ราวอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤษภาคม โซเชียลเน็ตเวิร์คยอดนิยมของประเทศจีน Weibo เกิดข้อถกเถียงและให้ข้อมูลว่าโรงเรียนเอกชนสองแห่งในมหานครเซี่ยงไฮ้ กำหนดเกณฑ์รับสมัครนักเรียนเข้าใหม่ที่ไม่ได้วัดเฉพาะความสามารถของนักเรียน
แต่พวกเขาวัดไอคิว-ความฉลาดทางสติปัญญา และขอหลักฐานด้านการศึกษาของพ่อ-แม่ รวมไปถึงปู่ย่าตายาย ก่อนที่ผู้ปกครองจะต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ในด่านถัดไป
ความเห็นใน Weibo ดังไกลไปถึงหน้าจอของเจ้าหน้าที่การศึกษาของเซี่ยงไฮ้ จนมีคำสั่งกลับมาว่า ให้โรงเรียนเอกชนสองแห่งนี้ เลิกใช้การประเมินผู้ปกครอง และลดเกณฑ์ที่เข้มงวดในการพิจารณาเด็ก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตอบรับมาตรการดังกล่าวจากโรงเรียนเอกชนทั้งสองแห่ง
ทำไมการแข่งขันในโรงเรียนเอกชนจึงรุนแรงขนาดนี้?
หวัง หรง (Wang Rong) หัวหน้าทีมวิจัยประจำสถาบันด้านสินเชื่อเพื่อการศึกษา (China Institute for Educational Finance Research: CIEFR) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อธิบายว่า ปัญหานี้เกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศจีนอย่างไม่ต้องสงสัย และเขาเห็นว่า การศึกษาจะเป็นประตูทะลุผ่านความยากจนเหล่านี้ไปได้
“ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจีน ดังนั้น ชนชั้นกลางหรือสูง จึงยอมจ่ายค่าเทอมด้วยราคาที่สูงกว่ามากๆ เพื่อให้ลูกเข้าโรงเรียนเอกชน เพื่อหนีระบบการศึกษาเดิมๆ ในโรงเรียนรัฐบาล” หวัง หรง กล่าว
จากข้อมูลปี 2015 เฉพาะค่าเทอมโรงเรียนเอกชนของเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ราว 1,450-13,755 ดอลลาร์/เทอม ขณะที่รายรับเฉลี่ยต่อเดือนของคนอยู่ที่ราว 1,015.85 ดอลลาร์
มากกว่านั้น โรงเรียนเอกชนยังอาจหมายถึง การก้าวขาข้างหนึ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยเก่าแก่และโด่งดังในประเทศจีน เช่น มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยฟูตัน
ในประเทศจีน มีระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย Gaokao ซึ่งมีแนวคิดว่านักเรียนหรือนักศึกษา ควรเรียนในมหาวิทยาลัยท้องที่ (เพราะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งสามข้างต้น ตั้งอยู่ในปักกิ่งทั้งหมด) และการที่ประท้วงช่วงต้นปีที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งประกาศลดโควตานักศึกษานอกพื้นที่ลง โดยการสอบรอบแรก (first-tier) จะรับนักเรียนในมณฑลปักกิ่ง 24 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นักเรียนเจียงซูจะรับราว 9 เปอร์เซ็นต์ ข่าวนี้ก่อให้เกิดการประท้วงมากมาย ด้วยประเด็นว่า มันคือระบบที่ไม่เป็นธรรม เพราะนักเรียนที่มีพื้นฐานดีกว่าจากโรงเรียนเอกชน (ซึ่งบางครั้งใช้เกณฑ์แปลกๆ) ก็จะได้สัดส่วนในการเข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น
และเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กๆ ในโรงเรียนของตนจะสอบวัดระดับได้คะแนนดีๆ และมีเปอร์เซ็นต์เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ โรงเรียนเอกชนบางแห่งจะเสนอเงินรางวัลจำนวนหนึ่ง ให้กับเด็กๆ ที่สอบวัดผลได้ตามเป้าที่โรงเรียนตั้งไว้ด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก: FT.com