หากเป็นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงแก๊งต้มตุ๋นทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ ภาพที่ปรากฏในความทรงจำของหลายๆ คนคงจะนึกถึงแต่กลุ่มคนอินเดียที่มักอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรมาหลอกล่อว่าบัญชีธนาคารของผู้เสียหายมีส่วนพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด จากนั้นก็โน้มน้าวให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อยุติปัญหา ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลมากในอเมริกา ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่ระบบ IT และระบบอินเทอร์เน็ตกำลังเริ่มต้นขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น บางรายโอนไปหลักแสนดอลลาร์สหรัฐ บางรายโอนไปหลักล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นตัวเลขคร่าวๆ แล้ว ที่ผ่านมาคนอเมริกาน่าจะเป็นเหยื่อที่โดนล่อลวงกันไปไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ความเสียหายจากแก๊งต้มตุ๋นอินเดียนี้ เกิดขึ้นบ่อยจนถึงขั้นมีการนำไปผนวกและดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อปอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่มุขตลกคาเฟ่ในต่างประเทศ (stand-up comedy) ที่มักจะกล่าวกระเซ้าถึงอาชีพของคนอินเดียว่า “หากเห็นคนอินเดียเดินมาไกลๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า ถ้าไม่ได้ทำงานเป็นพนักงานแผนกไอที (IT guys) ก็อาจเป็นนักต้มตุ๋นทางโทรศัพท์ (scammers)” หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดกว่านั้น คือ คลิปแกล้งคน ( prank videos) ยอดนิยมที่เห็นส่งต่อกันบ่อยๆ ใน Youtube ก็มักเป็นคลิปที่ถูกทำขึ้นเพื่อล้อเลียนนักต้มตุ๋นอินเดีย (Indian scammers prank) ที่มีสถิติเข้าดูแต่ละคลิปไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ครั้งทั้งสิ้น
ทว่า ในช่วง 3-4 ปีมานี้ บัลลังก์ของวงการดังกล่าวกำลังสั่นสะเทือนและถูกช่วงชิงโดยแก๊งต้มตุ๋นจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ผู้เล่นใหม่ในวงการที่กำลังพยายามขยายขอบเขตอิทธิพลจากในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ที่กัมพูชา ในอัตราเร่งที่รุนแรงมากเสียด้วย มีประเด็นเกี่ยวกับวีรกรรมของแก๊งต้มตุ๋นชาวจีนในกัมพูชาปรากฏให้เห็นไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ โดยมีผู้เสียหายจากหลากหลายประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน แอฟริกา ไม่เว้นแม้แต่อินเดียเองที่ได้ออกมาประกาศว่าประชาชนของตนถูกล่อลวงให้สูญเงินไปแล้วอย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังมีเรื่องของการชักชวนไปทำงาน ‘รายได้สูง’ ในประเทศกัมพูชา เมียนมา และลาว โดยเหยื่อที่ถูกล่อลวงไปทำงานมักถูกกักขังและทำร้ายร่างกายอยู่เป็นประจำอีกด้วย
จุดที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติของจีนกลุ่มนี้กำลังพัฒนาเป็นปัญหาระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ การที่ผู้แทนรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกระดมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของแต่ละประเทศ (Foreign Ministerial Meeting) มาประชุมหารือกันถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ขณะเยือนกัมพูชาเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพราะประชาชนอินโดนีเซียอย่างน้อยกว่า 300 คน ถูกล่อลวงโดยขบวนการค้ามนุษย์ของจีนให้ไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในกัมพูชา ส่งผลให้อินโดนีเซียอาจผลักดันประเด็นดังกล่าวนี้ให้กลายเป็นวาระที่มีความสำคัญมากขึ้นในการประชุม ASEAN Summit ในอนาคต โดยเฉพาะในโอกาสที่กัมพูชาเป็นประธานประจำปี 2022 นี้
Global Anti-Scam Organization (GASO) ประมาณการไว้อย่างคร่าวๆ ว่า มูลค่าความเสียหายโดยรวมของเหยื่อทุกคนในปี 2021 ที่ผ่านมา อาจสูงกว่าตัวเลขจริงที่หลายๆ สำนักข่าวหรือองค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGOs) เคยรายงานเอาไว้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะยังมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่ไม่ได้ออกมาแจ้งความ และส่วนใหญ่ก็ยังถูกกักขังให้ทำงานใช้หนี้ (loan shark) อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งในเมียนมา ลาว และกัมพูชา ในจำนวนมากกว่า 100,000 คน โดยยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและสถานทูตที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถบุกเข้าไปตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยได้
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวมีสถานะคาราคาซังจนลุกลามขยายตัวรุนแรงขึ้นเป็นระดับภูมิภาคมีผู้เสียหายจากมากกว่า 10 ประเทศ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ต้องอธิบายเป็นพื้นฐานก่อนว่า เดิมทีแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ก็มีถิ่นฐานอยู่ในจีน และล่อลวงเฉพาะคนจีนด้วยกันเองเท่านั้น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ทำการปราบปรามเครือข่ายมิจฉาชีพในประเทศอย่างหนัก ประกอบกับเมื่อนโยบาย Zero-Covid Policy ถูกประกาศขึ้น ทำให้ธุรกิจสีเทาอย่างคาสิโน ซึ่งมักถูกประยุกต์ใช้เป็นหน้าฉากและฐานของการก่ออาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่สามารถเปิดทำการได้ เครือข่ายมิจฉาชีพเหล่านี้จึงย้ายฐานปฏิบัติการของตนเองไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีน ภายใต้คราบนักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โครงการ Belt and Road Initiative
ในเรื่องของแรงจูงใจที่ทำให้เครือข่ายมิจฉาชีพนั้นพากันมาตั้งฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา หรือในสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) ของลาว และเขตเศรษฐกิจแห่งอื่นๆ ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา อาจเป็นเรื่องของความสะดวกสบาย และช่องว่างของกฎหมายที่ประเทศเหล่านี้ปล่อยให้นักลงทุนชาวจีนเช่าที่ดินเป็นเวลา 99 ปีไปแล้ว พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวจึงแทบจะกลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจที่จัดการและบริหารงานโดยเครือข่ายนักลงทุนชาวจีน อีกทั้งการการันตีด้วยเครื่องหมายการค้าของโครงการ Belt and Road Initiative ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้การล่อลวงมีน้ำหนักมากขึ้น เวลาจะประชาสัมพันธ์กับชาวจีนด้วยกันก็ทำได้ง่าย เพราะไม่ว่าใครก็ต้องการโอกาสในการเดินทางไปทำงานดีเงินเดือนสูงในต่างประเทศทั้งสิ้น
อีกประการหนึ่ง คือ จีนมีชื่อเสียงอย่างมากในการอัดฉีดเงินเข้าสู่อุตสาหกรรมประเภทโครงสร้างพื้นฐาน ดังจะเห็นได้จาก 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา จีนริเริ่มโครงการลงทุนก่อสร้างหลากหลายแห่งขึ้นทั่วโลก ทั้งในเอเชียและแอฟริกา ตั้งแต่การวางระบบรางรถไฟ สร้างถนน สะพาน และสนามบิน ไปจนถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) หมายมั่นเอาไว้ว่าจะเป็นรากฐานให้แก่การขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในอนาคตข้างหน้า
อย่างไรก็ดี วิสัยทัศน์ที่มาจากการมองการณ์ไกลเกินกว่าเหตุลักษณะนี้ คือ โครงการก่อสร้างที่กล่าวถึงข้างต้น มีความคลุมเครือในเรื่องการคืนทุนหลังการสร้าง (feasibility) ทำให้เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างจริงจัง
สนามบินหลายแห่งกลายเป็นสนามบินร้าง ส่วนเมืองท่าและเมืองท่องเที่ยวที่จีนไปพัฒนาให้ก็ประสบปัญหาไร้นักท่องเที่ยว สุดท้ายก็ปล่อยให้อาคารที่สร้างไว้ถูกทิ้งร้าง ยิ่งมาเจอสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาด อาคารพาณิชย์หลายแห่งในสีหนุวิลล์ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ใช้งาน เปิดโอกาสให้เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติเข้ามาใช้เป็นฐานก่อตั้งคาสิโนออนไลน์ เว็บไซต์ซื้อขายสินทรัพย์รูปแบบแชร์ลูกโซ่ ปฏิบัติการค้ามนุษย์ และธุรกิจผิดกฎหมายรูปแบบต่างๆ บางแห่งตั้งอยู่เยื้องจากทำเนียบรัฐบาลเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น
หากจะถามถึงสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือผู้รักษากฎหมายไม่เข้าไปแทรกแซง ให้ย้อนกลับไปพิจารณาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมม็อบร่มเหลือง และม็อบชานมไข่มุกที่ฮ่องกง จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ผู้มีอิทธิพลของจีนนั้นมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการเข้าถึง ‘กลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น’ ในทุกที่ที่ตนเข้าไปลงทุน
เวลาจีนเข้าไปลงทุนในฮ่องกงก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับนักเลงฮ่องกง เมื่อมีม็อบมากวนใจรัฐบาลในปักกิ่ง ก็เพียงแค่เรียกกลุ่มนักเลงท้องถิ่นในฮ่องกงออกมาไล่กระทืบนักเรียน นักศึกษาที่ออกมาชุมนุม นับประสาอะไรกับที่กัมพูชา ลาว และเมียนมา มีหรือเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติจากจีนจะไม่มีนักเลงหรือมาเฟียท้องถิ่นในพื้นที่ไว้เป็นทรัพยากรเอาไว้ใช้งาน
และที่สำคัญคือ ต้องไม่ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศยังเป็นประเทศเผด็จการโลกที่ 3 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีน (Mainland ASEAN members) ความเป็นไปได้ที่นักการเมือง-ผู้มีอำนาจในรัฐบาลของประเทศปลายทางอย่างลาว เมียนมา กัมพูชา จะรู้เห็นเป็นใจหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนเชื่อมโยงถึงเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติย่อมมีสูง
หรือต่อให้ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันทางตรง แต่ทำทีเป็นละเลยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนทางอ้อมเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าจงใจไม่ทุ่มเททรัพยากรที่ตนมีในการเดินหน้าสืบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกาคงไม่ออกมาประณามและปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของกัมพูชาลงไปอยู่ที่ Tier 3 ใน TIP Report (Trafficking in Persons Report – รายงานประจำปีด้านการค้ามนุษย์) เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมาอย่างไม่มีเหตุมีผล กรณีของลาวเองก็เช่นกัน นักธุรกิจจากโลกสีเทาของจีนบางราย ทั่วโลกก็เห็นๆ กันอยู่ว่ามีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลลาวก็ยังสรรเสริญและชื่นชมนักธุรกิจคนนั้นอย่างออกหน้าออกตา เพราะเป็นผู้มีบุญคุณนำเงินเข้าประเทศในปริมาณมหาศาล
สะท้อนให้เห็นได้เป็นประจักษ์ชัดว่า หลายๆ ภาคส่วนมีการตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมานานก่อนที่จะเป็นข่าวแล้ว แต่ไม่ได้มีความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหากัน เพราะส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดปรากฏออกมาให้เห็น อีกทั้งยังอาจมีความเกี่ยวโยงผูกพันกับอิทธิพลที่มองไม่เห็น จึงเลือกที่จะไม่ข้องเกี่ยวและไม่ริเริ่มปฏิบัติการปราบปรามอย่างจริงจังกันเสียที
เหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะอาเซียนไม่ได้มีกลไกในการจัดการปัญหาดังกล่าวนี้ร่วมกันอย่างเป็นทางการ ได้แต่ประสานงานขอความร่วมมือ และใช้มาตรการกดดันอย่างที่รัฐบาลอินโดนีเซียทำ มากกว่านั้นคงต้องหันกลับไปพึ่งมาตรการเชิงรุกภายในประเทศ อย่างไต้หวันและฮ่องกงที่ใช้นโยบายจัดสรรเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและแรงงานไปประจำจุดตามสนามบินแต่ละแห่ง แล้วตรวจสอบคัดกรองก่อนออกประเทศ ว่าผู้โดยสารคนใดหรือกลุ่มใดตั้งใจเดินทางออกไป ‘ทำงานดี รายได้สูง’ ในประเทศปลายทางอย่างกัมพูชา ลาว และเมียนมา