รายงานล่าสุดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเปิดเผยว่า เด็กผู้ลี้ภัยที่ใช้ชีวิตตามลำพังในกรีซเพื่อเดินทางต่อไปยังอังกฤษหรือประเทศแถบยุโรปเหนือ ถูกบังคับให้ขายอวัยวะหรือขายบริการทางเพศ เพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง
วาซิลเลีย ดิจิดิกิ (Vasileia Digidiki) และ ศาสตราจารย์แจ็คเกอลีน บาบา (Jacqueline Bhabha) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า สถานการณ์ในกรีซกำลังน่าเป็นห่วง เพราะการซื้อขายบริการทางเพศ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก กำลังแพร่กระจายและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดิจิดิกิกล่าวในรายงานว่า “เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกลางวันแสกๆ ใจกลางกรุงเอเธนส์ เมื่อเมืองหลวงกลายเป็นที่ซื้อขายบริการทางเพศของเด็กผู้ลี้ภัย หรือแม้แต่การซื้อขายอวัยวะเด็ก เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่เราทุกคนไม่ควรเพิกเฉยหรือนิ่งดูดายปล่อยให้เรื่องแบบนี้ดำเนินอยู่ต่อ
“ถือว่าเป็นความรับผิดชอบในฐานะมนุษย์ที่เราต้องแก้ไขสถานการณ์นี้ในทุกภาคส่วน เพื่อยุติความรุนแรงดังกล่าวโดยเร็วที่สุด”
เด็กส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศที่ยังมีความขัดแย้งรุนแรงอยู่ อาทิ ซีเรีย อัฟกานิสถาน และปากีสถาน พวกเขาพยายามอพยพเข้ายุโรป โดยอาศัยกรีซเป็นทางผ่าน แต่เมื่อไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าเดินทางต่อให้กับนายหน้าใต้ดินได้ พวกเขาจึงจำต้องติดอยู่ที่นี่
บทสรุปสุดท้ายของเด็กบางคนอาจจบลงที่การขายบริการทางเพศ ในราคาประมาณ 12.50 ยูโรต่อคน เด็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ เด็กผู้ชายจากอัฟกานิสถาน รองลงมาคือเด็กผู้ชายจากซีเรีย อิรัก และอิหร่าน ส่วนกลุ่มลูกค้าคือผู้ชายอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
จากรายงานปี 2016 ขององค์กรคุ้มครองเด็กและเยาวชนในกรีซ กล่าวว่า จำนวนเด็กอพยพที่ต้องอยู่ตามลำพังอาศัยอยู่ในค่ายอพยพในกรีซมีมากถึง 5,174 คน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2016 เด็ก 191 คน จาก 5,174 คน สามารถเดินทางออกจากกรีซไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปได้ ขณะที่อีก 50 เปอร์เซ็นต์กำลังรอคอยการย้ายไปอยู่ในสถานคุ้มครองเด็ก
แม้ค่ายผู้อพยพกรีซจะจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่เด็กผู้ลี้ภัย แต่พวกเขาก็ไม่ได้เข้าถึงความปลอดภัยต่างๆ อย่างแท้จริง และยังสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับความรุนแรงในค่ายอีกด้วย
รายงานดังกล่าวยืนยันว่า การข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในค่ายผู้อพยพ ส่งผลให้จำนวนเด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเพิ่มสูงขึ้นตามมา
เลวร้ายกว่านั้นคือ เด็กบางคนถูกแก๊งมาเฟียถ่ายรูปขณะถูกข่มขืนเพื่อแบล็คเมล์ต่อ โดยการส่งรูปเหล่านั้นไปให้กับครอบครัวที่พวกเขาจากมา
เนื้อหาในรายงานยังเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบกฎหมายเกี่ยวกับผู้อพยพ จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กผู้ลี้ภัยใหม่ และให้มีล่ามประจำอยู่ในแต่ละค่าย รวมถึงให้แบ่งพื้นที่ในค่ายสำหรับเด็กผู้อพยพโดยเฉพาะ
โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหราชอาณาจักรพูดถึงสถานการณ์เด็กผู้ลี้ภัยในยุโรปว่า “เมื่อปี 2016 เด็กอพยพที่อาศัยอยู่ลำพังกว่า 900 คนจากพื้นที่ต่างๆ ในยุโรปย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอังกฤษ โดย 700 คนจากทั้งหมดมาจากการย้ายค่ายผู้อพยพเมืองกาเลส์ (Calais) ในฝรั่งเศส ขณะที่เด็กอีก 200 คนเดินทางถึงอังกฤษเรียบร้อยแล้วภายใต้มาตรา 67 ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองปี 2016 และในเดือนหน้าจะมีเด็กเดินทางมาอีก 150 คน”