถพยาบาลฝั่งไทยก็จะไปรับมาส่งตามโรงพยาบาล เหตุเพราะโรงพยาบาลรัฐฝั่งไทยจะคิดอัตราค่ารักษาในอัตราเดียวกับคนไทย งานชิ้นนี้จึงมีความท้าทายว่า จะพัฒนาให้อุบลฯ เป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพอย่างไร 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 ทุกอย่างจึงหยุดชะงัก การข้ามแดนต้องขอเป็นกรณีพิเศษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยายามใช้วิธีแบบ new normal เช่น teleconference หรือให้คำปรึกษาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือใช้วิธีการจ่ายยาโดยการนัดแนะให้มารับที่ด่าน เป็นต้น

เมื่อ COVID-19 มาเยือน สะเทือนถึงการค้าชายแดน

“พอโควิดมา ทุกอย่างก็ดร็อปลง แต่ดร็อปลงมาไม่ถึง 4 เปอร์เซ็นต์” เจษฎากล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในแง่ตัวเลขทางเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ผู้ค้ารายใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

“ภาพของรถเทรลเลอร์เป็นร้อยๆ คัน จอดเรียงกันรอการตรวจเพื่อข้ามแดน ในแง่นี้ก็ตอกย้ำให้เห็นว่า สถานการณ์โควิดอาจไม่ได้กระทบกลุ่มทุนใหญ่ๆ อย่างเช่นกลุ่มทุนในธุรกิจน้ำมัน รถบรรทุกน้ำมัน รถบรรทุกวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ เหล็ก หรืออะไรต่างๆ ถ้าถามว่าโควิดกระทบต่อเศรษฐกิจตัวนี้ไหม ก็อาจจะเป็นแค่ช่วงแรกๆ เพราะช่วงแรกไม่มีการข้ามแดนใดๆ แต่ช่วงหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการหลังจากที่ลาวตั้งตัวได้ เช่น ให้พนักงานขับรถ 1-2 คน เข้าไปได้ แต่ต้องมีการตรวจโควิดก่อน”

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับจุลภาค สมหมายขยายความว่า ผู้ค้ารายย่อยต่างๆ ได้รับผลกระทบพอสมควร

“อีกส่วนหนึ่งที่อำเภอวารินชำราบจะมีตลาดใหญ่คล้ายๆ ตลาดไท คือตลาดที่รับซื้อพืชผักผลไม้ต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากลาว ผ่านพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ใช่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พืชผักบางอย่างในระดับรายย่อยไม่สามารถที่จะขนส่งเข้ามาได้ เช่น กล้วย พ่อค้าแม่ค้าที่ขายกล้วยซึ่งเมื่อก่อนหากล้วยมาจากลาว ก็ต้องเบนเข็มไปหากล้วยจากที่อื่น เช่น จังหวัดเลย

“แน่นอนว่าเศรษฐกิจระดับใหญ่น่าจะกระทบไม่มาก แต่กลุ่มเล็กๆ ที่มีการค้าขายตามชายแดน จากเดิมข้ามฝั่งมาขายตอนเช้า พอตกเย็นก็กลับ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะมาตรการควบคุมโรคของทั้งสองฝั่งไม่ให้ข้าม”

หากตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะกลุ่มทุนใหญ่ที่มีสายป่านยาวกว่า จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ค้ารายย่อยหรือไม่ เจษฎาเสริมในประเด็นนี้ว่า ไม่ใช่เฉพาะรายเล็กรายน้อยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ รายใหญ่เองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เพียงแต่ธุรกิจรายใหญ่นั้นมีสายป่านที่ยาวกว่า เช่น ห้างสรรพสินค้าที่ลูกค้าจาก สปป.ลาวหายไป ก็ทำให้ยอดขายหายไปอย่างมหาศาลด้วย

“มีเสียก็มีได้ เช่น มินิบิ๊กซีที่เปิดที่นี่ (เวียงจันทน์) ยอดขายเพิ่มกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนข้ามฝั่งไปไม่ได้ เวลานึกถึงประเทศไทย อยากซื้อของจากประเทศไทย อยากซื้อของมาตรฐานไทย คนก็จะเข้ามากันเยอะ”

ในข้อสนับสนุนเรื่องนี้ เจษฎาได้ยกกรณีการเปิดปิดด่านชายแดนขึ้นมาอธิบายว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ทั้งสองฝ่ายต่างเปิดเฉพาะด่านสากลจังหวัดละ 1 ด่าน ทำให้ด่านที่เคยมีประมาณ 49-50 ด่าน เหลือเพียง 14 ด่าน ทำให้เห็นภาพว่าการเดินทางเข้าออกลำบาก ต้องได้รับอนุญาตเป็นรายบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่อนุญาตให้ทำได้คือ รถบรรทุกที่สามารถวิ่งส่งของในระหว่าง 14 ด่านได้ สิ่งนี้สอดคล้องกับภาพรถเทรลเลอร์หลายสิบคันที่สมหมายกล่าวข้างต้น โดยเห็นได้ว่าการเคลื่อนย้ายการค้าขายข้ามพรมแดนนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีทุนหนาระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเจษฎายอมรับว่าผู้ค้ารายย่อยที่เคยข้ามฝั่งไปมาก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย 

ด่านชายแดนทั้ง 14 แห่ง

  1. ด่านสะพานมิตรภาพ 1 บ.เหล่าจอมมณี จ.หนองคาย-เมืองหาดทรายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์
  2. ด่าน อ.เมือง จ.บึงกาฬ-เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ (เส้นทางไปเวียดนาม ตามถนนหมายเลข 8)
  3. ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี-บ.วังเต่า เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก
  4. ด่าน บ.ปากแซง จ.อุบลราชธานี-เมืองละคอนเพง แขวงสาละวัน
  5. ด่านสะพานมิตรภาพ 3 อ.เมือง จ.นครพนม-บ.เวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน
  6. ด่าน อ.เมือง จ.นครพนม-เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน
  7. ด่าน อ.เมือง จ.มุกดาหาร-เมืองคันทะบุรี แขวงสะหวันนะเขต
  8. ด่านสะพานมิตรภาพ 2 อ.เมือง จ.มุกดาหาร-บ.นาแก แขวงสะหวันนะเขต
  9. ด่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย-เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว
  10. ด่าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย-เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว
  11. ด่านสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง อ.ท่าลี่ จ.เลย-บ.คอนผึ้ง เมืองแก่นท้าว แขวงไซยะบุลี
  12. ด่าน บ.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย-เมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์
  13. ด่าน บ.คกไผ่ อ.ปากชม จ.เลย-บ.วัง เมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์
  14. ด่าน บ.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน-บ.น้ำเงิน เมืองเงิน แขวงไซยะบุลี

ข้อมูลจาก กรมการค้าต่างประเทศ

ศักยภาพเศรษฐกิจลาวยังโตได้อีก

เจษฎาพูดถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลลาวว่า ลาวจะไม่เป็นประเทศแลนด์ล็อคอีกต่อไป เพราะขณะนี้ลาวได้สิทธิในท่าเรือน้ำลึกที่หวุงอ๋าง บริเวณตอนกลางของประเทศเวียดนาม ซึ่งสามารถรองรับเรือได้ขนาด 5 หมื่นตันกรอส โดย สปป.ลาว ได้สิทธิเป็นเจ้าของ 60 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องพัฒนาปรับปรุงท่าเรือให้ได้ 100,000 ตันกรอส ซึ่งจะทำให้ลาวมีลักษณะเหมือนสปริงบอร์ดที่นักลงทุนหรือต่างชาติจะสามารถกระโจนเข้ามาลงทุนด้วยแรงดึงดูดจากต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า และยังสามารถกระโดดออกไปขนส่งสินค้าและเชื่อมต่อกับทั่วโลกได้ ผ่านโครงการเครือข่ายที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ต่างๆ ซึ่งกำลังดำเนินการ

หมุดหมายที่น่าสนใจคือในวันที่ 2 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันชาติลาว และเป็นวันที่รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการ สมหมายให้ความเห็นว่า วันดังกล่าวจะเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดศักราชใหม่ของลาว อีกทั้งการได้สัมปทานท่าเรือ และการมีเป้าหมายเป็นประเทศสปริงบอร์ด จะทำให้ลาวสามารถเปิดประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ และยังช่วยบรรเทาสถานการณ์ COVID-19 กับเหตุการณ์เขื่อนแตกในแขวงจำปาสักเมื่อปี 2561 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ทำให้ความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจของลาวต้องชะลอตัว

วัคซีน การเยียวยา และความเป็นอยู่ของคนลาว

สมหมายกล่าวถึงวิถีชีวิตของคนลาว โดยแยกเป็นสองส่วน คือหนึ่ง-คนที่อาศัยในศูนย์กลางอย่างนครหลวงเวียงจันทน์ จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐที่รวดเร็วมากกว่าคนชนบท อีกทั้งมาตรการล็อคดาวน์ยังทำให้ธุรกิจประเภทเดลิเวอรีเติบโตขึ้น จึงเป็นช่องทางที่คนในเมืองหลวงสามารถทำมาหากินและใช้บริการจากธุรกิจลักษณะนี้ได้

และสอง-กลุ่มคนชนบทที่อาศัยตามแขวง ตามต่างจังหวัด จะเป็นภาพที่ขัดแย้งกับคนในเมืองหลวงค่อนข้างมาก โดยสมหมายได้สรุปภาพรวมในส่วนของคนกลุ่มนี้ว่า “การล็อคดาวน์หมายถึง เขาต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก รัฐจะไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือมากเหมือนกับกลุ่มคนที่อยู่ในศูนย์กลาง

“ต้องยอมรับก่อนว่า ตอนนี้ปัญหา สปป.ลาว อันดับหนึ่งคือ ปัญหาเรื่องหนี้สิน ปัญหาด้านการคลัง พูดง่ายๆ ว่าเงินในคลังร่อยหรอลงไปมาก” เจษฎากล่าวก่อนพูดถึงมาตรการของรัฐบาลลาวในการเยียวยาประชาชนว่า “เขาพยายามลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟ ในส่วนของธนาคารก็คล้ายๆ ไทยคือ ผู้ที่ไปกู้เงินมา ดอกเบี้ย 3-5 เดือน อาจชะลอหนี้ไว้ก่อน ทำนองนี้” 

ปัญหาต่อมาคือ 96 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อคือมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่คือคนลาวที่มาจากประเทศไทย และแม้ว่าจากข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดทั้งหมดในลาวเป็นเพียงหลักหมื่น กำลังรับการรักษาประมาณ 3,900 คน และผู้ป่วยอาการหนักมีหลักสิบคน แต่ก็มีคนที่ลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาเรื่อยๆ และโรงพยาบาลสนามเริ่มไม่เพียงพอ 

ปัญหาข้างต้นนั้น เจษฎาให้ทัศนะว่า จากสภาพสังคมลาวส่วนใหญ่ที่ยังเป็นสังคมชนบท ทำให้กลุ่มคนที่ลักลอบเข้ามาย่อมไม่พ้นจากสายตาของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งสามารถช่วยรายงานส่งทางการได้ ส่วนความกังวลต่อพื้นที่หรืออุปกรณ์ที่จะรองรับผู้ติดเชื้อ ก็ได้รับการบริจาคจากเอกชนฝั่งไทยบ้าง สิ่งนี้ช่วยอธิบายความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทย-ลาวได้เป็นอย่างดี

สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนในลาวนั้น เจษฎาได้สรุปภาพรวมไว้ว่า เป้าหมายการฉีดวัคซีนคือ 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร หรือคิดเป็น 3.5 ล้านคน ทำให้ต้องการวัคซีนทั้งหมด 7 ล้านโดสโดยประมาณ โดยปัจจุบันลาวมีวัคซีนอยู่ 5.1 ล้านโดส ฉีดแล้วประมาณ 3.3-3.4 ล้านโดส และขณะนี้นอกเหนือจากวัคซีนที่ได้รับผ่านการบริจาคจากโครงการ COVAX สหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่น ลาวกำลังจะได้วัคซีนเพิ่มจากออสเตรเลียและจีน ทำให้ภายในสิ้นปีนี้ลาวจะมีวัคซีนกว่า 6.5 ล้านโดส และในจำนวนนี้มีวัคซีน Johnson&Johnson 1 ล้านโดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ฉีดเพียง 1 โดสต่อคน ดังนั้นวัคซีนจะมีจำนวนที่เพียงพอ และลาวยังมีศักยภาพมากพอที่จะทำตามเป้าหมายดังกล่าวด้วย เพราะลาวมีการดำเนินงานการฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังได้ยูนิเซฟในการช่วยวางแผนจัดการ ซึ่งล้วนเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน

“แต่ไม่ใช่พอทูตบอกว่าวัคซีนในลาวมีเยอะ แล้วคนจะเข้ามาฉีดในลาวนะ นโยบายของเขาคือ ถ้าเป็นคนลาวหรือชาวต่างชาติที่อาศัยมานานหรือเข้ามาทำงาน เขาฉีดให้หมด แต่อย่าลืมว่าถ้าจะผ่านด่านเข้ามา คุณต้องไปขอวีซ่าก่อนนะ ในสถานการณ์ปกติธรรมดาไม่ต้องขอ แต่ตอนนี้คุณต้องขอก่อนนะ และต้องได้รับการรับรองจากทางการก่อน ซึ่งจะอนุญาตเป็นกรณีไป ดังนั้นคนที่จะเข้ามาฉีดวัคซีน หรือลักลอบเข้ามา ถึงเวลาเขาไม่ฉีดให้ คุณก็ติดคุกนะ” เจษฎาทิ้งท้าย

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า